ประวัติศาสตร์ฉบับย่อของสุนทรียะยุค 2000s ที่วนกลับมา ‘จ๊าบ’ อีกครั้ง

Post on 24 January

เมื่อยุค 2000s จบลง ไม่มีใครคิดว่าสิ่งต่าง ๆ ที่ ‘เกิด’ และ ‘ดับ’ ไปในยุคนั้นจะหวนกลับมามีชีวิตอีกครั้ง โดยเฉพาะคนในแวดวงแฟชั่นที่เคยลงความเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่า นี่คือยุคมืดแห่งแฟชั่นขนานแท้ คำนิยามที่คนในโลกแฟชั่นเคยมอบไว้ให้กับยุครุ่งเรืองของกางเกงยีนขาม้าเอวต่ำและเสื้อแจ็คเกตสีชมพูก็มีตั้งแต่ ‘สไตล์ที่แย่ที่สุดของศตวรรษ’ ไปจนถึง ‘เหมือนมีใครอ้วกออกมาเป็นของเซลท่วมตัวเรา’

‘Y2K’ คือคำเรียกสุนทรียะแห่งยุค 2000 ที่เหล่าแฟชั่นดีไซเนอร์และนักออกแบบเคยเบือนหน้าหนี แต่มันกลับค่อย ๆ คืบคลานกลับมามีชีวิตใหม่ในเทรนด์ยุคปัจจุบันที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่แฟชั่น แต่ลุกลามไปถึงศิลปะ งานออกแบบ และสิ่งต่าง ๆ ที่กลายมาเป็นไอเทมฮิตของชาวเจน Z ในปัจจุบัน ซึ่งคำว่า Y2K (ย่อมาจาก ‘Year 2000’) ได้ถูกใช้ครั้งแรกในเหตุการณ์วินาศสันตะโรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของประวัติศาสตร์โลกไซเบอร์ เมื่อคอมพิวเตอร์ทั้งโลกเผชิญกับ ‘บั๊ก’ ที่ทำให้เครือข่ายคอมพิวเตอร์ทั้งโลก ‘ล่ม’ ไปตามกัน และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เหตุการณ์ความพังพินาศทางโลกไซเบอร์ในครั้งนั้นก็ถูกใช้เป็นหมุดหมายหลักในการอธิบายยุคสมัยและความทรงจำที่ผู้คนมีต่อยุค 2000s

แล้วเหตุใดการล่มสลายของยุค 2000s ถึงได้ก่อตัวจนกลายมาเป็นสิ่งที่คนเจน Z หลงใหลคลั่งไคล้? เหตุใดยุคสมัยที่เคยถูก ‘เชมมิง’ ว่าเป็นยุคมืดของแฟชั่นและการออกแบบจึงได้กลายมาเป็นต้นแบบหรือเรฟของเหล่านักออกแบบและแฟชั่นดีไซเนอร์รุ่นใหม่? เหตุใดแฟชั่นชุดออกกำลังกายและมือถือฝาพับของ ปารีส ฮิลตัน จึงกลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง? วันนี้ GroundControl ขอพาทุกเจเนอเรชันย้อนกลับไปสำรวจสุนทรียะของ Y2K ที่กำลังกลับมา ‘จ๊าบใจ’ คนรุ่นใหม่กันอีกครั้ง รับรอบว่าอ่านจบแล้วต้องร้องออกมาว่า ‘Hit me baby one more time!’

What is ‘Y2K’?

ก่อนที่จะกลายมาเป็นชื่อเรียกสุนทรียะหรือสไตล์ที่โด่งดังและฮิตสุด ๆ ใน พ.ศ. นี้ ‘Y2K’ กลับเป็นของแขยงสำหรับเหล่าผู้ใหญ่ที่เคยเป็นหนุ่มสาวคนทำงานในยุค 2000s โดยเฉพาะเหล่าคนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์หรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในยุคนั้น

