หากพูดถึงชื่อของ ‘Shostakovich’ หรือที่เราเรียกกันแบบเต็ม ๆ ว่า ‘ดมิทรี โชสตาโควิก (Dmitri Shostakovich)’ นักประพันธ์ดนตรีชื่อดังชาวรัสเซีย หลายคนน่าจะจดจำเขาได้ในฐานะของผู้ประพันธ์เพลง ‘Piano Concerto No.2’ ที่ใช้ประกอบภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่องดังในตำนานของค่ายดิสนีย์อย่าง ‘Fantasia 2000’
ทว่าหากเราจะพูดถึงเขาให้ลึกซึ้งขึ้นมาอีกหน่อย ก็จะพบว่าเบื้องหลังชีวิตของศิลปินเอกคนนี้มีทั้งความน่าสนใจและชวนเศร้าในคราวเดียว เพราะแม้จุดเริ่มต้นในชีวิตนักดนตรีเขาจะเทียบเท่าได้กับโมสาร์ท ที่ฉายแววอัจฉริยะมาตั้งแต่วัยเด็ก ด้วยการแต่งเพลงของตัวเองได้ตั้งแต่อายุ 13 ปี แต่กลับต้องมาติดอยู่ในบ่วงเกมการเมืองของประเทศรัสเซีย และถูกใช้เป็นเครื่องมือในการต่อสู้กับโลกฝั่งประชาธิปไตย
ด้วยเหตุนี้ ต่อให้โชสตาโควิกจะเปี่ยมไปด้วยความสามารถมากล้นสักแค่ไหน เขาก็ต้องแต่งเพลงให้ตรงใจของพรรคคอมมิวนิสต์ แม้ว่าเขาจะพยายามแต่งเพลงตามความชอบของตัวเอง แต่ก็มักจะถูกสั่งระงับไม่ให้แสดงอยู่เสมอ ลามไปจนถึงการสั่งแบนไม่ให้เขาขึ้นแสดงอยู่หลายครั้ง ซึ่งหลังจากแบ่งรับแบ่งสู้อยู่นาน บางครั้งโชสตาโควิกก็ลุกขึ้นมาแต่งเพลงเพื่อตอบโต้ฝั่งรัฐบาลที่กดดันและทำร้ายเขาทางอ้อมบ้างเหมือนกัน
จนกระทั่งในยุคหลังเมื่อสถานการณ์ทางการเมืองเริ่มสงบลง ผลงานของโชสตาโควิกก็เริ่มได้รับการยอมรับและกล่าวถึง รวมถึงการได้รับรางวัลอันทรงเกียรติมากมายจากหลายสถาบัน อีกทั้งเขายังโด่งดังจนได้ขึ้นปกนิตยสาร Time ของสหรัฐอเมริกาอีกด้วย แต่เนื่องจากประวัติชีวิตที่ไม่ได้ราบรื่นสวยงาม ทั้งในด้านการเมืองและชีวิตส่วนตัว ก็ทำให้เขาถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่เนือง ๆ
อย่างไรก็ตามการได้เฝ้ามองบทเพลงแต่ละชิ้นของเขา ก็ชวนให้เราตั้งคำถามขึ้นมาเหมือนกันว่า ถ้าเราตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกับเขา เราจะตัดสินใจอย่างไรดี ทั้งการสร้างผลงานเพื่อตอบสนองอุดมการณ์ทางการเมืองที่คุ้มหัวคนทั้งชาติในเวลานั้นอยู่ หรือทำผลงานตามที่ใจปรารถนา ทว่าครอบครัวและตัวเองจะต้องพบกับความลำบากไม่รู้จบ ซึ่งจากบทสรุปทั้งมวลก็ทำให้เรามองเห็นแล้วว่า หนทางที่ถ้อยทีถ้อยอาศัยไม่หักไม่งอและพยายามทำทุกอย่างไปพร้อมกันของโชสตาโควิก ก็นับว่าเป็นทางเลือกที่ไม่เลวเลย เพราะมันสามารถทำให้เขาดำรงชีวิตต่อมาได้ยาวนานถึง 70 ปี และยังทำให้บทเพลงทั้งหมดเป็นที่รู้จักด้วย
