Louise Bourgeois ศิลปินผู้ไปเยือนนรก และกลับมาบอกเราว่ามันงดงามเพียงใด

Art
Post on 24 December

ในวรรณกรรมและปกรณัมตะวันตก มีตัวละครมากมายที่เดินทางสู่นรกและกลับมาเล่าเรื่องราวให้เราได้ฟัง ไม่ว่าจะเป็น ดันเต้ อลิเกียรี ผู้รังสรรค์ Divine Comedy มหากาพย์ที่พาผู้อ่านผ่านนรก วงไฟชำระ และสวรรค์ หรือ ออร์เฟอุส จากตำนานกรีก ผู้เดินทางลงสู่ยมโลกเพื่อพาหญิงคนรักกลับคืนมา รวมถึง โอเดสซีอุส ที่แสวงหาคำพยากรณ์จากดวงวิญญาณผู้ล่วงลับใน Odyssey การเดินทางเหล่านี้ไม่ใช่เพียงแสดงถึงความกล้าหาญ แต่ยังสะท้อนถึงการเปลี่ยนผ่านทางจิตวิญญาณและการค้นพบความจริงในจิตใจมนุษย์

ในปี 1996 ศิลปินหญิงวัย 85 ปี หลุยส์ บูร์ชัวส์ กล่าวถ้อยคำที่ทรงพลังว่า “ฉันเคยไปเยือนนรกแล้วกลับมา และขอบอกเลยว่า มันช่างวิเศษเหลือเกิน”

คำพูดนี้ปรากฏอยู่ในชื่อผลงาน “I Have Been to Hell and Back, And Let Me Tell You, It was Wonderful” ซึ่งเป็นคำที่ หลุยส์ บูร์ชัวส์ ศิลปินหญิงผู้ยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษที่ 20 ปักลงบนผ้าเช็ดหน้าผืนเก่าที่เหลือรอดมาทำหน้าที่เป็นดังอนุสรณ์ที่จารึกการเป็น “ผู้รอดชีวิต” ในสงครามแห่งชีวิตของบูร์ชัวส์

ในช่วงศตวรรษที่ 20 เมื่อโลกศิลปะยังเป็นพื้นที่ของศิลปินชาย หลุยส์ บูร์ชัวส์ โดดเด่นด้วยผลงานที่ไม่เหมือนใคร เธอเลือกวัสดุและสื่อที่แตกต่างออกไป—ตั้งแต่การถักทอหุ่นนุ่มละมุน การระบายสีแดงบนผืนผ้าใบเป็นตัวแทนของโลหิตและชีวิต ไปจนถึงการสร้างประติมากรรมรูปทรงร่างกายผู้หญิงที่ลอยอยู่ด้วยความสุขสม ผลงานของเธอเปิดเผยบาดแผลส่วนตัว ความเจ็บปวดจากชีวิตครอบครัว ความสูญเสีย และการดิ้นรนเพื่อค้นหาตัวตน

แต่ผลงานที่เกิดจากการเปิดเปลือยประสบการณ์ส่วนตัวและประวัติศาสตร์บาดแผลในชีวิตของเธอ กลับได้รับการยกย่องว่าเป็น "หนึ่งในผลงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุด" ของศตวรรษที่ 20

“ฉันเคยไปเยือนนรก และขอบอกเลยว่า มันช่างวิเศษเหลือเกิน” คือการโอบรับและยอมรับด้านที่ไม่สมบูรณ์แบบของชีวิต บูร์ชัวส์มองว่าความไม่สมบูรณ์แบบและความเจ็บปวดคือส่วนหนึ่งของความงดงามอันแท้จริงของชีวิต ซึ่งในความตลกร้ายของการเผชิญกับความจริงที่ไม่สวยงามนั้น เธอกลับพบว่า ความงามที่แท้จริงคือการเรียนรู้และเติบโตจากความไม่สมบูรณ์นั้น

การประกาศว่าประสบการณ์ในชีวิตของเธอเสมือนการไปเยือนนรก แต่สามารถกลับออกมาพร้อมกับมุมมองใหม่ที่ค้นพบความงดงาม เป็นหัวใจสำคัญที่สะท้อนธีมในผลงานของบูร์ชัวส์ นั่นคือ การเผยให้เห็นความมหัศจรรย์ของมนุษย์ ซึ่งแม้จะผ่านความทุกข์ยาก ความเจ็บปวด หรือความสูญเสีย แต่ก็ยังคงดิ้นรนที่จะมีชีวิตต่อไป

25 ธันวาคม ไม่ใช่แค่วันคริสต์มาส แต่ยังเป็นวันคล้ายวันเกิดของศิลปินผู้ส่งอิทธิพลสำคัญต่อวงการศิลปะและขบวนการสิทธิสตรี แม้เธอจะไม่ยอมรับบทบาท "ผู้นำขบวนการเฟมินิสต์" ผลงานของเธอก็กลายเป็นแรงบันดาลใจสำคัญสำหรับศิลปินหญิงยุคใหม่

