เมื่อชนชั้นนำเป็นผู้เขียนประวัติศาสตร์ ‘สามัญปฏิวัติ’ จึงบังเกิด คุยกับ ไนล์ - เกศนคร พจนวรพงษ์ ผู้วาดการ์ตูนบอกเล่าประวัติศาสตร์แรงงานไทย
เมื่อพูดถึง ‘ประวัติศาสตร์ไทย’ ภาพและเรื่องราวแรก ๆ ที่ปรากฏขึ้นมาในหัวของเราอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ คงหนีไม่พ้นเรื่องราวความกล้าหาญและความปราดเปรื่องของพระมหากษัตริย์ไปจนถึงบรรดาขุนศึกขุนนางผู้ทุ่มเทอุทิศชีวิตเพื่อปกป้องบ้านเมือง อันเป็นสาระสำคัญที่ถูกบรรจุไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ สั่งสอนร่ำเรียนเขียนอ่านกันมาตั้งแต่ปฐมยันมัธยม จนแทบจะเรียกได้ว่าเด็กไทยใช้เวลาเกือบครึ่งชีวิตไปกับการรับรู้และจดจำวีรกรรมความกล้าหาญของชนชั้นนำไทย
ในพงศาวดารไล่ไปจนถึงตำราเรียนประวัติศาสตร์ไทยที่ถูกใช้ในหลักสูตรการศึกษาขั้นสามัญ เรื่องราวของ ‘คนสามัญ’ แทบไม่เคยถูกกล่าวถึงหรือจรดจารไว้ หากจะถูกกล่าวถึงก็ถูกกวาดรวมไว้หลวม ๆ ภายใต้คำว่า ‘ไพร่-ทาส’ …เป็นกลุ่มคนไร้ใบหน้าที่ปรากฏเป็นเพียงจำนวนตัวเลขในของกองทัพ หรือจำนวนแรงงานที่ถูกใช้ในการสร้างบ้านสร้างเมือง สร้างรากฐานความยิ่งใหญ่ของชนชั้นนำ
การหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์กระแสหลักของคนสามัญธรรมดา คือแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้ ไนล์ - เกศนคร พจนวรพงษ์ นิสิตปี 4 ภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เลือกที่จะทำธีสิสออกมาเป็นผลงานการ์ตูนที่บอกเล่าเรื่องราวของคนสามัญที่แทรกตัวอยู่ระหว่างบรรทัดของหน้าประวัติศาสตร์ไทย จนกลายเป็น ‘สามัญปฏิวัติ’ เว็บตูนที่บอกเล่าประวัติศาสตร์แรงงานไทย ซึ่งไนล์ได้ลงให้อ่านกันฟรี ๆ แพลตฟอร์ม Webtoon
ภายใต้ชื่อในการทำงานว่า ‘Liner (ไลเน่อ)’ บทบาทของไนล์ไม่ได้เป็นแค่นิสิตและนักเขียนการ์ตูน แต่เธอยังมีบทบาทในฐานะสมาชิกสหภาพแรงงานสร้างสรรค์แห่งประเทศไทย (CUT) ที่ทำงานเพื่อขับเคลื่อนสิทธิและคุณภาพชีวิตของคนทำงานสร้างสรรค์ โดยเฉพาะเหล่าแรงงานในอุตสาหกรรมสื่อ ศิลปะ และวัฒนธรรมในบ้านเรา
“เราชอบการ์ตูนและการวาดรูปตั้งแต่จำความได้เลย เพราะเกิดในบ้านที่พี่สาวทั้งสองคนติดการ์ตูนและชอบวาดรูปเหมือนกัน สื่อที่มีให้เสพในวัยเด็กของเราคือการ์ตูนล้วน ๆ ทั้งมังงะและอนิเมชั่น รู้ตัวอีกทีก็วาดรูปมาตลอด” ไนล์เล่าให้เราฟังถึงที่มาที่ไปที่ทำให้เธอสนใจการวาดการ์ตูน ซึ่งเธอมองว่าเป็นรูปแบบของงานศิลปะที่ส่งอิทธิพลต่อความคิดของคนรุ่นใหม่มาก ๆ “พอช่วงมหา’ลัย สื่อการ์ตูนของเกาหลีแบบเว็บตูนก็เริ่มโตขึ้น เราเลยได้มีโอกาสส่งผลงานประกวดไปบ้าง คิดว่าสักวันนึงก็อยากจะสร้างผลงานการ์ตูนดี ๆ ทิ้งไว้สักเรื่อง
“จนปัจจุบันกำลังจะเรียบจบมหา’ลัย ก็เลยถือโอกาสอยากทำธีสิสเกี่ยวกับการ์ตูนที่เป็นสิ่งนึงที่เรารักมาก ๆ สักครั้ง และมันก็ตอบสนองความต้องการของเราที่มาเรียนนิเทศ เพราะอยากทำให้การเมืองเป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อีกด้วย”
