ภาพเด็กหน้ากลม ผมม้าเต่อ น่าจะเป็นภาพที่เคยผ่านตาใครหลายคน ต่อให้ไม่เคยได้ยินชื่อของ โยชิโมโตะ นาระ ศิลปินชาวญี่ปุ่นผู้ให้กำเนิดเด็กหน้าบึ้งที่กลายมาเป็นซิกเนเจอร์ของเขาเหล่านี้
แม้หลายคนจะเข้าใจว่าเจ้าเด็กผมม้าเต่อของนาระเป็นเด็กผู้หญิง แต่ที่จริงแล้วนาระตั้งใจนำเสนอภาพของเด็กที่ไร้เพศ เพื่อสะท้อนภาพของความเป็นมนุษย์โดยรวมที่ไม่ติดกับกรอบเพศ และในมุมมองของนาระ สิ่งที่สะท้อนความเป็นมนุษย์ได้มากที่สุดจะเป็นสิ่งใดไปไม่ได้นอกจาก ‘อารมณ์’ ด้วยเหตุนี้ ภาพวาดเด็ก ๆ ของนาระจึงโดดเด่นด้วยการแสดงอารมณ์ผ่านการแสดงออกทางสีหน้า และใบหน้าที่ดูกราดเกรี้ยว ไม่พอใจ และไม่สบอารมณ์ของเด็ก ๆ ของนาระก็คือการสะท้อนความรู้สึกของศิลปินที่มีต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ ในโลกที่ฝน่าอยู่น้อยลงไปทุกวัน ๆ ไม่ว่าจะเป็นสงคราม ความรุนแรง และความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นในทั่วทุกที่
แล้วทำไมเด็ก ๆ ถึงกลายเป็นสื่อกลางในการนำเสนออารมณ์ เป็นผู้ใหญ่แทนไม่ได้เหรอ? นาระเคยอธิบายว่า ช่วงเวลาของวัยเยาว์คือช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกมากมายหลายระดับ ตั้งแต่ความสดใส อ่อนหวาน ไปจนถึงความเดือดดาล ด้วยเหตุนี้ภาพวาดของนาระจึงมีตั้งแต่ภาพเด็กหน้าม้าเต่อหลับตาอันสื่อถึงความสงบปลอดภัย ไปจนถึงภาพเด็กถือมีดวิ่งไล่ตามแมวเหมียว โดยอีกมือหนึ่งถือระเบิดตามไปด้วย!
นอกจากนี้ในช่วงยุค 1990s นาระยังวาดภาพเด็ก ๆ พร้อมกับข้อความต่อต้านระเบิดนิวเคลียร์ ซึ่งก็เป็นภาพสะท้อนวัยเด็กของตัวศิลปินที่เติบโตขึ้นมาในสังคมญี่ปุ่นยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งภาพระเบิดที่เกาะฮิโรชิมายังคงเป็นแผลที่ยังไม่ได้รับการเยียวยาร่วมกันของคนญี่ปุ่น นอกจากนี้ยังมีภาพที่เด็กผู้กราดเกรี้ยวของนาระยืนอยู่บนหัวของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ อันเป็นการสะท้อนนัยของการต่อต้านสงครามและการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุ ซึ่งทั้งสองเหตุการณ์นี้ก็ล้วนเป็นโศกนาฏกรรมฝีมือของผู้ใหญ่ ที่ทำให้โลกของเด็ก ๆ ไม่อาจสดใสและเป็นสุขได้