GC_beingartist_Hayao Miyazaki.jpg

Hayao Miyazaki ผู้กำกับที่เป็นดั่งลมหายใจของ Studio Ghibli

Post on 24 January

‘ถึงแม้จะชอบหรือไม่ แต่ภาพยนตร์ก็เป็นภาพสะท้อนผู้กำกับ คุณต้องแน่วแน่ที่จะเปลี่ยนโลกด้วยหนังของคุณ แม้ว่าจะไม่มีอะไรเปลี่ยนเลยก็ตาม’ - Hayao Miyazaki

การเติบโตของสตูดิโอแอนิเมชันที่สร้างสรรค์ผลงานลายเส้นสองมิติอันโดดเด่น จนเกิดเป็นภาพยนตร์มากมายที่มีเนื้อหาลึกล้ำและไปไกลกว่าแอนิเมชันทั่วไปอย่าง ‘Studio Ghibli’ คือผลผลิตของชายผู้เต็มเปี่ยมไปด้วยจินตนาการที่ชื่อ ‘ฮายาโอะ มิยาซากิ’

จากความรู้สึกโดดเดี่ยวไร้ที่พึ่ง มิยาซากิค้นพบตัวตนของเขาในมังงะและการวาดรูป เขามักจะพาตัวเองไปยังสถานที่ต่าง ๆ เก็บบรรยากาศเหล่านั้นไว้ในกล้องวิดีโอ และบันทึกรายละเอียดเล็ก ๆ เข้าแคตตาล็อกในหัว เพื่อถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้ออกมาในจังหวะที่เหมาะสม มิยาซากิเติมแต่งจินตนาการของเขาและเชื่อมโยงสิ่งที่อยู่ในหัวลงบนกระดาษอย่างอิสระลงบนกระดาษด้วยพาเลตสีน้ำคู่ใจ

ความสามารถอันโดดเด่นของมิยาซากิในการออกแบบคาแรคเตอร์ตัวละครที่แปลกใหม่ สร้างการจดจำให้ผู้ชมได้ตั้งแต่ครั้งแรกที่เห็น บวกกับการถ่ายทอดเรื่องราวอย่างเหนือชั้นและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ก้าวข้ามเส้นแบ่งความเป็นตรรกะเหตุผลด้วยเนื้อเรื่องที่เปิดกว้างครอบคลุมถึงประเด็นส่วนตัวและประเด็นสังคม ทำให้มิยาซากิได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางจนกลายมาเป็นปรากฏการณ์ให้แก่วงการแอนิเมชัน

ในขณะที่ภาพยนตร์ของมิยาซากิเข้าถึงกลุ่มผู้ชมวัยเด็กจากทั่วโลก งานของเขาก็เข้าถึงผู้ใหญ่ได้เช่นกัน การตีความในภาพยนตร์ของมิยาซากิ จึงมีความพิเศษเกินจะอธิบายได้ เนื่องจากเมื่อเรากลับมาดูอีกครั้ง มุมมองที่เรามีต่อโลก จะเป็นตัวชี้วัดว่าเรามองภาพยนตร์ของเขาเป็นอย่างไร ทำให้ผลงานของมิยาซากิถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางในหลายแง่มุม

GroundControl ขอชวนทุกคนไปรู้จักกับเบื้องหลังชีวิตของ ‘ฮายาโอะ มิยาซากิ’ ไปพร้อม ๆ กับการสำรวจแนวคิดในการสร้างโลกที่เปิดมิติใหม่แห่งจินตนาการที่ทำให้ Studio Ghibli กลายมาเป็นหนึ่งในสตูดิโอแอนิเมชันที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลก

ก่อนไปตามรอยภาพยนตร์ของ Studio Ghibli ได้ใน
Self-Quarantour EP. Ghibli Inspiration

