งานชิ้นสุดท้ายในปี 2024 ของ 12 ศิลปินไทยที่เราชวนมาร่วมทบทวนชีวิตและความคิดในปีที่ผ่านมา

Art
Post on 23 December

ในสัปดาห์นี้ เชื่อว่าคนสู้งานทั้งหลาย หากไม่ได้เริ่มพักผ่อนกันแล้ว ก็อาจกำลังง่วนอยู่กับการปิดจ๊อบสุดท้ายของปี เพื่อเตรียมตัวพักผ่อนในช่วงวันหยุดยาว ก่อนไปลุยสู้งาน สู้ลูกค้า สู้เจ้านาย กันต่อในปีหน้า

เมื่อพูดถึงคนทำงานแล้ว ศิลปินก็เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่มี ‘จ็อบสุดท้าย’ ก่อนปิดปีเช่นกัน แต่ด้วยความที่ผลงานของพวกเขาคือผลลัพธ์จากตัวตนและความคิด จึงน่าสนใจว่าในช่วงเวลาที่พวกเขาสร้างสรรค์ผลงานชิ้นสุดท้ายของปีนี้ พวกเขากำลังคิดอะไรอยู่? หรือใส่ตัวตนอะไรลงไปบ้าง?

GroundControl ชวน 12 ศิลปินที่เราติดตามมาแบ่งปันผลงานชิ้นสุดท้ายที่พวกเขาลงมือทำในปีนี้ พร้อมชวนพวกเขามาแบ่งปันความคิด ณ ห้วงขณะที่พวกเขากำลังลงมือทำงานชิ้นนี้ รวมทั้งทบทวนชีวิตและการทำงานในปี 2024 ที่ผ่านมา โดยหวังว่าผลงานของพวกเขา อาจจะชวนเราทุกคนย้อนคิดถึงชีวิตในช่วงปีที่ผ่านมาเช่นกัน :)

เตว – จารุวัฒน์ น้อมรับพร

"เป็นภาพที่กลับมาหาตัวตนเดิม ๆ ของตัวเองหลังจากที่ไปทดลองวาดมาหลาย ๆ แบบแล้วไปเด็ดช่อทองอุไรในสวน มาจัดกับข้าวของในห้องที่ยังเหลือรอดจากการโละทิ้ง ได้แวะกลับมาทบทวนกระบวนการทำงาน วิธีแก้ปัญหา ความพอใจแบบเดิม ๆ แต่มันก็ไม่เดิมซะทีเดียว มั่นใจขึ้น มั่นใจว่าเราขยับจากจุดเดิมมาแล้ว เป็นอิสระขึ้น"

juli baker and summer

"ปีนี้เป็นปีที่เราได้ทำอะไรเยอะมาก ๆ ได้เดินทาง ได้ใช้ชีวิตและลองทำงานใหม่ ๆ แต่ว่ามันก็ยังมีสิ่งที่ติดอยู่ในใจเราอยู่เสมอ ยังมีคนกลุ่มหนึ่งที่ยังติดอยู่ในคุก ไม่ได้ออกมาใช้ชีวิตแบบเรา แค่เพราะเค้าแสดงความเห็นทางการเมือง เราทำงานส่งท้ายปีชิ้นนี้เพื่อเตือนตัวเองและเตือนทุกคนให้ยังไม่ลืมพวกเขาเหล่านั้น"

ปลื้ม – ศุภวิชญ์ วีสเพ็ญ

งานชุด "แสง, แมลง และถนน

"หลังจากเสร็จสิ้นการจัดแสดงผลงานในนิทรรศการ Bangkok Art Biennale 2024 เราก็ได้รับคำชวนจากเพื่อนให้ร่วมแสดงงานใน Sound of Srisaket 2024 ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 19-22 ธันวาคม 2024 ที่จังหวัดศรีสะเกษ งานนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของโปรเจกต์ใหม่ที่แตกแขนงออกมาจากความสนใจเดิม โดยผลงานในชุดนี้ประกอบด้วย ภาพวาด สื่อผสม และวิดีโอ

"การสร้างงานชุดนี้เริ่มต้นจากการสนใจมลพิษทางแสง ซึ่งเคยเป็นหัวข้อที่เราสำรวจในผลงานก่อนหน้า ระหว่างค้นคว้า เราเริ่มพบความเชื่อมโยงระหว่างแสงและแมลง เช่น พฤติกรรมการบินเล่นไฟของแมลง ชีวิตของมันในเมือง หรือปรากฏการณ์ที่แมลงลดจำนวนลง เช่น การชนกับรถที่เกิดขึ้นในตอนกลางคืน ซึ่งในความเป็นจริงคือรถที่ขับไปชนพวกมันมากกว่า

"สิ่งที่เราสนใจคือ เรื่องราวเหล่านี้แม้ดูเหมือนจะเป็นเรื่องธรรมดาในชีวิตประจำวัน แต่กลับแฝงด้วยผลกระทบระยะยาวที่น่ากลัวต่อระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ เราเริ่มตั้งคำถามและพิจารณาแสงไฟที่มนุษย์สร้างขึ้น และผลกระทบที่เกิดขึ้นกับแมลงซึ่งไม่ได้มีความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมเหล่านี้

"กระทั่งเราพบภาพถ่ายของแมลงที่ดูคล้ายสัตว์ประหลาด ลำตัวยาวและมีปีกเรียงตัวตลอดทั้งลำตัว ซึ่งเกิดจากการถ่ายด้วยความเร็วชัตเตอร์ที่เหมาะสมในขณะพวกมันกำลังบิน บริบทที่ภาพนี้เกิดขึ้นต้องมีแสงไฟตอนกลางคืนหรือการใช้แฟลช ภาพนี้ทำให้เราเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากแสงไฟที่มนุษย์สร้างขึ้น และสภาพแวดล้อมที่แมลงเหล่านี้ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้รับมือ

