Impressionism Part 1: กำเนิด Impressionism ลูกนอกสมรสจากศิลปะแห่งธรรมชาติและศิลปะแห่งความจริง
สำหรับเหล่าศิลปินที่จะถูกขนานนามว่า ‘Impressionists’ ในเวลาต่อมา ไม่มีสิ่งใดที่กระตุ้นความสนใจของพวกเขาไปมากกว่า ‘ธรรมชาติ’ แม้กระทั่งในโมงยามที่โลกศิลปะยังคงหมกมุ่นและสนใจอยู่แต่กับการถ่ายทอดความยิ่งใหญ่ของวีรบุรุษ ตำนาน และการสืบสานศิลปะอันยิ่งใหญ่ของบรรดามาสเตอร์ผู้เสียชีวิตไปเป็นร้อย ๆ ปีแล้ว ศิลปินหนุ่มสี่คนกลับมองเลยเหล่ามนุษย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่ถูกนำเสนอไว้ในภาพจิตรกรรมขนาดยักษ์ แล้วเพ่งความสนใจไปที่ธรรมชาติซึ่งถูกกันไว้ให้เป็นเพียงฉากหลังรองรับเรื่องราวโศกนาฏกรรมและตำนานของมนุษย์เท่านั้น
“ยุคสมัยของภาพจิตรกรรมขนาดใหญ่ที่วางองค์ประกอบตามมาตรฐานของศิลปะคลาสสิกได้จบลงแล้ว สิ่งที่น่าสนใจกว่าคือภาพวาดจากมุมมองชีวิตประจำวันของผู้คนธรรมดาต่างหาก” คือสิ่งที่ เฟดริก บาซีล หนึ่งในสี่สมาชิกบอยแบนด์ผู้แผ้วทางให้ศิลปะ Impressionism เคยกล่าวไว้
ในวันนี้ที่ Impressionism มีอายุ 150 ปี ผู้คนต่างยกย่องกระแสศิลปะแห่งศตวรรษที่ 19 นี้ในฐานะมวลความเปลี่ยนแปลงแห่งโลกศิลปะตะวันตก ที่พาศิลปินเดินออกจากสตูดิโอและเส้นทางการเดินตามรอยบรรทัดฐานของศิลปะตามขนบ ไปสู่การโอบรับความงดงามอันยิ่งใหญ่ของสิ่งแสนสามัญอย่างแสงอาทิตย์และธรรมชาติ
แต่หากมองลึกลงไปกว่านั้น คุณูปการสำคัญของ Impressionism ไม่ใช่แค่การเฉลิมฉลองความงดงามของธรรมชาติ แต่นี่คือขบวนการศิลปะที่ดันหลังศิลปินให้ ‘กล้า’ ที่จะถ่ายทอดตัวตนและโลกที่ตัวเองมองเห็นออกมาอย่างซื่อสัตย์ที่กับตัวเองที่สุด โดยไม่ต้องกังวลว่าโลกที่พวกเขามองเห็นจะแตกต่างจากโลกที่คนอื่นมองเห็นอย่างไร ผู้คนที่พวกเขามองเห็นเป็นเพียงภาพขมุกขมัว ดอกไม้หลากสีสันกลับไร้รูปร่างและกลายเป็นเพียงหนึ่งฝีแปรงที่ถูกตวัดลงไปบนผืนผ้าใบ
กระบวนการถ่ายทอดโลกข้างนอกกับข้างในตัวศิลปินกลับพาทั้งศิลปินและผู้ชมไปยืนอยู่ ณ พรมแดนใหม่ที่เกิดจากการปะทะกันของคู่ตรงข้าม โลกแห่งความจริงกับโลกที่ศิลปินเห็น ความเป็นจริงกับมุมมองของศิลปิน ไปจนถึง ‘ชีวิตจริง’ (life) กับสิ่งที่เรียกว่า ‘ศิลปะ’ (art) การขบถต่อแบบแผนแล้วยืนยันที่จะถ่ายทอดโลกที่ตัวเองเห็น
