GC_MultiCover_SQ_FAAMAI_ai.jpg

ชวนรู้จัก 5 ศิลปิน AI ผู้ใช้ ‘ปัญญาประดิษฐ์’ สำรวจความเป็น ‘มนุษย์’ ผ่านงานศิลปะ

Post on 1 July

ย้อนกลับไปในปี 2018 เมื่อออคชั่นเฮ้าส์ระดับโลกอย่าง Chrisite ประกาศขายงานศิลปะที่สร้างมาจาก AI (Artificial Intelligence) หรือ ‘ปัญญาประดิษฐ์’ เป็นครั้งแรก มันก็สร้างความตกตะลึงและข้อถกเถียงในแวดวงศิลปะอย่างหนัก โดยเฉพาะการตั้งคำถามว่า ผลงานที่เกิดจากการใช้เครื่องมืออย่างโค้ดและอัลกอริทึมนั้นสามารถเรียกว่า ‘ศิลปะ’ ได้เต็มปาก หรือมีคุณค่าเท่ากับงานศิลปะจากสองมือและหนึ่งสมองของศิลปินหรือไม่?

เวลาผ่านไปแค่ 5 ปี ที่ทางของปัญญาประดิษฐ์ในฐานะเครื่องมือสร้างสรรค์งานศิลปะชิ้นใหม่ก็ดูมีที่หยัดยืนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีนี้ที่โลกศิลปะได้ต้อนรับการมาถึงของ DALL•E เครื่องมือเจเนอเรตภาพสุดล้ำที่กำลังกลายเป็นที่พูดถึงในแง่ของความฉลาด เพียงแค่ป้อนประโยคหรือคำลงไป เจ้าปัญญาประดิษฐ์ตัวนี้ก็จะสร้างภาพหรือผลงานศิลปะชิ้นใหม่ที่ไม่เคยมีบนโลกขึ้นมา!

นอกจากเครื่องมือล้ำ ๆ แล้ว ในปัจจุบันยังมีศิลปินอีกมากมายที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการทดลองและสำรวจความเป็นไปได้ทางศิลปะใหม่ ๆ ซึ่งแม้ว่าการนำเทคโนโลยีก้าวหน้ามาใช้ในงานศิลปะจะทำให้ดูเหมือนว่าเรากำลังตีตัวออกห่างจากจินตนาการและความเป็นมนุษย์มากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ในความจริงแล้ว การใช้ปัญญาประดิษฐ์หรือเทคโนโลยีล้ำสมัยเหล่านี้กลับเป็นอีกหนึ่งหนทางในการสำรวจความเป็นตัวเราในแง่มุมใหม่ ๆ ดังที่ แอนนา ริดเลอร์ ศิลปินชาวอังกฤษผู้ทำงานกับ AI ได้เคยอธิบายไว้ว่า “การมองเข้าไปในงานที่ฉันสร้างขึ้นมาด้วย AI ให้ความรู้สึกเหมือนกับการมองเงาของตัวเองในกระจก คุณรู้ว่าเงานั้นคือตัวคุณ แต่ในขณะเดียวกันมันก็ไม่ใช่ตัวตนของคุณ” 

เพื่อให้ทันเทรนด์ศิลปะที่กำลังมาแรงอยู่ ณ ตอนนี้ GroundControl จึงขอชวนทุกคนไปสำรวจศิลปะแห่งปัญญาประดิษฐ์ผ่าน 5 ศิลปินผู้ใช้ AI ในการสร้างผลงานศิลปะ

Mario Klingemann

มาริโอ คลินเจอมัน คือศิลปินชาวเยอรมันที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้วางรากฐานของงานศิลปะ AI โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากการเรียนรู้การเขียนโปรแกรมด้วยตัวเองในยุค 80s และปัจจุบันเขายังเป็นศิลปินในพำนักของ Google Arts and Culture โดยเป็นผู้อยู่เบื้องหลังฟีเจอร์สุดไวรัลของ Google Arts and Culture ที่แมตช์ใบหน้าของผู้ใช้กับใบหน้าที่ดูเหมือนกันในงานศิลปะนั่นเอง

