สรุป 5 เรื่องราวน่าสนใจจาก TedxBangkok 2023 ที่ชวนเรา ‘มอง ยิน ยล’ หนทางเปลี่ยนสังคม จากคนลงสนามจริง

Post on 4 December

เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา เวทีส่งต่อไอเดียระดับโลกอย่าง 'TEDxBangkok 2023’ ได้ขนทัพเหล่า Speakers และ Performers จำนวน 13 คน เดินทางไปจุดประกายความคิด ผ่านสปีชดี ๆ กันถึงที่สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) ภายใต้แนวความคิด ‘See Sound Seen’ See the Unheard, Hear the Unseen เพราะทุกเสียงมีความหมายและการหยุดฟังอย่างตั้งใจจะทำให้เรามองเห็นโลกรอบกายได้ดียิ่งขึ้น

ภายในงานก็ได้มีการแบ่งเวลา Talk ออกเป็นสี่ช่วง พร้อมด้วยกิจกรรมน่าสนใจมากมาย ที่เชื้อเชิญให้เราร่วมกันส่งเสียงเพื่อเปลี่ยนแปลงกรุงเทพฯ เช่น ‘Listen to BANGKOK!’ ฟัง 100 เสียงจากหลากหลายมิติในกรุงเทพฯ ที่ถูกร้อยเรียงจากบรรยากาศที่แตกต่างกันในหนึ่งวัน, ‘0-99 ฟังเสียงทุกช่วงวัย’ ฟังเสียงคนอายุ 0 - 99 ปีตอบคำถามว่า “ถ้าแนะนำอะไรตัวเองได้ในอดีตได้ คุณจะพูดว่าอะไร” และ ‘Observation Deck’ พื้นที่สังเกตการณ์ที่ออกแบบมาให้มองเห็นผู้คน สถาปัตยกรรม ธรรมชาติ และความวุ่นวายภายในงาน TEDxBangkok ผ่านกล้องส่องทางไกลและแอบฟังเสียงของทีมงานผ่านวิทยุสื่อสาร เป็นต้น

และเนื่องจากในวันนั้น GroundControl ได้มีโอกาสเข้าไปฟังและร่วมสนุกกับทุกกิจกรรมที่เกิดขึ้นใน ‘TEDxBangkok 2023’ วันนี้เราเลยได้เก็บเอา 5 เรื่องราวน่าสนใจจาก TedxBangkok 2023 มาสรุปให้ทุกคนลองอ่านกันแบบย่อยง่าย เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสียงขับเคลื่อนสังคม ผ่านการส่งต่อแนวคิดดี ๆ ที่ชวนเราไป ‘มอง ยิน ยล’ หนทางเปลี่ยนสังคมจากคนลงสนามจริง ที่ออกมาแชร์ประสบการณ์กัน

ดร.วสันต์ ภัทรอธิคม
ผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม Traffy Fondue

"ลองถามตัวเองว่า เรามีพลังในการสร้างการเปลี่ยนแปลงได้มากแค่ไหน"

คือคำพูดเปิดเวที TedxBangkok จากสปีกเกอร์คนแรก ‘ดร.วสันต์ ภัทรอธิคม’ ผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม Traffy Fondue ที่ช่วยจับคู่ให้คนมองเห็นปัญหากับคนแก้ไขปัญหามาเจอกัน จนนำไปสู่การสร้างสังคมที่ดีขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทย

ดร.วสันต์ ได้เริ่มต้นชี้ชวนให้เรามองไปยังช่วงเวลาก่อนหน้านี้ว่า มีหลายครั้งที่ปัญหาบางอย่างสามารถแก้ไขได้หากมีช่องทางให้คนสามารถแจ้งข่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยกตัวอย่างเช่น ข่าวคนตกท่อในกรุงเทพมหานคร ที่เกิดขึ้นมากถึงปีละ 750 ครั้ง นั่นจึงเป็นที่มาของการสร้างแพลตฟอร์มอย่าง Traffy Fondue ขึ้นมา เพื่อทำให้คนที่สามารถแก้ไขปัญหาได้มาช่วยกัน แน่นอนว่าเพียงแพลตฟอร์มอย่างเดียวไม่เพียงพอ แต่ผู้ใช้งานทุกคนต้องใช้เป็น เชื่อใจ และมีกำลังใจที่จะทำให้สำเร็จด้วย เขาจึงได้สรุปสามปัจจัยที่จะทำให้ปัญหาถูกแก้ไขผ่านแพลตฟอร์มนี้ได้จริง