การเปิดโอกาสให้โลกศิลปะได้ปะทะกับคำถามเกี่ยวกับ ‘ตัวตน’ (subjectivity) เป็นครั้งแรก เหล่านี้คือคุณูปการสำคัญที่ Impressionism เปิดพื้นที่ไว้ให้กับโลกศิลปะ ซึ่งในตอนแรกของซีรีส์ Impressionism นี้ เราจะขอชวนทุกคนย้อนกลับไปสำรวจจุดกำเนิดของศิลปะ Impressionism ที่ถือกำเนิดขึ้นมาจากพ่อแม่ที่มี ‘ความขบถ’ อยู่แล้วในตัว จนทำให้เกิดเป็นลูกนอกคอกที่พยศต่อโลกศิลปะตามขนบ หรือ Acedemic Art และกลายเป็นจิตวิญญาณสำคัญของศิลปะซึ่งเป็นเหมือนบรรพบุรุษของศิลปะโมเดิร์น (Modern Art) ที่จะตามมาในศตวรรษถัดไป
ก่อน Impressionism จะเกิด Barbizon คือตัวเปิดมาก่อน
แม้ว่าสิ่งที่จะเล่าต่อไปนี้ดูเหมือนฉากในละครหรืออนิเมะสักเรื่อง แต่ ฌอง เรอนัวร์ ผู้กำกับในตำนานของประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ฝรั่งเศส และลูกชายของ ปีแอร์-ออกุสต์ เรอนัวร์ หนึ่งในศิลปินผู้บุกเบิกขบวนการ Inpressionism ยืนยันว่านี่คือเหตุการณ์จริงที่ผู้เป็นพ่อเคยถ่ายทอดให้เขาฟังจริง ๆ
ย้อนกลับไปในโลกศิลปะฝรั่งเศสยุคศตวรรษที่ 19 การวาดภาพธรรมชาติหาได้เป็นสิ่งแปลกใหม่ในชั้นเรียนศิลปะของสถาบันศิลปะวิจิตรศิลป์แห่งกรุงปารีส หากแต่การเรียนการสอนนั้นเน้นหนักไปที่การฝึกให้นักเรียนช่ำชองการวาดภาพตามกระบวนท่าของเหล่ามาสเตอร์จากยุคบาโรกแห่งศตวรรษที่ 17 อย่าง นิโกลา ปูแซ็ง หรือ โคลด ลอร์แรน ซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่จะใช้ธรรมชาติเป็นเพียงฉากหลังรองรับซับเจกต์หลักอย่างมหาบุรุษหรือ หรือการถ่ายทอดธรรมชาติอย่างสมจริงตามที่ตาเห็น
แน่นอนว่าการเรียนรู้การวาดภาพตามขนบย่อมไม่สามารถดึงดูดความสนใจของเหล่านักเรียนนอกคอกหัวก้าวหน้าได้ นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เหล่าเพื่อนร่วมอุดมการณ์อย่างปีแอร์-ออกุสต์ เรอนัวร์, โคลด โมเนต์, กามีล ปีซาโร และ เฟดริก บาซีย์ พากันยกขาตั้งออกไปวาดภาพนอกสตูดิโอ และนั่นก็ทำให้เกิดเหตุการณ์ดังฉากละครต่อไปนี้…
ย้อนกลับไปในปี 1863 ขณะที่เรอนัวร์กำลังดื่มด่ำกับการวาดภาพธรรมชาตินอกสตูดิโอ ก็ปรากฏแก๊งเด็กวัยรุ่นจอมบุลลี่ที่เข้ามาหาเรื่องเรอนัวร์ ผู้ไม่เพียงตกเป็นเป้าจากการสวมเสื้อกันเปื้อนที่ดูเด๋อด๋าในสายตาเด็กนักเลง แต่ยังวาดอะไรที่ดูไม่เป็นรูปเป็นร่าง เหมือนเป็นแค่สีที่ปัดลงบนผ้าใบ เหล่าเด็กนักเลงจึงพากันกลั่นแกล้งศิลปินหนุ่ม ทั้งปัดจานสีของเรอนัวร์จนตกลงพื้น ผลักเขาล้มลง แถมเด็กผู้หญิงคนหนึ่งยังใช้ร่มตีเขาด้วย
