“การทำหนังยาวเรื่องหนึ่ง กินเวลาชีวิตไปเยอะมาก ดังนั้นเราจึงทำหนังที่พาเราก้าวไปอีกขั้นหนึ่งเสมอ” - บรรจง ปิสัญธนะกูล
ความชอบที่ โต้ง-บรรจง ปิสัญธนะกูล ผู้กำกับมากความสามารถจากค่ายหนังคุณภาพอย่าง GDH มีต่อการเล่าเรื่อง และสายตาอันเฉียบคมในการเลือกสรรวัตถุดิบระดับพรีเมียมมาใส่ในภาพยนตร์ ส่งผลให้ไม่ว่าจะเป็นไอเดียเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นในทุกวัน หรือเรื่องเล่าระดับตำนาน โต้ง-บรรจง ก็สามารถย่อยให้กลายเป็นเรื่องราวที่ทุกคนสามารถเข้าใจได้ แต่ในขณะที่เราไว้วางใจกับภาพยนตร์ของบรรจง เขาก็มักจะมาพร้อมกับหมัดฮุกด้วยท่าทีตลกร้าย ยั่วยุผู้ชมโดยไม่ทันได้ตั้งตัว ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงทำงานเท่านั้น เป็นเป็นประสบการณ์ส่วนตัวที่ โต้ง-บรรจง ได้รับจากบทสนทนากับเพื่อน ไดอารี่ ข้อความที่เขาบันทึกไว้ หนังที่ได้ดู ความสนใจในภาพถ่าย ข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์ หรือความคิดที่แล่นอยู่ในหัว
ความสนใจส่วนตัวของบรรจง ที่ถูกหยิบมาใช้ในมุมมอง ช่วงเวลา และจังหวะถูกต้อง ช่วยส่งให้เรื่องราวในภาพยนตร์ ไปได้ไกลกว่าแค่จอสี่เหลี่ยม สิ่งนี้เป็นผลพวงจากการตัดสินใจด้วยความแน่วแน่ในสัญชาตญาณของตัวเอง ซึ่งทั้งหมดที่ว่ามานั้นจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากตัวเขาไม่ลงมือทำอะไรสักอย่างกับไอเดียที่ตนมี ดังนั้น กลเม็ดเด็ดในภาพยนตร์ของบรรจง จึงเกิดขึ้นจากความคิดส่วนตัวก่อนเป็นอันดับแรก เพราะเขาเชื่อว่า หากทำอะไรที่ไม่เป็นตัวของตัวเอง ผลลัพธ์ที่ออกมาคงไม่เป็นไปตามคาด ด้วยแนวคิดทั้งหมดที่ว่ามา ทำให้ผลงานของ โต้ง-บรรจง สามารถสร้างภาพจำให้ผู้คนได้ตั้งแต่แรกเห็น
The Art of Being An Artist สัปดาห์นี้ GroundControl จึงขอพาทุกคนมาสำรวจมุมมองใหม่ในการเล่าเรื่องผ่านภาพยนตร์ของ โต้ง-บรรจง ที่เกิดขึ้นง่าย ๆ จากไอเดียรอบตัว เพื่อปลุกพลังสร้างสรรค์ และสะกิดความกลัว ก่อนจะไปชม ‘ร่างทรง’ หนังสยองขวัญเรื่องล่าสุด ที่กำลังจะเข้าฉายในโรงภาพยนตร์กันวันที่ 28 ตุลาคมนี้ !
