แนะนำ 10 งานศิลปะน่าจับตามอง ใน ‘The 60th Venice Biennale’ กับคอนเซปต์ ‘Foreigners Everywhere’ แบบ All at Once
‘Foreigners Everywhere’ หรือ ‘ทุกที่มีแต่คนต่างชาติ’ คือชื่อธีมของงาน ‘The 60th Venice Biennale’ ที่ทาง ‘อาเดรียโน เปโดรซ่า’ คิวเรเตอร์ชาวบราซิลผู้เป็นตัวหลักของงานได้ตั้งใจกำหนดขึ้น เพราะต้องการเปิดโอกาสให้ศิลปินจากทุกพาวิลเลียนทั่วโลกได้ออกมาพูดถึงการอพยพ ผู้พลัดถิ่น สงคราม ความตาย เพศสภาพ สิทธิมนุษยชน คนชายขอบ สิ่งแวดล้อม และการสูญเสียทางวัฒนธรรม ฯลฯ ซึ่งนับว่าเป็นประเด็นอันแสนคุ้นเคยในโลกทุกวันนี้
ซึ่งหนึ่งในศาลาที่มีเหตุการณ์เข้ากับหัวข้อในครั้งนี้สุด ๆ ก็คงหนีไม่พ้น ‘อิสราเอล’ ที่กำลังคุกรุ่นไปด้วยไฟสงครามที่ต่อสู้กับปาเลสไตน์และอิหร่าน จนก่อให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายของผู้คนแบบมหาศาล ส่วนคนที่ยังมีชีวิตอยู่ก็ต้องตกอยู่ในสถานะผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่น ที่ในตอนนี้ยังหาทางออกไม่เจออีกเป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้ ยังไม่ทันที่งานจะเริ่มดี ก็มีกระแสจากสังคมโลกให้ ‘แบน’ ศาลาอิสราเอลไม่ให้เข้าร่วมงาน อันมาจากผลพวงที่รัฐบาลอิสราเอลทำไว้
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ศาลาอิสราเอลจะโดนแบนและครหาไปมากกว่านี้ พวกเขาก็ได้ออกมาประกาศตัวชัดเจนว่าจะไม่เปิดให้คนเข้าชมนิทรรศการ ‘(M)otherland’ จนกว่าข้อตกลงปล่อยตัวประกันและการหยุดยิงในกาซา (Ceasefire) จะได้รับการตอบรับจากประเทศอิสราเอลแล้วเท่านั้น
ดังที่ ‘เทอร์รี สมิธ’ นักประวัติศาสตร์ศิลปะผู้มีตำแหน่งใน Biennial Foundation เคยกล่าวไว้ว่า “เบียนนาเล่คือหน้าต่างที่ชวนเราเยี่ยมหน้าเข้าไปส่องดูความเป็นไปของโลกศิลปะร่วมสมัย ที่ซึ่งศิลปะทั้งสนุก บันเทิง ให้ความรู้ และในขณะเดียวกันก็แข่งขันห้ำหั่นกันเอง” คอนเซปต์ ‘Foreigners Everywhere’ ในครั้งนี้ก็น่าจะเป็นโอกาสครั้งใหม่ที่ไม่ใช่แค่การเปิดหน้าต่างให้เราเยี่ยมหน้าเข้าไปเท่านั้น แต่ยังเป็นการเปิดประตูบ้านให้เราก้าวเท้าเข้าไปทัวร์โลกศิลปะร่วมสมัยกันแบบทั่วโลก และรับรู้เรื่องราวจากหลายมุมมองของเหล่า ‘Foreigners’ ทุกคนกันแบบเห็นภาพชัด ๆ มากขึ้นด้วย
ในโอกาสที่ The 60th Venice Biennale ก็ได้เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการแล้ว GroundControl เลยขอต้อนรับการมาถึงของเทศกาลนี้ ด้วยการคัดสรร 10 ผลงานศิลปะน่าจับตามอง ที่เราอยากชวนทุกคนไปสำรวจร่วมกัน
I piedi, insieme al cuore, portano la stanchezza e il peso della vita Maurizio Catalan