ทันใดนั้น ชายคนหนึ่งก็ปรากฏตัวออกมาจากพุ่มไม้ พร้อมด้วยอาวุธที่เป็นไม้เท้าและขาปลอมทำจากไม้ ซึ่งเขาใช้ทั้งสองสิ่งนั้นในการไล่เด็กอันธพาล เมื่อเรอนัวร์กล่าวขอบคุณชายสูงวัยกว่าที่เข้ามาช่วยเหลือ ชายคนนั้นก็หยิบขาตั้งภาพของเรอนัวร์ที่คว่ำอยู่บนพื้นขึ้นมา แล้วบอกกับเด็กหนุ่มว่า “ไม่เลวเลยนะ เธอมีพรสวรรค์นะเนี่ย”
หลังจากที่ได้นั่งลงคุยกัน เรอนัวร์จึงได้รู้ว่าชายคนนั้นคือ นาร์ซิสซี เวอร์จิลิโอ ดิแอซ ศิลปินผู้เป็นสมาชิกคนสำคัญของกลุ่มศิลปินแห่งบาร์บิซอน
บาร์บิซอน (Barbizon) คือชื่อของกลุ่มศิลปินและขบวนการเคลื่อนไหวทางศิลปะในฝรั่งเศสที่มีชีวิตอยู่ในช่วง 1830 - 1870 พวกเขาคือกลุ่มศิลปินฝรั่งเศสที่ถูกเบิกเนตรด้วยผลงานทิวทัศน์ธรรมชาติของศิลปินชาวอังกฤษอย่าง จอห์น คอนสเตเบิล ซึ่งถูกนำมาจัดแสดง ณ Paris Salon ในปี 1824 จนทำให้ศิลปินรุ่นใหม่หัวก้าวหน้าในเวลานั้นพากันละทิ้งศิลปะตามขนบของสถาบัน แล้วมุ่งออกไปแสวงหาแรงบันดาลใจในธรรมชาติ
ในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศสในปี 1848 ศิลปินผู้มีอุดมการณ์ถ่ายทอดความงามของธรรมชาติ ต่างมารวมตัวกัน ณ หมู่บ้านบาร์บิซอน ชายป่าฟองแต็งเบลอร์ ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของปารีส ณ ที่นี่ ศิลปินฝรั่งเศสต่างพากันโอบรับอุดมการณ์ของคอนสเตเบิลที่มุ่งมั่นผลักดันทิวทัศน์ธรรมชาติให้เป็นซับเจกต์หลักของภาพ หาใช่เป็นเพียงฉากหลังอีกต่อไป
ธีโอดอร์ รูสโซ, ชาร์ลส์ ฟรองซัวส์-โดบิกนีย์, จูลส์ ดูเปรย์ และ นาร์ซิสซี เวอร์จิลิโอ ดิแอซ คือส่วนหนึ่งของสมาชิกแถวหน้าของขบวนการศิลปะที่ท้าทายศิลปะสถาบันนี้ นอกเหนือไปจากการให้ความสำคัญกับธรรมชาติ ขบวนการศิลปะแห่งบาร์บิซอนยังเป็นต้นเค้าลางของขบวนการศิลปะสัจนิยม หรือ Realism ที่ชักชวนให้ศิลปินถ่ายทอดสิ่งที่เห็นในชีวิตประจำวัน คนธรรมดา ทิวทัศน์ที่คุ้นตา อันเป็นการโต้กลับศิลปะจินตนิยมหรือ Romanticism ซึ่งมุ่งนำเสนอเรื่องราวในตำนานหรือความยิ่งใหญ่ของวีรบุรุษ อันเป็นศิลปะลูกรักของสถาบันศิลปะฝรั่งเศส
