GC_Special Route_memory void-03.jpg

ยินเสียงใบไม้ที่ร่วงหล่น เงี่ยฟังความอึงอลในว่างเปล่ากับ Fallen Leaves ในพิพิธภัณฑ์ชาวยิวแห่งเบอร์ลิน

Post on 13 September

หลังทัวร์เวียนนากันอย่างอิ่มหนำ เราขอพาทุกคนเลี้ยวไปปักหมุดที่เบอร์ลิน ประเทศเยอรมันกันบ้าง และแน่นอนว่าเมื่อพูดถึงเยอรมัน นอกจากเทศกาล October Fest ที่สายดื่มใฝ่ฝัน สิ่งที่หลายคนอดนึกถึงไม่ได้และเป็นสิ่งที่เยอรมันเองก็พยายามปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ให้ดีขึ้นคือเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

ความพยายามในการสร้างความตระหนักรู้เรื่องประวัติศาสตร์ความหลากหลายของเยอรมันตรงนี้เองที่ทำให้เราได้มาเยือนพิพิธภัณฑ์ชาวยิวแห่งเบอร์ลินหรือมูลนิธิพิพิธภัณฑ์ยิวแห่งเบอร์ลินซึ่งตั้งอยู่ใจกลางกรุงเบอร์ลิน ในเขต Kreuzberg เรียกว่าอยู่ไม่ไกลจากกำแพงเบอร์ลินในอดีตและด่านชาร์ลีซึ่งเป็นจุดข้ามระหว่างเบอร์ลินตะวันออกและเบอร์ลินตะวันตกในช่วงสงครามเย็นเท่าไหร่

พิพิธภัณฑ์ชาวยิวแห่งเบอร์ลินแห่งนี้เปิดครั้งแรกเมื่อปี 2001 แต่แนวคิดตั้งต้นนั้นเกิดขึ้นก่อนการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลินในปี 1989 ความตั้งใจของเหล่าผู้ก่อตั้งคือการเชิญชวนผู้คนหลากหลายอาชีพ เชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรมมาทำความรู้จักประวัติศาสตร์และชีวิตชาวยิวในเยอรมนีเพื่อกระตุ้นให้เกิดการตระหนักรู้เกี่ยวกับความหลากหลายทางเชื้อชาติ ปฏิเสธการต่อต้านชาวยิวและปฏิเสธการเลือกปฏิบัติทั้งหลายแหล่ในโลก

ภายในอาคารคอมเพล็กซ์ทรงแปลกตาจัดแสดงนิทรรศการหลายชิ้นที่นำเสนอถึงความเป็นมาและวิถีชีวิตชาวยิว แต่หนึ่งในนิทรรศการที่เป็นที่พูดถึงที่สุดเสมอมาคือ Fallen Leaves โดย Menashe Kadisma ซึ่งตั้งอยู่ในหนึ่งใน Memory Void พื้นที่โล่งว่างที่สถาปนิกอย่าง Daniel Libeskind ตั้งใจสร้างขึ้นเพื่อสะท้อนถึงการที่สังคมเยอรมันไร้ซึ่งชาวยิวเพราะการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

#GCSpecialRout ครั้งนี้ จึงจะพาทุกคนซิ่งไปชมนิทรรศการที่ใครก็ต่างพูดถึงนี้ ตั้งแต่โครงสร้างอาคาร ไปจนถึงความตั้งใจของศิลปิน

ภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ประกอบด้วยอาคารเก่าแบบบาโรกและอาคารทรงซิกแซกที่ออกแบบโดย Daniel Libeskind สถาปนิกชาวอเมริกันคนสำคัญ

Libeskind ออกแบบอาคารหลังใหม่ขึ้นบนแนวคิด ‘Between the Lines’ ที่ต้องการเชื่อมอาคารเก่าของพิพิธภัณฑ์เบอร์ลินเข้ากับอาคารใหม่อย่างพิพิธภัณธ์ชาวยิวแห่งเบอร์ลิน

แนวคิดนี้ผสานรวมขึ้นจากแนวคิด 3 อย่าง หนึ่ง–การจะเข้าใจประวัติศาสตร์ของเบอร์ลินจำเป็นต้องเข้าใจถึงการมีส่วนร่วมของพลเมืองชาวยิวในสังคมเบอร์ลิน สอง–การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ควรต้องถูกบรรจุอยู่ในประวัติศาสตร์ความทรงจำของเมืองเบอร์ลิน และสาม–เมืองเบอร์ลินและประเทศเยอรมนีต้องยอมรับว่าในประวัติศาสตร์ของเยอรมันนั้นเคยมีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว

จากไอเดียที่ว่าอาคาร Libeskind นั้นเป็นอิสระจากภายนอกอาคาร ผู้ชมจะมองไม่เห็นว่าแต่ละชั้นนั้นมีอะไรบ้าง อาคารแห่งนี้ยังไม่มีทางเข้าและทางออก ถ้าจะเข้าไปชมนิทรรศการหลักก็จะต้องเดินผ่านทางใต้ดินที่เชื่อมกับอาคารเก่าแบบบาโรกเข้าไป คล้ายจะบอกเราว่าประวัติศาสตร์ของเยอรมันและชาวยิวนั้นแยกจากกันไม่ขาด

ทางใต้ดินนั้นมีทั้งหมด 3 เส้นทาง แต่ละเส้นทางบอกเล่าและนำเราไปสู่เรื่องราวที่แตกต่างกัน ความน่าสนใจที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่เราจะเล่าวันนี้คือเขายังออกแบบแผนผังของแต่ละชั้นโดยอิงจากเส้นซิกแซกที่มองเห็นได้และเส้นตรงที่มองไม่เห็น จนเกิดเป็น ‘ช่องว่าง’ หรือ ‘Void’ 5 ช่อง ซึ่งเป็นความตั้งใจของ Libeskind ที่จะทำให้การขับไล่และลบล้างประวัติศาสตร์ชาวยิวในเบอร์ลินและเยอรมันมองเห็นและจับต้องได้อย่างเป็นรูปธรรม

3 ช่องนั้นไม่สามารถเข้าถึงได้ เราได้เพียงแต่มองเท่านั้น ส่วนอีก 2 ช่องที่เข้าถึงได้คือ Void of Voidness เป็นหอคอยที่ไม่มีเครื่องทำความร้อนและแสงไฟสังเคราะห์ มีเพียงแสงจากช่องแคบบนหลังคาเท่านั้นที่เล็ดลอดลงมาได้ และอีกช่องหนึ่งคือ Void of Memory ที่จัดแสดงงานติดตั้ง ‘Shalekhet’ หรือ ‘Fallen Leaves’

‘Shalekhet’ หรือ ‘Fallen Leaves’ เป็นงานจัดแสดงตั้งแต่ปี 2001 โดยศิลปินชาวอิสราเอลเช่น Menashe Kadishman ซึ่งตั้งอยู่ใน Memory Void ไม่กี่แห่งที่เข้าถึงได้ของอาคารหลังใหม่

เมื่อเราเดินเข้าไปยังช่องว่างแสนอึดอัดเหล่านี้ เราจะพบกับแผ่นเหล็กพิมพ์ใบหน้าอ้าปากค้างกว่า 10,000 หน้าที่ปกคลุมพื้นอาคาร ทุกการก้าวเดินของเราจะยิ่งเยียบย่ำพวกเขาให้จมดิน ทุกการเดินไปข้างหน้าของเราจะได้ยินเสียงโอดครวญโหยหวนของใบหน้าเหล่านั้นผ่านการกระทบกันของแผ่นเหล็ก

ความน่าสนใจคือแผ่นเหล็กเหล่านั้นพิพม์ใบหน้าที่เหมือนกันทั้งสิ้น ตรงข้ามกับความเป็นจริงที่ว่ามนุษย์เราทุกคนมีอัตลักษณ์ประจำตัว สะท้อนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในช่วงนาซีเยอรมันที่พยายามลบล้างอัตลักษณ์ของแต่ละคนและความเป็นมนุษย์ของพวกเขาผ่านเสื้อผ้าที่ให้ใส่ การสลักเลขที่แขนแทนการเรียกชื่อ กระทั่งการโกนผมจนหัวโล้น

แต่ที่จริงแล้วเราไม่จำเป็นต้องตีความความหมายของงานศิลปะชิ้นนี้เพียงในยุคสมัยของสงครามโลกครั้งที่ 2 เท่านั้น ศิลปินยังต้องการให้ศิลปะของเขาสื่อสารได้กว้างกว่านั้น

ทุกใบหน้าที่เราเยียบย่ำจะเตือนให้เราตระหนักถึงความโหดร้ายของ ‘ทุก’ สงครามที่เกิดขึ้น และเตือนให้เรา ‘ระวัง’ กับการแบ่งแยกทั้งปวงในโลกใบนี้เพื่ออุทิศให้กับเหยื่อผู้บริสุทธิ์ในสงครามและความรุนแรง

อ้างอิง :

fotoeins
jmberlin
libeskind