ถือว่าเรียกเสียงฮือฮาตั้งแต่ยังไม่เริ่มต้นโปรเจกต์เลยก็ว่าได้ สำหรับการร่วมมือครั้งสำคัญระหว่าง ‘เมาริซิโอ คัตเตลาน’ กับศาสนจักร ใน ‘The 60th Venice Biennale’ เพราะเราต่างทราบกันดีถึงวีรกรรมความแสบของคัตเตลานที่เคยฝากผลงานวิพากษ์วิจารณ์สถาบันศาสนาได้อย่างเจ็บลึกถึงทรวงจนสร้างความปั่นป่วนให้ฝ่ายอนุรักษนิยมอยู่นาน ด้วยผลงาน ‘La Nona Ora (1999)’ ที่หลายคนเปรียบเปรยว่าการที่สมเด็จพระสันตะปาปายอห์นปอล ที่ 2 อยู่ในท่านอนตะแคงเช่นนี้ มาจากอีโก้เทียมฟ้าของศาสนจักรที่แม้กระทั่งตัวเองก็ยังแบกไว้ไม่ไหวจนล้มเอง
อย่างไรก็ตาม ไม่มีมิตรแท้หรือศัตรูถาวร เพราะศาลาวาติกันได้ประกาศเลือกให้คัตเตลานเข้ามาเป็นศิลปินหลักในการจัดแสดงผลงานร่วมกับศิลปินคนอื่น ๆ อีกแปดคนใน The 60th Venice Biennale พร้อมทำงานภายใต้คอนเซปต์ ‘With My Eyes’ประกอบได้วย บินตู เดมเบเล่, ซิโมน แฟตทัล, แคลร์ ฟงแตน, โซเนีย โกเมส, คอริต้า เคนท์, มาร์โก เปเรโก และโซอี ซัลดานา และแคลร์ ทาบูเรต์ โดยปักหลักสร้างผลงานกันที่เรือนจำหญิงจูเดกกา ที่ซึ่งผู้ต้องขังในเรือนจำจะมีส่วนร่วมในการสร้างผลงานศิลปะบางชิ้นด้วย
‘With My Eyes’ คือคอนเซปต์ที่ต้องการพูดถึงประเด็นสิทธิมนุษยชนและกลุ่มคนชายขอบสังคม ผ่านเหล่านักโทษในเรือนจำหญิงจูเดกกา โดยมุ่งเน้นไปที่การสร้างปฏิสัมพันธ์และลบเส้นแบ่งระหว่างผู้ชมและผู้ถูกชม โดยให้ผู้ต้องขังเป็นผู้นำชมนิทรรศการ ซึ่งถ้าใครจะเข้าชมจำเป็นต้องฝากโทรศัพท์มือถือไว้ก่อน จากนั้นจะได้รับการนำชมตามทางเดินอิฐและพื้นที่ภายในที่ปกติไม่เปิดให้บุคคลภายนอกเข้าชม
สำหรับผลงานของคัตเตลานนั้นมีชื่อว่า ‘I piedi, insieme al cuore, portano la stanchezza e il peso della vita’ มีความหมายว่า ‘The feet, together with the heart, carry the tiredness and weight of life’ หรือ ‘สองเท้ากับหนึ่งดวงใจแบกรับไว้ซึ่งความเหนื่อยยากและชีวาอันหนักอึ้ง’ เป็นผลงานศิลปะจัดวางที่ใช้การเพ้นท์ติ้งเป็นเทคนิคหลัก โดยเขาได้วาดภาพเท้าเปลือยเปล่าสองข้างที่เต็มไปด้วยคราบสกปรกและบาดแผล วางแนบชิดติดกันคล้ายรูปหัวใจ บนกำแพงโบสถ์ที่ตั้งอยู่ข้าง ๆ เรือนจำหญิงจูเดกกา
