Impressionism Part 1: กำเนิด Impressionism ลูกนอกสมรสจากศิลปะแห่งธรรมชาติและศิลปะแห่งความจริง

Art
Post on 16 April

สำหรับเหล่าศิลปินที่จะถูกขนานนามว่า ‘Impressionists’ ในเวลาต่อมา ไม่มีสิ่งใดที่กระตุ้นความสนใจของพวกเขาไปมากกว่า ‘ธรรมชาติ’ แม้กระทั่งในโมงยามที่โลกศิลปะยังคงหมกมุ่นและสนใจอยู่แต่กับการถ่ายทอดความยิ่งใหญ่ของวีรบุรุษ ตำนาน และการสืบสานศิลปะอันยิ่งใหญ่ของบรรดามาสเตอร์ผู้เสียชีวิตไปเป็นร้อย ๆ ปีแล้ว ศิลปินหนุ่มสี่คนกลับมองเลยเหล่ามนุษย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่ถูกนำเสนอไว้ในภาพจิตรกรรมขนาดยักษ์ แล้วเพ่งความสนใจไปที่ธรรมชาติซึ่งถูกกันไว้ให้เป็นเพียงฉากหลังรองรับเรื่องราวโศกนาฏกรรมและตำนานของมนุษย์เท่านั้น

“ยุคสมัยของภาพจิตรกรรมขนาดใหญ่ที่วางองค์ประกอบตามมาตรฐานของศิลปะคลาสสิกได้จบลงแล้ว สิ่งที่น่าสนใจกว่าคือภาพวาดจากมุมมองชีวิตประจำวันของผู้คนธรรมดาต่างหาก” คือสิ่งที่ เฟดริก บาซีล หนึ่งในสี่สมาชิกบอยแบนด์ผู้แผ้วทางให้ศิลปะ Impressionism เคยกล่าวไว้

Frédéric Bazille

Frédéric Bazille

ในวันนี้ที่ Impressionism มีอายุ 150 ปี ผู้คนต่างยกย่องกระแสศิลปะแห่งศตวรรษที่ 19 นี้ในฐานะมวลความเปลี่ยนแปลงแห่งโลกศิลปะตะวันตก ที่พาศิลปินเดินออกจากสตูดิโอและเส้นทางการเดินตามรอยบรรทัดฐานของศิลปะตามขนบ ไปสู่การโอบรับความงดงามอันยิ่งใหญ่ของสิ่งแสนสามัญอย่างแสงอาทิตย์และธรรมชาติ

แต่หากมองลึกลงไปกว่านั้น คุณูปการสำคัญของ Impressionism ไม่ใช่แค่การเฉลิมฉลองความงดงามของธรรมชาติ แต่นี่คือขบวนการศิลปะที่ดันหลังศิลปินให้ ‘กล้า’ ที่จะถ่ายทอดตัวตนและโลกที่ตัวเองมองเห็นออกมาอย่างซื่อสัตย์ที่กับตัวเองที่สุด โดยไม่ต้องกังวลว่าโลกที่พวกเขามองเห็นจะแตกต่างจากโลกที่คนอื่นมองเห็นอย่างไร ผู้คนที่พวกเขามองเห็นเป็นเพียงภาพขมุกขมัว ดอกไม้หลากสีสันกลับไร้รูปร่างและกลายเป็นเพียงหนึ่งฝีแปรงที่ถูกตวัดลงไปบนผืนผ้าใบ

กระบวนการถ่ายทอดโลกข้างนอกกับข้างในตัวศิลปินกลับพาทั้งศิลปินและผู้ชมไปยืนอยู่ ณ พรมแดนใหม่ที่เกิดจากการปะทะกันของคู่ตรงข้าม โลกแห่งความจริงกับโลกที่ศิลปินเห็น ความเป็นจริงกับมุมมองของศิลปิน ไปจนถึง ‘ชีวิตจริง’ (life) กับสิ่งที่เรียกว่า ‘ศิลปะ’ (art) การขบถต่อแบบแผนแล้วยืนยันที่จะถ่ายทอดโลกที่ตัวเองเห็น