ในบรรดาศิลปินบาร์บิซอนทั้งหมด คนที่ดูจะฉีกกรอบการนำเสนอความงดงามของภาพทิวทัศน์ธรรมชาติตามที่ตาเห็นในแบบของบาร์บิซอน และเติมแง่มุมจากสายตาของตัวเองลงไป จนเห็นเค้าลางของความเป็น Impressionism มากที่สุด หนีไม่พ้น ฌ็อง-บาติสต์-กามีย์ กอโร ผู้ซึ่งโคลด โมเนต์ เคยยกย่องในภายหลังว่า “ในบรรดาศิลปินผองเรา มีเพียงคนเดียวที่เรียกได้ว่าเป็นมาสเตอร์ตัวจริง กอโร เมื่อเทียบกับเขาแล้ว พวกเราหาได้มีความหมายใด ๆ …ไม่มีเลย”
สิ่งที่ทำให้กอโรแตกต่างจากศิลปินผู้ถ่ายทอดธรรมชาติคนอื่น ๆ ก็คือการใช้ ‘เฉดสี’ เพื่อนำเสนอสิ่งอื่นที่ไม่ใช่แค่สีสันของสรรพสิ่ง ไม่ใช่แค่สีเขียวเพื่อนำเสนอสีเขียวของใบไม้ สีฟ้าเพื่อนำเสนอสีของท้องฟ้า แต่การใช้เฉดสีของเขายังดึงเอาตัวละครที่ถูกซ่อนไว้ออกมา …การไล่เฉดสีของแสงแดด เฉดสีที่ต่างกันของเงามืด ทั้งหมดนี้ทำให้ธรรมชาติในภาพของกอโรมีชีวิตขึ้นมาจากความทรงจำและความรู้สึกที่กอโรมีต่อสิ่งสิ่งนั้น ประกายของแสงที่ตกกระทบบนผิวน้ำของกอโร กลับแฝงไว้ด้วยความรู้สึกของกอโรยามมองสิ่งนั้น ซึ่งการใส่มุมมองของตัวเองลงไปในฝีแปรงที่จรดผืนผ้าใบ คือสิ่งที่ชาว Impressionist หมายมั่นที่จะถ่ายทอดออกมาให้ได้
ในเวลาต่อมา เหล่าว่าที่ Impressionist อย่างโมเนต์, บาซีย์, เรอนัวต์ และ อัลเฟร็ด ซิสลีย์ ก็เลิกไปฝึกฝนฝีมือที่สตูดิโอของมาสเตอร์ผู้ช่ำชองศิลปะจินตนิยมและบาโรก แล้วกลับมาใช้เวลา ณ ชายป่าฟองแต็งเบลอร์แห่งนี้แทน และ ณ ที่แห่งนี้เอง ที่เหล่าว่าที่ศิลปิน Impressionist ได้พบกับ ‘ชายผู้หยิ่งทะนงและยโสโอหังที่สุดในฝรั่งเศส’ และเป็นผู้ให้คำนิยามนี้กับตัวเอง
ชายคนนั้นคือ กุสตาฟว์ กูร์แบ ศิลปินผู้เรียกตัวเองว่า ‘ศิลปินสัจนิยม’ คนแรกในประวัติศาสตร์
Realism ศิลปะแห่งความสามัญอันแสนพิเศษ
ในการจะทำความเข้าใจ Impressionism ได้อย่างถ่องแท้ เป็นไปไม่ได้เลยที่จะมองข้ามขบวนการศิลปะรุ่นพี่ที่แนะแนวการถ่ายทอดโลกในแบบที่ตาเห็น แต่ใส่ความรู้สึกและ ‘เลนส์’ ในการมองของตัวเองลงไปด้วย ซึ่งขบวนการศิลปะที่ว่าก็คือ สัจนิยม หรือ Realism ที่พาศิลปินถอยห่างออกจากเรื่องราวในตำนานและมหาวีรบุรุษ แล้วหันมาให้ความสนใจคนจนผู้ยิ่งใหญ่ ชาวนา ชาวบ้าน รวมไปถึงแผ่นฟ้ากว้างใหญ่และไร่นาสุดลูกหูลูกตาที่เป็นฉากหลังของพวกเขา