สำหรับจุดเริ่มต้นที่ทำให้ไนล์ได้มารู้จักกับ ‘ถวัติ ฤทธิเดช’ ตัวละครเอกในสามัญปฏิวัติ ผู้มีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์และได้รับการจดจำในฐานะ ‘ราษฎรสามัญชน’ ผู้มีบทบาทสำคัญต่อสังคมการเมืองไทยในช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ก็มาจากการได้เข้ามาทำงานในสหภาพแรงงานสร้างสรรค์แห่งประเทศไทย หนังสือ 1 เล่ม และคำถามเรื่องการหายไปของสามัญชนในหน้าประวัติศาสตร์ไทย
“ตอนที่จะทำธีสิส เราได้รับการแนะนำมาว่ามีประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจของแรงงานอยู่ และได้รู้จักกับหนังสือเรื่อง ‘แรงงานวิจารณ์เจ้า’ ของ อ.ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ ที่เป็นข้อมูลหลักของการ์ตูนเรื่องนี้ ตอนนั้นเป็นครั้งแรกเลยที่ได้ยินชื่อของถวัติ ฤทธิเดช
“เราเป็นคนที่ติดตามประวัติศาสตร์การเมืองไทยอยู่ก่อนแล้ว เนื่องจากคุณพ่อเป็นนักกฎหมายและนักเขียนหนังสือประวัติศาสตร์การเมือง แต่ประวัติศาสตร์แรงงานแทบจะไม่สามารถหาอ่านได้ที่ไหนยกเว้นในหนังสือเฉพาะทางจริง ๆ หนังสือประวัติศาสตร์ไทยมักจะถูกผูกไว้กับเรื่องราวของชนชั้นปกครองเสมอ ขนาดที่แม้แต่การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ที่มีให้อ่านน้อย ก็นำเสนอแต่เรื่องของคณะราษฎรที่เป็นแกนนำ แต่การกล่าวถึงบริบทสังคมในขณะนั้นว่าคนไทยคิดอะไรอยู่ แทบจะหาไม่เจอ จึงต้องมาศึกษาจากประวัติศาสตร์ของแรงงาน”
จากจุดเริ่มต้นดังกล่าวมาสู่การทำงานรีเสิร์ชอันหนักหน่วง ไนล์เล่าว่าเธอได้รับความช่วยเหลือจากอาจารย์ศิโรตม์ผู้ยินดีแบ่งปันข้อมูลประวัติศาสตร์และมุมมองที่น่าสนใจให้เธอมากมาย แม้ว่าจะได้รับข้อมูลจากการสัมภาษณ์และการค้นคว้าเอกสารทางประวัติศาสตร์ แต่ส่วนที่ท้าทายมากไปกว่านั้นคือหลักฐานเชิงรูปภาพซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญมาก ๆ ในการทำงานการ์ตูน การตามหาภาพถ่ายของถวัติยังไม่ยากเท่ากับการจินตนาการสภาพบ้านเมืองและวิถีชีวิตของผู้คนในเวลานั้น โดยเฉพาะภาพชีวิตประจำวันของกรรมกรรถรางซึ่งมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการต่อสู้ แต่ก็ไม่ค่อยมีการบันทึกภาพคนสามัญเช่นพวกเขาเอาไว้
“เมื่อเรารู้แล้วว่าหลักฐานอะไรหายไป จึงตามหามันต่อจากที่ต่าง ๆ พิพิธภัณฑ์แรงงานไทยมีส่วนช่วยในการรวบรวมหลักฐานเกี่ยวกับแรงงานเอาไว้มาก ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์กรรมกร ที่นอกจากจะช่วยด้านบทความที่ถวัติเคยเขียน ยังทำให้เราเห็นถึงภาษาที่คนในสมัยนั้นใช้สนทนากัน เราเรียนรู้บริบทของสังคมในสมัยนั้นผ่านหนังสือพิมพ์เป็นส่วนใหญ่
“ซึ่งกว่าจะได้ข้อมูลเพียงพอในการนำมาวาดให้ออกเป็นภาพ ก็กินเวลาอยู่หลายเดือน ถ้าให้คำนวณดี ๆ แล้ว ตั้งแต่เริ่มทำเรื่องนี้ในช่วงต้นปี เราใช้เวลากับงานวาดและงานการ์ตูนอยู่แค่เดือนหรือสองเดือนเท่านั้น”