แล้วตกลงมันเกิดอะไรขึ้นในยุค 2000s เท้าความก่อนว่า ย้อนกลับไปสมัยที่คอมพิวเตอร์ยังประกอบด้วยเครื่องพีซีและจอนูนหนาเตอะ (น้อง ๆ ที่อ่านมาถึงตรงนี้แล้วจินตนาการไม่ออก ต้องขอโทษด้วยจริง ๆ) การเก็บข้อมูลในคอมพิวเตอร์นั้นเป็นอะไรที่แพงมาก ๆ ในขณะที่ยุคปัจจุบันเราสามารถเก็บข้อมูลหลายสิบกิ๊กกะไบต์ลงในแฟลชไดร์อันเล็ก ๆ ได้ หรือไม่ก็สามารถซื้อหน่วยเก็บความจำภายนอก (External Drive) ที่มาพร้อมกับความจุหลายเทเลไบต์ได้ในราคาไม่กี่พันบาท แถมมาในรูปแบบของกล่องสี่เหลี่ยมเล็กกว่าฝ่ามือที่เราสามารถพกไปไหนมาไหนก็ได้ แต่ย้อนกลับไปในยุคก่อน 2000s พื้นที่สำหรับเก็บข้อมูลในคอมพิวเตอร์มีราคาแพงมาก ๆ ต่ำสุดราคาแล้วประมาณ 10 ดอลลาร์ หรือ 300 กว่าบาท ต่อพื้นที่ความจุแค่ ‘1 กิโลไบต์’ ซึ่งถ้าอยากจะได้แบบของที่มีคุณภาพหน่อย อาจอยู่ที่ราคา 100 ดอลลาร์ หรือ 3,000 กว่าบาทต่อ 1 กิโลไบต์เลยทีเดียว!

ความล้าหลังทางเทคโนโลยีที่คนรุ่นใหม่ในยุคปัจจุบันคงจินตนาการกันแทบไม่ออกนี้แหละที่เป็นที่มาของ Y2K หรือ ‘ปัญหาปี 2000’ ด้วยความที่พื้นที่เก็บข้อมูลบนคอมพิวเตอร์มีราคาแพงมหาศาล คอมพิวเตอร์ทั้งหมดในยุคนั้นจึงเก็บข้อมูลปี ค.ศ. ด้วยเลขสองหลักสุดท้ายแทน (2 digits) โดยตัดตัวเลขสองหลักข้างหน้าคือ 19-- ออกไป ดังที่เราคุ้นเคยและเรียกยุคสมัยต่าง ๆ ด้วยวิธีนี้ เช่น ปี 50, 60, 70 ฯลฯ วิธีการนี้ช่วยประหยัดพื้นที่เก็บข้อมูลในคอมพิวเตอร์ได้อย่างมหาศาล และคอมพิวเตอร์ทั้งโลกต่างก็เก็บข้อมูลปีด้วยตัวเลขเพียงสองหลักหลังเท่านั้น

แต่ลองคิดดูสิว่า… แล้วจะเป็นเช่นไร หากคอมพิวเตอร์ที่ถูกตั้งโปรแกรมมาให้จดจำว่า เลขที่อยู่ข้างหน้าเลขสองตัวท้ายของปีคือเลข 19 เสมอ ต้องเผชิญหน้ากับ ‘สหัสวรรษใหม่’ ที่ขึ้นต้นด้วยเลข 20!

โลกหมุนไปโดยที่การเก็บข้อมูลบัตรเครดิต ใบเสร็จ ระบบบัญชีที่ครอบคลุมถึงการคำนวนต่าง ๆ ด้วยระบบดิจิทัลยังคงบันทึกข้อมูลด้วยรูปแบบของ DDMMYY ซึ่งเรียงตามวันที่ เดือน และปี (ที่ใช้เลขแค่สองตัวหลัง) แต่แล้วในปี 1958 บ็อบ เบเมอร์ วิศวกรโปรแกรมเมอร์ชาวอเมริกันก็เป็นคนแรกที่ลุกขึ้นมาให้คำพยากรณ์ต่อชาวโลกว่า ในอีกไม่ถึง 50 ปีข้างหน้า โลกจะต้องเผชิญกับวิกฤตคอมพิวเตอร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ที่เกิดจากเรื่องง่าย ๆ แค่การบันทึกปีด้วยระบบเลขสองหลักนี่ล่ะ!

ที่จริงเบเมอร์ก็หาใช่เทพธิดาพยากรณ์ใด ๆ เพียงแต่เขาดันเป็นคนแรก ๆ ที่ได้พบกับปัญหานี้เข้าอย่างจังตอนที่กำลังเขียนโปรแกรมสำหรับบันทึกสาแหรกของครอบครัว ที่ทำให้ต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับตัวเลขปี ค.ศ. แบบเต็ม ๆ และเบเมอร์ก็ใช้เวลา 20 ปีหลังจากนั้นพยายามจะชี้ชวนให้เหล่าโปรแกรมเมอร์, คนที่ไอบีเอ็ม ไปจนถึงรัฐบาลสหรัฐอเมริกา หันมาสนใจบั๊กเล็ก ๆ ที่จะกลายเป็นเหตุการณ์วินาศสันตะโรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไซเบอร์!

