ศิลปะแห่งการต่อต้านของ 5 ศิลปินเกาหลีใต้ ผู้ใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือวิพากษ์รัฐ

Art
Post on 4 December

ก่อนที่พรรคการเมืองฝ่ายอนุรักษ์นิยมจะได้รับการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลในปี 2022 ซึ่งนำไปสู่เหตุการณ์รัฐประหารอย่างกระทันหันในเกาหลีใต้เมื่อคืนวันที่ 3 ธันวาคมที่ผ่านมา กวีซอง คยอง-ดง สมาชิกกลุ่มศิลปะที่เคลื่อนไหวทางการเมืองอย่าง Dispatch Art และมีบทบาทสำคัญในการขับไล่ประธานาธิบดีปาร์คกึนเฮในปี 2016 ได้แต่งบทกวีที่กล่าวว่า "วันหนึ่ง ต้นไม้แห่งเสรีภาพจะผลิดอกออกผล จนกว่าจะถึงวันนั้น ความฝันและการทดลองต่าง ๆ ของกลุ่ม Dispatch Art จะยังคงดำเนินต่อไป วันหนึ่ง เหล่าชุมชนเล็ก ๆ ความทรงจำ และการต่อสู้ของพวกเขาจะรวมตัวกันและเปิดทางสู่อนาคตอันเสรี"

ภายใต้ภาพจำของสังคมเกาหลีใต้ที่เต็มไปด้วยความสดใสและสีสันจากเคป็อป ประเทศนี้ยังคงเป็นพื้นที่ที่เผชิญกับการปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างโลกเก่าและโลกใหม่ สภาพความงดงามเรียบง่ายที่ปรากฏในบางครั้งผ่านหน้าจออาจทำให้เราลืมไปว่า นี่คือประเทศที่เคยประสบกับความขัดแย้งทางการเมืองและสังคมหลายครั้ง ตั้งแต่สงครามเกาหลี (1950-1953) ไปจนถึงการปกครองภายใต้ระบอบทหารที่ยืดเยื้อจนถึงต้นทศวรรษ 1990 ท่ามกลางความไม่มั่นคงในด้านการเมืองและสังคมนี้ กลุ่มศิลปินที่ชื่อว่า ‘กลุ่มมินจุง’ ได้ถือกำเนิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1980 กลุ่มนี้เป็นการรวมตัวของศิลปินที่มีความคิดวิพากษ์สังคม โดยชื่อของกลุ่มมินจุงหมายถึง ‘ประชาชน’ ซึ่งสะท้อนถึงหลักการสำคัญของสังคมเกาหลี ได้แก่ อำนาจอธิปไตย (มินจอก), ประชาธิปไตย (มินจู), และประชาชน (มินจุง) ศิลปินมินจุงมุ่งสะท้อนปัญหาหลักของประเทศ โดยครอบคลุมประเด็นต่างๆ เช่น มรดกอาณานิคม การแบ่งแยก การปกครองภายใต้ระบอบทหาร การพึ่งพาทุนจักรวรรดิอเมริกา และการแสวงหาผลประโยชน์จากระบบทุนนิยม โดยได้รับแรงบันดาลใจจากศิลปะพื้นบ้าน ศิลปะพุทธ และพิธีกรรมทางศาสนาและความเชื่อท้องถิ่นต่าง ๆ

แม้ว่าหลังจากที่ประเทศเกาหลีใต้ได้มีการปฏิรูปการปกครองในทศวรรษ 1990 กลุ่มศิลปินมินจุงจะไม่ได้เคลื่อนไหวและมีบทบาทอีกต่อไป แต่จิตวิญญาณของศิลปินผู้ใช้ศิลปะในการสะท้อนและวิพากษ์สังคมยังคงอยู่ และในบรรยากาศความปั่นป่วนทางการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศเกาหลีใต้ ณ ขณะนี้ เราจึงอยากชวนทุกคนมาสำรวจศิลปะแห่งการต่อต้านของ 5 ศิลปินที่ใช้ศิลปะในการวิพากษ์ สะท้อน และท้าทายสังคมเกาหลีใต้ด้วยกัน