หลุยส์ บูร์ชัวส์ ทิ้งมรดกแห่งศิลปะและบทเรียนชีวิตที่ทรงพลังไว้ให้โลก เธอพิสูจน์ให้เห็นว่า แม้เราจะเคยเดินทางสู่นรก หากเรามองมันในมุมใหม่ เราอาจค้นพบความงดงามที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน

เรื่องในวันคล้ายวันเกิดของเธอ เราขอชวนทุกคนไปค้นพบความงดงามในเส้นทางสู่นรกร่วมกัน

The Trauma of Abandonment จุดเริ่มต้นของบาดแผล

หลุยส์ บูร์ชัวส์ เกิดในวันคริสต์มาส ปี 1911 ที่กรุงปารีส ในครอบครัวที่มีพี่น้องสามคน ชื่อของเธอถูกตั้งตามพ่อของเธอตรงตัวทุกคำ และนั่นก็เป็นเหมือนคำบอกใบ้ชะตากรรมของบูร์ชัวส์ ผู้ที่ในเวลาต่อมา จะใช้เวลาทั้งชีวิตในการบำบัดและสร้างงานศิลปะจากปมเรื่องพ่อของเธอ

หลุยส์ บูชัวส์ ผู้พ่อ และโจเซฟิน แม่ของเธอ เป็นเจ้าของแกลเลอรีผ้าทอโบราณ โดยที่แม่ของเธอรับหน้าที่เป็นช่างสิ่งทอที่ฟื้นคืนชีวิตให้บรรดาผ้าทอเก่าแก่ด้วยการซ่อมผ้า โดยมีบูร์ชัวส์เป็นลูกมือตั้งแต่เด็ก และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นที่หย่อนเมล็ดพันธุ์แห่งศิลปะในตัวเธอ

กระทั่งเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 ปะทุขึ้น พ่อของบูร์ชัวส์จึงถูกเกณฑ์ไปรบในสงคราม ทำให้หน้าที่ผู้นำของครอบครัวตกอยู่กับผู้เป็นแม่ อย่างไรก็ตาม บูร์ชัวส์มองว่าการไปรบของพ่อเธอคือจุดเริ่มต้นของความกลัวที่จะถูก ‘ทอดทิ้ง’ (abandonment) อันกลายเป็นหนึ่งในบาดแผลที่ปรากฏในงานของเธอตลอดมา ตัวอย่างคือชุดผลงาน The Trauma of Abandonment ที่บูร์ชัวส์สร้างขึ้นในปี 2001 หรือเพียงหกปีก่อนที่เธอจะเสียชีวิต

ในผลงานหนังสือภาพจากผ้าซึ่งประกอบขึ้นจากงานปักผ้าเก่า รูปถ่ายครอบครัว และภาพพิมพ์ บูรชัวส์ได้แรงบันดาลใจในการสร้างผลงานชิ้นนี้จากการย้อนกลับไปทบทวนประสบการณ์ในวัยเด็กของเธอในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 บูร์ชัวส์ตั้งใจใช้ภาพถ่ายเป็นองค์ประกอบหนึ่งของผลงาน เพื่อระลึกถึงพ่อของเธอผู้เป็นช่างภาพสมัครเล่น โดยมีภาพถ่ายหลายภาพในหนังสือเล่มนี้ที่ถูกถ่ายโดยหลุยส์ผู้พ่อหรือเพื่อนทหารของเขา

ความทรงจำเกี่ยวกับพ่อที่ออกไปทำสงคราม ลุงของเธอที่เสียชีวิตตั้งแต่สัปดาห์แรกของการไปรบ และการเห็นรถไฟที่บรรทุกทหารบาดเจ็บเต็มขบวน ส่งผลต่อความรู้สึกกลัวการถูกทอดทิ้งของบูร์ชัวส์อย่างรุนแรง การไปรบของพ่อไม่เพียงเป็นการทอดทิ้งครอบครัวในแง่ของการกระทำ แต่เมื่อพ่อของเธอได้รับบาดเจ็บที่มือและกลับมาบ้าน เขาก็กลายเป็นชายอีกคนที่ครอบครัวของเธอไม่รู้จัก บาดแผลและประสบการณ์เลวร้ายจากสงครามทำให้หลุยส์ผู้พ่อตัดสินใจที่จะใช้ชีวิตเสพสุขทั้งดื่มเหล้าและเที่ยวผู้หญิง เพื่อลืมความทรงจำอันเลวร้าย และเพื่อใช้ชีวิตทดแทนช่วงเวลาที่ต้องไปทนทุกข์ในกองทัพ สำหรับบูร์ชัวส์ บาดแผลที่มือของพ่อจึงเป็นเสมือนบาดแผลแรกในความทรงจำวัยเยาว์อันเจ็บปวดของเธอที่จะตามหลอกหลอนไปตลอดชีวิต …การถูกทอดทิ้งอีกครั้งจากพ่อผู้เปลี่ยนไป

