history of oscars-01.jpg

History of Oscar ประวัติศาสตร์ฉบับย่อของงานประกาศรางวัลที่ ‘ดราม่า’ ที่สุดในโลกภาพยนตร์

Post on 28 March

“ผู้คนชนะรางวัลออสการ์ แล้วหลังจากนั้นพวกเขาก็เหมือนหายตัวไปจากโลกนี้ ที่เป็นอย่างนั้นส่วนหนึ่งก็เพราะความคาดหวังมหาศาลที่ติดตัวคุณไปทุกที่ และเป็นเงาลอยอยู่เหนือหัวคุณ ในวินาทีที่ฉันได้ออสการ์ ฉันก็รู้สึกได้ถึงความล่มสลายที่จะตามมาในวันรุ่งขึ้นทันที”
- Halle Berry
 

“เสื่อมมนตร์ขลัง”, “ไร้ความน่าเชื่อถือ”, “งานปาหี่แห่งโลกภาพยนตร์” ฯลฯ คือหลากหลายความเห็นที่เรามักได้ยินกันในช่วงหลัง เมื่อพูดถึงงานประกาศรางวัลภาพยนตร์ที่โด่งดังที่สุดในโลกอย่าง Academy Awards หรือ Oscar

หนึ่งในพี่น้องผู้กำกับตระกูลโคเอนย่าง อีธาน โคเอน (Fargo, No Country For Old Men) เคยบอกว่า เขาไม่สนในออสการ์อีกต่อไป และขอมุ่งหน้าสู่การคว้ารางวัลโนเบล, มาร์ติน สกอเซซี เคยบอกว่า คนเราไม่ควรทำหนังโดยตั้งเป้าเพื่อจะได้ออสการ์ ในขณะที่ในช่วงการตื่นตัวของกระแส #OscarSoWhite อันสืบเนื่องมาจาก #BlackLivesMatter คนในโลกภาพยนตร์หลายคนที่ออกมาวิจารณ์ว่านี่คืองานรางวัลของคนผิวขาว และเมื่อคณะกรรมการออสการ์ออกประกาศว่า ตั้งแต่ปี 2024 เป็นต้นไป โปรดิวเซอร์ที่ส่งหนังเข้าชิงออสการ์จะต้องทำรายงานแจ้งเชื้อชาติ เพศ และสถานะทุพพลภาพของทีมงานและนักแสดง ซึ่งหากหนังเรื่องใดมีสัดส่วนความหลากหลายไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนดไว้ หนังเรื่องนั้นก็จะไม่ได้เข้ารับพิจารณาเพื่อชิงออสการ์ ซึ่งกฎดังกล่าวก็ทำให้คนในแวดวงภาพยนตร์ออกมาวิจารณ์ว่า ‘นี่มึงประชดกูใช่ปะ?’ ไปจนถึงการงงเป็นไก่ตาแตกว่าฉันแค่จะทำหนัง ทำไมฉันต้องเปิดเผยรสนิยมทางเพศและประวัติสุขภาพซึ่งเป็นเรื่องแสนจะส่วนตัวให้คนแปลกหน้ารับรู้ด้วย?

ไม่ว่าใครจะยี้หรือไม่เผาผีออสการ์ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความเงาวับจับตาและสีทองประกายของรางวัลตุ๊กตาทองยังคงจับใจและยั่วยวนเหล่านักฝันแห่งโลกภาพยนตร์อีกมากมาย จนต่อให้ยอดผู้ชมที่ชมการถ่ายทอดสดจะน้อยลงทุกปี ๆ (ออสการ์ปี 2021 มีผู้ชมการถ่ายทอดสดทั่วโลกแค่ 9.85 ล้านคน น้อยกว่ายอดผู้ชมต่อตอนของซีรีส์ The Big Bang Theory เสียอีก) แต่ก็ยังมีนักแสดงและคนทำหนังอีกมากมายที่วาดฝันถึงการได้ใส่ชุดราตรีหรูหราไปปรากฏตัวบนพรมแดงในค่ำคืนแห่งมนตร์ขลังนี้

ไม่ว่าใครจะรักหรือชังเจ้ารางวัลตุ๊กตาทองนี้อย่างไร แต่คงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า ในช่วงเวลาเกือบหนึ่งศตวรรษ นี่คืออิเวนต์และค่ำคืนที่เปลี่ยนชีวิตของใครหลายคนไปตลอดกาล

คอลัมน์ History of ประจำสัปดาห์นี้ เราจึงจะขอพาผู้อ่านย้อนกลับไปสำรวจประวัติศาสตร์ความเป็นมา รวมถึงเหตุการณ์ความวายป่วงต่าง ๆ ที่เคยเกิดขึ้นกับค่ำคืนของงานประกาศรางวัลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกภาพยนตร์นี้ด้วยกัน