Dispatch Art ศิลปะที่ไม่เพียงสะท้อนปัญหา แต่ขอเข้าร่วมสู้ปัญหา

Dispatch Art เป็นกลุ่มศิลปินจากเกาหลีใต้ที่นำศิลปะมาผสานเข้ากับการเคลื่อนไหวทางสังคม เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้คน กลุ่มนี้ได้รับอิทธิพลจากศิลปะ มินจุง (Minjung Art) ในยุค 1980 ซึ่งเน้นต่อต้านความรุนแรงของรัฐและเรียกร้องสิทธิของคนชายขอบ อย่างไรก็ตาม Dispatch Art ก้าวข้ามกรอบเดิมโดยไม่เพียงสะท้อนปัญหาในสังคม แต่ยังเข้ามามีบทบาทโดยตรงในการต่อสู้ร่วมกับประชาชน เปลี่ยนพื้นที่ประท้วงให้กลายเป็นเวทีศิลปะที่เต็มไปด้วยพลังแห่งการเปลี่ยนแปลง

ในปี 2009 เมื่อรัฐบาล อีมยองบัก (Lee Myung-bak) สั่งเวนคืนที่ดินในเขตเพื่อพัฒนาเป็นย่านพาณิชย์ ส่งผลให้เกิดการขับไล่ประชาชนและการประท้วงที่ถูกปราบปรามอย่างรุนแรง Dispatch Art ไม่เพียงอยู่ข้างชุมชนผู้ประท้วง แต่ยังเข้ามาในพื้นที่เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ พวกเขาแขวนแบนเนอร์ขนาดใหญ่บนตึกที่ถูกเผา พร้อมข้อความว่า "ที่นี่มีคนอยู่" ซึ่งสะท้อนสิทธิของผู้ที่ถูกไล่ที่

แม้จะถูกตำรวจขับไล่ออกไป กลุ่มศิลปินยังเปลี่ยนพื้นที่ร้านอาหารเก่าของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ให้กลายเป็นหอศิลป์ชั่วคราวชื่อ Le-a Gallery ที่นี่กลายเป็นทั้งพื้นที่จัดนิทรรศการและที่พบปะของครอบครัวผู้เสียชีวิต นักเคลื่อนไหว และผู้มาเยือน สร้างความทรงจำและแรงบันดาลใจเพื่อสานต่อการต่อสู้

ในปี 2010 เมื่อบริษัท Hanjin Heavy Industries ปลดพนักงานเกือบ 400 คน โดยอ้างวิกฤตเศรษฐกิจ คิมจินซุก (Kim Jin-sook) ช่างเชื่อมหญิงวัย 51 ปี ตัดสินใจปีนขึ้นไปบนเครนหมายเลข 85 ที่มีความสูง 35 เมตร เพื่อประท้วงการเลิกจ้าง กลุ่ม Dispatch Art สนับสนุนการต่อสู้ครั้งนี้ในวันที่ 99 ของการประท้วง ด้วยการแขวนแบนเนอร์ขนาดใหญ่ที่มีข้อความว่า "การเลิกจ้างคือการฆาตกรรม" พร้อมทั้งสร้างประติมากรรมและผูกถุงมือของคนงานรอบเครน เพื่อสร้างสัญลักษณ์ของความสามัคคีและความหวัง

จุดเด่นของ Dispatch Art อยู่ที่การสร้างผลงานที่ตอบสนองต่อสถานการณ์ในพื้นที่ประท้วง พวกเขาไม่เพียงสร้างสรรค์ผลงานเพื่อแสดงถึงปัญหา แต่ยังเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการแก้ปัญหา ข้อความเช่น "การเลิกจ้างคือการฆาตกรรม" และ "ทำงานโดยไม่ตาย" สะท้อนถึงแนวคิดการเมืองแห่งการดำรงชีวิต ซึ่งมุ่งปกป้องสิทธิในการมีชีวิตที่มั่นคงและมีศักดิ์ศรี

Dispatch Art ได้พิสูจน์ว่า ศิลปะไม่จำเป็นต้องอยู่ในพิพิธภัณฑ์หรือแกลเลอรี แต่สามารถเป็นเครื่องมือในการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมและสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคมได้อย่างแท้จริง