จุดมุ่งหมายของคลินเจอมันในการใช้ AI ทำงานศิลปะก็คือการสำรวจความหมายเรื่องสุนทรียะความงดงามตั้งแต่ช่วงเวลาในอดีต และคาดคะเนถึงอนาคต หนึ่งในผลงานชิ้นสำคัญของเขาก็คือ Memories of Passersby I ที่เขาเขียนโปรแกรมให้สร้างภาพพอร์เทรตของทั้งชายและหญิงขึ้นมาแบบไม่รู้จบ โดยที่มันไม่ได้ใช้ฐานข้อมูลหรือรูปภาพที่เคยมีอยู่แต่อย่างใด แต่คลินเจอมันเขียนโปรแกรมให้ AI ของเขาเรียนรู้ศิลปะการวาดภาพบุคคลในยุคศตวรรษที่ 17-19 ด้วยตัวเอง จนสุดท้ายแล้ว การเรียนรู้สุนทรียะภาพวาดบุคคลและการจดจำใบหน้าของผู้คน ก็ทำให้ AI ของคลินเจอมันสร้างภาพบุคคลขึ้นมาได้เอง ราวกับว่ามันมีสมองและกระบวนการทำงานเหมือนคนคนหนึ่ง 

และเมื่อผู้ชมมองภาพใบหน้าของคนที่กำลังเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ก็เหมือนกับว่าพวกเขากำลังจ้องมองเข้าไปในความทรงจำหรือห้วงความคิดของศิลปิน

Refik Anadol

เรฟิก อานาดอล เป็นที่รู้จักในฐานะศิลปินที่ใช้เวทมนตร์แห่ง AI ในการเปลี่ยนพื้นที่ของสถาปัตยกรรมหรือฟาซาดให้กลายเป็นผืนผ้าใบขนาดใหญ่ โดยที่ผลงานที่ถูกระบายลงบนผ้าใบนั้นก็คือการเต้นรำของแสง สี และวิชวลภาพเคลื่อนไหวอันงดงามตระการตา

นอกจากการสร้างความตื่นตะลึงทางสายตาให้กับผู้ชม ผลงานของอานาดอลยังเปรียบเสมือนงานศิลปะจัดวางขนาดใหญ่ที่เชิญชวนผู้ชมให้ก้าวเข้ามาซึมซับและรับประสบการณ์ต่อพื้นที่และเวลาที่ต่างไปจากความเคยคุ้น และเพื่อกระตุ้นให้ผู้ชมได้จินตนาการถึงชีวิตในอนาคตที่มนุษย์กับเทคโนโลยีต้องดำรงอยู่ร่วมกันแบบแทบแยกกันไม่ออก

หนึ่งในผลงานของอานาดอลที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดก็คือ Quantum Memories ที่เจ้าตัวเรียกว่า ‘Data Sculpture’ หรือประติมากรรมแห่งข้อมูล ผลงานชิ้นนี้เกิดขึ้นจากการที่อานาดอลไปรวบรวมภาพถ่ายธรรมชาติทั้งสายน้ำ ภูเขา และก้อนเมฆ มาจากอินเทอร์เน็ต รวมไปถึงภาพถ่ายโลกจากอวกาศ จากนั้นเขาจึงใช้อัลกอริทึมของ AI และควันตัมคอมพิวเตอร์ในการนำภาพเหล่านั้นมาประมวลผล จนเกิดเป็นวิชวลใหม่ทั้งสี เท็กซ์เจอร์ การเคลื่อนไหว ที่เป็นลูกผสมระหว่างเทคโนโลยีกับธรรมชาติ
 

Sougwen Chung

ซุกเหวิงชุงเป็นศิลปินที่มีกระบวนการในการทำงานอยู่ระหว่างศิลปะกับวิทยาศาสตร์ ซึ่งก็เป็นความตั้งในของเธอที่จะหาหนทางในการสร้างสุนทรียะและความงดงามขึ้นมาจากสองสิ่งที่ดูเหมือนเป็นขั้วตรงข้ามกัน โดยหวังว่าจะพบคำตอบเรื่องเส้นแบ่งระหว่างมนุษย์กับจักรกล 

ในขณะที่คนทั่วไปมองว่าเทคโนโลยีเป็น ‘เครื่องมือ’ อย่างหนึ่งของมนุษย์ แต่ชุงกลับมองมันเป็น ‘ผู้ร่วมสร้าง’ (Collaborator) ด้วยเหตุนี้ ผลงานที่สำคัญของชุงจึงเป็นผลงานที่เกิดจากการที่เธอและ ‘โรบ็อต’ ร่วมกันสร้างขึ้นมา ซึ่งเธอก็นำเสนอกระบวนการสร้างในฐานะส่วนหนึ่งของงานด้วย งานของเธอจึงมีผลลัพธ์ออกมาเป็นสองส่วน คือ ชิ้นงาน และการแสดงสด (Performance Art)