และถึงแม้ว่าในปัจจุบัน ตัวตนของเขาจะจากโลกนี้ไปแล้ว แต่ผลงานของเขาก็ยังโลดแล่นอยู่ในวงการออร์เคสตรามาตลอด โดยแต่ละวงดนตรีก็จะมีการสอดแทรกและปรับแต่งความเป็นตัวเองลงไปให้เราได้ซึมซับความรู้สึกที่แปลกใหม่ด้วย ซึ่งล่าสุดประเทศไทยของเราก็กำลังจะมีการนำบทเพลงของโชสตาโควิกมาบรรเลงให้เราฟังกันสด ๆ ในเทศกาล Hong Kong Week@Bangkok 2023 ที่ มหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล
สำหรับวงที่จะมาปลุกชีวิตและเสียงดนตรีของโชสตาโควิกให้เราได้ฟังกันในครั้งนี้ ก็คือวง ‘Hong Kong Philharmonic Orchestra's’ วงออร์เคสตราชั้นนำของเอเชีย จากฮ่องกง ที่เคยทำการแสดงไปทั่วโลกมาแล้วมากกว่า 150 โชว์ ภายในระยะเวลา 44 สัปดาห์ จนมีฐานแฟนที่รอคอยการแสดงของพวกเขามากถึง 200,000 คน และยังได้รับรางวัล ‘Gramophone Orchestra of the Year Award’ ไปเมื่อปี 2019 อีกด้วย
ในโชว์ครั้งนี้คนที่มาทำหน้าที่ควบคุมการบรรเลงในครั้งนี้ ก็คือ ลีโอ ก๊วกมาน (Lio Kuokman) และยังมีสองนักดนตรีไทยอย่าง ภูมิ พรหมชาติ (Poom Prommachart) มาบรรเลงเปียโน และ นิติภูมิ บำรุงบ้านทุ่ม (Nitiphum Bamrungbanthum) มาบรรเลงทรัมเป็ตคู่กันให้เราฟังด้วย
ซึ่งก่อนที่เราจะได้ไปเพลิดเพลินกับบทเพลงที่พวกเขาตั้งใจรังสรรค์ให้เราฟังกันในวันเสาร์ที่ 21 ตุลาคม 2566 นี้ GroundControl ก็ได้มีโอกาสเข้าไปพูดคุยแบบคลุกวงในกับคุณ Timothy Tsukamoto , the Director of Artisic Planning of Hong Kong Philharmonic Orchestra แบบเจาะลึก ถึงเบื้องหลังความน่าสนใจของการนำบทเพลงของโชสตาโควิกมาแสดงใหม่ในสไตล์ของพวกเขา ให้แฟน ๆ ชาว GroundControl ได้อ่านเรียกน้ำย่อยกันก่อน
ทุกคนคิดว่าการแสดงของวง Hong Kong Philharmonic Orchestra's ที่กำลังจะจัดแสดงในประเทศไทยครั้งนี้จะออกมาเป็นอย่างไร? และมีอะไรที่เอกลักษณ์พิเศษแบบไหนบ้างหรือเปล่า?