"เราเชื่อว่านี่คือปรากฏการณ์และการกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้นภายใต้สภาพแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น ผลกระทบดังกล่าวสามารถมองเห็นได้ผ่านภาพถ่ายหรือวิดีโอเท่านั้น ทั้งหมดนี้สะท้อนถึงอิทธิพลของมนุษย์ที่เปลี่ยนรูปแบบการดำรงชีวิตของแมลงในเมือง รูปร่างที่แปลกประหลาดของแมลงเหล่านี้และความสัมพันธ์ระหว่างพวกมันกับแสงไฟ กลายเป็นแกนหลักในการสร้างสรรค์งานศิลปะชุดนี้

"ผลงานในชุดนี้จึงไม่เพียงแต่พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างแสงกับแมลง แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางของระบบนิเวศที่มนุษย์อาจไม่ทันสังเกต แต่กำลังส่งผลกระทบอย่างยิ่งใหญ่ในระยะยาว"

Blue Dean

"โดยรวมแล้วปีนี้ดีกว่าปีก่อนเยอะ ปีก่อนยังอยู่บ้านเช่าอยู่เลย ปีนี้ได้กลับมาอยู่บ้านตัวเองแล้ว จำได้ว่าปีก่อนคือเครียดต่อเนื่องกันทุกวัน เหนื่อยแค่ไหนก็ไม่มีบ้านให้กลับ บ้านเช่าก็ดี เป็นที่พักของร่างกาย แต่ใจยังรู้สึกเหมือนไม่มีบ้านสักที พอได้กลับมาอยู่บ้านตัวเอง รู้สึกเลยว่าใจค่อย ๆ พองโตขึ้น หลังจากที่แห้งแล้งมากนาน พอใจได้กลับมาอยู่ในที่ของมัน มันก็ได้หลับสบาย กลับมามีแรงบันดาลใจ มีพลังทำอะไร ๆ รู้สึกค่อย ๆ เต็มมาจากข้างใน หนึ่งปีที่ผ่านมานี้เลยมีแรงลุกขึ้นมาทำอะไรเต็มไปหมดได้เพราะบ้านหลังนี้ :)"

WK.Studio

Tiny on the Golden Snake
คอลเลกชันสุดพิเศษต้อนรับปีมะเส็ง (งูเล็ก) 2025

"โดยปกติแล้ว WK.Studio จะออกคอลเล็กชั่นพิเศษประจำปีใหม่มาอย่างต่อเนื่อง โดยจะหยิบเอานักษัตรประจำปีนั้น ๆ มาออกแบบร่วมกับคาแรกเตอร์ของแบรนด์ และปีนี้เราได้ออกแบบ “งู” ตัวแทนของปีมะเส็ง ซึ่งยังคงคอนเซปต์ “Everything on the cloud” โดยมี Ganesha Tiny สีแดงเข้มทรงพลังอหังการนั่งประทับมาบนน้องงูยักษ์สีทองอร่าม ทางเราเลือกใช้โทนสีแดงที่ให้ความรู้สึกถึงพลังและไฟอันร้อนเเรงเพื่อต้อนรับปีใหม่ และออกแบบตัวงูให้เหมือนกำลังดำผุดดำว่ายในก้อนเมฆขาวผ่องนวลนุ่มชุ่มชื่นรื่นรมณ์ เสมือนได้แหวกว่ายเลื้อยล่องท่องไปในมวลหมู่เมฆสุดฟรีด้อม ชิ้นงานจะมาในรูปแบบชิ้นงานชุดที่สามารถเลือกสรรจัดวางได้อย่างอิสระ โดยคอลเลกชันนี้จะผลิตเพียง 99 ชุดเท่านั้น

"สวัสดีปีงู 'MAY THE LUCK BE WITH YOU'"

ปัน – สิรวิชญ์ จตุรภัทรานนท์

“Dreams feel real while we're in them. It's only when we wake up that we realize something was actually strange.”

"ผลงานชิ้นสุดท้ายของปีนี้คือภาพ “Dreams feel real while we're in them. It's only when we wake up that we realize something was actually strange.” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการ Simulacra นิทรรศการเดี่ยวครั้งล่าสุดของผมที่จัดขึ้นที่ RATS, TARS Unlimited

"ผลงานชิ้นนี้นำเสนอการจัดวาง (juxtaposition) ระหว่าง ภาพคัดลอกจิตรกรรมฝาผนังไทยสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 19 กับ ข้อความจากภาพยนตร์ สร้างพื้นที่ว่างให้ผู้ชมได้ตีความระหว่างภาพและตัวบทอย่างอิสระ สอดคล้องกับแนวคิดเบื้องต้นของนิทรรศการที่เริ่มจากการที่ผมได้เข้าไปศึกษาพื้นที่ชั้นสองของแกลเลอรี ซึ่งเคยเป็นที่พักของแรงงานจำนวนมากในอดีต

"ในพื้นที่นั้น ผมพบภาพ ข้อความที่ถูกเขียน วาด พิมพ์ ตัดปะ แขวน และติดกับผนัง บางส่วนห้อยลงมาจากเพดาน ทั้งหมดถูกนำเสนอผ่านวัสดุหลากหลาย รวมถึงน้ำและเสียง สิ่งเหล่านี้กระตุ้นให้ผมอ่านและจินตนาการถึงชีวิตของผู้ที่เคยอาศัยอยู่ในพื้นที่นั้น แต่เมื่อเวลาผ่านไป ผมเริ่มตระหนักว่าชีวิตของพวกเขาที่ผมจินตนาการถึง ไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาเคยเป็นจริง ๆ