ในความเป็นจริงแล้ว เค้าลางของ Realism หรือศิลปะแห่งการถ่ายทอด ‘ความจริง’ นั้นเห็นได้ตั้งแต่การมาถึงของกลุ่มศิลปินบาร์บิซอน ผู้บ่ายหน้าหนีการถ่ายทอดเรื่องราวในตำนานและสุนทรียะแห่งความดรามาติกของ Romanticism แล้วพากันมาขลุกตัวอยู่ในธรรมชาติ หากแต่ในสายตาของ กุสตาฟว์ กูร์แบ อีกหนึ่งศิลปินผู้หนีออกมาจากศิลปะสถาบัน แล้วมาลงเอยที่หมู่บ้านบาร์บิซอนแห่งนี้ ในเวลาไม่นาน เขาก็ค้นพบว่าการถ่ายทอดความงามของธรรมชาติ หาใช่ ‘ความจริง’ ที่เขามองเห็น ในที่สุดแล้ว สรวงสวรรค์แห่งธรรมชาติที่ปราศจากผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่ในนั้น ก็เป็นเพียงภาพฝันถึงยูโทเปียที่หาใช่ความจริงแท้ในโลกที่เขามองเห็น
“ศิลปินชาวไร่” และ “ศิลปินกรรมกร” คือคำปรามาสจากศิลปินตัวพ่อแห่งขบวนการศิลปะ Romanticism อย่าง ยูจีน เดอลาครัวซ์ ที่มอบให้กับกูร์แบและ ฌ็อง-ฟร็องซัว มีแล สองศิลปินผู้ผลักดันศิลปะแห่งความจริง แต่กลายเป็นว่า คำปรามาสนั้นกลับเป็นคำอธิบายผลงานและตัวตนของศิลปินทั้งสองได้อย่างดี ท่ามกลางบรรยากาศการงัดข้อกันระหว่างชนชั้นปกครองและชนชั้นกรรมกรกับกระฎุมพีและกระแสความเปลี่ยนแปลงที่กำลังโหมกระหน่ำใส่สังคมฝรั่งเศส (และที่อื่น ๆ ในยุโรป) เรื่องราวของมหาเทพและมหาวีรบุรุษในปกรณัมและตำนานไม่สามารถจับใจศิลปินผู้ใช้ชีวิตอยู่ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงได้อีกต่อไป กูร์แบและมีแลคือศิลปินคนแรก ๆ ที่มองเห็นการติดหล่มอยู่กับอดีตจนมองไม่เห็นปัจจุบันของศิลปะ ดังที่กูแบเคยกล่าวว่า “ในอดีต ฉันร่ำเรียนทั้งศิลปะแห่งยุคโบราณกาลและศิลปะแห่งยุคสมัยใหม่ โดยหาได้คำนึงว่า ‘ระบบ’ มีอำนาจเหนือพวกมันอย่างไร หรือแนวคิดใดที่สร้างพวกมันขึ้นมา”
นั่นจึงนำมาซึ่งความตั้งใจของกูร์แบและมีแลที่จะสร้างศิลปะที่เกิดจากการเปิดตาให้กับ ‘ปัจจุบัน’ หาใช่การย้อนกลับไปถ่ายทอดมุมมองจากอดีตกาลซ้ำแล้วซ้ำเล่าอีกต่อไป
หากนำผลงานของมีแลที่ได้ชื่อว่าเป็นตัวอย่างผลงานที่อธิบายศิลปะ Realism อย่าง The Gleaners (1857) ได้ดีที่สุด มาวางคู่กับภาพถ่ายเก่าที่บันทึกภาพชาวนาหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน จะเห็นได้ว่ามีแลนำเสนอภาพได้ ‘ซื่อตรง’ กับความจริงที่ปรากฏให้เห็นอยู่ตรงหน้าของเขา แต่แตกต่างจากศิลปะของกลุ่มบาร์บิซอนผู้หลงใหลในความงามของธรรมชาติ ทิวทัศน์ท้องฟ้าและทุ่งนาในผลงานของมีแลหาได้โอ้อวดความงามราวสวนสวรรค์ แต่กลับถูกถ่ายทอดภายใต้ความง่ายงามของความสงบนิ่ง และช่วยเสริมเรื่องราวของเหล่าชาวนาที่กำลังเอาหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดินอยู่ในภาพ
