ฟังบทเพลงในแต่ละช่วงชีวิตของชายที่ชื่อว่า ริวอิจิ ซากาโมโตะ
ถ้าเราจะเอ่ยถึงริวอิจิ ซากาโมโตะ (Ryuichi Sakamoto) เราควรจะนิยามเขาว่าเป็นอะไรดี? นักประพันธ์? นักดนตรี? หรือศิลปิน?
และเพราะผลงานอันหลากหลายตลอดช่วงเวลากว่าสี่ทศวรรษที่เขาอุทิศชีวิตให้กับการสร้างสรรค์ผลงาน ทั้งดนตรี ศิลปะ งานเขียน ไปจนถึงการเป็นนักเคลื่อนไหวกิจกรรมด้านสังคม นั่นเองที่ทำให้การจากไปของเขา นับเป็นการสูญเสียอันยิ่งใหญ่ของโลกศิลปะและดนตรี
ก่อนที่ซากาโมโตะจะเริ่มเข้าสู่วงการทำเพลงประกอบภาพยนตร์ และแตกแขนงแนวเพลงของตัวเองออกมาหลากหลายขนาดนี้ จุดเริ่มต้นที่ผลักดันให้เขาโดดเด่นขึ้นมาในวงการเพลง คือการเป็นหนึ่งในนักดนตรีวง ‘Yellow Magic Orchestra’ หรือ ‘YMO’ (ตำแหน่งมือคีย์บอร์ดและนักร้อง) วงดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ป๊อปสไตล์ตะวันออกที่มีชื่อเสียงในช่วงปี 1970s โดยเขาได้ทำงานร่วมกับเพื่อน ๆ อีกสองคน ได้แก่ ฮารุโอมิ โฮโซโนะ (Haruomi Hosono) และ ยูกิฮิโร ทากาฮาชิ (Yukihiro Takahashi) และได้รับการยอมรับว่าเป็นหัวหอกที่นำเทรนด์การทำดนตรีแบบ เทคโนป๊อป และมิวสิกเฮาส์ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง
อีกทั้งซากาโมโตะยังเป็นคนตั้งกลุ่ม ‘Commmons’ ร่วมกับค่ายเพลงอินดี้อย่าง Avex Group เพื่อสนับสนุนให้ศิลปินญี่ปุ่นสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างเท่าเทียม และพัฒนาวงการดนตรีญี่ปุ่นให้ก้าวสู่ระดับสากลไปด้วยกัน (แต่ไม่ใช่ในนามของค่ายเพลง)
นอกจากนี้เขายังได้รับรางวัล Bafta, รางวัลออสการ์, รางวัลแกรมมี่ และรางวัลลูกโลกทองคำ จากการทำเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง ‘Merry Christmas, Mr. Lawrence’ และ ‘The last emperror’ ด้วย และแม้ว่าภายหลังเขาจะป่วยเป็นโรคมะเร็งในลำคอและมะเร็งลำไส้ตรง (ทวารหนัก) แต่เขาก็ยังคงปล่อยผลงานเพลงออกมาอย่างต่อเนื่อง และไม่เคยหยุดสร้างผลงานจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต
เพื่อรำลึกถึงการจากไปของเขา GroundControl เลยอยากจะพาทุกคนย้อนกลับไปตามเก็บผลงานเด่น ๆ ของซากาโมโตะ ที่เราได้เลือกมาร้อยเรียงเป็นเพลย์ลิสต์ให้ทุกคนได้ตามไปฟังกันทีละเพลง พร้อมอ่านเรื่องราวความเป็นมาเบื้องหลังของแต่ละเพลงประกอบไปด้วย เพื่อเพิ่มอรรถรสในการฟัง และทำความรู้จักกับทุกช่วงชีวิตของเขาให้มากขึ้น
ฟังเพลย์ลิสต์ประกอบการอ่านคอนเทนต์ได้ที่: https://www.youtube.com/watch?v=LGs_vGt0MY8&list=PLkLLHZTOeYVoeTAhJ2aixl4iHCrkQIVQB&index=1
Merry Christmas, Mr. Lawrence
คงไม่มีแฟนเพลงคนไหนของซากาโมโตะที่ไม่รู้จักภาพยนตร์เรื่อง ‘Merry Christmas, Mr. Lawrence’ แน่นอน เพราะนอกจากเขาจะเป็นนักแสดงหลักในเรื่องนี้แล้ว ยังเป็นคนประพันธ์บทเพลงประกอบในชื่อเดียวกันกับภาพยนตร์อีกด้วย