"ผลงานชิ้นนี้สะท้อนถึง “ช่องว่าง” ระหว่างตัวตนของผมและตัวตนของพวกเขา ระหว่างความทรงจำกับจินตนาการ ระหว่างสิ่งที่ปรากฏจริงกับเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้น และระหว่างการตีความของปัจเจก สิ่งนี้นำไปสู่คำถามที่กว้างขวางกว่าเกี่ยวกับนิยามของความจริง ประวัติศาสตร์ และองค์ประกอบต่าง ๆ ที่หล่อหลอมตัวตนของพวกเรา

"ผลงานในนิทรรศการนี้เกิดจากกระบวนการ “ผลิตซ้ำ” โดยดึงภาพและข้อความที่เคยถูกสร้างขึ้นในอดีตและดำรงอยู่ในพื้นที่และเวลาที่แตกต่างกัน มาจับคู่กันใหม่เพื่อสร้างความหมายร่วมกัน ขณะเดียวกัน การประกอบกันนี้ก็ทำลายความหมายเดิมของทั้งคู่ โดยมีผู้ชมและยุคสมัยเป็นตัวกำหนดบริบทและการตีความใหม่

"ผลงานชุดนี้จึงไม่ได้เพียงตั้งคำถามถึงความทรงจำหรืออดีตที่หายไป แต่ยังสะท้อนถึงการมีอยู่ของเราในฐานะสิ่งที่ถูกประกอบสร้างจากเศษเสี้ยวของภาพ เสียง และเรื่องเล่าที่ล้วนเป็นผลผลิตของยุคสมัย"

กาแฟ – ถวิกา สว่างวงศากุล

"ตอนนี้งานที่ทำอยู่เป็นงาน thesis ค่ะ กำลังเรียนปริญญาโทอยู่ที่ New York โรงเรียน SVA (School Of Visual Arts) เป็นโปรแกรม Master of Fine Arts ค่ะ

"ตอนนี้อยู่ปี 2 แล้วงานก็เลยเริ่มจริงจังมากขึ้น ช่วงปี 1 ก็จะยังไม่เครียดมาก ส่วนตัวทำเป็นแนว ๆ experimental คิดอะไรได้ก็ทำเลย intuitive มาก ๆ เหมือนเป็นช่วงปรับตัวยิ่งมีวิชาที่ critique ทั้งโดยเพื่อน ๆ, ศิลปิน, อาจารย์ยิ่งรู้สึกสนุก และได้ feedback มาเยอะก็เลยได้เห็นมุมมองที่คนอื่นได้รับจากเรามากขึ้น

"แต่พอมาปี 2 ก็จะต้องมี paperwork ตั่งต่าง เริ่มต้องมี meeting กับ advisor, mentor เยอะขึ้นเพราะว่า statement ก็ค่อนข้างสำคัญ เพราะว่ารู้สึกว่าตัวเองเล่าเรื่องราวออกมาเป็น text ยาว ๆ ไม่ค่อยเก่งด้วย และความคิดค่อนข้างกระจัดกระจายก็เลยแอบ ๆ struggle กับตรงนี้ในระดับนึง เพราะว่าพอทำงานเป็น intuitive แล้วงานค่อนข้างไปไว ไม่ค่อยได้มีเวลามา reflect เรื่องความคิดเท่าไหร่ ส่วนใหญ่ความคิดเลยออกมาเป็นเหมือน keyword แล้วก็มาตกตะกอนจาก critique, meeting อีกทีว่าอะไรต่าง ๆ นี่ influence/affect เรายังไงบ้าง

"Update งานช่วงนี้เป็น work in progress สุดดดดดเพราะว่าลาเรียนกลับไปทำ biennale 3 อาทิตย์ กลับมาก็ตามงานเดือด ๆ meeting กับอาจารย์ ทำงานแบบไม่มีวันได้พักหายใจเพราะว่ามี openstudio หลังกลับจากไทยประมาณอาทิตย์ครึ่ง jetlag ไปแล้วอาทิตย์นึงก็เลยตามเรียนแบบเหม่อ ๆ

"ว่าเรื่องงงงงงานที่กำลังทำอยู่ในสตู… media กับ process ค่อนข้างต่างจากตอนที่อยู่ไทย เราเริ่มหยิบจับ found object มาทำงานมากขึ้น เริ่มปล่อยให้ตัวเองได้ทำอะไรที่อยากทำ ตอนนี้รูปแบบงานก็หลากหลายมากขึ้น มีทั้งงานที่เป็น installation, assemblage ละก็กึ่ง ๆ sculpture แต่ก็ยังมีอะไรที่เป็นเราอยู่ในนั้นแหละ งานตอนนี้ยังไม่มีชื่อจริงจังขนาดนั้น ซึ่งจะมี biennale เป็นส่วนหนึ่งของ thesis ที่จะใช้ส่งที่นี่ด้วย

"งานเริ่มพัฒนามาจากคำว่า “value” ตอนแรกก็คิดถึงแค่เรื่องมูลค่าทางเศรษฐกิจทั่วไป และก็คุณค่าที่มีความเป็นปัจเจกต่างกันออกไปในแต่ละบริบท สถานที่ และเวลา แต่พอทำไปเรื่อย ๆ มันกลายเป็นการตั้งคำถามถึงคุณค่าในตัวเอง ความทรงจำ และอารมณ์ที่ซับซ้อนในชีวิตประจำวัน จะเห็นได้ชัดช่วง critique จะมีคน point out บ่อยมากว่าจริง ๆ แล้วเรื่อง value มันก็มีในงานนะแต่เหมือนจะมี voice อื่นเข้ามาประกอบในงานด้วย งานก็เลยค่อย ๆ เปลี่ยนจากการเล่าเรื่องภายนอกมาเป็นการสำรวจตัวเอง และใช้ความรู้สึกนำมากขึ้น โดยมีเรื่อง duality และการตั้งคำถามโผล่มาเป็นจุดโฟกัสแทน

