Richard Serra บุรุษเหล็กกล้าแห่งโลกศิลปะ
ผนังเอียงที่ทำจากเหล็ก อนุสาวรีย์ใหญ่ยักษ์กลางพื้นที่โล่งกว้าง แท่งเหล็กกลางทะเลทราย เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้น จากผลงานของประติมากรชาวอเมริกันผู้ล่วงลับ ริชาร์ด เซอร์รา ที่เพิ่งเสียชีวิตในวัย 85 ปีเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา
ในฐานะศิลปิน เซอร์ราได้รับขนานนามว่าเป็น ‘ประติมากรแห่งยุคสมัย’ และ ‘บุรุษเหล็กกล้าแห่งโลกศิลปะ’ เนื่องด้วยผลงานประติมากรรมอันยิ่งใหญ่และมีลายเซ็นเด่นชัด ที่สามารถส่งผลต่อพื้นที่ที่จัดแสดงให้ผู้ที่เข้าชมรู้สึกต่างไป ทั้งในแง่ของมุมมองต่อพื้นที่ และมุมมองต่องานประติมากรรมที่มักล้อเล่นกับ ‘ความตรงไปตรงมา’ ของวัสดุอยู่เสมอ
แต่ในฐาะนคนคนหนึ่ง เซอร์ราถือเป็นคนทำงานที่ผู้คนต่างนับหน้าถือตาเช่นกัน ในแง่ของความสม่ำเสมอและความเข้มขนในการอุทิศทั้งชีวิตต่องาน สังเกตุได้จากการผลิตงานที่แทบจะไม่เคยหยุดจวบจนวันสุดท้ายของชีวิต และคำพูดที่หลายศิลปินต่างมีต่อเขา ว่า “ในโลกใบนี้ คงไม่มีใครทำงานศิลปะแบบเซอร์ราได้อีกแล้ว”
เมื่อวันที่ 26 มีนาคมที่ผ่านมา เซอรร์ราได้จากโลกนี้ไปในวัย 85 ปี เพื่อเป็นการสดุดีแก่ศิลปินแห่งยุคสมัย คอลัมน์ The Art of being an Artist จึงขอพาทุกคนย้อนกลับไปทบทวนเส้นทางของบุรุษเหล็กกล้าแห่งโลกศิลปะ ว่ากว่าที่แผ่นเหล็กจะโค้งงอดั่งสายน้ำ เซอร์ราหลอมละลายประสบการณ์และเศษเสี้ยวของศิลปะผสานเข้ากับตัวตนของตัวเองอย่างไรบ้าง อะไรคือแนวคิดเบื้องหลังผลงาน และท้ายที่สุด ศิลปะแห่งการใช้ชีวิตของศิลปินแห่งยุคนั้นเป็นอย่างไร
"สิ่งที่ผมสนใจ คือโอกาสที่เราจะได้กลายเป็นสิ่งที่แตกต่างจากเดิม โดยการสร้างพื้นที่ที่เอื้อต่อประสบการณ์เหล่านั้น”
ถ้าประสบการณ์และสิ่งแวดล้อมที่พานพบ สามารถหล่อหลอมตัวตนให้เด็กคนหนึ่งได้จริง ริชาร์ด เซอร์ราถือเป็นตัวอย่างอันดีต่อข้อความดังกล่าว
ในฐานะลูกคนกลางของครอบครัวผู้อพยพที่มีพ่อเป็นชาวสเปน และแม่เป็นชาวยูเครน แต่อาศัยอยู่ในซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา สภาพครอบครัวตั้งต้นของเซอร์รากับการเติบโตมาเป็นศิลปินดูเป็นเรื่องไกลตัว แต่เพราะแวดล้อมและประสบการณ์ที่พ่อและแม่สร้างให้กับลูกชายหลังจากนั้นนั่นเอง ที่ทำให้จิตวิญญาณของความเป็นศิลปินเกิดขึ้นในตัวเซอร์ราตั้งแต่วัยเด็ก
เริ่มจากเกลดีส เซอร์รา ฝั่งแม่ก่อน ที่เซอร์ราเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่าตั้งแต่จำความได้ เขาจะวาดรูปเพื่อเรียกร้องความสนใจจากแม่เสมอ ส่งผลให้แม่ชมเชยและสนับสนุนให้ลูกชายวาดภาพเป็นประจำ จนนำมาสู่การที่เซอร์รามีสมุดสเก็ตช์ภาพติดตัวตั้งแต่เด็กเปรียบดังอวัยวะที่ 33 รวมถึงการที่เกลดีสมักจะแนะนำลูกชายคนกลางของเธอแก่ผู้อื่นว่า ‘ริชาร์ด ว่าที่ศิลปิน’ (Richard, The Artist) อยู่เสมอ