ในหนังสือภาพ The Trauma of Abandonment นอกจากบูร์ชัวส์จะใช้ด้ายสีแดงปักประโยคดังกล่าวลงไปในผ้า เธอยังปักมันเป็นป้ายกำกับอธิบายภาพครอบครัวต่าง ๆ ของเธอ ‘DO NOT LEAVE ME ALONE, PLEASE’ (“ได้โปรดอย่าทิ้งฉันไว้ให้เดียวดาย“) ที่ปรากฏอยู่ใต้ภาพของพ่อแม่และบูร์ชัวส์ในวัยเด็ก, ‘HE ABANDONED ME’ (“เขาทอดทิ้งฉัน”) ที่อยู่ใต้ภาพครอบครัว หรือในภาพของพ่อของเธอที่บูร์ชัวส์ปักวงกลมสีแดงล้อมรอบมือของเขา เพื่อชี้ถึงการบาดเจ็บที่มือของพ่อที่ไม่เพียงก่อความเสียหายให้ร่างกายของเขา แต่ยังเป็นจุดเริ่มต้นของความล่มสลายในชีวิตของเธอด้วย

ในเวลาต่อมา บูร์ชัวส์จะสร้างงานศิลปะรูปขาและมืออีกหลายชิ้น ขาเพราะเป็นการรำลึกถึงความทรงจำที่มีต่อแม่ ผู้ทำหน้าที่ซ่อมผ้าปักที่มักได้รับความเสียหายตรงส่วนล่างของภาพหรือขามากที่สุด และมือเพื่อรำลึกถึงความทรงจำต่อพ่อ ผู้ใช้บาดแผลที่มือเป็นข้ออ้างในการสร้างบาดแผลในชีวิตเธอไปตลอดกาล

The Destruction of the Father ความล่มสลายของครอบครัว

ในปี ค.ศ. 1923 ขณะที่หลุยส์ บูร์ชัวส์ อายุเพียง 12 ปี เธอเริ่มช่วยงานในเวิร์กช็อปซ่อมผ้าทอโบราณของครอบครัวด้วยทักษะการวาดภาพของเธอ เนื่องจากโจเซฟิน ผู้เป็นแม่ ล้มป่วยด้วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์สเปนและกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง การล้มป่วยของแม่ไม่เพียงเปลี่ยนแปลงบทบาทของเธอในครอบครัว แต่ยังเปิดทางให้หลุยส์ ผู้พ่อ เข้าควบคุมอำนาจในบ้านอย่างสมบูรณ์ และเริ่มพาผู้หญิงคนอื่นเข้ามาในครอบครัวโดยไม่สนใจความรู้สึกของสมาชิกคนอื่น ๆ

ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในชีวิตครอบครัวผลักดันให้บูร์ชัวส์หลงใหลในโลกของคณิตศาสตร์ ซึ่งเธอมองว่าเป็นพื้นที่ที่สงบและมีระเบียบ แตกต่างจากความโกลาหลในบ้าน แม้จะรักงานศิลปะและสนุกกับการทำงานในเวิร์กช็อปของครอบครัว แต่ในปี ค.ศ. 1930 บูร์ชัวส์ตัดสินใจเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ โดยเลือกศึกษาคณิตศาสตร์และเรขาคณิต เพราะเธอเชื่อว่ากฎเกณฑ์ในวิชานี้แน่นอนและไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ โดยบูร์ชัวส์เคยกล่าวถึงเหตุผลที่เธอเลือกเส้นทางนี้ว่า "ฉันค้นพบความสงบในใจได้ ก็เพราะการได้ศึกษาเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ที่ไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงได้"

The Family (2007)

The Family (2007)

แต่ในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1922-1932 หรือตั้งแต่เมื่อแม่เธอล้มป่วยจนถึงช่วงที่เธอเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ครอบครัวของบูร์ชัวส์ก็เผชิญกับเหตุการณ์สำคัญอีกอย่างหนึ่ง เมื่อหลุยส์ บูร์ชัวส์ ผู้พ่อ ได้จ้าง ซาดี ครูสอนภาษาอังกฤษมาสอนให้ลูก ๆ ซึ่ฝเธอไม่เพียงทำหน้าที่ครูสอนภาษา แต่ยังกลายมาเป็นเมียน้อยของหลุยส์ผู้พ่อ และอาศัยอยู่กับครอบครัวเป็นระยะเวลาหลายปี

MoMA Collection

MoMA Collection

บูร์ชัวส์เคยกล่าวถึงความรู้สึกที่เธอมีต่อซาดีไว้ในโปรเจกค์งานเขียนและภาพถ่ายที่เธอทำให้กับ Artforum ในปี 1982 ซึ่งเธอตั้งชื่อว่า Child Abuse โดยมีภาพถ่ายภาพหนึ่งที่บูร์ชัวส์ในวัย 11 ปี กำลังพายเรือร่วมกับผู้หญิงผมบลอนด์สวมชุดสีขาว เธอคนนั้นคือซาดี ครูพี่เลี้ยงชาวอังกฤษผู้เพิ่งอายุพ้นวัยรุ่นไปไม่นาน และเข้ามาทำหน้าที่เป็นเสมือนแม่แทนโจเซฟินที่หายไปจากครอบครัวเพราะอาการเจ็บป่วย ข้าง ๆ ภาพนั้น บูร์ชัวส์เขียนข้อความว่า “เธอมุ่งมั่นที่จะสอนภาษาอังกฤษให้ฉัน ฉันคิดว่าเธอจะชอบฉัน แต่เธอกลับทรยศฉันแทน”