Merry Christmas, Mr. Lawrence เล่าเรื่องผ่านตัวละครสี่คน ประกอบไปด้วยตัวแทนฝั่งทหารญี่ปุ่นสองคน แสดงโดยริวอิจิ ซากาโมโตะ (Ryuichi Sakamoto) และ เก็งโก ฮาระ (Gengo Hara) กับตัวแทนฝั่งเชลยศึกอังกฤษสองคน แสดงโดย ทอม คอนติ (Tom Conti) และ เดวิด โบวี (David Bowie) ที่ต้องมาพบหน้า ขัดแย้ง และต่อสู้กัน ในค่ายกักกันเชลยศึก ที่ตั้งอยู่ในประเทศอินโดนีเซีย
ด้วยความที่ธีมของหนังเรื่องนี้มีฉากหลังเป็นสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้บทเพลง ‘Merry Christmas, Mr. Lawrence’ ที่มีท่วงทำนอนเอื่อยช้าชวนให้รู้สึกเศร้าและตราตรึงใจ สามารถเข้าถึงจิตใจของผู้ชมผู้ฟังได้ไม่ยาก อีกทั้งยังสามารถถ่ายทอดความรู้สึกโศกเศร้าและเจ็บปวดออกมาได้เป็นอย่างดี จนแฟน ๆ ต่างยอมรับว่านี่คือหนึ่งในเพลงขึ้นหิ้งของซากาโมโตะ
ความพิเศษอีกอย่างของเพลงนี้ คือการเปลี่ยนแนวดนตรี จากแนวอิเล็กทรอนิกส์ป๊อปตามสไตล์วง Yellow Magic Orchestra มาเป็นการผสมผสานดนตรีอิเล็กทรอนิกส์เข้ากับออเครสต้าแทน เนื่องจากตอนที่ซากาโมโตะหันมาทำเพลงนี้ เขายังไม่เคยทำเพลงประกอบภาพยนตร์อย่างจริงจังมาก่อน ผลงานประพันธ์เพลงประกอบภาพยนตร์ชิ้นแรกในชีวิตของเขาจึงแหกขนบและไม่ได้เดินตามท่ามาตรฐานการทำเพลงประกอบหนังทั่วไป โดยจุดเด่นของเพลงนี้คือการที่ตัวเพลงนั้นมีการ ‘เล่าเรื่อง’ และเหมือนกับเป็นภาพยนตร์อยู่ในตัว ทุกจังหวะและทุกตัวโน้ตเหมือนถูกกำกับราวกับเป็นตัวละคร ฉาก และเรื่องราว กล่าวคือเป็นเพลงที่เหมือนหนังและประกอบหนังซ้อนทับกันไปอีกที
ด้วยเหตุนี้เพลง ‘Merry Christmas, Mr. Lawrence’ จึงเป็นเหมือนเพลงที่พาซากาโมโตะเปิดตัวเข้าสู่วงการภาพยนตร์อย่างเต็มตัว และเป็นที่รู้จักในฐานะศิลปินและนักแสดงชาวญี่ปุ่นที่น่าจับตามอง อีกทั้งความแตกต่างและตราตรึงนี้ ยังส่งผลให้เขาได้รับรางวัล ‘Bafta’ สาขาเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยมมาครองด้วย และยังมีคนนำไปดัดแปลงเพื่อใส่เนื้อร้อง ในชื่อเพลง ‘Forbidden Colours’ ที่ขับร้องโดยเดวิด ซิลเวียน (David Sylvian) ด้วย ส่วนอีกเวอร์ชันหนึ่งที่น่าฟังไม่แพ้กันก็คือเวอร์ชันของ อูทาดะ ฮิคารุ (Utada Hikaru) เจ้าแม่เพลงป๊อปที่เพิ่มความป๊อปเข้าไปในเพลงได้อย่างติดหู
ฟังเพลง: https://www.youtube.com/watch?v=LGs_vGt0MY8
The Last Emperor
ถ้าเราจะบอกว่าเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง ‘Merry Christmas, Mr. Lawrence’ คือผลงานเปิดตัวซากาโมโตะสู่วงการภาพยนตร์ เพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง ‘The last emperor’ อีกหนี่งผลงานเพลงประกอบภาพยนต์ที่เป็นอีกหลักไมล์สำคัญในอาชีพของเขาก็คือหนังเล่าเรื่องจักพรรดิองค์สุดท้ายของจีนเรื่องนี้ ที่พาเขาคว้ารางวัลออสการ์ รางวัลลูกโลกทองคำ และรางวัลแกรมมี่มาได้ในคราวเดียว โดยเขาได้แต่งเพลงประกอบนี้ร่วมกับเดวิด เบิร์น (David Byrne) และ คอง ซู (Cong Su)