นอกจากฝั่งแม่ที่เสริมสร้างความเป็นศิลปินแล้ว ฝั่งพ่อของเซอร์ราอย่าง โทนี เซอร์รา เองก็ส่งเสริมมุมมองและความคุ้นเคยต่อ ‘วัสดุ’ ที่ในเวลาต่อมาจะกลายเป็นลายเซ็นในผลงานของเซอร์ราเช่นกัน เพราะในฐานะหัวหน้าครอบครัว โทนีทำอาชีพเป็นช่างซ่อมท่อประจำอู่ต่อเรือใกล้ซานฟรานซิสโก และเขามักพาเซอร์ราไปที่ทำงานเป็นอยู่เสมอ ซึ่งประสบการณ์ในวัยเด็กตรงนี้เองที่หยั่งรากความเป็นศิลปินให้กับเซอร์รา ซึ่งจะผลิดอกออกผลในเวลาต่อมา
“ตั้งแต่อายุ 4 ขวบ พ่อจะพาผมไปดูว่าเขาทำงานอย่างไร ผมจึงได้เห็นว่า เรือลำใหญ่ที่ลอยอยู่บนน้ำได้ ก่อนหน้านั้นมันถูกประกอบขึ้นมาจากวัสดุที่หนักมหาศาลขนาดไหน ความมหัศจรรย์ของวัตถุดิบเบื้องหน้านี้เองที่ตราตรึงใจผมจนเก็บไว้ในความทรงจำเรื่อยมา” เซอร์ราย้อนเล่าถึงแรงบันดาลใจที่ก่อร่างขึ้นในวัยเด็ก
พอเกริ่นมาถึงตรงนี้ ดูเหมือนองค์ประกอบรากฐานในการประกอบสร้างให้เซอร์ราเป็นศิลปินดูจะพร้อมแล้ว แต่อย่างที่รู้กัน ว่าในโลกของความเป็นจริงนั้นไม่ได้ง่าย ยิ่งยุคสมัยนั้นการเป็นศิลปินล้วนต้องผ่านความร้อนและการอดทนโดนตีให้แข็งแกร่งขึ้น ไม่เว้นกับริชาร์ด เซอร์ราที่เมื่อเปลี่ยนผ่านจากวัยเด็กเข้าสู่วัยหนุ่ม ชีวิตได้หยิบยื่นความท้าทายให้กับเขาเช่นกัน
“ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราเลือกในชีวิตเพื่อการแบ่งเบา ในไม่ช้าจะเผยให้เห็นถึงน้ำหนักที่แทบแบกรับไม่ไหวของมัน”
ในปี 1957 เซอร์ราในวัย 19 ปี เลือกทางเดินต่อไปในชีวิตด้วยการเข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานตาบาร์บารา ในสาขาวรรณคดีอังกฤษ ซึ่งเมื่อถูกถามว่าเหตุใดถึงไม่เรียนด้านศิลปะโดยตรงตามความสนใจที่มีมาตั้งแต่เด็ก เซอร์ราก็ให้เหตุผลว่า ในความคิดของเขาเวลานั้น การวาดรูปคือสิ่งที่สามารถทำได้ตลอดเวลาอยู่แล้ว ดังนั้นการศึกษาต่อในสาขาที่ชอบรองลงมาและดูจะมีอนาคตที่แน่นอน อาจเป็นเหตุผลที่ถูกต้องมากกว่า
แต่ตามคำบอกเล่าของเซอร์รา เขาอธิบายว่าช่วงเวลานั้นถือเป็นช่วงชีวิตที่เหนื่อยเอาการ เพราะการเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยนั้นมีค่าใช้จ่ายมากเกินกว่าที่ครอบครัวของเขาจะรับไหว เซอร์ราจึงต้องทำงานพิเศษควบคู่ไปกับการเรียน เพื่อหาเลี้ยงชีพและส่งเสียตัวเองเรียนตามความตั้งใจ
แต่ให้ทายว่าเขาทำงานพิเศษที่ไหน? เฉลย, โรงงานถลุงเหล็กยังไงล่ะ
“ผมเติบโตมาอย่างยากจน แต่ก็ไม่ได้รู้สึกขาด เพราะผมรู้สึกถึงบรรยากาศแวดล้อมอันสมบูรณ์อยู่ตลอดเวลา นี่คือรากเหง้าที่ทำให้ผมเป็นผม และมันไม่เคยเปลี่ยนแปลง”
