ประวัติศาสตร์แห่งตัวตน ตัวฉัน ตัวเรา ตั้งแต่ปรัชญากรีกถึง Sigmund Freud

Post on 24 January

“Know Thyself”

“จงรู้จักตัวเอง”

จากข้อความที่สลักอยู่ข้างวิหารเดลฟี แห่งกรุงเอเธนส์

เคยถามตัวเองไหมว่า ‘เราผู้เป็นมนุษย์นั้นมีความแตกต่างจากสัตว์หรือสิ่งมีชีวิจอื่น ๆ อย่างไร?’ แน่นอนว่าเราเป็นเผ่าพันธุ์ที่ต่างสปีชีส์กัน เราเดินด้วยขาสองขา เราเดินหลังตรง และเราใช้นิ้วโป้งของเราได้

แต่นอกจากสภาพร่างกายที่ต่างกันแล้ว มนุษย์กับสัตว์มีอะไรที่แตกต่างกันไปอีกบ้าง?

หากถามคำถามนี้กับผู้เชี่ยวชาญด้านมนุษย์อย่างนักมานุษยวิทยส นักปรัชญา นักสังคมศาสตร์ หรือนักจิตวิทยา คำตอบที่ได้ก็จะเป็นข้อสรุปที่ว่า สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่ามนุษย์นั้นมีการ ‘ตระหนักรู้’ ไม่ใช่แค่สรรพสิ่งที่อยู่รอบตัวเท่านั้น แต่ยังตระหนักรู้ถึงการดำรงอยู่ของตัวเองในโลกด้วย มนุษย์มีสำนึกรู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไร ร่างกายของตัวเองเป็นอย่างไร และกำลังคิดอะไรอยู่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็คือการตระหนักรู้ถึงการมีอยู่ของตัวตนของตัวเอง หรือที่เรียกว่า ‘Self-concious’ นั่นเอง

การตระหนักรู้ถึงการมีอยู่ของตัวตนของเราในโลกนั้นหาใช่แค่การรู้ว่ามีตัวตนของเราอยู่ในโลก เหมือนเวลาที่เรามองดูตัวเองในกระจกหรือรูปถ่ายของตัวเอง แล้วก็รู้ว่า ‘อ๋อ นี่ล่ะตัวเรา’ เท่านั้น แต่เป็นการที่เราตระหนักรู้ถึงตัวตนของเราที่มีความแตกต่างไปจากตัวตนของผู้อื่น เราเป็นเจ้าของตัวตนที่ประกอบขึ้นมาจากร่างกายและความคิดนี้ การที่เราเปล่งคำว่า ‘ฉัน’ ‘ของฉัน’ หรือ ‘เรา’ ออกไป ก็คือส่วนหนึ่งของการตระหนักรู้ถึงตัวเองผ่านภาษา ...ฉันที่กำลังพูดสิ่งนี้ออกไปคือฉันที่ต่างไปจากคนอื่น และมีเพียงแค่ฉันแบบนี้คนเดียวในโลกเท่านั้น

แต่กว่าที่เราจะตระหนักรู้ถึงตัวตนและสามารถพูดคำว่า ‘ฉัน’ ออกไปได้อย่างง่ายดายแบบทุกวันนี้ บรรพบุรุษหรือมนุษย์รุ่นก่อนหน้าเราเขาได้ผ่านกระบวนการคิดและการตั้งคำถามถึง ‘ตัวตน’ ของเรากันมาอย่างเคี่ยวกรำและยาวนาน ย้อนกลับไปได้ถึงเป็นพัน ๆ ปี และจนถึงทุกวันนี้ กระบวนการศึกษาตัวตนของมนุษย์นั้นก็ยังไม่จบสิ้น ...เราในฐานะมนุษย์ยังคงเรียนรู้การเป็นมนุษย์หรือตัวเราเองกันต่อไป