HK Phil Team: ในมุมมองของพวกเรา คอนเสิร์ต Hong Kong Philharmonic Orchestra’s (HK Phil) ที่กำลังจะจัดขึ้นในประเทศไทยครั้งนี้ ถือว่าเป็นคอนเสิร์ตที่นำเสนอผลงานที่มีเอกลักษณ์พิเศษผสมผสานกันหลายอย่างมาก ๆ เพราะเราต้องคิดและใช้เวลาในการรังสรรค์ทั้งหมดขึ้นมาจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นสไตล์ดนตรีที่หลากหลาย อิทธิพลทางดนตรีที่น่าสนใจ และวิธีการเล่าเรื่องอย่างไรให้ออกมาสดใหม่น่าค้นหาด้วย
HK Phil Team: สังเกตได้จากแต่ละบทเพลงที่เราเลือกมาใส่ไว้ในโปรแกรมการแสดง ที่แสดงให้เห็นถึงสไตล์ดนตรีที่แตกต่างกัน ทั้งในแง่ของท่วงทำนองและยุคสมัย เช่น ถ้าเรามองไปที่เพลง ‘La valse’ ของ ราเวล (Ravel) บทเพลงดังจากยุคอิมเพรสชั่นนิสต์ เราก็จะรู้สึกว่าท่วงทำนองและดนตรีที่ได้ยินมันชวนให้รู้สึกหัวหมุน ในทางกลับกันถ้าเราลองฟังเพลงอย่าง ‘Piano Concerto No. 1’ ดูบ้าง ก็จะสัมผัสได้ถึงอิทธิพลทางดนตรีที่ผสมผสานระหว่างความเป็นนีโอคลาสสิกกับดนตรีพื้นบ้านของรัสเซีย อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของโชสตาโควิกที่ไม่เหมือนใคร และท้ายที่สุดก็คือเพลง ‘Scheherazade’ ของ นีโคไล ริมสกี-กอร์ซากอฟ (Nikolai Rimsky-Korsakov) ที่เป็นเพลงซิมโฟนีแบบสดใส ๆ และแปลกใหม่ ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากนิทานเรื่อง ‘A Thousand and One Nights’ หรือที่คนไทยรู้จักในชื่อ ‘อาหรับราตรี’ ที่พวกเราตั้งใจเรียบเรียงใหม่ให้เข้มข้นขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ยังเต็มไปด้วยเรื่องราวที่มีชีวิตชีวามากกว่าเดิม
สังเกตว่าในคอนเสิร์ตครั้งนี้จะมีเพลงทั้งหมดสามเพลง เลยอยากให้ทุกคนช่วยแชร์ให้ฟังสักหน่อยว่ามีวิธีการเลือกอย่างไร แล้วต้องการส่งอารมณ์แบบไหนมาสู่ผู้ฟังบ้าง?
HK Phil Team: ทั้งสามเพลงที่พวกเราเลือกมา เราตั้งใจที่จะพาผู้ชมไปสัมผัสกับห้วงอารมณ์ทางดนตรีแบบกว้าง ๆ และหลากหลาย เพราะแต่ละเพลงจะให้อารมณ์ที่ไม่ซ้ำกันเลย เริ่มตั้งแต่เพลง La Valse ที่ให้ความรู้สึกนุ่มนวลและชวนฝัน ก่อนจะไปต่อกันที่บทเพลงที่กระแทกกระทั้นอารมณ์ที่รุนแรงมากขึ้นอย่าง Piano Concerto No. 1 และปิดท้ายด้วยความเร้าใจของการเล่าเรื่องผ่านบทเพลง Scheherazade ที่ชวนให้ทุกคนได้ลองเดินทางเข้าไปโลกแห่งอาหรับราตรี กับเสียงดนตรีที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางอารมณ์ ที่คอยกล่อมให้เราเพลิดเพลินไปตลอดทั้งคอนเสิร์ต