เซอร์ราเรียนจบด้านวรรณคดีอังกฤษในปี 1961 ตามแผนชีวิตที่เขาวางไว้ โดยตลอดสี่ปีของการเรียน เขาทำงานเสริมที่โรงงานถลุงเหล็กจนถึงวันที่เรียนจบ แต่จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นในระหว่างทางนั้นนั่นเอง เมื่อความเป็นนักวาดผลักดันให้เขา ‘หาทำ’ ในเวลาที่เหลืออยู่น้อยนิด ด้วยการส่งสร้างผลงานภาพวาดขึ้นมา ที่ในเวลาต่อมาเมื่อเรียนจบ เซอร์ราตัดสินใจส่งผลงานทั้งหมด 7 ชิ้นไปให้มหาวิทยาลัยเยลพิจารณา ว่าสิ่งที่ปรากฏตรงหน้าพอจะทำให้มหาวิทยาลัยรับเขาเข้าศึกษาต่อได้หรือไม่
“ผมคิดว่าเส้นทางการเป็นศิลปินของผมเริ่มต้นอย่างจริงจังครั้งแรกก็ตอนนั้น การเรียนด้านวรรณคดีอังกฤษจนจบทำให้ผมรู้ตัวว่าตัวเองควรทำงานศิลปะเป็นอาชีพน่าจะดีกว่า ดังนั้นพอเยลตอบรับกลับมาว่า ‘ตกลง เราน่าจะสอนบางอย่างกับคุณได้’ นี่จึงเป็นประตูบานแรกอย่างแท้จริง”
เซอร์ราเข้าเรียนในระดับปริญญาตรีอีกครั้ง ในสาขาการวาดภาพที่มหาวิทยาลัยเยล ก่อนจะศึกษาต่อปริญญาโทสาขาประวัติศาสตร์ศิลปะ จนจบเมื่อปี 1964 โดยตลอดสามปีที่เยล เซอร์รากล่าวถึงประสบการณ์ช่วงนั้นหลายครั้งว่ามีผลต่อแนวคิดต่อศิลปะของเขาอย่างมหาศาล เพราะเขาได้พบกับเพื่อนร่วมรุ่นที่ในเวลาต่อมา หลายคนจะเติบใหญ่ไปเป็นศิลปินเช่นกัน เช่น ชัค โคลส, แร็คสตรอว์ ดาวน์ส, แนนซี เกรฟส์, ไบรซ์ มาร์เดน ไปจนถึง โรเบิร์ต แมนโกลด์ รวมถึงศิลปินรับเชิญจาก New York School เช่น ฟิลิป กัสตัน, โรเบิร์ต เราส์เชนเบิร์ก, แอด ไรน์เฮิร์ด และ แฟรงก์ สเตลลา
แต่จะสังเกตได้ว่า ว่าจนถึงช่วงชีวิตตอนนี้ งานศิลปะที่เซอร์ราทำมาตลอดคือภาพวาด ไม่ใช่ประติมากรรมอย่างที่เราเข้าใจกันในปัจจุบัน แล้วจุดเปลี่ยนนั้นเกิดขึ้นตอนไหน?
หลังจากเรียนจบจากเยล ด้วยผลงานอันยอดเยี่ยมตลอดการเรียน เซอร์ราได้รับทุนจากมหาวิทยาลัยต่อสำหรับการเดินทางไปยุโรปเพื่อศึกษาและดูงานศิลปะ โดยปารีสคือหมุดหมายแรกของเขา ก่อนตามมาด้วยอิตาลี และสเปน ซึ่งที่พิพิธภัณฑ์ปราโดในประเทศสเปนนั่นเอง ที่เซอร์ราได้เห็นภาพวาด ‘Las Meninas’ ของ ดีเอโก เวลาเกวซ ด้วยตาตัวเองเป็นครั้งแรก
“เมื่อแรกเห็น ผมตระหนักได้ทันที ว่าต่อให้ทำขนาดไหน ผลงานของผมไม่มีวันไปไกลกว่าภาพวาดตรงหน้า อีกทั้งพอยิ่งศึกษาด้านศิลปะมากขึ้น ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องสำคัญเหมือนกัน ที่ศิลปินควรจะก้าวออกจากรากเหง้าตั้งต้น ดังนั้นผมจึงคิดว่าควรพาตัวเองออกจากการวาดภาพเป็นหลักน่าจะดีกว่า”
ถ้าดูจากปัจจุบัน คงต้องบอกว่าการตัดสินใจครั้งนั้นของเซอร์รานั้นถูกต้อง เพราะปิดประตูหนึ่งบาน นำมาสู่การเปิดอีกประตูอีกบานที่พาให้เขาเดินทางไกลกว่าที่ใครหลายคนคิด
