248161362_458771675766212_6774342803704999170_n.jpeg

INCLUSIVE CITY เป็นไปได้ไหม.. วันที่ไทยออกแบบมาเพื่อ ‘ประชาชน’

Post on 6 May

ในประเทศที่ทุกอย่างดูจะเป็นของ ‘Exclusive’ ที่สงวนไว้เฉพาะแค่ ‘คนพิเศษ’ บางกลุ่มเท่านั้น คำว่า ‘Inclusive’ ดูจะเป็นของใหม่สำหรับสังคมไทยอยู่ไม่น้อย เพราะแม้ว่ามันจะไม่ใช่คำที่ถูกนิยามขึ้นมาใหม่ แต่แนวคิดการออกแบบเมือง ‘Inclusive’ ที่ฟังเสียงความต้องการของทุกคน และนำมาต่อยอดสร้างเป็นเมืองของ ‘ประชาชน’ เพื่อ ‘ประชาชน’ อย่างแท้จริง ก็เพิ่งจะถูกพูดถึงในบ้านเราช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาเท่านั้น 

การพัฒนาเมืองเข้าสู่ความเป็น Inclusive City คือหนึ่งในกุญแจสำคัญในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นสำหรับทุกคน เพราะนี่คือแนวคิดการพัฒนาเมืองโดยคำนึงถึงความต้องการของประชาชนทุกกลุ่มไม่ว่าจะในแง่ชาติพันธุ์ ศาสนา เพศ อายุ หรือสถานะทางสังคม โดยไม่ได้มีเพียงแนวคิดในการพัฒนาจากศูนย์กลางของภาครัฐ แต่ยังมีการฟังเสียงของผู้คน และนำไปต่อยอดพัฒนาเป็นเมืองที่สามารถเข้าถึงได้อย่างกว้างขวางสำหรับทุกคนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง 

เมื่อเราย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ของเมืองที่น่าอยู่ที่สุดในโลกอย่างโคเปนเฮเกนก็จะพบว่า ก่อนที่จะกลายเป็นเมืองที่ผู้คนมีความสุขมากที่สุดในโลก ในอดีตโคเปนเฮเกนเองก็เคยเป็นประเทศยากจนที่มีทรัพยากรธรรมชาติน้อย และยังต้องเผชิญกับความสูญเสียจากสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่หลังจากที่พวกเขานำเอานโยบาย Nordic Model มาปรับใช้ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเท่าเทียมในสังคมทุก ๆ ด้าน ผนวกกับการมีส่วนร่วมของประชาชนชาวเมืองในทุกภาคส่วนที่ลุกขึ้นมาลงมือสร้างความเปลี่ยนแปลงร่วมกันทีละนิด ๆ ทั้งในด้านพื้นที่สาธารณะ ระบบขนส่งมวลชน และการวางผังเมือง จนโคเปนเฮเกนสามารถกลับมาผงาดเป็นเมืองชีวิตดีที่คนทั้งโลกใฝ่ฝัน ก่อร่างสร้างตัวเป็นสังคมที่ผู้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมภายในเวลาไม่กี่สิบปีเท่านั้น 

แล้วประเทศไทยล่ะ... พอจะมีความหวังในการสร้างสังคมดีเช่นนี้บ้างไหม?

ความจริงแล้ว ในบ้านเราเองก็มีความร่วมมือของภาคประชาชนที่ต้องการจะลงมือสร้างชีวิตดี สังคมดีมาโดยตลอด โดยรูปแบบการพัฒนาก็มีความแตกต่างกันไปตามความถนัดของแต่ละกลุ่ม เช่น กลุ่มสถาปนิกใจบ้านสตูดิโอ กับโครงการ ‘สวนผักคนเมืองเชียงใหม่’ ที่เข้าไปสร้างพื้นที่สาธารณะเชิงอนุรักษ์ เปลี่ยนพื้นที่ทิ้งขยะกลางเมืองเชียงใหม่ให้กลายเป็นสวนผักเลี้ยงปากท้องชาวเมืองในราคาย่อมเยา, กลุ่ม Mayday ที่ลงพื้นที่สำรวจปัญหาร่วมกับชุมชน แล้วนำความรู้เรื่องการออกแบบมาใช้แก้ปัญหาการให้ข้อมูลที่ชวนสับสนบนป้ายรถเมล์ และโครงการ GoodWalk.org ของศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (UddC) ได้เข้าไปลงพื้นที่ศึกษาและวิเคราะห์ความเป็นเมืองน่าเดินภายในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อนำข้อมูลท่ีได้ไปใช้ในการออกแบบและพัฒนาเมืองต่อไป 