การเปิดโอกาสให้โลกศิลปะได้ปะทะกับคำถามเกี่ยวกับ ‘ตัวตน’ (subjectivity) เป็นครั้งแรก เหล่านี้คือคุณูปการสำคัญที่ Impressionism เปิดพื้นที่ไว้ให้กับโลกศิลปะ ซึ่งในตอนแรกของซีรีส์ Impressionism นี้ เราจะขอชวนทุกคนย้อนกลับไปสำรวจจุดกำเนิดของศิลปะ Impressionism ที่ถือกำเนิดขึ้นมาจากพ่อแม่ที่มี ‘ความขบถ’ อยู่แล้วในตัว จนทำให้เกิดเป็นลูกนอกคอกที่พยศต่อโลกศิลปะตามขนบ หรือ Acedemic Art และกลายเป็นจิตวิญญาณสำคัญของศิลปะซึ่งเป็นเหมือนบรรพบุรุษของศิลปะโมเดิร์น (Modern Art) ที่จะตามมาในศตวรรษถัดไป

ก่อน Impressionism จะเกิด Barbizon คือตัวเปิดมาก่อน

Charles-François Daubigny, The Pond at Gylieu, 1853

Charles-François Daubigny, The Pond at Gylieu, 1853

Jean-Baptiste-Camille Corot, View of the Forest of Fontainebleau (1830)

Jean-Baptiste-Camille Corot, View of the Forest of Fontainebleau (1830)

แม้ว่าสิ่งที่จะเล่าต่อไปนี้ดูเหมือนฉากในละครหรืออนิเมะสักเรื่อง แต่ ฌอง เรอนัวร์ ผู้กำกับในตำนานของประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ฝรั่งเศส และลูกชายของ ปีแอร์-ออกุสต์ เรอนัวร์ หนึ่งในศิลปินผู้บุกเบิกขบวนการ Inpressionism ยืนยันว่านี่คือเหตุการณ์จริงที่ผู้เป็นพ่อเคยถ่ายทอดให้เขาฟังจริง ๆ

ย้อนกลับไปในโลกศิลปะฝรั่งเศสยุคศตวรรษที่ 19 การวาดภาพธรรมชาติหาได้เป็นสิ่งแปลกใหม่ในชั้นเรียนศิลปะของสถาบันศิลปะวิจิตรศิลป์แห่งกรุงปารีส หากแต่การเรียนการสอนนั้นเน้นหนักไปที่การฝึกให้นักเรียนช่ำชองการวาดภาพตามกระบวนท่าของเหล่ามาสเตอร์จากยุคบาโรกแห่งศตวรรษที่ 17 อย่าง นิโกลา ปูแซ็ง หรือ โคลด ลอร์แรน ซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่จะใช้ธรรมชาติเป็นเพียงฉากหลังรองรับซับเจกต์หลักอย่างมหาบุรุษหรือ หรือการถ่ายทอดธรรมชาติอย่างสมจริงตามที่ตาเห็น

แน่นอนว่าการเรียนรู้การวาดภาพตามขนบย่อมไม่สามารถดึงดูดความสนใจของเหล่านักเรียนนอกคอกหัวก้าวหน้าได้ นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เหล่าเพื่อนร่วมอุดมการณ์อย่างปีแอร์-ออกุสต์ เรอนัวร์, โคลด โมเนต์, กามีล ปีซาโร และ เฟดริก บาซีย์ พากันยกขาตั้งออกไปวาดภาพนอกสตูดิโอ และนั่นก็ทำให้เกิดเหตุการณ์ดังฉากละครต่อไปนี้…

Studio in Rue de La Condamine (1870) โดย Frédéric Bazille ในภาพจะเห็นสมาชิกแก๊ง Impressionist อย่าง Pierre-Auguste Renoir, Édouard Manet, Claude Monet และ Alfred Sisley

