ศิลปินชาวอังกฤษอ้างว่าสามารถสร้างสี olo ที่นักวิทยาศาสตร์เพิ่งประกาศค้นพบได้แล้ว

Post on 29 April

สจวร์ต เซมเปิล (Stuart Semple) ศิลปินชาวอังกฤษชื่อดัง อ้างว่าเขาสามารถสร้างสี Olo ที่นักวิทยาศาสตร์เพิ่งค้นพบจากการยิงเลเซอร์เข้าสู่จอตาได้สำเร็จ โดยเขาทำเวอร์ชันสีน้ำของสีใหม่นี้ขึ้นมาเอง

เซมเปิลอ้างอิงงานวิจัยของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Science Advances โดยในงานวิจัยดังกล่าว นักวิจัยได้ใช้เลเซอร์กระตุ้นเซลล์เฉพาะในจอตาของนักวิจัยทั้งห้าคน จนทำให้พวกเขามองเห็นสีใหม่ที่อยู่นอกขอบเขตการมองเห็นตามธรรมชาติ และไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าในสภาพปกติ

จากแนวคิดนี้ เซมเปิลจึงพัฒนาสีน้ำเงินอมเขียวในแบบของตัวเอง และนำออกวางจำหน่ายบนเว็บไซต์ของเขาในราคาขวดละ 10,000 ปอนด์สำหรับขนาด 150 มิลลิลิตร หรือ 29.99 ปอนด์สำหรับศิลปินที่มีการระบุสถานะอย่างชัดเจน

หากชื่อของเซมเปิลฟังดูคุ้นหู ก็ไม่ต้องแปลกใจ เพราะเขาคือศิลปินคนเดียวกับที่เคยสร้าง “สีชมพูที่สุดในโลก” ขึ้นมาเพื่อตอบโต้กรณีที่ศิลปิน อนิช กาปูร์ (Anish Kapoor) ถือสิทธิ์การใช้ “สีดำที่สุดในโลก” ไว้แต่เพียงผู้เดียว เซมเปิลจึงเปิดขายสีชมพูของเขาให้กับทุกคน ยกเว้นกาปูร์ พร้อมประกาศว่า “สีควรเป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าถึงได้”

นอกจากนี้ เซมเปิลยังเคยสร้างเวอร์ชันของสีน้ำเงินเข้มของ อีฟว์ คลายน์ (Yves Klein) ด้วยตนเอง โดยมีเป้าหมายในการ “ปลดปล่อยสี” จากการผูกขาดของบริษัทหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่ง

แม้นักวิทยาศาสตร์จะตั้งชื่อสีที่ค้นพบใหม่นี้ว่า Olo แต่เซมเปิลเลือกเรียกเวอร์ชันของตัวเองว่า "YOLO" เพื่อเสียดสีแบบขำขัน เขาใช้เทคนิคผสมเม็ดสีร่วมกับสารเรืองแสงที่สามารถดูดซับแสงอัลตราไวโอเลตและปล่อยออกมาเป็นแสงสีฟ้า ช่วยให้วัสดุดูขาวและสว่างขึ้น ก่อนใช้เครื่องสเปกโตรมิเตอร์แยกวิเคราะห์องค์ประกอบสี และจับคู่ตัวอย่างให้ใกล้เคียงกับเฉดเป้าหมายมากที่สุด

เซมเปิลมองว่าสิ่งที่ทีมนักวิทยาศาสตร์ทำ คือการสร้าง "ประสบการณ์" ใหม่ในการรับรู้สีที่ไม่เคยมีมาก่อน ขณะที่สิ่งที่เขาทำ คือการนำประสบการณ์นั้นมาแปรเป็นสีที่จับต้องได้จริง

อย่างไรก็ตาม ออสติน รูร์ดา (Austin Roorda) นักวิทยาศาสตร์ด้านการมองเห็นจากทีมวิจัยเบิร์กลีย์ กล่าวติดตลกว่า แม้เขาอาจซื้อสี YOLO มาลองแบบขำ ๆ แต่ก็ย้ำว่า การทำซ้ำสี Olo ที่แท้จริงเป็นไปไม่ได้ เพราะสีดังกล่าวเกิดจากการกระตุ้นเซลล์จอตาเฉพาะเจาะจงในแบบที่แสงธรรมชาติไม่สามารถเลียนแบบได้

รูร์ดายังเล่าว่าเคยทดลองผสมเครื่องดื่ม Midori กับ Blue Curaçao เพื่อให้ได้สีที่ใกล้เคียงกับ Olo แต่ยอมรับว่า “รสชาติไม่ค่อยดี... แต่ยิ่งดื่มมากเท่าไร ก็ยิ่งดูเหมือน Olo มากขึ้น”