ชเว บยองซู กับการใช้ศิลปะเพื่อสะท้อนความจริงที่ถูกลบเลือน

ชเว บยองซู (Choi Byung-soo) คือศิลปินผู้มีบทบาทสำคัญในวงการศิลปะร่วมสมัยของเกาหลีใต้ ผลงานของเขาแสดงความวิพากษ์ต่อบรรทัดฐานทางสังคม และสะท้อนภูมิทัศน์การเมืองของประเทศในช่วงเวลาสำคัญของประวัติศาสตร์ หนึ่งในผลงานที่เป็นเอกลักษณ์และทรงอิทธิพลของเขาคือ ชุดผลงานลบหนังสือพิมพ์ (Newspaper Erasure Series) ซึ่งเริ่มต้นในช่วงทศวรรษ 1970 โดยใช้ปากกาลูกลื่นและดินสอลบข้อความในหนังสือพิมพ์ จนเหลือเพียงพื้นผิวเชิงนามธรรมที่สื่อถึงประเด็นทางสังคมและการเมือง

ชเวริเริ่ม Newspaper Erasure Series ในยุคที่สื่อมวลชนของเกาหลีใต้ถูกควบคุมอย่างเข้มงวดภายใต้ระบอบเผด็จการของประธานาธิบดี ปาร์คชุงฮี (Park Chung-hee) เขาใช้เส้นปากกาอันซ้ำซากปกปิดข้อความในข่าว ซึ่งเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ถึงการบิดเบือนข้อมูล การเซ็นเซอร์ และเสรีภาพในการแสดงออกที่ถูกกดขี่ วิธีการลบเนื้อหานี้ไม่เพียงแต่แสดงถึงการสูญหายของข้อมูล แต่ยังสะท้อนถึง ‘การขาดหายไป’ ที่ลึกซึ้งยิ่งกว่าในแง่ของตัวตน ความจริง และความยุติธรรมในสังคม โดยการใช้หนังสือพิมพ์เป็นวัสดุ ชเวเปลี่ยนสิ่งพิมพ์ธรรมดาให้กลายเป็นงานศิลปะที่ท้าทายการตีความระหว่างความเป็นจริงและภาพแทน

แรงบันดาลใจในการสร้างผลงานของชเวมาจากประสบการณ์ชีวิตในช่วงสงครามเกาหลีและการเติบโตขึ้นมาในช่วงเวลาของการปกครองโดยรัฐบาลทหาร การใช้หนังสือพิมพ์เป็นสื่อในการทำงานยังมาจากความยากจนในวัยเด็กที่ทำให้เขาไม่มีเงินในการซื้อสมุดโน้ตดี ๆ และจำต้องใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ในการจดสิ่งต่าง ๆ แทน โดยจุดเริ่มต้นของผลงานลบเนื้อหาในหนังสือพิมพ์ของเขาเกิดขึ้นในปี 1975 ขณะที่เขาฟังการบันทึกเสียงบทสวดพุทธศาสนา การวาดเส้นทับข้อความในหนังสือพิมพ์กลายเป็นการแสดงออกถึงความไม่พอใจต่อการบิดเบือนความจริงในยุคที่รัฐบาลใช้ข้อมูลเป็นเครื่องมือในการควบคุมประชาชน การปกครองของรัฐบาลทหารในเกาหลีใต้ในช่วงทศวรรษ 1970 เต็มไปด้วยการควบคุมและปราบปรามเสรีภาพ รวมถึงการบังคับใช้กฎอัยการศึกและการเซ็นเซอร์สื่ออย่างเข้มงวด สภาพแวดล้อมเช่นนี้ผลักดันให้ชเวตอบสนองผ่านงานศิลปะของเขา การลบข้อความในหนังสือพิมพ์อย่างซ้ำ ๆ กลายเป็นการแสดงออกถึงความโกรธและการต่อต้านอำนาจที่จำกัดสิทธิของประชาชนในการพูดและแสดงความคิดเห็น