“ช่วงวันหยุดยาวตอนเด็ก ผมมักจะไปรวมตัวที่บ้านญาติแล้วก็เช่าหนังผีมาดู รวมตัวขดกันบนเตียงเล็ก ๆ ใต้ผ้าห่ม ประมาณ 5-6 คน ถ้าเรื่องไหนทำให้พวกเราแหกปากดังลั่น ถือว่าหนังเรื่องนั้นประสบความสำเร็จ” - บรรจง ปิสัญธนะกูล จากบทสัมภาษณ์ จับเข่าคุยหนังสยองขวัญในวันวาน
ความทรงจำในวัยเด็กที่ โต้ง-บรรจง ปิสัญธนะกูล ได้คลุกคลีกับโลกของภาพยนตร์ ทำให้หลังจบชั้นมัธยมจากโรงเรียนราชวินิตบางแก้ว เขาเลือกที่จะเข้าเรียนต่อตามทางที่ตัวเองสนใจในสาขาภาพยนตร์และภาพนิ่ง คณะนิเทศศาสตร์ รั้วจุฬาลงกรณ์ บรรจงพบว่าตัวเขามีความชื่นชอบในการเล่าเรื่องมากกว่างานเทคนิค เขาจึงมีส่วนร่วมในการเขียนบทละครเวที และทำหนังสั้นในระหว่างเรียน จนเมื่อเรียนจบ ความชอบในการคิดบทก็ได้ส่งให้เขาก้าวเข้าสู่การเป็นครีเอทีฟให้กับรายการวิทยุวัยรุ่นยอดนิยมอย่าง Teen Talk รวมถึงเป็นผู้ช่วยให้กับ ต่อ-ธนญชัย ศรศรีวิชัย ผู้กำกับโฆษณาชื่อดังแห่ง Phenomena
แม้ว่าบรรจงจะมีความฝันที่อยากจะเป็นผู้กำกับ แต่หนทางขึ้นแท่นมาสู่ผู้กำกับหนังใหญ่ในสมัยนั้น อาจดูเป็นภาพที่ดูไกลตัวไปสักหน่อย เพราะผู้กำกับมักจะเป็นผู้ใหญ่ที่สั่งสมประสบการณ์มาอย่างโชกโชน จนกระทั่งผลงานภาพยนตร์สั้นเรื่อง Color Blind ได้เปิดทางสู่วงการภาพยนตร์ให้แก่เขา บรรจงจึงได้เริ่มขยับขยายหน้าที่มาทำงานด้านเขียนบท จนกลายมาเป็นผู้กำกับเต็มตัวใน ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ (2004) ภาพยนตร์ขนาดยาว สุดหลอน จากค่ายหนังชื่อดังอย่าง GTH (ในขณะนั้น) ทำให้เขาเป็นที่รู้จักในวงกว้างเพียงชั่วพริบตา
ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ (2004) เมื่อการถ่ายภาพ ไม่ใช่เรื่องธรรมดาอีกต่อไป
หลังจากสั่งสมประสบการณ์ในวงการโฆษณามาได้ระยะใหญ่ โต้ง-บรรจง ก็ได้ก้าวเข้ามาสู่วงการภาพยนตร์อย่างเต็มตัวด้วยการกำกับภาพยนตร์สยองขวัญขนาดยาวเรื่องแรกของเขา ร่วมกับ โอ๋-ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ ใน ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ (2004) ภาพยนตร์ร่วมระหว่าง Phenomena และ GTH เขาได้รับเอาแนวคิดอันสดใหม่ มาจากภาพถ่ายและเรื่องเล่าเกี่ยวกับวิญญาณตามติด เกิดเป็นภาพยนตร์ที่บอกเล่าถึง ธรรม์ (อนันดา เอเวอริงแฮม) ช่างภาพหนุ่ม และเจน (จ๋า-ณัฐฐาวีรนุช ทองมี) แฟนสาว ที่เริ่มเจอกับเจอกับเหตุการณ์ประหลาดเมื่อภาพถ่ายด้วยกล้องฟิล์มของเขา ติดเงาแปลก ๆ คล้ายหน้าหญิงสาว เกิดเป็นการตามหาปริศนาในภาพ ที่กำลังพาผู้ชมไปเปิดเบื้องลึกด้านมืดของตัวละคร พร้อม ๆ กับความอกสั่นขวัญผวา
