ในอ้อมกอดแห่ง Sublime ธรรมชาติ และความงดงามของความโดดเดี่ยว ในภาพวาดของ Caspar David Friedrich
‘Sublime’ คือหนึ่งในคำศัพท์ทางสุนทรียะที่ยากจะหาคำไทยหรือคำคุณศัพท์ในภาษาอังกฤษอื่น ๆ มาใช้นิยามแทน แล้วยังคงได้ใจความสำคัญครบถ้วน ถ้าจะใช้คำว่า ‘ซาบซึ้งตรึงใจ’ ก็ดูจะไม่ทรงพลังพอ แต่จะใช้คำว่า ‘ประเสริฐเลิศเลอ’ ก็ดูจะค่อนไปทางความรู้สึกทางจิตวิญญาณหรือศีลธรรมจรรยา มากกว่าจะนำเสนอประสบการณ์ของการได้ ‘ประสบ’ กับความงดงามอันยิ่งใหญ่ที่ทำให้ประสาทสัมผัสของเราทั้งหมดตื่นตะลึงและพร่างพราย
เพราะแทบจะไม่มีคำใดสามารถใช้แทนความรู้สึกที่เรียกว่า ‘Sublime’ ได้ การยกภาพแทนความรู้สึกนั้นก็อาจจะง่ายกว่า และทุกครั้งเมื่อพูดถึง Sublime ภาพหนึ่งและภาพเดียวที่ถูกยกขึ้นมาใช้อธิบายประสบการณ์ตะลึงพรึงเพริดทางอารมณ์นั้นก็มักหนีไม่พ้นภาพ Wanderer above the Sea of Fog (1818) โดยศิลปินชาวเยอรมันผู้ได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งศิลปะโรแมนติกของเยอรมนี (Romanticism) คาสปาร์ ดาวิด ฟรีดริช
ภาพของชายหนุ่มที่ยืนหันหลังให้ผู้ชมและประจันหน้ากับความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติที่ถูกสะท้อนผ่านทิวเมฆสุดลูกหูลูกตาที่ทอดตัวยาวราวกับคลื่นมหาสมุทรนี้คือผลงานที่นิยามขบวนการเคลื่อนไหวทางศิลปะแห่งศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ศิลปินหันความสนใจจากการถ่ายทอดตำนานปรัมปราและฉากทางศาสนาไปสู่การนำเสนอความยิ่งใหญ่ของเทพเจ้าที่แท้จริง นั่นก็คือ ธรรมชาติ
แต่ในขณะที่ศิลปินในยุคนั้นนิยมถ่ายทอดธรรมชาติผ่านแสงแดดอบอุ่นเรืองรอง โดยมีภาพในอุดมคติเป็นทิวทัศน์กว้างไกลของชนบทในอิตาลี ฟรีดิชที่เติบโตมาพร้อมกับอุปนิสัยการเป็นคนช่างเก็บตัวและขี้อาย ซึ่งมีสาเหตุมาจากเหตุการณ์สะเทือนใจในวัยเด็กที่เขาต้องมองน้องชายที่ตกลงไปในร่องน้ำแข็งและเสียชีวิตไปต่อหน้าต่อตา กลับสนใจการวาดทิวทัศน์ของบรรยากาศยามเช้าอันหนาวเหน็บ ท้องทะเลในยามราตรี ท้องฟ้าสีเทาก่อนที่พระอาทิตย์จะโผล่ที่ขอบฟ้า หรือภาพทุ่งนาถูกน้ำท่วมในฤดูใบไม้ผลิ
แน่นอนว่าผลงานธรรมชาติในบรรยากาศสีหม่นของฟรีดิชไม่ได้รับการยอมรับจากผู้คนในแวดวงศิลปะในยุคนั้น งานของฟรีดิชให้อารมณ์ความรู้สึกอันหม่นหมองมากกว่าจะนำเสนอความยิ่งใหญ่มลังเมลืองของธรรมชาติสีสันสดใส โดยผลงานที่อื้อฉาวและสร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่สุดของเขาก็หนีไม่พ้น Cross in the Mountains (1808) ที่นำเสนอภาพร่างของพระคริสต์ถูกตรึงบนไม้กางเขนในขณะที่พระอาทิตย์ยามเช้ากำลังปรากฏที่ขอบฟ้า ซึ่งสิ่งที่ทำให้ผู้คนไม่ยอมรับภาพนี้ก็เพราะว่าตามปกติแล้ว ศิลปินมักจะนำเสนอภาพของพระคริสต์ที่ถูกปลดจากไม้กางเขนและถูกแวดล้อมด้วยสาวกผู้กำลังโศกเศร้า มากกว่าจะนำเสนอภาพของพระคริสต์ที่เผชิญหน้ากับความตายอย่างโดดเดี่ยว