แล้วคำว่า ‘ตัวตน’ ‘ตัวเอง’ ‘ตัวฉัน’ ‘ตัวเรา’ เริ่มเกิดขึ้นเมื่อไหร่ และมีความสำคัญอย่างไรกับการเป็น ‘ตัวตน’ ‘ตัวเอง’ ‘ตัวฉัน’ ‘ตัวเรา’ ในปัจจุบัน? วันนี้ GroundControl จะขอพาทุกคนย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์การศึกษาค้นหาตัวตนของมนุษย์ ตั้งแต่ในสำนักปรัชญาของ Plato จนถึงยุคการค้นหาตัวตนผ่านจิตวิเคราะห์ของ Sigmund Freud!

การค้นหาตัวตน ยังมีอีกหลายแง่มุมให้เราได้ค้นพบ หากใครที่ย้อนไปสำรวจประวัติศาสตร์ตัวตน จนอยากสำรวจตัวเองบ้าง ก็ลองไปค้นหาตัวตนกันต่อได้ใน “Journey to the Next Chapter ค้นหาอนาคตในแบบของเรา” กรกฎาคม - สิงหาคม นี้ ที่ TK Park ชั้น 8 Dazzle Zone ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์
และเพจ TKpark อุทยานการเรียนรู้

Platonism ตัวตนของเราในฐานะสิ่งสร้างสรรค์จากเทพเจ้า

ย้อนกลับไปในยุคสมัยของกรีกโบราณ อันเป็นต้นกำเนิดของกระแสธารปรัชญาตะวันตก และจุดเริ่มต้นของการตั้งคำถามถึงการดำรงอยู่ของมนุษย์ Socrates ผู้วางรากฐานของปรัชญาตะวันตก ได้นำเสนอความเชื่อที่ว่า ในมนุษย์ทุกคนนั้นมีสิ่งที่เรียกว่า ‘จิตวิญญาณ’ (Soul) ซึ่งดำรงอยู่แยกจากร่างกายของมนุษย์ โดยเมื่อมนุษย์ตายลง ดวงจิตนั้นก็จะเดินทางไปสถิตย์อยู่ในโลกหลังความตายที่ปกครองโดย Hades เทพเจ้ากรีกผู้ปกครองยมโลก

ความเชื่อเกี่ยวกับจิตวิญญาณที่แยกส่วนกับร่างกายนี้ก็เป็นความเชื่อที่สืบทอดมาจากวรรณกรรมของ Homer กวีชาวกรีกผู้มีชีวิตอยู่ในช่วง 484 - 452 ปีก่อนคริสต์ศักราช และเป็นผู้บันทึกเรื่องราวของตำนานปกรณัมกรีกทั้งหมดที่เราคุ้นเคยกันดี โดย Socrates ก็รับเอาความเชื่อเรื่องจิตวิญญาณอันเป็นอมตะที่สละละทิ้งร่างกายแล้วเดินทางสู่โลกหลังความตายจาก Homer มาเป็นพื้นฐานในการครุ่นคิดถึงการดำรงอยู่ของมนุษย์ต่อไป

หาก Homer และ Socrates เป็นผู้เริ่มตั้งคำถามถึงแก่นตัวตนของมนุษย์ ลูกศิษย์ของ Socrates อย่าง Plato ก็คือผู้ที่รับเอาแนวคิดของอาจารย์มาครุ่คิดต่อ จนกลายเป็นหมุดหมายแรกของการตั้งคำถามเกี่ยวกับการดำรงอยู่ของ ‘ตัวตน’ ของมนุษษย์ที่ส่งอิทธิพลต่อนักคิดและวิธีการมองตัวตนของเราในปัจจุบัน โดย Plato ได้รับเอาแนวคิดเรื่องจิตวิญญาณของ Socrates มาคิดต่อ แล้วตั้งสมมติฐานต่อไปว่า จิตวิญญาณของมนุษย์นั้นคือสิ่งสร้างสรรค์จากเทพเจ้า (Divine) ซึ่งเป็นอมตะ และดำรงอยู่ไม่ใช่แค่หลังจากมนุษย์ตายลง แต่อยู่มาตั้งแต่มนุษย์จะเกิด ไม่ว่ามนุษย์จะเผชิญกับวัฏจักรการเวียนว่ายตายเกิดมาเท่าไหร่ แต่จิตวิญญาณยังคงอยู่เสมอ ไม่ดับสูญ