เค้าลางของปัญหาเริ่มปรากฏขึ้นในช่วงยุค 1980s ในแวดวงการขายพันธบัตรและตลาดหุ้น เนื่องจากการซื้อขายทรัพย์สินเหล่านี้จะต้องมีการคำนวนกำไรหรือวันที่มีผลล่วงหน้า ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นวันที่ที่เกินปี 2000s ในปี 1987 จึงมีรายการของการ ‘ล่ม’ ของระบบคอมพิวเตอร์ของตลาดหุ้นนิวยอร์ก เนื่องจากคอมพิวเตอร์ไม่สามารถคำนวณข้อมูลของปีในยุค 2000s ได้ นำมาสู่ความเสียหายเป็นมูลค่าถึง 20 ล้านดอลลาร์

การเผาหลอกในครั้งนั้นนำมาสู่การร่วมใจของชาวโลกในการยับยั้งไม่ให้วิกฤติ Y2K เกิดขึ้น จนสุดท้ายแล้วเมื่อโลกก้าวเข้าสู่สหัสวรรษใหม่หรือปี 2000 วิกฤติการณ์ Y2K ก็ไม่ได้เกิดขึ้นจริง จนประธานาธิบดี บิล คลินตัน ได้ออกมาการประกาศว่า การยับยั้งวิกฤติ Y2K เป็น ‘ความสำเร็จในการรับมือกับความท้าทายแห่งศตวรรษที่ 21’

กระนั้น พงศาวดารแห่งโลกไซเบอร์ (ว่าซั่น) ก็ได้บันทึกไว้ว่า การมาถึงของ Y2K ได้เปลี่ยนมโนทัศน์ที่มนุษย์โลกมีต่อเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ จากเดิมที่คนยุค 2000s เคยเชื่อว่าเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และดิจิทัลจะทำให้ชีวิตของทุกคนดีขึ้น นำทุกชีวิตไปสู่โลกอนาคตอันสดใส แต่เมื่อผู้คนได้เผชิญหน้ากับความกลัวต่อวิกฤติ Y2K ผู้คนก็เริ่มมองเทคโนโลยีในมุมมองที่ต่างและดาร์กไปจากเดิม จนกลายมาเป็นมรดกทางความคิดที่ส่งผลให้เราทุกวันนี้เริ่มตระหนักถึงด้านมืดและภัยร้ายจากเทคโนโลยี (แก้ไขข้อมูลตามคำแนะนำของผู้อ่าน)

Y2K the Aesthetic

จากบั๊กคอมพิวเตอร์ล้างโลก แล้ว Y2K กลายมาเป็นสุนทรียะหรือ ‘Aesthetic’ สุดจ๊าบจี๊ดใจ ของคนรุ่นใหม่เจน Z ได้อย่างไร?

#Y2K the Aestheticองการมาถึงของ Y2K ก็เหมือนกับการกลับมาของเทรนด์ ‘ยิ่งเยอะยิ่งดี’ ก่อน ๆ เช่น Maximalism นั่นก็คือการปลดแอกจากสุนทรียะความ ‘น้อยแต่มาก’ หรือ Minimalism ที่ครองโลกดีไซน์มานานนับทศวรรษ

ในขณะที่คนเจน Y หรือเหล่าคนยุคมิลเลนเนียลหวนกลับไปนึกถึงความทรงจำสมัยวัยหวานกับมือถือฝาพับและโปรแกรม MSN เหล่าคนเจน Z ที่เกิดไม่ทันยุคสมัยนั้นกลับมองยุคสมัยแห่งคอมพิวเตอร์จอหนาและแผ่นซีดี (ฮือ) ในฐานะยุคสมัยที่ดูเป็นดังเรื่องเล่าในตำนานที่พวกเขาไม่มีโอกาสได้มีประสบการณ์ร่วม นอกเหนือไปกว่านั้น เหล่าคนเจน Z ผู้เป็นคนปลุกชีพยุค 2000s นี้ขึ้นมาใหม่ยังมีความซาบซึ้งกับยุค 2000s ในฐานะยุคแห่งอุดมคติทางโลกไซเบอร์ที่ผู้คนยังมีมุมมองในแง่บวกกับสหัสวรรษใหม่ที่กำลังมาถึง เป็นยุคท้ายสุดที่ผู้คนยังมองว่าเทคโนโลยีและโลกไซเบอร์จะพาทุกคนไปสู่อนาคตที่สดใส ถ้านึกไม่ออก ลองนึกถึงหนังไซไฟในยุคก่อน 2000s ที่มองว่า ในปี 2010 โลกจะเต็มไปด้วยรถบินได้ อะไรแบบนั้นล่ะ