ปัจจัยแรกคือการมีผู้นำที่เข้าใจและเอาจริง ในปัจจุบันมีหน่วยงานที่นำ Traffy Fondue ไปใช้หลายแห่ง เช่น กรุงเทพมหานคร, ภูเก็ต และกรมทรัพยากรธรณีด้วย ซึ่งผู้นำของทั้งสามแห่งนี้ก็ได้ให้ความสำคัญกับแพลตฟอร์มนี้จนผลักดันให้เกิดขึ้นจริง และเมื่อผู้นำเอาจริงก็นำพาไปสู่ปัจจัยที่สองนั่นก็คือภาคประชาชนที่เชื่อมั่นในผู้นำและระบบมากพอ จนกล้าแจ้งปัญหา เพราะพวกเขาเชื่อว่าเสียงที่เปล่งออกไปจะได้รับการรับฟัง และสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้จริง

ในปัจจุบันนี้แพลตฟอร์ม Traffy Fondue ได้รับความเชื่อใจสูงมาก สังเกตได้จากจำนวนคนแจ้งที่มีมากถึง 450,000 เคส และได้รับการแก้ไขไปแล้วกว่า 300,000 เคส และสิ่งที่ช่วยยืนยันได้อีกอย่างถึงความเชื่อใจในระบบนี้ ก็คือมีคนเดิม ๆ หลายคนที่แจ้งปัญหาเข้ามาจนเป็นกิจวัตรประจำวัน เช่น ‘ราชันทางเท้า’ จากเขตบึงกุ่ม ผู้แจ้งปัญหาเรื่องทางเท้าชำรุดมากสุดถึง 5,429 ครั้ง และ ‘เพชรฆาตป้ายกองโจร’ ที่แจ้งเรื่องป้ายโฆษณาผิดกฎหมายต่าง ๆ มากถึง 1,717 ครั้ง และมีนักเรียนที่เลือกจะใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อฟ้องการกระทำต่าง ๆ ของอาจารย์ด้วย

และแน่นอนว่าระบบทุกอย่างจะไม่สามารถดำเนินต่อไปได้อย่างสมบูรณ์หากขาด ‘เจ้าหน้าที่’ ของรัฐ โดยการมีผู้นำที่ดีจะช่วยให้เจ้าหน้าที่มีขวัญและกำลังใจ เช่น กรุงเทพมหานคร ถ้าเขตไหนสามารถแก้ไขปัญหาได้ดีที่สุดในแต่ละเดือนจะได้กินข้าวกับผู้ว่าฯ รวมถึงการที่ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นประเมินการทำงานได้ ก็ช่วยให้พวกเขาเห็นว่าสิ่งที่ตัวเองลงแรงไปนั้นมีคนเห็น ซึ่งตอนนี้แพลตฟอร์ม Traffy Fondue ก็ได้เปิดใช้แล้วถึง 16 จังหวัด 3,000 ตำบล/เทศบาล และกว่า 650,000 เคสทั้งหมดที่แจ้งเข้ามา ก็ได้รับการแก้ไขไปแล้วกว่า 60 เปอร์เซ็นต์

สปีชครั้งนี้ของดร.วสันต์ ได้ทำให้เรามองเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงสามารถเกิดขึ้นได้จริง ๆ และคนตัวเล็ก ๆ แบบพวกเราก็สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงนั้นได้ ดังที่ดร.วสันต์ได้กล่าวปิดท้ายไว้ว่า

"ตอนนี้เราสามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งต่าง ๆ ได้ด้วยตัวเองแล้ว เมืองพร้อมแล้ว เจ้าหน้าที่พร้อมแล้ว คำถามคือคุณพร้อมหรือยัง ถ้าคุณพร้อม ลองฟ้อง -ดู"

วรพจน์ บุญความดี
นักธรรมชาติวิทยาและนักสื่อสารธรรมชาติ

"การหายไปของหอยทับทิมที่หาดมะนาวในวันนั้น ทำให้ผมรู้ว่าเสียงไม่จีรังและสามารถสูญหายได้เหมือนกัน ผมจึงเริ่มบันทึกเสียงธรรมชาติตั้งแต่นั้นมา"

วรพจน์ บุญความดี นักธรรมชาติวิทยาและนักสื่อสารธรรมชาติ ได้เปิดประเด็นเรื่อง ‘การฟัง’ ที่เป็นมากกว่าการได้ยินให้เราได้ทำความรู้จักกัน เขาได้ยกเรื่องการรับฟังเสียงของมนุษย์ขึ้นมาตั้งข้อสังเกตให้เราฟังว่า ในขณะที่เสียงของมนุษย์สามารถพูดดังได้เพียง 40 - 60 เดซิเบล แต่เรากลับสามารถรับฟังเสียงดังได้มากที่สุดถึง 120 เดซิเบล นั่นหมายความว่าหูของเราไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อฟังมนุษย์ด้วยกันพูดเพียงอย่างเดียว แต่ต้องฟังสิ่งอื่นด้วยต่างหาก