แต่สิ่งสำคัญที่ทำให่แนวคิดเรื่องจิตวิญญาณหรือ Soul ของ Plato ส่งอิทธิพลต่อแนวคิดเรื่องตัวตนในปัจจุบัน ก็คือการที่ Plato นำเสนอว่า จิตวิญญาณนั้นคือสารัตถะ (Essence) หรือต้นกำเนิดของความนึกคิดของมนุษย์ (ซึ่งจะต่างจากแนวคิดและการศึกษาในปัจจุบันที่มองว่า ‘สมอง’ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายมนุษย์ คือศูนย์ควบคุมความคิด อารมณ์ และเป็นต้นกำเนิดของความคิดต่าง ๆ ของมนุษย์) โดยจิตวิญญาณนั้นหาได้ต้องใช้ส่วนใดของร่างกายในการนึกคิด Plato เชื่อว่า แม้ว่าร่างกายดับสลายลง แต่จิตวิญญาณก็ยังคิดเองได้ และที่สำคัญที่สุด Plato เชื่อว่า จิตวิญญาณของมนุษย์นั้นมีความสูงส่งขนาดที่จะเข้าถึงมิติหนี่งซึ่งเป็นความจริงสูงสุดที่มนุษย์ไม่มีวันเข้าถึงหรือรับรู้ได้ผ่านความรู้สึกทางร่างกาย แต่มีเพียงจิตวิญญาณเท่านั้นที่จะเข้าถึงและรับรู้ได้

แนวคิดเรื่องจิตวิญญาณที่ตัดขาดจากร่างกายของ Plato นั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการคิดเรื่องตัวตนในยุคถัด ๆ มา เพราะหลังจากนั้น การศึกษาเรื่องตัวตนหรือ Self ของมนุษย์นั้นก็จะตั้งอยู่บนคำถามที่ว่า จิตวิญญาณกับร่างกายนั้นมีความสัมพันธ์กันหรือไม่ ซึ่งจะเป็นข้อถกเถียงเรื่อยไปในประวัติศาสตร์การค้นหาตัวตนของมนุษย์

Aristotle: ร่างกายคือ ‘รูป’ ของจิตวิญญาณ

ในขณะที่ Plato เชื่อว่า ร่างกายกับจิตวิญญาณดำรงอยู่แยกกัน ลูกศิษย์ของ Plato อย่าง Aristotle กลับเชื่อในทางตรงกันข้าม โดย Aristotle เชื่อว่า จิตวิญญาณและร่างกายของมนุษย์เป็นหนึ่งเดียวกัน โดยที่จิตวิญญาณคือศูนย์กลางที่ควบคุมกิจกรรม การกระทำ และการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพทุกอย่างของสิ่งมีชีวิต Aristotle เชื่อว่า แม้กระทั่งสัตว์และพืชก็มีจิตวิญญาณ เพราะสิ่งมีชีวิตใด ๆ ก็ตามที่เติบโตหรือมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายนั้นล้วนเป็นผลมาจากจิตวิญญาณ ถ้าจิตวิญญาณคือรูปแบบ (form) หรือโครงสร้างในการสร้างความเป็นตัวเรา ร่างกายก็คือผลลัพธ์ที่เห็นได้ด้วยตา (matter) ของโครงสร้างนั้นนั่นเอง

Aristotle เชื่อว่าจิตวิญญาณมี 3 รูปแบบ คือ จิตวิญญาณแห่งการเติบโต (nutritive soul), จิตวิญญาณแห่งผัสสะ (sensitive soul) และจิตวิญญาณแห่งเหตุผล (rational soul)