พระคาร์ดินัลโฮเซ โตเลนติโน เด เมนดอนกา รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมของวาติกัน ได้อธิบายถึงเหตุผลที่เลือกคัตเตลานมาจัดแสดงร่วมกันในครั้งนี้ว่า พวกเขาไม่ได้เลือกศิลปินที่สร้างผลงานง่าย ๆ หรือไม่มีประเด็นท้าทายอะไรเลย แต่หันมาเลือกศิลปินที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและผลงานที่น่าสนใจอย่างแท้จริงมากกว่า ซึ่งคัตเตลานคือศิลปินแบบนั้น โดยเฉพาะการกล้าตีความใหม่ ๆ ในเรื่องศาสนา ที่ตรงไปตรงมา จนถึงขั้น ‘ล้มล้างรูปเคารพ’ หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในทัศนะของบางคนได้เลย แต่ถึงจะเป็นแบบนั้นทางศาสนจักรก็มองว่ามันคือมุมมองที่ดี เพราะการล้มล้างรูปเคารพ ถอดรื้อ และตีความใหม่ต่อศาสนา เป็นสิ่งปกติที่นักบวชหรือผู้ที่เข้าถึงแก่นแท้ของศาสนาก็สามารถวิเคราะห์ได้เช่นกัน
เรียกได้ว่าการเข้าร่วม The 60th Venice Biennale ของศาลาวาติกันในครั้งนี้ ได้แสดงให้เห็นถึงการปรับตัวเข้ากับโลกสมัยใหม่ผ่านงานศิลปะและการคัดเลือกศิลปินได้อย่างชัดเจนมากว่า สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสพร้อมเปิดกว้างรับฟังและแลกเปลี่ยนกับสิ่งที่แตกต่างหรือท้าทาย ไม่ว่าจะเป็นความคิดหรือผลงานศิลปะ เพื่อให้เกิดมุมมองใหม่และการตีความศาสนาในรูปแบบที่ทันสมัยมากขึ้น
All African People’s Consulate Dread Scott
‘เดรด สก็อตต์’ เป็นศิลปินร่วมสมัยชาวอเมริกา ผู้ทำงานศิลปะเกี่ยวกับประเด็นทางสังคม การเมือง และเชื้อชาติ เขาเริ่มมีชื่อเสียงมาตั้งแต่ปี 1988 จากผลงานศิลปะจัดวางชื่อ ‘What is the Proper Way to Display a U.S. Flag? (1988)’ ที่เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้างจากการอย่างมากเนื่องจากมีการวางธงชาติสหรัฐฯ ไว้บนพื้น ให้คนเหยียบระหว่างอ่านงานเขียนที่เขาวางไว้ได้ เพื่อแสดงถึงการต่อต้านสงครามและการกดขี่ทางเชื้อชาติ ยังมีผลงาน ‘Money to Burn (2010)’ ที่เขาเผาธนบัตรดอลลาร์ของจริงเพื่อประท้วงระบบทุนนิยม และ ‘Slave Revolt Reenactment (2019)’ ที่จำลองเหตุการณ์ประวัติศาสตร์การลุกขึ้นต่อต้านของทาสผิวดำด้วย
ภายใต้คอนเซปต์ ‘Foreigners Everywhere’ กับความเป็นเทศกาลศิลปะนานาชาติที่มีคนจากทั่วทุกมุมโลกมาเข้าร่วม ทั้งในฐานะผู้จัด ศิลปิน และผู้ชม ‘เดรด สก็อตต์’ มองเห็นว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะมีสิทธิ์เข้าร่วมงานนี้ เพราะมีคนจำนวนมากที่ไม่สามารถข้ามพรมแดนออกจากประเทศของตนเองได้อย่างอิสระ เช่น ผู้อพยพ ผู้ลี้ภัย ผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศที่เข้มงวดเรื่องการเข้า-ออกพรมแดน ผู้ที่ถูกจำกัดเสรีภาพ และคนไม่มีอันจะกิน ฯลฯ และนี่คือประเด็นหลักที่เขาเลือกหยิบมานำเสนอในผลงานใหม่ของเขา ‘All African People’s Consulate’ ที่จัดแสดงขึ้นใน The 60th Venice Biennale ครั้งนี้ ให้เราได้ติดตามกัน
