โอลิมปิกในจอเงิน: ย้อนประวัติศาสตร์แบบภาพสวย ของมหกรรมกีฬาที่ทั้งโลกส่งใจเชียร์ (ชาติตัวเอง)

Post on 5 July

โฆษณาชวนเชื่อเชิดชูเชื้อชาติ, นิทานเปรียบเปรยการต่อสู้ชั่วชีวิตของมนุษย์ หรือหายนะของเมือง การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกไม่ได้เป็นแค่การทดสอบสมรรถนะทางร่างกายหรือเรื่องออกกำลังกายเพื่อสุขภาพแข็งแรง เพราะตลอดประวัติศาสตร์ของมัน งานแข่งขันที่พาตัวแทนจากแทบทุกประเทศทั่วโลกมาร่วมทำกิจกรรมด้วยกันได้นี้ ผ่านมาทั้งยุคสมัยแห่งเผด็จการ “อารยัน” ผ่านสงครามที่ทั้งโลกตีกัน ผ่านการพยายามคืนดีกันของคนทั้งโลก และยังไม่นับว่ายังมีคนจำนวนมาก ที่ผ่านเรื่องราวต่าง ๆ ในช่วงชีวิต คู่ขนานไปกับการต่อสู้แย่งชิงเหรียญทองของเหล่านักกีฬา

ภาพยนตร์สารคดีกีฬา สารคดีสังคม ภาพยนตร์อาวอง-การ์ด ไปจนถึงแอนิเมชัน ที่เรารวบรวมมานี้ เป็นตัวอย่างเล็ก ๆ ของความพยายามบันทึกการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ให้ไปไกลกว่าแค่การแข่งขันกีฬา ไม่ว่าจะในเชิงเนื้อหาอย่างการเปรียบเปรยกีฬากับชีวิตมนุษย์ หรือในเชิงศิลปะ ที่เราจะได้เห็นเทคนิคการถ่ายทำภาพยนตร์สไตล์ใหม่ ๆ ล้ำ ๆ มากมาย ซึ่งเกิดจากการทดลองบันทึกภาพเคลื่อนไหวของกีฬา ซึ่งสำหรับคนที่เดินแกลเลอรี่มากกว่าไปสนามกีฬาอย่างเรา หนังเหล่านี้ก็ทำให้เราเข้าใจความสนุกของการดูกีฬาเพิ่มขึ้นไม่น้อย จนคิดว่างานโอลิมปิก 2024 ที่กำลังจะเกิดขึ้นที่ปารีสอีกไม่นานนี้ อาจจะต้องขอเป็นอีกคนที่เฝ้าติดจอรอดูกีฬามัน ๆ

แต่ตอนนี้ขอดูกีฬาผ่านหน้าจอไปก่อน ว่าแล้วก็ เตรียมตัว — ระวัง — แอคชั่น!

OLYMPIA โดย Leni Riefenstahl

โฆษณาชวนเชื่ออีกเรื่องจากพรรคนาซี? ความงดงามของร่างกายมนุษย์ที่เต็มไปด้วยกล้ามเนื้อ? ภาพยนตร์จากงานโอลิมปิกปี 1936 ที่เมืองเบอร์ลินในขณะที่อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ กระตุ้นคำถามตามมามากมายว่าเราจะดูหนังเรื่องนี้อย่างไร

เพราะนี่คือหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชั้นยอดชิ้นหนึ่งสำหรับทั้งนักประวัติศาสตร์การเมือง ที่ศึกษาความคลั่งร่างกายและความเป็น “อารยัน” ในอุดมการณ์แบบฟาสซิสต์ - นาซี รวมไปถึงนักประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ที่จะได้เห็นจุดเริ่มต้นของเทคนิคการถ่ายทำภาพยนตร์กีฬาต่าง ๆ ที่เพิ่งเริ่มต้นทำในหนังเรื่องนี้ อย่างถ่ายกีฬาใต้น้ำ หรือการถ่ายสโลว์โมชัน