การอยู่กับ ‘ปัจจุบันกาล’ คือจปรัชญาสำคัญที่กลุ่มศิลปินแห่งลัทธิประทับใจรับต่อมาจากศิลปินสัจนิยม หนึ่งในชาว Impressionist ที่ได้รับอิทธิพลนี้มาเต็ม ๆ ก็คือ เอดัวร์ มาเนต์ ผู้นำแนวคิดการถ่ายทอดความจริงมาตกตะกอน จนเกิดเป็นการตั้งคำถามท้าทายกลุ่มศิลปิน Realism เลือดแท้ว่า ‘ความจริง’ ที่ว่านั้น คือความจริงแบบไหน? หรือของใคร? เพราะสำหรับมาเนต์ ความจริงของเขาไม่ได้อยู่ในโลกแห่งธรรมชาติ หรือโลกที่เห็นตรงหน้าเพียงอย่างเดียว แต่ความจริงของมาเนต์คือโลกแห่งความจริงที่อยู่ ‘ข้างใน’ ตัวศิลปิน หรือพูดง่าย ๆ ว่าโลกที่ศิลปินมองเห็น ซึ่งผ่านการกลั่นกรองของความคิดและความรู้สึกของศิลปินมาแล้ว
สำหรับมาเนต์ สิ่งเดียวที่ศิลปินต้องมอบความจงรักภักดีให้คือโลกบนผืนผ้าใบ หาใช่โลกของกฎแห่งธรรมชาติ หรือโลกแห่งกายภาพที่อยู่ตรงหน้า สำหรับมาเนต์ ฝีแปรงที่ศิลปินตวัดลงบนผืนผ้าใบ คือความจริงสูงสุดที่ศิลปินจะมอบให้กับโลกใบนี้ได้
ผลงานของมาเนต์ส่งอิทธิพลต่อโมเนต์เป็นอย่างมาก ในแง่ของการให้ความสำคัญกับ ‘ช่วงเวลา’ ที่อยู่ตรงหน้า มากกว่าสิ่งที่อยู่ตรงหน้า ซึ่งนำมาสู่การพัฒนาเทคนิคการตวัดฝีแปรงอย่างรวดเร็วของโมเนต์ เพื่อเก็บช่วงเวลาที่แสงกระทบกับสรรพสิ่งไว้ในผืนผ้าใบ ก่อนที่มันจะหายไปในชั่ววินาที
ในเวลาต่อมา เมื่อโมเนต์และผองเพื่อนศิลปินรุ่นใหม่ได้ยินข่าวว่า ผลงานของศิลปินอย่างกูร์แบถูกปฏิเสธจากคู่ปรับไม้เบื่อไม้เมาอย่าง Paris Salon แต่สิ่งที่ศิลปินรุ่นพี่จอมขบถของพวกเขาลงมือทำ ก็คือการเข้ายึดพื้นที่ด้านนอกอาคารที่เป็นสถานที่จัดแสดงนิทรรศการของ Paris Salon แล้วจัดแสดงผลงานที่ถูกปฏิเสธจากสถาบันศิลปะอันทรงเกียรติแบบซึ่งหน้า! นั่นเองที่พวกเขาเริ่มมองเห็นว่า… ที่ทางของศิลปะแนวคิดใหม่ที่พวกเขากำลังก่อร่างสร้างขึ้นมานั้น อาจไม่ใช่การเดินตามระเบียบแบบแผนของโลกศิลปะ และพื้นที่จัดแสดงงานใน Paris Salon อาจไม่ใช่สิ่งจำเป็นอีกต่อไป
(ติดตามอ่านตอนต่อไปในซีรีส์ Impressionist ในสัปดาห์หน้า)