ผลงานของโชสตาโควิกขึ้นชื่อเรื่องความลึกซึ้งและซับซ้อนทางอารมณ์ การนำบทเพลงของเขามาแสดงในครั้งนี้ พวกคุณต้องเตรียมตัวอย่างไร และคิดว่ามีความท้าทายอย่างไรบ้าง
HK Phil Team: ต้องยอมรับเลยว่าการตีความดนตรีขอโชสตาโควิกนั้นท้าทายจริง ๆ เพราะมีความซับซ้อนและรายละเอียดยิบย่อยหลายชั้นมาก ๆ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของบริบททางประวัติศาสตร์ ความเชี่ยวชาญทางเทคนิค ห้วงอารมณ์ของผู้แต่ง รวมถึงความอ่อนไหวที่เขามักใส่ลงไปในบทเพลงจนเป็นเอกลักษณ์ประจำตัว ซึ่งองค์ประกอบทั้งหมดนี้ส่งผลให้ดนตรีของโชสตาโควิกสะท้อนอารมณ์ที่หลากหลายออกมาได้ดีมาก ตั้งแต่ความโศกเศร้าอย่างสุดซึ้ง ความสิ้นหวัง และการเสียดสีประชดสุดแสบทรวง พวกเราเลยต้องใช้เวลาทำความเข้าใจสิ่งเหล่านี้อยู่นาน เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการแสดงนี้ โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่า จะต้องเจาะลึกอารมณ์ของดนตรีและถ่ายทอดอารมณ์เหล่านั้นให้กับผู้ชมอย่างแท้จริงออกมาให้ได้
HK Phil Team: เพื่อนำแก่นแท้ของความเป็นโชสตาโควิกมาถ่ายทอดให้กับผู้ฟังทุกคนได้อย่างครบถ้วนและลึกซึ้ง พวกเราทุกคนในทีมเลยต้องศึกษาและฝึกฝนกันเป็นรายบุคคลก่อน จากนั้นจึงค่อยมาฝึกซ้อมและทำงานร่วมกันอย่างหนักในภายหลัง เพราะการทำดนตรีเป็นมากกว่าการเล่นโน้ตเพียงอย่างเดียว แต่เราคือทีมที่ต้องส่งอารมณ์ถึงผู้ชมไปพร้อม ๆ กัน
HK Phil Team: ดังนั้น ในคอนเสิร์ตครั้งนี้ ผู้ฟังเลยจะได้ฟังภาษาดนตรีอันเป็นเอกลักษณ์ของโชสตาโควิก ซึ่งโดดเด่นในเรื่องของท่วงทำนองที่ไม่ค่อยลงรอยกัน ให้ความรู้สึกมืดหม่นปนประชดประชัน แต่ก็เต็มไปด้วยจังหวะอันทรงพลังที่แทรกซึมเข้าไปถึงจิตใจของทุกคนได้
นอกจากเรื่องความลึกซึ้งแล้ว ผลงานของโชสตาโควิกก็ยังสะท้อนถึงการเมืองและบริบททางสังคมในยุคสมัยของเขาด้วย คุณพอจะเล่าให้เราฟังได้ไหมว่าคอนเสิร์ตครั้งนี้จะทำให้ผู้ชมสัมผัสถึงเรื่องราวเหล่านี้ได้อย่างไร