MoMA Collection

MoMA Collection

ความรู้สึกถูกทรยศของบูร์ชัวส์ที่มีสาเหตุมาจากซาดีผู้เป็นทั้งครูและเมียอีกคนของพ่อนั้นมีความซับซ้อนกว่านั้น ในแง่หนึ่ง ก่อนที่เธอจะรู้ว่าซาดีเป็นเมียน้อยของพ่อ บูร์ชัวส์เทิดทูนซาดีในฐานะตัวแทนของแม่ที่หายไป แต่เมื่อเธอได้รู้ความจริง เธอกลับพบว่าพ่อของเธอไม่เพียงทรยศแม่ แต่แม่ของเธอก็ทรยศเธอด้วยเช่นกัน จากการอนุญาตให้พ่อพาเมียน้อยเข้ามาอยู่ในบ้าน และทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น บูร์ชัวส์ไม่เพียงรู้สึกถูกคนที่เธอรักทั้งสามทรยศหักหลัง แต่เป็นอีกครั้งที่เธอรู้สึกถูกทอดทิ้งจากครอบครัวของเธอเอง

“ตอนนี้คุณคงจะถามฉันว่า ทำไมในครอบครัวชนชั้นกลางครอบครัวหนึ่ง ถึงมีเมียน้อยเข้ามาอยู่ในบ้านเหมือนเป็นเรื่องปกติ ประหนึ่งเครื่องเรือนชิ้นหนึ่ง? เอาล่ะ เหตุผลก็คือแม่ของฉันยอมรับมัน และนั่นแหละคือปริศนา ทำไมแม่ถึงยอมเช่นนั้น?

“แล้วฉันมีบทบาทอะไรในเกมนี้? ฉันเป็นเพียงแค่ตัวหมาก หน้าที่ของซาดีคือการเป็นครูของฉัน และจริง ๆ แล้วคุณเอง—แม่นั่นแหละ—ใช้ฉันเป็นเครื่องมือในการติดตามสามีของตัวเอง นี่คือการทารุณกรรมเด็กอย่างแน่แท้”

บูร์ชัวส์เคยกล่าวว่า “เรื่องของซาดีสำหรับฉันสำคัญเกือบเท่ากับเรื่องของแม่ในชีวิตของฉัน” เช่นเดียวกับความรู้สึกที่เธอมีต่อพ่อผู้ทอดทิ้งและทรยศ ความรู้สึกที่บูร์ชัวส์มีต่อซาดีก็กลายมาเป็นแรงบันดาลใจชั้นดีในการสร้างผลงานของเธอ (“ในห้วงความคิดที่ฉันสร้างขึ้น ฉันบิดคอของเมียน้อยด้วยมือของฉันเอง”) และความรู้สึกที่เธอมีต่อพ่อและเมียน้อยก็บรรลุจุดสุดยอดและถูกถ่ายทอดออกมาในผลงานที่ชื่ ว่า The Destruction of the Father (1974) ซึ่งเปรียบเสมือนฉากจินตนาการสุดบรรเจิดของบูร์ชัวส์ ที่เธอได้ลงมือสังหารพ่อและฉีกร่างของเขาออกเป็นชิ้น ๆ เปลี่ยนภาพพ่อผู้เป็นดังเจ้าเหนือหัวของทุกชีวิตในบ้านให้กลายเป็นเพียงก้อนเนื้อไร้ชีวิต

ใน The Destruction of the Father บูร์ชัวส์สร้างห้องเล็ก ๆ ที่มืดทึบและมีเพียงไฟสีแดงฉานสาดส่อง ภายในห้องนั้นปรากฏประติมากรรมคล้ายหินก้อนเล็ก ๆ เรียงรายอยู่บนพื้นและเพดาน ทำให้ภาพรวมทั้งหมดดูเหมือนเรากำลังจ้องมองเข้าไปในปากของอสูรกายที่กำลังบดเคี้ยว ที่อยู่ตรงกลางห้องคือโต๊ะอาหารและสิ่งที่ดูเหมือนชิ้นส่วนของร่างกายมนุษย์กระจัดกระจาย บูร์ชัวส์เคยอธิบายว่า นี่คือภาพจำลองฉากขณะที่ ‘ลูก ๆ’ พากันมารุมทึ้งร่างของพ่อ ในความทรงจำของบูร์ชัวส์ ช่วงเวลาที่เธอรู้สึกว่าพ่อเปี่ยมด้วยอำนาจที่สุดคือเมื่อเขานั่งเป็นประธานที่โต๊ะอาหาร โดยที่ลูก ๆ ต้องมานั่งล้อมรอบพร้อมหน้าพร้อมตาและรับประทานอาหารอย่างสงบเงียบเรียบร้อย บูร์ชัวส์อธิบายว่า สำหรับพ่อของเธอ มื้ออาหารของครอบครัวเปรียบเสมือนพิธีกรรมศักดิ์ศรีที่ห้ามก่อความรบกวน แต่ด้วยความที่พ่อของเธอเป็นคนตัวใหญ่และเสียงดังโผงผาง เขาจึงมักนั่งอยู่ที่โต๊ะและรับประทานอาหารได้อย่างอิสระ ในขณะที่ลูก ๆ ต้องทำตัวสงบเสงี่ยมและคอยตอบคำถามของพ่ออย่างขึงขัง