ก่อนเป็นออสการ์

ย้อนกลับไปในยุค 1920s คือช่วงเวลาที่ประเทศในโลกตะวันตกเพิ่งผ่านพ้นเหตุการณ์สงครามโลกครั้งแรก การฟื้นตัวจากสงครามและความยากลำบากทำให้ผู้คนโหยหาและกระหายสิ่งบันเทิงเริงใจ ซึ่งสิ่งบันเทิงที่ครองใจผู้คนในบรรยากาศหลังสงครามก็คือภาพยนตร์ จนทำให้เมื่อถึงช่วงปลายยุค 1920s อุตสาหกรรมภาพยนตร์ก็กลายเป็นอุตสาหกรรมที่เติบโตเร็วที่สุด และใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสี่ของสหรัฐอเมริกา ถึงขนาดที่ว่าฮอลลีวูดยุคนั้นผลิตหนังกันปีละกว่า 500 เรื่อง จนมีหนังเข้าใหม่ให้คนดูไปรับชมกันในโรงทุกสัปดาห์

แม้จะเป็นยุคเฟื่องฟูของภาพยนตร์ แต่ด้วยความใหม่ของสื่อบันเทิงชนิดนี้ แรงงานในอุตสาหกรรมภาพยนตร์จึงยังไม่ได้รับการเหลียวแลจากภาครัฐหรือให้ความสำคัญเท่ากับอุตสาหกรรมชนิดอื่น กระทั่ง Academy of Motion Picture Arts and Sciences หรือสถาบันแห่งศิลปะวิทยาการภาพยนตร์ถูกก่อตั้งขึ้นในปี 1927 ด้วยความตั้งใจของ หลุยส์ บี. เมเยอร์ ผู้บริหาร Louis B. Mayer Pictures Cooperation (ที่ในเวลาต่อมาจะเป็นหนึ่งในค่ายหนังที่มารวมตัวกันเป็น Metro-Goldwyn-Mayer หรือ MGM) ที่จะรวมห้าแขนงอาชีพหลักในวงการภาพยนตร์คือ นักแสดง, ผู้กำกับ, โปรดิวเซอร์, ช่างเทคนิค และมือเขียนบท เข้าไว้ด้วยกัน เพื่อให้เกิดความเป็นสหภาพ ทำให้ภาพลักษณ์ของวงการภาพยนตร์มีความจริงจังทัดเทียมอุตสาหกรรมอื่น และที่สำคัญคือการทำหน้าที่ช่วยกระจายเทคโนโลยีและวิทยาการทำภาพยนตร์ให้ทั่วถึง รวมไปถึงการเป็นปากเป็นเสียงให้กับคนทำหนังในยุคที่ยังมีการเซ็นเซอร์หนังอย่างเข้มข้นด้วย
 

<p><i>หลุยส์ บี. เมเยอร์</i></p>

หลุยส์ บี. เมเยอร์

ในเดือนมกราคม ปี 1927 เมเยอร์เป็นตัวตั้งตัวตีในการเรียก 36 เจ้ายุทธจักรแห่งฮอลลีวูที่ประกอบด้วย นักแสดง, ผู้กำกับ, โปรดิวเซอร์ และคนเขียนบท มารวมตัวกัน เพื่อนำเสนอไอเดียเรื่องการจัดตั้งองค์กรของคนทำหนังอย่างเป็นทางการ จนนำไปสู่การจัดงานเลี้ยงระดมทุนที่ผู้เข้าร่วมงานทั้ง 200 คนจะต้องเขียนเช็กจำนวน 230 ดอลลาร์ เป็นค่าเข้างาน ซึ่งผู้ร่วมงานในวันนั้นล้วนเป็นตัวจริงในแวดวงภาพยนตร์ และในเวลาต่อมาก็ได้ชื่อว่าเป็นสมาชิกออสการ์รุ่นบุกเบิก

ออสการ์ครั้งแรกที่ยาวเพียงแค่ 15 นาที

“ผมค้นพบว่าวิธีที่ดีที่สุดที่จะจัดการกับพวกคนทำหนังก็คือการหาเหรียญตรามาแขวนคอพวกเขา …เมื่อมีถ้วยหรือรางวัลใด ๆ ก็ตาม พวกเขาจะยอมฆ่ากันเองเพื่อทำหนังอย่างที่ผมต้องการ และนั่นล่ะคือจุดเริ่มต้นของ Academy Award”

นั่นคือคำบอกเล่าจากปากของ หลุยส์ บี. เมเยอร์ ผู้ที่ในเวลาต่อมาจะเป็นที่รู้จักในฐานะผู้ริเริ่มจัดงานประกาศรางวัลออสการ์ครั้งแรกเมื่อปี 1927

