‘Realism’ คือชื่อของกระบวนการศิลปะที่เกิดขึ้นในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ที่นำเสนอภาพของแรงงาน ชาวไร่ ชาวนา และภาพชีวิตประจำวันของพวกเขาด้วยการใช้โทนสีแบบเอิร์ธโทน นำเสนอทัศนียภาพของธรรมชาติแบบไม่ปรุงแต่งเกินจริง ผ่านการฉายภาพชีวิตของผู้คนธรรมดาที่เอาหลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน เพื่อต่อต้านศิลปะกระแสหลักอย่าง Neo-claasic และ Romanticlism ที่ถูกยกให้เป็นงานศิลปะชั้นสูงในยุคนั้นที่มีฟังก์ชั่นหลักเป็นการรับใช้สถาบันศาสนาและกษัตริย์ สำหรับเหล่าศิลปิน Realism แล้ว ภาพของผู้คนธรรมดาและชาวนาชาวไร่ ก็มีความยิ่งใหญ่ในตัวเองและควรค่าที่จะได้รับการนำเสนอในงานจิตรกรรม ไม่ต่างจากเทพเจ้า กษัตริย์ หรือวีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่

‘Realism’ คือชื่อของกระบวนการศิลปะที่เกิดขึ้นในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ที่นำเสนอภาพของแรงงาน ชาวไร่ ชาวนา และภาพชีวิตประจำวันของพวกเขาด้วยการใช้โทนสีแบบเอิร์ธโทน นำเสนอทัศนียภาพของธรรมชาติแบบไม่ปรุงแต่งเกินจริง ผ่านการฉายภาพชีวิตของผู้คนธรรมดาที่เอาหลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน เพื่อต่อต้านศิลปะกระแสหลักอย่าง Neo-claasic และ Romanticlism ที่ถูกยกให้เป็นงานศิลปะชั้นสูงในยุคนั้นที่มีฟังก์ชั่นหลักเป็นการรับใช้สถาบันศาสนาและกษัตริย์ สำหรับเหล่าศิลปิน Realism แล้ว ภาพของผู้คนธรรมดาและชาวนาชาวไร่ ก็มีความยิ่งใหญ่ในตัวเองและควรค่าที่จะได้รับการนำเสนอในงานจิตรกรรม ไม่ต่างจากเทพเจ้า กษัตริย์ หรือวีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่

กำเนิดศิลปะ Modern Art จาก 'แรงงาน' สำรวจ Realism ขบวนการศิลปะที่ท้าชนคนข้างบน ฉายแสงส่องคนข้างล่าง

‘วันแรงงานสากล’ หรือ ‘เมย์เดย์ (May Day)’ คือวันที่กำหนดขึ้นมาเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์จลาจลเฮย์มาร์เก็ตที่เมืองชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี 1886 เพื่อเรียกร้องให้มีการกำหนดชั่วโมงการทำงานต่อวันเป็น 8 ชั่วโมงจากกลุ่มแรงงาน ที่มีจุดจบด้วยการถูกปราบปรามและมีผู้เสียชีวิตมากมายจากเหตุการณ์นี้ ซึ่งในเวลาต่อมาทั่วโลกก็ได้มีการกำหนดให้ทุกวันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปีเป็นวันหยุดเพื่อระลึกถึงการต่อสู้เพื่อสิทธิของกลุ่มแรงงาน รวมถึงประเทศไทยด้วย

และก่อนหน้านั้นไม่กี่สิบปี ในยุคเดียวกันนี้เอง โลกศิลปะก็ได้กำเนิดกระบวนการศิลปะที่ชื่อว่า ‘Realism’ ขึ้น และนับว่าเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ของโลกศิลปะที่คนชนชั้น ‘แรงงาน’ คือตัวเอกของภาพเป็นครั้งแรก และการถ่ายทอดภาพ ‘ความจริง’ ของสังคมผ่านภาพการใช้ชีวิตประจำวันอันแสนธรรมดาของแรงงาน ชาวไร่ ชาวนา กลายเป็นนิยามของ ‘ความงาม’ ที่กลายเป็นดั่งภาพสะท้อนอันเฉียบขาดถึงความเหลื่อมล้ำทางสังคมระหว่างคนรวยและคนจนในยุคนั้น

‘Realism’ จึงเป็นศิลปะสมัยใหม่กลุ่มแรกที่ปฏิเสธรูปแบบและองค์ประกอบของศิลปะ วรรณกรรม และโครงสร้างสังคมแบบดั้งเดิม โดยมองว่ามันล้าสมัยและไม่ทันต่อรูปแบบสังคมสมัยใหม่หลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม

แต่เพราะอะไรกันคนชนชั้นแรงงานที่ถูกกดเป็นเบี้ยล่างชนชั้นสูงและนายทุนมาตลอดชีวิตถึงกล้าลุกขึ้นมาต่อสู้กับระบบที่กดขี่ตัวเองเช่นนี้? อะไรกันที่ทำให้ภาพเรื่องเล่าทางศาสนา ตำนานปรัมปรา และเรื่องราวจากจินตนาการสุดจรรโลงใจพ่ายแพ้ให้กับความจริง? มีอะไรเกิดขึ้นในศตวรรษที่ 19 กันแน่? และจุดเปลี่ยนสำคัญของเหตุการณ์ทั้งหมดอยู่ตรงไหน? วันนี้ GroundControl จะมาไขคำตอบให้ฟัง

📌ศตวรรษที่ 19 ยุคสมัยของการปฏิวัติอุตสาหกรรม ชนชั้นแรงงาน และการตื่นรู้ทางการเมือง

ตามประวัติศาสตร์ ‘การปฏิวัติอุตสาหกรรม’ ครั้งแรกได้เริ่มต้นขึ้นที่ประเทศอังกฤษมาตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 18 แล้ว และเมื่อเสียง ‘เครื่องจักรไอน้ำ’ ตัวแรกของโลกที่ เจมส์ วัตต์ สร้างขึ้นในปี 1776 เริ่มดังขึ้น ก็เป็นสัญญาณสำคัญที่ส่งถึงคนทั้งโลกว่า นับจากนี้งานเกษตรกรรม การทำเหมืองแร่ การคมนาคมขนส่ง และการผลิตทั้งหมดจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

เมื่อรูปแบบการผลิตเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้เกิดการผลิตแบบใหม่ขึ้น จากการผลิตจำนวนน้อย ๆ แบบพื้นบ้าน ก็มีสิ่งที่เรียกว่าโรงงานอุตสาหกรรมผุดขึ้นมาแทน นำไปสู่การขยายตัวของประชากรในเมือง เนื่องจากผู้คนจากหลากหลายพื้นที่พากันหลั่งไหลเข้ามาทำงานในเมืองใหญ่เพื่อหาเงินจนเกิดชนชั้นใหม่ทางสังคมที่เรียกว่า ‘ชนชั้นแรงงาน’ ขึ้นมาเป็นครั้งแรก

อย่างไรก็ตาม ความเป็นอยู่ช่วงแรก ๆ ของแรงงานสภาพการทำงานและความเป็นอยู่ของคนงานยากจนและแร้นแค้น จึงเกิดการรวมตัวเรียกร้องสิทธิต่าง ๆ มากมาย เมื่อผสมรวมเข้ากับแนวคิด ‘เสรีนิยม’ และ ‘ประชาธิปไตย’ เริ่มแพร่หลายมากขึ้นในยุคนั้น ก็ทำให้ชนชั้นแรงงานในหลาย ๆ พื้นที่ต้องการเปลี่ยนแปลงไปสู่การปกครองแบบนี้มากกว่าจนนำพาไปสู่การปฏิวัติในหลายประเทศในที่สุด

ซึ่งการปฏิวัติที่กลายมาเป็นหมุดหมายสำคัญของประวัติศาสตร์โลกและประวัติศาสตร์ศิลปะก็คือ ‘การปฏิวัติฝรั่งเศส’ ช่วง 1830 - 1848 เพื่อโค่นล้มพระเจ้าหลุยส์-ฟีลิปที่ 1 แห่งฝรั่งเศส ผู้ปกครองด้วยรูปแบบกึ่งสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เนื่องจากเขาไม่สามารถบริหารบ้านเมืองให้รุ่งเรืองได้ จนก่อให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ มีการว่างงานและภาวะเงินเฟ้อสูง ส่งผลให้ชนชั้นแรงงานและชนชั้นกลางมีฐานะยากจนมากขึ้น ในขณะที่คนรวยมีแต่รวยขึ้นอย่างฉุดไม่อยู่

และหลังจากต่อสู้อย่างยืดเยื้อมานานกว่าสิบปี ในที่สุดวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1848 พระเจ้าหลุยส์-ฟีลิปที่ 1 แห่งฝรั่งเศส ก็ได้ยอมจำนนและยอมล้มเลิกราชาธิปไตยออร์เลอ็อง และถูกเนรเทศออกจากประเทศ ส่วนฝ่ายที่คว้าชัยก็ประกาศจัดตั้งสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 2 ในที่สุด และในช่วงเวลาเดียวกันนี้เอง โลกศิลปะก็ได้รู้จักกับกระบวนการศิลปะแนวใหม่ ต้นกำเนิดของ Modern Art ที่เรียกว่า ‘Realism’ ด้วยเช่นกัน