แกนหลักของภาพยนตร์ที่พาเรื่องราวหมุนรอบ ‘การถ่ายภาพ’ ผูกโยงเหตุการณ์หนึ่งถึงเหตุการณ์อื่น ๆ อย่างมีนัยยะ ทำให้ทั้งการกระทำของตัวละคร การออกแบบฉาก และองค์ประกอบอื่น ๆ ภายในเรื่อง ถูกคิดจากความเกี่ยวข้องกับกระบวนการถ่ายภาพตามไปด้วย ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ต้องยอมให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็คือ การหยิบเอาความคุ้นชิน มาสร้างสถานการณ์หลอน ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดตัวผีบนแสงแฟลชชนิดที่หัวใจอาจหยุดเต้นไปชั่วคราว หรือการที่ตัวละครจ้องมองภาพถ่ายที่มีบางอย่างผิดปกติ สิ่งเหล่านี้ยิ่งขับให้ภาพยนตร์ไปได้ไกลถึงขั้นเกิดเป็น ‘ภาพติดตา’ จนยากจะลืมได้ โดยเฉพาะฉากผีขี่คอที่หลาย ๆ คนไม่อยากจะนึกถึง ทำให้เขาแจ้งเกิดเป็นผู้กำกับร้อยล้านตั้งแต่ภาพยนตร์เรื่องแรกเลยทีเดียว อีกทั้งฉากดังในภาพยนตร์ ยังได้กลายมาเป็นฉากที่ถูกหยิบยืมมาอ้างอิงอยู่บ่อยครั้งในสื่อต่าง ๆ ตอกย้ำให้เห็นกันชัด ๆ ว่าผลงานของบรรจง ประสบความสำเร็จอย่างมากทั้งในแง่ของกระแสและรายได้
อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ผู้ชม ซึ่งเป็นผู้ที่เห็นผลลัพธ์ของงาน อาจไม่เคยรู้ก็คือ ในการสร้างภาพยนตร์เรื่องแรกของ โต้ง-บรรจง ครั้งนี้ เป็นงานที่ทั้งโหดและหินจนสร้างความกดดันให้ตัวเขาไม่น้อย เนื่องจากเขาเองไม่เคยมีประสบการณ์การทำหนังยาวมาก่อน บวกกับชื่อเสียงที่ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก แต่ก็ใช่ว่าความลำบากจะเป็นจุดหมายปลายทางเสมอไป เพราะเมื่อวันเวลาพัดผ่าน การสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ ได้กลายมาเป็นบทเรียนอันล้ำค่าให้ตัวของบรรจงได้โตขึ้น โดยเฉพาะเรื่อง ‘ความชัดเจน’ ในการเลือกสรรวัตถุดิบคุณภาพมาอยู่ในภาพยนตร์ ที่ต้องมาพร้อมกับ ‘การบาลานซ์ความรู้สึก’ เพื่อให้การทำงานออกมาราบรื่น และเป็นผลดีกับทั้งตัวเขาเองและ รวมถึงทีมผู้สร้างด้วยเช่นกัน
แฝด (2007) สายเลือดที่ตัดไม่ขาด
โต้ง-บรรจง ยังคงจับมือกับ โอ๋-ภาคภูมิ ในภาพยนตร์เรื่องที่ 2 ของพวกเขาใน แฝด ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวของ พิมพ์ (มาช่า วัฒนพานิช) ที่กลับมาเมืองไทยในรอบหลายปี เนื่องจากแม่ของเธอล้มป่วยลง การกลับมาในครั้งนี้ ได้รื้อฟื้นอดีตอันแสนเจ็บปวดของเธอขึ้นอีกครั้ง เมื่อวิญญาณของ พลอย แฝดสยามผู้น้อง ซึ่งเสียชีวิตจากการผ่าตัดแยกร่าง ตามคอยหลอกหลอนพิมพ์อย่างไร้สาเหตุ จนทำให้เธอตกอยู่ในภวังค์ผวาพร้อม ๆ กับความรู้สึกติดพันที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก
ในทีแรก บรรจงมีความคิดว่าเขาจะวางมือจากการสร้างหนังสยองขวัญติดต่อกัน แต่เมื่อภาคภูมิขายไอเดียเรื่องแฝดสยามชาวสิงคโปร์ ที่เขาเห็นจากข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ให้กับบรรจง ความน่าสนใจที่ประเด็นนี้ยังไม่เคยถูกหยิบมาเล่าในภาพยนตร์ จึงทำให้พวกเขาเลือกที่จะต่อยอดบทจนสำเร็จ โดยมีร่างแรกของบทเป็นภาพยนตร์แนวทริลเลอร์ ก่อนที่บรรจงจะตัดสินใจมาสร้างภาพยนตร์แนวดราม่าความสัมพันธ์ ที่ค่อย ๆ เปิดปมตัวละครอย่างช้า ๆ ซึ่งก็ถือได้ว่าการเลือกทางใหม่นี้ ตอบรับกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี และแม้ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะไม่ได้มีท่าทีอันแปลกใหม่มากนัก แต่งานชิ้นนี้ก็ยังคงเป็นที่พูดถึงมาจนทุกวันนี้
สี่แพร่ง (2008) และ ห้าแพร่ง (2009)
จาก ‘คนกลาง’ ถึง ‘คนกอง’
ความสำเร็จในรสมือการกำกับภาพยนตร์สยองขวัญของ โต้ง-บรรจง จาก ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ (2004) และ แฝด (2007) ส่งผลให้บรรจง ได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งใน 4 ผู้กำกับมากความสามารถจาก GTH ที่เข้ามามีส่วนร่วมในโปรเจ็กต์หนังสั้น 4 เรื่องใน 1 หนังยาว ซึ่งนำเอาไอเดียของทาง ‘สี่แพร่ง’ (2008) ที่เราคุ้นเคย มาเป็นจุดเชื่อมโยงเรื่องราวชวนหัวลุกจากโลกของภาพยนตร์ที่แตกต่างกัน
ในการทำงานครั้งนี้ บรรจงหยิบเอาไอเดีย ‘คนกลาง’ มาจากการที่ตัวเขาเอง ได้เดินทางไปพักร้อนกับเพื่อนผู้กำกับ ด้วยความที่เพื่อนของเขากลัวผีกันเข้าเส้น ทำให้ทุกคนต่างแย่งกันนอนตรงกลางเพื่อความอุ่นใจ นิสัยส่วนตัวที่มีความตลกร้ายของบรรจง จึงพาให้เขาคิดไปต่อว่าหากเขาเป็นวิญญาณ คนแรกที่เขาจะมาหลอกคือคนที่นอนอยู่ตรงกลาง ซึ่งเมื่อเทียบกับผลงานที่ผ่านมาของบรรจง ภาพยนตร์สั้นเรื่องนี้ ถือได้ว่าเป็นรสชาติที่แตกต่างจากครั้งก่อน ๆ อย่างสิ้นเชิง และแน่นอนว่าเรื่องราวอันตื่นเต้น ชวนให้ปิดตา ที่สอดแทรกด้วยมุกเด็ด ๆ มากมาย ย่อมดึงดูดผู้ชมได้ไม่ยาก ดังนั้น ภาพยนตร์ของบรรจง จึงได้รับกระแสจากผู้ชมอย่างล้นหลาม ส่วนหนึ่งที่การตอบรับจากผู้ชมเป็นไปในทางบวกขนาดนี้ได้นั้น ต้องยกความดีความชอบให้กับการเลือกส่วนผสมจากส่ิงใกล้ตัว ด้วยสายตาที่เฉียบแหลม ทำให้ผู้ชมมีประสบการณ์ร่วม แต่ก็รู้สึกว่าภาพยนตร์แตกต่างไปจากโลกที่พวกเขารู้จักเช่นกัน