"งานก็ยังคงเป็นกาแฟที่ชอบเสียดสีแบบขำ ๆ ตั้งคำถามนู่นนี่ แต่ก็มี keyword ของงานมากขึ้น โดนเฉพาะคำนี้ได้รับมาจากที่ปรึกษาคนนึง เค้าบอกว่างานเราเป็น cuteness agression และเราก็ชอบคำนี้มากกกก มันดูแบบเออเอาภาพลักษณ์กับ color pallet ที่ดูน่ารักเป็น surface แต่ theres alot hidden beneth those cuteness มันดูเป็นอะไรที่จะทำให้คนไม่ take it serious อ่ะ แบบมองเผิน ๆก็คงไม่ได้คิดอะไรแต่ถ้าตั้งใจดูก็จะเห็น ก็เลยเหมือนกับมาทำความรู้จักกับเรา to some certain levels แหละ

"(แอบแปะดราฟที่ใช้ร่างproposalไว้ให้ จริง ๆ แล้วรู้สึกว่ามีเรื่องในหัวเยอะกว่านี้แต่ยังหาวิธี connect ไอเดียทั้งหมดไม่เจอ และก็แอบเหนื่อย ๆ เวลาต้องขุดไอเดียและเหตุผลในหัวมาโยงกัน)

"Just as i mentioned before My work is all about duality and Deceptive aesthetics. How something can feel playful and lighthearted on the surface but actually carry deeper emotions or critiques underneath.

"The use of bright colors, especially pink just to draw people in. But when you look closer, there’s bold brushstrokes, raw gestures, or sharp text that bring in tension or even aggression.

"Cuteness plays a big role in my work. It’s soft and charming, but it’s also a way to critique societal expectations, especially around femininity.
At the same time, there’s aggression in a gesture of the way I apply paint, with bold gestures carries emotional weight.

"I’m also interested in boundaries, how art blurs the lines between public and private, playful and serious, or even high and low art. By using materials like bubble wrap or cardboard, I challenge ideas of what is “valuable” or “worthy” in the art world.

"This ties into my exploration of value: What makes something feel precious or important? For me, it’s less about the materials themselves and more about the stories, gestures, and emotions they hold.

"Playfulness is another big part of my practice, but it’s not just for fun. I use play to challenge societal norms and expectations, whether it’s about gender, culture, or the role of art. Even the emotions in my work, frustration, sadness, or anger are often hidden beneath that playful surface."

"ซึ่งก็จะไปเกี่ยวเนื่องกับงาน biennale แค่มีจุดที่ spotlight ส่องไปคนละที่ ของ bab ก็จะโฟกัสไปที่เรื่อง girlhood มากกว่าเพราะการตีความจากธีมในปีนี้ของเราด้วย โดยที่จะเล่าถึงความน่ารักที่ถูกแสดงออกแต่จริงๆแล้วก็มีหลายอารมณ์ความรู้สึกที่ถูก bottle เอาไว้ แต่ core ของทั้งสองงานก็จะเป็นเหมือนที่แปะไว้ให้

"สรุปภาพรวมปีนี้คือสนุกและเหนื่อยมากกกกกกกกกก เหมือนปีที่รวมทุกคสามพีคเอาไว้ ตั้งแต่ตรวจงานจบปี 1 bab และเริ่มคิดหัวข้อ (ส่ง thesis proposal 2 วันหลังเปิดbabด้วยซ้ำ) แต่เป็นอะไรที่น่าจดจำมาก โอกาสดี ๆ หลายอย่างที่เกิดขึ้น สิ่งที่เราได้เรียนรู้ ถ้าไม่เจอตอนนี้ก็ไม่รู้จะไม่เจอเมื่อไหร่ ความรู้สึกหลังทำงานเสร็จคือภูมิใจในตัวเองมากอยากนอนร้องไห้ไป 3 วัน 3 คืน (แต่ไม่มีเวลาขนาดนั้น) ขอบคุณทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้น ขอให้ปีหน้าเป็นปีที่ดีของเรา (และทุก ๆ คน)เหมือนกันค่า happy new yearล่วงหน้ากับทุกคนค่าา

"[ ขอบคุณพี่ ๆ ground control ที่มาชวนทำกิจกรรมด้วยนะคะะ (เหมือนได้reflectชีวิตตัวเองแล้วจะได้เอาไปเขียนส่งmentorเพื่อประเมินตัวเองด้วยค่ะ) ที่แนะนำศิลปินไทยในbabก็น่ารักมากๆๆๆๆเขียนเรื่องงานน่ารักตลอดเลยตั้งแต่ตอนนู้นกับตอน solo ยังไงก็ขอให้มีปีใหม่ที่ดีทุกคนเลยนะคะ ⋆͛͛ ͙͛ ⁑͛⋆͛͛ ͙͛ ଘ(੭ˊᵕˋ)੭ ੈ✩‧₊˚⋆͛͛ ͙͛ ⁑͛⋆͛͛ ͙͛ขอบคุณค่า ]"

บอล – นรภัทร ศักดิ์อาธรทรัพย์

Title: Shared sunrise, varied destinies
By: Naraphat Sakarthornsap (นรภัทร ศักดิ์อาธรทรัพย์)

