(บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาในซีรีส์)
เมื่อพูดถึงการนำตำนานปกรณัมมาดัดแปลงเป็นสื่อกระแสหลักในฟากฝั่งของฮอลลีวูด เราก็คงจะคุ้นเคยแต่กับเรื่องราวของเทพเจ้าจากโลกฝั่งตะวันตก อย่างตำนานเทพกรีกที่ถูกนำมาดัดแปลงกลิ่นโมเดิร์นจนเป็นเรื่องราวของ ‘ลูกเทพ’ โพไซดอนในแฟรนไชส์ Percy Jackson หรือที่เราคุ้นกันดีล่าสุดก็คือวงศาคณาเทพนอร์สจากแถบสแกนดิเนเวีย ที่กลายมาเป็นเรื่องราวของ Thor ในจักรวาลมาร์เวล
ตอนนี้ก็ถึงเวลาที่อีกหนึ่งวงศ์เทพที่มีประวัติศาสตร์เก่าแก่ไม่แพ้กัน (ที่จริงคือแก่กว่ามาก ๆ) จะได้ออกโรง ‘แมส’ กับเขาบ้างแล้ว ซึ่งวงศ์ลูกเทพที่เราสามารถไปทำความรู้จักกันได้ผ่านแพลตฟอร์มสตรีมมิง Disney+ ในตอนนี้ก็คือ วงศาคณาเทพเจ้าอียิปต์ ในซีรีส์เปิดตัวซูเปอร์ฮีโร่จากโลกตะวันออกกลางคนแรกอย่าง Moon Knight นั่นเอง!
นอกเหนือไปจากความเพลิดเพลินจากการดูพ่อ ออสการ์ ไอแซค แสดงบทบาทขั้นเทพ (และหล่อเทพ) ด้วยการสลับคาแรกเตอร์ไปมาระหว่าง สตีเวน กับ มาร์ก สองร่างอวาตารของเทพเจ้าแห่งดวงจันทร์ที่ต้องมาติดอยู่ในร่างเดียวกันแล้ว แน่นอนว่าหนึ่งในความสนุกของการดูซีรีส์ที่มีพื้นหลังเรื่องราวเป็นตำนานความเชื่อของอารยธรรมอียิปต์เรื่องนี้ก็คือการรอดูว่าในแต่ละสัปดาห์ จะมีเทพเจ้าองค์ไหนมาขึ้นจอ แล้วไปค้นดูต่อว่าแต่ละองค์เขาแอบซ่อนพลังอะไรไว้ หรือมีบทบาทต่อตำนานความเชื่อของอียิปต์อย่างไรบ้าง!
เพื่อต้อนรับการมาถึงของหนึ่งในเทพเจ้าที่โผล่มาตอนจบของเอพิโสดที่แล้ว แต่เรียกเสียงกรี๊ด (จริง ๆ) และทำให้คนดูตกหลุมรักกันทั้งด้อม GroundControl จึงจะขอชวนทุกคนไปทำความรู้จักเทพเจ้าอียิปต์แต่ละองค์ที่มาปรากฏตัวในซีรีส์อัศวินดวงจันทร์ (จะลงทัณฑ์แกเอง) เรื่องนี้ พร้อมสำรวจบริบทพื้นหลังและที่มาที่ไปของความเชื่อเรื่องเทพเจ้าของชนชาติอียิปต์ด้วยกัน
ก่อนรู้จักเทพอียิปต์ ชวนรู้จัก ‘ความเชื่อ’ เรื่องเทพของคนอียิปต์
ย้อนกลับไปเมื่อหลายพันปีที่แล้ว ในดินแดนลุ่มแม่น้ำไนล์ทางตอนเหนือของทวีปแอฟริกา อารยธรรมอียิปต์ได้ถือกำเนิดขึ้นที่นั่น และก่อรูปร่างของความเชื่อในพระเจ้าหลายองค์ขึ้นมา
ในสายตาของชาวอียิปต์แล้ว ธรรมชาติรอบตัวของพวกเขาล้วนแต่เป็นกิจกรรมของพระผู้เป็นเจ้าทั้งสิ้น เมื่อยามเช้าตรู่ของวันพระอาทิตย์ในยามนั้นพวกเขาเรียกว่า เคปริ ผู้มีเศียรเป็นแมลงสคารับ เมื่อถึงเที่ยงวันพวกเขาจะเรียกว่า รา ผู้มีเศียรเป็นนกเหยี่ยว เมื่อถึงยามเย็นพระเจ้าองค์นั้นคือ อตุม ผู้มีเศียรเป็นมนุษย์