การฟังเสียงธรรมชาติ ทำให้เขารู้ว่าเสียงเองก็มีวันหายไป เหมือนกับที่เขาเคยบันทึกเสียงเปลือกหอยทับทิมกระทบกันที่หาดมะนาว แต่เมื่อกลับไปที่อ่าวมะนาวอีกครั้ง มันก็ไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว เปลือยหอยทับทิมเหล่านั้นหายไปแล้ว

หรือในตอนที่เขาบันทึกเสียงนกในบึงละหาน ที่ร้องกันดังระงมหลายสายพันธุ์ แต่เมื่อผ่านไปหนึ่งปี เขาก็พบว่าบึงละหานได้เปลี่ยนไป เพราะมีพืชเอเลี่ยนสปีชีย์อย่าง ‘จอก’ หลุดลงไป จนแพร่กระจายเต็มน้ำทั้งหมด และเหลือเสียงนกไม่กี่ตัวเท่านั้น

และอีกครั้งที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เพื่อบันทึกเสียงร้องของชะนี เขาก็ได้ยินเสียงของสัตว์เหล่านั้นอย่างเต็มเปี่ยม แต่พอกลับมาตั้งใจฟัง เขากลับได้ยินเสียงเบสจากดนตรีที่ซอกซอนทะลุป่าเข้ามาได้ด้วย นั่นทำให้เขาพบว่า ขนาดเข้ามาในป่าลึกขนาดนี้ ก็ยังสามารถรับรู้เสียงได้ แล้วสัตว์ที่มีความสามารถในการได้ยินดีกว่าเรา จะรู้สึกอยู่ไม่สุขและเสียดแทงได้มากแค่ไหน

‘การรับฟัง’ เสียงของธรรมชาติ จึงเป็นสิ่งที่มนุษย์ถูกออกแบบมาตั้งแต่ต้น เพราะเราต้องรับรู้ถึงเพื่อนร่วมโลก ที่มีชีวิตอยู่ร่วมโลกใบเดียวกับเรา และเมื่อเราเห็นว่าเสียงพวกเขาจะหายไป เราจะหาทางรักษาเขามากขึ้น ดังนั้นถ้าเราได้ลองฟังเสียงธรรมชาติดูสักครั้ง แล้วโลกของเราอาจจะเปลี่ยนไปก็เป็นได้

รศ. ดร. คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม (อาจารย์หน่อย)
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในผู้ขับเคลื่อนกฎหมายอากาศสะอาด ประเทศไทย

"มองไม่เห็น ไม่ใช่ไม่มี เหมือนสิทธิ์ที่จะหายใจในอากาศสะอาด ที่ต่อให้จับต้องไม่ได้ แต่เราสามารถแสดงออกมาได้ว่าเราต้องการจะมีสิ่งนี้ และแสดงมันออกมา"

ในฐานะที่อาจารย์หน่อยเป็นประชาชนคนหนึ่ง ที่สูญเสียคุณแม่ไปจากโรคมะเร็งปอด ทำให้เธอมองเห็นและเข้าใจถึงความ ‘น่าเสียดาย’ ที่ผู้คนในปัจจุบันกำลังสูญเสียสิทธิ์ที่จะมีชีวิตไปอย่างช้า ๆ เพราะปัญหาฝุ่นควัน P.M. 2.5 และยังมีคนอีกหลายคนมาก ๆ ที่ต้องจากโลกใบนี้ไปก่อนเวลาอันควร เนื่องจากโรคมะเร็งปอด และบางคนก็กำลังต่อสู้กับโรคนี้ ไปพร้อม ๆ กับนับเวลาถอยหลังไปเรื่อย ๆ

อาจารย์หน่อยได้พูดถึงสถิติของการเสียชีวิตจากมะเร็งปอดที่มากถึง 60,000 ราย/ปี หรือสี่เท่าจากการตายเพราะอุบัติเหตุ ซึ่งสาเหตุของการป่วยเป็นโรคนี้สามารถป้องกันได้ และถ้าเราเลือกได้ ก็คงอยากตายอย่างมีเหตุผล ไม่ใช่ตายจากเหตุผลที่แก้ได้ตั้งแต่ต้น อย่างการมีอากาศสะอาด ๆ หายใจ เพราะสิทธิในการหายใจอากาศสะอาด คือสารตั้งต้นของสิทธิ์ที่จะมีชีวิต และได้มาซึ่งสิทธิ์ที่จะไม่ตายก่อนวัยอันควร