"ดอกไม้แสดงความยินดีที่ผ่านการเดินทางจากกล่องพัสดุต้นทางจากต่างจังหวัดมายังกรุงเทพฯ โอกาสและความพยายามจากคนนอกเมืองหลวงที่ต่อสู้ดิ้นรนเพื่อมาตามหาฝันในการเป็นศิลปินที่เมืองใหญ่ ด้วยข้อจำกัดของโอกาสและทรัพยากรที่ไม่เท่ากัน อาจทำให้การเดินทางสู่เส้นทางการทำงานศิลปะเพื่อเลี้ยงชีพของคนนอกเมืองหลวงนั้นมีความยากลำบากทวีคูณ

"ผลงานชุดนี้แด่ความรู้สึกสับสนที่ตัวศิลปินเจ้าของผลงานเป็นคนกรุงเทพฯโดยกำเนิด แต่มีโอกาสได้ร่วมแสดงผลงานต่างจังหวัดในหลายนิทรรศการ ทำให้เกิดคำถามว่าเรากำลังเข้าไปแย่งพื้นที่และโอกาสของศิลปินท้องถิ่นหรือไม่"

ติ๊ก – สันติ ลอรัชวี

"ช่วงต้นปี ผมได้ทำงานทดลองภาพพิมพ์ชุดหนึ่ง ชื่อว่า ‘Conflict and Harmony’ ตอนนั้นผมพยายามใช้บล็อกเปล่า ๆ มาทำงาน แล้วก็พยายามอิมโพรไวส์ระหว่างสีขาวกับสีดําสลับกันไปมาเพื่อที่จะพูดถึงเรื่องคุณพ่อผม เพราะถึงแม้ว่าเราจะอยู่ในครอบครัวเดียวกัน แต่มันก็ยังมีแรงปะทะหรือความขัดแย้งบางอย่างเกิดขึ้น เราเลยต้องพยายามปรับตัวหรือหาจุดที่พอจะประนีประนอมกันได้

"สถานการณ์มันเหมือนกับการทำงานศิลปะ เช่น เวลาที่เราเริ่มต้นด้วยหมึกสีขาว แล้วต่อด้วยหมึกสีดำ มันกลายเป็นการด้นสดเพื่อให้สองสิ่งที่ดูเป็นคู่ตรงข้ามสามารถกลมกลืนกันได้ และงานชิ้นนั้นก็พัฒนาต่อมาเป็นวิดีโอหรืออะไรทำนองนั้น

"ล่าสุด ผมก็ได้นำแนวคิดจากงานชิ้นนี้มาทำการออกแบบคีย์วิชวลให้กับงานสัมนาระดับนานาชาติ
PGVIM International Symposium 2024 ของสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา คือตอนแรกอาจารย์ของที่นั่นเขาก็ติดต่อมา อยากให้เรามาดีไซน์งานนี้ให้เขาจังเลย แต่เวลามันกระชั้นมาก ทีนี้พอได้มาคุยกันจริง ๆ ก็พบว่ามันมีหลายอย่างที่ตรงกับวัตถุดิบที่เรามีอยู่ ซึ่งก็คือในงาน ‘Conflict and Harmony’ นี่แหละ เราเลยเอาการออกแบบที่ทำไว้ตอนต้นปีมาต่อยอดเป็นงานชิ้นนี้ จนกลายเป็นคอนเซปต์ที่เรียกว่า ‘ดรีมแลนด์’

"ดรีมแลนด์เป็นผลงานที่นำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับดนตรี ความขัดแย้ง และความกลมกลืน ซึ่งใช้ภาพพิมพ์เป็นฐานก่อนนำมาต่อยอดให้กลายเป็นกราฟิก ตัวโลโก้ของงานนี้ เราตีความว่า ‘ดรีมแลนด์’ เป็นดินแดนที่ยังไม่สมบูรณ์แบบ แต่เป็นพื้นที่ที่เกิดการประสานและประนีประนอมกันอยู่ เราเลยออกแบบตัวหนังสือให้คำว่า ‘ดรีม’ และ ‘แลนด์’ ดูเหมือนเป็นคำที่แยกจากกัน แต่กำลังพยายามมุ่งหน้าไปสู่เป้าหมายเดียวกัน สื่อถึงดินแดนแห่งความฝันในความหมายที่เปิดกว้าง

"สำหรับสิ่งที่ผมทำในงานนี้ก็คือการออกแบบสื่อหลัก เช่น โปสเตอร์และสื่อกราฟิกต่าง ๆ นอกจากนี้ เรายังสร้างวัตถุดิบพื้นฐานเพื่อให้ทีมงานนำไปปรับใช้เพิ่มเติมด้วยตัวเอง ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ทำให้โปรเจกต์น่าสนใจ เพราะมันเหมือนกับงานสร้างอัตลักษณ์องค์กรที่ไม่ปิดตาย แต่เปิดโอกาสให้เติบโตและสร้างสรรค์ต่อได้

"อย่างโปสเตอร์ที่ผมออกแบบไว้ ผมตั้งใจให้มีความหลากหลาย เพื่อให้เข้ากับธรรมชาติของงานเทศกาลที่โปรแกรมเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา รวมถึงออกแบบอัตลักษณ์ที่สามารถปรับใช้ได้หลายภาษา ตัวอย่างอื่น เช่น กราฟิกสำหรับหนังสือโปรแกรม หรือกราฟิกพื้นหลังที่ใช้ในช่วงการพูดคุยและกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งออกแบบให้มีความแอบสแตรกต์พอสมควร หน้าที่ของมันไม่ใช่เป็นพระเอกแต่เป็นแบ็คกราวด์ที่ดีสำหรับงานจริง