Studio in Rue de La Condamine (1870) โดย Frédéric Bazille ในภาพจะเห็นสมาชิกแก๊ง Impressionist อย่าง Pierre-Auguste Renoir, Édouard Manet, Claude Monet และ Alfred Sisley

ย้อนกลับไปในปี 1863 ขณะที่เรอนัวร์กำลังดื่มด่ำกับการวาดภาพธรรมชาตินอกสตูดิโอ ก็ปรากฏแก๊งเด็กวัยรุ่นจอมบุลลี่ที่เข้ามาหาเรื่องเรอนัวร์ ผู้ไม่เพียงตกเป็นเป้าจากการสวมเสื้อกันเปื้อนที่ดูเด๋อด๋าในสายตาเด็กนักเลง แต่ยังวาดอะไรที่ดูไม่เป็นรูปเป็นร่าง เหมือนเป็นแค่สีที่ปัดลงบนผ้าใบ เหล่าเด็กนักเลงจึงพากันกลั่นแกล้งศิลปินหนุ่ม ทั้งปัดจานสีของเรอนัวร์จนตกลงพื้น ผลักเขาล้มลง แถมเด็กผู้หญิงคนหนึ่งยังใช้ร่มตีเขาด้วย

ทันใดนั้น ชายคนหนึ่งก็ปรากฏตัวออกมาจากพุ่มไม้ พร้อมด้วยอาวุธที่เป็นไม้เท้าและขาปลอมทำจากไม้ ซึ่งเขาใช้ทั้งสองสิ่งนั้นในการไล่เด็กอันธพาล เมื่อเรอนัวร์กล่าวขอบคุณชายสูงวัยกว่าที่เข้ามาช่วยเหลือ ชายคนนั้นก็หยิบขาตั้งภาพของเรอนัวร์ที่คว่ำอยู่บนพื้นขึ้นมา แล้วบอกกับเด็กหนุ่มว่า “ไม่เลวเลยนะ เธอมีพรสวรรค์นะเนี่ย”

หลังจากที่ได้นั่งลงคุยกัน เรอนัวร์จึงได้รู้ว่าชายคนนั้นคือ นาร์ซิสซี เวอร์จิลิโอ ดิแอซ ศิลปินผู้เป็นสมาชิกคนสำคัญของกลุ่มศิลปินแห่งบาร์บิซอน

Narcisse Virgilio Díaz, The Feast of Fontainebleau (1865 and 1876)

Narcisse Virgilio Díaz, The Feast of Fontainebleau (1865 and 1876)

บาร์บิซอน (Barbizon) คือชื่อของกลุ่มศิลปินและขบวนการเคลื่อนไหวทางศิลปะในฝรั่งเศสที่มีชีวิตอยู่ในช่วง 1830 - 1870 พวกเขาคือกลุ่มศิลปินฝรั่งเศสที่ถูกเบิกเนตรด้วยผลงานทิวทัศน์ธรรมชาติของศิลปินชาวอังกฤษอย่าง จอห์น คอนสเตเบิล ซึ่งถูกนำมาจัดแสดง ณ Paris Salon ในปี 1824 จนทำให้ศิลปินรุ่นใหม่หัวก้าวหน้าในเวลานั้นพากันละทิ้งศิลปะตามขนบของสถาบัน แล้วมุ่งออกไปแสวงหาแรงบันดาลใจในธรรมชาติ

ในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศสในปี 1848 ศิลปินผู้มีอุดมการณ์ถ่ายทอดความงามของธรรมชาติ ต่างมารวมตัวกัน ณ หมู่บ้านบาร์บิซอน ชายป่าฟองแต็งเบลอร์ ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของปารีส ณ ที่นี่ ศิลปินฝรั่งเศสต่างพากันโอบรับอุดมการณ์ของคอนสเตเบิลที่มุ่งมั่นผลักดันทิวทัศน์ธรรมชาติให้เป็นซับเจกต์หลักของภาพ หาใช่เป็นเพียงฉากหลังอีกต่อไป