งานมอบรางวัลออสการ์ครั้งแรก (ไม่ใช่ประกาศรางวัล เพราะทุกคนที่มาล้วนรู้ผลล่วงหน้ากันมาแล้ว) เกิดขึ้นในค่ำคืนของวันที่ 16 พฤษภาคม 1929 ณ โรงแรมรูสเวลต์ในลอสแองเจลิส ซึ่งบรรยากาศก็ไม่ต่างอะไรกับงานเลี้ยงมื้อค่ำที่จัดเพื่อประกาศการจัดตั้ง Academy Awards เมื่อปีก่อนหน้า มีผู้เข้าร่วมงาน 270 คน ไม่มีการถ่ายทอดสดทั้งทางวิทยุหรือโทรทัศน์ และส่วนของการมอบรางวัลนั้นกินเวลาแค่ 15 นาทีเท่านั้น

<p><i>งานมอบรางงวัลออสการ์ครั้งแรก</i></p>

งานมอบรางงวัลออสการ์ครั้งแรก

รางวัลที่แจกในงานออสการ์ครั้งแรกนี้ประกอบด้วย 12 สาขารางวัล (มีอีก 12 สาขาที่ส่งใบประกาศไปให้ถึงบ้านผู้ได้รับรางวัล) โดยผู้ได้รับรางวัลล้วนมาปรากฏตัวกันพร้อมหน้า ยกเว้นแค่ผู้ชนะรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมอย่าง เอมิล ยานนิงส์ จากหนังเรื่อง The Last Command และ The Way of All Flesh ซึ่งกว่าจะถึงวันงาน เขาได้เดินทางกลับไปยังเยอรมนีบ้านเกิด และเริ่มต้นอาชีพในฐานะนักแสดงคู่ขวัญกองทัพนาซี (ซึ่งทำให้หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง เขาไม่สามารถหางานแสดงได้อีกเลย) 
 

<p>เอมิล ยานนิงส์ กับออสการ์ตัวแรกในประวัติศาสตร์</p>

เอมิล ยานนิงส์ กับออสการ์ตัวแรกในประวัติศาสตร์

ความพิเศษอีกประการหนึ่งของงานออสการ์ครั้งแรกก็คือการที่มันเป็นงานแรกและงานเดียวที่ออสการ์แบ่งรางวัลหนังยอดเยี่ยมออกเป็นสองประเภท คือประเภทหนังดราม่า ที่ 7th Heaven ของผู้กำกับ แฟรงก์ บอร์ซาจ ชนะไป และอีกประเภทหนึ่งคือประเภทหนังตลก ที่มอบให้กับ Two Arabian Knights ของ ลูอิส ไมล์สโตน นอกจากนี้ยังมีการมอบรางวัลพิเศษให้กับสตูดิโอวอร์เนอร์บราเธอร์ส จากหนังเรื่อง The Jazz Singer และ ชาร์ลี แชปลิน จากการเขียนบท, โปรดิวซ์, แสดงนำ และกำกับในหนังเรื่อง The Circus ด้วย

ตุ๊กตาทองเวอร์ชั่นแรกสุดที่แจกในงานมอบรางวัลออสการ์ครั้งแรกถูกออกแบบโดย เซดริก กิบบอนส์ ประธานฝ่ายศิลป์ของสตูดิโอเอ็มจีเอ็มผู้ได้ชื่อว่าเป็นสไตลิสต์และฝ่ายศิลป์ที่ทรงอิทธิพลที่สุดในฮอลลีวูดยุคนั้น ด้วยความที่พ่อของเขาเป็นสถาปนิก กิบบอนส์จึงได้แรงบันดาลใจในการออกแบบฉากและองค์ประกอบในหนังด้วยวิถีทางสถาปัตยกรรม โดยเฉพาะการนำสถาปัตยกรรมและศิลปะสไตล์อาร์ตเดโคที่กำลังรุ่งเรืองในยุคนั้นมาใช้ ซึ่งการออกแบบตุ๊กตาทองของเขาก็ได้แรงบันดาลใจมาจากสไตล์อาร์ตเดโคเช่นกัน

<p>เซดริก กิบบอนส์ กับออสการ์ที่เขาออกแบบ</p>

เซดริก กิบบอนส์ กับออสการ์ที่เขาออกแบบ

ตุ๊กตาทองเวอร์ชั่นต้นแบบมีความสูง 13 นิ้วครึ่ง ตั้งอยู่บนฐานรูปม้วนฟิล์มหนังที่มีช่อง 5 ช่อง สื่อความหมายถึงรางวัลออสการ์ห้าสาขาที่ถูกแจกในงานมอบรางวัลครั้งแรก ในตอนแรก ชื่ออย่างเป็นทางการของมันคือ Academy Award of Merit ก่อนที่จะถูกเรียกด้วยชื่อเล่นที่ถูกทำให้เป็นชื่อทางการว่า ออสการ์ ในปี 1939 ซึ่งไม่มีการบันทึกแน่ชัดว่าที่มาของชื่อนี้มาจากที่ใด แต่เรื่องที่โด่งดังที่สุดก็คือเรื่องราวของ มาร์กาเรต เฮอร์ริก บรรณารักษ์ประจำ Academy ที่ได้เห็นตุ๊กตาทองครั้งแรกแล้วร้องออกมาว่า หน้าตาเหมือนลุงออสการ์ของเธอไม่มีผิดเพี้ยน