“ทำงานของคุณ ไม่ใช่ทำเพราะมันเป็นงานของใคร”
เมื่อเจอกับจุดเปลี่ยนในเส้นทางชีวิต หลายคนอาจหลงทางหรือหมดกำลังจะก้าวต่อ แต่นั่นไม่ใช่กับเซอร์รา เขาเล่าให้ฟังว่าด้วยศาสตร์ด้านประวัติศาสตร์ศิลปะที่ได้ศึกษามา เซอร์ราได้ค้นพบว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับภายในของเขาไม่ใช่เรื่องแย่แต่อย่างใด กลับกันเสียอีก นี่คือเรื่องปกติและเป็นเพียงบันไดขั้นหนึ่งเท่านั้น ในการเดินไปสู่ตัวตนแท้จริง
โดยผลลัพธ์แรกจากการเดินออกจากเส้นทางศิลปินภาพวาด เซอร์ราเลือกใช้โอกาสอันเปิดกว้างนี้ในการทดลองอะไรใหม่ๆ จนนำมาสู่นิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของเขา ในชื่อ ‘Animal Habitats’ ที่กรุงโรม ที่เซอร์ราเลือกจัดแสดงเหล่าสรรพสัตว์ผสมระหว่างสัตว์สตัฟฟ์กับสัตว์ที่มีชีวิตจริง ๆ แน่นอนว่างานดังกล่าวเกิดข้อถกเถียงมากมายและตามมาด้วยการถูกสั่งปิด 1 ครั้ง แต่นั่นก็เป็นประสบการณ์ที่เซอร์รามักกล่าวถึงบ่อย ๆ ว่าเป็นการทดลองที่สำคัญในชีวิตการเป็นศิลปินของเขา
“นั่นคงเป็นผลลัพธ์ของช่วงวัยด้วย ในการแสดงถึงความคิดอันเป็นปัจเจกของผมเอง ผมคิดว่าเป็นเรื่องจำเป็นที่ผลงานต้อง ‘ต่อต้าน’ ทุกคน เพราะการเป็นกบฎ ทำให้ผมเห็นตัวเอง ว่าผมคืออะไร เป็นอะไร และสามารถทำอะไรได้บ้าง”
การเป็นประติมากรของเซอร์ราเริ่มค่อย ๆ ก่อตัวผ่านประสบการณ์เหล่านั้น ทำให้พอเดินทางกลับมาสหรัฐอเมริกาบ้านเกิดเมื่อปี 1966 ประสบการณ์ทั้งหมดก็เริ่มหล่อหลอมความคิดของเซอร์ราจนขึ้นรูป ยิ่งเมื่อผสมเข้ากับบรรยากาศของแวดวงศิลปะในเวลานั้น แนวทางศิลปะของเขาก็ค่อย ๆ เริ่มปรากฏชัดขึ้นด้วย
ช่วงปลายทศวรรษ 1960 ถือเป็นช่วงที่ความนิยมของศิลปะแบบ Minimalist เริ่มถูกสื่อกลางศิลปะใหม่เข้าไปท้าทาย จึงเกิดการผสมผสานกันของสื่อศิลปะทั้งเก่าและใหม่ กลายเป็นแนวทางที่เรียกว่า ‘Post-Minimalist’ ที่ศิลปินนิยมหลีกหนีจากความเป็นมินิมอลลิสต์โดยการใช้สื่อใหม่ๆ เช่น ศิลปะการแสดง ภาพเคลื่อนไหว ไปจนถึงศิลปะจัดวาง โดยเซอร์ราและเพื่อนศิลปินในยุคเดียวกับเขา ถูกจัดให้อยู่ในแนวทางนี้ เนื่องด้วยผลงานอันเป็นประจักษ์
โดยเริ่มต้นตั้งแต่ปีแรกที่กลับมาบ้านเกิด เซอร์ราค้นพบว่าโรงงานเก่าแถวบ้านของเขา มียางและตะกั่วกว่าร้อยตันนอนแน่นิ่งอยู่ เซอร์ราจึงเริ่มทดลองกับวัสดุทั้งสองด้วยความรู้สึกที่เจ้าตัวนิยามว่าเป็นการ ‘เล่นสนุก’ จนนำมาสู่ผลงานแรกๆ ที่เป็นเหมือนสารตั้งต้นของลายเซ็นในปัจจุบัน นั่นคือ ‘To Lift (1967)’ ที่เซอร์รายกแผ่นยางขนาด 10 ฟุตขึ้นจากพื้น เกิดเป็นรูปทรงคล้ายเต็นท์ และผลงาน ‘Thirty-five Feet of Lead Rolled Up (1968)’ ที่เขารีดแผ่นตะกั่วให้บางที่สุด ก่อนนำมาม้วนให้แน่นที่สุดเท่าที่จะทำได้