‘ฮายาโอะ มิยาซากิ’ เกิดที่โตเกียวในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พ่อของเขาเป็นเจ้าของบริษัทผลิตชิ้นส่วนเครื่องบินรบ ในตอนเด็กนั้นมิยาซากิมักมีปัญหาด้านสุขภาพ โดยเฉพาะปัญหาเรื่องระบบการย่อย ถึงขั้นที่หมอวินิจฉัยว่าเขาอาจมีอายุได้ไม่เกิน 20 ปี จุดเปลี่ยนสำคัญครั้งแรกเกิดขึ้นตอนที่มิยาซากิอายุได้ 6 ขวบ เมื่อ ‘โยชิโกะ’ แม่ของเขาล้มป่วยลงด้วยวัณโรคกระดูกอย่างกะทันหัน ความรู้สึกโหยหาความรักจากแม่ ก่อตัวขึ้นอย่างเงียบ ๆ ในตัวของมิยาซากิ เขารู้สึกว่าชีวิตของตัวเองไร้ค่า จนกระทั่งเมื่อเขาได้รู้จักกับมังงะและการวาดภาพ ซึ่งเป็นสิ่งเดียวที่เยียวยาจิตใจของเขาในขณะนั้น

ถึงแม้ว่าเขาจะจบการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์ แต่มิยาซากิกลับเลือกสมัครงานในบริษัทแอนิเมชันยักษ์ใหญ่อย่าง Toei Animation เขาเริ่มอาชีพแอนิเมเตอร์ตั้งแต่นั้นมา บทสนทนาเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างรอรถ ทำให้มิยาซากิได้รู้จักกับ อิซาโอะ ทากาฮาตะ (Isao Takahata) รุ่นพี่ในสายงานเดียวกัน ที่กลายมาเป็นเพื่อนคู่คิดของเขาในเวลาต่อมา ความสามารถของมิยาซากิโดดเด่นมากเมื่อเทียบกับแอนิเมเตอร์คนอื่น งานของเขาเต็มเปี่ยมไปด้วยจินตนาการ จนกลายเป็นปรากฏการณ์ของแอนิเมชัน

ผลงานการกำกับภาพยนตร์เรื่องแรกของมิยาซากิ ‘The Castle of Cagliostro’ เกิดขึ้นตอนที่เขาอายุได้ 38 ปี มิยาซากิได้รับคำชมอย่างล้นหลาม ทว่าภาพยนตร์เรื่องนี้กลับทำรายได้ไม่ดีนัก เนื่องจากกระแสนิยายวิทยาศาสตร์อย่าง Space Battleship Yamato ได้รับความนิยมอย่างมาก มิยาซากิยังคงพยายามขายงานของเขาไปตามสตูดิโอต่าง ๆ แต่โอกาสในการเป็นผู้กำกับก็เริ่มริบหรี่เต็มที เขาถูกปฏิเสธด้วยเหตุผลที่ว่า งานของเขาดูล้าหลังเกินกว่าจะกลายเป็นแอนิเมชันยอดฮิตได้ เขาจึงต้องเปลี่ยนเส้นทางของตัวเองไปทำงานแอนิเมชันทีวีแทน

ความมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้กำกับยังอยู่ในตัวของมิยาซากิเสมอ สำหรับเขาแล้ว ชีวิตจะไม่มีความหมายเลย ถ้าเขาไม่ได้สร้างงานที่ทำให้ผู้คนสนุกไปกับมันได้ ในตอนนั้นเองที่ ‘โทชิโอะ ซูซูกิ’ บรรณาธิการนิตยสารแอนิเมชันติดต่อมาชวนมิยาซากิไปวาดซีรีส์มังงะให้นิตยสารของเขา ถึงแม้ในตอนแรกมิยาซากิจะปฏิเสธ แต่เขาก็ตอบตกลงในที่สุด

