ถอด 5 บทเรียนจากงาน ‘Exciusive Workshop By NICKER’ เวิร์กชอปการวาดฉากหลังในโลกแอนิเมชัน จากสตูดิโอ ‘Ghibli’

Post on 6 March

เรียกว่าเป็นโอกาสที่ดีสุด ๆ สำหรับเหล่าศิลปินไทยรุ่นใหม่หลายคน ที่มีโอกาสได้เข้าร่วมเวิร์กชอปการวาดฉากหลังสุดพิเศษ ‘Exciusive Workshop By NICKER’ จากบริษัท Sakura Products Thailand ที่จัดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 2 มีนาคมที่ผ่านมา เพราะในงานนี้ทางทีมผู้จัดเขาก็ได้เชิญตัว ‘โยอิจิ วาตานาเบะ’ อาร์ตไดเรกเตอร์มือโปรจากสตูดิโอ Ghibli มารับหน้าที่เป็นคนเทรนเรื่องการวาดฉากหลังจากสีโปสเตอร์ ‘Nicker’ พร้อมโชว์เบื้องหลังการสร้างฉากในแอนิเมชันสไตล์สตูดิโอ Ghibli ให้ดูกันแบบสด ๆ

ซึ่ง GroundControl และเหล่าศิลปิน Artist on Our Radar เอง ก็มีโอกาสได้เข้าไปร่วมเวิร์กชอปครั้งนี้กับเขาด้วยเหมือนกัน เลยถือโอกาสเก็บ 5 บทเรียนดี ๆ จากในงานมาสรุปให้ทุกคนอ่านกันแบบเข้าใจง่าย ให้คนที่สนใจในงานวาดฉากหลังและสตูดิโอ Ghibli ได้เก็บข้อมูลไว้เป็นแรงบันดาลใจ ส่วนใครที่อ่านแล้วอยากจะลองลงมือทำตามกันดูบ้าง ก็ลองหยิบสีโปสเตอร์และพู่กันใกล้ตัวมาวาดตามบทเรียนกันได้เลย!

พื้นหลังในโลกแอนิเมชัน ทีวี VS ภาพยนตร์

วาตานาเบะได้แชร์ให้ทุกคนฟังถึงความแตกต่างระหว่างภาพพื้นหลังในโลกแอนิเมชัน โดยเขาได้แบ่งออกเป็นสองสไตล์ใหญ่ ๆ ให้เห็นภาพง่าย ๆ ได้แก่ ฉากหลังที่ใช้กับแอนิเมชันในทีวี และฉากหลังที่ใช้ในแอนิเมชันระดับภาพยนตร์ ซึ่งตามปกติแล้ว งานในระดับทีวีจะมีความละเอียดน้อยกว่า ทั้งในแง่ของเรื่องงบประมาณ เวลาอันจำกัด และปริมาณงานที่ต้องเร่งรีบทำหลายตอนให้เสร็จพร้อมออกฉาย

ในส่วนของสตูดิโอ Ghibli ที่ทำงานระดับภาพยนตร์มาตลอด และมีงบประมาณในส่วนนี้สูง จึงให้ความสำคัญกับฉากหลังในระดับที่ละเอียดมาก ๆ อย่างการวาดฉากหลังแผ่นหนึ่ง พวกเขาอาจใช้เวลา 3 - 4 วัน และสถิติที่สูงสุดในการวาดฉากหลังคือหนึ่งเดือนเลยทีเดียว นั่นจึงเป็นเหตุผลที่งานภาพของสตูดิโอ Ghibli มีสไตล์ที่ต่างออกไป และเป็นแบบที่ทุกคนคุ้นตากันดีในทุกวันนี้

ความเหมือนกันของฉากหลังทั้งสองสไตล์ คือพอนำมาเข้าคู่กับคาแรกเตอร์ในฉากแล้ว จะต้องทำให้คาแรกเตอร์เด่นและเห็นชัดมากที่สุดเหมือนกัน ดังนั้นเวลาการวาดฉากพื้นหลังรอบ ๆ ตัวละคร จึงต้องชัดเจนตามไปด้วย แต่ถ้าวิวทิวทัศน์นั้นอยู่ไกลจากตัวละคร ก็สามารถวาดแบบคร่าว ๆ ไม่ต้องละเอียดมากได้