"นอกจากนี้ เรายังต่อยอดไปถึงของชำร่วย เช่น ขวดน้ำที่มาพร้อมกับสติกเกอร์ ให้ผู้เข้าร่วมสามารถตกแต่งในแบบที่ตัวเองชอบ เป็นการเพิ่มลูกเล่นและสร้างความเป็นเอกลักษณ์ให้แต่ละคนได้จดจำของตัวเองง่ายขึ้น ที่สำคัญคือ ปีนี้เราไม่ได้แจกน้ำขวดตามปกติ แต่แจกขวดน้ำที่สามารถนำไปเติมน้ำเองได้ โดยตั้งใจให้ขวดน้ำที่แจกในงาน Symposium ใช้ได้ตลอดทั้งสัปดาห์ เพื่อลดปริมาณขยะจากขวดน้ำพลาสติกในงาน

"อีกส่วนที่น่าสนใจคือ Key Visual ในงานนี้สามารถปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นการประชุมออนไลน์หรือการจัดสัมมนา ตัวกราฟิกก็ปรับตัวเองเพื่อสนับสนุนกิจกรรมเหล่านั้นได้อย่างเหมาะสม

"นอกจากสื่อหลักที่เตรียมไว้ ทีมงานยังนำกราฟิกไปใช้ต่อในรูปแบบอื่น เช่น การติดลงบนกระจกห้องสัมมนา ซึ่งช่วยให้สภาพแวดล้อมโดยรอบมีความเข้ากับธีมของงานมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อทำงานร่วมกับฉากหลังของเมืองที่เป็นสถานที่จัดงาน

"ความยืดหยุ่นของภาพพิมพ์และการออกแบบแบบแอบสแตรกต์นี่เอง ที่ช่วยให้มันสามารถเติบโตและปรับเข้ากับบริบทต่าง ๆ ได้ดี โดยหน้าที่เราคือการส่งมอบ Material ไป แล้วพวกเขาก็นำไปต่อยอดในงานอื่น ๆ เช่น คอนเสิร์ตหรือกิจกรรมต่าง ๆ ที่เราไม่ได้เข้าไปดูแลโดยตรง แต่ผลลัพธ์ที่ออกมานั้นกลับน่าสนใจและสร้างสรรค์มากครับ

"คือแต่ละคอนเสิร์ตที่จัดขึ้นในงาน ทีมงานเขาจะตีความว่าวิชวลแบบไหนเหมาะกับคอนเสิร์ตแต่ละงาน แล้วนำไปปรับใช้ให้เข้ากับฉากหลังของคอนเสิร์ตได้อย่างลงตัว ซึ่งมันทำให้เรารู้สึกตื่นเต้นมากเมื่อได้เห็นงานที่เราออกแบบถูกนำไปใช้ต่อยอดอย่างสร้างสรรค์ เช่น งานที่ใช้วิชวลวางเป็นฉากหลังของเปียโน หรือฉากที่โฟกัสไปที่นักดนตรี แล้วกลายเป็นงานนามธรรมที่ช่วยเสริมบรรยากาศของเวที
บางงานที่เปิดด้วยการแสดงสด ก็ยังใช้ชื่องานหรือกราฟิกต่าง ๆ รวมอยู่ใน Presentation ระหว่างการแสดง ซึ่งทำให้ทุกอย่างดูเข้ากันและเสริมพลังของ Performance ได้ดีมาก เช่น เวลานักดนตรีโซโล่ ฉากหลังที่เราออกแบบก็ช่วยเสริมจังหวะและอารมณ์ของเพลงได้อย่างพอดี

"นี่เป็นโปรเจกต์ที่เพิ่งจบไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งน่าสนใจสำหรับผม เพราะมันต่อยอดมาจากงานส่วนตัวเล็ก ๆ แต่ด้วยความเข้าใจของลูกค้า และเนื้อหาของงานที่สอดคล้องกัน เลยทำให้งานออกมาน่าประทับใจมาก

"มันยังทำให้เห็นอีกว่า สิ่งที่เราทำในวันนี้ มักส่งผลต่ออนาคตของเราในทางใดทางหนึ่งเสมอ ผมรู้สึกว่านี่เป็นเรื่องที่เห็นได้ชัดเจน แม้ว่าบางครั้งมันอาจไม่ได้เชื่อมโยงกันอย่างชัดเจนขนาดนั้น แต่เมื่อเราเริ่มทำบางสิ่งบางอย่างจากตัวเราเอง แม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อย ศิลปะหรือการออกแบบก็มักจะช่วยสร้าง ‘ภาษาสากล’ ที่สามารถเชื่อมโยงกับเรื่องราวอื่นๆ ได้ ซึ่งตรงนี้ทำให้ผมเห็นตัวอย่างที่น่าสนใจ

"ผมมองว่า ‘ความแตกต่าง’ และ ‘ความขัดแย้งที่กลมกลืน’ คล้ายกับความสัมพันธ์ในครอบครัว ที่เราไม่จำเป็นต้องเห็นพ้องต้องกันหรือมีรสนิยมเดียวกันทั้งหมด สิ่งสำคัญคือการพยายามหาวิธีหรือจังหวะที่จะอยู่ร่วมกันได้ เช่นเดียวกับการทำงานศิลปะหรือออกแบบ ผมเองก็ทำงานในแนวทางที่สะท้อนความขัดแย้งของสีขาวดำ ขณะเดียวกันในโลกดนตรีก็เหมือนกัน โลกปัจจุบันไม่ได้มองหาความเห็นที่สอดคล้องกันเสมอไป แต่กลับให้ความสำคัญกับความแตกต่างของแต่ละคน และมองว่าความขัดแย้งเองก็สามารถเป็นความสัมพันธ์รูปแบบหนึ่งที่จัดการให้อยู่ร่วมกันได้อย่างลงตัว