จากมังงะรายเดือน เรื่อง ‘Nausicaä of the Valley of the Wind’ ที่ว่าด้วยเรื่องของเจ้าหญิงผู้มีปมในใจ เธอใช้ชีวิตอย่างเข้มแข็งและไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา ถึงแม้ว่าโลกอนาคตที่เธออยู่กำลังจะพังทลาย ซูซูกิ ในฐานะผู้อำนวยการสร้าง เสนอให้งานชิ้นนี้พัฒนาสู่ภาพยนตร์ จนเกิดเป็นภาพยนตร์แอนิเมชันขนาดยาวใน 1 ปีต่อมา ภาพยนตร์เรื่องนี้โดนใจผู้ชมเข้าอย่างจัง ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่างานของมิยาซากิเข้าถึงความรู้สึกลึกซึ้งภายในจิตใจของพวกเขา ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างชื่อเสียงให้กับมิยาซากิอย่างกว้างขวาง

ทว่า หลังจากภาพยนตร์เรื่องนี้ประสบความสำเร็จได้ไม่นาน มิยาซากิก็ต้องพบกับข่าวร้ายอีกครั้งเมื่อแม่ของเขาเสียชีวิตลง การจากไปของแม่ สร้างความเสียใจให้แก่มิยาซากิเป็นอย่างมาก มิยาซากิในวัยผู้ใหญ่ เปลี่ยนความเศร้าของเขาเป็นพลัง และมุ่งมั่นทุ่มเททั้งกายใจให้กับการทำหนังด้วยความหวังที่อยากให้คนดูของเขามีความสุข เพราะสำหรับมิยาซากิแล้ว การทำให้ผู้ชมรู้สึกไปกับงาน เป็นเครื่องยืนว่าเขายังมีตัวตนอยู่บนโลกใบนี้ และในปี 1985 Studio Ghibli ก็ถือกำเนิดขึ้น ด้วยความร่วมมือของ อิซาโอะ ทากาฮาตะ, โทชิโอะ ซูซูกิ และยาสึโยชิ โทคุมะ

สไตล์งานอันโดดเด่นที่ทำให้สตูดิโอจิบลิกลายมาเป็นแอนิเมชันสตูดิโอระดับโลก เริ่มต้นด้วยการวาดภาพร่างบนกระดาษเพียงแผ่นเดียว จากจุดประกายไอเดียเล็ก ๆ พวกเขาขยายขอบเขตในจินตนาการออกไปเรื่อย ๆ ผ่านภาพที่เรียงต่อกันบนผนังห้อง จนเกิดเป็นโลกของเรื่องเล่าในที่สุด มิยาซากิไม่ลืมที่จะหลอมรวมโลกแห่งจินตนาการเข้ากับความเป็นจริงอย่างสมดุล สิ่งนี้เอง ที่เป็นเหมือนมนต์สะกดให้ผู้ชมยังคงเชื่อว่าพวกเขาอยู่บนโลกแห่งความเป็นจริง ถึงแม้ว่าความแฟนตาซีมากมายจะเกิดขึ้นในภาพยนตร์ของจิบลิก็ตาม

Laputa: Castle in the Sky (1986)

Laputa: Castle in the Sky (1986)

ภูมิหลังในชีวิตมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการสร้างงานของเขา ภาพยนตร์ของมิยาซากิมักเกี่ยวข้องกับการบิน เป็นผลจากธุรกิจผลิตชิ้นส่วนเครื่องบินรบของพ่อ มิยาซากิเปิดเผยในภายหลังว่าเขารู้สึกผิดที่ครอบครัวของเขาได้รับประโยชน์จากการช่วยญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2 ความไม่ชอบทหารจึงสะท้อนให้เห็นในภาพยนตร์ของเขาด้วยเช่นกัน