ในช่วงแรก ๆ ตุ๊กตาทองก็ใช้หุ่นเงินนำมาชุบทองจริง ๆ แต่พอถึงยุค 1940s ซึ่งเป็นช่วงเวลาของสงครามโลกครั้งที่ 2 โลหะกลายเป็นวัสดุที่ขาดแคลนอย่างหนักเนื่องจากถูกนำไปใช้ในการสงครามหมด ยุคนี้ตุ๊กตาทองจึงกลายเป็นตุ๊กตาปูนปั้นทาสี แต่ก็มีสัญญาใจกันว่าเมื่อสงครามจบลงแล้ว ผู้ได้รางวัลสามารถนำเวอร์ชั่นปูนปั้นมาเปลี่ยนเป็นตุ๊กตาทองของจริงได้

<p><i>โจน คราวฟอร์ด รับรางวัลออสการ์สาขานำหญิงยอดเยี่ยมประจำปี 1945 บนที่นอน</i></p>

โจน คราวฟอร์ด รับรางวัลออสการ์สาขานำหญิงยอดเยี่ยมประจำปี 1945 บนที่นอน

ออสการ์ครั้งแรกที่ถูกถ่ายทอดสด

กว่าที่งานประกาศผลรางวัลออสการ์จะถูกถ่ายทอดสดออกอากาศทางโทรทัศน์ก็เมื่อล่วงเข้างานครั้งที่ 26 (ปี 1953) เข้าไปแล้ว (ก่อนหน้านั้นเป็นการออกอากาศทางวิทยุมาโดยตลอด) โดยมีผู้ชมเฝ้าหน้าจอรอดูถึง 34 ล้านคน พิสูจน์ว่าการตัดสินใจของคณะกรรมการออสการ์ในปีนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง จากที่ก่อนหน้านี้พวกเขาลังเลว่าจะเอางานประกาศรางวัลภาพยนตร์ไปฉายออกจอแก้ว ซึ่งเป็นคู่ปรับตัวร้ายที่กำลังมาแทนที่จอเงินหรือโรงหนังดีหรือไม่

นอกจากจะเป็นการถ่ายทอดสดครั้งแรกในประวัติศาสตร์ งานประกาศรางวัลออสการ์ในค่ำคืนนั้นยังสร้างสถิติอีกมากมายที่เป็นที่น่าจดจำ โดยดาวเด่นในค่ำคืนนั้นก็คือหนังเรื่อง From Here to Eternity ที่กวาดออสการ์แปดตัวจนสามารถขึ้นมาตีเสมอหนังที่ได้รางวัลออสการ์มากที่สุดอย่าง Gone With the Wind (1939) ที่นั่งครองแชมป์มานานถึง 14 ปีได้

<p>งานประกาศรางวัลออสการ์ครั้งที่ 26</p>

งานประกาศรางวัลออสการ์ครั้งที่ 26

นอกจากนี้ นี่ยังเป็นปีแรกที่ ออร์เดรย์ เฮปเบิร์น สามารถคว้าออสการ์สาขานักแสดงนำหญิงตัวแรกมาครองได้จากการรับบทเจ้าหญิงหนีเที่ยวใน Roman Holiday ซึ่งเบื้องหลังความสวยหยาดเยิ้มในภาพถ่ายคู่ออสการ์ตัวแรกและตัวเดียวในชีวิตก็คือความอลหม่านสุดขั้ว เนื่องจากในค่ำคืนเดียวกับการประกาศรางวัล เฮปเบิร์นติดขึ้นแสดงละครเวทีในบรอดเวย์ ด้วยเหตุนี้ ทันทีที่เธอลงจากเวที เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ต้องรีบมาอารักขาและเปิดทางให้เธอบึ่งไปยังสถานที่จัดงานออสการ์ในนิวยอร์ก จนทันได้ยินชื่อของตัวเองถูกประกาศแบบเฉียดฉิว (ในปีนั้นการจัดงานออสการ์ถูกจัดขึ้นที่นิวยอร์กและฮอลลีวูด แล้วใช้การตัดต่อสลับกล้องช่วย)