ผลงานของชเว บยองซู มุ่งเน้นไปที่ความสัมพันธ์ระหว่างการมีอยู่และการขาดหายไป โดยเฉพาะในบริบทของการเมืองและสื่อสารมวลชน การลบข้อมูลในหนังสือพิมพ์ไม่ใช่เพียงการเปลี่ยนแปลงวัสดุธรรมดาให้กลายเป็นงานศิลปะเชิงนามธรรม แต่ยังตั้งคำถามถึงธรรมชาติของความจริงและการรับรู้ในสังคม

ซอง นึง-คยอง และการต่อสู้กับการควบคุมจาก ‘พระเจ้า’

ซอง นึง-คยอง (Sung Neung-kyung) เป็นศิลปินภาพถ่ายและเพอร์ฟอร์แมนซ์อาร์ตชาวเกาหลีใต้ที่มีบทบาทสำคัญในการวิพากษ์การเมืองและสังคมของประเทศ โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับอำนาจนิยมทั้งในอดีตและปัจจุบัน ผลงานของเขามักสะท้อนถึงการปราบปราม การควบคุมข้อมูลผ่านสื่อ และพลวัตของอำนาจในสังคมที่ถูกกำกับโดยรัฐ

ซองได้รับแรงบันดาลใจจากประสบการณ์ส่วนตัวจากใช้ชีวิตในช่วงยุคเผด็จการของประธานาธิบดีพัคจองฮี ในปี 1970 ซึ่งมีการเซ็นเซอร์และปราบปรามความคิดเห็นที่ต่างจากรัฐบาล ผลงานเด่นชิ้นหนึ่งของเขาคือ Newspaper: from June 1 (1974) ที่เขาใช้มีดตัดข้อความบางส่วนจากหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นและจัดเก็บในกล่องอะคริลิก เพื่อสะท้อนถึงการควบคุมข้อมูลและการบิดเบือนข้อเท็จจริงในสังคม "ผมต้องการตั้งคำถามว่า หนังสือพิมพ์ที่มีการตัดทอนข้อความออกไปนั้นมีอัตลักษณ์อย่างไร? เมื่อบทความในหนังสือพิมพ์ถูกตัดออกไปแล้ว คุณจะเห็นช่องว่างในหน้าหนังสือพิมพ์เหล่านั้น ช่องว่างเหล่านั้นแสดงถึงอะไร? สิ่งเหล่านั้นหมายถึงอะไร? ผมแค่อยากพิจารณาและตั้งคำถามถึงความหมายที่ซ่อนอยู่ในทั้งหมดนี้"

ซองยังใช้ศิลปะเพื่อกระตุ้นให้ผู้ชมมีส่วนร่วมทางการเมือง โดยเขาเคยชวนคนดูมาอ่านหนังสือพิมพ์ร่วมกัน เพื่อร่วมกันตระหนึกถึงบทบาทของสื่อในการกำหนดความคิดเห็นของประชาชน และสถานะความไม่ยั่งยืนของสิ่งที่สื่อเรียกว่า ‘ความจริง’ เพราะเมื่อผู้คนอ่านหนังสือพิมพ์จบ มันก็กลายเป็นสิ่งไร้ค่า และในวันถัดไปมันก็กลายเป็นข่าวเก่าไปแล้ว

นอกจากการใช้สิ่งหรือการกระทำในชีวิตประจำวันมาสร้างสรรค์งานศิลปะ ซองยังมักใช้ร่างกายของเขาในการทำงาน เช่น ซีรีส์ภาพถ่ายที่เขาบันทึกภาพตัวเองขณะกินแอปเปิ้ล (Apple, 1976) ซึ่งเขาตั้งใจเชื่อมโยงตั้งแต่แอปเปิ้ลของอาดัมไปถึงแอปเปิ้ลของไอแซค นิวตัน และถึงกวีชาวเกาหลีที่เขียนเกี่ยวกับแอปเปิ้ลที่ตกลงมาและทำให้โลกเจ็บปวด ซึ่งอาจจะหมายถึงสภาพสังคมอันปั่นป่วนในยุคนี้หรือผลงานชุด Contraction and Expansion ที่เขาทำท่าทางขยายตัวและหกตัว ซึ่งเป็นความพยายามในการใช้ร่างกายของเขาเป็นสื่อในการแสดงออกถึงแนวคิดทางการเมือง โดยการขยายและหดตัวของร่างกายสื่อถึงการขยายเสรีภาพและการถูกกดขี่จากอำนาจทางการเมือง ซองมองว่าการใช้ร่างกายในการทำงานศิลปะคือการสื่อสารเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจภายนอกและร่างกายของมนุษย์ ร่างกายจึงเป็นเสมือนสมรภูมิแห่งการต่อสู้ระหว่างอำนาจของชีวิตประชาชนคนธรรมดา และอำนาจที่อยู่เหนือขึ้นไป