Laputa: Castle in the Sky (1986) คือภาพยนตร์เรื่องแรกของมิยาซากิในนามผู้กำกับของ Studio Ghibli เรื่องราวการผจญภัยของเด็กชายคนหนึ่งผู้ใฝ่ฝันที่จะค้นพบปราสาทในตำนานที่ลอยอยู่บนท้องฟ้า โชคชะตานำพาให้เขาพบกับเด็กหญิงกับสร้อยคริสตัลปริศนาที่นำพาพวกเขาสู่ดินแดนลอยฟ้าที่ชื่อ Laputa

เรื่องราวในภาพยนตร์ เกิดขึ้นราว ๆ ปลายศตวรรษที่ 19 ด้วยแก่นหลักที่ยึดโยงกับสงคราม สันติภาพ และธรรมชาติ เมื่อธรรมชาติอันบริสุทธิ์ถูกทำลายโดยน้ำมือของมนุษย์ ต้นไม้ขนาดใหญ่และซากปรักหักพังจึงกลับสู่ต้นกำเนิดอีกครั้ง

ภาพยนตร์สะท้อนถึงความโหดร้ายของมนุษย์ต่อธรรมชาติและต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เมื่อใดที่การทหาร สงคราม และการครอบครองดินแดน ฝังรากลึกในใจผู้คน เมื่อนั้นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และการแย่งชิงดินแดนจึงเกิดขึ้น มิยาซากิแทรกความคิดอันสุดโต่งอย่างตรงไปตรงมาและหลักแหลม ทำให้ภาพยนตร์ของเขากลายเป็นภาพยนตร์สำหรับผู้ชมทุกเพศทุกวัย เขาสะท้อนจุดยืนในการต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์อย่างชัดเจน เพราะตระหนักได้ถึงความรุนแรงเมื่อพ่อของเขาสร้างชิ้นส่วนสำหรับ Zero Warplanes ขึ้นในสงครามโลกครั้งที่ 2

‘ฉันไม่สามารถแกะบาดแผลที่เกิดจากการโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์ในฮิโรชิมาและนางาซากิได้’

ความโหดร้ายของสงคราม ถูกเก็บงำไว้ในใจของมิยาซากิเช่นเดียวกับชาวญี่ปุ่นหลายคน อย่างไรก็ตาม ภาพยนตร์ของมิยาซากิไม่ได้สะท้อนแค่แง่มุมความโหดร้ายของมนุษย์เท่านั้น แต่ยังสะท้อนก้นบึ้งของความดีงามที่แฝงอยู่ในตัวเรา มิยาซากิได้รับแรงบันดาลใจจากแม่ของเขา ตัวละครที่เรารู้จักกันดีใจชื่อ ‘คุณป้าดอร่า’ คือภาพแทนของแม่ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลัง ชีวิตชีวา และมีจิตใจอันกล้าหาญ สำหรับมิยาซากิแล้ว ไม่มีพื้นที่ของความกลางในการเมืองอย่างแท้จริง สิ่งที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ ล้วนเป็นผลจากการเลือกของเราเสมอ

เกล็ดเล็ก ๆ จากภาพยนตร์ : การนำเข้าภาพยนตร์ในประเทศแถบตะวันตกโดย Disney Studio มีการตัดคำว่า Laputa ทิ้งไป เนื่องจากเป็นคำพูดที่ไม่เหมาะสมในภาษาสเปน

My Neighbor Totoro (1988)

My Neighbor Totoro (1988)

ผลกระทบจากภาวะสงคราม ทำให้ครอบครัวของมิยาซากิต้องหลบหนีการทิ้งระเบิดของอเมริกาในโตเกียวมายังเมือง Utsunomiya ใกล้ ๆ โรงงานผลิตชิ้นส่วนเครื่องบินของพ่อ ในช่วงเวลานี้เองที่มิยาซากิได้ค้นพบกับป่าที่เป็นแรงบันดาลใจในการสร้าง My Neighbor Totoro (1988) ผลงานอันสดใส เรียบง่าย และอ่อนโยน ว่าด้วยเรื่องการสำรวจบ้านใหม่แถบชนบทของเด็กหญิง 2 คน พวกเธอค้นพบป่าใกล้บ้านที่จะนำพาไปสู่การรู้จักกับภูตป่าที่ชื่อ ‘โทโทโร่’