<p>ออร์เดรย์ เฮปเบิร์น และออสการ์นำหญิงจาก Roman Holiday</p>

ออร์เดรย์ เฮปเบิร์น และออสการ์นำหญิงจาก Roman Holiday

<p>อีกหนึ่งภาพในตำนาน ออร์เดรย์ เฮปเบิร์น และ เกรซ เคลลี หลังเวทีออสการ์</p>

อีกหนึ่งภาพในตำนาน ออร์เดรย์ เฮปเบิร์น และ เกรซ เคลลี หลังเวทีออสการ์

เอ็มวีพีประจำค่ำคืนนั้นอีกคนหนึ่งก็คือ วอลต์ ดิสนีย์ ที่ถูกขานชื่อให้ขึ้นไปรับรางวัลถึงสี่ครั้งในค่ำคืนเดียว โดยเขาได้รับรางงัลจาก The Alaskan Eskimo (หนังสารคดีสั้นยอดเยี่ยม), The Living Desert (หนังสารคดียอดเยี่ยม), Toot, Whistle, Plunk and Boom (อนิเมชั่นขนาดสั่นยอดเยี่ยม) และ Bear Country (สารคดีขนาดสั้น two-reel ยอดเยี่ยม) ซึ่งทำให้เจ้าพ่ออนิเมชั่นผู้นี้กลายเป็นบุคคลที่ได้รับรางวัลออสการ์มากที่สุดในคืนเดียว แบบที่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีใครโค่นได้

<p><i>วอลต์ ดิสนีย์ และรางวัลออสการ์ในตำนานของเขา</i></p>

วอลต์ ดิสนีย์ และรางวัลออสการ์ในตำนานของเขา

เรื่องวุ่น ๆ ของวัยรุ่น (เก๋า) ออสการ์

แม้ว่าความนิยมของออสการ์จะเริ่มเสื่อมลงในยุคหลัง จากข้อหาว่าเป็นงานปาหี่ที่ดราม่าไม่แพ้หนังที่เข้าชิง แต่จริง ๆ แล้วหากย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ออสการ์ตั้งแต่ปีแรก ๆ ก็จะพบว่า ความดราม่ากับออสการ์นั้นเป็นเรื่องที่ไม่เคยแยกขาดจากกัน และที่จริงเหล่าวัยรุ่นออสการ์เขาก็มีเรื่องดราม่ากันมาตั้งแต่สมัยเป็นงานแบบยังไม่ถ่ายทอดสดด้วยซ้ำ

เรามาเริ่มไล่ไปด้วยกัน
 

ออสการ์ที่ผิดฝาผิดตัว

ใครยังจำโมเมนต์ ‘จดหมายผิดซอง’ ในงานประกาศรางวัลออสการ์ปี 2017 ที่ La La Land ถูกประกาศให้เป็นหนังยอดเยี่ยมของค่ำคืนนั้นได้เพียงไม่กี่อึดใจ ก่อนที่จะมีการประกาศในภายหลังว่าผู้ชนะสาขาหนังยอดเยี่ยมที่แท้จริงคือ Moonlight ได้บ้าง? ที่จริงแล้วนั่นไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดโมเมนต์ออสการ์ผิดฝาผิดตัว เพราะย้อนกลับไปในปี 1934 เหตุการณ์แบบนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว เมื่อพิธีกร วิล โรเจอร์ ประกาศชื่อผู้คว้าออสการ์สาขาผู้กำกับยอดเยี่ยม แต่แทนที่จะเอ่ยชื่อเต็ม เจ้าตัวกลับร้องว่า “เฮ้ย! แฟรงก์! ขึ้นมารับรางวัลสิเพื่อน” โดยลืมไปว่าในปีนั้นมีผู้กำกับชื่อแฟรงก์เข้าชิงสองคน คือ แฟรงก์ แคปรา จาก Lady for a Day และ แฟรงก์ ลอยด์ จาก Cavalcade ซึ่งในภายหลัง แฟรงก์ แคปราผู้ดีใจเก้อได้รำลึกความหลังถึงเหตุการณ์นั้นว่า การเดินกลับไปนั่งที่หลังจากได้รู้ว่าตัวเองไม่ใช่ผู้ชนะนั้นเป็นเส้นทางการเดินที่ “ยาวนาน เศร้าสลด และหัวใจสลายที่สุด” (แต่ในปีถัดมาเขาก็ได้รางวัลในสาขานี้จาก It Happened One Night)