The Spirits of Maritime Crossing Marina Abramović and Pichet Klunchun, directed by Apinan Poshyananda
อีกหนึ่งชิ้นงานที่ถือว่าน่าตื่นเต้นมาก ๆ สำหรับชาวไทยเราก็คือ ‘The Spirits of Maritime Crossing’ หรือ ‘วิญญาณข้ามมหาสมุทร’ ภาพยนตร์สั้นเชิงทดลองฝีมือการกำกับและเขียนบทของ ‘อภินันท์ โปษยานนท์’ ที่ได้นักแสดงเพอร์ฟอร์แมนซ์อาร์ตระดับโลกอย่าง ‘มารีน่า อับราโมวิช’ และ นักออกแบบท่าเต้นชาวไทยอย่าง ‘พิเชษฐ์ กลั่นชื่น’ มานำแสดง
สำหรับเนื้อหาของภาพยนตร์เรื่องนี้จะว่าด้วยเรื่องของการเดินทางของวิญญาณเร่ร่อนดวงหนึ่งที่ต้องการออกเดินทางเพื่อค้นหาที่หลบภัยและความสงบภายในจิตใจ แต่ในระหว่างการเดินทางอันน่าขนลุกนั้น ตัวละคร (อับราโมวิช) ก็ได้ไปเยี่ยมเยียนสถานที่ศักดิ์สิทธิ์หลายแห่ง และหลังจากได้ร่วมพิธีกรรม พบปะบุคคลต่าง ๆ และเรียนรู้ถึงคำสอนหลายอย่าง เธอตระหนักว่าจิตวิญญาณได้ออกจากร่าง และค้นพบความผ่อนคลายในที่สุด ในตอนจบของภาพยนตร์สั้นเรื่องนี้ ตัวละครเอกได้หยุดคิดคำนึง ที่เมืองเวนิส สะท้อนถึงการสิ้นสุดภารกิจแห่งการเปลี่ยนผ่านทางจิตวิญญาณ
ผลงานชุดนี้จะจัดแสดงขึ้นที่ส่วนจัดแสดงของ ‘Bangkok Art Biennale’ ที่มาในคอนเซปต์เดียวกันกับชื่อภาพยนตร์ นั่นก็คือ ‘The Spirits of Maritime Crossing : วิญญาณข้ามมหาสมุทร’ โดยจะมุ่งเน้นไปที่ความหวังและความตระหนักรู้เพื่ออนาคตที่ดีกว่าของโลก โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากแนวคิดเรื่องกระแสน้ำและการข้ามทะเล ไม่เพียงเกี่ยวกับการค้าและการพาณิชย์เท่านั้น แต่การข้ามทะเลยังเกี่ยวข้องกับความทรงจำและการค้นหาวิธีแก้ปัญหา และความเข้าใจว่าเราจะปรับตัวอย่างไรต่อสภาวะที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
Liminal (2024) Pierre Huyghe
‘ปิแอร์ ฮูยก์’ คือศิลปินชาวฝรั่งเศสที่มีผลงานโดดเด่นและได้รับการยอมรับในระดับสากล เขามักท้าทายขอบเขตการรับรู้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งอื่น ๆ รอบตัว เช่น AI, ผึ้งที่ยังมีชีวิต รวมถึงพื้นที่ใต้ดินด้วย ซึ่งใน The 60th Venice Biennale ครั้งนี้ เขาก็ได้นำผลงานชุดล่าสุดอย่าง ‘Liminal (2024)’ มาจัดแสดง โดยนำเสนอในรูปแบบภาพเคลื่อนไหวที่มีจุดเด่นคือการนำภาพคนเปลือยกายมาเป็นแกนหลัก แต่ส่วนของใบหน้ากลับแทนที่ด้วยหลุมดำแทน