📌กำเนิด ‘Realism’ ยุคแรกของศิลปะสมัยใหม่จากภาพความจริงของ 'แรงงาน’

‘Realism’ คือชื่อของกระบวนการศิลปะที่เกิดขึ้นในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ที่นำเสนอภาพของแรงงาน ชาวไร่ ชาวนา และภาพชีวิตประจำวันของพวกเขาด้วยการใช้โทนสีแบบเอิร์ธโทน นำเสนอทัศนียภาพของธรรมชาติแบบไม่ปรุงแต่งเกินจริง ผ่านการฉายภาพชีวิตของผู้คนธรรมดาที่เอาหลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน เพื่อต่อต้านศิลปะกระแสหลักอย่าง Neo-claasic และ Romanticlism ที่ถูกยกให้เป็นงานศิลปะชั้นสูงในยุคนั้นที่มีฟังก์ชั่นหลักเป็นการรับใช้สถาบันศาสนาและกษัตริย์ สำหรับเหล่าศิลปิน Realism แล้ว ภาพของผู้คนธรรมดาและชาวนาชาวไร่ ก็มีความยิ่งใหญ่ในตัวเองและควรค่าที่จะได้รับการนำเสนอในงานจิตรกรรม ไม่ต่างจากเทพเจ้า กษัตริย์ หรือวีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่

จุดเริ่มต้นของงานศิลปะแนวนี้ เริ่มต้นขึ้นในปี 1834 ขณะนั้นประเทศฝรั่งเศสได้เกิดการประท้วงต่อต้านพระเจ้าหลุยส์-ฟีลิปที่ 1 แห่งฝรั่งเศส และหลังจากที่มีตำรวจนายหนึ่งตายจากเหตุการณ์นั้น ก็เกิดการปราบปรามผู้ชุมนุมอย่างรุนแรงในย่านแรงงาน และไม่นานหลังจากนั้นก็ได้มีศิลปินนามว่า ‘ออนอเร ดูมิเยร์’ วาดภาพ ‘Rue Transnonain, le 15 Avril 1834’ ขึ้น เพื่อเปิดเผยความเลวร้ายของรัฐบาล ผ่านภาพพลเรือนที่ถูกสังหารเกลื่อนกลาด และนั่นคือภาพ ‘ความจริง’ ภาพแรก ๆ ที่นำไปสู่การกำเนิดขึ้นของกระบวนการ ‘Realism’

ด้วยเหตุนี้ดูมิเยร์จึงเป็นศิลปินคนแรก ๆ ที่วาดภาพความจริงที่ไม่สวยงามออกมา อย่างไรก็ตามเขาไม่ใช่คนเดียวที่คิดแบบนั้น เพราะการปฏิวัติอุตสาหกรรม การกำเนิดของชนชั้นแรงงาน ความเหลื่อมล้ำ และความวุ่นวายทางการเมืองในฝรั่งเศสได้กระตุ้นให้ศิลปินคนอื่น ๆ เริ่มเปลี่ยนแปลงแนวคิดด้วยเช่นกัน จากเดิมที่ศิลปะมีไว้เพื่อรับใช้ศาสนาและสถาบันกษัตริย์ ก็เริ่มมีคนคิดต่าง และตัดสินใจท้าทายโลกศิลปะด้วยการทำงานแบบ Realism แทน

นับแต่นั้นงานศิลปะทั้งหลายจึงไม่ได้มีแต่ภาพความงามจากเรื่องราวในอุดมคติ ศาสนา ชนชั้นสูง วีรบุรุษ และความสวยงามอีกต่อไป แต่เริ่มมีภาพความยากลำบากของแรงงาน และความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม ถูกบันทึกและนำเสนอขึ้นมาเป็นครั้งแรก เพื่อต่อต้านแนวคิดที่สถาบันศิลปะยกย่องเพียงผลงานศิลปะที่รับใช้สถาบันศาสนาและกษัตริย์เท่านั้น ส่วนงานแบบอื่นจะถูกปัดตกให้ไร้คุณค่าไป

📌 Jean-François Millet, Gustave Courbet และ Édouard Manet สามศิลปินตัวเป้ง ผู้นำเทรนด์ ‘Realism’