และนอกจากจะมีความร่วมมือของกลุ่มและองค์กรต่าง ๆ แล้ว ยังมีความภาคภูมิใจของชาวเมืองนครสวรค์อย่างโครงการ ‘พาสาน’ ที่เกิดจากการรวมพลังกันระหว่างเทศบาลนครสวรรค์ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ช่วยกันผลักดันและลงมือสร้างแลนด์มาร์กแห่งใหม่นี้จนสัมฤทธิ์ผลภายในเวลา 12 ปี โดยในทุก ๆ ขั้นตอนมีการเปิดโอกาสให้ชาวเมืองได้เข้ามามีส่วนร่วม ตั้งแต่การระดมทุน การบริจาคพื้นที่ การระดมไอเดีย สำรวจความต้องการของคนในท้องที่ ไปจนถึงการพิจารณาและเลือกแบบที่ทั้งตรงใจและตรงความต้องการของคนในชุมชน จึงไม่ต้องแปลกใจเลยที่พาสานจะไม่ได้เป็นแค่สิ่งก่อสร้างหน้าตาสวยงามเท่านั้น แต่มันยังเป็นพื้นที่สาธารณะที่มีทั้งจุดชมวิว ที่นั่งพักผ่อนหย่อนใจ ลานกิจกรรม พื้นที่ออกกำลังกาย และเลนจักรยาน ถือเป็นศูนย์รวมการทำกิจกรรมของชาวเมืองนครสวรรค์ที่เอื้อให้เกิดความสุขกายสบายใจในองค์รวมอย่างแท้จริง

แม้สถานการณ์บ้านเมืองของประเทศไทยจะยังอยู่ในบรรยากาศแห่งความไม่แน่นอน จนทำให้หลายคนอดไม่ได้ที่จะรู้สึกท้อแท้และสิ้นหวัง แต่เมื่อได้เห็นตัวอย่างความร่วมมือร่วมใจของภาคประชาชนที่มาช่วยกันสร้างสังคมดีในประเทศไทยแล้ว ก็ทำให้พลังแห่งความหวังกลับมาร้อนแรงอีกครั้งไม่ว่าจะต้องเผชิญกับปัญหาหรือวิกฤตในรูปแบบไหนก็ตาม ดังนั้น เราจึงอาจสรุปได้ว่า Inclusive City ไม่ใช่เรื่องไกลเกินเอื้อม และสามารถเป็นจริงได้ในประเทศไทย แม้จะไม่ใช่เรื่องง่าย และต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนแปลงไม่น้อย แต่สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นจริงไม่ได้ถ้าขาดการมีส่วนร่วมของทุก ๆ คนในสังคม โดยการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้สามารถเริ่มต้นจากสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ตัวเราเองก่อน แล้วขยายไปหาผู้คนที่มีความสนใจคล้าย ๆ กัน ก่อนจะต่อยอด และส่งเสียงไปให้ไกล เพื่อสร้างแรงกระเพื่อมไปให้ถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้มีอำนาจในสังคมทุก ๆ คนได้เห็นถึงพลังของภาคประชาชนที่ต้องการจะเห็นความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจริง 

ติดตามรายละเอียดงาน Good Society Summit 2021 - Hope in Crisis ในวิกฤตยังมีหวัง ได้ที่:
www.goodsociety.network

รับชมรายการ Self-Quarantour EP. Good Society in Copenhagen เต็ม ๆ ได้ที่: