สำรวจศิลปะแห่งจิตใจที่สับสน
และสัญลักษณ์ของคนที่ถูกใช้แก้เหงา
ใน MV ‘ไหนบอกเลิกแล้ว’ Three Man Down

สำรวจศิลปะแห่งจิตใจที่สับสน และสัญลักษณ์ของคนที่ถูกใช้แก้เหงา ใน MV ‘ไหนบอกเลิกแล้ว’ Three Man Down

‘ไหนบอกเลิกแล้ว’ สำรวจศิลปะแห่งจิตใจที่สับสน และสัญลักษณ์ของคนที่ถูกใช้แก้เหงา ใน MV Three Man Down

ถ้านี่คือการเติบโต ก็คงเป็นการเติบโตที่แสนจะแซดสุดใจ เพราะจากเด็กหนุ่มที่ “ลืมแฟนเก่าไม่ได้” วันนั้น ในวันนี้พวกเขาได้กลายมาเป็นฝ่ายถูกกระทำแทน จนต้องขอร้องออกมาดัง ๆ ว่า “ฉันน่าจะรู้นี่ไม่ใช่รัก เธอต้องการ f**k ต้องการแค่เท่านั้น” กับซิงเกิลล่าสุดอย่าง ‘ไหนบอกเลิกกันแล้ว’ ที่เป็นดังเสียงตัดพ้อจากชายคนหนึ่งผู้ยังติดอยู่ในความอึดอัดสับสน ถึงเธอคนนั้น ที่ใช้เขาเป็นเครื่องแก้เหงา…

แค่เนื้อเพลงก็พาหน่วงแล้ว แต่มิวสิกวิดีโอเพลงนี้ยิ่งถ่ายทอดอารมณ์ภายในไปอีกชั้น เพราะในห้วงเวลาแห่งความสับสน คงมีน้อยคนที่จะระบายความอัดอั้นออกมาเป็นคำพูดได้หมด ‘ภาษาภาพ’ จึงกลายเป็นเครื่องมือเข้ารหัส ซ่อนอารมณ์ความรู้สึกไว้ในรูปทรง แสงเงา และสัญลักษณ์ เชื้อเชิญให้ผู้ชมเข้ามาตีความ เหมือนภาพแห่งความคลั่งสไตล์ Expressionism, วังวนแห่งความสับสนในสเปซของแสงเงา, คาแรกเตอร์ ‘สาวสังหาร’ ผู้ถืออำนาจเหนือชายหนุ่ม และสัญลักษณ์อื่น ๆ ที่แอบตะโกนความรำคาญใจออกมาเบา ๆ เผื่อให้เราช่วยกันมองหาในเอ็มวี ‘ไหนบอกเลิกแล้ว’

ถึงจะมีเนื้อหาที่เข้าใจง่ายเพราะใครก็โดนกระทำอย่างนี้กันได้ทั้งนั้น แต่เราอยากชวนมาถอดความหมายเอ็มวีนี้ไปอีกขั้น ด้วยการสำรวจประวัติของสไตล์และสัญลักษณ์ ที่น่าสนใจว่าวิดีโอสั้น ๆ นี้มีองค์ประกอบที่ชวนย้อนสำรวจไปได้ตั้งแต่ศิลปะโมเดิร์น ไปจนถึงหนังขาวดำอเมริกัน ส่วนจะมีอะไรบ้าง เลื่อนอ่านในแต่ละรูปได้เลย

ร่างกายบิดเบี้ยว เพราะจิตใจที่บุบสลาย

“เธอรู้ดีอยู่แล้ว เธอรู้ดีอยู่แล้ว เธอรู้ดีว่าฉัน…”

ในห้วงอารมณ์แห่งความสับสน คนที่จิตใจสั่นไหวคงไม่สามารถอธิบายอะไรออกมาเป็นคำพูดได้ง่าย ๆ ใครเคยฟังเพื่อนบ่นคงรู้ดีว่าวิธีเรียงประโยคของคนเศร้ามันฟังแล้วเข้าใจยากแค่ไหน ไม่ต่างอะไรกับการเล่าด้วยภาพ ที่พอโลกทั้งใบของเราสะเทือน จะสะท้อนออกมาเป็นภาพเหมือนในโลกจริงก็คงไม่ใช่ ในโลกศิลปะสมัยใหม่ ภาพวาดไม่จำเป็นต้องเหมือนกับโลกความเป็นจริง เมื่อโลกภายในเราบิดเบี้ยวพร่ามัวไปทั้งตัวคนและสิ่งรอบข้าง ซึ่งก็คงเป็นความรู้สึกเดียวกันกับคนที่กำลังสงสัยว่า ‘ไหนบอกเลิกแล้ว’

ในเอ็มวี ‘ไหนบอกเลิกแล้ว’ ร่างกายกายของกิต - กฤตย์ จีรพัฒนานุวงศ์ นักร้องนำของวง ยืดยาวไปซ้ายทีขวาทีจนดูประหลาดปนน่าขนลุก เกือบจะถึงขั้นสยองขวัญเหมือนในภาพของเหล่าศิลปินแห่งยุคสำแดงพลังอารมณ์ (Expressionism) ซึ่งเป็นศิลปะที่โชว์ฝีแปรงแบบชัดเจนรุนแรงจนเห็นความเป็นเส้นและความเป็นสี เพื่อถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกภายใน หรือโลกทั้งใบที่อัดแน่นอยู่ข้างในศิลปิน แทนที่จะถ่ายทอดโลกแห่งความจริงที่เห็นได้ด้วยตาเท่านั้น

ฟรานซิส เบคอน เป็นหนึ่งในศิลปินผู้ชำแหละและยืดถ่างร่างกายมนุษย์เพื่อขุดจิตใจที่ปวดแสบออกมา เช่นในภาพ ‘The Screaming Pope’ ที่นอกจากจะทรมานโป๊ปบนเก้าอี้ช็อตในภาพแล้ว ยังทรมานคนดูด้วยเสียงกรีดร้องที่ลั่นออกมาจากฝีแปรงอีกด้วย

หรือภาพ ‘The Scream’ ที่โด่งดังของ เอ็ดเวิร์ด มุงก์ ซึ่งมี ‘ความบ้า’ จับมือให้วาดอาการออกมาเป็นฉากที่บิดเบี้ยวและร่างกายที่โค้งงอ เหมือนกับ “เสียงกรีดร้องที่ดังสนั่นของธรรมชาติ” ที่มีแต่เขากับ ‘ความบ้า’ ของเขาเท่านั้นที่ได้ยิน

เทคนิคการยืดย้วยร่างกายให้แปลกตานี้เรียกว่า Elongation หรือการวาดมนุษย์แบบหลุดไปจากสัดส่วนตามธรรมชาติ แต่อิงกับสิ่งอื่นมากกว่า เช่นประสาทสัมผัสภายใต้อำนาจ ‘ความคลั่ง’ ที่บิดการรับรู้ให้ร่างเบี้ยว

แต่นอกจากร่างจะเบี้ยวแล้ว สถานที่และแสงไฟในเรื่องนี้ยังเหยียดยาว หลุดออกจากมิติธรรมดาของโลกไปด้วย และยิ่งไปกว่านั้นคืออาการของภาพที่กะพริบ สะดุด เป็นสติที่ติดขัด วิ่งไล่จังหวะหายใจไม่ค่อยทัน ซึ่งคอหนังอาจพอปรับสายตาได้ถ้าเคยผ่านหนังของ Wong Kar-wai เจ้าแห่งเทคนิคการสะดุดเวลาด้วยการยืดเฟรมให้ดูช้าลง เพื่อเน้นย้ำหรือไฮไลต์ความรู้สึกอ้างว้างท่ามกลางแสงไฟนีออนของตัวละครให้ผู้ชมได้รับรู้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น

หรือที่จริง ความเจ็บปวดทางใจ ถึงจะมองเห็นได้ไม่ง่ายเหมือนความเจ็บปวดทางกาย แต่ถ้ามองจนเห็น ก็อาจพบว่ามันทรมานไม่น้อยกว่ากัน ซึ่งศิลปะแบบ Expressionism ที่บิดเบี้ยว ก็เป็นเหมือนเครื่องมือหนึ่ง ที่ใช้ปลดปล่อยจิตใจหรือ ‘สำแดงพลังอารมณ์’ ออกมาได้ตามประสบการณ์ที่หลุดไปจากโลกความจริง