HK Phil Team: ทุกคนสามารถสัมผัสเรื่องราวนี้ได้ในพาร์ทของเพลง ‘Piano Concerto No. 1’ โดยนอกเหนือจากเรื่องของอารมณ์ที่เราเคยพูดกันไปในตอนต้นแล้ว ถ้าดูในแง่ของประวัติความเป็นมา บทเพลงนี้ก็นับว่าเป็นส่วนสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงช่วงชีวิตหนึ่งของโชสตาโควิก ที่ถูกบริบทการการเมืองและสังคมกดดันเขาได้ชัดเจนเป็นอย่างมาก เนื่องจากเพลงนี้คือเพลงที่เขาประพันธ์ขึ้นในปี 1933 ซึ่งเป็นยุคที่โชสตาโควิกถูกตรวจสอบและควบคุมอย่างเข้มงวดสุด ๆ เพื่อควบคุมให้เขาอยู่ในกรอบอุดมการณ์แบบสังคมนิยมและรับใช้โซเวียตตามที่รัฐบาลต้องการ แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็ยังสามารถก้าวข้ามความกดดันเหล่านั้นและแสดงความรู้สึกของตัวเองออกมาผ่านดนตรีได้
HK Phil Team: ด้วยเหตุนี้ ถึงแม้ว่าบทเพลง ‘Piano Concerto No. 1’ จะกำเนิดขึ้นมาจากความกดดัน และต้องมีความสอดคล้อง (อวย) กับระบอบการปกครองโซเวียตอยู่บ้าง แต่ในองค์ประกอบลึก ๆ รวมถึงอารมณ์ของเพลงแล้ว เราจะเห็นเลยว่ามันมีความประชดประชัน เสียดสี และความมุ่งร้ายหมายจะบ่อนทำลายบางสิ่งบางอย่างที่โชสตาโควิกแอบใส่เข้ามาอยู่ เมื่อมาผสมเข้ากับท่วงทำนองแบบนีโอคลาสสิก สลับกับดนตรีแนวขี้เล่นเบาสมอง ก็ทำให้ในเพลงเดียวจะมีหลายอารมณ์ผสมปนเปกันอยู่หลายชั้นจนเข้มข้นและไม่ลงรอยกันจนสังเกตได้เลย
เห็นว่าในคอนเสิร์ตครั้งนี้ไม่ได้มีเพียงเปียโนเท่านั้นที่เป็นตัวเอกของการแสดง แต่ทรัมเป็ตเองก็เข้ามามีบทบาทสำคัญ จนเรียกได้ว่ามีสัดส่วนเท่า ๆ กันเลย เลยอยากให้ช่วยบอกถึงเบื้องลึกเบื้องหลังของการเลือกทำการแสดงแบบนี้ และจับเครื่องดนตรีทั้งสองชนิดมาเข้าคู่กันหน่อย
HK Phil Team: แม้คอนเสิร์ตนี้จะชื่อว่าเปียโนคอนแชร์โต แต่มันเหมือนดับเบิลคอนแชร์โตมากกว่า เพราะทรัมเป็ตและเปียโนมีบทบาทเท่า ๆ กันเลย โดยทรัมเป็ตจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในช่วงบทสรุปและเริ่มบรรเลงทันทีหลังจากจบช่วงโซโลของเปียโน ที่เป็นแบบนี้เพราะเราอิงมาจากความต้องการดั้งเดิมของผู้ประพันธ์เพลงอย่างโชสตาโควิก ที่เคยเล่าไว้ว่าตอนแรกเขาวางแผนที่จะเขียนคอนแชร์โตสำหรับทรัมเป็ตและวงออร์เคสตรา จากนั้นจึงเพิ่มเปียโนเพื่อทำให้เป็นคอนแชร์โตคู่ จนกลายเป็นเปียโนคอนแชร์โตพร้อมทรัมเป็ตเดี่ยว ซึ่งก็คือโชว์ที่พวกเราทำอยู่ตอนนี้นั่นเอง
สำหรับคนที่เพิ่งสนใจในดนตรีคลาสสิก หรือแฟน ๆ รุ่นใหม่ที่ยังไม่ค่อยคุ้นเคยกับดนตรีประเภทนี้มากนัก ในฐานะนักดนตรี พวกคุณคิดว่าพวกเขาจะสามารถคาดหวังอะไรในคอนเสิร์ตนี้ได้บ้าง และมีโชว์ไหนที่อยากให้ผู้ชมตั้งใจฟังเป็นพิเศษไหม?