"โปรเจกต์นี้จึงเหมือนเป็นการพิสูจน์ไอเดียสำคัญของผมในการทำงานออกแบบด้านอัตลักษณ์ (identity design) หรือ key visual ว่าเราสามารถเปิดโอกาสให้คนอื่นเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการได้มากแค่ไหน นอกเหนือจากการตั้งข้อบังคับหรือกรอบแนวทางที่แข็งตัว เราสามารถทำให้มันยืดหยุ่นพอที่จะเติบโตไปพร้อมกับผู้ใช้งานหรือลูกค้าได้หรือเปล่า ซึ่งผมมองว่านี่เป็นสิ่งที่ท้าทายและน่าสนใจมาก

"งานนี้ช่วยเพิ่มความมั่นใจให้ผมในการทำโปรเจกต์ที่ใหญ่ขึ้นอีกชิ้นหนึ่ง ซึ่งผมตั้งใจที่จะเปิดพื้นที่ให้ผู้ที่มารับช่วงต่อสามารถปรับใช้ได้ตามบริบทของเขาเอง แน่นอนว่าเราคงต้องรอดูว่าจะได้ผลมากน้อยแค่ไหน แต่นี่ก็เป็นก้าวต่อไปที่สำคัญสำหรับผมครับ

"ปีนี้ค่อนข้างหลากหลายมาก เป็นความรู้สึกแบบขึ้นเขาลงเหว เดี๋ยวก็ลอยขึ้นมาแบบมั่วไปหมดเลย ผมเลยคิดถึงคำว่า ‘ทรงตัว’ ปีนี้น่าจะเป็นปีที่ผมพยายามทรงตัว หมายความว่ามันมีทั้งดีมาก ๆ แล้วก็ไม่ดีมาก ๆ ทั้งในเรื่องปัจเจก อาชีพการงาน แล้วก็นู่นนี่อีกสารพัด ทุกอย่างมันทำให้ผมต้องพยายามทรงตัวและบาลานซ์ให้ได้ แบบเอียงไปเอนมาหลายท่ามาก อย่างน้อยก็เพื่อประคองตัวเองไม่ให้ล้มลงไป

"ปีนี้เลยเป็นปีที่ค่อนข้างหลากหลาย และจบปลายปีด้วยความรู้สึกดีและตื่นเต้นกับหลายเรื่อง อย่างการได้มีโอกาสทำงานสำคัญหลายงาน รวมไปถึงปีหน้าด้วยที่เห็นอะไร ๆ ที่ต้องทำอีกมากมายไปหมดจนปวดหัว เหมือนชีวิตในปีหน้าเขาจะไม่ยอมให้เราอยู่กับที่แล้ว โชคชะตามันถีบให้เราต้องพุ่งไปข้างหน้า และปีหน้าน่าจะเป็นปีที่เขาเรียกว่าตื่นเต้น สนุก แล้วก็หนักหนาอยู่ประมาณหนึ่งเลย"

Nutdao – ณัฐพงศ์ ดาววิจิตร

"หลังจากได้รับคำชวนจากทีม GroundControl ว่าให้วาดรูปผลงานชิ้นสุดท้ายของปี ก็มีสิ่งหนึ่งที่อยากวาดลอยขึ้นมา เมื่อเดือนที่ผ่านมามีโอกาสได้ไปเวิร์กชอป ‘Relight’ ของครูมอส (อนุพันธุ์ พฤกษ์พันธ์ขจี) ที่ทางร้านหนังสือ Fathom เป็นเจ้าภาพจัด ในงานจะมีการเล่าถึงประสบการณ์เส้นทางการเป็นนักศิลปะบำบัดของครูมอส และให้ผู้ร่วมได้มีประสบการณ์สั้น ๆ กับการสังเกตและเชื่อมโยงระหว่างสีของแสงที่เกิดขึ้นภายนอกและภายในตัวเรา ผ่านการระบายสีซอฟต์พาสเทลในเวิร์กชอป ครูมอสจะฝึกให้เราได้รู้สึกตัวกับการเคลื่อนไหวของมือ ลมหายใจ ที่สัมพันธ์กับสิ่งที่กำลังวาด ทำให้เราเชื่อมโยงกับสภาพแวดล้อมหรือสิ่งที่กำลังทำให้ได้มากที่สุด ช่วงหลัง ๆ พอทำงานมานานบางครั้งก็รู้สึกไม่เชื่อมโยงกับสิ่งที่ทำ ทำไปเพียงเพราะเราต้องทำ การได้มีประสบการณ์นี้เหมือนมีคนมาสะกิดเบา ๆ ให้รู้สึกตัวและค่อย ๆ พาตัวเองกลับมารู้สึกกับสิ่งที่ทำอีกครั้ง มันทำให้เราอยากทำมันอีก ผมจึงมองหาวัตถุดิบง่าย ๆ อย่างใบไม้ที่ร่วงอยู่หน้าสตูดิโอทุกวัน เป็นใบจากต้นจานที่ปลูกไว้ ใบที่หยิบมาแตกต่างจากใบอื่นตรงที่มีทั้งส่วนเขียวและแห้งปะปนกันทำให้เกิดเป็นลายสวยดี หลังจากได้ใบที่ชอบ ก็เริ่มระบายสีจากความเข้าใจอันน้อยนิด พยายามสังเกตแสงที่ตกกระทบมันโดยเริ่มจากสีเหลือง เขียว และน้ำตาลตามลำดับ ด้วยเทคนิคที่ใช้มันมันให้เราไม่ได้โฟกัสที่ความเหมือน แต่ค่อยสังเกตสีที่สอดแทรกกันไปมาใช้เวลาประมาณหนึ่งชั่วโมง ผมวาดรูปนี้สองรอบเนื่องจากความกังวลที่เป็นเหมือนเพื่อนสนิท กังวลว่ามันจะโอเคมั้ย? จะดีพอมั้ย? แต่สุดท้ายก็กลับมันเลือกอันแรกนี่แหละเพราะเรารู้สึกเชื่อมโยงกับมันมากกว่าขณะที่เราวาด ต้องขอบคุณทีม GroundControl ที่ชวนทำอะไรสนุก ๆ ได้ใช้เวลาสะท้อนสิ่งที่ยังค้างอยู่ในหัว และได้ใช้เวลาวาดรูปเล่นบ้าง เพราะช่วงหลังนี้ วาดจริง ๆ ตลอดไม่ได้ค่อยได้เล่นเลย"