กระแสตอบรับที่ดีเกินคาดของ สี่แพร่ง ทำให้ในปีต่อมา โต้ง-บรรจง เลือกที่จะสร้างภาพยนตร์สยองขวัญปนตลกร้าย ขึ้นอีกครั้งใน ‘ห้าแพร่ง’ (2009) โดยยังคงใช้นักแสดงชุดเดิมจาก ‘คนกลาง’ ซึ่งนำทีมโดย เผือก-พงศธร จงวิลาส ไม่เพียงเท่านั้น บรรจงยังได้ดึงเอา มาช่า วัฒนพานิช กลับมารับบทบาทร่วมกัน เพื่อล้อเลียนกับภาพยนตร์ของเขาอย่างเรื่อง ‘แฝด’ ซึ่งก็ยิ่งย้ำให้เห็นกันชัดเจน ถึงความตลก กวน ๆ ของบรรจง ที่ไม่เพียงแค่ล้อกับตัวละคร หรือมุมมองในเรื่องราวต่าง ๆ ที่เขาพบเจอ แต่ยังกล้าจิกกัดผลงานชิ้นก่อน ๆ ของตัวเองด้วยเช่นกัน และนี่คือวิธีการที่บรรจงใช้เพื่อหาแนวทางที่ไม่เหมือนใครให้กับงานของเขา จนสามารถตกผู้ชมได้มากมาย
กวน มึน โฮ ยินดีที่ไม่รู้จัก.. แค่รู้ว่ารักก็พอใจ
หลังจากที่ โต้ง-บรรจง เดินสายสร้างภาพยนตร์สยองขวัญ และเก็บเกี่ยวมุกตลกจากภาพยนตร์ที่ผ่าน ๆ มาได้สักพักหนึ่ง เขาก็ได้รับแรงบันดาลใจใหม่ในการสร้างภาพยนตร์ที่แตกต่างไปจากสิ่งที่เขาเคยทำโดยสิ้นเชิง นั่นคือการสร้างหนังโรแมนติก-คอมเมดี้ ซึ่งเป็นแนวทางที่เขาไม่เคยลองทำมาก่อน ช่วงเวลาประจวบเหมาะกับการได้อ่านหนังสือ ‘ สองเงาในเกาหลี’ โดย ทรงกลด บางยี่ขัน ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวของ 2 คนแปลกหน้า ที่บังเอิญเจอกันในต่างเมือง กลายมาเป็น ‘กวน มึน โฮ’ ภาพยนตร์ที่เกิดขึ้นในทำนองเดียวกัน
คำถามที่ว่า “ทำไม เราถึงกล้าพูดความในใจกับคนแปลกหน้ามากกว่าคนที่เรารู้จัก” กลายมาเป็นโจทย์ใหญ่ให้กับเรื่องราวรักโรแมนติกเรื่องแรกของบรรจง ที่เกิดขึ้นระหว่างกรุ๊ปทัวร์ประเทศเกาหลี อาจบอกได้ว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้มีฉากหลังเป็นเกาหลีก็เพราะ วัฒนธรรมเกาหลีไม่ว่าจะเป็น K-Pop หรือการรับชมซีรีส์ กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตผู้คนมากมาย ดังนั้น หากจะมีประเทศไหนที่คนไทยรู้สึกอินและเห็นภาพตามง่าย ๆ คงเป็นที่ไหนไปไม่ได้นอกจากเกาหลี
