“สีคือคีย์บอร์ด ดวงตาคือแฮมเมอร์ จิตวิญญาณคือเปียโนที่ประกอบด้วยเส้นสตริงเรียงร้อยต่อกัน ศิลปินคือมือที่บรรเลงบทเพลง จรดนิ้วลงบนคีย์แล้วคีย์เล่า เพื่อก่อให้เกิดแรงสั่นสะเทือนในจิตวิญญาณ”-วาสสิลีย์ คาดินสกี
ในมุมมองของ วาสิลีย์ คานดินสกี ดนตรีและสีสันคือสิ่งที่เชื่อมโยงกันอย่างไม่อาจแยกขาดจากกันได้ ถึงขนาดที่เขามองเห็น ‘เฉดสี’ ในโน้ตดนตรี และสาเหตุสำคัญที่ทำให้เขาตัดสินใจยอมทิ้งอาชีพนักกฎหมายมาเรียนศิลปะจริงจังเพื่อเป็นศิลปินเต็มตัว ก็คือเมื่อเขาได้ฟัง Lohengrin งานประพันธ์ดนตรีชั้นเลิศของ ริชาร์ด วากเนอร์ คีตกรผู้พยายามเชื่อมดนตรีกับวิชวลเช่นเดียวกัน
“ฉันเห็นสีสันที่กลับมีชีวิตชีวาขึ้นมา เส้นสายที่ทั้งโลดโผนและบ้าระห่ำถูกวาดขึ้นมาต่อหน้าต่อตาฉัน”
ที่จริงแล้วประสบการณ์การเห็นสีในโน้ตดนตรีนั้นเป็นผลมาจากอาการทางระบบประสาทที่เรียกว่า Synesthesia ซึ่งเป็นสภาวะการที่สมองสามารถรับรู้ประสาทสัมผัส 2 อย่างได้ในเวลาเดียวกัน เมื่อประสาทสัมผัสหนึ่งถูกกระตุ้น อีกประสาทสัมผัสหนึ่งก็จะถูกกระตุ้นด้วยเช่นกัน อาการนี้ทำให้บางคนสามารถมองเห็นสีในตัวเลข ตัวอักษร หรือมองเห็นรูปร่างลักษณะกลมหรือเหลี่ยมขณะรับรสอาหาร
และในกรณีของคานดินสกี อาการนี้ก็ทำให้เขาสามารถมองเห็นสีสันเมื่อได้สดับรับฟังเสียงดนตรี และในทางตรงกันข้าม เมื่อเขาวาดรูป เขาก็ได้ยินเสียงดนตรีจากเส้นสายและสีสันที่เขาวาดเช่นเดียวกัน
ด้วยเหตุนี้ภาพวาดของคานดินสกีจึงปราศจากรูปทรงที่บ่งบอกความหมายกับผู้ชม แต่เป็นบรรดาเส้นและสัญลักษณ์ต่าง ๆ ซึ่งเป็นการถ่ายทอดโน้ตดนตรีด้วยเส้นและสีของคานดินสกี ทั้งสี รูปทรงเรขาคณิต และการใช้สีที่ไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือความพยายามในการประพันธ์ดนตรีของคานดินสกีผ่านการใช้ภาพวิชวลแทนจังหวะและท่วงทำนอง แต่ทำงานผ่านการกระตุ้นอารมณ์ให้ผู้ชมได้ ‘รู้สึก’ ในวิถีเดียวกับที่คนฟังดนตรี
วันที่ 4 ธันวาคม (ตามปฏิทินเก่า) คือวันคล้ายวันเกิดของ วาสิลีย์ คานดินสกี สุขสันต์วันเกิดศิลปินผู้สร้างเสียงดนตรีด้วยพู่กันและผืนผ้าใบ