The Design of Y2K

แล้วอะไรบ้างที่ถูกนิยามว่าเป็น ‘ความ Y2K’? เรื่องนี้เราจะขออ้างอิงจาก Y2K Aesthetic Institute บล็อก Tumblr ที่ก่อตั้งในปี 2014 และนับเป็นชาวเน็ตคนแรก ๆ ที่สัมผัสได้ว่า สุนทรียะแห่งยุค 2000s กำลังจะกลับมา โดย Y2K Aesthetic Institute ได้กำหนดช่วงปีที่เป็นปีต้นกำเนิดของสไตล์ Y2K ว่า อยู่ในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1998-2003 โดยในแง่ของแฟชั่น สิ่งที่บ่งบอกความเป็น Y2K ก็คือกางเกงหนังคับติ้ว อายแชโดวฟรุ้งฟริ้งระยิบระยับ เสื้อฟ้ามันวับหรือประดับตกแต่งด้วยกลิตเตอร์เพชร แว่นกันแดดทรงสี่เหลี่ยมสีนีออน ไปจนถึงงานดีไซน์แนว Futuristic ต่าง ๆ

สไตล์ Y2K มักเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและลุคชุดอวกาศรัดติ้วมันวับที่ดูราวกับถอดมาจากหนังไซไฟโลกอนาคต ซึ่งก็เป็นสไตล์ที่สะท้อนถึงการมองอนาคตในแง่บวก หรือที่เรียกว่า ‘ยูโทเปียนแห่งโลกอนาคต’ (ในขณะที่ยุค 2010s จนถึงปัจจุบัน เรามักจะพูดถึง ‘ดิสโทเปียแห่งโลกอนาคต’ กันซะมาก) โดยหนึ่งในสตูดิโอออกแบบที่มีอิทธิพลต่อการออกแบบในยุคนั้นมากที่สุดก็คือ The Designers Republic สตูดิโอออกแบบกราฟิกจากเชฟฟีลด์ ประเทศอังกฤษ โดยผลงานที่เป็นภาพจำของสตูดิโอแห่งนี้ก็คือบรรดาโลโก้เพลงอิเลกทรอนิกต่าง ๆ ที่เน้นควาสนุกสนานและสีสันสดใส นอกจากนี้ผลงานการออกแบบของสตูดิโอแห่งนี้ยังมักดึงแรงบันดาลใจมาจากอนิเมะญี่ปุ่นและสไตล์การออกแบบโลโก้จากศตวรรษก่อนหน้าที่มักถูกมองว่า ‘ไม่สวย ไม่เท่ ไม่คูล’ แต่สำหรับที่นี่กลับมองว่าเจ๋ง จนทำให้พวกเขายึดปรัชญาการออกแบบว่า ‘ความเด๋อด๋าของลัทธิบริโภคนิยมที่ถูกถ่ายทอดผ่านงานออกแบบโลโก้ขององค์กร’ ซึ่งลูกค้าของสตูดิโอแห่งนี้ก็มีตั้งแต่ Adidas, Coca-Cola, MTV, Nokia, Nikoloden ฯลฯ และหนึ่งในผลงานสร้างชื่อของสตูดิโอนี้ก็คือ Wipeout 2097นอกจากนั้น ไอเทมและสิ่งสร้างสรรค์แห่งยุค 2000s ที่ส่งอิทธิพลให้เกิดสไตล์ Y2K อีกก็ไล่ไปตั้งแต่ การมาถึงของ Windows 95, Pokemon ไปจนถึงบรรดาตัวพ่อตัวแม่แห่งยุค 2000s ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Limp Bizkit, NSYNC, บริตนีย์ สเปียร์ส, วิล สมิธ ที่มาพร้อมกับหนังอย่าง Gettin' Jiggy wit I และ Men in Black, Spice Girls และเหนือสิ่งอื่นใด แฟชั่นกางเกงหนัง แว่นตาดำ และตัวเลขดิจิทัลสีเขียวใน The Matrix นั่นเอง