การสักการะเทพเจ้าหลายองค์ของชาวอียิปต์นี้มีพัฒนาการมาอย่างไร? มีทฤษฎีว่า ความเชื่อของชาวอียิปต์โบราณเหล่านี้พัฒนาขึ้นมาจากความเชื่อแบบวิญญาณนิยม (Animism) ที่เชื่อว่าสรรพสิ่งต่าง ๆ ในโลกล้วนแต่มีจิตวิญญาณทั้งสิ้น ซึ่งมีจุดกำเนิดมาตั้งแต่ในยุคก่อนราชวงศ์ (Predinasty) ของอียิปต์ ที่ย้อนกลับไปได้ถึงช่วงเวลา 3,000 ปีก่อนคริสตกาล
ลัทธิวิญญาณนิยมคือความเชื่อพื้นเมืองของภูมิภาคแถบนี้ ชาวอียิปต์โบราณใช้มันเพื่ออธิบายปรากฏการณ์ทางธรรมชาติและวิถีชีวิตของมนุษย์ ลัทธิวิญาณนิยมเชื่อว่าจิตวิญญานนั้นมีอยู่ในสรรพสัตว์ ธรรมชาติ รวมไปถึงการตระหนักรู้ถึงพลังอำนาจเหนือความเป็นความตาย
ลัทธิวิญญาณนิยมสามารถแยกออกได้เป็น 2 สายคือ ลัทธิบูชาเครื่องราง (fetishism) และลัทธิบูชาสัญลักษณ์บรรพบุรุษ (Totemism) โดยลัทธิบูชาเครื่องรางมีความเชื่อว่าจิตวิญญาณนั้นสถิติอยู่ในวัตถุและสามารถพึ่งพาพลังศักดิ์สิทธิ์ในวัตถุนั้น ๆ ได้ ส่วนลัทธิบูชาสัญลักษณ์บรรพบุรุษนั้นเชื่อว่ามนุษย์มีความยึดโยงกับพืชหรือสัตว์ที่เป็นสัญลักษณ์ประจำตัวของบุคคลนั้น ๆ ถือว่าพืชหรือสัตว์นั้น ๆ คือบรรพบุรุษของบุคคลนั้น โดยลัทธินี้ได้พฒนาขึ้นมาเป็นการบูชาตราสัญลักษณ์ สัตว์ศักดิ์สิทธิ์ และวิญญาณประจำเมือง
รูปแบบความเชื่อทั้ง 2 อย่างนี้เป็นพื้นฐานของการเกิดขึ้นของเทพและเทพีของชาวอียิปต์ สัญลักษณ์หลายๆ อย่างถูกสร้างขึ้นโดยเชื่อว่ามีความเกี่ยวข้องกับพระเจ้า เช่น เสา DJED ที่เกี่ยวข้องกับเทพโอไซริส หรือ Tyet สัญลักษณ์ที่มีความเกี่ยวข้องกับเทพีไอซิส ฯลฯ ในเวลาต่อมา เทพเจ้าทั้งหลายในระบบวิญญาณนิยมจึงถูกเติมความอารมณ์ความรู้สึกแบบมนุษย์เข้าไป กระบวนการนี้เรียกว่า มานุษยรูปนิยม (Anthopomorphosis) เทพเจ้าของชาวอียิปต์ได้ถูกพัฒนาขึ้นเป็นรูปมนุษย์ในช่วงนี้ สัตว์ทั้งหลายกลายมาเป็นวัตถุสักการะ เพราะเชื่อว่าพวกมันมีพลังในการควบคุมธรรมชาติและความเป็นไปของโลก บางชนิดถูกยกขึ้นเป็นเทพเจ้าเนื่องจากความดุร้ายที่มีต่อมนุษย์ ความเชื่อรูปแบบนี้เรียกว่าลัทธิบูชาสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ (Zoolatry) เทพเจ้าของชาวอียิปต์ที่เราได้เห็นจึงมีทั้งรูปแบบที่เป็นมนุษย์และรูปแบบที่เป็นสัตว์ ตั้งแต่สมัยก่อนราชวงศ์ถึงสมัยราชวงศ์
เทพเจ้าทั้งหลายของชาวอียิปต์จึงเป็นเหมือนภาพสะท้อนธรรมชาติผ่านสายตาของชาวอียิปต์โบราณเมื่อหลายพันปีก่อน
Ennead