ปลดปล่อยร่างกายกับอันตรายในเงามืด

“เธอก็คงไม่รู้ไงทําใครติดในวังวนของการหลอก ขอให้เธอนั้นไม่เหลือใครให้กอดเลยสักคน”

สิ่งที่น่ากลัวที่สุดสำหรับคนที่อ่อนไหวในค่ำคืน คือเสียงโทรศัพท์ตอนตีสองของเธอที่มีผลต่อใจ กลางคืนเป็นช่วงเวลาแห่งความเงียบ ความมืด ความสับสน และความไม่รู้ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ในหนังอาชญากรรมมักมีเหตุการณ์เลวร้ายเกิดขึ้นตอนกลางคืน แต่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอีกเช่นกัน ที่คู่รักในหนังจะปล่อยใจปล่อยกายให้กับความปรารถนาในความมืด โดยเฉพาะใน Film Noir สกุลหนังอเมริกันแห่งอาชญากรรม ความตาย และความชั่วร้าย ที่สะท้อนองค์ประกอบทั้งหมดนี้ผ่านการจัดแสงและเงามืดแบบลึกลับอันเป็นเอกลักษณ์

ไม่ว่าเธอจะพูดอะไรความไว้ใจก็คงไม่เกิดขึ้นง่าย ๆ ตัวตนที่ลึกลับเบื้องหลังเสียงออดอ้อนในสายเป็น ‘พื้นที่’ เปราะบางที่เราอยากรู้แค่ไหนก็ไม่อาจส่องไฟให้เห็นอีกด้านของชีวิตเธอชัด ๆ เราไม่รู้เลยว่าเธอมาแบบไหน ไม่รู้ว่าอดีตของเธอจบหรือยัง และไม่รู้ว่าจะออกไปจากภาวะแบบนี้อย่างไรดี สภาพแบบนี้เป็นเซนส์ที่เราได้จากสถานที่สลัว กับเงาดำที่เห็นแค่ร่างกายของเธอ แต่จับสีหน้าท่าทางได้ไม่ชัดเจน

หนึ่งในหนังที่เล่นกับความมืดได้โดดเด่นที่สุดในยุคเราคือ The Batman (2022) ที่ล้วงลับด้านดำมืดในเมืองก็อตแธมของฮีโร่ชื่อดัง สืบสวนอดีตที่ถูกปกปิด เพื่อชำแหละความสัมพันธ์ของเหล่าตัวละครที่อยู่นอกบรรทัดฐานสังคม ฝุ่นโคลนและความมืดในเรื่องนี้สร้างบรรยากาศที่ลึกลับและสับสน ทำให้การขุดค้นปริศนาของแบทแมนยิ่งกดดันขึ้นไปอีก แต่ถึงจะลึกลับดำมืดยังไง ท้ายที่สุดก็ยังมีแสงสว่างอยู่ที่ทางออกอุโมงค์เสมอใช่ไหม?

“เธอมันคนใจดำ อย่าทําร้ายคนอย่างฉันที่จําใจทน”

นอกจากความมืดและแสงเงาที่น่าหวาดระแวง อีกเอกลักษณ์ของ Film Noir ที่แอบอยู่ในเอ็มวีนี้คือ Femme Fatale คาแรกเตอร์หญิงร้ายที่อันตรายเกินคาด ผู้ใช้เสน่ห์อันเย้ายวนเป็นฉากหน้าซ่อนความร้ายกาจแบบ ‘ถึงฆาต’ ถึงชีวิต คาแรกเตอร์สาวร้ายเช่นนี้มักปรากฏตัวในเดรสดำที่สื่อถึงความลึกลับชวนค้นหา เหมือน Gilda Mundson ใน Gilda (1946) สาวสังหารที่สร้างตำนานกับเดรสสวยดุของเธอ