หากความสำเร็จของหนังสยองขวัญคือการทำให้ผู้ชมรู้สึกกลัว การทำหนังรักก็คงต้องทำให้ผู้ชมรู้สึกร่วมไปกับเรื่องราวและตัวละครเช่นกัน ซึ่งโดยมากแล้ว หากจะฮุกความรู้สึกของผู้ชมได้นั้น การเข้าไปมีประสบการณ์ร่วมกับทั้งสถานที่และอีเวนต์ยอดฮิต จึงส่งผลตรงกับการหามุมมองสร้างสถานการณ์ในเรื่องทั้งสมจริง และแปลกใหม่ น่าสนใจในเวลาเดียวกัน ทำให้บรรจง เลือกที่จะลงไปเก็บเกี่ยวความรู้สึกจากสถานที่จริง เช่น การลองกินหมึกสด ที่กลายมาเป็นฉากสร้างเสียงหัวเราะให้ผู้ชมจำนวนมาก และนอกจากการลงไปหาประสบการณ์ร่วมแล้ว การหาความรู้สึกร่วมก็สำคัญไม่แพ้กัน แต่เนื่องจากเรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ ของคนเรา ไม่สามารถทดลองกันได้ง่าย ๆ ดังนั้น การวิเคราะห์ความรู้สึกผ่านตัวละครในโลกของภาพยนตร์ จึงช่วยให้บรรจง สามารถเก็บเกี่ยวทั้งความแข็งกระด้างและความอ่อนไหวมาได้อย่างครบถ้วน และแม้ว่าบรรจงจะกังวลกับกระแสตอบรับจากการเปลี่ยนแนวทางใหม่ แต่ท้ายที่สุดแล้ว ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ยังคงคุณภาพจนได้รับกระแสในเชิงบวกเช่นเคย
พี่มาก..พระโขนง (2013) ตำนานรักในมุมมองใหม่
"เสียงกลองรบดังสนั่น เหล่าชายฉกรรจ์ปกปักษ์ปฐพี
ยามรบเราก็เต็มที่ แม้ไม่มีช้างขี่ไล่จับตั๊กแตน
ตกดึกข้านั้นเปลี่ยวหนัก คิดถึงยอดรักที่งามวิไล
ข้าต้องระบายทันใด ลุกขึ้นมาสาว เอาดาบมาขัดๆๆ”
ไม่ว่าจะในภาพยนตร์เรื่องไหน ขึ้นชื่อว่ากำกับโดย โต้ง-บรรจง เป็นต้องมีหนึ่งภาพจำที่ทุกคนได้ยินแล้วต้องพยักหน้าไปตาม ๆ กัน อย่างเพลงชายฉกรรจ์ในภาพยนตร์ดัง ‘พี่มาก..พระโขนง’ ก็ได้กลายมาเป็นกระแสในเวลานั้นจากการที่ผู้คนแห่เต้นตามกันลงในโซเชียลมีเดีย
จั่วหัวเรื่องกันมาโต้ง ๆ ว่า พี่มาก..พระโขนง ภาพยนตร์เรื่องนี้ต้องดัดแปลงมาจากตำนวนความรักของนางนาคอย่างแน่นอน แต่เมื่อเรื่องราวความรักสุดเศร้านี้ ได้รับการตีความไปในหลากหลายเวอร์ชั่นจนยากจะหาความสดใหม่ได้ โจทย์ในครั้งนี้จึงท้าทายตามไปด้วย
ความต้องการของ โต้ง-บรรจง ที่อยากจะให้ตัวละครเอกทั้ง 4 คนในภาพยนตร์เรื่อง สี่แพร่ง และ ห้าแพร่ง ปรากฏในภาพยนตร์อีกครั้งด้วยบทบาทที่โดดเด่นขึ้นกว่าเดิม ทำให้บรรจง เลือกที่จะบิดตำนานรักครั้งยิ่งใหญ่ มาเป็นมุมมองของ พี่มาก (มาริโอ้ เมาเร่อ) เพื่อสร้างเนื้อหาที่แปลกตาไปจากภาพยนตร์รีเมคเรื่องอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าไอเดียจะพรั่งพรูออกมาจนฉุดไม่อยู่ แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็เคยพบกับทางตันเช่นกัน เมื่อไอเดียทั้งหมดไม่สามารถนำมาสู่จุดจบของเรื่องได้ จนทำให้มีการปรับโครงสร้างเรื่องชุดใหญ่ ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ก็ออกมาดีไปตามคาด เพราะไม่ว่าจะหันไปทางไหน ถามจากคนเจเนเรชั่นใด หลายคนต่างก็ตอบเป็นเสียงเดียวกันว่ารู้จักและชื่นชอบในภาพยนตร์เรื่องนี้