ความท้าทายของการทำเพลงประกอบ The Last Emperor คือการผสมผสานดนตรีแบบตะวันออกกับตะวันตก โดยเฉพาะ การใช้เครื่องดนตรีพื้นบ้านของจีน เช่น กู่เจิง และเอ้อหู เพื่อสร้างบรรยากาศที่เข้ากับเนื้อหาของภาพยนตร์ที่เล่าถึงชีวประวัติของ ‘จักรพรรดิผู่อี๋ ’ จักรพรรดิองค์สุดท้ายของจีน ก่อนที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นรูปแบบคอมมิวนิสต์
นอกจากการผสมผสานกลิ่นอายตะวันออกเข้ามาในบทเพลงแล้ว บทเพลงที่ซากาโมโตะ เบิร์น และซู สร้างขึ้นมายังถ่ายทอดให้เราเห็นถึงความกดดัน ความเศร้าสร้อย และความอ้างว้างของชีวิตที่เป็นเหมือนดั่งหุ่นเชิดของจักรพรรดิผู่อี๋ได้อย่างลึกซึ้ง และในขณะเดียวกันบทเพลงก็ช่วยให้ผู้ชมอย่างเรารู้สึกผูกพันกับตัวละครได้อย่างรวดเร็ว แม้จะนั่งดูเพียง 165 นาที แต่ก็รู้สึกเหมือนได้รู้จักตัวละครมาอย่างยาวนาน
ไม่เพียงเป็นนักแต่งเพลงประกอบให้กับภาพยนตร์เรื่องนี้เท่านั้น แต่เขายังร่วมแสดงเป็น ‘อามาคาสุ’ นักการเมืองและนักการทูตชาวญี่ปุ่นด้วย ซึ่งตัวละครนี้ได้มาเยือนประเทศจีนในช่วงที่จักรพรรดิผู่อี๋ครองราชย์อยู่ เพื่อเป็นคณะผู้แทนญี่ปุ่นในการมาพบกับจักรพรรดิผู่อี๋ และการกระทำของเขาในเรื่องยังมีส่วนทำให้การยึดครองประเทศจีนของญี่ปุ่นต้องล่มสลายไป
ประโยคเด็ดของเขาในเรื่องนี้ คือการบอกกับจักรพรรดิผู่อี๋ว่า “ฝ่าบาท เมื่อชาวอังกฤษออกปล้นใครบางคน พวกเขาจะกลายเป็นสุภาพบุรุษ ถ้าพวกเขาปล้นมากขึ้นอีก พวกเขาจะกลายเป็นอัศวิน ท่านคิดว่าอังกฤษขับเคลื่อนอาณาจักรของตัวเองเหมือนการทำการกุศลอย่างหรืออย่างไร? ถ้าอินเดียต้องจ่ายเงินเพื่อครอบครองดินแดนของตัวเอง แมนจูก็ต้องเสียเหมือนกัน”
‘The last Emperor’ จึงเป็นหมุดหมายสำคัญในชีวิตของซากาโมโตะ ที่สร้างหลักปักฐานให้ชื่อของเขาโลดแล่นอยู่ในวงการฮอลลีวูดได้อย่างมั่นคง
ฟังเพลง: https://www.youtube.com/watch?v=fTtCXTry0DU
Barcelona 1992 Summer Olympics
ไม่ได้มีเพียงวงการภาพยนตร์เท่านั้นที่ซากาโมโตะได้ปักหมุดเอาไว้ แต่ในปี 1992 เขายังได้รับเชิญให้ร่วมสร้างเพลงเปิดการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนครั้งที่ 25 ที่จัดแสดงขึ้นในเมืองบาร์เซโลน่า ประเทศสเปนอีกด้วย ชื่อเพลงว่า ‘El Mar Mediterrani’ แปลว่า ‘ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน’ อันเป็นจุดเด่นของประเทศสเปน