<p><i>โมเมนต์ 2 แฟรงก์</i></p>

โมเมนต์ 2 แฟรงก์

แต่ถ้าคิดว่าการเรียกผิดตัวว่าเจ็บแล้ว ลองมาเจอการมอบให้ใครก็ไม่รู้ไปเลยดีกว่า! ย้อนกลับไปในงานประกาศรางวัลออสการ์ปี 1938 ชื่อของ อลิซ แบรดี ถูกประกาศให้เป็นผู้คว้ารางวัลออสการ์สาขานักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมจากหนังเรื่อง In Old Chicago แต่เมื่อถึงวันงาน แบรดีกลับป่วยนอนซมจนไม่สามารถไปร่วมงานได้ ทำให้ต้องมีตัวแทนขึ้นไปรับรางวัลแทน

แต่ความอิหยังวะก็คือ หลังจบงานนั่นล่ะ ทีมงานถึงมาเอ๊ะกันว่าผู้ชายที่ขึ้นไปรับรางวัลแทนแบรดีคือใครนะ ซึ่งพอควานหาตัวก็พบว่า ชายคนนั้นหาได้เกี่ยวข้องใด ๆ กับกองถ่ายหรือตัวแบรดีเองทั้งสิ้น! และกว่าจะรู้ตัว ตุ๊กตาทองของแบรดีก็หายไปพร้อมกับสายลม ทิ้งไว้แต่ปริศนาที่จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่มีใครรู้ว่า ชายคนนั้นคือใคร

<p><i>อลิซ แบรดี และรางวัลออสการ์ที่ทางคณะกรรมการมอบให้เธอแทนตัวที่ถูกขโมยไป</i></p>

อลิซ แบรดี และรางวัลออสการ์ที่ทางคณะกรรมการมอบให้เธอแทนตัวที่ถูกขโมยไป

ออสการ์ที่ปฏิเสธได้ (The Oscar You Can Refuse)

ไม่ใช่ทุกคนที่วาดฝันถึงตุ๊กตาทอง ในประวัติศาสตร์งานประกาศรางวัลออสการ์ มีหลายครั้งที่ผู้ชนะกลับปฏิเสธที่จะมารับรางวัลบนเวทีอันทรงเกียรติ อย่างในปี 1971 ที่ตัวเต็งสาขานำชายยอดเยี่ยมอย่าง จอร์จ ซี. สก็อตต์ จากหนังสงคราม Patton แสดงท่าทียี้ออสการ์ชัดเจน โดยประกาศว่านี่คือ “ตลาดขายเนื้อความยาวสองชั่วโมง” แต่เมื่อถึงวินาทีที่พิธีกรของค่ำคืนนั้นอย่าง โกลดี ฮอว์น เปิดซองรางวัลนำชายแล้วเห็นชื่อผู้ชนะฝ เขาก็ถึงกับอุทานออกมาว่า “พระเจ้าช่วย… จอร์จ ซี. สก็อตต์”

อีกหนึ่งคนไม่เอาออสการ์ในตำนานก็คือ มาร์ลอน แบรนโด แต่แทนที่จะไม่มาร่วมงาน เขากลับส่งตัวแทนเป็นนักแสดงและนักเคลื่อนไหวชาวอเมริกันพื้นเมือง ซาชีน ลิตเทิลฟีเธอร์ มาร่วมงานแทน และเมื่อถึงเวลาที่ชื่อของแบรนโดถูกประกาศให้ขึ้นไปรับรางวัลสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจาก The Godfather ลิตเทิลฟีเธอร์ในชุดพื้นถิ่นก็ขึ้นไปอ่านประกาศแสดงจุดยืนของแบรนโดผู้ต้องการเรียกร้องความเท่าเทียมให้กับทีมงานในกองถ่ายที่เป็นชาวอินเดียนแดง “มาร์ลอน แบรนโด แสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งที่เขาไม่อาจมารับรางวัลนี้ อันเนื่องมาจากการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมต่อชาวอเมริกันพื้นเมืองที่อยู่ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์และโทรทัศน์”

<p>&nbsp;ซาชีน ลิตเทิลฟีเธอร์</p>

 ซาชีน ลิตเทิลฟีเธอร์

ออสการ์และสีผิว

ด้วยความที่เป็นรางวัลซึ่งมีอายุยาวนานเกือบศตวรรษ ออสการ์จึงผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านช่วงเวลายุคมืดที่สะท้อนอคติและมายาคติของสังคมในช่วงเวลานั้น ๆ จนมีใครเคยกล่าวไว้ว่า ออสการ์คืองานประกาศรางวัลที่สะท้อนภาพสังคมอเมริกันได้เจ็บแสบที่สุด