ใครที่ได้ดูเอพิโสดที่ 3 แล้ว ก็จะได้ทำความรู้จักกับเหล่าวงศาคณาเทพที่ชื่อว่า Ennead ซึ่งมารวมตัวกันตามคำเชิญของ คอนชู เทพผู้ปกป้องดวงจันทร์และกาลเวลา ที่เชิญให้เหล่าเทพผู้ละทิ้งโลกเพื่อไปสถิตย์อยู่ ณ จักรวาลอื่น ให้กลับมารวมตัวกันเพื่อหยุดยั้งแผนการร้ายของเทพีอัมมิตและสาวกผู้นำสาวก อาร์เธอร์ แฮร์โรว์ (รับบทโดย อีธาน ฮอว์ค)
ดังที่เนิร์ดประวัติศาสตร์อียิปต์อย่างสตีเวนได้อธิบายไว้ในเอพิโสดแรก Ennead คือกลุ่มเทพเจ้า 9 องค์ที่มีความสำคัญเสมือนกับคณะเทพโอลิมปัสในตำนานเทพกรีก-โรมัน โดยตามตำนานของชาวอียิปต์ เทพในกลุ่ม Ennead มีเทพแห่งดวงอาทิตย์คือ อาตัม เป็นเทพบิดาและผู้นำของกลุ่ม ตามมาด้วยลูก ๆ ของอาตัมคือ ชู, เทฟนุต, เกบ, นัต, โอไซริส, เซต และ เนฟทีส
แต่ความแตกต่างระหว่างกลุ่ม Ennead ในจักรวาลมาร์เวลกับ Ennead ตามตำนานเทพอียิปต์ก็คือ ในขณะที่เทพในคณะ Ennead ตามความเชื่อจะประกอบด้วยเทพ 9 องค์ตามที่ไล่มา (Ennead มาจากภาษากรีก ennéas แปลว่า เก้า) แต่คณะเทพ Ennead ในคอมิกนั้นจะมีการสลับปรับเปลี่ยนสมาชิกไปตามเวลาที่เปลี่ยนไป ซึ่งในเอพิโสดที่ 3 นั้นเราจะได้เห็นเทพในกลุ่มนี้เพียง 5 องค์ และยังมีสมาชิกที่แตกต่างไปจากที่ระบุไว้ในตำนาน โดยกลุ่ม Ennead ใน Moon Knight ประกอบไปด้วย โฮรัส, เทฟนุต, โอไซริส, ฮาธอร์ ซึ่งคอนชูและอัมมิตก็อยู่ในคณะเทพ Ennead ฉบับมาร์เวลด้วย
แล้วคณะเทพ Ennead มีความสำคัญในประวัติศาสตร์ความเชื่อของชาวอียิปต์โบราณอย่างไร? Ennead มีต้นกำเนิดมาตั้งแต่ยุคสมัยราชวงศ์ที่ห้าของโลกอียิปต์โบราณ (ประมาณ 2,500 ปีก่อนคริสต์ศักราช) เป็นที่สักการบูชาโดยชาวเมืองเฮลิโอโปลิส ซึ่งเป็นที่รู้จักในปัจจุบันในชื่อเมืองไคโร ซึ่งในคอร์มิก ชื่อเมืองเฮลิโอโปลิสก็ปรากฏในชื่อมิติ Celestial Heliopolis ซึ่งเป็นมิติที่เหล่าเทพอียิปต์ได้ละทิ้งโลกไปอาศัยอยู่
ตามความเชื่อของชาวอียิปต์โบราณ Ennead มีความสำคัญในฐานะเทพผู้สร้างโลก ตามความเชื่อของชาวเมืองเฮลิโอโปลิส โลกถือกำเนิดขึ้นมาจาก นัน เทพีแห่งน้ำและมหาสมุทร นันได้ให้กำเนิดเนินดินท่ีมี อาตัม เทพแห่งดวงอาทิตย์นั่งประทับอยู่ เมื่ออาตัมถ่มน้ำลายหรือทำให้อสุจิเคลื่อน ก็ได้บังเกิดเป็นเทพแห่งลมและเทพแห่งความชุ่มชื้น ชู และ เทพนุต ผู้ครองคู่กันจนเกิดเป็นเทพแห่งโลก นั่นก็คือ เกบ และเทพีแห่งท้องฟ้ายามค่ำคืน นัต
เกบและนัตได้ให้กำเนิด โอไซริส เทพแห่งการกำเนิดและความอุดมสมบูรณ์ และ ไอซิส เทพแห่งลำดับขั้นและผู้พาดวงวิญญาณไปสู่โลกหลังความตาย ทั้งคู่ยังได้ให้กำเนิด เซตกับเนฟทีส เทพแห่งความโกลาหลและความมืด เพื่อให้เป็นคู่สมดุลย์ขั้วตรงข้ามของโอไซริสและไอซิสด้วย