ในการสร้างฉากจำลองการฆาตกรรมพ่อฉากนี้ บูร์ชัวส์จึงเลือกซีนที่พ่อของเธอดูมีอำนาจมากที่สุด ขณะที่ลูก ๆ ตรงเข้ามารุมฉีกทึ้งและกินร่างของพ่อ เธอจึงได้ข่มอำนาจของเขา และเรียกคืนอำนาจของตัวเองในที่สุด

Art Is A Guarantee of Sanity ศิลปะแห่งการขับไล่ผีของหลุยส์ บูร์ชัวส์

ในปี 1932 หลุยส์ บูร์ชัวส์ ได้เริ่มต้นเส้นทางการศึกษาในสาขาคณิตศาสตร์ โดยเฉพาะแคลคูลัสและเรขาคณิต ที่มหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ อันเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยชั้นนำของฝรั่งเศส ความสนใจด้านวิชาการของเธอยังครอบคลุมไปถึงปรัชญา โดยเธอได้สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมปลาย (Baccalauréate) สาขาปรัชญาจากมหาวิทยาลัยปารีส โดยวิทยานิพนธ์ของเธอเน้นการศึกษาแนวคิดของนักปรัชญาอย่าง เบลส ปาสกาล และ อิมมานูเอล คานท์ อันสะท้อนให้เห็นถึงความหลงใหลในการค้นหาความจริงหรือระเบียบแห่งจักรวาลของเธอ

อย่างไรก็ตาม ชีวิตของบูร์ชัวส์ก็เดินทางมาถึงจุดพลิกผัน เมื่อแม่ของเธอเสียชีวิตในเดือนกันยายนปีเดียวกัน การสูญเสียครั้งนี้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อจิตใจของเธอ การประสบกับภาวะซึมเศร้าหลังการสูญเสียแม่ ทำให้บูร์ชัวส์ตัดสินใจเลิกเรียนคณิตศาสตร์และหันเหเข้าสู่โลกของศิลปะแทน การตัดสินใจของเธอมาจากการค้นพบว่า มีเพียงศิลปะเท่านั้นที่เอื้อให้เธอจัดการกับประสบการณ์อันเลวร้ายและอารมณ์เศร้าโศกแค้นเคืองที่รุมเร้าเธอได้

การเลิกเรียนคณิตศาสตร์ของบูร์ชัวส์ถูกคัดค้านจากพ่อของเธออย่างหนัก แต่บูร์ชัวส์ก็หาได้แคร์ ทั้งยังเคยกล่าวว่าการเลือกเดินเส้นทางศิลปินมอบอาวุธชิ้นสุดท้ายให้เธอใช้ในการท้าทายผู้เป็นพ่อ เธอเรียนรู้ศิลปะด้วยการไปขลุกตัวและฝึกฝนศิลปะในสตูดิโอของศิลปินมากมายในย่านมงปาร์นาสและมงมาร์ต นอกจากนี้เธอยังไปนั่งเรียนในคลาสศิลปะด้วยการเสนอตัวเป็นล่ามในคลาสที่ต้องการการแปลภาษาอังกฤษ การศึกษาด้วยตัวเองโดยการฝึกฝนในสตูดิโอของศิลปินต่าง ๆ คือรากฐานสำคัญที่ทำให้บูร์ชัวส์ไม่จำกัดผลงานของตัวเองในรูปแบบใดแบบเดียว เธอลองทำหมดตั้งแต่การวาด ภาพพิมพ์ หรือประติมากรรม

ในปี 1938 บูร์ชัวส์ได้แบ่งพื้นที่ในแกลเลอรีผ้าทอของพ่อของเธอเพื่อเปิดหอศิลป์ของตนเอง เธอจัดแสดงผลงานของศิลปินชื่อดังแห่งยุคมากมาย ที่นี่เองที่เธอให้เธอได้พบกับว่าที่สามีของเธอ โรเบิร์ต โกลด์วอเตอร์ นักประวัติศาสตร์ศิลป์ชาวอเมริกัน ผู้กำลังทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเรื่อง "Primitivism in Modern Painting" ความสัมพันธ์ของทั้งคู่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว เพราะในเวลาไม่ถึงหนึ่งปี ทั้งคู่ก็ตัดสินใจแต่งงานกัน และบูร์ชัวส์ป็ได้ย้ายไปใช้ชีวิตนิวยอร์ก และเธอก็เริ่มผลิตผลงานและจัดแสดงนิทรรศการครั้งแรกในชีวิตที่นี่อย่างเต็มตัว

บูร์ชัวส์เคยอธิบายว่า ศิลปะไม่เพียงพาเธอหลบหนีออกจากชีวิตประจำวัน แต่ยังพาเธอออกจาก ‘บ้าน’ อันเต็มไปด้วยความเจ็บปวดด้วย