อาจารย์หน่อยได้ชวนทุกคนในงานมาทำความเข้าใจกับสิ่งที่เรียกว่า ‘สิทธิ์’ ที่ต่อให้เราจะมองไม่เห็น แต่เราทุกคนล้วนมีมันอยู่ทั้งนั้น และเราสามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งที่มองไม่เห็นนี้ ให้กลายเป็นพลังขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ได้ด้วยการแสดงมันออกมา ถ้าแสดงออกคนเดียวยังไม่เห็นผล การรวมกลุ่มกันก็คือทางออก และนั่นนำไปสู่การขับเคลื่อนกฎหมายอากาศสะอาด ประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม อาจารย์หน่อยได้เสริมไว้ว่า ‘กฏหมาย’ ไม่ใช่ยาสารพัดโรคที่แก้ไขได้ทุกปัญหา เช่น การกำหนดโทษหนัก ๆ ไม่ใช่ทางออกของทุกอย่าง แต่ควรผนวกด้วยศาสตร์อื่น ๆ อย่างเศรษฐศาสตร์เข้าไปด้วย เพื่อให้มันแทรกซึมลงไปในหลาย ๆ ระนาบของสังคม การบังคับใช้ถึงจะเห็นผล และก่อให้เกิดพลังของคนในสังคมที่จะทำให้มันเกิดขึ้นจริงได้

ลดาภรณ์ แอนเดอร์สัน
ประธานชมรมคนหูหนวกไทย

"คนปกติมีสำเนียงต่างกันตามภูมิภาค คนหูหนวกก็มีภาษามือเป็นภาษาท้องถิ่นเช่นกัน"

คุณมาย - ลดาภรณ์ แอนเดอร์สัน ประธานชมรมคนหูหนวกไทยได้อธิบายความแตกต่างของภาษามือให้ทุกคนภายในงานฟัง ด้วยท่าทางกระฉับกระเฉง เธอเล่าว่าการใช้ภาษามือนั้น เมื่อคนทำท่าทางมีเพศแตกต่างกัน ก็จะมีจริตที่ต่างกันออกไปด้วย หรืออย่างคำศัพท์บางคำก็จะใช้ท่าทางต่างกันไปด้วย เช่น คำว่า ‘มังคุด’ ถ้าเป็นภาคใต้จะทำท่าบีบ ภาคกลางจะทำท่าฝานกึ่งกลาง ภาษาเหนือจะทำท่านิ้วมือวน ๆ ส่วนภาคอีสานก็จะทำมือวน ๆ เช่นกัน แต่จะทำตรงฝ่ามือ

สิ่งที่ยกตัวอย่างมาเป็นเพียงหนึ่งในความแตกต่างเล็ก ๆ ระดับยอดภูเขาน้ำแข็งที่เราสามารถมองเห็นได้ แต่ยังมีเรื่องราวเบื้องลึกอีกมากมายที่ทำให้เกิดความแตกต่างทางวัฒนธรรมและการใช้ชีวิต ระหว่างคนหูดีกับคนบกพร่องทางการได้ยิน ที่ไม่เข้าใจกันและกัน และทำให้อยู่ร่วมกันได้ยากขึ้น แต่ในปัจจุบันสิ่งเหล่านี้ได้เปลี่ยนไปแล้ว เพราะมีเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ก้าวข้ามความต่างได้ง่ายขึ้น นั่นก็คือแอปพลิเคชัน TTRS บริการสื่อสารระหว่างคนบกพร่องทางการได้ยินและคนหูดี ผ่านล่ามออนไลน์ สามารถคุยกันได้ทุกเรื่อง

"อย่าลืมเปิดใจ และเข้ามาพูดคุยกับคนหูหนวกด้วยภาษามือ เพราะมายอยากคุยกับทุกคนมากเลยนะคะ"

"และทุกท่านคะ ถ้าเห็นคนหูหนวกแล้วไม่ต้องสงสารเราหรอกนะคะ พวกเรามีความสุขดีค่ะ เพราะในความเงียบก็มีข้อดีอยู่มากมายเหมือนกันนะ"

เธอได้แสดงความรู้สึกที่อยู่ในใจออกมา เพื่อเชิญชวนให้ทุกคนกล้าที่จะทลายกรอบการสื่อสารออกมา แล้วลองมาสัมผัสกับเสียงจากคนหูหนวก

Rae Lil Black (เรวดี)
นักแสดงหนังผู้ใหญ่

“อย่าเชื่อเรื่องที่เห็นทั้งหมดในอินเทอร์เน็ต นั่นไม่ใช่เรื่องราวทั้งหมดของฉันค่ะ”

‘Rae Lil Black’ หรือ ‘เรวดี’ นักแสดงหนังผู้ใหญ่ เป็นอีกหนึ่งเซอร์ไพรส์ในงาน TedxBangkok โดยสิ่งที่เธอนำมาบอกเล่าในวันนี้ คือประสบการณ์ที่ทำให้เธอรู้จักกับ สิ่งที่เรา ‘เห็น’ , สิ่งที่คนอื่น ‘มองเห็น’ และสิ่งที่คนอื่นอยาก ‘ให้เห็น’ ในฐานะของคนทำงานในวงการหนังผู้ใหญ่ ที่ยังไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมวงกว้างเท่าที่คิด

เรวดีแนะนำให้ทุกคนลองค้นหาชื่อของเธอบนอินเทอร์เน็ตดูสักครั้ง แล้วจะได้พบกับสิ่งที่น่าสนใจหลายอย่าง ทั้งผลงานของเธอ ประวัติของเธอ ส่วนสูง น้ำหนัก ไปจนถึงหนังเรื่องโปรด และกิจกรรมที่เธอชอบทำ ซึ่งข้อมูลแต่ละอย่างก็จะทำให้เรารู้จักเธอในบุคลิกที่ต่างออกไป ทว่าข้อมูลส่วนใหญ่ที่เราได้รับ กลับไม่ใช่ตัวตนของเธอเลย ซึ่งสิ่งที่ทุกคนเห็นในนั้น ทำให้เกิดคอมเมนต์แย่ ๆ มากมายพุ่งตรงเข้ามาหาเธอทุกวัน จนเธอเศร้าและไม่อยากทำอะไรเลย

“ทำไมฉันถึงมั่นใจขนาดนี้น่ะหรอ ก็เพราะว่าผู้คนพูดแย่ ๆ ถึงฉันบนอินเทอร์เน็ตทุกวันยังไงล่ะคะ”

ในฐานะนักแสดงหนังผู้ใหญ่ เรวดีได้รับคอมเมนต์แย่ ๆ จากทุกทาง และเช่นเดียวกันกับทุกคน เธอเองก็ไม่สามารถทำเป็นไม่สนใจคอมเมนต์เหล่านั้นได้ และหลังจากที่ได้ยินหรือเห็นมันไปแล้ว มันก็ส่งผลกระทบต่อตัวเธอ แต่เมื่อเวลาผ่านไปเธอก็เริ่มพบว่า ถ้าเธอไม่เข้าไปอ่านสิ่งเหล่านั้น พวกมันก็จะไม่มีผลอะไรกับเธอ เพราะเธอต่างหากที่รู้จักตัวเองดีที่สุด ไม่ใช่คนเหล่านั้น

“ฉันพบว่าฉันคือคนเดียวที่จับมือถือขึ้นมา และพาตัวเองไปสัมผัสกับสิ่งไม่ดีเหล่านี้ เป็นตัวฉันทั้งนั้นที่เลือกพาความทุกข์มาสู่ตัวเอง ฉันเลยเลือกที่จะทำให้ตัวเองมีความสุขค่ะ”

“ฉันคือเรวดี นอกจากเป็นนักแสดงหนังผู้ใหญ่แล้ว ฉันยังเป็นผู้หญิงที่เป็นเจ้าของบริษัท จบการศึกษาด้านรัฐศาสตร์ เป็นเกมเมอร์ เป็นบิวตี้บล็อกเกอร์ และตอนนี้ฉันยังได้เป็นสปีกเกอร์คนหนึ่งในงาน TedxBangkok แล้วด้วย และอีกอย่างหนึ่งก็คือ ตอนนี้ฉันกำลังเรียนมวยไทยด้วยค่ะ”

“ตอนนี้สิ่งที่ทุกคนพูดถึงฉัน ทับถมฉัน มันไม่มีผลอะไรกับฉันอีกต่อไป เพราะฉันรู้ดีว่าคนคนนี้สามารถทำอะไรได้บ้าง และคนคนนี้นี่แหละที่สามารถทำให้ฉันมีความสุขได้”

ในช่วงท้าย เรวดีได้ชวนให้ทุกคนเริ่มตั้งคำถามกลับไปหาตัวเองบ้างว่า “แล้วคุณล่ะ คุณคือใคร อะไรคือตัวตนที่คุณอยากให้คนอื่นเห็น และคุณอยากให้โลกนี้เห็นอะไรบ้าง”