ธีโอดอร์ รูสโซ, ชาร์ลส์ ฟรองซัวส์-โดบิกนีย์, จูลส์ ดูเปรย์ และ นาร์ซิสซี เวอร์จิลิโอ ดิแอซ คือส่วนหนึ่งของสมาชิกแถวหน้าของขบวนการศิลปะที่ท้าทายศิลปะสถาบันนี้ นอกเหนือไปจากการให้ความสำคัญกับธรรมชาติ ขบวนการศิลปะแห่งบาร์บิซอนยังเป็นต้นเค้าลางของขบวนการศิลปะสัจนิยม หรือ Realism ที่ชักชวนให้ศิลปินถ่ายทอดสิ่งที่เห็นในชีวิตประจำวัน คนธรรมดา ทิวทัศน์ที่คุ้นตา อันเป็นการโต้กลับศิลปะจินตนิยมหรือ Romanticism ซึ่งมุ่งนำเสนอเรื่องราวในตำนานหรือความยิ่งใหญ่ของวีรบุรุษ อันเป็นศิลปะลูกรักของสถาบันศิลปะฝรั่งเศส

Jean-Baptiste Camille Corot, Landscape with Lake and Boatman (1839)

Jean-Baptiste Camille Corot, Landscape with Lake and Boatman (1839)

ในบรรดาศิลปินบาร์บิซอนทั้งหมด คนที่ดูจะฉีกกรอบการนำเสนอความงดงามของภาพทิวทัศน์ธรรมชาติตามที่ตาเห็นในแบบของบาร์บิซอน และเติมแง่มุมจากสายตาของตัวเองลงไป จนเห็นเค้าลางของความเป็น Impressionism มากที่สุด หนีไม่พ้น ฌ็อง-บาติสต์-กามีย์ กอโร ผู้ซึ่งโคลด โมเนต์ เคยยกย่องในภายหลังว่า “ในบรรดาศิลปินผองเรา มีเพียงคนเดียวที่เรียกได้ว่าเป็นมาสเตอร์ตัวจริง กอโร เมื่อเทียบกับเขาแล้ว พวกเราหาได้มีความหมายใด ๆ …ไม่มีเลย”

สิ่งที่ทำให้กอโรแตกต่างจากศิลปินผู้ถ่ายทอดธรรมชาติคนอื่น ๆ ก็คือการใช้ ‘เฉดสี’ เพื่อนำเสนอสิ่งอื่นที่ไม่ใช่แค่สีสันของสรรพสิ่ง ไม่ใช่แค่สีเขียวเพื่อนำเสนอสีเขียวของใบไม้ สีฟ้าเพื่อนำเสนอสีของท้องฟ้า แต่การใช้เฉดสีของเขายังดึงเอาตัวละครที่ถูกซ่อนไว้ออกมา …การไล่เฉดสีของแสงแดด เฉดสีที่ต่างกันของเงามืด ทั้งหมดนี้ทำให้ธรรมชาติในภาพของกอโรมีชีวิตขึ้นมาจากความทรงจำและความรู้สึกที่กอโรมีต่อสิ่งสิ่งนั้น ประกายของแสงที่ตกกระทบบนผิวน้ำของกอโร กลับแฝงไว้ด้วยความรู้สึกของกอโรยามมองสิ่งนั้น ซึ่งการใส่มุมมองของตัวเองลงไปในฝีแปรงที่จรดผืนผ้าใบ คือสิ่งที่ชาว Impressionist หมายมั่นที่จะถ่ายทอดออกมาให้ได้

Jean-Baptiste Camille Corot , Paysage, soleil couchant (1865 - 1870)

Jean-Baptiste Camille Corot , Paysage, soleil couchant (1865 - 1870)