Khonsu
เทพแห่งดวงจันทร์และการเดินทางผู้เป็นต้นเหตุของเรื่องราวทั้งหมดในซีรีส์ ในเอพิโสด 3 ที่ผ่านมา เราได้เห็นอีกหนึ่งพลังของคอนชูที่สามารถหมุนท้องฟ้ายามราตรีให้กลับไปเป็นท้องฟ้าของค่ำคืนในอดีตเมื่อพันปีก่อนได้ ซึ่งพลังนี้ก็สอดคล้องกับสถานะการเป็นเทพเจ้าแห่งดวงจันทร์และผู้ปกครองกาลเวลา ซึ่งเป็นความเชื่อตามตำนานเทพเจ้าของชาวอียิปต์โบราณ
Khonsu ในภาษาอียิปต์โบราณมีความหมายว่า นักเดินทาง ซึ่งสะท้อนถึงมุมมองของชาวอียิปต์โบราณที่มองเส้นทางการที่ของดวงจันทร์ในแต่ละคืนประหนึ่งนักเดินทางที่เดินทางข้ามท้องฟ้ายามราตรีจากฟากหนึ่งไปสู่อีกฟากหนึ่ง นอกจากนี้ Khonsu ยังมีความหมายว่า ผู้ค้นหาเส้นทาง และ ผู้ปกป้อง ซึ่งทำให้คอนชูกลายเป็นเทพผู้ปกป้องนักเดินทางในยามราตรี รวมไปถึงเหล่าสัตว์กลางคืนด้วย
นอกจากพลังในการปกป้องคุ้มครองทุกชีวิตในยามราตรี คอนชูยังมีพลังในการเยียวยารักษา ซึ่งก็เป็นพลังที่เทพคอนชูในซีรีส์มอบให้มาร์กและสตีเวนผ่านชุดเกราะเยียวยา โดยตามตำนานยังเชื่อว่า ในคืนจันทร์เสี้ยว พลังแห่งการเยียวยาของเทพองค์นี้จะแผ่ไปทั่วผืนแผ่นดิน ทำให้สตรีตั้งครรภ์ ฝูงสัตว์ก็พร้อมสืบพันธุ์
ในภาพวาดของชาวอียิปต์ คอนชูมักปรากฏตัวพร้อมกับสัญลักษณ์ที่เกี่ยวกับเด็ก เนื่องจากพลังของของคอนชูมักเชื่อมโยงกับการกำเนิด แต่ในบางครั้ง เขาก็ปรากฏตัวพร้อมเครื่องหัวที่เป็นรูปนกเหยี่ยวหรือนกอินทรี เนื่องจากคอนชูผู้เป็นเทพเจ้าแห่งดวงจันทร์นั้นมีความเชื่อมโยงกับเทพโฮรัส ผู้เป็นเทพแห่งท้องฟ้า และมีสัญลักษณ์ประจำตัวเป็นนกเหยี่ยว
Ammit
แม้ว่าในซีรีส์ Moon Knight อัมมิตจะถูกถ่ายทอดให้เป็นหนึ่งในเทพีที่มีตำแหน่งอยู่ในกลุ่ม Ennead ผู้มุ่งหมายที่จะตัดไฟแต่ต้นลม ข้ามพิธีกรรมตัดสินบาปในโลกหลังความตาย แล้วกำจัดเหล่าวิญญาณบาปเสียตั้งแต่ตอนที่ยังไม่ได้ลงมือกระทำบาป แต่ตามตำนานความเชื่อของชาวอียิปต์ อัมมิตไม่ได้มีที่นั่งอยู่ในกลุ่ม Ennead แต่ถึงอย่างนั้น ชาวอียิปต์ก็เคารพบูชาเธอด้วยความหวาดกลัว
ชาวอียิปต์เชื่อว่า อัมมิตเป็นเทพีที่มีร่างกายส่วนบนเป็นสิงโต ร่างกายส่วนล่างเป็นฮิปโป และมีหัวเป็นจระเข้ เพราะสัตว์ทั้งสามนี้นับเป็นสัตว์นักล่าที่ชาวอียิปต์โบราณหวาดกลัวมากที่สุด อัมมิตยังเป็นที่รู้จักในฐานะเทพีผู้กลืนกินคนตาย เพราะในระหว่างพิธีกรรมตัดสินบาปในโลกหลังความตาย
ที่เทพเจ้าแห่งความตายอย่างอนูบิส ต้องตัดสินชะตากรรมของวิญญาณด้วยการใช้ตราช่างแห่งความยุติธรรมวัดน้ำหนักของหัวใจและขนนกศักดิ์สิทธิ์ อัมมิตจะประทับคอยอยู่ข้าง ๆ หากผลปรากฏว่าวิญญาณผู้นั้นมีบาป อัมมิตก็จะขย้ำและกลืนกินวิญญาณนั้นเสีย