จิตวิญญาณแห่งการเติบโต (nutritive soul) คือจิตวิญญาณขี้นพื้นฐานที่อยู่ในสิ่งมีชีวิตทุกอย่าง ตั้งแต่คน สัตว์ จนถึงพืช หรือกล่าวง่าย ๆ ว่าสิ่งใดก็ตามที่มีการเกิด เจริญเติบโต และดับสูญหรือตายไป ล้วนเป็นผลมาจากจิตวิญญาณในด้านการเติบโตนี้

จิตวิญญาณแห่งผัสสะ (sensible soul) คือจิตวิญญาณแห่งการรับรู้ ซึ่งเป็นส่วนที่ทำให้เรารับรู้ความเป็นไปต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัว รวมไปทั้งความรู้สึกต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นความสุข ความทุกข์ หรือความเจ็บปวด โดยจิตวิญญาณนี้เป็นส่วนที่มนุษย์และสัตว์ส่วนใหญ่มีร่วมกัน แต่พืชจะไม่มี

จิตวิญญาณแห่งเหตุผล (rational soul) คือจิตวิญญาณที่สถิตย์อยู่ในมนุษย์เท่านั้น จิตวิญญาณนี้เองที่ทำให้เราสามารถคิดอะไรได้อย่างเป็นเหตุเป็นผล โดย Aristotle ยังได้แบ่งจิตวิญญาณประเภทนี้ออกเป็น 2 ส่วน คือส่วนที่รับเอาประสบการณ์และเรื่องราวต่าง ๆ เก็บไว้ ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งคือส่วนที่ใช้ในการประมวลผลและเกิดเป็นความคิด ทำให้เราสามารถนำเอาประสบการณ์และความรู้สึกต่าง ๆ ที่เราเก็บไว้ในส่วนแรกมาประมวลเพื่อทำความเข้าใจในสิ่งต่าง ๆ แล้วแสดงออกมาเป็นปฏิกิริยาตอบโต้ ซี่ง Ariatotle ก็มองว่า การคิดไตร่ตรองนี้แหละที่เป็นศักยภาพซึ่งแยกระหว่างคนกับสัตว์

แม้ว่าวิทยาศาสตร์สมัยใหม่จะลบล้างแนวคิดของ Aristotle โดยโต้แย้งว่า การเติบโต การร้บรู้ และการคิดไตร่ตรองนั้นสามารถอธิบายได้ด้วยกระบวนการทำงานของร่างกายและสมอง แต่การตั้งคำถามของ Aristotle ที่ดึงจิตวิญญาณกลับมาสู่การเป็นหนึ่งเดียวกับร่างกาย หาได้แยกจากกันนี้ ก็เป็นการเปิดที่ทางให้กับการตั้งคำถามเกี่ยวกับการประกอบสร้างตัวตนของมนุษย์ที่สัมพันธ์กับการรับรู้ผ่านประสบการณ์ต่อสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวต่อไปในอนาคต

‘ตัวตน’ หลังยุคแห่งรุ่งอรุณของวิทยาศาสตร์และวิทยาการ

ความเฟื่องฟูของวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ในช่วงศตวรรษที่ 16-17 ได้ทลายความเชื่อใด ๆ ที่เกี่ยวกับการมีอยู่ของเทพเจ้า พระเจ้า นรก สวรรค์ รวมไปถึงจิตวิญญาณของมนุษย์ที่เคยถูกมองว่าเป็นสิ่งสูงส่งและดำรงอยู่อย่างศักดิ์สิทธิ์แยกจากร่างกาย แนวความคิดเรื่องจิตวิญญาณของ Aristotle ที่มองว่าจิตวิญญาณมีหลายระดับและเป็นตัวกำหนดการกระทำของมนุษย์นั้นถูกปัดตกไปในยุคนี้ นักคิดและนักปรัชญาเริ่มตั้งคำถามถึงการมีอยู่ของจิตวิญญาณ และนักปรัชญาคนแรก ๆ ที่ลุกขึ้นมาตั้งคำถามนั้นก็คือ René Descartes นักปรัชญาชื่อดังชาวฝรั่งเศส