บทเพลงนี้มีความยาวทั้งหมด 17.17 นาที โดยเปิดตัวด้วยเสียงแตร ตามด้วยกลอง และเสียงเครื่องดนตรีอื่น ๆ ตามมาอีกมากมาย ที่ยิ่งฟังก็ยิ่งรู้สึกเหมือนกำลังจะก้าวเข้าไปในสนามกีฬาจริง ๆ แต่ฉับพลันท่วงทำนองก็เปลี่ยนเป็นเบาลง และเริ่มดำเนินบทเพลงด้วยสไตล์ออเครสต้าผสมความเป็นอิเล็กทรอนิกส์ คล้ายกับกำลังฟังเพลงประกอบภาพยนตร์มากกว่าเพลงงานกีฬา และสักพักดนตรีก็เริ่มเปลี่ยนไปอีกครั้ง ทั้งดูตื่นเต้น ดูลุ้นระลึก ดูเหมือนใครบางคนกำลังต่อสู้กับอะไรบางอย่าง แล้วก็เปลี่ยนกลับมาเป็นอ่อนโยน นุ่มละมุน และรู้สึกถึงแรงบันดาลใจกับชัยชนะ
ทุกความรู้สึกที่กล่าวมานี้ เกิดขึ้นจากการที่ท่วงทำนองของบทเพลงสลับกันไปมาตลอด 17 นาที ราวกับเป็นคนละเพลง แต่ก็สอดประสานกันดี จนใคร ๆ ต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “เป็นบทเพลงที่ไม่สามารถคาดเดาได้เลย” เพราะเราบอกไม่ได้จริง ๆ ว่าถัดจากท่อนนี้ซากาโมโตะจะพาเราไปพบกับความรู้สึกอะไร หรือเหตุการณ์แบบไหน และอีกหนึ่งความน่าสนุกก็คือการได้คอยลุ้นว่าต่อไปซากาโมโตะจะใช้เสียงเครื่องดนตรีใดเพิ่มเข้ามาให้เป็นตัวเอก เรียกว่ายิ่งฟัง ก็เหมือนกับกำลังได้ดูละครฉากใหญ่ฉากหนึ่งมากกว่าฟังเพลง เพลงนี้จึงค่อนข้างแตกต่างไปจากเพลงเปิดตัวงานกีฬาโอลิมปิกแบบอื่นอยู่ไม่น้อย
ฟังเพลง: https://www.youtube.com/watch?v=o4AzXwtfHck
Ryuichi Sakamoto : Coda และ The Revenant
ในปี 2014 นักประพันธ์ผู้รักการทำงานอย่างซากาโมโตะประกาศพักงานอย่างจริงจังเป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปี หลังตรวจพบมะเร็งที่ลำคอ โดยเขาได้ใช้เวลาพักผ่อนไปกับการตามอ่านหนังสือที่ไม่เคยได้อ่าน และฟังบทเพลงของคนอื่น ๆ ที่ไม่เคยมีเวลาฟัง
แต่ตามประสานักครีเอทีฟที่ไม่สามารถหยุดนิ่งได้นาน ในปี 2015 เขาก็ได้กลับมาปล่อยผลงานเพลงให้เราได้ฟังกันอีกครั้ง เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์ญี่ปุ่นเรื่อง ‘Nagasaki: Memories of My Son’ และเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง ‘The Revenant’ ภาพยนตร์เรื่องดังที่กวาดรางวัลมามากมายจากหลากหลายเวที รวมแล้วกว่า 27 รางวัล เช่น รางวัลออสการ์ สาขาผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม,รางวัลลูกโลกทองคำ สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ประเภทภาพยนตร์ดราม่า และ บริติช อะคาเดมี่ ฟิล์ม อวอร์ดส์ สาขาผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม เป็นต้น
บทเพลงที่เขาแต่งให้กับเรื่อง ‘The Revenant’ นั้น ชื่อว่า ‘The Revenant Main Theme’ ปรับแต่งโดย อัลวา โนโต้ (Alva Noto) นักดนตรีและศิลปินทัศนศิลป์ชาวเยอรมัน แม้ว่าในตอนที่แต่งเพลงนี้เขาจะกำลังต่อสู้กับมะเร็งลำคอระยะที่สามอยู่ จึงต้องใช้เวลาทำนานถึงหกเดือน จากปกติใช้เวลาเพียง 2 - 3 เดือน แต่ผลงานเพลงที่ออกมาก็ยังคงเปี่ยมไปด้วยคุณภาพ และทำให้เรารู้สึกเหน็บหนาว อ้างว้าง และโดดเดี่ยว แบบเดียวกับที่บรรยากาศในหนังพาไป และด้วยเนื้อเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการสู้ชีวิต ก็ทำให้เรานึกย้อนไปถึงตัวซากาโมโตะเองด้วยที่กำลังต่อสู้กับโรคมะเร็ง