มิยาซากิได้ไอเดียภาพยนตร์เรื่องนี้มาจากฉากรอรถบัสท่ามกลางสายฝน เขาอธิบายว่าเขาต้องการจับภาพบางสิ่งที่เขาเองก็ไม่อาจอธิบายได้ ฉากในเรื่องคือเมือง Tokorozawa ในจังหวัดไซตามะ ที่ซึ่งเขาอาศัยอยู่กับภรรยาสมัยยังเป็นหนุ่มสาว มิยาซากิตัดสินใจสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยการใส่ฉากหลังชนบทของญี่ปุ่น ในช่วงที่เขาสร้าง ‘Heidi, Girl of the Alps’ การไปสวิตเซอร์แลนด์เพื่อเรียนรู้การวาดต้นไม้และสัตว์ป่า ทำให้เขาคิดถึงความเขียวขจีในญี่ปุ่น ถึงแม้ว่าเขาจะไม่ชอบญี่ปุ่นก็ตาม แต่เขาก็เลือกฉากหลังของญี่ปุ่นให้แก่หนังเรื่องต่อ ๆ มาของเขา อีกฉากหนึ่งที่สร้างจากสถานที่ในชีวิตจริงก็คือ โรงพยาบาลที่แม่ของเด็กทั้งสองพักอยู่ มิยาซากิได้รับแรงบันดาลใจจากโรงพยาบาลที่แม่ของเขาเข้ารักษาตัวจริงเมื่อยังมีชีวิตอยู่

ความสัมพันธ์ของมนุษย์กับธรรมชาติ คือประเด็นหลักที่มิยาซากิมักจะพูดในงานของเขา โทโทโร่คือตัวละครสมมติที่อธิบายความลึกลับซับซ้อนในโลกแห่งจินตนาการผ่านสายตาของเด็ก เขาคือผู้พิทักษ์สายลมและปกปักรักษาพืชพันธุ์ให้เจริญงอกงาม เรื่องราวแฟนตาซีที่สุดแสนจะเรียบง่ายนี้ ไม่ได้สร้างขึ้นเพื่ออุทิศแก่ความฝันของเด็กเท่านั้น แต่ยังตอกย้ำว่าเราทุกคนต่างใช้ชีวิตผ่านภาพอดีตในวัยเยาว์ ชวนให้ผู้ชมย้อนนึกถึงความทรงจำในวัยเด็กเพื่อมองโลกใหม่อีกครั้งหนึ่ง มิยาซากิไม่ลืมที่จะระลึกถึงแม่ ด้วยการใส่แม่ผู้ป่วยเป็นอัมพาตในภาพยนตร์ของเขา

ภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกปล่อยมาในปีเดียวกับ Grave of the Fireflies ของ อิซาโอะ ทาคาฮาตะ ซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างสุดขั้วทั้งในแง่ของเนื้อหาและโทนของเรื่อง เปรียบเหมือนเป็นด้านมืดและด้านสว่างอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม ภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องก็มีสิ่งที่ยึดโยงเข้าด้วยกันอยู่ นั่นก็คือการสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ผู้ชม เพื่อให้สังคมเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น คาแรคเตอร์อันโดดเด่นเป็นที่จดจำของโทโทโร่ ทำให้ตัวละครตัวนี้กลายมาเป็นตัวแทนของการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม และสัญลักษณ์ในโลโก Studio Ghibli สินค้าที่ระลึกลวดลายโทโทโร่ถูกผลิตขึ้นมากมาย สร้างรายได้ให้แก่จิบลิมหาศาลจนถึงปัจจุบัน

 Spirited Away (2001)

Spirited Away (2001)