Descartes คือนักคิดคนแรก ๆ ที่เปลี่ยนการใช้คำว่า จิตวิญญาณ (Souls) มาเป็น จิตใจ (Mind) ซึ่งในมุมมองของ Descartes จิตใจก็คือ ตัวตน (Self) ของมนุษย์ และมีหน้าที่หลักในการสร้างความคิดต่าง ๆ ของมนุษย์ ซึ่งสำหรับ Descartes นั้น การคิดคือหัวใจหลักที่นิยามความเป็นมนุษย์ โดยเปรียบเทียบว่าหากร่างกายคือเรือ จิตใจก็คือผู้บังคับเรือจนนำมาสู่วลีอมตะที่เรารู้จักกันดีอย่าง "I think, therefore I am" หรือ “ฉันคิด ฉันจึงดำรงอยู่” โดย Descartes ได้ตอบคำถามเกี่ยวกับการดำรงอยู่ของมนุษย์ซึ่งเป็นคำถามสำคัญของนักปรัชญาด้วยวิธีคิดแสนเรียบง่าย ...เมื่อเรา ‘สงสัย’ ว่าเหตุใดเราจึงดำรงอยู่ การสงสัยนั้นก็คือการยืนยันการมีตัวตนของเราแล้ว

แม้ว่า Descartes จะเป็นนักปรัชญาคนแรกที่ตั้งคำถามกับการมีอยู่ของจิตวิญญาณ และเปลี่ยนความสนใจจากจิตวิญญาณมาสู่ จิตใจ หรือความนึกคิดของมนุษย์ อย่างไรก็ตาม จิตใจในลักษณะที่ Descartes อ้างถึงนั้นก็ยังมีลักษณะของการดำรงอยู่อย่างไรก็อย่างนั้น ไม่มีวันเปลี่ยนแปลงตั้งแต่เกิดจนตาย กระทั่งการมาถึงของนักปรัชญาการเมืองชาวอังกฤษ John Locke ผู้นำเสนอแนวคิดว่า การเรียนรู้ผ่านประสบการณ์และสิ่งต่าง ๆ รอบตัวนั้นคือสิ่งที่ก่อร่างสร้างตัวตนและความนึกคิดของมนุษย์

Locke นำเสนอว่า เมื่อแรกเกิด จิตใจของมนุษย์นั้นยังว่างเปล่า มนุษย์เกิดมาโดยหาได้มีสิ่งใดในสภาพจิตอันว่างเปล่านั้น กระทั่งเราเติบโตและได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ผ่านระบบผัสสะและประสบการณ์ต่าง ๆ เราจึงมีความคิด ซึ่งในเวลาต่อมา แนวคิดเรื่องมนุษย์กับการเรียนรู้ของ Locke นี้จึงถูกต่อยอดเป็นแนวคิดเรื่องของตัวตนและอัตลักษณ์ในโลกสมัยใหม่นั่นเอง