และหลังจากที่เขาได้สร้างบทเพลงให้กับเรื่องราวในภาพยนตร์ของคนอื่นมานาน ในปี 2017 เขาก็มีผลงานเกี่ยวกับชีวิตของตัวเองออกมาด้วย ชื่อเรื่องว่า ‘Ryuichi Sakamoto : Coda’ ภาพยนตร์สารคดีที่กำกับโดย สตีเฟน โนมุระ ชีเบิล (Stephen Nomura Schible) เพื่อเล่าถึงชีวิตของเขาตั้งแต่เริ่มมาจนถึงช่วงพักรักษาตัว โดยใช้ผลงานของเขาเป็นหมุดหมายในการเล่า
สำหรับคำว่า ‘Coda’ นั้นเป็นคำศัพท์เฉพาะที่ใช้ในการเขียนโน้ตเพลงคลาสสิก มีความหมายถึงท่อนสุดท้ายของเพลงก่อนจะจบ มักใช้คู่กับ ‘Dal segno’ หรือเขียนแบบย่อว่า ‘D.S’ หากในโน้ตเพลงมีตัวนี้เข้ามาร่วมด้วย นักดนตรีจะต้องเล่นตามโน้ตไปจนถึงจุดที่มาร์คไว้ว่าเป็น Coda แล้ววนกลับมายังจุด D.S อีกครั้ง แล้วก็เล่นวนกลับไปจนถึงจุด Coda อีกรอบ แต่รอบนี้ให้ข้ามส่วน D.S ไป เทคนิคการเล่นแบบนี้จะทำให้บทเพลงมีความแปลกใหม่ และน่าฟังมากขึ้นถ้าเลือกใช้อย่างเหมาะสม ดังนั้น Coda จึงเป็นได้ทั้งจุดเริ่มต้นและจุดจบ เหมือนกับเนื้อเรื่องของสารคดีเรื่องนี้ที่เราจะได้ดูกัน
สารคดีเรื่องนี้จะพาเราไปเฝ้าดูชีวิตที่เหมือนกับเพลงเพลงหนึ่งของซากาโมโตะ และทำความรู้จักกับเขาไปเรื่อย ๆ จากการสัมภาษณ์ การชมสถานที่ทำงาน และมองสภาพแวดล้อมที่เขาอยู่ เพื่อให้เราค่อย ๆ ซึมซับตัวตนและเข้าใจคนคนนี้มากขึ้น และถึงแม้ว่าสารคดีเรื่องจะเล่าถึงชีวิตของเขาแบบสรุปโดยรวมให้เราฟังแบบเข้าใจง่าย แต่ก็ยังเน้นให้เห็นถึงช่วงชีวิตที่ต้องพักฟื้นจากการรักษาตัวด้วยโรคมะเร็งมากกว่า คล้ายกับกำลังจะบอกให้เราจับตามองท่อนสุดท้ายในบทเพลงชีวิตของซากาโมโตะเอาไว้ เพราะถึงแม้จะเป็นส่วน Coda แล้ว แต่ไฟการทำงานของเขาก็ยังคงไม่มอดลง
ฟังเพลง: https://www.youtube.com/watch?v=Czv8J1W4yYU
อัลบั้ม Async กับการร่วมงานกันของริวอิจิ ซากาโมโตะ และเจ้ย - อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล
‘Async’ คืออัลบั้มที่ซากาโมโตะสร้างขึ้นในวัย 66 ปี เขาได้แสดงให้เราเห็นถึงอีกหนึ่งแนวเพลง และความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในวงการดนตรี อัลบั้มนี้เกิดจากการตั้งคำถามว่า ทำไมศาสตร์เกี่ยวกับดนตรีถึงต้องสอดประสานกันถึงจะไพเราะ? แล้วถ้าไม่สอดประสานกันล่ะจะเป็นอย่างไร? และด้วยแนวความคิดนี้ก็ทำให้เขาสร้างอัลบั้มดนตรีแนวทดลองอย่าง ‘Async’ ที่หมายถึงการไม่สอดประสานออกมา
