"ดวงอาทิตย์ไม่เคยตกบนจักรวรรดิอังกฤษ"
คำพูดที่ถูกเขียนขึ้นเพื่ออวยจักรวรรดิวิคตอเรียอันยิ่งใหญ่นี้ คือตัวแทนความภูมิใจของชาวอังกฤษที่มีต่ออำนาจอันล้นมือ เมื่อพวกเขาสามารถกอบโกยและครอบครองดินแดนโดยรอบได้ ยิ่งถ้านับความมั่งคั่งที่ตามมาด้วยแล้ว ชาววิคตอเรียสมัยนั้นจึงถือว่าตัวเองเป็นผู้สืบตระกูลของอดีตจักรวรรดิโรมันไปโดยปริยาย ความเชื่อปนความหยิ่งยโสที่ว่า พวกเขานำอารยธรรมมาสู่คนไร้อารยธรรม ได้สะท้อนถึงภูเขาสูงที่มีเหวลึกเป็นหลุมพรางอยู่ปลายยอด ความคิดนี้ นำมาสู่ภาพวาด The Roses of Heliogabalus โดยศิลปินชื่อดังจากปลายยุควิคตอเรียอย่าง Lawrence Alma-Tadema ที่สื่อข้อความอันเจ็บแสบถึงบ้านเมืองของตัวเอง
Tadema วาดภาพนี้ในปี 1888 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่จักรวรรดิอังกฤษอยู่ในจุดสูงสุดของอำนาจและอิทธิพล เกือบเทียบเท่ากับจักรวรรดิโรมันสมัยก่อนซึ่งก็ไม่ใช่ความหมายในทางที่ดีเสมอไป แทนที่ Tadema จะถ่ายทอดภาพความดีงามของวิคตอเรีย เขากลับเลือกหยิบเอาเรื่องราวของ Heliogabalus จักรพรรดิที่ปกครองโรมันเพียง 4 ปีเท่านั้นนับแต่ 218 - 222 แต่ระยะเวลาไม่นานนี้ Heliogabalus ได้สร้างบาดแผลทางประวัติศาสตร์ให้สังคมโรมันด้วยเรื่องอื้อฉาวที่เกิดขึ้นไม่เว้นวัน จนในที่สุด เขาก็ถูกลอบสังหารโดยครอบครัวของตัวเอง
เรื่องเล่าความสำมะเลเทเมาของ Heliogabalus ได้รับการบันทึกไว้ใน Historia Augusta ความว่า เขาเชิญแขกมางานเลี้ยงที่วังในเย็นวันหนึ่ง ทุกคนในงานดื่มไวน์ เปลี่ยนคู่นอนกันอย่างสนุกสนานเป็นเวลาหลายชั่วโมง จนเกิดอาการมึนเมาอย่างหนัก ความเหน็ดเหนื่อยแสดงออกมาผ่านสีหน้าและท่าทางเอนกายเลื้อยไปตามพื้นรอบห้อง ขณะที่ฤทธิ์น้ำเมาเริ่มกลืนกินสติของผู้ร่วมงาน จู่ ๆ เพดานเหนือพวกเขาก็เปิดออกจนทำให้กลีบดอกไม้ร่วงหล่นลงมา ทว่าความหอมอบอวลบาง ๆ ช่วยเพิ่มบรรยากาศให้ดูน่าลุ่มหลงในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น เพราะไม่นานนัก กลีบดอกไม้จำนวนมากก็หล่นลงมาไม่ขาดสายราวกับเป็นน้ำตกไหลเชี่ยวที่หล่นทับแขกซึ่งนอนหมดสภาพอยู่พื้นเบื้องล่าง จนเป็นทะเลทสาบดอกไม้ ที่กำลังจะกลายเป็นมหาสมุทร ในไม่ช้าผู้คนในงานก็จมลงกับความสวยงามที่เขาหมายปองในตอนต้น บ้างสำลัก บ้างเกิดอาการหอบ บ้างขาดอากาศหายใจ จนในที่สุดพวกเขาก็หมดลมหายใจไปพร้อมกับกลิ่นหอม ๆ ของกลีบดอกไม้มากมาย
ภาพวาดของ Tadema ไม่ได้บิดหนีไปจากเนื้อหาเดิมมากนัก ต่างกันตรงที่เขาเลือกเปลี่ยนรายละเอียดยิบย่อยบางส่วนเพื่อเสริมเรื่องเล่าที่แข็งแรงอยู่แล้ว ให้แข็งแรงและจิกกัดกับสังคมวิคตอเรียมากขึ้น ผ่านการใช้กลีบดอก ‘กุหลาบสีชมพู’ ที่แสดงถึงความเจ้าเล่ห์ หยิ่งทะนง แทนการใช้สีม่วงเดิม ที่ชาววิคตอเรียมักใช้บ่งบอกความซื่อสัตย์และความสุภาพเรียบร้อย ซึ่งก็สรุปชัดเจนว่าภาพวาดชิ้นนี้ แม้จะชวนอิ่มเอมใจเมื่อเห็นจากระยะไกล แต่หากลองซูมดูรายละเอียดในภาพแล้ว เราก็จะพบตัณหามากมายที่ครอบงำศีลธรรมอันดีเอาไว้ และแน่นอนว่าผู้ชมเองก็เกิดความลุ่มหลงขึ้นก่อนจะรู้ตัวว่าโดนมนต์เสน่ห์สะกดเช่นกัน