‘ตัวตน’ ในโลกสมัยใหม่และทฤษฎีจิตวิเคราะห์

จนถึงศตวรรษที่ 19 แนวคิดเกี่ยวกับ ‘ตัวตน’ นั้นยังคงเป็นไปในลักษณะที่ว่า มนุษย์ล้วนตระหนักถึงตัวตนของตัวเองได้อย่างทะลุปรุโปร่งและจริงแท้ โดยแทบไม่มีการตั้งคำถามว่า หรือที่จริงแล้วเราอาจมีอีกตัวตนหนึ่งที่เราไม่สามารถหยั่งรู้หรือเข้าถึงได้ แม้ว่านักปรัชญาชาวเยอรมันอย่าง Immanuel Kant จะเคยนำเสนอแนวคิดเรื่อง ตัวตนเหนือจิตใจ (Transcendental ego) ซึ่งโดยรวมแล้วหมายถึงกระบวนการทำงานของจิตใจที่เราไม่รู้ว่ากำลังทำงานอยู่ แต่เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เรารับรู้ถึงความคิดและตัวตนของเราไปโดยธรรมชาติ แต่ถึงอย่างนั้น การมีอยู่ของกระบวนการทางจิตใจที่เราไม่สามารถรับรู้ได้ว่าทำงานอยู่ตามแนวคิดของ Kant ก็ไม่ได้มีความสัมพันธ์หรือส่งผลอะไรต่อบุคลิกหรือตัวตนของเรา จนกระทั่งนักจิตวิเคราะห์ที่ชื่อว่า Sigmun Freud ได้นำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่า ‘จิตใต้สำนึก’ ซึ่งตอบคำถามที่ Kant ไม่สามารถตอบได้ว่า จิตที่ทำงานโดยที่เราไม่รู้ตัวนั้นส่งผลต่อตัวตนของเราอย่างไร?

ในขณะที่นักปรัชญาในยุคก่อนหน้าไม่เคยตั้งคำถามถึงการมีอยู่ของบางพื้นที่ในตัวตนที่เราไม่อาจหยั่งรู้ได้ Freud กลับนำเสนอแนวคิดที่ว่า ตัวตนของเรานั้นประกอบขึ้นจากสามสิ่ง คือจิตสำนึก (Concious), จิตก่อนสำนึก (Preconcious) หรือ จิตใต้สำนึก (Subconcious) และ จิตไร้สำนึก (Unconcious) ซึ่งในขณะที่นักปรัชญาและนักคิดในยุคก่อนหน้ามุ่งสนใจในส่วนที่เรียกว่า จิตสำนึก ซึ่งเป็นสภาวะที่เรารับรู้ตัวตนของตนเอง และรู้ว่ากำลังนึกคิดหรือทำอะไรอยู่ Freud กลับมุ่งความสนใจไปที่ไร้สำนึก อันเป็นพื้นที่ที่ Freud เชื่อว่าเป็นรากฐานและส่งอิทธิพลต่อจิตสำนึกและตัวตน รวมไปถึงบุคลิกภาพของเรา ซึ่งแนวคิดจิตวิเคราะห์ของ Freud ที่ว่าด้วยการมีอยู่ของจิตใร้สำนึกนี้ก็เป็นการท้าทายแนวคิดเกี่ยวกับตัวตนในยุคก่อนหน้า ที่นักคิดและนักปรัชญาต่างเชื่อว่าเราสามารถทำความเข้าใจตัวตนของมนุษย์ได้อย่างทะลุปรุโปร่ง โดยปราศจากพื้นที่ซ่อนเร้นที่เราไม่สามารถเข้าไปทำความเข้าใจได้

Freud เชื่อว่า พื้นที่ในจิตไร้สำนึกนั้นเป็นพื้นที่ที่สถิตย์อยู่ของแรงขับดันพื้นฐานและสัญชาตญาณดิบของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นแรงขับดันทางเพศ ความรุนแรงก้าวร้าว ความมุ่งหมายที่จะทำลายตัวเอง (self-destruction), ความทรงจำบาดแผล (trauma), ความปรารถนาที่ไม่ได้รับการตอบสนอง ไปจนถึงแฟนตาซีหรือจินตนาการในวัยเด็ก และความคิดที่ขัดแย้งกับศีลธรรมทางสังคม โดยรวมแล้วจิตไร้สำนึกของมนุษย์นั้นเต็มไปด้วยความปรารถนาที่ไม่สามารถตอบสนองได้ในโลกแห่งความเป็นจริง เพราะขัดต่อข้อกำหนดในสังคม และมนุษย์ก็ต้องเรียนรู้ในระหว่างที่เติบโตขึ้นมาเพื่อที่จะควบคุมและกดทับความต้องการเหล่านั้น