จุดเริ่มต้นของงานภาพที่ดี คือการเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม

บทเรียนแรกของการวาดฉากหลังที่วาตานาเบะแนะนำ ก็คืออุปกรณ์ที่ใช้ในการวาดฉากหลังสไตล์สตูดิโอ Ghibli ประกอบไปด้วย กระดาษ, สีโปสเตอร์ Nicker, พู่กัน และแปรง โดยกระดาษที่นำมาใช้จะเป็นกระดาษที่หนาและมีคุณภาพดีมาก ๆ ชนิดที่ว่าสามารถระบายสีโปสเตอร์ได้ทั้งสองหน้าโดยไม่ซึมถึงกันเลย หลังจากเตรียมสิ่งเหล่านี้ครบถ้วนแล้ว ก็ให้ใช้แปรงจุ่มน้ำแล้วปาดกระดาษทั้งสองหน้าให้ชุ่ม เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเริ่มวาดจริง จากนั้นรอจนกว่าน้ำเหล่านั้นจะซึมลงไปในเนื้อกระดาษ สำหรับระยะเวลาในการรอให้น้ำซึมนั้น คุณวาตานาเบะก็ได้บอกไว้ว่าขึ้นอยู่กับความชื้นภายในห้องของแต่ละคนด้วย จึงไม่อาจบอกเวลาที่แน่นอนได้ แต่ถ้าซึมแล้วทุกคนจะสังเกตเห็นได้เองแน่นอน

การจัดลำดับภาพคือหัวใจของการวาดพื้นหลัง

หลังจากเล่าถึงการเตรียมอุปกรณ์และการเตรียมกระดาษให้พร้อมวาดแล้ว บทเรียนถัดไปก็คือการวางลำดับภาพ และ Perspective ต่าง ๆ เนื่องจากการทำแอนิเมชันไม่ได้มีเพียงฉากเท่านั้น แต่ยังต้องคำนึงถึงคาแรกเตอร์ที่จะปรากฏตัวในฉากนั้น ๆ ด้วย ซึ่งวาตานาเบะก็ได้อธิบายในส่วนนี้ว่าจะแบ่งขั้นตอนการทำงานเป็นสองส่วน ส่วนแรกคือการดราฟคร่าว ๆ ให้รู้ว่าจะวาดอะไรลงไป มีการเทียบสเกลตัวละครแล้วมาร์คจุดเอาไว้ เมื่อได้ดราฟที่มั่นใจแล้ว ก็จะใช้กระดาษลอกลายลอกภาพทั้งหมดลงไปบนกระดาษที่จะลงมือทำจริง ๆ จากนั้นก็จะเริ่มการลงสีโปสเตอร์ Nicker สำหรับลำดับในการลงสี โดยเริ่มต้นจากการลงสีท้องฟ้าก่อน ต่อด้วยก้อนเมฆ ภูเขา ต้นไม้ และแม่น้ำตามลำดับ

ว่าด้วยเรื่องสี ความเข้ม และแสงเงา

แสงและเงาก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่โลกแอนิเมชันให้ความสำคัญ รวมถึงสตูดิโอ Ghibli ด้วย ซึ่งวาตานาเบะก็ได้อธิบายการสร้างแสงและเงาง่าย ๆ ผ่านการใช้สีที่ถูกต้อง และสร้างความเข้มของสีให้ถูกจุด โดยเขาได้อธิบายทั้งหมดผ่านการวาดฉากให้ดู โดยเรียงลำดับภาพทั้งหมดตามที่เขาได้บอกไว้

วาตานาเบะเริ่มลงสีท้องฟ้าเป็นขั้นตอนแรกด้วย สี cyan blue ให้เข้ม ๆ เมื่อลงสีจนทั่วแล้วก็ต่อด้วยการวาดก้อนเมฆ ซึ่งเขาเลือกที่จะใช้สีขาว แต่ในขั้นตอนแรกเขาจะไม่ได้ลงสีไปตรง ๆ เลย แต่ใช้พู่กันเปล่า ๆ จุ่มน้ำเพื่อไล่สี และเริ่มใช้การเช็ดและปาดกระดาษให้กลายเป็นรูปทรงก้อนเมฆตามต้องการ เพื่อสร้างกรอบของก้อนเมฆให้เด่นชัด ก่อนจะใช้สีขาวมาลงภายในกรอบให้มีพื้นผิวแบบก้อนเมฆเด่นชัดขึ้น ก่อนจะใช้พู่กันมาเก็บรายละเอียดรอบ ๆ อีกขั้นหนึ่ง