นิทรรศการแรกของ หลุยส์ บูร์ชัวส์ ที่ MoMA ในนิวยอร์ก ปี 1982

นิทรรศการแรกของ หลุยส์ บูร์ชัวส์ ที่ MoMA ในนิวยอร์ก ปี 1982

กระทั่งในปี 1951 บูร์ชัวส์ก็ได้เผชิญกับความสูญเสียครั้งใหญ่ที่พลิกชีวิตของเธออีกครั้ง ครั้งนี้มันมาในรูปแบบของความตายของผู้เป็นพ่อ ซึ่งเพียงหนึ่งปีให้หลังจากการเสียชีวิตของพ่อ บูร์ชัวส์ก็ตัดสินใจเข้ารับการบำบัดจิตเวชกับ ดร. ลีโอนาร์ด แคมเมอร์ ก่อนจะเปลี่ยนไปพบ ดร. เฮนรี โลเวนเฟลด์ ศิษย์ของซิกมุนด์ ฟรอยด์

ในช่วงปี 1950s ซึ่งเป็นช่วงที่บูร์ชัวส์ตกอยู่ในความเศร้าหมองและปิดกั้นตัวเองออกจากสังคม เธอไม่เพียงไปรับการบำบัดทางจิตเวช แต่ยังดำดิ่งลงไปในโลกของการศึกษาวรรณกรรมจิตวิเคราะห์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้หล่อหลอมแนวคิดในงานศิลปะและตัวตนของเธอ

ในช่วงเวลานี้ บูร์ชัวส์ศึกษาทฤษฎีจิตวิเคราะห์อย่างจริงจัง โดยเฉพาะงานของ ซิกมุนด์ ฟรอยด์ และ ฌาร์คส์ ลาก็อง แต่ในที่สุด บูร์ชัวส์ก็ปฏิเสธทฤษฎีของฟรอยด์อย่างจริงจัง ถึงขนาดวิจารณ์ทฤษฎีของฟรอยด์ไว้ในบทความที่ชื่อว่า Freud’s Toys (1962) โดยกล่าวว่า “ความจริงคือฟรอยด์ไม่ได้สร้างอะไรให้ศิลปิน เขาไม่ได้จัดการปัญหาของศิลปิน หรือความทุกข์ของศิลปินแต่อย่างใด”

แต่สิ่งที่บูร์ชัวส์ตกผลึกด้วยตัวเองและยึดถือเป็นความเชื่อในการทำงานของเธอนับจากนั้น ก็คือความเชื่อว่า กระบวนการสร้างสรรค์งานศิลปะของศิลปินเป็นเหมือน ‘รูปแบบหนึ่งของการวิเคราะห์จิต’ (psychoanalysis) และเชื่อว่าศิลปินสามารถเข้าถึงจิตใต้สำนึกของตัวเองได้โดยตรงผ่านการทำงานศิลปะ สำหรับบูร์ชัวส์แล้ว ศิลปินคือผู้ที่ไร้อำนาจในชีวิตประจำวัน แต่ในระหว่างการสร้างสรรค์ผลงาน ศิลปินกลับเป็นกลุ่มคนพิเศษที่สามารถนำความคิดและอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองมาสร้างสรรค์ออกมาเป็นผลงาน ซึ่งเป็นพลังพิเศษที่คนทั่วไปไม่อาจทำได้ อย่างไรก็ตาม บูร์ชัวส์ยังมองว่าพลังพิเศษของศิลปินนี้มาพร้อมกับความทนทุกข์ เปรียบเหมือนตัวละครในปกรณัมกรีกอย่าง ซิสิฟัส ที่ถูกสาปให้ต้องดันหินก้อนใหญ่ขึ้นเนินไปตลอดกาล เมื่อถึงยอดแล้ว หิ้นก็จะกลิ้งลงมาให้ซิสิฟัสต้องกลิ้งขึ้นมาใหม่ เช่นเดียวกับศิลปินที่ต้องเดินทางเข้าสู่ภายในจิตใจของตัวเองเพื่อขุดค้นอารมณ์ความรู้สึกมาสร้างสรรค์ผลงานตลอดไป

บูร์ชัวส์ยังเปรียบกระบวนการกลับไปทบทวนตัวเองด้วยการขุดลึกภายในจิตใจของศิลปินว่าเป็นเหมือน ‘พิธีกรรมการขับไล่ปีศาจในตัวเอง’ (exorcism) ในแง่นี้ บูร์ชัวส์มองว่าศิลปินเป็นกลุ่มคนที่ได้รับ ‘สิทธิพิเศษ’ (privilege) ในการเข้าถึงกระบวรการจิตบำบัดนี้ ซึ่งคนอื่นไม่สามารถทำได้ การสำรวจจิตสำนึกและจิตใต้สำนึกของศิลปินเพื่อนำมาสร้างสรรค์ผลงานนั้น แม้จะเจ็บปวด แต่ก็เป็นกระบวนการเยียวยาในเวลาเดียวกัน ทำให้เธอกล่าวและสร้างสรรค์ผลงานจากประโยคที่ว่า “ศิลปะคือหลักประกันของการครองสติ” (Art is a guaranty of sanity) อันเป็นหนึ่งในแนวคิดสำคัญที่เธอมอบให้กับโลกศิลปะ