อย่างไรก็ตาม ความต้องการที่แอบซ่อนอยู่ในจิตไร้สำนึกนั้นกลับส่งอิทธิพลต่อเราตลอดทั้งชีวิต โดยที่เราไม่อาจรับรู้หรือตระหนักถึงมันได้ และมักจะปรากฏออกมาในรูปแบบของการกระทำที่เราไม่อาจควบคุมได้ เช่น การพูดผิด หรือแม้กระทั่งการฝันในยามหลับ

แต่ในขณะที่ Freud มองว่าแรงขับดันที่ซ่อนอยู่ในจิตไร้สำนึกของมนุษย์คือสิ่งที่กำหนดตัวตนของมนุษย์ในองค์รวม ไม่ว่าจะเป็นลักษณะนิสัยหรือบุคลิกภาพ เพื่อนสนิทที่เป็นผู้สำรวจทฤษฎีจิตวิเคราะห์ด้วยกันอย่าง Carl Jung กลับเริ่มเห็นแตกต่างไปจาก Freud แม้ว่าเขาจะได้รับอิทธิพลทางความคิดจากงานของ Freud อย่างมากก็ตาม โดย Jung ไม่เชื่อว่า แรงขับดันทางเพศเพียงอย่างเดียวจะเป็นปัจจัยหลักในการก่อร่างตัวตนของมนุษย์ดังที่ Freud เชื่อ แต่เขากลับมองว่าตัวตนของมนุษย์นั้นถูกประกอบสร้างขึ้นมาจากจิตไร้สำนึกร่วม (Collective Unconscious) ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์รับสืบทอดมาจากบรรพบุรุษรุ่นก่อนหน้า หรือกล่าวได้ว่าเป็นจิตไร้สำนึกร่วมที่มนุษย์ทุกคนต่างแบ่งปันร่วมกันตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน

ในขณะที่ Freud มองว่า จิตไร้สำนึกเป็นส่วนที่ส่งอิทธิพลต่อตัวตนและบุคลิกภาพของคน Jung กลับมองว่า ตัวตนของคนเรานั้นถูกประกอบสร้างขึ้นมาจากทั้งจิตสำนึกและจิตไร้สำนึกเท่า ๆ กัน โดย Jung เชื่อว่ากระบวนการสร้างตัวตนนั้นมาจากการที่เราเผชิญหน้ากับสิ่งที่อยู่ในจิตไร้สำนึกผ่านสัญญะต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นในความฝัน งานศิลปะ หรือแม่กระทั่งศาสนา และการตีความสัญญะเหล่านั้นด้วยจิตสำนึกก็คือกระบวนการในการสร้างตัวตนของเรา และในขณะที่ Freud มองว่า จิตไร้สำนึกเป็นส่วนที่ส่งอิทธิพลต่อตัวตนและบุคลิกภาพของคน Jung กลับมองว่า ตัวตนของคนเรานั้นถูกประกอบสร้างขึ้นมาจากทั้งจิตสำนึกและจิตไร้สำนึกเท่า ๆ กัน โดย Jung เชื่อว่าเป้าหมายมนุษย์ที่ต้องการจะใช้ชีวิตให้มีความสุข ก็คือการรักษาสมดุลย์ระหว่างจิตใต้สำนึกกับจิตไร้สำนึก ซึ่งผลของการที่สองสิ่งนี้ไม่สมดุลย์กันก็จะเกิดเป็นอาการทางจิตและอารมณ์ต่าง ๆ เช่น ซึมเศร้า กังวล ไปจนถึงเสียสติ

Jung ยังเป็นนักจิตวิเคราะห์ที่นำเสนอแนวคิดและเครื่องมือในการทำความเข้าใจจิตวิทยามากมาย เขาเป็นคนที่ให้คำนิยามลักษณะบุคลิกภาพแบบ คนเก็บตัว (Introvert) และ คนช่างแสดงออก (Extrovert) นอกจากนี้ Jung ยังเป็นผู้นำเสนอการจัดกลุ่มบุคลิกภาพแบบต่าง ๆ อันเป็นที่มาของแบบทดสอบบุคลิกภาพชื่อดังที่เราคุ้นเคยกันดีอย่าง MBTI (Myers-Briggs Type Indicator) ด้วย