คิมซูจา: การใช้ผ้าและการเย็บเพื่อวิพากษ์สังคม

คิมซูจา (Kimsooja) เกิดในปี 1957 ที่เมืองแทกู ประเทศเกาหลีใต้ เป็นศิลปินร่วมสมัยที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ ผู้สร้างสรรค์ผลงานในหลากหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นจิตรกรรม ภาพถ่าย การแสดง และศิลปะจัดวาง ผลงานของเธอมักสะท้อนประเด็นทางมนุษยธรรม วัฒนธรรม การเมือง และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการตั้งคำถามเกี่ยวกับบทบาทของผู้หญิงในสังคมปิตาธิปไตย ผ่านสัญลักษณ์และกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับผ้าและการเย็บ

แรงบันดาลใจสำคัญในงานศิลปะของคิมซูจามาจากประสบการณ์ส่วนตัว โดยเฉพาะช่วงเวลาที่เธอได้ทำกิจกรรมเย็บผ้ากับแม่ในปี 1993 คิมซูจาเล่าถึงความรู้สึกเหมือนมี "พลังจักรวาล" ไหลผ่านเข็มและผ้า ประสบการณ์นี้ทำให้เธอค้นพบความสัมพันธ์ระหว่างกระบวนการสร้างสรรค์ศิลปะและโครงสร้างของโลกในมุมมองของเธอ

หนึ่งในผลงานที่โดดเด่นของคิมซูจาคือ บอททารี (Bottari) ซึ่งนำศิลปะการห่อของด้วยผ้าแบบดั้งเดิมของเกาหลีมาใช้สื่อความหมายในเชิงประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และบทบาทของผู้หญิงในสังคม บอททารีไม่เพียงสะท้อนถึงการเคลื่อนย้ายหรือการเดินทาง แต่ยังแฝงไปด้วยน้ำหนักทางอารมณ์และความทรงจำ

คิมซูจาเคยกล่าวถึงประสบการณ์ของเธอในการโยกย้ายระหว่างเกาหลีและนิวยอร์กว่า “ชีวิตในนิวยอร์กเปลี่ยนมุมมองของฉันเกี่ยวกับสังคมเกาหลี เมื่อกลับมาที่เกาหลี ฉันมองบอททารีเหมือนกับความทรงจำและประวัติศาสตร์ที่ถูกบรรจุไว้ แต่เมื่ออยู่ที่นิวยอร์ก ฉันมองว่ามันเป็นประติมากรรมที่มีมิติของเวลาและพื้นที่ ความหมายของบอททารีจึงกว้างขึ้นและลึกซึ้งขึ้นเรื่อยๆ สำหรับฉัน”

บอททารีเชื่อมโยงกับประสบการณ์ของผู้คนที่ต้องพลัดถิ่นจากบ้านเกิด ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ สงคราม หรือวัฒนธรรม นอกจากนี้ยังเป็นการตั้งคำถามถึงความซับซ้อนของอัตลักษณ์และความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม

ในปี 1999 คิมซูจาได้นำเสนอ A Needle Woman ซึ่งเป็นผลงานวิดีโอที่แสดงภาพแผ่นหลังของเธอในท่าทางนิ่งสงบ ในสถานที่ต่างๆ ทั่วโลก เช่น โตเกียว นิวยอร์ก เม็กซิโกซิตี้ และเยรูซาเลม แต่ละสถานที่สะท้อนความขัดแย้ง ความเสียหาย หรือความเปลี่ยนแปลงทางสังคม การปรากฏตัวของเธอในฐานะ ‘เข็ม’ สื่อถึงการเป็นเครื่องมือที่เชื่อมโยงความแตกแยกในสังคมและแสดงบทบาทของผู้หญิงในฐานะผู้เยียวยา