‘อย่าพร่ำบ่นถึงความเศร้าโศกหรือความเจ็บปวดใด เสียงเพรียกแผ่วเบาของทุกความทรงจำที่เลือนหาย จะคอยนำทางเธอเสมอ’

จากเรื่องราวที่อิงประเด็นทางสังคม นำมาสู่การถามหาตัวตนในภาพยนตร์แอนิเมชันที่เต็มเปี่ยมไปด้วยรายละเอียดยิบย่อยมากมายทั้งในด้านเนื้อหาและด้านภาพ ทุบสถิติรายได้สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์แอนิเมชันของญี่ปุ่น และยังคว้ารางวัลใหญ่จากเทศกาลภาพยนตร์ระดับโลกมากมาย

Spirited Away (2001) ว่าด้วยเรื่องราวของเด็กสาวคนหนึ่งที่หลงเข้าไปอยู่ในดินแดนอีกมิติพร้อมพ่อแม่ของเธอ ความโลภของพ่อแม่ทำให้เด็กสาวต้องทำทุกวิถีทางแม้กระทั่งการทิ้งชื่อจริงของตัวเองเพื่อคลายเวทมนต์ที่สาปพ่อแม่ของเธออยู่ ด้วยความช่วยเหลือของเด็กชายต่างมิติ ทำให้เธอไม่ได้เผชิญความยากลำบากนี้เพียงลำพัง

แอนิเมชันของญี่ปุ่นสร้างขึ้นเพื่อตลาดญี่ปุ่นเป็นหลัก และด้วยเหตุนี้ทำให้วัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของญี่ปุ่นจึงถูกส่งผ่านแอนิเมชันของมิยาซากิเช่นกัน เขาได้รับแรงบันดาลใจในการสร้างโลกของ Spirited Away จากพิพิธภัณฑ์ Edo Tokyo Tatemonoen ช่วงเวลาที่เขาอยู่ในสถานที่นี้คนเดียวในช่วงเวลาที่พิพิธภัณฑ์กำลังจะปิดระหว่างที่พระอาทิตย์กำลังตกดินคือส่ิงที่เขาคิดถึง เพียงเสี้ยวขณะหนึ่งที่เส้นขอบฟ้ากำลังเปลี่ยนสี จินตนาการของเขาก็ถูกเติมเต็มขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

มิยาซากิสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้จากความทรงจำที่เขามีต่อเพื่อนผู้หญิงห้าคนในช่วงฤดูร้อน เขาตั้งใจทำให้ตัวละครของเขาเป็นเด็กผู้หญิงธรรมดาที่เต็มไปด้วยความฝันและจินตนาการเช่นเดียวกับเด็กสาวทุกคน มิยาซากิสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้เพื่อแทนความปรารถนาที่อยากจะให้เพื่อนของเขาเพลิดเพลินเมื่อได้ดูภาพยนตร์เรื่องนี้ และหวังว่าพวกเธอจะได้ใช้ชีวิตแบบที่เธอต้องการในที่ไหนสักที่หนึ่ง

การตามหาตัวตนที่แท้จริงของ ‘ชิฮิโระ’ เด็กสาวในเรื่อง คือสิ่งเดียวกับที่เด็กสาวทุกคนต้องเผชิญ เขาเปรียบสิ่งที่ชิฮิโระเจอเหมือนกับการสมัครงานครั้งแรก สำหรับมิยาซากิแล้ว การได้รับการยอมรับนั้นต้องใช้ความพยายามอย่างมาก และพลังเหล่านั้นจะเกิดขึ้นเมื่อเรายังมีชีวิตอยู่บนโลกนี้ ขณะที่เด็กคนหนึ่งกำลังเผชิญกับปัญหาที่ซับซ้อนเกินกว่าที่พวกเขาจะหลบหนีได้ พวกเขาจะยอมแพ้ก่อนเป็นอันดับแรก นั่นไม่ได้หมายความว่ามันจะจบลง และเราก็ไม่สามารถพูดว่าพวกเขากำลัง ‘หลีกหนีจากความเป็นจริง’ ได้เช่นกัน เมื่อถึงเวลา พวกเขาจะกลับมาอีกครั้งพร้อมจินตนาการและความหวัง เพราะมีเพียงสองสิ่งนี้เท่านั้น ที่จะสามารถเผชิญหน้ากับยุคสมัยอันซับซ้อนนี้ได้