ในปี 2015 ระหว่างที่เธอกำลังทำวิจัยอยู่ที่ MIT Media Lab ที่สหรัฐอเมริกา เธอก็ได้พัฒนาหุ่นยนต์ที่ชื่อว่า ‘Drawing Operations Unit: Generation 1’ ขึ้นมา โดยเรียกสั้น ๆ ว่า D.O.U.G. ซึ่งความพิเศษของหุ่นยนต์ตัวนี้ก็คือการที่มันถูกโปรแกรมมาให้เลียนแบบลายเส้นและลวดลายต่าง ๆ ตามที่เธอกำลังวาด

การวาดรูประหว่างชุงและ D.O.U.G ได้พัฒนากลายมาเป็น Drawing Operations การแสดงสดที่ชุงชักชวนให้ผู้ชมเข้ามาชมกระบวรการสร้างงานศิลปะร่วมกันระหว่างตัวเธอกับหุ่นยนต์ โดยความน่าสนใจในผลงานของชุงชิ้นนี้ก็คือ ในขณะที่ศิลปิน AI คนอื่น ๆ สนใจผลลัพธ์ที่เกิดจากการทำงานกับเทคโนโลยี แต่ชุงถอยกลับมาให้ความสนใจปฏิกิริยาการตอบโต้กันระหว่างมนุษย์และเทคโนโลยี

KATSU

ศิลปินชาวญี่ปุ่น-อเมริกันผู้นี้เป็นทั้งศิลปินกราฟิตี้ นิวมีเดีย แฮกเกอร์ ไปจนถึงนักเขียน แม้จะเริ่มสร้างชื่อเสียงในวงการศิลปะจากผลงานกราฟิตี้สถดบ้าคลั่งและการบอมบ์งานสุดแสบสันไปทั่วอเมริกา แต่ในเวลาต่อมา ชื่อของคัตซึก็กลายเป็นที่รู้จักในฐานะศิลปินบ้าพลังสุดครีเอทิฟที่ไม่เคยหยุดทดลองทำอะไรใหม่ ๆ และอาวุธในการทำงานศิลปะล่าสุดของเขาก็คือเทคโนโลยีสุดล้ำอย่าง AI นั่นเอง

หนึ่งในผลงานของคัตสึที่เป็นที่พูดถึงมากที่สุดก็คือผลงานกราฟิตี้ที่เขาใช้ ‘โดรน’ เป็นเครื่องมือในการพ่นสีสเปรย์ โดยเจ้าตัวเรียกสิ่งนี้ว่า ‘Autonomous Art’ หรือศิลปะที่ทำงานอย่างอิสระ ซึ่งอิสระในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการที่โดรนถูกโปรแกรมให้ทำงานด้วยตัวเองเท่านั้น แต่ยังมีความหมายถึงอิสระจากกฎเกณฑ์ไปจนถึงข้อกฎหมาย เพราะอย่างที่รู้กันดีว่าการทำงานกราฟิตี้เป็นงานที่หมิ่นเหม่ข้อกฎหมายเกี่ยยวกับการบุกรุกและทำลายทรัพย์สิน ผลงานกราฟิตี้ที่ก้ำกึ่งระหว่างการเป็นผลงานคนทำกับโดรนทำ จึงเป็นการชักชวนให้ผู้คนกลับมาตั้งคำถามต่อกฏหมายที่ปิดกั้นอิสระทางความสร้างสรรค์ พร้อมกับสำรวจความหมายที่อยู่ระหว่างเส้นแบ่งของคนกับเครื่องจักรไปพร้อ ๆ กัน

Anna Ridler

แม้จะสำเร็จการศึกษาจากสถาบันศิลปะตามขนบ แต่ในปัจจุบัน แอนนา ริดเลอร์ ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในศิลปิน AI ที่ใช้โปรแกรมและอัลกอริทึมในการสร้างงานศิลปะที่ทั้งล้ำยุคและสำรวจพรมแดนที่อยู่ระหว่างมนุษย์กับเทคโนโลยีได้อย่างลึกซึ้ง 

ในการทำงานแต่ละครั้ง ริดเลอร์ใช้เวลาไปกับการพัฒนาโค้ดและอัลกอริทึมมากถึง 60-70 เปอร์เซนต์ของเวลาการทำงานทั้งหมด โปรเจกต์ที่สร้างชื่อเสียงให้เธอมากที่สุดก็คือ Mosiac Virus ที่เธอใช้อัลกอริทึมทำงานกับภาพดอกทิวลิป 10,000 ภาพที่เธอเก็บบันทึกไว้ตั้งแต่ช่วงที่มันเพิ่งแตกหน่อจนถึงช่วงเบ่งบานเต็มที่ เพื่อสร้างคลิปวิดีโอที่แสดงการเติบโตของดอกทิวลิป 