Tokyo Olympiad โดย Kon Ichikawa

“หนังเกี่ยวกับกีฬาที่ยอดเยี่ยมที่สุดเท่าที่เคยทำกันมา” ตามพาดหัวของสำนักข่าวบีบีซี ภาพยนตร์เรื่องนี้รับรางวัลจากงานที่ใหญ่ที่สุดในอังกฤษอย่าง BAFTA มาถึงสองรางวัล

ถ้อยคำของเราคงไม่สามารถอธิบายเวทย์มนต์สุดวิเศษที่ทำให้หนังสารคดีบันทึกงานโอลิมปิกปี 1964 ที่โตเกียวเรื่องนี้เป็นทั้งบทกวีที่ลึกซึ้งชวนดำดิ่ง และเป็นการเฉลิมฉลองให้กับความเป็นมนุษย์ที่เห็นเด่นชัดขึ้นสุด ๆ ในสนามกีฬา ไม่ต้องสงสัยเลยว่าทำไมใคร ๆ ต่างก็ต้องย้อนกลับมาพูดถึงหนังเรื่องนี้อยู่เสมอ เพื่อเปรียบเทียบกับความพยายามจะสร้างสรรค์ให้ไปไกลกว่าเดิมของหนังกีฬายุคปัจจุบัน

Something Different โดย Věra Chytilová

ภาพยนตร์จากผู้กำกับคลื่นลูกใหม่ของเชก (Czech New Wave) ผู้ผสมผสานความแปลกแหวกแบบอาวอง-การ์ดมาเข้ากับเรื่องราวของนักยิมนาสติกโอลิมปิกสาว ‘เอวา’ ที่แสดงโดยนักยิมนาสติกโอลิมปิกสาวที่ก็ชื่อว่า ‘เอวา’ จริง ๆ

หนังเรื่องนี้เป็นหมุดหมายที่สำคัญของการวิพากษ์วิจารณ์บทบาททางเพศของผู้หญิงในฐานะแม่บ้าน โดยที่ตัวมันเองก็เป็นภาพยนตร์โดยผู้หญิงเรื่องแรก ๆ จากประเทศหลังม่านเหล็กที่ปกครองด้วยระบอบสังคมนิยม/คอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออก แต่อีกอย่างที่น่าพูดถึงเหมือนกัน ก็คงเป็นฝีมือของนักกีฬาสาว ที่หันมาเป็นนักแสดง และก็ทำได้ดีไม่น้อยเลย

Fight Without Hate โดย André Michel

ปี 1945 สงครามโลกครั้งที่สองจบลง ท่ามกลางซากปรักหักพังทั้งบ้านเมืองและอารมณ์ความรู้สึกที่หดหู่ของผู้คน งานโอลิมปิกกลับมาอีกครั้งในปี 1948 หลังเว้นช่วงไปถึง 12 ปีเต็ม ๆ และนั่นอาจเป็นที่มาของชื่อภาพยนตร์บันทึกงานครั้งนั้นที่ชื่อว่า ‘สู้โดยที่ไม่เกลียด’ เรื่องนี้ที่บันทึกการแข่งขันกีฬาในปีนั้น ซึ่งชวนเรามามองกีฬาในมุมใหม่ ๆ นอกไปจากการวิเคราะห์สมรรถนะและการกอบโกยชื่อเสียงให้กับประเทศ ให้ยังเห็นว่าในโลกแห่งการปะทะแห่งนี้ ก็ยังมีน้ำใจนักกีฬา มีการจับมือกันระหว่างประเทศ และก็ยังมีความหวังสู่โลกในอนาคตที่งดงามและความเข้าใจอีกด้วย