Ponyo (2008)

Ponyo (2008)

ถึงแม้ว่าพล็อตเรื่องสุดแปลกใหม่ที่มาพร้อมกับคาแรคเตอร์ตัวละครอันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ โดยเฉพาะตัวละครภูตป่าโทโทโร่ จะทำให้ภาพยนตร์แอนิเมชันของจิบลิเข้าไปนั่งในใจผู้คนทั่วโลก ทว่า สิ่งนี้กลับสร้างบาดแผลให้กับมิยาซากิเป็นอย่างมาก เอกลักษณ์ที่ชัดเจนเกินไปในงานของจิบลิเริ่มกลายมาเป็นความซ้ำซาก และไม่ว่าจิบลิจะผลิตผลงานมากมายเท่าไร ก็ไม่มีตัวละครตัวไหนที่สามารถแทนที่โทโทโร่ได้เลย มิยาซากิเริ่มต้นภาพยนตร์เรื่องใหม่ของเขา Ponyo (2008) ด้วยความหวังว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ จะปลดล็อคปมในใจให้เขาได้

Ponyo (2008) บอกเล่าเรื่องราวของปลาน้อยลักษณะแปลกตาที่ติดอยู่ในขวดโหล เธอได้รับการช่วยเหลือจากเด็กชายคนหนึ่ง มิตรภาพอันแน่นแฟ้นจึงก่อตัวขึ้น มิยาซากิได้รับแรงบันดาลใจในการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้จาก The Little Mermaid นิทานเก่าแก่อันมีชื่อเสียงของ Hans Christian Andersen และภาพวาด Ophelia โดย John Everett Millais เขาหลอมรวมความระยิบระยับในภาพวาดเข้ากับเรื่องราวความมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นบนท้องทะเล

ถึงแม้อายุที่มากขึ้นจะทำให้ความสามารถในการทำงานของมิยาซากิถดถอยลง แต่ความคิดสร้างสรรค์และความหวังที่อยากให้ผู้ชมสนุกไปกับภาพยนตร์ ยังพลุ้งพล่านอยู่ในตัวเขาเสมอ มิยาซากิละทิ้งตัวบทและเริ่มคิดรูปแบบการเล่าเรื่องใหม่ในภาพยนตร์ของเขา เพื่อปลดปล่อยจินตนาการ เขาเขียนเนื้อเรื่องขึ้นในหัว แล้วจึงร่างภาพเหล่านั้นลงในกระดาษทีละแผ่น

มิยาซากิตั้งใจลดทอนรายละเอียดยิบย่อยทั้งหมดที่เคยปรากฏในผลงานชิ้นก่อน ๆ ของเขา และทำให้ภาพโปเนียวออกมาเรียบง่ายและจริงใจที่สุด ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังของจินตนาการ ไร้ซึ่งตรรกะเหตุผล เพื่อให้ผู้ชมสนุกไปกับตัวเรื่องโดยไม่มีขอบเขตใดมากั้น ‘การเรียนรู้ที่จะรักผู้อื่นและเห็นคุณค่าของการมีอยู่ซึ่งกันและกัน’ คือคำพูดที่มิยาซากิใช้เพื่ออธิบายภาพยนตร์เรื่องนี้

 The Wind Rises (2013)

The Wind Rises (2013)