ฮูยก์ได้อธิบายถึงผลงานชิ้นนี้ว่าเป็น ‘การทดลอง การจำลองสภาวะมนุษย์ในเชิงสเปคคูเลทีฟ’ กล่าวคือเป็นการจำลองการคาดการณ์อนาคตล่วงหน้า เพื่อให้ผู้ชมได้มองถึงสภาวะของความเป็นมนุษย์อันไม่แน่นอนในอนาคต เช่น มนุษย์จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรเมื่อมีการผสมผสานกับเทคโนโลยีและสิ่งอื่น ๆ มากขึ้น? เราจะสูญเสียความเป็นมนุษย์ไปหรือไม่? หรือมนุษย์จะก้าวข้ามขีดจำกัดของความเป็นมนุษย์ไปในทางใดบ้าง? ดังนั้นผลงานชิ้นนี้จังไม่ได้แสดงเพียงผลงานใหม่ของฮูยก์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงผลงานในอดีตที่เกี่ยวข้องกับประเด็นความสัมพันธ์เลือนรางระหว่างมนุษย์และสิ่งอื่น ๆ ด้วย
Liminal (2024) จึงเป็นตัวอย่างล่าสุดของฮูยก์ในการนำเสนอแนวคิดเชิงปรัชญาและนวัตกรรม ผ่านการบูรณาการศิลปะให้ลื่นไหลระหว่างโลกแห่งความเป็นจริงและจินตนาการ พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้ชมได้ลองตั้งคำถามต่อสถานะของมนุษย์ในปัจจุบันและอนาคต จากหลากหลายประเด็น ทั้งการอพยพ คนพลัดถิ่น สงคราม ความตาย เพศสภาพ สิทธิมนุษยชน และคนชายขอบที่ทุกคนไม่ควรพลาด
City of Refuge III Berlinde De Bruyckere
‘City of Refuge III’ คือผลงานของ ‘เบอร์ลินด์ เดอ บรูคเคอเร’ ศิลปินชาวเบลเยียม ผู้นิยมสร้างสรรค์ผลงานศิลปะจาก ขี้ผึ้ง, หนังสัตว์, เส้นผม, สิ่งทอ, โลหะ และไม้ เพื่อนำเสนอความเปราะบางของมนุษย์ ผ่านการผสมผสานสัญลักษณ์ทางศาสนาและเทพนิยายโบราณเข้ากับเรื่องราวที่ไม่ยั่งยืน สำหรับคอนเซปต์ของผลงานชุดนี้ เธอได้พูดถึงแนวคิดเรื่องการทำศิลปะให้เป็นสถานที่หลบภัยและการหลบหนี ด้วยการสร้างงานประติมากรรมและศิลปะแบบจัดวางที่ได้แรงบันดาลใจจากเพลง ‘City of Refuge’ ของ ‘นิค เคฟ’ ที่มีความหมายเกี่ยวกับการแสวงหาที่หลบภัยและความเมตตาเช่นเดียวกันขึ้นมา
‘City of Refuge III’ จัดแสดงขึ้นที่ Benedictine church บนเกาะ San Giorgio Maggiore ซึ่งเป็นโบสถ์เก่าแก่ที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 16 โดยแบ่งผลงานออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ ประติมากรรมรูปทูตสวรรค์ในรูปแบบผสมระหว่างมนุษย์และวัตถุมีผ้าคลุมหน้า โต๊ะโลหะขนาดใหญ่ที่มีลำต้นไม้แห้งแกะสลักด้วยขี้ผึ้งวางอยู่บนและรอบ ๆ และตู้กระจกบรรจุผลงานประติมากรรมที่ได้รับแรงบันดาลใจจากงานแกะสลักบนไม้วอลนัทของ อัลเบิร์ต ฟาน เดน บรูเล่ ช่างเฟลมมิชจากศตวรรษที่ 16 โดยเธอต้องการนำเสนอมุมมองใหม่ ๆ ของการทำงาน ผ่านการเชื่อมโยงประวัติศาสตร์และเรื่องราวเก่า ๆ เข้ากับบริบททางสังคมในปัจจุบัน พร้อมกับสร้างบรรยากาศและพื้นที่ทางจิตวิญญาณที่แสดงภาพความเวทนา ความอ่อนโยน และความรู้สึกไม่สบายใจให้ผู้ชมได้รับรู้อย่างใกล้ชิด เพื่อตอบสนองต่อตัวสถาปัตยกรรมที่ใช้เป็นพื้นที่จัดแสดงร่วมด้วย
Inflammation (2023) Pakui Hardware