ในส่วนของภูเขา ก็จะมีวิธีการลงสีเหมือนกับก้อนเมฆเลย คือใช้พู่กันจุ่มน้ำเปล่า ๆ มาสร้างโครงร่างก่อน แล้วใช้สีเขียวมาทาด้านในอีกที โดยจะทาบางส่วนด้วยสีที่สว่าง ๆ ก่อน เพราะจะช่วยเน้นย้ำเรื่องแสงเงาของแสงอาทิตย์ด้วย และใช้สีโทนน้ำเงินดำมาผสมกันเพื่อทำเป็นเงาให้เข้มขึ้น และด้วยความที่เนื้อสีโปสเตอร์ Nicker จะมีความทึบแสงสูง พอใช้สีเขียวลงมาทับจะช่วยให้เห็นได้ดีขึ้น สำหรับต้นไม้จะเริ่มวาดจากต้นที่อยู่ไกลก่อนค่อยขยับเข้ามาใกล้ ๆ และใช้สีเข้มสลับกับสีสว่างเน้นเรื่องการรับแสงเข้าไปด้วย

ภาพผิวน้ำที่สะท้อนแสงประกายระยิบระยับ วาตานาเบะก็ได้แชร์เคล็ดลับว่าให้พลิกกระดาษเป็นแนวตั้ง หลังลงสีแล้วจะใช้แปรงปัดซ้ายขวา เพื่อให้เทคเจอร์เหมือนมีเงา เป็นเทคเจอร์ของขนแปรง เวลาที่ลงเสร็จแล้วจะใช้พู่กันเก็บรายละเอียด หรือแปรงก็ได้เช่นกัน

กระบวนการทั้งหมดนี้วาตานาเบะได้ใช้สีเพียงไม่กี่สีเท่านั้น เนื่องจากเป็นภาพที่วาดขึ้นมาในระยะสั้น ๆ ซึ่งเขาก็ได้แชร์ข้อมูลไว้เพิ่มเติมว่า ถ้าเป็นการลงมือปฏิบัติจริง เขาจะใช้สีขั้นต่ำในการระบายฉากมากถึง 24 - 27 สี จาก 77 เฉดเลยทีเดียว (สีโปสเตอร์ Nicker มีมากถึง 77 เฉดสี)

เทคนิคการปาดแปรงสไตล์ Ghibli

พอเป็นการวาดและระบายด้วยสีโปสเตอร์ การปัดแปรงก็ส่งผลต่อภาพที่จะได้เหมือนกัน เพราะเราสามารถเห็นร่องรอยของพู่กันได้อย่างชัดเจน ซึ่งในเวิร์กชอปครั้งนี้ ถึงแม้ว่าศิลปินหลายคนจะมีเทคนิคการใช้พู่กันของตัวเอง แต่วาตานาเบะก็ได้แนะนำให้ทุกคนลองปาดแปรงตามสไตล์แบบ Ghibli ดูบ้าง นั่นก็คือการปาดพู่กันไปในทางเดียวกันเท่านั้น กล่าวคือถ้าปาดขวาก็ปาดขวาตลอด ปาดซ้ายก็ปาดซ้ายตลอด เป็นต้น เพื่อให้เนื้อสีเรียบเนียนมากขึ้น และได้ภาพแบบที่เห็นในแอนิเมชันของ Ghibli

หลังจากสาธิตกระบวนการทั้งหมดจบแล้ว วาตานาเบะยังปิดท้ายเวิร์กชอปด้วยการวาดภาพวัดอรุณด้วยเทคนิคการสร้างฉากหลังทั้งหมดที่กล่าวมาในวันนี้ ให้ผู้เข้าร่วมได้สังเกตการทำงานอีกครั้งหนึ่งไปพร้อม ๆ กัน พร้อมกับบอกอีกว่าถ้ามีโอกาสเขาก็อยากจะไปวาดวัดอรุณจากสถานที่จริงสักครั้ง แต่ครั้งนี้ขอใช้จินตนาการของตัวเองเข้ามารังสรรค์ให้ทุกคนดูกันก่อน