นอกจากความสนใจในประวัติศาสตร์แรงงานไทยซึ่งได้รับการจุดประกายจากการอ่านหนังสือและการทำงานในสหภาพแรงงานฯ แล้ว อีกหนึ่งเหตุผลสำคัญที่ทำให้ไนล์ตั้งใจถ่ายทอดเรื่องราวของแรงงานในประวัติศาสตร์ไทยก็มาจากความตั้งใจที่จะใช้แพลตฟอร์มที่คนยุคใหม่เข้าถึงได้ง่ายที่สุดอย่างการ์ตูน ในการนำเสนอเรื่องราวของคนที่ถูกมองข้ามไปในประวัติศาสตร์ นั่นก็คือคนธรรมดาสามัญ
“การ์ตูนประวัติศาสตร์ไทยมีเยอะแยะ แต่ประวัติศาสตร์ส่วนนึงที่หายไปคือเรื่องราวจากประชาชน ที่ไม่ได้มีอำนาจในการเขียนประวัติศาสตร์ลงในหนังสือเรียนอย่างที่ทุกวันนี้เด็กใช้เรียนกัน ต่อให้เราจะเขียนเรื่องคณะราษฎร มีตัวละครหลักเป็นปรีดี หรือจอมพลป. ไปเลย ก็ยังมีคนรู้จักแล้ว แต่อย่างถวัติ จะมีคนบนโลกสักกี่คนเชียวที่เคยได้ยินชื่อของเขา ทั้ง ๆ ที่เรื่องราวชีวิตของคนคนนี้น่าตื่นเต้นและควรจะเป็นที่จดจำมาก เราเลยตัดสินใจที่จะเขียนเกี่ยวกับถวัติ
“และด้วยความที่ช่วงเวลาที่เขามีชีวิตอยู่ทำให้เขาเป็นตัวแทนของประวัติศาสตร์แรงงานที่สำคัญมาก ๆ ตั้งแต่ยุคก่อน 2475 จนถึง 2490 การเรียนรู้เรื่องราวของถวัติ จึงเป็นการเรียนรู้ประวัติศาสตร์แรงงานไปพร้อมกัน”
สุดท้าย เมื่อเราถามไนล์ว่านอกจากการเป็นธีสิสจบการศึกษาแล้ว เธอคาดหวังอะไรจากผลงานชิ้นนี้อีกบ้าง? คำตอบที่ไนล์ให้กับเรามานั้นไม่ใช่แค่ความคาดหวังของนักวาดภาพ แต่เป็นความคาดหวังในฐานะประชาชนคนหนึ่ง และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นประชาชนคนหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในฐานะ ‘แรงงาน’ ผู้ขับเคลื่อนฟันเฟืองของประเทศนี้
“เราหวังให้คนรุ่นใหม่มีความเข้าใจและเห็นความสำคัญของสหภาพแรงงาน ขบวนการแรงงาน เราอยากให้ผลงานชิ้นนี้นำไปสู่การสร้างจิตสำนึกทางชนชั้น เป็นส่วนหนึ่งในการจรรโลงระบอบประชาธิปไตย
“เราก็เป็นแรงงานคนหนึ่ง เป็นแรงงานนักเขียนการ์ตูน แรงงานนักเขียนการ์ตูนก็ไม่ต่างจากแรงงานอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นฟรีแลนซ์ ข้าราชการ พนักงานบริษัท พ่อค้าแม่ขาย เกษตรกร ประมง รับจ้าง เป็นคนเกือบ 40 ล้านคนของประเทศนี้ เพราะฉะนั้นประวัติศาสตร์ของแรงงาน ก็คือประวัติศาสตร์ของเราด้วย และเป็นประวัติศาสตร์ของทุกคนเช่นกัน และมันแปลกมากที่เราจะมีชีวิตอยู่โดยไม่เคยได้รับรู้ถึงประวัติศาสตร์ที่แท้จริงของตัวเอง
“สุดท้ายแล้วเราอยากทำให้คนเห็นว่า การ์ตูนเป็นสื่อที่มีพลัง และสามารถต่อยอดให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อไปได้ อาจจะไม่มากเท่าไหร่ แต่ก็อยากให้สามัญปฏิวัติเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีและทำให้คนเห็นความเป็นไปได้ของสื่อการ์ตูนไทยในอนาคต”
อ่าน ‘สามัญปฏิวัติ’ ได้ที่ https://linktr.ee/liner_d_ler