สิ่งที่เราจะได้ฟังในอัลบั้มนี้ไม่ใช่เพลงออเครสต้าผสมอิเล็กทรอนิกส์ชวนรื่นหู หรือการสร้างดนตรีที่มีความทรงพลัง แต่ซากาโมโตะจะโฟกัสไปยังเสียงดนตรีแอมเบียนต์ เน้นเสียงบรรยากาศ และสภาพแวดล้อมธรรมชาติมาผสมเข้ากับดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ ดังนั้นเวลาเราฟังเพลงจากอัลบั้มนี้บางทีก็จะมีเสียงนกร้อง เสียงรถแทรกเตอร์ หรือเสียงแมลงต่าง ๆ ในป่าแทรกเข้ามาให้ได้ยิน
ด้วยการผสมผสานแบบสะเปะสะปะและไร้การควบคุม อัลบั้ม ‘Async’ เลยแสดงความงดงามของดนตรีในอีกรูปแบบหนึ่งที่แปลกใหม่มาก เพราะความไพเราะที่เราได้ฟัง ไม่ได้เกิดมาจากการสอดประสานตามแบบฉบับดนตรีทั่วไป แต่มาจากการฟังแล้วรู้สึกเหมือนได้เปิดประสบการณ์ใหม่และทำให้เราจับทางไม่ถูก โดยหลังจากอัลบั้มนี้เป็นต้นไป แนวเพลงของซากาโมโตะก็เปลี่ยนแปลงไปมาก และมุ่งไปยังการเลียนแบบธรรมชาติมากขึ้น บางครั้งก็เป็นเสียงขยำกระดาษ เสียงขูดสายเปียโน เรียกว่าเป็นการจับคู่การสร้างแอมเบียนต์เข้ากับการทำดนตรีได้อย่างลงตัว และเป็นมิติใหม่ของวงการเพลงด้วย
ความพิเศษอีกหนึ่งอย่างของอัลบั้ม ‘Async’ คือได้มีการร่วมงานกับผู้กำกับมากฝีมือชาวไทยอย่างเจ้ย - อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุลด้วย เป็นการสร้างงานวิดีโอขนาดสั้นชื่อ ‘Async – First Light’ที่แสดงภาพของคนกำลังนอนหลับอยู่ ในระหว่างที่มองคนหลับ เราก็จะได้ยินดนตรีคลอไปกับเสียงร่ายบทกวีที่แต่งโดย อาร์เซนี ทาร์คอฟสกี้ (Arseny Tarkovsky) นักกวีและนักแปลชาวรัสเซีย พ่อของผู้กำกับชาวรัสเซียชื่อดังอย่าง อังเดร ทาร์คอฟสกี้ (Andrei Tarkovsky) ผู้เคยสร้างภาพยนตร์ขึ้นชื่อมากมาย เช่น Stalker, Solaris และ The Mirror เป็นต้น ผลงานชุดนี้ได้จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ ที่ WATARI Museum of Contemporary Art ในเมืองโตเกียว ปี 2017
ฟังอัลบั้ม Async: https://www.youtube.com/watch?v=pygwK0sBUdM&list=PLlxVAExh_bYbnN6c4q1EJxcv559obwOBt
Political Works
นอกจากจะเป็นนักแสดง นักดนตรี นักแต่งเพลง และทำงานศิลปะแล้ว ศิลปินยังให้ความสนใจกับปัญหาสังคมและเข้าร่วมทำกิจกรรมทางการเมืองอยู่บ่อยครั้ง รวมไปถึงการสร้างผลงานเพื่อพูดถึงปัญหาทางการเมืองขึ้นมาโดยเฉพาะเลยก็มี ซึ่งปัญหาที่ศิลปินให้ความสนใจมากที่สุดคือเรื่องของ ‘สิ่งแวดล้อม’ และ ‘นิวเคลียร์’
ประวัติศาสตร์ประเทศญี่ปุ่นผูกพันกับผลกระทบจากนิวเคลียร์และสารกัมมันตรังสีต่าง ๆ อย่าฃแทบไม่เคยเว้นว่าง ตั้งแต่การทิ้งระเบิดปรมาณูที่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ หรือช่วงที่เกิดภัยพิบัติสึนามิครั้งใหญ่ในปี 2011 ที่ส่งผลให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในเมืองฟูกุชิมะได้รับความเสียหายอย่างหนัก จนสารเคมีและสารกัมมันตรังสีต่าง ๆ รั่วไหลออกมา และกระทบประชาชนเป็นวงกว้าง เหตุการณ์นี้เองที่เป็นชนวนให้ซากาโมโตะตัดสินใจเข้าร่วมร่วมชุมนุมต่อต้านการใช้พลังงานนิวเคลียร์อย่างจริงจัง