ว่ากันว่าหากหัวใจของวิญญาณถูกอัมมิตกลืนกิน วิญญาณของคนบาปจะต้องทุกข์ทรมานไปตลอดกาล อันนับเป็น ‘การตายครั้งที่สอง’
Horus
ในเอพพิโสดที่ 3 หนึ่งในเทพที่มาปรากฏตัวในฉากการประชุมรวมตัวของเทพ Ennead ภายในมหาพีระมิดแห่งเมืองกิซา ก็คือ โฮร้ส เทพแห่งท้องฟ้าและสรวงสวรรค์ และนับเป็นหนึ่งในเทพเก่าแก่ที่ได้รับการเคารพสักการะมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์อียิปต์ หรือเมื่อ 3,100 ปีก่อนคริสต์ศักราช
โฮรัสเป็นบุตรของโอไซริสกับไอซิส บุตรและบุตรีของพระอาทิตย์ สองเทพเจ้าผู้เป็นสัญลักษณ์ของชีวิตและความตาย โดยโฮรัสถือกำเนิดขึ้นมาหลังจากที่บิดาของเขาถูกฆ่า ก่อนจะสามารถกลับมาล้างแค้นให้พ่อได้
ด้วยความที่เป็นผู้ครอบครองท้องฟ้า ชาวอียิปต์จีงเชื่อว่าดวงตาของโฮรัสข้างหนึ่งเป็นพระจันทร์ และข้างหนึ่งเป็นพระอาทิตย์ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ร่างอวาตารของโฮรัสในคอมิก Moon Knigh มีพลังวิเศษ สามารถฉายลำแสงจากดวงตา ที่มีอานุภาพเผาไหม้เทียบเท่ากับพระอาทิตย์ได้
นอกจากนกเหยี่ยวแล้ว อีกหนึ่งสัญลักษณ์แทนตัวของโฮรัสก็คือดวงตา ซึ่ง Eye of Horus ก็ได้กลายเป็นเครื่องหมายศักดิ์สิทธิ์ซึ่งมีอานุภาพในการปกป้องคุ้มครองภยันตรายต่าง ๆ ด้วย
Hathor
ในการชุมนุมเทพ Ennead มนุษย์หญิงผู้เป็นอวตารของแฮธอร์ได้แนะนำตัวว่าเธอคือเทพีแห่งดนตรีและความรัก แต่ที่จริงแล้วเทพีแฮธอร์มีความสำคัญมากกว่านั้น เพราะในตำนานของอียิปต์ที่ใหม่ขึ้นมา แฮธอร์จะเป็นเทพีผู้ปกครองท้องฟ้าร่วมกับ รา เทพเจ้าแห่งดวงอาทิตย์องค์ใหม่
ฮาธอร์เป็นเทพีผู้แทนความเป็นแม่และการให้กำเนิดของสตรี โดยถูกยกให้เป็นมารดาของผู้สืบเชื้อสายฟาโรห์ทั้งปวง ด้วยความที่มีฐานะเป็นมารดาและสตรีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในสรวงสวรรค์ และในบางครั้งก็เป็นปรากฏตัวในฐานะปางค์ภาคสตรีของเทพเจ้ารา ฮาธอร์จึงเป็นเทพีที่มีความเชื่อมโยงกับความเป็นหญิงในหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นดนตรี การเต้นรำ ความรัก เพศ และความเป็นแม่
แม้ว่าสัตว์สัญลักษณ์ประจำตัวของแฮธอร์จะเป็นวัว แต่ตามตำนาน เธอก็เคยแปลงร่างเป็นสิงโตที่ชื่อว่า เสกเมต ซึ่งทำให้เธอไปมีบทบาทในฐานะคู่ปรับของ ธอร์ นอกจากนี้เธอยังเชื่อมโยงกับ Black Panther ในแง่ที่เธอเป็นน้องสาวของ บาสต์ เทพเจ้าเสือดำผู้เป็นต้นกำเนิดของราชาเสือดำและชาววากันดา
Osiris