ที่จริงแล้วฟรีดิชก็เหมือนกับศิลปินคนอื่น ๆ ในยุคนั้นที่ค้นพบความยิ่งใหญ่ในใจกลางของธรรมชาติ เพียงแต่เขาเชื่อมโยงธรรมชาติเข้ากับประสบการณ์ส่วนตัว โดยเฉพาะมุมมองเรื่องชึวิตและความตาย ฟรีดิชมองว่าภาพทิวไม้ ภูเขา สายหมอก ดวงจันทร์ที่กำลังเคลื่อนคล้อย รวมไปถึงเงาสะท้อนบนผืนน้ำ ล้วนสะท้อนถึงความรู้สึกอันยิ่งใหญ่ที่มนุษย์ทุกคนล้วนเคยประสบ ทั้งความเจ็บปวด ความรัก ความทรมาน ซึ่งความรู้สึกเหล่านี้ล้วนเชื่อมโยงมนุษย์เข้ากับพระผู้เป็นเจ้า ภาพวาดของฟรีดิชจึงดึงดูดผู้คนที่อาจไม่เชื่อในศาสนาและเรื่องเล่าอภินิหาริย์ในคัมภีร์อีกต่อไป แต่ยังคงมีศรัทธาอันยิ่งใหญ่ในมนุษย์และสิ่งที่อยู่เหนือไปจากมนุษย์
ตลอดชีวิตของฟรีดิช แม้กระทั่งหลังจากที่เขาแต่งงานและมีลูก ๆ แล้ว เขาก็ยังคงนิสัยปลีกวิเวกและทุ่มเทเวลาไปกับการทำงานในสตูดิโอเพียงลำพัง ซึ่งฟรีดิชกลับพบว่า ความสันโดษหาได้นำเขาไปสู่ทางแห่งการสำมะเรเทเมาดังที่คนไร้มิตรส่วนใหญ่พึงเป็น แต่การอยู่เพียงลำพังกลับช่วยให้เขาสัมผัสได้ถึงห้วงอารมณ์และความคิดที่ซ่อนลึกเกินเอื้อมถึงในยามปกติ
นั่นจึงเป็นที่มาของ Wanderer above the Sea of Fog ผลงานที่สะท้อนปรัชญาแห่งยุคโรแมนติกซึ่งมาก่อนกาล ในตอนที่ภาพชายหนุ่มผู้หันหลังให้ผู้ชมและประจันหน้ากับทะเลหมอกออกสู่สายตาผู้ชม มันไม่ได้รับการยอมรับหรือเสียงชื่นชมมากนัก กระทั่งหลังจากที่เขาเสียชีวิตไปแล้วที่นักคิดนักปรัชญาแห่งยุคสมัยถัดไปได้หวนกลับมาชื่นชมงานของฟรีดิชและค้นพบปรัชญาในภาพวาดที่คนยุคนั้นยังไม่สามารถเข้าใจได้ Wanderer above the Sea of Fog ไม่ใช่แค่ภาพที่สำแดงความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติต่อหน้ามนุษย์ แต่มันยังสะท้อนความยิ่งใหญ่ของมนุษย์ที่หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ เมื่อมนุษย์ประจันหน้ากับธรรมชาติ เขากลับได้ค้นพบจักรวาลอันกว้างใหญ่ที่อยู่ภายในตัวเอง
และนั่นก็คือความรู้สึกของ Sublime ที่ถูกอธิบายผ่านภาพนักเดินทางเหนือทะเลหมอก …ความรู้สึกที่เกิดขึ้นเมื่อเราได้ประจันหน้ากับสิ่งอันยิ่งใหญ่ แล้วเรากลับรู้สึกถึงความยิ่งใหญ่เอิบอาบภายในตัวเรา
5 กันยายน สุขสันต์วันเกิด Caspar David Friedrich ศิลปินแห่งยุคโรแมนติกผู้เปิดเผยจักรวาลในตัวเรา