ลองนึกถึงลุคของคาแร็กเตอร์แคทเธอรีน ใน Basic Instinct (1992) ที่แค่ไขว่ห้างเฉย ๆ ก็ทำคนเสียวตัวสั่นแล้ว หรือเจนนิเฟอร์ใน Jennifer’s Body (2009) สาวปีศาจ(สิง)ที่โหดเลือดสาด ตัวละครหญิงไร้ชื่อในเอ็มวีนี้ก็มากับรังสีความโหดที่แผ่ความดุทะลุจอ เพราะเพียงแค่ลูบไล้ใบหน้าของกิต ก็แสดงให้เห็นแล้วว่าเธอคุมเกมนี้ได้แค่ไหน

แต่สิ่งที่น่าสังเกตของเอ็มวีนี้เลยคือชุดของกิต ที่ก็แฝงความดุและลึกลับแบบ Femme Fatale ไว้ไม่น้อย จนชวนให้คิดว่า หรือที่จริงทั้งเขาและเธอต่างก็เป็นผู้กระทำที่ต้องการความสัมพันธ์แบบนี้กันทั้งนั้น หรือที่จริงคนที่อันตราย อาจไม่ใช่ผู้หญิงแค่ฝ่ายเดียว

คนที่ไว้ใจ สุดท้าย ‘ร้าย’ ถึงตาย

“แค่คนที่คอยคั่นเวลา ยามเธอเหงาใจ เป็นตัวแทนใช่ไหม เวลาเขาไป เธอก็มา”

ลองนึกถึงวันที่เราป่วย ไข้ขึ้น ไม่อยากลุกจากเตียง สิ่งที่จะเยียวยาเราได้คงเป็นเครื่องดื่มร้อน ๆ หรือซุปอุ่น ๆ จากใครสักคนที่เป็นห่วงเรา ซุปจึงเป็นอาหารที่เชื่อมโยงกับความหมายเรื่องการปลอบประโลมและเอาใจใส่

แต่ในเอ็มวี ‘ไหนบอกเลิกแล้ว’ ซุปซึ่งเป็นอาหารแห่งความห่วงใย กลับถูกย้อมสีประหลาดที่ดูเป็นพิษ ราวกับผู้สร้างตั้งใจจะพลิกกลับความหมาย ทำให้ซุปกลายเป็นเครื่องมือในการทำลายอีกคนในความสัมพันธ์

ในโลกภายในที่เต็มไปด้วยสัญลักษณ์แห่งนี้ ทั้งกิตและหญิงสาวคนนั้นต่างก็ถูกมัดเตรียมหย่อนลงไปใน “บ่อซุป” ที่ต้มด้วยไฟ สภาพไม่ต่างกับแมลงที่ถูกแมงมุมโยงใยรัดตัวจนหนีจากการถูกกัดกินไม่พ้น ซุปที่ร้อนแรงนี้เป็นคำถามปลายเปิดที่ Three Man Down โยนมาให้คนดู ว่าใครกันแน่ที่กำลังต้มอีกฝ่าย หรืออะไรกันแน่ ที่พาทั้งคู่จมลงไปในซุปสีขาวข้นนี้

ความสัมพันธ์ของคนสองคนเป็นเรื่องที่ซับซ้อนแล้ว แต่สิ่งที่อยู่ในใจของทั้งคู่กลับยิ่งซับซ้อนเข้าไปอีก จากอาหารที่สื่อถึงการดูแลสู่สัญญะแห่งการทำลาย เอ็มวีนี้กลับด้านความหมาย ทำให้เราเข้าใจว่าจริง ๆ แล้ว ที่เข้าใจว่าเราถูกเขาใช้เป็นของเล่น ในใจที่วกวนของเราก็อาจมีบางอย่าง หล่อเลี้ยงค่ำคืนแห่งความปรารถนานี้เร่าร้อน ก่อนที่จะตัดสินอะไร บางทีถ้าลองมองใกล้ ๆ เราอาจมองเห็นภาวะน่าอึดอัดนี้ชัดขึ้น เห็นอารมณ์และความปรารถนาลึก ๆ ในสัญญะต่าง ๆ ที่ผุดขึ้นมา โดยที่เราเองก็อาจยังไม่เคยรู้