ย้อนกลับไปในงานออสการ์ปี 1940 เมื่อ แฮตตี แม็คแดเนียล สร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเป็นคนผิวดำคนแรกที่คว้ารางวัลออสการ์ จากบทบาทคนใช้ปากร้ายใจดีใน Gone With the Wind แต่ก่อนที่ชื่อของเธอจะถูกประกาศ แม็คแดเนียลต้องเผชิญกับการถูกปฏิบัติในฐานะพลเมืองชั้นสอง ด้วยความที่ยุคนั้นยังมีกฎการแบ่งแยกพื้นที่ระหว่างคนขาวและคนดำ  โปรดิวเซอร์หนังต้องไปดีลกับโรงแรมซึ่งเป็นสถานที่จัดงาน เพื่อให้แม็กแดเนียลสามารถเข้ามาร่วมงานได้ แม้เมื่อเธอเข้ามาร่วมงานได้แล้ว เธอก็ยังถูกจัดให้นั่งโต๊ะแยกกับทีมงานและนักแสดงซึ่งเป็นเพื่อนของเธอ

<p><i>แฮตตี แม็คแดเนียล</i></p>

แฮตตี แม็คแดเนียล

และเชื่อหรือไม่ว่ากว่าที่คนผิวดำจะได้รับออสการ์ตัวที่สองก็อีก 24 ปีถัดมา เมื่อ ซิดนีย์ พอยเทียร์ สร้างประวัติศาสตร์เป็นคนดำคนแรกที่คว้าออสการ์สาขานำชายยอดเยี่ยมจากบทบาทใน Lilies in the Field และกว่าที่ออสการ์ตัวที่สองในสาขานี้จะเวียนมาถึงคนผิวดำอีกครั้ง พวกเขาก็ต้องรอไปอีก 38 ปี กระทั่ง เดนเซล วอชิงตัน คว้ามาได้จากบทบาทในหนัง Training Day (2001)

<p><i>ซิดนีย์ พอยเทียร์</i></p>

ซิดนีย์ พอยเทียร์

ถ้าการเป็นคนดำในฮอลลีวูดว่าน่าน้อยใจแล้ว ลองเป็น ‘ผู้หญิงผิวดำ’ ในฮอลลีวูดดูสิ เพราะกว่าที่ออสการ์จะมอบรางวัลนักแสดงนำหญิงให้นักแสดงหญิงผิวดำ ก็เมื่อออสการ์จัดมาเป็นปีที่ 73 แล้ว โดยผู้ที่สร้างประวัติศาสตร์ในครั้งนี้ก็คือ ฮัลลี แบร์รี จากบทบาทใน Monster's Ball

“นี่คือช่วงเวลาที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวของฉันมาก นี่คือจุดเริ่มต้นของผู้หญิงผิวสีไร้หน้าไร้ชื่อทุกคน ที่กำลังจะได้รับโอกาส เพราะประตูได้เปิดให้คุณแล้วในค่ำคืนนี้”

<p><i>เดนเซล วอร์ชิงตัน และ ฮัลลีย์ แบร์รี</i></p>

เดนเซล วอร์ชิงตัน และ ฮัลลีย์ แบร์รี

แต่ความน่าเศร้าก็คือ หลังจากค่ำคืนนั้น ก็ยังไม่มีผู้หญิงผิวดำ (และผิวสีไหน ๆ) ที่ได้เดินผ่านประตูบานนั้นอีกครั้ง เพราะจนถึงทุกวันนี้ แบร์รีก็ยังคงยืนหนึ่งเป็นผู้หญิงผิวดำคนเดียวในประวัติศาสตร์ที่ชนะออสการ์สาขานำหญิง ซึ่งในปี 2016 เธอก็ได้กล่าวคำที่ทำให้สปีชเมื่อ 15 ปีที่แล้วของเธอกลายเป็นคำชวนเศร้าไปในทันที “การได้มาอยู่ตรงนี้เป็นเวลาเกือบ 15 ปี โดยที่ยังไม่มีผู้หญิงผิวสีคนไหนได้ก้าวผ่านประตูบานนั้นเข้ามาอีก มันทำให้ฉันใจสลาย ณ เวลานั้น ฉันคิดว่าช่วงเวลานั้นคือช่วงเวลาที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวฉันจริง ๆ แต่เมื่อลองมาคิดดูแล้ว บางทีมันอาจเป็นแค่ช่วงเวลาของฉันคนเดียวจริง ๆ”

ออสการ์ที่เป็น ‘ที่สุด’

มาว่าด้วยเรื่อง ‘ที่สุด’ ของออสการ์กันบ้าง แต่เราไม่ได้จะมาพูดถึงหนังที่คว้าออสการ์กลับบ้านไปได้เยอะที่สุด (Ben-Hur, Titanic และ The Lord of the Rings: The Return of the King ได้ไปเรื่องละ 11 ตัวเท่ากัน) แต่จะขอยกเหตุการณ์น่าประทับใจที่เราขอให้เป็น ‘ที่สุด’ ของออสการ์กัน