ในเวลาต่อมา เหล่าว่าที่ Impressionist อย่างโมเนต์, บาซีย์, เรอนัวต์ และ อัลเฟร็ด ซิสลีย์ ก็เลิกไปฝึกฝนฝีมือที่สตูดิโอของมาสเตอร์ผู้ช่ำชองศิลปะจินตนิยมและบาโรก แล้วกลับมาใช้เวลา ณ ชายป่าฟองแต็งเบลอร์แห่งนี้แทน และ ณ ที่แห่งนี้เอง ที่เหล่าว่าที่ศิลปิน Impressionist ได้พบกับ ‘ชายผู้หยิ่งทะนงและยโสโอหังที่สุดในฝรั่งเศส’ และเป็นผู้ให้คำนิยามนี้กับตัวเอง

ชายคนนั้นคือ กุสตาฟว์ กูร์แบ ศิลปินผู้เรียกตัวเองว่า ‘ศิลปินสัจนิยม’ คนแรกในประวัติศาสตร์

ผลงาน Le Déjeuner sur l'herbe โดย Claude Monet ที่ Gustave Courbet อยู่ในภาพ นั่นก็คือชายที่ใส่ชุดสูทสีดำ

ผลงาน Le Déjeuner sur l'herbe โดย Claude Monet ที่ Gustave Courbet อยู่ในภาพ นั่นก็คือชายที่ใส่ชุดสูทสีดำ

The Wave (La Vague), 1869 โดย Gustave Courbet ซึ่ง Claude Monet เคยกล่าวว่าเป็นผลงานที่ให้แรงบันดาลใจแก่เขาอย่างมาก

The Wave (La Vague), 1869 โดย Gustave Courbet ซึ่ง Claude Monet เคยกล่าวว่าเป็นผลงานที่ให้แรงบันดาลใจแก่เขาอย่างมาก

Realism ศิลปะแห่งความสามัญอันแสนพิเศษ

ในการจะทำความเข้าใจ Impressionism ได้อย่างถ่องแท้ เป็นไปไม่ได้เลยที่จะมองข้ามขบวนการศิลปะรุ่นพี่ที่แนะแนวการถ่ายทอดโลกในแบบที่ตาเห็น แต่ใส่ความรู้สึกและ ‘เลนส์’ ในการมองของตัวเองลงไปด้วย ซึ่งขบวนการศิลปะที่ว่าก็คือ สัจนิยม หรือ Realism ที่พาศิลปินถอยห่างออกจากเรื่องราวในตำนานและมหาวีรบุรุษ แล้วหันมาให้ความสนใจคนจนผู้ยิ่งใหญ่ ชาวนา ชาวบ้าน รวมไปถึงแผ่นฟ้ากว้างใหญ่และไร่นาสุดลูกหูลูกตาที่เป็นฉากหลังของพวกเขา


The Death of Sardanapalus (1827 และ 1874) ผลงานของ Eugène Delacroix ศิลปินคนสำคัญแห่งยุค Romanticism เล่าตำนานของกษัตริย์ Sardanapalus

The Death of Sardanapalus (1827 และ 1874) ผลงานของ Eugène Delacroix ศิลปินคนสำคัญแห่งยุค Romanticism เล่าตำนานของกษัตริย์ Sardanapalus

The Stone Breakers (1849) โดย Gustave Courbet นำเสนอภาพของกรรมกรในชนบท

The Stone Breakers (1849) โดย Gustave Courbet นำเสนอภาพของกรรมกรในชนบท

ในความเป็นจริงแล้ว เค้าลางของ Realism หรือศิลปะแห่งการถ่ายทอด ‘ความจริง’ นั้นเห็นได้ตั้งแต่การมาถึงของกลุ่มศิลปินบาร์บิซอน ผู้บ่ายหน้าหนีการถ่ายทอดเรื่องราวในตำนานและสุนทรียะแห่งความดรามาติกของ Romanticism แล้วพากันมาขลุกตัวอยู่ในธรรมชาติ หากแต่ในสายตาของ กุสตาฟว์ กูร์แบ อีกหนึ่งศิลปินผู้หนีออกมาจากศิลปะสถาบัน แล้วมาลงเอยที่หมู่บ้านบาร์บิซอนแห่งนี้ ในเวลาไม่นาน เขาก็ค้นพบว่าการถ่ายทอดความงามของธรรมชาติ หาใช่ ‘ความจริง’ ที่เขามองเห็น ในที่สุดแล้ว สรวงสวรรค์แห่งธรรมชาติที่ปราศจากผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่ในนั้น ก็เป็นเพียงภาพฝันถึงยูโทเปียที่หาใช่ความจริงแท้ในโลกที่เขามองเห็น