นอกจากนั้น ไอเทมและสิ่งสร้างสรรค์แห่งยุค 2000s ที่ส่งอิทธิพลให้เกิดสไตล์ Y2K อีกก็ไล่ไปตั้งแต่ การมาถึงของ Windows 95, Pokemon ไปจนถึงบรรดาตัวพ่อตัวแม่แห่งยุค 2000s ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Limp Bizkit, NSYNC, บริตนีย์ สเปียร์ส, วิล สมิธ ที่มาพร้อมกับหนังอย่าง Gettin' Jiggy wit I และ Men in Black, Spice Girls และเหนือสิ่งอื่นใด แฟชั่นกางเกงหนัง แว่นตาดำ และตัวเลขดิจิทัลสีเขียวใน The Matrix นั่นเอง

Y2K Fashion

แต่สิ่งที่บ่งบอกความเป็น Y2K ได้มากที่สุดก็คงหนีไม่พ้น ‘แฟชั่น’ ซึ่งนอกจากปัจจัยจากสื่อกระแสหลักอย่าง เซเลบ หนัง หรือมิวสิกวิดีโอแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้แฟชั่นที่เกิดขึ้นในยุค 2000s จับใจเหล่าคนยุคใหม่ก็คือ ความกล้าที่จะทดลองและความกล้าที่จะแตกต่างของคนยุคสหัสวรรษใหม่ นำมาซึ่งไอเทมหลุดโลกแฟชั่นอย่าง กางเกงขาม้า เสื้อแจ็กเกตเมทัลลิก เสื้อยัดรัดติ้วสีสันสดใสที่เรียกว่า Babytee เสื้อตาข่ายหรือเสื้อซีทรู ไปจนถึงการมิกซ์แอนด์แมตช์เสื้อผ้าแบบฉีกทุกกฎความคุมโทน เช่น ลายชนลาย หรือเสื้อยีนส์กับกางเกงยีนส์!

และอีกหนึ่งแฟชั่นไอเทมที่บ่งบอกความเป็น Y2K ที่สุดก็คือบรรดาเสื้อผ้าที่ตัดเย็บจากวัสดุมันวาวหรือสะท้อนสีโฮโลแกรม ซึ่งเสื้อผ้าเหล่านี้ล้วนได้แรงบันดาลใจมาจากความมันวาวสะท้อนแสงของแผ่นซีดี ซึ่งเป็นประดิษฐกรรมสุดไฮเทคแห่งยุค!

ย้อนกลับไปในยุคนั้น คนที่มีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางแฟชั่น Y2K แบบที่เราเห็นกลับมาฮิตในปัจจุบันก็มีตั้งแต่ แบรนด์ไฮเอนด์อย่าง Christian Dior ที่สะเทือนวงการแฟชั่นในยุคนั้นด้วยคอลเลกชั่น Fall 1999 Couture Show ที่มีไฮไลต์เด็ดเป็นเสื้อแจ็กเก็ตหนังแก้วมันวับ โดบ จอห์น กัลเลียโน เฮดดีไซเนอร์ของ Christian Dior ยุคนั้นก็ยอมรับว่าได้แรงบันดาลใจในการออกแบบคอลเลกชั่นนี้มาจากหนัง The Matrix

หรือจะเป็น Miu Miu ที่มาพร้อมกับเสื้อและกระโปรงซีทรูในคอลเลกชั่น Spring/Summer 1996 ที่ก็กำลังเป็นเทรนด์แฟชั่นที่สายแฟเจน Z กำลังไฮป์กันสุด ๆ ในยุคนี้เช่นกัน

แต่ที่นับว่าเด็ดและเป็นสั่นสะเทือนวงการแฟชั่นยุค 2000s จริง ๆ ย่อมหนีไม่พ้น Walter Van Beirendonck ในคอลเลกชั่น Summer 1996 ที่มาพร้อมกับบรรดาแฟชั่นสีนีออนเปรี้ยวจี๊ด แว่นกันแดดสีเจ็บ และบรรดาเสื้อผ้าทำจากผ้ายืดสแปนเด็กซ์สุดล้ำโลก ต่อยอดมาถึงคอลเลกชั่นปี 1999 ที่เขาไปสุดล่าท้าขอบจักรวาลด้วยการยกขบวนกองทัพนางแบบนายแบบเอเลียนมาเปิดตัวเสื้อผ้าซีทรูและลายปรินต์สุดเจ็บจ๊าบ