‘ศาลาลิทัวเนีย’ ถือเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ที่น่าไปเยี่ยมเยือนกัน เพราะท่ามกลางพื้นที่เก่าแก่เปี่ยมมนต์ขลังของโบสถ์จากศตวรรษที่ 17 ได้มีผลงาน ‘Inflammation (2023)’ จากสองศิลปิน ‘ปากุย ฮาร์ดแวร์’ จัดแสดงอยู่โดยติดตั้งผลงานเอาไว้ก่อนจะถึง altar ของโบสถ์ โดยพวกเขาได้สร้างผลงานชิ้นนี้ขึ้นมาเพื่อสะท้อนปัญหาสุขภาพของมนุษย์และธรรมชาติในปัจจุบัน ที่กำลังเผชิญกับความเปราะบางและเสื่อมถอยตลอดเวลา
‘Inflammation (2023)’ สร้างขึ้นมาจากการดัดอะลูมิเนียมขึ้นเป็นโครงให้มีรูปร่างคล้ายกับอุปกรณ์การแพทย์และอวัยวะภายในของมนุษย์ ด้านล่างงานประติมากรรมจะมีเศษใบไม้มากมายกองอยู่ทั่วบริเวณ เพื่อสื่อถึงการร่วงหล่น สำหรับแรงบันดาลใจของผลงานชิ้นนี้ มาจากหนังสือของ ‘มารียา รูปปา’ และ ‘ราช พาเทล’ เรื่อง ‘Inflamed: Deep Medicine and the Anatomy of Injustice’ ซึ่งใช้แนวคิดเรื่องการ ‘อักเสบ’ มาเป็นคำอุปมา เพื่อแสดงภาพความเสียหายอย่างเป็นระบบที่เกิดขึ้นกับมนุษยชาติและโลก
จุดประสงค์ของงานชิ้นนี้ คือการปลุกความหวังให้กับผู้ชมว่า ถึงแม้ว่ามนุษย์และสิ่งแวดล้อมจะเข้าสู่วิกฤต แต่มันก็ยังสามารถฟื้นฟูคืนมาได้ สังเกตได้จากการเลือกจัดแสดงภายในโบสถ์ ที่รู้กันว่าเป็นดังสถานที่เยียวยาทางจิตวิญญาณ การนำผลงานมาไว้ที่นี่จึงสื่อถึงความหวังที่ว่าร่างกายและสิ่งแวดล้อมจะสามารถฟื้นคืนกำลังและมีสุขภาพที่ดีได้อีกครั้ง
Re-Stor(y)ing Oceania Elisapeta Hinemoa Heta and Latai Taumoepeau
ตามคอนเซปต์ ‘Foreigners Everywhere’ การได้มาดูผลงานจากมุมมองของศิลปินพื้นเมืองที่มักถูกจัดให้เป็นคนชายขอบบ้าง ก็นับว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรพลาดเช่นกัน ซึ่งนิทรรศการ ‘ Re-Stor(y)ing Oceania’ ก็เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่รวมเอาผลงานศิลปะจากสองศิลปินพื้นเมืองชาวเมารีอย่าง ‘เอลิซาเบธ ฮินีโมอา เฮเทอร์’ และ ‘ลาไต เทาโมโป’ มาไว้ด้วยกัน ให้เราได้ตามไปสำรวจพร้อมกันได้ง่ายขึ้น
สำหรับผลงานของเฮเทอร์ จะเป็นผลงานศิลปะแบบจัดวางที่ได้แรงบันดาลใจมาจากแนวคิด ‘tikanga’ ที่ว่าด้วยระบบวัฒนธรรมและประเพณีของชาวเมารี โดยเธอต้องการเชิญชวนผู้ชมให้เข้าไปสัมผัสกับความรู้และภูมิปัญญาดั้งเดิมของชนพื้นเมืองผ่านผลงานของเธอให้ได้มากที่สุด เพื่อรับรู้ถึงเรื่องราวมากมายที่ยังไม่เคยเล่า ส่วนผลงานของเทาโมโป จะมาในรูปแบบของบทเพลงประสานเสียงที่สะท้อนการต่อสู้และความพยายามต่อต้านการทำเหมืองใต้ท้องทะเล ซึ่งคุกคามสิ่งแวดล้อมทางทะเลในพื้นที่ของเธอ โดยทั้งสองผลงานมีเป้าหมายร่วมกันในการเน้นย้ำความสำคัญของการอนุรักษ์มหาสมุทร และการสร้างความสามัคคีในหมู่ชุมชนต่าง ๆ ผ่านการถ่ายทอดภูมิปัญญาบรรพบุรุษและการแลกเปลี่ยนทางศิลปวัฒนธรรม