White Vertigo โดย Giorgio Ferroni

.
ภาพหิมะที่ขาวโพลนน่าลงไปนอนกลิ้งในภาพยนตร์บันทึกงานกีฬาโอลิมปิดฤดูหนาวปี 1956 ที่เมืองกอร์ตีนาดัมเปซโซ ประเทศอิตาลีนี้ เป็นฝีมือของ Aldo Scavarda ผู้กำกับภาพอิตาเลียนผู้ร่วมงานกับตำนานภาพยนตร์อิตาลีอย่าง Michelangelo Antonioni และ Bernardo Bertolucci มาแล้ว
.
นี่เป็นภาพยนตร์อีกเรื่องที่โชว์ว่าหนังกีฬา ก็มีงานภาพที่งดงามได้ไม่แพ้ภาพวาดทิวทัศน์เลย แถมยังดูเพลินจนทำให้อยากจองตั๋วไปเที่ยวเดี๋ยวนี้เลยด้วย

Visions of Eight

จะมีสักกี่งานที่รวมคนโซเวียต, สวีดิช, อเมริกัน, เยอรมัน, ญี่ปุ่น, เชก, ฝรั่งเศส และอังกฤษ มาทำงานร่วมกันได้ ถ้าไม่ใช่การแข่งกีฬาโอลิมปิก ก็ต้องเป็นหนังบันทึกโอลิมปิก 1972 ที่เมืองมิวนิกเรื่องนี้นี่แหละ

ซึ่งผู้กำกับจากแต่ละประเทศที่มาร่วมทำหนังด้วยบกันใน Visions of Eight ถ้าบอกชื่อไปเชื่อเลยว่าต้องคุ้นหูกันบ้าง เพราะแต่ละคนก็มีเอกลักษณ์ของตัวเองกันมาทั้งนั้น ทำให้นี่เป็นบทสนทนาระหว่างชาติที่มีชีวิตชีวา และเปิดให้เห็นมิติหลากหลายด้านของโอลิมปิกอย่างที่หาไม่ได้จากหนังเรื่องไหน

Beyond All Barriers โดย Lee Ji-won

อีกหนึ่งในไฮไลต์ของงานโอลิมปิกที่ใคร ๆ รอดูนอกจากกีฬา ก็คือพิธีเปิดที่เจ้าภาพแต่ละประเทศทำโชว์แบบจัดหนักจัดเต็มแบบไม่มีใครยอมใครนี่แหละ

ซึ่งสำหรับโอลิมปิก 1988 ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ก็ได้มีหนัง ‘Beyond All Barriers’ มาบันทึกพิธีเปิดที่มีตั้งแต่ริ้วขบวนสุดยิ่งใหญ่ไปจนถึงนักร้องเพลงป็อบยุค 80 ที่มากับแฟชั่นชวนงง

Stay Close โดย Luther Clement และ Shuhan Fan

อนิเมชั่นภาพสวยที่เล่าเรื่องการต่อสู้ของนักกีฬาฟันดาบผู้มีฝีมือแย่ที่สุดในชมรมฟันดาบตอนมอปลาย ในการเดินทางไปจนคว้าเหรียญเงินมาได้ในโอลิมปิก 2008 ที่ปักกิ่ง เพียงไม่กี่เดือนหลังพบว่าตนเป็นลูคีเมีย

นี่คือภาพยนตร์ที่ว่าด้วยการต่อสู้โดยแท้ ไม่ใช่แค่ในสนามกีฬา แต่เป็นการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ที่พบได้ประสบการณ์ชีวิตของมนุษย์

The Odyssey โดย Asif Kapadia

และอีกสิ่งที่คู่กับโอลิมปิกนอกจากกีฬากับพิธีเปิดอลังการ ก็คือปัญหาสังคมที่ตามมากับการพัฒนาเมืองแบบที่ผู้อยู่อาศัยจริง ๆ ได้รับผลกระทบ ซึ่งหนังเรื่องนี้ของผู้กำกับสารคดีชื่อดัง (ผู้ทำสารคดีเกี่ยวกับเอมี่ ไวน์เฮาส์และวงโอเอซิส) ก็เผยให้เห็นผลกระทบของโอลิมปิกลอนดอน 2012 ที่มีต่อสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของเมืองที่เป็นเจ้าภาพโอลิมปิก ซึ่งอาจจะทำให้มุมมองของเราต่องานกีฬาระดับโลกนี้เปลี่ยนไปไม่สวยหรูเหมือนเดิม