สุนทรียะแห่งชนชายขอบ

เหนือสิ่งอื่นใด ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ Y2K กลับมาอยู่ในกระแสฮิตช่วงนี้ ก็คือการที่สุนทรียะของโลกยูโทเปียแห่งอนาคตนี้เปิดที่ทางให้เหล่าผู้คนชนชั้นรองในสังคมได้มีที่หยัดยืน เหล่าเด็กสาวยุคเจน Z พากันหันกลับไปมอง ‘แม่บริทนีย์ยุค 2000s’ ซึ่งเป็นยุคที่เธอถูกแท็บลอยด์ประณามหยามเหยียบว่าเป็นหญิงบ้าสติแตก ด้วยสายตาที่เข้าอกเข้าใจและมีความเข้าใจในปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศมากขึ้น (โดยเฉพาะกระแส #SaveBritney ล่าสุดที่แฟน ๆ ออกมาเรียกร้องให้บริทนีย์เป็นอิสระจากพ่อของเธอ รวมถึงหันกลับไปประณามอดีตคนรักอย่าง จัสติน ทิมเบอร์เลก ที่เคย ‘ขาย’ เรื่องที่เขาเป็นผู้ชายคนแรกของแม่บริทอย่างภาคภูมิใจ ทั้งยังแต่งเพลงประณามบริทนีย์ที่หักอกเขา จนทำให้ยุคนั้นบริทนีย์ถูกมองว่าเป็นหญิงร้ายล่าผู้ชายไปทั่ว) แม้กระทั่ง ปารีส ฮิลตัน ไฮโซสาวขาประจำแท็บลอยด์แห่งยุค 2000s ที่เคยถูกสังคมแปะป้ายว่าเป็นสาวไฮโซไร้สมองวัตถุนิยม ก็กลายเป็นหนึ่งในไอคอนเรื่องความเป็น ‘Independent Woman’ ของเด็กสาวยุคนี้ โดยที่พวกเธอต่างหันกลับไปตั้งคำถามว่า แล้วการเป็นผู้หญิงวัตถุนิยมหรือการเป็นปาร์ตี้เกิร์ลนั้นมันเสียหายตรงไหน?

ไม่ใช่แค่ผู้หญิงเท่านั้นที่ลุกขึ้นมาโอบรับสไตล์ของยุค 2000s เพื่อแสดงจุดยืนความเป็นสาวมั่นไม่แคร์โลกตามบรรดาตัวแม่ในยุคนั้น แต่ในปัจจุบัน Y2K ยังเป็นพื้นที่ที่ให้เหล่าเควียร์ได้ปลดปล่อยตัวตนและความคิดสร้างสรรค์ ตามความเห็นของ Froyo Tam ดีไซเนอร์และผู้ก่อตั้งบล็อก Y2K Aesthetic Institute วัย 24 ปี ที่มองว่า Y2K คือพื้นที่สำหรับเหล่า LGBTQ+

“การถือกำเนิดใหม่ของ Y2K คือการเปิดพื้นที่ใหม่ให้กับเหล่าเควียร์ เพราะคนชายขอบอย่างเราล้วนเฝ้าฝันถึงอนาคตที่ดีกว่า ในฐานะผู้หญิงเควียร์คนหนึ่ง ฉันมักสนใจในรูปทรงที่ดูลื่นไหลซึ่งเป็นสิ่งที่เห็นได้ทั่วไปในกระแสสุนทรียะนี้ เช่น อาคารรูปทรง Blob ที่เรียกว่า Blobitecture (สถาปัตยกรรมรูปทรงโค้งมนกลิ่นอายอวกาศ) สำหรับฉันแล้ว รูปทรงเหล่านี้ทำให้เรานึกถึงสิ่งที่ไร้กฏเกณฑ์ ไร้ขอบเขต”

อ้างอิง:
https://en.wikipedia.org/wiki/Year_2000_problem
https://aesthetics.fandom.com/wiki/Y2K#History
https://vanschneider.com/.../the-trend-of-the-future.../
https://nobasicgirlsallowed.com/exploring-the-nostalgia.../
https://www.papermag.com/the-institute-of-y2k-aesthetics...
https://i-d.vice.com/en_uk/article/vbekej/the-a-z-of-y2k
http://www.stitchfashion.com/.../the-y2k-movement-its...
https://y2kaestheticinstitute.tumblr.com/