เริ่มที่โมเมนต์ ‘ช็อกที่สุด’ ในประวัติศาสตร์ออสการ์ ถึงขนาดที่คนในงานต้องอุทานอย่างเก็บทรงไม่อยู่ว่า ‘ตาเถร!’ ก็คือเหตุการณ์ในงานออสการ์ปี 1974 ระหว่างที่นักแสดงชาวอังกฤษ เดวิด นีเวน กำลังกล่าวเปิดเพื่อเชิญ เอลิซาเบธ เทย์เลอร์ ขึ้นมาประกาศรางวัลหนังยอดเยี่ยมประจำปีนั้น ในช่วงเวลาที่ทุกคนตั้งตารอที่สุดในงาน ก็ปรากฏแขกที่ไม่ได้รับเชิญอย่างศิลปินและนักเคลื่อนไหว โรเบิร์ต โอเปล วิ่งขึ้นมาบนเวทีในสภาพชุดวันเกิดตั้งแต่หัวจรดเท้า พร้อมชูสองนิ้วเป็นสัญลักษณ์ Peace Sign ใส่กล้อง!

แต่ท่ามกลางความตกตะลึงของแขกในงาน นีเวนก็แก้สถานการณ์ด้วยการพูดอย่างขบขันว่า “ไม่น่าอัศจรรย์ใจหรอกหรือ เมื่อคิดว่าเสียงหัวเราะเดียวในชีวิตที่ชายคนหนึ่งได้รับ ต้องแลกมาด้วยการแก้ผ้าโชว์ ‘จุดด้อย’ ของตัวเอง”

‘สั้นที่สุด’ (ที่ไม่ได้หมายถึงของลับของโอเปลแต่อย่างใด) คือสปีชการรับรางวัลเชิดชูเกียรติของ อัลเฟรด ฮิตช์ค็อก ในงานออสการ์ปี 1968 ที่เจ้าตัวเดินขึ้นมารับรางวัลและกล่าวสปีชสุดทรงพลังว่า “ขอบคุณ” แล้วเดินจากไป ซึ่งก็น่าจะมาจากการที่ฮิตช์ค็อกเป็นผู้กำกับที่ไม่เคยชนะออสการ์เลยตลอดชีวิตการทำงานของเขา แต่ถ้าพูดได้ ฮิตช์ค็อกก็คงพูดว่า ‘แล้วผมต้องแคร์ -่าอะไรล่ะ’

‘ยาวที่สุด’ ตกเป็นของสปีชการรับรางวัลนำหญิงยอดเยี่ยมของ เกรียร์ การ์สัน ในปี 1943 ที่ขึ้นมารับรางวัลโดยเปิดสปีชว่า “ขอบคุณค่ะ ที่จริงแล้วสิ่งที่ฉันอยากจะพูดก็มีเท่านี้ แต่ในเมื่อนี่คือช่วงเวลาสูงสุดในชีวิต ฉันหวังว่าพวกคุณคงไม่ถือสาหากฉันอยากจะขยายความคำว่า ‘ขอบคุณ’ สักนิด” และคำว่า ‘นิดเดียว’ ของการ์สันก็คือการร่ายสปีชยาวห้านาที! (รวมทั้งหมดเป็นเจ็ดนาที) จนนำมาซึ่งกฎสปีช 45 วินาทีที่ใช้มาจนถึงปัจจุบัน

<p><i>ทีม Parasite บนเวทีออสการ์</i></p>

ทีม Parasite บนเวทีออสการ์

แต่กฎทุกกฎย่อมมีข้อยกเว้น อย่างในปี 2020 เมื่อ Parasite สร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเป็นหนังจากเอเชียเรื่องแรกที่คว้ารางวัลหนังยอดเยี่ยม (พ่วงรางวัลใหญ่ทั้งผู้กำกับยอดเยี่ยม, บทยอดเยี่ยม และหนังต่างประเทศยอดเยี่ยม) เมื่อถึงเวลาสำคัญที่ทีมงานทุกคนควงแขนกันขึ้นมารับรางวัลที่นำความภาคภูมิใจไม่ใช่แค่คนเกาหลีเท่านั้น แต่รวมถึงคนเอเชียนทั้งหมด แน่นอนว่าเวลาเพียง 45 วินาทีย่อมไม่เพียงพอให้ทีม Parasite ได้แบ่งปันความภาคภูมิใจ เมื่อเสียงดนตรีเริ่มบรรเลง อันเป็นสัญญาณเตือนเวลาที่หมดลง เหล่าคนฮอลลีวูดที่นำทีมโดย ทอม แฮงก์ส และ ชาร์ลิซ เธอรอน ก็พากันตะโกนว่า “พูดเลย! พูดเลย! พูดเลย!” เพื่อยืดช่วงเวลาแห่งความภาคภูมิใจนี้ให้ได้แบ่งปันกันถ้วนหน้า

Robert Osborne. 85 Years of the Oscar: The Official History of the Academy Awards. Abbeville Press Publishers, 2013