ดังที่กล่าวไปแล้วว่าโอไซริสเป็นหนึ่งในเทพเจ้าผู้มีตำแหน่งในกลุ่ม Ennead และมีบทบาทในการสร้างโลก เทพเจ้าผู้ครองคู่กับน้องสาวของตัวเองอย่าง ไอซิส ผู้นี้ เป็นเทพเจ้าแห่งชีวิต การกำเนิด ความตาย และความอุดมสมบูรณ์ ด้วยความที่เป็นเทพเจ้าแห่งพืชพันธุ์ ชาวอียิปต์โบราณจึงเชื่อว่าโอไซริสมีผิวสีเขียวสด ซึ่งในคอมิก Moon Knoght โอโอริสก็มีพลังในการฟื้นคืนชีพสิ่งต่าง ๆ ได้ผ่านการสัมผัส
โอโอริสยังเป็นที่มาของวัฒนธรรมการทำมัมมี่ของชาวอียิปต์ ตามตำนานเล่าว่า เมื่อโอโอริสถูกสังหารและแยกชิ้นส่วนให้กระจัดกระจายน้องชายของตัวเองอย่าง เซต เทพเจ้าแห่งทะเลทรายและความรุนแรง ไอซิสผู้เป็นภรรยาก็ไปตามเก็บชิ้นส่วนร่างกายขอฃโอโอริสแล้วมาพันรวมกันไว้ จนทำให้เขากลับฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้ง
Taweret
ในฉากสุดท้ายของเอพิโสด 4 ที่มาร์กและสตีเวนถูกขังอยู่ในโรงพยาบาลจิตเวชที่เป็นภาพสะท้อนการถูกขังอยู่ในจิตวิญญาณหรือโลกหลังความตาย ผู้ชมก็ได้ทำความรู้จักกับตัวละครที่โผล่มาเพราะความต้องการส่วนตัวแบบสุด ๆ ของทีมผู้สร้าง ที่แค่อยากได้ ‘ฮิปโป’ มาอยู่ในฉากเท่านั้นเอง
ทาเวเรต คือเทพีแห่งการคลอดบุตรผู้มีหัวเป็นฮิปโป มีหน้าอกหน้าใจแบบมนุษย์ผู้หญิง มีแขนขาเป็นสิงโต และมีสันหลังเป็นจระเข้ ส่วนสาเหตุที่สัตว์ดุร้ายอย่างฮิปโปได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของการคลอดบุตรนั้น ก็เพราะว่าในขณะที่ฮิปโปตัวผู้มักก่อกวนอาละวาด และมุ่งจู่โจมมนุษย์ แต่ฮิปโปตัวเมียกลับมีนิสัยที่นุ่มนวลกว่า และเป็นฝ่ายที่คอยปกป้องลูกน้อยจากอันตราย จนทำให้มีการขุดค้นเจอตุ๊กตาดินเผาโบราณรูปฮิปโปมากมายในเขตโบราณสถานอียิปต์ ซึ่งเชื่อว่าถูกใช้เป็นเครื่องรางคุ้มครองจากอันตราย
ด้วยนิสัยใจคอนุ่มนวลและช่างเป็นห่วงเป็นใย ทาเวเรตจึงได้มาปรากฏตัวในห้วงจิตของมาร์กและสตีเวน เพื่อช่วยนำทางพวกเขาออกจากโลกหลังความตายและไปสู่ ‘ทุ่งกก’ หรือสวรรค์อันเป็นที่ประทับของโอโอริส ตามความเชื่อของชาวอียิปต์ โดยเรื่องราวในเอพิโสดที่ 5 ก็จะเป็นเส้นทางการกลับไปทบทวนชีวิตของมาร์กและสตีเวน เพื่อดูว่าหัวใจของพวกเขาจะมีน้ำหนักมากกว่าหรือน้อยกว่าขนนกอันศักดิ์สิทธิ์บนตราชั่งแห่งความยุติธรรม
อ้างอิง
Encyclopedia Of Ancient Egypt by Margaret R. Bunson
Oxford Encyclopedia of Ancient Egypt by Umair Mirza
https://www.sac.or.th/databases/anthropology-concepts/glossary/9
https://www.sac.or.th/databases/anthropology-concepts/glossary/148