GC_beingartist_Kusama.jpg

Yayoi Kusama ศิลปินผู้หลอมรวมตัวเองเข้ากับจักรวาลผ่าน ‘จุด’

Post on 24 January

“โลกของเราเป็นเพียงแค่จุดหนึ่งจุดท่ามกลางดวงดาวอีกนับล้านในจักรวาล ลายจุดคือหนทางไปสู่ความอนันต์ เมื่อเราหลอมรวมธรรมชาติกับร่างกายของเราผ่านลายจุด เราก็จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของสมดุลย์ของสิ่งที่อยู่รายล้อมเรา” – Yayoi Kusama

Teruo Hirose คือนายแพทย์ชาวที่ญี่ปุ่นที่อพยพจากบ้านเกิด และเดินทางมาถึงกรุงนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ในช่วงยุค 1960s เมื่อพอจะตั้งตัวได้ หมอ Hirose ก็ได้เปิดคลินิกรักษาโรคทั่วไปที่ในเวลาต่อมาจะเป็นที่รู้จักกันดีในชุมชนคนญี่ปุ่นในนิวยอร์ก ในฐานะคลินิกของคุณหมอใจดีที่รักษาชาวญี่ปุ่นในราคาแสนถูก หรือในบางครั้งก็ไม่เก็บเงินเลย

หนึ่งในคนไข้ที่มาเข้ารับการรักษาที่คลินิกของหมอ Hirose คือหญิงสาวชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งที่เดินทางมาถึงอเมริกาในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับเขา และเช่นเดียวกับคนไข้ชาวญี่ปุ่นทั่วไป หมอ Hirose ยินดีที่จะทำการรักษาเธอโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งเธอก็ได้ตอบแทนเขาด้วยการมอบวาดภาพที่เธอนำติดตัวมาจากบ้านเกิดให้คุณหมอ และหลังจากนั้นเมื่อเธอเริ่มมีชื่อเสียงจนได้จัดนิทรรศการของตัวเอง หมอ Hirose ก็จะได้รับเชิญไปงานเปิดตัวนิทรรศการของเธอเสมอ

ในเดือนมีนาคม ปี 2021 ภาพวาดทั้ง 11 ภาพที่หมอ Hirose ได้รับมาจากคนไข้ที่กลายมาเป็นเพื่อนมิตรภาพจนวันสุดท้ายของชีวิต ได้ถูกนำออกมาประมูลโดยลูกชายของหมอ หลังจากที่หมอ Hirose เสียชีวิตปีไปในปี 2019 โดยมีการตีมูลค่าภาพวาดเหล่านั้นว่าน่าจะมีราคาอยู่ที่ประมาณ 14 ล้านดอลลาร์

คนไข้ที่มอบผลงานภาพวาดของตัวเองให้หมอ Hirose คนนั้นชื่อว่า Yayoi Kusama

เดือนมีนาคมที่กำลังจะผ่านพ้นไป เป็นเดือนที่คนที่ติดตามความเคลื่อนไหวในโลกศิลปะจะได้ยินชื่อของ Yayoi Kusama หรือที่คนไทยรู้จักกันในฐานะ ‘ป้าลายจุด’ บ่อยมาก เพราะนอกจากจะเป็นเดือนที่มีวันเกิดของ Kusama ซึ่งในปีนี้เธอมีอายุ 92 ปีแล้ว อีกข่าวหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับ Yayoi Kusama ก็คือการที่ผลงานภาพวาดในช่วงเริ่มต้นอาชีพของ Kusama ซึ่งเธอได้เคยมอบให้กับนายแพทย์ชาวญี่ปุ่นถูกนำออกมาประมูล โดยที่ส่วนหนึ่งเป็นผลงานที่ไม่เคยเผยแพร่ต่อสาธารณชนด้วย

ผลงานภาพวาดทั้ง 11 ชิ้นที่ Yaoi Kusama ได้เคยมอบให้กับหมอ Hirose ไม่เพียงมีความสำคัญในฐานะหลักฐานแห่งมิตรภาพระหว่างหมอกับคนไข้ศิลปิน ...แต่มันยังสะท้อนให้เห็นถึงชีวิตและความเจ็บป่วยทางจิตของ Kusama ที่กลายมาเป็นแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่ในการทำงานศิลปะของเธอด้วย

เพราะเดือนมีนาคาคือเดือนของ Kusama คอลัมน์ The Art of Being An Artist ประจำสัปดาห์นี้ เราจึงขอชวนผู้อ่าน GroundControl ไปสำรวจเรื่องราวของป้าลายจุดกัน