แฟนเดย์..แฟนกันแค่วันเดียว (2016) ฝันที่ไม่กล้าฝัน แต่ก็ยังฝัน
ความสำเร็จในการทำภาพยนตร์รักอารมณ์ขัน ที่ โต้ง-บรรจง พาทีมงานบินลัดฟ้าไปถ่ายทำกันไกลถึงประเทศเกาหลี ทำให้ในภาพยนตร์โรแมนติกเรื่องต่อมาของเขา มีหมุดหมายในต่างประเทศเช่นกัน แม้ว่า ‘แฟนเดย์..แฟนกันแค่วันเดียว’ จะเป็นภาพยนตร์ที่บรรจงได้รับโจทย์มาว่าสถานที่ของเรื่องนี้ ต้องเกิดขึ้นในสกีรีสอร์ตที่ฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น แต่ความพยายามอยากจะเปลี่ยนแนวมาหนังรักปนกลิ่นอายดราม่า ซึ่งแตกต่างไปจากสิ่งที่ตัวเขาเคยทำโดยสิ้นเชิง ก็ได้ส่งผลให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ กลายมาเป็นภาพยนตร์รักโรแมนติกที่ครบเครื่องด้วยอารมณ์ความรู้สึก ชวนให้นึกถึงหนังรักในยุค 90s
บรรจงเดินทางไปฮอกไกโดถึง 3 ครั้ง เพื่อหยิบจับเอาสิ่งที่เขาประทับใจ นั่นคือ ‘หิมะ’ มาใช้เป็นสื่อแทนความรักของ เด่นชัย (เต๋อ-ฉันทวิชช์) เจ้าหน้าที่ไอทีสุดเนิร์ดประจำออฟฟิศ ที่เกิดหลงรัก นุ้ย (มิว-นิษฐา) พนักงานสาวสวยที่ไม่ละทิ้งความรู้สึกของเขา เกิดเป็นรักเศร้า ๆ ของหนุ่มนัก lost ที่เต็มไปด้วยความสวยงามในช่วงเวลาหนึ่ง
ความท้าทายของ โต้ง-บรรจง ในการทำงานครั้งนี้ คือการตัดมุกเด็ด ๆ ที่ทุกคนเคยเห็นในภาพยนตร์เรื่องก่อน ๆ ทิ้ง และทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ มีความสมจริง เป็นธรรมชาติสูงขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งนี้ต้องอาศัยการทำการบ้านอย่างหนัก เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในแนวทางของบรรจงเอง และแนวทางการสร้างหนังที่สดใหม่ด้วย ซึ่งก็ถือได้ว่า แฟนเดย์..แฟนกันแค่วันเดียว ประสบความสำเร็จจากการที่นำพาผู้ชมไปสู่คำถามที่ชวนให้เกิดวงสนทนาขึ้น และด้วยความที่ แฟนเดย์..แฟนกันแค่วันเดียว เข้าไปนั่งในหัวใจผู้ชมมากมาย ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ ถูกหยิบไปรีเมคใหม่ในเวอร์ชั่นจีนเช่นกัน
ร่างทรง (2021) ‘ใคร’ คือผู้บงการร่างกายและจิตใจ