ดูเหมือนบุรุษเหล็กกล้าแห่งโลกศิลปะได้กำเนิดขึ้นแล้วในโกดังแห่งนั้นนั่นเอง
“ผมไม่ได้คิดถึงผู้ชมคนไหน นอกจากตัวผมเอง”
หลังจากเริ่มต้นได้อย่างแปลกใหม่ และฉีกจากความเป็นมินิมอลลิสต์ของยุคสมัยอย่างแตกต่าง ชื่อเสียงของเซอร์ราก็เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น รวมถึงโอกาสในการทดลองสร้างผลงานของเขาก็มีมากขึ้นตามไปด้วย
ยกตัวอย่างเช่นปี 1968 เซอร์ราเป็นหนึ่งในศิลปินที่ได้เข้าร่วมจัดนิทรรศการกลุ่ม "Nine at Castelli" ที่คลังสินค้า Castelli ในนิวยอร์ก ครั้งนั้นเขาได้สร้างผลงานที่ชื่อว่า ‘Splashing (1968)’ ขึ้นมา โดยการโยนตะกั่วหลอมเหลวอุณหภูมิสูงกว่า 300 °C เข้าไปที่พื้นและผนังของคลังสินค้า เพื่อให้พอถึงเวลาที่ตะกั่วกลับมาแข็งตัว จะเกิดเป็นรูปร่างใหม่ที่ยากจะจินตนาการถึง เป็นการตั้งคำถามต่อรูปลักษณ์ของวัสดุและการทดลองที่ท้าทายต่อความคิดของผู้รับชม
หรืออย่างในปีต่อมา เซอร์ราได้สร้างอีกหนึ่งผลงานที่ชื่อว่า ‘Ton Prop: House of Cards (1969)’ ขึ้นมา โดยเป็นแผ่นตะกั่วสี่แผ่นที่วางแนวตั้งบนพื้นประกอบเป็นเหมือนกำแพงสี่ด้านของบ้าน น้ำหนักของงานชิ้นนี้มากถึงสี่ตันแต่ด้วยการจัดวางของศิลปิน ทำให้ผู้ชมรู้สึกราวกับว่าแผ่นตะกั่วที่วางพิงกันนี้เป็นเหมือนไพ่ ที่พร้อมจะล้มลงเมื่อไหร่ก็ได้แค่ไปสัมผัส
จะเห็นได้ว่าพอแนวทางเริ่มชัด ช่วยไม่กี่ปีแรกที่เซอร์ราดำเนินเส้นทางในฐานะศิลปินเต็มตัว เขาขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วและเต็มไปด้วยไอเดียอันแสนสดใหม่ เซอร์ราได้รับเชิญให้ไปแสดงงานในหลากหลายที่ และเริ่มได้รับการจัดตามองมากขึ้นเรื่อย ๆ ในฐานะศิลปินเลือดใหม่ที่มีผลงานอันเป็นเอกลักษณ์
แต่แล้ว จุดเปลี่ยนก็เกิดขึ้นกับชีวิตเขาอีก ในช่วงปี 1971 โดยในครั้งนี้เปลี่ยนแนวทางในการแสดงของเขามากเอาการ
เพราะระหว่างช่วงติดตั้งผลงานที่ประกอบขึ้นจากแผ่นเหล็กตะกั่วใหญ่ยักษ์ที่ Walker Art Center ใน Minneapolis หนึ่งในเจ้าหน้าที่ติดตั้งของเซอร์ราประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต เนื่องจากหนึ่งในแผ่นเหล็กตะกั่วยักษ์ร่วงหล่นจากเครนใส่เจ้าหน้าที่ผู้เคราะห์ร้าย จริงอยู่ที่การสืบสวนหลังจากนั้นพบว่าอุบัติเหตุเกิดจากความสับเพร่าของผู้บังครับเครน แต่เซอร์ราก็อดตั้งคำถามต่อตัวเองไม่ได้
‘การจัดแสดงงานจำเป็นต้องอยู่ในพื้นที่อย่างแกลอรี่เท่านั้นจริงหรือ? จะเป็นไปได้ไหมถ้าประติมากรรมพาตัวเองไปอยู่ข้างนอก ทำงานกับพื้นที่ใหม่ๆ และเป็นไปอย่างไร้ขีดจำกัด?’