จาก ‘ตัวตน’ สู่ ‘การพัฒนาตัวตน’

ในยุคหลัง Jung เป็นต้นมา มีนักจิตวิทยาหลายคนที่ได้แรงบันดาลใจจากแนวคิดเรื่องตัวตนและการแบ่งลักษณะบุคลิกภาพของ Jung จนทำให้เกิดเป็นทฤษฎีเพื่อการค้นพัฒนาตัวตนมากมาย หนึ่งในทฤษฎีเป็นที่รู้จักแพร่หลายมากที่สุดก็คือ ทฤษฎีความเข้าใจตนเอง หรือ Self-Concept ของ Carl Rogers นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ที่นำเสนอแนวคิดว่า การรับรู้ตัวตนของบุคคลใด ๆ มีปัจจัยมาจากทั้งตัวเราเองและผู้อื่น

โดย Rogers มองว่า ตัวตนของเรานั้นประกอบด้วย 3 องค์ประกอบ ได้แก่

Real Self หรือ Self Image คือตัวตนตามความเป็นจริงที่สามารถรับรู้ได้ผ่านการมองเห็นว่าตัวเองเป็นใคร มีนิสัยอย่างไร ซึ่งอาจรับรู้ได้ด้วยตนเอง หรือเกิดจากการรับรู้ผ่านมุมมองของผู้อื่นก็ได้

Ideal Self หรือตัวตนตามอุดมคติ คือตัวตนที่เราอยากจะเป็น เป็นตัวตนที่ปรากฏในภาพฝันในอนาคต และเป็นสิ่งที่เรายังไม่ได้เป็นในสภาวะปัจจุบัน

และสุดท้าย Self-Esteem คือ การเห็นคุณค่าในตนเอง ซึ่งคนที่มองเห็นคุณค่าในตัวเองจะเป็นคนที่ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค มีความมั่นใจ และมองเห็นแง่มุมดี ๆ ในชีวิต

Rogers นำเสนอว่า Self-Esteem จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ Real Self และ Ideal Self ดำเนินไปอย่างสอดคล้องกัน แต่หากเกิดความไม่สมดุลย์กันเมื่อใด ก็จะเกิดสภาวะที่เรียกว่า วิกฤติทางตัวคน หรือ Identicy Crisis นั่นเอง

TK Park Journey to the Next Level ค้นหาตัวตนในแบบของเรา

และหากอ่านมาจนถึงตรงนี้แล้วอยากรู้เกี่ยวกับกระบวนการค้นหาตัวตน และวิธีการในการเป็นตัวเราในเวอร์ชั่นที่ดีขึ้น ก็ไปเจอกันได้ที่งาน JOURNEY TO THE NEXT CHAPTER : ค้นหาอนาคตในแบบของเรา กรกฎาคม - สิงหาคม นี้ ที่ TK Park ชั้น 8 Dazzle Zone ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ และเพจ TK Park อุทยานการเรียนรู้

งานนี้เราจะได้ไปค้นหาตัวตนผ่านเพื่อนที่ดีทีสุดอย่าง ‘หนังสือ’ รวมไปถึงกิจกรรมมากมาย รับรองว่าเราจะได้รู้จักตัวเองดีขึ้น และเป็นตัวเองในแบบที่ดีขึ้นได้แน่นอน

อ้างอิง: https://plato.stanford.edu/entries/self-consciousness/...
https://en.m.wikipedia.org/wiki/Self
https://en.m.wikipedia.org/wiki/Self-concept
John Barresi and Raymond Martin. In Shaun Gallagher (ed.), The Oxford Handbook of the Self. Oxford University Press (2011)