เมื่อเราทำความเข้าใจว่าผลงานของบูร์ชัวส์คือการถ่ายทอดประสบการณ์บาดแผลจากประวัติศาสตร์ครอบครัวของเธอ โดยถ่ายทอดผ่านสัญญะต่าง ๆ เราก็จะเข้าใจผลงานของบูร์ชัวส์ผู้สร้างผลงานเพื่อจัดการและทำความเข้าใจกับบาดแผลทางจิตใจของเธอ

ผลงานซีรีส์ Cell ซึ่งบูร์ชัวส์เริ่มต้นในช่วงปี 1990 ถือเป็นผลงานที่สะท้อนถึงบาดแผลในครอบครัวอย่างชัดเจนที่สุด บูร์ชัวส์สร้าง Cells หรือ ห้องขัง ให้เป็นพื้นที่ถ่ายทอดความทรงจำในวัยเด็กและอารมณ์อันซับซ้อน ผ่านการจัดแสดงวัตถุจากความทรงจำในวัยเด็ก ไม่ว่าจะเป็น ประติมากรรม ผ้า สิ่งทอ กระจก ในพื้นที่หลังโครงเหล็กเหล่านี้ เธอถ่ายทอดความรู้สึกที่ขัดแย้งระหว่างการถูกกักขังและการแสวงหาอิสระในพื้นที่จำกัด เธอมองพื้นที่เหล่านี้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของจิตใต้สำนึกและเป็นการเผชิญหน้ากับความเจ็บปวด ความกลัว และความโกรธจากอดีตของเธอ โดยเฉพาะความสัมพันธ์ที่ยุ่งเหยิงในครอบครัว

Cells ไม่เพียงแต่ทำหน้าที่เป็นพื้นที่ส่วนตัวสำหรับบูร์ชัวส์เท่านั้น แต่ยังเป็นการเชื้อเชิญให้ผู้ชมเข้าไปสัมผัสประสบการณ์ที่ซ่อนลึกในจิตใจของเธอด้วย การที่ผู้ชมต้องชมงานด้วยการมองลอดกรงตาข่าย จึงเป็นเหมือนการที่เรากำลังพยายามมองเข้าไปภายในพื้นที่แห่งจิตใจของเธอ

อีกผลงานหนึ่งที่สะท้อนถึงการพยายาม ‘ขับไล่ผี’ จากอดีตของบูร์ชัวส์ ด้วยการย้อนกลับไปทำความเข้าใจประสบการณ์ในวัยเด็ก ก็คือผลงานซีรีส์ Red Room ที่บูร์ชัวส์สร้างห้องที่เติมแต่งด้วยสีแดง อันเป็นสีที่เป็นตัวแทนของความรัก ความหลงใหล และความเจ็บปวด Red Room ประกอบด้วยสองห้อง คือ ‘Red Room (Child)’ และ ‘Red Room (Parents)’

ในห้อง Red Room (Child) บูร์ชัวส์ถ่ายทอดความทรงจำในวัยเด็กที่เต็มไปด้วยความหวาดกลัวและความสับสน เธอสร้างพื้นที่ที่ถูกปิดล้อมด้วยโครงเหล็กสีแดง ภายในเต็มไปด้วยของเล่นและสิ่งของในวัยเด็ก เป็นการสะท้อนถึงความสับสนและความอ่อนไหวที่เธอประสบในวัยเยาว์ โดยเฉพาะความสัมพันธ์ที่ขัดแย้งกับครอบครัว

ใน Red Room (Parents) บูร์ชัวส์อธิบายว่าเธอได้จำลอง ‘ฉากฆาตกรรม’ (murdering scene) ขึ้นมาจากห้องนอนของพ่อแม่ที่มีทั้งความรักและความตึงเครียด ในพื้นที่แห่งการครองคู่นี้เองที่โศกนาฏกรรมแห่งชีวิตและความรักได้ถือกำเนิดขึ้น ภายในห้องมีจัดแสดงวัตถุที่บ่งบอกถึงชีวิตส่วนตัวของพ่อแม่ เช่น เตียงนอนและเฟอร์นิเจอร์ โดยสีแดงในที่นี้เป็นตัวแทนของอารมณ์ที่หลากหลาย ทั้งความรักที่ร้อนแรงและสีของเลือดและบาดแผล

Red Room จีงเป็นเหมือนการสำรวจเขาวงกตแห่งความทรงจำของบูร์ชัวร์ที่เต็มไปด้วยอารมณ์ซับซ้อน การสร้างาสรรค์ผลงานเหล่านี้เปิดโอกาสให้บูร์ชัวส์ได้ทำความเข้าใจอดีต และเผชิญหน้ากับความทรงจำที่ลืมไม่ลงได้

Maman แมงมุมแม่ และการซ่อมแซมความทรงจำ

แมงมุมคือผู้ซ่อมแซม ถ้าคุณทำลายใยแมงมุม เธอจะไม่โกรธ แต่เธอจะถักทอใยและซ่อมแซมมัน - หลุยส์ บูร์ชัวส์