Gustave Courbet, The Wheat Sifters (1854)

Gustave Courbet, The Wheat Sifters (1854)

Jean-François Millet, Harvesters Resting (Ruth and Boaz), (1850–1853)

Jean-François Millet, Harvesters Resting (Ruth and Boaz), (1850–1853)

“ศิลปินชาวไร่” และ “ศิลปินกรรมกร” คือคำปรามาสจากศิลปินตัวพ่อแห่งขบวนการศิลปะ Romanticism อย่าง ยูจีน เดอลาครัวซ์ ที่มอบให้กับกูร์แบและ ฌ็อง-ฟร็องซัว มีแล สองศิลปินผู้ผลักดันศิลปะแห่งความจริง แต่กลายเป็นว่า คำปรามาสนั้นกลับเป็นคำอธิบายผลงานและตัวตนของศิลปินทั้งสองได้อย่างดี ท่ามกลางบรรยากาศการงัดข้อกันระหว่างชนชั้นปกครองและชนชั้นกรรมกรกับกระฎุมพีและกระแสความเปลี่ยนแปลงที่กำลังโหมกระหน่ำใส่สังคมฝรั่งเศส (และที่อื่น ๆ ในยุโรป) เรื่องราวของมหาเทพและมหาวีรบุรุษในปกรณัมและตำนานไม่สามารถจับใจศิลปินผู้ใช้ชีวิตอยู่ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงได้อีกต่อไป กูร์แบและมีแลคือศิลปินคนแรก ๆ ที่มองเห็นการติดหล่มอยู่กับอดีตจนมองไม่เห็นปัจจุบันของศิลปะ ดังที่กูแบเคยกล่าวว่า “ในอดีต ฉันร่ำเรียนทั้งศิลปะแห่งยุคโบราณกาลและศิลปะแห่งยุคสมัยใหม่ โดยหาได้คำนึงว่า ‘ระบบ’ มีอำนาจเหนือพวกมันอย่างไร หรือแนวคิดใดที่สร้างพวกมันขึ้นมา”

นั่นจึงนำมาซึ่งความตั้งใจของกูร์แบและมีแลที่จะสร้างศิลปะที่เกิดจากการเปิดตาให้กับ ‘ปัจจุบัน’ หาใช่การย้อนกลับไปถ่ายทอดมุมมองจากอดีตกาลซ้ำแล้วซ้ำเล่าอีกต่อไป

หากนำผลงานของมีแลที่ได้ชื่อว่าเป็นตัวอย่างผลงานที่อธิบายศิลปะ Realism อย่าง The Gleaners (1857) ได้ดีที่สุด มาวางคู่กับภาพถ่ายเก่าที่บันทึกภาพชาวนาหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน จะเห็นได้ว่ามีแลนำเสนอภาพได้ ‘ซื่อตรง’ กับความจริงที่ปรากฏให้เห็นอยู่ตรงหน้าของเขา แต่แตกต่างจากศิลปะของกลุ่มบาร์บิซอนผู้หลงใหลในความงามของธรรมชาติ ทิวทัศน์ท้องฟ้าและทุ่งนาในผลงานของมีแลหาได้โอ้อวดความงามราวสวนสวรรค์ แต่กลับถูกถ่ายทอดภายใต้ความง่ายงามของความสงบนิ่ง และช่วยเสริมเรื่องราวของเหล่าชาวนาที่กำลังเอาหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดินอยู่ในภาพ