นัท - คณัสนันท์ เข็มทอง ‘Knn.five’

"งานชิ้นสุดท้ายในปี 2024 นี้ เป็นการ์ดปีใหม่ 2025 ครับ

"จริง ๆ ผมทำโปรเจกต์แจกการ์ดปีใหม่ 100 ใบ มาได้สามปีแล้วครับ แล้วก็ตั้งใจจะทำในทุก ๆ ปี
ปกติแล้วปีที่ผ่านมาการ์ดจะมีแค่คาแรกเตอร์เดียว แต่ปีนี้ การ์ดจะพิเศษหน่อยครับ เพราะเป็นปี 2025 ที่ลงท้ายด้วยเลข 5 เลยตั้งใจเอาตัวละครทั้ง 9 ตัวที่ผมวาดและจัดแสดงในงาน Solo Exhibition เมื่อต้นปี กลับมารวมตัวกันอีกครั้งหนึ่ง โดยคอนเซปต์หลักจะเป็น “การก้าวผ่าน” ครับ ผมรู้สึกว่า ในทุก ๆ วันมันผ่านเลยไปเรื่อย ๆ เราก้าวเดินไม่เคยหยุด แล้วพอรู้สึกตัวอีกทีแค่พริบตาเดียวก็หมดปีแล้ว ภาพเลยจะเป็นเหมือนตัวละครทั้ง 9 ตัวกำลังเดินร่วมกับ “งู” เพราะปีหน้าเป็นปี มะเส็งครับ ซึ่งงูตัวนี้ผมก็วาดขึ้นโดยอิงจากสไตล์งานและเรื่องราวที่ผมมักจะเล่าในภาพเขียน ผมเลยวาดออกมาเป็นงูของไทยหรือพญานาคครับ

"โดยผมตั้งใจวาดภาพนี้ให้อารมณ์เหมือน “หน้าเปิดสี่สี” ที่เวลามังงะเรื่องไหนมีวาระสำคัญ หรือมีการเฉลิมฉลองอะไร อาจารย์ผู้เขียนก็มักจะวาดภาพพิเศษขึ้นมา เรียกว่า หน้าเปิดสี่สีครับ ซึ่งผมรู้สึกว่ามันเหมาะกับโอกาสเฉลิมฉลองขึ้นปีใหม่ดีด้วย

"งานชิ้นนี้พิเศษจริง ๆ ครับ เพราะคุณอาจจะลืมคิดไปว่า ตัวละครเหล่านี้ ไม่มีใครมีสี่ตาเลย ทั้ง ๆ ที่ปกติแล้วคาแรกเตอร์ของผมจะมีเอกลักษณ์คือ ดวงตาสี่ดวง แต่ถ้าคุณยังจดจำพวกเขาได้ ก็ถือเป็นของขวัญของผม และพวกเขาทั้งเก้าคนก็คงดีใจไม่น้อยเลยครับ

"ไม่รู้ปีหน้าจะเป็นปีที่ดีไหม แต่มันจะเป็นอีกปีที่คุณต้องผ่านมันไปให้ได้ครับ
สวัสดีปีใหม่ครับชาว GC"

Knn.Five

Primiita

"เป็นชิ้นงานที่พริมโดนจ้างให้วาดรูปตัวเอง ซึ่งไม่เคยเจอมาก่อนเลย ชิ้นนี้พริมวาดไปพร้อม ๆ กับรูปผู้หญิงท่านอื่น ๆ อีก 49 ชิ้น ในโปรเจกต์ Mirror50 ที่รวมผู้หญิงที่ทรงอิทธิพลที่สุดของไทย 50 คนให้มาเจอกัน ซึ่งพริมเป็นหนึ่งในนั้นหรอเนี่ยยย ยังตกใจอยู่เลยยยย

"ตอนวาดก็แค่อยากสนุกกับมัน ใครวาดสีน้ำก็จะรู้ว่าสีมันคุยกันได้นะ พริมก็ปล่อยให้สีเหลืองสีเขียวทำงานกันเองเลย แล้วแตะสีม่วงเข้าไป ได้ทำอย่างสะใจกับทั้ง 50 รูป สนุกและสบายใจมาก ๆ

"มันเหมือนวันงานที่พวกเราทุกคนได้มาเจอกันเลย แต่ละคนก็เหมือนสีที่เบลนด์เข้าหากัน เปิดโลกพริมมาก ตอนส่งมอบงานแล้วได้เห็นรูปที่ตัวเองวาดติดอยู่ทุกจุดในงาน แบบที่มีมีหน้าพริมอยู่ในนั้นด้วย คือการอำลาปี 2024 ที่พริมรู้สึกโชคดีมาก ๆ ค่ะ

"แถม: พอได้เห็นว่างานทุกชิ้นทำให้ผู้รับยิ้มได้เท่านั้นแหละ ฟินนนนน"