ในปี 2003 คิมซูจาได้สร้างผลงาน A One-Word Name Is An Anarchist's Name หลังจากที่เธอต้องการเลือกชื่อโดเมนสำหรับเว็บไซต์ของตนเอง เธอตัดสินใจรวมชื่อและนามสกุลเข้าด้วยกันเป็นคำเดียวในเชิงแนวคิด เพื่อปฏิเสธอัตลักษณ์ทางเพศ สถานภาพสมรส และขอบเขตทางภูมิศาสตร์

เธออธิบายว่า “ชื่อที่เป็นคำเดียวปฏิเสธอัตลักษณ์ที่สังคมกำหนด ไม่แยกแยะว่าคุณเป็นใครหรือมาจากไหน การใช้ชื่อเดียวคือการแสดงอิสระที่ไร้ขอบเขตในทุกมิติ”

Ipgim และการเคลื่อนไหวทางศิลปะสตรีนิยมในเกาหลีใต้

กลุ่มศิลปิน Ipgim (อิปกิม) ก่อตั้งขึ้นในปี 1997 โดยศิลปินหญิงแปดคน ได้แก่ ควัก อึนซุก, คิม มยองจิน, รยู จุนฮวา, อู ชินฮี, ยุน ฮีซู, จอง จองยอบ, เจ มิลาน และ ฮา อินซุน กลุ่มนี้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนศิลปะสตรีนิยมในเกาหลีใต้ ซึ่งในเวลานั้น วงการศิลปะยังถูกครอบงำด้วยแนวคิดชายเป็นใหญ่ สมาชิกของกลุ่มมีพื้นฐานการศึกษาหลากหลายสาขา เช่น ศิลปะ การออกแบบ และวิดีโอ อีกทั้งบางคนเคยร่วมเคลื่อนไหวในกลุ่มสนับสนุนศิลปินหญิงมาตั้งแต่ช่วงปี 1980

การจัดตั้ง Ipgim เกิดขึ้นหลังจากการยุบตัวของกลุ่ม Yeosung Misul Yeonguhoe ในปี 1994 ศิลปินหญิงเหล่านี้ต้องการสร้างชุมชนใหม่ที่เปิดพื้นที่สื่อสารอย่างเสรี โดยให้ความสำคัญกับประชาธิปไตยและความเท่าเทียม กลุ่ม Ipgim เริ่มต้นด้วยการจัดแสดงผลงานและกิจกรรมที่วิพากษ์ประเด็นทางสังคม โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมบทบาทผู้หญิงในศิลปะผ่านการสร้างพื้นที่ที่เน้นความร่วมมือและเคารพซึ่งกันและกัน พวกเธอมองหากิจกรรมและแนวทางในการหลอมรวมและปลอบประโลมโลกด้วย ‘ลมหายใจอ่อนโยน’ หรือ ‘การหายใจอุ่น ๆ’ ของผู้หญิง โดยไม่ได้มุ่งเน้นที่การจัดการองค์กรอย่างเคร่งครัด แต่สนับสนุนการสื่อสารประชาธิปไตยที่เคารพความเท่าเทียมและการเคารพซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นอายุหรือประสบการณ์

หนึ่งในผลงานที่สำคัญที่สุดของ Ipgim คือโครงการ Abanggung: Occupy Jongmyo Project ซึ่งเริ่มขึ้นในปี 2000 เพื่อเฉลิมฉลองสหัสวรรษใหม่ ที่สวนสาธารณะ Jongmyo Square ในกรุงโซล ชื่อของโครงการ Abanggung มีความหมายสองนัย คือเป็นคำย่อของ “A reumdabgo Bang jahan Ja gung (มดลูกที่สวยงามและกล้าหาญ)” โครงการนี้สะท้อนถึงความขัดแย้งทางสังคมและวัฒนธรรมโดยเฉพาะการจัดแสดงงานศิลปะในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ นั่นก็คือ บริเวณของศาลเจ้าจองมโย (Jongmyo Shrine) ซึ่งได้รับการคัดค้านจากหลายฝ่าย รวมทั้งราชวงศ์ Jeonju Lee ที่ไม่เห็นด้วยกับการจัดแสดงงานศิลปะที่พูดเรื่องเพศหญิงในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สร้างจากแนวคิดขงจื๊อ จนเกิดการเผชิญหน้าและการโต้แย้งจากสื่อมวลชนและสังคม