ฟังดูแล้วก็เหมือนไม่ได้เป็นงานที่ใหม่เท่าไหร่นัก แต่ที่จริงแล้ว ความพิเศษของดอกทิวทิปของริดเลอร์ก็คือ การที่ความเจริญงอกงามของมันกลับผันแปรไปตามค่าเงินคริปโตในตลาดคริปโตโลก! โดยริดเลอร์ได้ไอเดียในการสร้างงานชิ้นนี้มาจากเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ที่ได้รับการขนานนามว่า ‘Tulip Mania’ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 16 ที่อยู่ ๆ เหล่าผู้ดีทั่วยุโรปก็เกิดแตกตื่นไปกับความงามของดอกทิวลิป ซึ่งในเวลานั้นยังต้องนำเข้าจากประเทศตุรกีเท่านั้น ความคลั่งดอกทิวลิปที่แพร่สะพัดไปทั่วยุโรปทำให้ดอกทิวลิปกลายเป็นสินค้าหายาก จนทำให้ราคาของมันพุ่งทะลุเพดาน ถึงขนาดที่ว่าดอกทิวลิปที่มีสีสันหรือลวดลายที่หาได้ยาก จะมีมูลค่าเทียบเท่าบ้าน 1 หลังเลยทีเดียว!

ด้วยเหตุนี้ ริดเลอร์จึงหยิบเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์มาเทียบเคียงกับสถานการณ์ตื่นเหรียญคริปโตที่กำลังเกิดขึ้นในโลกยุคปัจจุบัน ยิ่งค่าเงินคริปโตพุ่งสูง ดอกทิวลิปของริดเลอร์ก็จะยิ่งเบ่งบานงดงามและดูแพงขึ้น จนถึงขั้นเกิดลายบนกลีบที่เป็นลายหายาก ด้วยเหตุนี้เอง ผลงาน Virus Mosaic ของริกเลอร์จึงได้รับการยกย่องในแง่ของการใช้เทคโนโลยีเพื่อเชื่อมโยงอดีตกับปัจจุบันได้อย่างมีมิติ
 

Self-Quarantour SPECIAL !
FAAMAI x Self-Quarantour EP. Digital Art Exploration
สำรวจดินแดนดิจิทัลอาร์ตในวันที่ AI ก็เป็นศิลปินได้
วันเสาร์ที่ 9 กรกฎาคมนี้
Premiere พร้อมกันที่เพจ Facebook : FAAMAI Digital Arts Hub & GroundControl 
และช่อง YouTube : GroundControl 
เวลา 19:30 น. เป็นต้นไป

อ้างอิง:

Sotheby's. Artificial Intelligence and the Art of Mario Klingemann. Sothebys.com. Published February 8, 2019. Accessed June 23, 2022. https://www.sothebys.com/en/articles/artificial-intelligence-and-the-art-of-mario-klingemann

world S. Refik Anadol tests new possibilities for experiencing digital space. Stirworld.com. Published 2022. Accessed June 23, 2022. https://www.stirworld.com/think-columns-refik-anadol-tests-new-possibilities-for-experiencing-digital-space

WePresent | Refik Anadol shows life through the eyes of a machine. Wetransfer.com. Published September 28, 2021. Accessed June 23, 2022. https://wepresent.wetransfer.com/stories/refik-anadol-on-quantum-memories-and-data-sculptures

Verisart. Sougwen Chung Archives - SuperRare Magazine. SuperRare Magazine. Published 2022. Accessed June 23, 2022. https://superrare.com/magazine/tag/sougwen-chung/

KATSU turns drone graffiti and machine learning paintings into works of crypto art | Somewhere - Documenting Culture. Somewhere-magazine.com. Published March 10, 2021. Accessed June 23, 2022. http://www.somewhere-magazine.com/16668-2/

Rea N. Has Artificial Intelligence Brought Us the Next Great Art Movement? Here Are 9 Pioneering Artists Who Are Exploring AI’s Creative Potential. Artnet News. Published November 6, 2018. Accessed June 23, 2022. https://news.artnet.com/market/9-artists-artificial-intelligence-1384207

world S. Anna Ridler talks about blind spots in information and her data driven projects. Stirworld.com. Published 2020. Accessed June 23, 2022. https://www.stirworld.com/see-features-anna-ridler-talks-about-blind-spots-in-information-and-her-data-driven-projects