‘ออนอเร ดูมิเยร์’ คือผู้เริ่มต้นกระบวนการศิลปะแบบ Realism แต่ยังมีอีกสามคนที่ถือว่าโดดเด่นไม่แพ้กัน นั่นก็คือ ฌ็อง-ฟร็องซัว มีแล, กุสตาฟว์ กูร์แบ และ เอดัวร์ มาแน ที่ต่อสู้กับโลกศิลปะมาโดยตลอด เพราะอย่างที่เราได้เคยกล่าวไว้ว่างานของพวกเขาไม่ได้รับการยอมรับจากสถาบันศิลปะ เนื่องจากสร้างงานที่ผ่าเหล่าผ่ากอ ไร้ความจรรโลงใจ ไม่รับใช้สถาบันใด ๆ และถูกมองว่า 'น่าเกลียด' ต่างจากงานศิลปะกระแสหลักในยุคนั้นอย่าง Neo-claasic และ Romanticlism ที่เล่าถึงเรื่องราวในตำนาน เรื่องราวทรงคุณค่าทางศาสนา เพื่อรับใช้สถาบันศาสนาและสถาบันกษัตริย์ได้เป็นอย่างดี ซึ่งถือว่าเป็นหน้าที่หลักของงานศิลปะในยุคนั้น

เริ่มต้นกันที่คนแรก ‘ฌ็อง-ฟร็องซัว มีแล’ จิตรกรชาวฝรั่งเศสที่มีชื่อเสียงจากการวาดภาพคนชนชั้นแรงงานและภาพ ‘The Gleaners, 1857’ ที่นำเสนอภาพสตรีชาวนาสามคนกำลังเก็บเกี่ยวเศษข้าวและพืชผลที่ตกค้างอยู่ในทุ่งนา ซึ่งเป็นงานที่ต่ำต้อยที่สุดสำหรับสตรีในสังคมฝรั่งเศสสมัยนั้น อย่างไรก็ตามแม้ภาพนี้จะเป็นภาพที่แสดงถึงความยากลำบากของชาวนาในชนบท แต่มีแลก็ตั้งใจวาดร่างกายของพวกเธอให้โน้มเอียงไปตามแนวขอบฟ้า สื่อถึงความสงบนิ่งและศักดิ์ศรีของผู้หญิงเหล่านี้ที่ผูกพันกับธรรมชาติและแผ่นดิน แสดงให้เห็นว่ามีแลให้เกียรติคนงานเหล่านี้ และมองว่าการทำงานหนักของชาวนาเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์และประกอบด้วยคุณค่า อย่างไรก็ตามภาพนี้ถูกวิจารณ์อย่างหนักจากกลุ่มชนชั้นสูงที่ร่ำรวย ผลงานของมีแลจึงไม่ได้รับการยอมรับมากนักในยุคนั้น แต่ได้รับความนิยมจากเหล่าศิลปินรุ่นหลังแทน

คนต่อมาคือ ‘กุสตาฟว์ กูร์แบ’ จิตรกรชาวฝรั่งเศสผู้วาดภาพ ‘The Stone Breakers, 1849’ เป็นหนึ่งในภาพที่สำคัญที่สุดของศิลปะสมัยใหม่ โดยนำเสนอภาพของชายสองคนขณะกำลังบดหินไปทำถนนอยู่ ซึ่งเป็นงานหนักและได้รับค่าจ้างน้อยมาก และเช่นเดียวกันกับมีแล กูร์แบเองก็ไม่ได้วาดพวกเขาในสภาพที่เลอะเทอะ แต่เน้นรายละเอียดผ่านสื้อผ้าขาดวิ่นและมืออันหยาบกระด้างของพวกเขาแทน เพื่อสื่อถึงการทุ่มเท ขยัน ทำงานหนัก อันเป็นสัญลักษณ์ของคนชนชั้นแรงงานที่ทำหน้าที่สำคัญแต่ไม่ได้รับผลตอบแทนและการดูแลที่ดีพอ

และคนสุดท้ายที่จัดได้ว่าเป็นตัวเปิดคนหนึ่งก็คือ ‘เอดัวร์ มาแน’ อีกหนึ่งคนสำคัญที่คาบเกี่ยวกับขบวนการศิลปะหลายแขนงทั้ง Realism และ Impressionist แต่ที่ยืนหนึ่งแน่ ๆ ก็คือเรื่องความหัวขบถ โดยเขาได้เป็นสมาชิกกลุ่ม ‘Les Batignolles’ ที่ต่อต้านแนวทางการวาดภาพแบบคลาสสิกของสถาบันศิลปะฝรั่งเศส และหันมาหยิบยืมแรงบันดาลใจจากธรรมชาติมากขึ้นผ่านการวาดภาพบรรยากาศนอกบ้าน แสงแดดสว่าง รวมถึงเหตุการณ์และกิจกรรมประจำวันของผู้คนธรรมดาสามัญ ซึ่งต่างจากภาพเหตุการณ์สำคัญหรือเทพนิยายในศิลปะคลาสสิก