HK Phil Team: สำหรับผู้ฟังที่เพิ่งรู้จักดนตรีคลาสสิก ดนตรีคลาสสิกก็เหมือนกับกับดนตรีประเภทอื่น ๆ เลย หากอยากคุ้นเคยมากขึ้น ก็เริ่มต้นได้จากการเปิดใจรับประสบการณ์ใหม่ ๆ สำรวจองค์ประกอบต่าง ๆ ของดนตรี และปล่อยให้อารมณ์และจินตนาการของคุณเองเป็นตัวนำทาง หรือถ้าอยากให้เราไกด์ว่าควรฟังและดูอย่างไร ก็อาจจะเริ่มต้นจากการสังเกตการร่วมมือกันของเหล่านักดนตรีว่าพวกเขาตอบโต้กันอย่างไร และใช้จินตนาการไปกับเรื่องราวที่ดนตรีกำลังเล่าออกมาให้มากที่สุด ๆ
HK Phil Team: ซึ่งในคอนเสิร์ตครั้งนี้ พาร์ทที่จะเล่าเรื่องราวได้เห็นภาพมากที่สุดก็คือในบทเพลง‘Scheherazade’ ของ Rimsky-Korsakov ที่เอาเรื่องราวในอาหรับราตรีมาเป็นแกนกลาง โดยในระหว่างการแสดงนี้ เราก็อยากให้ทุกคนลองปล่อยให้จินตนาการทำงานไปตามธรรมชาติ แล้วการเล่าเรื่องผ่านเสียงดนตรีของพวกเราจะคอยกระตุ้นให้ทุกคนสัมผัสได้ถึงทุกอารมณ์ภายในบทเพลงเอง หรือบางทีคุณอาจจะลองจินตนาการถึงฉากและตัวละครที่เพลงกำลังนำเสนอร่วมไปด้วยก็ได้ เช่น ภาพของท้องทะเล สุลต่าน และนิทานที่เล่าโดย Scheherazade ถ้าใครยังนึกภาพไม่ออกทีมของเราก็เตรียมวิดีโอสนุก ๆ เกี่ยวกับนิทานเรื่องนี้มาให้ทุกคนได้ลองชมกันด้วย
สามารถคลิกลิงก์นี้ได้เลย: https://www.youtube.com/watch?v=CVtbKXHWEqA
ขอปิดท้ายด้วยการถามความเห็นของทุกคนดีกว่าว่า เพราะอะไรพวกเขาถึงไม่ควรพลาดคอนเสิร์ต Hong Kong Philharmonic Orchestra :Shostakovich Piano Concerto ในครั้งนี้
HK Phil Team: เหตุผลที่ทุกคนไม่ควรพลาดคอนเสิร์ตครั้งนี้เลย ต้องยกให้เรื่องของคุณภาพที่จะได้สัมผัส เพราะวง Hong Kong Philharmonic Orchestra ของเราคือวงออร์เคสตราชั้นนำ ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้ชมการแสดงดนตรีอันยอดเยี่ยมและหลากหลาย อีกทั้งยังโดดเด่นในเรื่องของการเล่าเรื่องให้น่าติดตาม และยังเพิ่มคุณค่าทางวัฒนธรรมของคอนเสิร์ตออร์เคสตราที่แสดงสดได้เป็นอย่างดี การมาชมคอนเสิร์ตครั้งนี้เลยเป็นโอกาสสำคัญที่ทุกคนจะได้ลองสัมผัสประสบการณ์ที่ว่ามานั้นด้วยตัวเอง พร้อมกับดื่มด่ำความงดงามและพลังของดนตรีคลาสสิกให้สลักอยู่ในความความทรงจำอันยาวนานได้ไม่ลืม
Hong Kong Philharmonic Orchestra :Shostakovich Piano Concerto
วันที่: 21 ตุลาคม 2566
สถานที่: หอประชุมมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล
เวลา: 16.00 น.
สามารถจองบัตรได้แล้ววันนี้ ที่: Thai Ticket Major | Hong Kong Philharmonic Orchestra: Shostakovich Piano Concerto
Thai Ticket Major
ส่วนใครที่ยังเป็นนักเรียนหรือนักศึกษา เพียงกรอกโค้ด ‘HKP40’ (ไม่จำเป็นต้องโชว์บัตรนักศึกษา) ก็รับส่วนลดไปได้เลย 40 เปอร์เซ็นต์