Star Wars character Daniel Arsham
ผลงานของ ‘แดเนียล อาร์แชม’ ศิลปินร่วมสมัยผู้ชอบเล่นกับมิติของเวลา ก็เป็นอีกหนึ่งชิ้นงานที่น่าสนใจมาก ๆ ใน The 60th Venice Biennale ครั้งนี้ โดยเขาได้นำเอาตัวละครจากภาพยนตร์ไซไฟเรื่อง ‘Star Wars’ มาสร้างขึ้นใหม่ด้วยการหล่อขึ้นรูปจากผลึกธรรมชาติ พร้อมด้วยภาพสไตล์อนิเมะแบบญี่ปุ่น และรถท่องเวลาจากภาพยนตร์เรื่อง Back to the Future มาจัดแสดงไว้ในโบสถ์ Santa Caterina ซึ่งเป็นโบสถ์ที่ไม่ได้ใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาแล้ว โดยมีจุดประสงค์เพื่อลบรอยต่อระหว่างยุคสมัยต่างๆ และสร้างความรู้สึกสับสนให้กับผู้ชม และท้าทายพวกเขาให้หาหนทางเอาตัวรอดท่ามกลางกระแสเวลาที่ไหลเวียนไม่หยุดนิ่ง
เหตุผลที่เขาเลือกใช้ตัวละครจาก Star Wars มาผสมผสานกับภาพตัวการ์ตูนอนิเมะสไตล์ญี่ปุ่น เพราะต้องการสร้างความแปลกใหม่และละลายขอบเขตระหว่างศิลปะคลาสสิกกับศิลปะร่วมสมัย นอกจาก Star Wars แล้ว ก็ยังมีประติมากรรมรถท่องเวลาจากภาพยนตร์เรื่อง Back to the Future จัดแสดงร่วมด้วย เพื่อกระตุ้นให้ผู้ชมหวนคิดอดีต และมีความหวังถึงการเดินทางย้อนเวลาเพื่อเอาสิ่งที่เสียไปคืนกลับมา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น อาร์แชมตั้งใจจะสร้างความสับสนและคลางแคลงใจให้กับผู้ชมเกี่ยวกับมิติของกาลเวลามากกว่า ซึ่งบางทีอดีตที่ว่าอาจจะเป็นปัจจุบันขณะในตอนนี้ที่เต็มไปด้วย การอพยพ คนพลัดถิ่น สงคราม และความตาย โดยมี Star Wars character เป็นภาพแทนของศิลปวัตถุหรือของที่ระลึกชิ้นท้าย ๆ ที่ตกผลึกอยู่
Moré Moré Tokyo (Leaky Tokyo) (2011 - 2022) Yuko Mohri
‘ยูโกะ โมริ’ คือตัวแทนจากศาลาญี่ปุ่น และเป็นศิลปินร่วมสมัยที่ชื่นชอบการทำงานศิลปะในหัวข้อ ‘ธรรมชาติ’ โดยเฉพาะพลังของ ‘น้ำ’ ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจสำคัญในผลงานหลาย ๆ ชิ้น และมักนำเสนอประเด็นนี้ออกมาในรูปแบบของน้ำที่รั่วไหลหรือไหลซึมออกมา เธอมักใช้วัสดุในท้องถิ่น วัสดุเหลือใช้ มาสร้างเป็นงานศิลปะจัดวาง พร้อมทั้งเชื่อมโยงกับบริบททางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของญี่ปุ่นอยู่ด้วย
หนึ่งในผลงานที่น่าสนใจที่เธอนำมาจัดแสดงใน The 60th Venice Biennale ครั้งนี้ คือ ‘Moré Moré Tokyo (Leaky Tokyo) (2011 - 2022)’ ที่พูดถึงพลังของน้ำและปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่เชื่อมโยงถึงสถานการณ์จริงของเมืองเวนิสที่เคยเกิดความเสียหายจากน้ำท่วมใหญ่ในปี 2019 ที่ปรากฏร่องรอยให้เห็นทั่วเมืองเวนิสด้วย โดยเธอได้นำท่อและวัสดุเหลือใช้ต่าง ๆ มาประกอบกันเป็นโครงสร้างแปลกประหลาด มีการสูบน้ำผ่านโครงสร้างเหล่านี้ ทำให้ฆ้องและกระดิ่งที่ผูกติดอยู่เกิดการสั่นไหว
Listening All Night To The Rain (2024) John Akomfrah
ทางฝั่งของ ‘ศาลาบริทิช’ ในครั้งนี้ก็นับว่ามีผลงานศิลปะที่น่าสนใจไม่แพ้กัน นั่นก็คือผลงานของ ‘จอห์น อาคอมฟราห์’ ศิลปิน นักเขียน ผู้กำกับภาพยนตร์ ผู้เขียนบท นักทฤษฎี และภัณฑารักษ์ชาวอังกฤษที่มีเชื้อสายกานา ผู้ให้ความสนใจกับเรื่องราวหลังยุคล่าอาณานิคม การทำลายล้างสิ่งแวดล้อม และการเมือง ที่มักบอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ออกมาผ่านภาพยนตร์ ภาพนิ่ง และศิลปะแบบจัดวาง โดยใน The 60th Venice Biennale ครั้งนี้ เขาก็ได้เลือกนำเสนอผลงานชิ้นใหม่ล่าสุดอย่าง ‘Listening All Night To The Rain’
Listening All Night To The Rain คือผลงานที่จะพาทุกคนเข้าไปสำรวจเรื่องราวของปัญหามากมาย ที่เกิดขึ้นทางใต้ของโลก ผ่านผลงานศิลปะแบบจัดวางที่ประกอบไปด้วยสื่อหลากหลายชนิด ที่ถูกนำมาจัดวางรวมกันเพื่อเล่าเรื่องราวอันหลากหลายให้ครบจบในการรับชมครั้งเดียว (แบบไม่เป็นเส้นตรง) เพื่อพาทุกคนไปสำรวจความทรงจำ การอพยพย้ายถิ่น ความอยุติธรรมทางเชื้อชาติ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น เรื่องราวของคนรุ่นวินด์รัช (Windrush Generation) ที่อพยพจากแคริบเบียนมายังอังกฤษในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2, การลุกฮือของกลุ่ม Mau Mau ผู้ต่อต้านการปกครองของอังกฤษในเคนยา, งานเขียนของนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม เรเชล คาร์สัน, สงครามเวียดนาม และวิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมที่กำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน
อ้างอิง
Maurizio Cattelan, Zoe Saldana join iconoclastic Vatican Biennale exhibition inside women’s prison
10 Must-See Exhibitions During the 2024 Venice Biennale
Berlinde De Bruyckere’s angels without faces touch down in Venice church
Pakui Hardware “Inflammation” at Lithuanian National Museum of Art, Vilnius by Allan Gardner
Yuko Mohri on Representing Japan at the 60th Venice Biennale
John Akomfrah: Listening All Night To The Rain – British Pavilion Venice Biennale