เขาเคยวาดภาพสุดอื้อฉาวอย่าง ‘Luncheon on the Grass,1862’ ที่ว่าด้วยผู้หญิงเปลือยกายกลางสวนสาธารณะกับชายหนุ่มชั้นสูงอีกสองคนนั่งปิกนิกด้วยกัน ที่ใครมองก็คงเดาไม่อยากว่านี่คือการวาดภาพโสเภณี ซึ่งภาพนี้ได้สร้างความเดือดดาลให้โลกศิลปะในยุคนั้นมาก ๆ ทั้งการวาดภาพเปลือยเพื่อสื่อถึงโสเภณี ไม่ใช่เทพเจ้ากับสตรีศักดิ์สิทธิ์ตามธรรมเนียม ไม่พอยังจงใจให้ดวงตาผู้หญิงในภาพสบกับผู้ชมตรง ๆ อีกราวกับไม่อาย ซึ่งก็ผิดธรรมเนียม แถมเขายังตอกฝาโลงตัวสุดท้ายด้วยการเล่าเรื่องการปิกนิคธรรมดาอีก ก็เลยโดนจวกเละตามระเบียบ เลยขอแก้เผ็ดโลกศิลปะคืนแบบแสบ ๆ ด้วยการเอาไปจัดแสดงใน Salon des Refusés หรือซาลอนสำหรับผลงานที่ถูกปฏิเสธจาก Paris Salon แทน

อีกหนึ่งภาพที่เราอยากเล่าในบทความนี้ก็คือ ‘A Bar at the Folies-Bergère,1882’ หนึ่งในภาพชิ้นท้าย ๆ ของมาแนก่อนที่เขาจะเสียชีวิต ภาพนี้แสดงให้เห็นบรรยากาศภายในบาร์แห่งหนึ่งของกรุงปารีส โดยมีจุดสนใจหลักอยู่ที่พนักงานสาวผู้เสิร์ฟ เธอมีสีหน้าเรียบเฉยและดวงตาเศร้าสร้อย แม้จะอยู่ท่ามกลางบรรยากาศคึกคักของสถานบันเทิง ด้านหลังมีกระจกบานใหญ่สะท้อนภาพลูกค้าที่อยู่ตรงหน้าเธอทั้งหมด แต่มุมมองที่สะท้อนกลับดูผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง โดยรวมภาพนี้สะท้อนถึงสไตล์และแนวคิดศิลปะสมัยใหม่ของมาแน ที่หยิบยกเอาเรื่องราวชีวิตประจำวันของคนทำงานกลางคืน บรรยากาศจริง และมุมมองที่แปลกใหม่มานำเสนอในผลงาน

📌จาก ‘Realism’ สู่ ‘Impressionism’ แนวคิดแบบ ‘Realism’ ได้ส่งไม้ต่อไปยังกระบวนการศิลปะแบบ ‘Impresstionism’ ที่คาบเกี่ยวอยู่ในยุคใกล้ ๆ กัน ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากขบวนการศิลปะแห่งบาร์บิซอนที่ชักชวนให้ศิลปินถ่ายทอดสิ่งที่เห็นในชีวิตประจำวัน คนธรรมดา ทิวทัศน์ที่คุ้นตา อันเป็นการโต้กลับศิลปะจินตนิยมหรือ Romanticism ซึ่งมุ่งนำเสนอเรื่องราวในตำนานหรือความยิ่งใหญ่ของวีรบุรุษ อันเป็นศิลปะลูกรักของสถาบันศิลปะฝรั่งเศส ซึ่งศิลปินที่เป็นผู้นำของการรับไม้ต่อในครั้งนี้ก็คือ ธีโอดอร์ รูสโซ, ชาร์ลส์ ฟรองซัวส์-โดบิกนีย์, จูลส์ ดูเปรย์ และ นาร์ซิสซี เวอร์จิลิโอ ดิแอซ นั่นเอง

อ้างอิง

https://sparksgallery.com/learn/what-is-realism-in-art-definition-artists-examples https://www.theartstory.org/movement/realism/ https://www.theartstory.org/artist/courbet-gustave/ https://www.theartstory.org/artist/manet-edouard/ https://www.theartstory.org/artist/millet-jean-francois/ https://www.britannica.com/topic/May-Day-international-observance https://groundcontrolth.com/blogs/impressionism-part-1 https://www.britannica.com/event/Revolutions-of-1848