หลังจาก โต้ง-บรรจง ห่างหายจากการกำกับภาพยนตร์สยองขวัญเพียว ๆ มาได้ระยะหนึ่ง เขาก็กลับคืนสู่แวดวงหนังสยองขวัญอีกครั้งอย่างยิ่งใหญ่ด้วยรสชาติหนังผีแบบไทย ๆ ที่กำลังจะพาผู้ชมไปสำรวจความเชื่อใกล้ตัวอย่าง ‘ร่างทรง’ ความพิเศษในงานครั้งนี้ก็คือ GDH ได้ก้าวขึ้นอีกขั้นด้วยการร่วมทุนสร้างภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์กับเกาหลี โดยมี นา ฮง-จิน ผู้กำกับภาพยนตร์สยองขวัญในตำนานจากหนังดังอย่าง The Wailing (2016) มาร่วมอำนวยการสร้าง หาจุดเชื่อมของความเชื่อและสิ่งลี้ลับ จนออกมาเป็นภาพยนตร์เรื่อง ‘ร่างทรง’ (2021) ที่ว่าด้วยเรื่องราวของครอบครัวหนึ่งซึ่งมีความเชื่อทางไสยศาสตร์และสืบเชื้อสายการทรงเจ้า ผ่านแสดงโดยนักแสดงมากความสามารถอย่าง ญดา-นริลญา กุลมงคลเพชร และ เอี้ยง-สวนีย์ อุทุมมา ทีช่วยเพิ่มความสมจริงให้ภาพยนตร์ได้ไม่น้อยเลยทีเดียว
ความยากในการทำงานครั้งนี้ อยู่ตรงที่การหยิบเอาประเด็นคุ้นเคย มาเล่นในท่าทีใหม่ จนเกิดเป็นประสบการณ์ร่วม พาผู้ชมเดินทางไปถึงจุดที่พวกเขาคาดเดาไม่ได้ ทำให้ ‘ร่างทรง’ แตกต่างออกไปตรงที่ความน่าสะพรึงกลัว อยู่ในอาการของผู้หญิงคนหนึ่งที่คล้ายกับโดนผีสิง มากกว่าเรื่องราวผีหลอกตามแบบฉบับภาพยนตร์สยองขวัญทั่วไป นำมาสู่ปริศนาความลี้ลับที่ลงลึกถึงระดับจิตใจ ที่เชื่อมโยงผีแบบไทย ๆ เข้ากับความเชื่อเรื่องร่างทรงที่เกิดขึ้นทั่วโลก
หนึ่งสิ่งสำคัญที่ โต้ง-บรรจง ได้รับจากการทำงานร่วมกับ นา ฮง-จิน ก็คือ การหาวิธีในการสร้างฉากที่ความเชื่อแบบไทย ๆ ให้มีบรรยากาศเหมือนต้องมนต์ขลัง สร้างความรู้สึกร่วมที่เป็นสากลจนไม่ว่าผู้ชมจะอยู่ประเทศไหน พวกเขาก็สามารถเข้าใจเรื่องราวเหล่านี้ได้ แทนการสร้างภาพยนตร์ที่คิดถึงตรรกะ ความเข้าใจของผู้ชม บรรจงเปลี่ยนมาใช้ช่องว่างทางภาพยนตร์ เพื่อให้ผู้ชมสามารถเก็บเกี่ยวและเชื่อมต่อเรื่องราวเหล่านั้นด้วยตัวเอง เพราะท้ายที่สุดแล้ว ภาพยนตร์ คือภาษาสากลที่ทุกคนสามารถรู้สึกร่วมได้ ซึ่งก็เป็นไปตามคาด เพราะหลังจากที่ภาพยนตร์เรื่องนี้เปิดตัวในเกาหลีใต้ ภาพยนตร์เรื่องนี้ กอบโกยรายได้กว่า 100 ล้านบาท ตั้งแต่สัปดาห์แรกที่ออกฉาย จนเป็นที่พูดถึงอย่างกว้างขวาง ส่วนในไทย ร่างทรงมีกำหนดฉายในไทยวันที่ 28 ตุลาคมนี้ สามารถตามไปกระตุกประสาท กระตุ้นความหลอนกันได้ในทุกโรงภาพยนตร์
อ้างอิง : https://th.wikipedia.org/.../%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%A3... https://www.posttoday.com/ent/news/220036 https://adaymagazine.com/30-thoughts-by-tong-banjong https://thestandard.co/shutter/ https://movie.mthai.com/movie-news/70026.html https://youtu.be/sUIkhdB31CM https://www.modernist.life/18447...