โลกข้างนอกพิพิธภัณฑ์นั่นเอง คือก้าวต่อไปของเซอร์รา ที่ทำให้ผู้คนบนโลกทั้งใบได้รู้จักเขา
“ผมพิจารณาพื้นที่ในฐานะวัสดุอย่างหนึ่ง ผมพยายามใช้ประติมากรรมเพื่อสร้างความแตกต่างให้กับพื้นที่เสมอ”
จากเหตุการณ์เมื่อปี 1971 ผสมเข้ากับประสบการณ์ที่เซอร์ราได้เดินทางไปศึกษาสวนเซนที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี 1970 แนวคิดเรื่องการผสานงานศิลปะ พื้นที่ และเวลา จึงค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นในความคิดเขา และไอเดียดังกล่าวก็รอเวลาไม่นานเลยที่จะแสดงผล เพราะตั้งแต่ทศวรรษ 1970 คือช่วงเวลาที่เรียกได้ว่าเป็นรุ่งอรุณของ ‘ประติมากรรมอิงตามภูมิทัศน์’ ของเซอร์รา เพราะผลงานอันเป็นที่จดจำของเขาถูกรังสรรค์ขึ้นนับตั้งแต่จุดนี้จนถึงวัยชรา ยกตัวอย่างเช่นผลงานชิ้นแรกในพื้นที่กลางแจ้ง ‘Stepped Elevation (1970–71)’ ที่เขาได้รับการเชื้อเชิญจากตระกูลพูลิตเซอร์ ให้ไปสร้างประติมากรรมบนที่ดินส่วนตัว เซอร์ราจึงจัดการออกแบบและนำแผ่นเหล็กชิ้นใหญ่ขนาด 15x2 เมตร ทั้งหมดสามชิ้นมาปักวางลงบนผืนดินที่มีลักษณะลาดลง เพื่อทำหน้าที่คล้าย ‘รอยตัด’ ที่ผ่าลงบนผืนดิน บ่งบอกถึงขอบเขตอันไร้สิ้นสุดในทุกครั้งที่พบเห็น
หรือ Te Tuhirangi Contour (2000–2002) อีกหนึ่งการปล่อยของครั้งสำคัญของเซอร์รา ประติมากรรมอิงตามภูมิทัศน์ชิ้นนี้ตั้งอยู่บนทุ่งหญ้าอันกว้างใหญ่ในเมือง Kaipara ประเทศนิวซีแลนด์ เป็นแผ่นเหล็กโค้งขนาด 257x6 เมตร เรียงทอดต่อเนื่องกันตามเนินเขา สะท้อนถึงการขยายและหดตัวของภูมิทัศน์ในแต่ละมุมที่มองเห็น อีกทั้งยังมีความสูงต่ำขนานไปกับการสูงต่ำของแผ่นดิน ราวกับแผ่นเหล็กนี้เป็นเหมือนสายน้ำหนึ่งสายที่กำลังไหลอยู่บนผืนดินอย่างไรอย่างนั้น
ไปจนถึงงานชิ้นสุดท้ายของเขาที่ก็เป็นประติมากรรมอิงตามภูมิทัศน์อย่าง East-West/West-East (2014) ที่ตั้งอยู่บนแกนตะวันออก-ตะวันตกในเขต Brouq ประเทศกาตาร์ ประกอบด้วยแผ่นเหล็กสี่แผ่น สูงประมาณ 16 เมตร ปักอยู่กลางหุบเขา โดยแต่ละแผ่นถูกวางระยะห่างกันอย่างไม่สม่ำเสมอ ล้อไปกับระดับของเปลือกโลกและการมองเห็นจากระยะที่แตกต่างกัน
นี่เป็นเพียงตัวอย่างเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะงานประติมากรรมอิงตามภูมิทัศน์ของเซอร์รายังมีอีกมาก โดยปรากฏขึ้นทั้งในแหล่งธรรมชาติและกลางเมือง เช่น Sight Point (1972–75) ประเทศเนเธอร์แลนด์, Porten i Slugten (1983–86) ที่ประเทศเดนมาร์ก, Place de la Concorde, Paris; Berlin Junction (1987) ประเทศเยอรมัน, Afangar (Stations, Stops on the Road, To Stop and Look: Forward and Back, To Take It All In) (1990) ที่ประเทศไอซ์แลนด์, Schunnemunk Fork (1991) ในนิวยอร์ก, Snake Eyes and Box Cars (1993) ในแคลิฟอร์เนีย, Exchange (1996) ที่ประเทศลักเซมเบิร์ก และ 7 (2011) ที่ประเทศกาตาร์ เป็นต้น