ฉากหลังของมิยาซากิยังส่งผลต่องานของเขาเรื่อยมา และความคิดที่จะสร้างภาพยนตร์ที่พูดถึงเรื่องของสงครามก็ยังคงฝังลึกอยู่ในตัวของมิยาซากิเสมอ ถึงแม้ว่ามิยาซากิจะไม่เห็นด้วยกับความคิดริเริ่มในการสร้าง The Wind Rises (2013) ซึ่งแปลงมาจากมังงะเกี่ยวกับชีวิตของวิศวกรการบินช่วงสงคราม Jiro Horikoshi แต่สุดท้ายภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ปรากฏสู่สายตาผู้ชมทั่วโลก

The Wind Rises (2013) ว่าด้วยเรื่องราวของ จิโระ เด็กหนุ่มผู้มีความฝันอยากเป็นนักบิน ทว่าปัญหาทางสายตาทำให้ความฝันของเขาต้องจบลง เขาค้นพบเส้นทางใหม่ในการเป็นวิศวกรผู้สร้างเครื่องบินแทน แต่ไม่ว่าชีวิตจะหักเหไปทางใด ช่วงเวลาอันเลวร้ายของสงครามล้วนสร้างจุดจบที่เจ็บปวดใจให้เสมอ

ภาพยนตร์เรื่องนี้แตกต่างจากภาพยนตร์ทุกเรื่องของสตูดิโอจิบลิอย่างสิ้นเชิง พูดได้ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ถ่ายทอดฉากหลังของสงครามออกมาอย่างชัดเจนและตรงตัวที่สุด ถึงแม้ว่ามิยาซากิจะเติบโตขึ้นในช่วงท้ายของสงครามโลกครั้งที่ 2 และไม่ได้รับรู้เรื่องราวของ Jiro Horikoshi (ผู้ซึ่งมีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์) มากมายนัก ทว่าความใกล้เคียงกับประสบการณ์ส่วนตัวที่มีครอบครัวทำธุรกิจด้านการบินและแม่ที่ป่วยหนัก ทำให้มิยาซากิรับรู้ถึงสภาวะของตัวละครได้เป็นอย่างดี

มิยาซากิค้นพบมุมมองใหม่ที่มีผลอย่างมากต่อการตีความงานของเขา โดยเฉพาะภาพยนตร์ที่พูดถึงเรื่องของสงครามและการเมือง ซึ่งละเอียดอ่อนอย่างมากต่อความรู้สึกของผู้คน มิยาซากิอธิบายว่า ถึงแม้เขาจะต่อต้านการใช้พลังงานนิวเคลียร์ แต่เมื่อเขาได้เห็นการแถลงข่าวของวิศวกรในโรงไฟฟ้าฟูกุชิมะ มิยาซากิกลับเห็นถึงความบริสุทธิ์ของพวกเขาแบบเดียวกับที่เขาเห็นจาก Jiro Horikoshi ในภาพยนตร์ สำหรับเขาแล้ว ปัญหาของอารยธรรมนั้นยากเกินกว่าจะตัดสินได้ด้วยคำว่าถูกหรือผิด

และถึงแม้ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อให้เด็กสามารถเข้าใจได้อย่างง่ายดายเช่นภาพยนตร์เรื่องอื่น ๆ แต่มิยาซากิเชื่อว่า The Wind Rises จะมีความหมายทางประวัติศาสตร์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และเมื่อเด็กเหล่านั้นโตขึ้น พวกเขาจะจำภาพยนตร์เรื่องนี้และทำความเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ ท้ายที่สุดแล้วภาพยนตร์เรื่องนี้อาจเป็นเหมือนการขุดหลุมฝังตัวเอง แต่ในที่สุดกระบวนการทั้งหมดก็จบลงด้วยดี เขาได้กล่าวทิ้งท้ายในการฉายภาพยนตร์รอบปฐมทัศน์ว่า

‘นี่เป็นครั้งแรกที่ฉันร้องไห้เมื่อดูภาพยนตร์ที่ฉันสร้าง’