ถึงแม้ว่าโครงการ Abanggung จะไม่สามารถจัดแสดงตามแผนเดิมได้ แต่กลุ่ม Ipgim ก็ได้จัดงานเทศกาลวัฒนธรรมสตรีขึ้นในวันที่ 29 ตุลาคม โดยมีการเดินขบวนและเรียกร้องสิทธิในการแสดงออกทางศิลปะผ่านการมีส่วนร่วมของศิลปินและนักกิจกรรมหลายคน งานนี้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ในสงครามวัฒนธรรมเกี่ยวกับการยอมรับศิลปะและการเคลื่อนไหวทางสตรีนิยม

ตัวอย่างของผลงานในโครงการนี้ ได้แก่ การสร้าง ‘เทพธิดาแม่’ ในรูปของตุ๊กตาผ้าขนาดใหญ่เพื่อเป็นตัวแทนของตัวละครในตำนานที่ถูกกล่าวขานว่าเป็นผู้ปกป้องคาบสมุทรเกาหลี นอกจากนี้ยังมีการนำกระโปรงสีชมพูของสตรีชนชั้นสูงในราชวงศ์โชซอนไปจัดวางบนต้นไม้เพื่อเพิ่มบรรยากาศความรื่นเริง เสมือนพื้นที่นี้ได้รับการฟื้นฟูจากบรรพบุรุษเพศหญิง
อีกหนึ่งผลงานสำคัญคือการโครงสร้างขนาดใหญ่จากผ้ายืดหยุ่นที่ทำด้วยมือประกบกันจนดูเหมือนเป็นรูปมดลูก ผลงานชิ้นนี้ตั้งใจเชิญผู้ชมเข้ามาระลึกถึงกระบวนการเกิดมนุษย์ ภายในโครงสร้างสีชมพูเต็มไปด้วยองค์ประกอบที่เรียบเนียนเหมือนภายในร่างกายมนุษย์ ประกอบด้วยภาพและเสียงต่าง ๆ ซึ่งกระตุ้นประสาทสัมผัสทั้งห้าของผู้ชม โครงสร้างนี้ทำให้ผู้ชมได้ตระหนักถึงความลึกลับในเรื่องเพศที่เกิดขึ้นจากการพยายามแยกกระบวนการสร้างชีวิตออกจากความสุขทางเพศ เปิดพื้นที่ให้ผู้ชมได้เข้ามาซึมซับพื้นที่ร่างกายที่แท้จริง ที่ซึ่งความสุข ความเจ็บปวด ความพังทลาย และการสร้างสรรค์สามารถอยู่ร่วมกันได้

ในงานนี้ยังมีการใช้สัญลักษณ์ในการท้าทายบรรทัดฐานทางเพศ เช่น การกินทอฟฟี่ที่มีรูปอวัยวะเพศหญิงและชาย (Ppopgi Ddamuggi) และการโยนแหวนลงในพื้นที่ที่มีรูปร่างคล้ายร่างกายของผู้หญิง (Norimadang) ผลงานนี้ไม่เพียงผสมผสานวัฒนธรรมการเล่นในวัยเด็กกับวัฒนธรรมทางเพศของผู้ใหญ่ แต่ยังเป็นการทำลายตราบาปเกี่ยวกับการพูดถึงเรื่องเพศ ภายในงานยังมีการปล่อยลูกโป่งที่มีวลีที่ดูเป็นการหมิ่นเพศหญิง เช่น “กลับบ้านไปดูแลลูก” “อย่านั่งแยกกันตอนกลางคืน” และ “อย่าเดินเตร่ดึก ๆ” ซึ่งเปรียบเสมือนการปลดปล่อยผู้คนจากคำพูดเหยียดเพศและข้อจำกัดที่ผู้หญิงต้องเจอในชีวิตประจำวัน

อ้างอิง
zineseminar
art21
artasiapacific
dispatch art as socially engaged radical art in south kore
Wooson Gallery
i-d
frieze
The Guardian
Art Review
baikart
hyperallergic