เมื่อพูดถึงชื่อหลุยส์ บูร์ชัวส์ หนึ่งในผลงานที่เป็นที่รู้จักมากที่สุด และอาจจะเป็นผลงานที่สรุปกระบวนการศิลปะเพื่อจัดการกับประวัติศาสตร์บาดแผลตลอดชีวิตของเธออย่างสมบูรณ์ที่สุด คงหนีไม่พ้น Maman ประติมากรรมรูปแมงมุมขายาวขนาดยักษ์ที่ติดตั้งอยู่ในที่ต่าง ๆ ทั่วโลก แต่ตัวที่คนน่าจะคุ้นตากันมากที่สุดคงหนีไม่พ้นที่ติดตั้งถาวรอยู่หน้า Guggenheim Museum Bilbao แห่งประเทศสเปน

บูร์ชัวส์สร้าง Maman (ที่แปลว่า แม่) ตัวแรกในปี 1999 แมงมุมของบูร์ชัวส์ไม่เพียงเป็นตัวแทนของแม่ผู้เป็นช่างซ่อมพรมและผ้าทอโบราณในแกลเลอรีสิ่งทอของครอบครัว แต่ผลงานชิ้นนี้ยังถ่ายทอดบทบาทในครอบครัวของแม่ผ่านมุมองของบูร์ชัวส์ …แม่ผู้เป็นทั้งผู้ปกป้องและผู้เยียวยา เป็นผู้ถักทอสายใยและผู้เลี้ยงดู

บูร์ชัวส์ยังได้แรงบันดาลใจส่วนหนึ่งในการสร้างผลงานนี้มาจากความทรงจำวัยเด็ก เธอย้อนรำลึกถึงความทรงจำแรก ๆ ในชีวิต ที่เป็นการพยายามเดินเตาะแตะระหว่างเฟอร์นิเจอร์ในห้องนั่งเล่นที่สูงเกินศีรษะของเด็กหญิงตัวน้อย โดยมีแม่ของเธอคอยให้กำลังใจอยู่ไม่ห่าง มุมมองของผู้ชมที่มองเข้าไปในโครงสร้างของ Maman เปรียบได้กับสายตาเด็กหญิงบูร์ชัวส์ที่มองโลกในวัยเยาว์ นอกจากนี้ประติมากรรมที่เปิดโล่งให้ผู้ชมสามารถเดินเข้าไปใต้โครงสร้างได้ ยังมาจากความทรงจำถึง ‘เต็นท์ผ้า’ ที่เธอเคยเล่นในวัยเด็ก

ผลงานชิ้นนี้น่าจะเป็นงานที่เปี่ยมด้วยความหวังมากที่สุดของบูร์ชัวส์ เพราะการสร้างขาแมงมุมสูงชะลูดที่ชวนให้ผู้ชมแหงนหน้ามองและมองเห็นท้องฟ้าที่อยู่เลยออกไป ยังสะท้อนถึงปรารถนาต่ออนาคตที่เราไม่ต้องจมอยู่กับความเจ็บปวดในอดีตอีกต่อไป นอกจากนี้ที่อยู่ใต้โดมแมงมุมยักษ์ ยังเป็นรังที่บรรจุไข่สีขาวอันเป็นตัวแทนของการเกิดใหม่ ไข่เหล่านี้ยังสะท้อนถึงพี่น้องของบูร์ชัวส์และเด็ก ๆ ทั่วโลกด้วย

บูร์ชัวส์ตั้งใตออกแบบ Maman ให้เป็นประติมากรรมที่มอบความรู้สึกทั้งความกลัวและความสงบในเวลาเดียวกัน Maman ถูกออกแบบมาให้มีความล่ากลัวเหมือนอสุรกาย (monster) เพราะสำหรับบูชัวส์แล้ว ภาพแม่ในความทรงจำของเธอนั้นทั้งสวยงามและชวนให้เจ็บปวด แต่การยอมรับด้านที่ไม่สมบูรณ์แบบของความทรงจำ ก็คือการโอบรับความงดงามของชีวิต Maman จึงเป็นทั้งผู้ปกป้องฟื้นฟูและอสุรกาย เป็นเหมือนการจบกระบวนการเยียวยาของบูร์ชัวส์ด้วยการย้อนกลับไปรำลึกถึงแม่ เผชิญหน้ากับความกลัว และในกระบวนการเยียวยานั้น เธอได้ชวนให้ผู้ชมเข้ามาร่วมเยียวยาภายใต้การคุ้มครองของแม่ร่วมกัน

“ศิลปะคือการเยียวยาฟื้นฟู เป็นกระบวนการซ่อมแซมความเสียหายที่เกิดขึ้นในชีวิต เพื่อทำให้สิ่งที่เคยแตกสลาย กลับกลายเป็นสิ่งที่สมบูรณ์” บูร์ชัวส์กล่าว

อ้างอิง
Louise Bourgeois: The Spider, the Mistress and the Tangerine
Louise Bourgeois: the return of the repressed
newyorker
Morris, Frances, Marina Warner, and Louise Bourgeois. Louise Bourgeois:[at Tate Modern, 12 May to 17 December 2000]. Tate Gallery Publ., 2000.
Sabatini, Federico. "Louise Bourgeois: An Existentialist Act of Self-Perception." Nebula 4.4 (2007): 1-11.