แต่ที่มากกว่าจำนวน สิ่งที่เซอร์ราทำและส่งผลมากกว่านั้น นั่นคือการสร้างการรับรู้ต่อพื้นที่เดิมที่เปลี่ยนแปลงไป ประติมากรรมใหญ่ยักษ์ของเขาทำงานกับผู้คนที่พบเห็นได้อยู่เสมอ จนหลายคนต่างลงความเห็นไปในทางเดียวกันว่าผลงานของเซอร์ราสามารถเปลี่ยนมุมมองที่เรามีต่อพื้นที่นั้น ๆ ได้ตลอดกาล จนสุดท้ายพลังที่เกิดขึ้นจากแผ่นเหล็กเหล่านี้ จึงค่อยๆ ทำให้เขาได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘บุรุษแห่งเหล็กกล้าในโลกศิลปะ’ ในที่สุด
แต่ถ้าถามว่านี่คือรูปแบบผลงานที่เป็น ‘ภาพจำ’ ของเซอร์ราหรือไม่ คำตอบอาจไม่ใช่แบบนั้น เพราะผลงานอันเป็นที่ประจักษ์ ที่เวลาพูดชื่อริชาร์ด เซอร์ราแล้วคนในแวดวงศิลปะต้องนึกถึง กลับพาเราย้อนกลับเข้าไปในพิพิธภัณฑ์ ซึ่งเป็นที่ที่เขากำเนิดขึ้นมา
“การดูคือการคิด การคิดคือการดู”
ตลอดเวลาที่เซอร์ราขยายสถานที่แสดงไปอยู่กลางแจ้งให้คนภายนอกได้สัมผัส งานในพิพิธภัณฑ์ยังคงเป็นสิ่งที่เขาทำไม่เคยขาด โดยงานที่น่ากล่าวถึงเป็นพิเศษก็คือ Torqued Ellipses (1991) ที่เซอร์ราได้ไอเดียมาจากเมื่อครั้งไปเยือนโบสถ์ซานคาร์โล อัลเล กวอตโตร ฟอนตาเน ณ กรุงโรม ประเทศอิตาลี
การได้เห็นโค้งเป็นวงรีของผนังโบสถ์ นำมาสู่โจทย์ในการทำงานว่า ถ้าลองสร้างประติมากรรมจากแผ่นเหล็กที่มีรูปร่างสอดรับราวกับได้รับแรงบิดจากผนังโบสถ์นี้ ผลลัพธ์จะออกมาเป็นอย่างไรกัน? สุดท้ายจากไอเดียตั้งต้น จึงเกิดออกมาเป็นผลงานประติมากรรมที่ทำงานร่วมกับวิศวกรรม ในการ ‘บิด’ แผ่นเหล็กให้เกือบเป็นวงรีทั้งหมดเจ็ดวง โดยแต่ละแผ่นสูงเกือบสี่เมตร แล้วนำมาวางเรียงซ้อนทับกันพร้อมช่องเปิดให้ผู้คนสามารถเดินผ่านหรือเดินรอบ ๆ วงรีได้
ในเวลานั้น ผลงาน Torqued Ellipses ถูกพูดถึงเป็นอย่างมาก ในฐานะความแปลกใหม่ และการเป็นประติมากรรมที่สั่นความรู้สึกข้างในของผู้ชมได้ตั้งแต่แรกเห็น อีกทั้งด้วยองค์ความรู้ที่เซอร์ราได้ร่วมงานทีมวิศวกรรม รูปแบบการบิดเหล็กนี้จึงเป็นหนึ่งในวิธีเอกที่เขาเลือกใช้หลายครั้งตามมาหลักจากนั้น จนนำมาซึ่งผลงานที่กลายเป็นภาพจำของเขา
The Matter of Time (1994-2005) ณ พิพิธภัณฑ์กุกเกนไฮม์ เมืองบิลเบา ประเทศสเปน ก็เป็นเหมือนการเดินทางอันยาวนานของเซอร์รา เพราะประกอบไปด้วยประติมากรรมแปดชิ้นที่ถูกสร้างขึ้นระหว่างช่วงปี 1994 - 2005 ซึ่งเปิดให้ผู้ชมได้เห็นวิวัฒนาการในผลงานของเซอร์ราอย่างเด่นชัด โดยเริ่มจากไอเดียของ Torqued Ellipses ก่อนนำมาซึ่งการประกอบสร้างของวงรีเดี่ยวหนึ่งวง วงรีคู่หนึ่งวง วงตรีก้นหอย (Torqued Spirals) สามวง และวงรีสองวงเชื่อมกัน (Double Torqued Ellipses) เกิดเป็น The Matter of Time ที่เซอร์ราอยากให้ผู้ชมได้ลองชมและเข้าไปเดิน เพื่อให้สัมผัสถึงช่วงเวลาและมุมมองที่เปลี่ยนไปตลอดความยาวของแผ่นเหล็กทั้งหมดกว่า 32 เมตร