Jean-François Millet, The Gleaners, 1857

Jean-François Millet, The Gleaners, 1857

การอยู่กับ ‘ปัจจุบันกาล’ คือจปรัชญาสำคัญที่กลุ่มศิลปินแห่งลัทธิประทับใจรับต่อมาจากศิลปินสัจนิยม หนึ่งในชาว Impressionist ที่ได้รับอิทธิพลนี้มาเต็ม ๆ ก็คือ เอดัวร์ มาเนต์ ผู้นำแนวคิดการถ่ายทอดความจริงมาตกตะกอน จนเกิดเป็นการตั้งคำถามท้าทายกลุ่มศิลปิน Realism เลือดแท้ว่า ‘ความจริง’ ที่ว่านั้น คือความจริงแบบไหน? หรือของใคร? เพราะสำหรับมาเนต์ ความจริงของเขาไม่ได้อยู่ในโลกแห่งธรรมชาติ หรือโลกที่เห็นตรงหน้าเพียงอย่างเดียว แต่ความจริงของมาเนต์คือโลกแห่งความจริงที่อยู่ ‘ข้างใน’ ตัวศิลปิน หรือพูดง่าย ๆ ว่าโลกที่ศิลปินมองเห็น ซึ่งผ่านการกลั่นกรองของความคิดและความรู้สึกของศิลปินมาแล้ว

สำหรับมาเนต์ สิ่งเดียวที่ศิลปินต้องมอบความจงรักภักดีให้คือโลกบนผืนผ้าใบ หาใช่โลกของกฎแห่งธรรมชาติ หรือโลกแห่งกายภาพที่อยู่ตรงหน้า สำหรับมาเนต์ ฝีแปรงที่ศิลปินตวัดลงบนผืนผ้าใบ คือความจริงสูงสุดที่ศิลปินจะมอบให้กับโลกใบนี้ได้

Édouard Manet, Music in the Tuileries, 1862

Édouard Manet, Music in the Tuileries, 1862

ผลงานของมาเนต์ส่งอิทธิพลต่อโมเนต์เป็นอย่างมาก ในแง่ของการให้ความสำคัญกับ ‘ช่วงเวลา’ ที่อยู่ตรงหน้า มากกว่าสิ่งที่อยู่ตรงหน้า ซึ่งนำมาสู่การพัฒนาเทคนิคการตวัดฝีแปรงอย่างรวดเร็วของโมเนต์ เพื่อเก็บช่วงเวลาที่แสงกระทบกับสรรพสิ่งไว้ในผืนผ้าใบ ก่อนที่มันจะหายไปในชั่ววินาที

ในเวลาต่อมา เมื่อโมเนต์และผองเพื่อนศิลปินรุ่นใหม่ได้ยินข่าวว่า ผลงานของศิลปินอย่างกูร์แบถูกปฏิเสธจากคู่ปรับไม้เบื่อไม้เมาอย่าง Paris Salon แต่สิ่งที่ศิลปินรุ่นพี่จอมขบถของพวกเขาลงมือทำ ก็คือการเข้ายึดพื้นที่ด้านนอกอาคารที่เป็นสถานที่จัดแสดงนิทรรศการของ Paris Salon แล้วจัดแสดงผลงานที่ถูกปฏิเสธจากสถาบันศิลปะอันทรงเกียรติแบบซึ่งหน้า! นั่นเองที่พวกเขาเริ่มมองเห็นว่า… ที่ทางของศิลปะแนวคิดใหม่ที่พวกเขากำลังก่อร่างสร้างขึ้นมานั้น อาจไม่ใช่การเดินตามระเบียบแบบแผนของโลกศิลปะ และพื้นที่จัดแสดงงานใน Paris Salon อาจไม่ใช่สิ่งจำเป็นอีกต่อไป

(ติดตามอ่านตอนต่อไปในซีรีส์ Impressionist ในสัปดาห์หน้า)