อย่างไรก็ตามการเข้าร่วมชุมนุมในปี 2011 ไม่ใช่ช่วงเวลาที่ซากาโมโตะเพิ่งหันมาสนใจเรื่องนิวเคลียร์ เพราะในความเป็นจริงเขาได้ให้ความสนใจกับเรื่องเหล่านี้มานานแล้ว สังเกตได้จากการสอดแทรกเรื่องความน่ากลัวของระเบิดนิวเคลียร์ผ่านผลงานหลาย ๆ ชุดของเขา ยกตัวอย่างเช่น โอเปร่าชุด ‘LIFE’ ที่เขาทำขึ้นในปี 1999 ร่วมกับ ‘ชิโระ ทาคาทานิ’ (Shiro Takatani) เป็นดนตรีแนวทดลองที่ผสมผสานนาฏลีลา, สื่อวิดีโอ, ดนตรีออร์เคสตรา, ดนตรีอิเล็กทรอนิกส์, ดนตรีพื้นบ้าน, เสียงสังเคราะห์, เสียงธรรมชาติ, บทกวี และเสียงพูดของบุคคลสำคัญทั่วโลกไว้ด้วยกัน เป็นเวลา 3 ชั่วโมงเต็ม
ส่วนหนึ่งของโชว์ชุดนี้ได้หยิบยกเอาคำพูดของ เจ. โรเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์ (J. Robert Oppenheimer) หนึ่งในนักฟิสิกส์ผู้คิดค้นระเบิดปรมาณูที่กล่าวถึงโลกที่จะเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาลเมื่อมีระเบิดนิวเคลียร์ และนำเสียงพูดนี้มาประกอบเข้ากับเสียงดนตรีชวนโศกเศร้าและน่าสะเทือนใจ ทำให้ผู้ชมผู้ฟังอดที่จะรู้สึกสั่นสะท้านไปกับความน่ากลัวที่อยู่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิดไม่ได้
หรือในช่วงปี 2015 ที่แม้ว่าเขาจะกำลังง่วนอยู่กับการรักษาตัวจากโรคมะเร็ง แต่ก็ยังเลือกที่จะสร้างเพลงประกอบให้กับภาพยนตร์เรื่อง ‘Nagasaki: Memories of My Son’ ที่กำกับโดยโยจิ ยามาดะ (Yoji Yamada) ที่เล่าถึงเหตุการณ์สามปีให้หลัง หลังจากที่เมืองนางาซากิโดนถล่มด้วยระเบิดปรมาณูที่สร้างความเสียหายมหาศาลให้กับเมืองนี้ รวมถึงชีวิตผู้คนที่ต้องตายอย่างอเนจอนาถจากแรงระเบิด ความร้อน และพิษกัมมัตรังสี แต่วันหนึ่งจู่ ๆ ลูกชายที่ตายไปแล้วจากเหตุการณ์นั้นก็กลับมาปรากฏตัวให้แม่ของตัวเองเห็นอีกครั้ง โดยที่เราก็ไม่รู้ว่าแท้จริงแล้วชายคนนี้ยังคงมีชีวิตอยู่ หรือเป็นเพียงความทรงจำของผู้หญิงคนนี้ หรือแท้จริงแล้วจะเป็นผีที่กลับมาหาแม่ของเขา
จะเห็นได้เลยว่าเรื่องของ ‘นิวเคลียร์’ นั้นได้ส่งอิทธิพลต่อศิลปินญี่ปุ่นทุกภาคส่วนตั้งแต่คนทำหนังไปจนถึงทำเพลง เมื่อประกอบรวมเข้ากับตัวของซากาโมโตะเองที่ในช่วงนั้นกำลังต่อสู้กับความเจ็บป่วย เลยทำให้เขาเข้าถึงการทำงานเพลงในครั้งนี้เป็นอย่างมาก และเขายังได้มีการใช้เทคนิค ‘รีเควียม (Requiem)’ เพื่อสร้างเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้ออกมาด้วย โดยเทคนิคนี้มักจะใช้ในการทำเพลงเพื่อระลึกถึงความตาย หรือช่วงสุดท้ายของชีวิต สะท้อนกับชีวิตของตัวเขาเองด้วยที่กำลังอยู่ระหว่างความเป็นความตาย