ครั้งหนึ่งเคยมีนักวิจารณ์ศิลปะทางศิลปะกล่าวไว้ว่าการชมงานของเซอร์รา จำเป็นอย่างยิ่งที่คุณควรได้มาเห็นด้วยตาเนื้อ เพราะความใหญ่ยักษ์ การบิดเกลียว และผิวอันผุกร่อนของเหล็ก ทั้งหมดไม่สามารถแสดงศักยภาพอย่างเต็มที่ได้เลยผ่านรูปถ่าย การได้มาเห็นด้วยตาตัวเองและลองเดินในเขาวงกดตเหล็กของเซอร์ราคือประสบการณ์ที่ควรค่าแก่การมาสัมผัสสักครั้ง เพราะในโลกนี้ ไม่มีศิลปินคนไหนแล้วที่สามารถสร้างความรู้สึกแบบนี้ให้เกิดขึ้นกับคุณได้
และมันยังคงเป็นความจริงนั้น จนถึงวันสุดท้ายของชีวิตเขา
“ผมเคยบอกกับหมอว่า ผมอยากเป็นประติมากรที่ดีที่สุดในโลก เขาตอบกลับผมมาว่า ‘ริชาร์ด ใจเย็น ๆ’”
หลังจากผลงาน East-West/West-East (2014) ที่ประเทศกาตาร์ ไม่กี่ปี เซอร์ราได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งในท่อน้ำตาในตาซ้าย
โดยจุดเริ่มต้นของโรคร้ายนี้ เกิดขึ้นจากการสังเกตุตัวเองว่าทำไมน้ำตาถึงไหลออกมาบ่อย ๆ นั่นเองเป็นจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ที่นำมาซึ่งข่าวที่พาเอาใจหล่นวูบ แต่ในขั้นตอนของการรับฟังผลของการวินิจฉัยนั้น แพทย์ก็ได้แจ้งกับเซอร์ราไปด้วยว่าถึงจะเรียกว่าเป็นโรคมะเร็ง แต่การรักษาในกรณีนี้กลับง่ายกว่ามะเร็งในที่อื่น ๆ เพราะเขาแค่ต้องผ่าตัดเอาลูกตาซ้ายออกเท่านั้น แล้วพยากรณ์ของโรคก็จะอยู่ในเกณฑ์ดี อยู่ห่างไกลจากมะเร็งไปได้อีกนานแล้ว
แต่แน่นอนว่า เซอร์ราปฏิเสธ
เขาให้เหตุผลว่าถ้าการหายจากโรคต้องแลกมากับการที่มุมมองและวิสัยทัศน์ต่องานศิลปะของตัวเองจะเปลี่ยนไป เซอร์ราขอยอมทนอยู่กับโรคร้ายนี้ดีกว่า เขายืนกรานอย่างไม่สะทกสะท้านต่อเสียงคัดค้านของผู้เชี่ยวชาญ และเลือกทางนี้ให้กับชีวิต
ทำให้ในช่วงท้ายที่ปรากฏตัวต่อหน้าสื่อ ถ้าลองสังเกตุที่ตาซ้ายของเซอร์ราดี ๆ เราจะพบว่าดวงตาของเขาจะอยู่ในตำแหน่งที่ผิดปกติจากเดิมอยู่เล็กน้อย โดยเป็นผลพวงจากโรคที่ดำเนินไปนั่นเอง
จริงอยู่ที่ในท้ายที่สุด เซอร์ราจะจากไปเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2567 ด้วยอาการปอดบวมในวัย 85 ปี แต่การยืนหยัดเพื่อศิลปะครั้งสุดท้ายของเขา ก็เป็นหลักฐานทิ้งท้ายอย่างดีว่าทำไมริชาร์ด เซอร์ราถึงได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘ประติมากรแห่งยุค’ และ ‘บุรุษเหล็กกล้าแห่งโลกศิลปะ’ เพราะตลอดเส้นทางที่ผ่านมา แผ่นเหล็กที่่ขึ้นชื่อว่าแข็งแรงหนา ก็เป็นเซอร์รานี่เอง ที่ทุ่มเททั้งชีวิตเพื่อหยิบจับแผ่นเหล็กขึ้นมาบิดจนเกิดเป็นความหมายใหม่ของพื้นที่ และมอบผลงานให้กับโลกศิลปะในแบบที่ไม่เคยมีใครทำได้
ดังนั้นถึงวันนี้ลมหายใจของเซอร์ราจะไม่อยู่แล้ว แต่เชื่อเหลือเดินว่าทุกผลงานที่ตั้งตระหง่านอยู่บนโลก กำลังหายใจแทนเขา และทำหน้าที่ในนามของความเป็นศิลปะอยู่เหมือนเดิม ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง