สำรวจโลกเหงา ๆ และอ้างว้าง ผ่านความทรงจำอันเลือนรางของ SiiXTY-4

Post on 6 February

ถ้าจะพูดถึงความรู้สึกแรกเมื่อได้มองภาพถ่ายของ ‘SiiXTY-4’ หรือ ‘เปา-สุกฤษฎิ์ ปัจจันตดุสิต’ ช่างภาพฟรีแลนซ์ ผู้ชื่นชอบการถ่ายภาพพื้นที่รกร้าง ภาพแทนความทรงจำ และภาพที่ชวนให้ตั้งคำถามถึงชีวิต การเดินทาง และความเป็นไปของโลก ก็คงจะเป็นความรู้สึกเงียบสงบและเหงาแบบแปลก ๆ ซึ่งเจ้าก้อนความรู้สึกนี้เอง ที่ทำให้เราไม่อยากจะเหงาอยู่คนเดียว เลยชวนศิลปินมานั่งอธิบายความเหงา ให้คนเหงา ๆ อย่างเรามาล้อมวงฟังไปด้วยกัน

สิ่งแรกที่ศิลปินได้บอกกับเราเมื่อเริ่มต้นบทสนทนากัน ก็คือแนวคิดที่เขามีต่อภาพถ่าย โดยเขาตีความว่าเสน่ห์ของภาพถ่ายนั้นเป็นเหมือนกับ ‘ความซื่อตรงที่บิดเบือนได้ง่ายมาก’

“เราคิดมาตลอดว่าภาพถ่ายคือสื่อที่ซื่อ ๆ ตรงไปตรงมา แต่ด้วยความซื่อของมันนั่นเองที่ทำให้คนดูสามารถตีความได้หลากหลายมาก อันนี้แหละคือความสนุกของการดูงานภาพถ่าย และบางครั้งตัวมันเองก็สามารถทำให้ข้อมูลบิดเบือนไปจากความเป็นจริงได้เหมือนกัน”

“สำหรับเรา ภาพถ่ายเป็นสิ่งที่สามารถเชื่อมต่อกับผู้คนได้ด้วยประสบการณ์ที่คล้าย ๆ กัน สิ่งที่ช่างภาพนำเสนอออกมา ก็อาจจะมีบางคนที่เข้าถึงสารนั้นจริง ๆ แต่ก็อาจจะมีบ้างที่ไม่เก็ท หรืออาจจะตีความเหนือไปกว่าสิ่งที่ช่างภาพต้องการสื่อสารลงในผลงาน และงานภาพถ่ายก็ยังสามารถต่อยอดไปเป็นหนังสือภาพ (Photobook) หรือแม้กระทั่งของตกแต่งบ้าน ให้ผู้ชมที่ชื่นชอบในผลงานของศิลปินคนนั้น ๆ ได้เก็บเป็นของสะสมที่อาจจะมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นในอนาคต คล้าย ๆ กับพระเครื่อง หรืองานจิตรกรรม แต่ที่เราว่ามาทั้งหมดนั้นสุดท้ายแล้วก็ขึ้นอยู่กับผู้ชมว่าจะเปิดใจให้คุณค่ากับงานภาพถ่ายมากน้อยแค่ไหน” ศิลปินเสริม

พอได้ทราบมุมมองที่ศิลปินมีต่อศาสตร์การถ่ายภาพแล้ว เราเลยอยากถามต่อว่า แล้วในฐานะที่ศิลปินเองก็เป็นช่างภาพคนหนึ่งเหมือนกัน คิดว่างานของตัวเองมีเอกลักษณ์แบบไหนบ้าง ศิลปินก็ตอบกลับแบบยิ้ม ๆ ว่า “น่าจะเป็นเรื่องความเหงาแบบอ้างว้าง กับความทรงจำที่ค่อย ๆ เลือนรางไปตามกาลเวลาครับ”

เปาเล่าว่า “ถ้าดูจากงานก่อนหน้าของเรา เราคิดว่าธีมงานส่วนใหญ่น่าจะเป็นเรื่องความเหงาแบบอ้างว้าง กับความทรงจำที่ค่อย ๆ เลือนรางไปตามกาลเวลา คงเพราะเราเป็นคนขี้ลืม และเป็นเด็กต่างจังหวัดที่ต้องจากบ้านมาไกล นาน ๆ ทีถึงจะได้เจอกับพ่อ แม่ และน้องสาว แม้รอบตัวจะมีเพื่อน ๆ และแฟนคอยอยู่เคียงข้าง แต่เราก็ยังรู้สึกเหมือนมีอะไรบางอย่างขาดหายไปอยู่ดี”

“แต่จากที่เล่ามาเราไม่ได้กำลังจะบอกว่างานของเราจะเป็นแบบนี้ไปตลอดนะ เพราะเรารู้สึกว่าในแต่ละวันเราไม่ได้เป็นคนเดิมในทุก ๆ วัน อาจจะมีการเปลี่ยนไปลองทำงานรูปแบบอื่นบ้าง และต้องขอบอกตามตรงว่าเราเองก็ยังไม่รู้ว่าเอกลักษณ์ของตัวเองคืออะไร เพราะในโลกนี้มีการทำสิ่งต่าง ๆ ซ้ำไปซ้ำมานับร้อย ๆ ครั้ง งานที่เราเคยถ่ายมาก็ล้วนแล้วแต่มีคนเคยถ่ายมาแล้วทั้งนั้น เราเลยไม่อาจเคลมได้ว่าสิ่งนี้คือตัวตนของเรา นอกจากนี้เรายังเป็นคนที่ชอบทดลองอะไรไปเรื่อย ไม่ชอบทำอะไรซ้ำ ๆ นาน ๆ เบื่ออันนี้ก็ไปลองถ่ายอย่างอื่น เราเคยมีความคิดที่อยากจะถ่ายให้หมดทุกประเภทนะ เพราะไหน ๆ ก็เลือกที่จะเดินในเส้นทางช่างภาพแล้ว เลยคิดว่าถ้ามีโอกาสเข้ามาทำไมจะไม่ลองดูล่ะ”

หลังจากฟังมาถึงตรงนี้ เราก็เริ่มมองเห็นภาพที่มาของคอนเซปต์ต่าง ๆ ที่ศิลปินเลือกเพื่อถ่ายรูป ทั้งความเหงา ความหลงลืม ความคิดถึงบ้าน และความอ้างว้าง เราเลยอยากชวนศิลปินคุยถึงภาพผลงานชุดล่าสุดที่เขาเพิ่งปล่อยออกมาให้เราได้ชมกัน นั่นก็คือ ‘TW w/o HM’ ซึ่งเป็นภาพวิวทิวทัศน์ในพื้นที่ที่ถูกทิ้งร้างไว้ เงียบเหงา และไร้ผู้คนว่ามีจุดเริ่มต้นอย่างไร และต้องการจะสื่อสารออกมาแบบไหน?

พอได้ฟังคำถาม ศิลปินก็คิดอยู่ครู่หนึ่ง ก่อนจะบอกกับเราว่า “งานภาพชุด ‘TW w/o HM’ เป็นงานที่เราเริ่มถ่ายช่วงทำธีสิสแรก ๆ เลย แต่ตัวเราในตอนนั้นยังไม่รู้ว่าถ่ายไปทำไม แค่รู้สึกว่าชอบความลึกลับของตัวบ้านที่ถูกพืชสีเขียวกลืนกิน สำหรับเรามันเหมือนเราถูกดึงดูดความสนใจให้เข้าไปสำรวจร่องรอยของมนุษย์ อารมณ์ประมาณว่าเหมือนได้เข้าไปสำรวจถ้ำที่มีภาพวาดโบราณอยู่ตามผนังและเพดานครับ”

“หลังจากผ่านไปอีกสักพัก เราก็ได้มีโอกาสไปดูงาน ‘หลงสวรรค์ : Lost in paradise’ ของพี่เล็ก เกียรติศิริขจร ครั้งแรกที่ได้เห็นงานนี้เรารู้สึกทึ่งกับบรรยากาศแบบโลกหลังการล่มสลาย (Post-Apocalypse) ในงานภาพของพี่เล็กมาก ๆ แล้วเราก็ไปเจอหนังสือชื่อว่า ‘The world without us’ เป็นหนังสือที่พูดถึงโลกที่อยู่ ๆ มนุษย์ก็ได้หายตัวไปด้วย”

“เนื้อหาส่วนใหญ่ของหนังสือเล่มนั้น จะเล่าถึงความเป็นไปของสิ่งต่าง ๆ บนโลกที่ไร้มนุษย์ มีประโยคหนึ่งจากบทนำที่เราชอบมาก ๆ และเป็นกุญแจสำคัญในงานชิ้นนี้ ประโยคนั้นคือ ‘ขอให้นึกภาพโลกที่จู่ ๆ มนุษย์เราก็หายไป พรุ่งนี้เลย ทุกสิ่งทุกอย่างยังคงอยู่ตามเดิม แซะออกไปแต่มนุษย์ ลบเราออกไป แล้วดูสิ่งที่เหลืออยู่ถูกปลดปล่อยจากความเครียด ธรรมชาติจะฟื้นฟูพื้นที่เสื่อมโทรมกลับสู่สภาพสวนอีเดนอีกครั้ง’

“นอกจากนี้ในช่วงที่เราเริ่มถ่ายงานชุดนี้ ก็มีเรื่อง Covid-19 และฝุ่น PM 2.5 เพิ่มเข้ามาอีก โดยทั้งสองอย่างนี้ก็มีต้นเหตุมาจากการกระทำของมนุษย์เหมือนกัน และผลกระทบสุดท้ายก็มาตกที่มนุษย์ด้วย เราเลยอยากจะพาทุกคนมาสำรวจโลกที่เราไม่ได้เป็นผู้ชนะ และถูกธรรมชาติยึดคืนฟื้นฟูสถานที่ที่ครั้งหนึ่งมันเคยเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์นานาชนิด และพิจารณาถึงสิ่งต่าง ๆ ที่เราได้สร้างมันขึ้นมา ผ่านงานชุดนี้ครับ”

เปายังบอกกับเราต่ออีกว่า “ชื่อ ‘TW w/o HM’ ยังไม่ได้เป็นชื่องานจริง ๆ แค่เป็นชื่อในการทำงานของโปรเจกต์นี้เท่านั้น ส่วนชื่องานจริง ๆ เรายังหาชื่อที่ชอบไม่เจอก็เลยใช้โค้ด ซึ่งเป็นตัวย่อของหนังสือ 2 เล่มอย่าง ‘The world without us’ และ ‘Homo Sepiens’ หนังสือสองเล่มที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับงานชุดนี้”

จากงานชุดล่าสุดนี้ทำให้เราได้เห็นถึงการพัฒนามุมมองความเหงาในอีกรูปแบบหนึ่งของ SiiXTY-4 เพราะจากความเหงาที่ส่งตรงมาจากความอ้างว้างในจิตใจ การคิดถึงครอบครัว และการเข้ามาอยู่ในเมืองใหญ่คนเดียว ก็ได้แปรเปลี่ยนรูปแบบมาพูดถึงความเหงาของโลกที่ไร้มนุษย์ แต่กลับเป็นโลกที่เต็มไปด้วยความเงียบสงบที่หลาย ๆ คนน่าจะอยากใช้เวลาอยู่กับมัน อีกทั้งภาพถ่ายชุดนี้ น่าจะตรงกับความรู้สึกของใครหลาย ๆ คนที่อยากจะหลีกหนีจากทุกภัยพิบัติและมลภาวะไปให้ไกล แต่ยิ่งมองภาพนี้เท่าไร เราก็จะรู้ได้ทันทีว่าคงหนีไม่พ้น เพราะพวกเราคือคนที่ก่อมันขึ้นมาเอง

Self-Portrait

ในบรรดาภาพทั้ง 5 รูปที่เราเลือกมา ภาพนี้เป็นภาพที่เราประทับใจที่สุด โดยได้ภาพนี้มาในช่วงน้ำท่วมปี 2021 ที่ทาวน์อินทาวน์ ตอนนั้นเรารู้สึกเบื่อๆ เลยออกไปเดินถ่ายรูปเล่น แล้วไปเจอแสงไฟจากเสาไฟสะท้อนบนน้ำที่มีคลื่นเอื่อย ๆ จากรถที่ขับผ่าน ช่วงเวลานั้นไม่ได้คิดอะไรเลย แค่อยากรู้ว่าถ้ากดรัวชัตเตอร์ไปเรื่อย ๆ แสงสะท้อนจากน้ำจะออกมาเป็นรูปอะไร จนได้กลับมาดูในคอมที่บ้านถึงได้เห็นรูปนี้ เรามองว่าเค้าโครงของมันเหมือนกับหน้าคน เลยตั้งชื่อว่า Self-Portrait เพราะตอนถ่ายเราใช้เวลากับมันนานมาก ๆ ใบนี้เลยให้ความรู้สึกส่วนตัวว่ามันเหมือนเงาสะท้อนของตัวเราเอง

House of the creator

บ้านหลังนี้เป็นโรงยาง และเป็นที่พักของพ่อเราในป่ายางบนเขา บ้านม่วงก็อง อ.สะเดา จ.สงขลา เรามีความทรงจำที่ดีต่อที่นี่ค่อนข้างเยอะ มันเป็นที่ที่รู้สึกสงบที่สุดเท่าที่เคยเจอมา ด้วยความที่มันเหมือนจะตัดขาดจากโลกภายนอก ไฟฟ้าก็ไม่มีให้ใช้ และสัญญาณโทรศัพท์ก็น้อยมาก ๆ ตกกลางคืนที่นี่จะมืดสนิท มีแค่แสงจากดวงจันทร์ริบหรี่ และแสงไฟฉายที่พ่อใช้ส่องทางตอนกรีดยาง ช่วงเช้าที่นี่จะเขียวชอุ่ม ทั่วทุกบริเวณมีอากาศเย็นสบาย และอากาศสะอาดมาก ๆ จนรู้สึกอิ่มปอด และยังเป็นที่ที่เราได้ใช้เวลาร่วมกับพ่อมากที่สุดแล้ว

Family Trip

รูปนี้มาจากงานชุด ‘KANDA’ หรือธีสิสของเราเอง ว่าด้วยเรื่องการที่เราต้องออกจากบ้านมาเรียนในสถานที่ห่างไกล และเวลาที่ผ่านไปในแต่ละวันที่เราไม่ได้อยู่พร้อมหน้ากับครอบครัว จนบางครั้งเราก็เหมือนจะหลงลืมบางช่วงเวลาที่เราเคยได้ใช้ร่วมกับครอบครัว ในตัวงานนี้เราทำขึ้นมาเพื่อย้ำเตือนตัวเองว่า ข้างหลังยังมีครอบครัวที่รอเรากลับไปสู่อ้อมกอดของพวกเขาอยู่ และเป็นผลงานที่ทำขึ้นเพื่อระลึกถึงคุณตาอันเป็นที่รักของครอบครัวเราที่เสียชีวิตไปเมื่อปี 2557

Untitled

ภาพนี้ได้มาช่วงที่เกิดการประท้วงที่ราชประสงค์ เงาคนในรูปก็คือ ไมค์-ภาณุพงศ์ จาดนอก ที่กำลังขึ้นพูด ปราศรัยถึงรัฐบาลที่มาจากการทำรัฐประหาร เราชอบภาพนี้เพราะมันตีความไปได้หลายทาง และชอบในความพยายามของตัวเราเองที่ต้องเข้าไปแทรกตัวกับช่างภาพข่าวนับสิบคนที่กำลังรุมถ่ายไมค์กันอยู่ ณ ตอนนั้น

King Pigeon

เป็นภาพใบแรก ๆ ที่เราภูมิใจกับมัน ได้มาตอนเรียนปี 2 ช่วงเริ่มถ่าย Street ใหม่ๆ ด้วยความที่ต้องรอจังหวะนกพิราบให้ได้ตามที่คิดไว้ คนเคยถ่ายนกจะเข้าใจว่านกพิราบมันเดาใจยากมาก ๆ เราประทับใจมากจนถึงขั้นต้องเอามาดราฟลายแล้วให้ช่างสักลงแขนเลย

ถ้าใครอยากร่วมสำรวจไปกับโลกของคนเหงา ๆ ที่ถ่ายทอดออกมาบนความอ้างว้าง สามารถตามไปเสพภาพถ่ายที่บันทึกออกมาจากความทรงจำอันเลือนรางของ SiiXTY-4 กันได้ที่: https://www.facebook.com/SukritPatjuntadusit