ฟัง Playlist LIFE a ryuichi sakamoto opera 1999: https://www.youtube.com/watch?v=HD4obyS8TRg&list=PLD4JQ72xR3Eh8Tmbh42lTdos9FB7KE8dE
ฟังเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง ‘Nagasaki: Memories of My Son’: https://www.youtube.com/watch?v=py4eEw6fj4Q
ทั้งหมดนี้คือเพลย์ลิสต์เด่น ๆ จากผลงานระดับตำนานของซากาโมโตะ ที่ GroundControl รวบรวมมาฝากกัน เมื่อเราลองไล่เรียงมาทีละเหตุการณ์แบบนี้ ก็ช่วยให้เราได้เห็นถึงพัฒนาการทางดนตรีของเขาชัดเจนขึ้น เริ่มตั้งแต่การบุกเบิกแนวดนตรีแบบอิเล็กทรอนิกส์ป๊อปสมัยอยู่ในวง YMO ที่มีการผสมผสานความเป็นตะวันออกจ๋า ๆ เข้ามา สู่การทำเพลงประกอบภาพยนตร์ที่ผสานความเป็นออเครสต้ากับอิเล็กทรอนิกส์ ที่กลายเป็นหนึ่งในผลงานระดับมาสเตอร์พีชที่ตรึงใจทุกคนได้อยู่หมัด ต่อด้วยการหันมาจับดนตรีแนวทดลองและสนใจการดึงแอมเบียนต์ บทสนทนา เสียงวัตถุต่าง ๆ และเสียงในธรรมชาติมาประกอบกันเป็นดนตรี
เรายังได้เห็นเส้นทางชีวิตของเขาผ่านลำดับผลงานด้วย ตั้งแต่การเป็นคนเอเชียที่เข้ามาทำงานในวงการตะวันตก การยืนหยัดอย่างมั่นคงและสามารถคว้ารางวัลใหญ่ในวงการฮอลลีวูดมาได้ การเป็นคนมีชื่อเสียงและได้ร่วมงานกับสถาบันใหญ่ ๆ มากมาย และการกลับสู่สามัญเพื่อพักรักษาตัวแต่ก็ไม่เคยทิ้งอุดมการณ์และความครีเอทีฟ ทำให้ยังคงสร้างผลงานมากมาย และท้าทายความเป็นไปได้ของตัวเองอยู่ตลอด
ถือได้ว่าซากาโมโตะเป็นศิลปินที่ใช้ชีวิตได้งานยุ่งมาก ๆ และเป็นหนึ่งในคนที่มีความครีเอทีฟล้นเหลือ จนสามารถสร้างผลงานอันน่าประทับใจออกมาได้ตลอด สมกับที่ทีมงานของเขาได้กล่าวเอาไว้หลังจากที่เขาเสียชีวิตว่า ประโยคที่ซากาโมโตชื่นชอบมากที่สุดก็คือ “Ars longa, vita brevis.” หรือ “ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น” เพราะตอนนี้แม้เขาจะจากไปแล้ว และแม้ว่าเราจะไม่มีโอกาสได้เห็นความครีเอทีฟของเขาอีก แต่ผลงานที่เขาเคยทำไว้ทั้งหมดจะยังคงอยู่ต่อไป
อ้างอิง
Ciaran Dwyer. (2021). ‘The Amazing History Of Ryuichi Sakamoto: 9 Landmark Moments That Colour The Genre-Defying Artist’. Available from https://mixmag.asia/feature/the-amazing-history-of-ryuichi-sakamoto.
Peerapong Kaewthae. (2018). ‘รู้จักกับนักประพันธ์ระดับโลกคนนี้ ก่อนไปดู Ryuichi Sakamoto: CODA’. เข้าถึงจาก https://www.fungjaizine.com/article/story/ryuichi-sakamoto.
ธีรภาส ว่องไพศาลกิจ. (2018). ‘ย้อนเวลาตามรอยเสียงของริวอิจิต่อจากหนัง Ryuichi Sakamoto: Coda’. เข้าถึงจาก https://themomentum.co/ryuichi-sakamoto-coda-restropect/.
เกษมสันต์ พรหมสุภา. (2018). ‘ริวอิจิ ซากาโมโตะ กับ เสียงฝนบนถังกะละมังครอบหัว’. เข้าถึงจาก https://themomentum.co/songscape-ryuichi-sakamoto/.