ในโลกที่ดอกไม้พูดได้

Yayoi Kusama เกิดเมื่อวันที่ 22 มีนาคม ปี 1929 ที่เมืองมัตสึโมโตะ จังหวัดนากาโนะ ในครอบครัวที่ทำธุรกิจเพาะพันธุ์ต้นกล้าและขายเมล็ดพันธุ์พืช การเติบโตขึ้นมากับโรงเพาะต้นกล้าและการเห็นบรรดาเมล็ดพันธุ์ในชีวิตประจำวัน ทำให้หนูน้อย Kusama เริ่มต้นวาดรูปจากการวาดผลฟักทอง (ที่แม้เมื่อเติบโตขึ้นมาเป็นศิลปินที่ประสบความสำเร็จแล้ว ฟักทองก็ยังเป็นหนึ่งในซับเจกต์หลักในงานของเธอ)

แม้จะเกิดมาในครอบครัวที่มีพ่อแม่ครบสมบูรณ์ แต่สิ่งที่ขาดหายไปจากครอบครัวนี้กลับเป็นความรัก ว่ากันว่าพ่อของ Kusama แต่งงานกับแม่ของเธอเพียงเพื่อที่จะได้ยกระดับฐานะของตัวเองด้วยการใช้นามสกุลของครอบครัวภรรยาที่เป็นผู้ดีมีอันจะกิน ซึ่งหลังจากแต่งงานกันแล้ว พ่อของเธอกลับเอาแต่เที่ยวเตร่และไม่ค่อยอยู่บ้าน ถึงกระนั้นข่าวคราวเรื่องความเป็นเสือผู้หญิงของพ่อกลับลอยมาเข้าหูแม่ของเธออยู่เสมอ และเมื่อพ่อผู้เป็นสาเหตุของความคับแค้นใจไม่เคยอยู่บ้าน ...ความโกรธเกรี้ยวของแม่จึงมักมาลงที่เด็กหญิง Kusama อยู่เสมอ

Kusama เติบโตขึ้นมาโดยถูกแม่ทำร้ายทั้งทางร่างกายและจิตใจ และในบางครั้งแม่ก็ถึงกับสั่งให้เธอออกไปสอดแนมพ่อขณะที่กำลังมีอะไรกับเมียน้อย (จนก่อเกิดเป็นบาดแผลในจิตใจอันยิ่งใหญ่ที่ทำให้เธอมีปมเกี่ยวกับเรื่องเซ็กซ์และร่างกายของผู้ชาย) …บ้านกลายเป็นดังขุมนรกที่เธอไม่อาจหลบหนีได้ เมื่อปราศจากที่หลบซ่อนตัวและใจ เด็กหญิง Kusama จึงเริ่มสร้างโลกส่วนตัวที่ใครก็ไม่อาจเข้าไปทำร้ายเธอได้… เป็นโลกที่เธอมีดอกไม้เป็นเพื่อนคุยปลอบใจคลายเหงา ตกแต่งด้วยลวดลายจากผ้าแสนสวย และในที่สุดลวดลายบนผ้าก็ค่อย ๆ ขยับออกมาห่อหุ้มตัวเธอและโลกของเธอเอาไว้

Kusama ค่อย ๆ เรียนรู้ที่จะถ่ายทอดโลกที่มีแต่เธอเท่านั้นที่เห็นออกมาบนหน้ากระดาษ และเมื่อเธอมีโลกใบนั้น… มีศิลปะ เธอก็มีสถานที่อันปลอดภัยที่เธอสามารถหลีกหนีเข้าไปได้หากโลกแห่งความจริงใจร้ายกับเธอมากเกินไป

เมื่อ Kusama อายุได้ 13 ปี ประเทศญี่ปุ่นเดินหน้าเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 เธอและเด็ก ๆ รุ่นราวคราวเดียวกันในแถบละแวกบ้านถูกเกณฑ์ไปทำงานในโรงงานเย็บร่มชูชีพ Kusama เคยกล่าวถึงช่วงเวลาในวัยเด็กนี้ว่าเป็น ‘ช่วงเวลาแห่งความมืดสนิท’ ที่มีเสียงของสัญญาณเตือนภัยทางอากาศและภาพของเครื่องบินรบอเมริกันเป็นฉากประกอบ อย่างไรก็ตาม การเติบโตขึ้นมาในช่วงเวลาของสงครามก็เป็นแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่ที่ทำให้เธอตั้งมั่นที่จะแสวงหาเสรีภาพผ่านการสร้างสรรค์และงานศิลปะให้ได้

 Lingering Dream (1949)

Lingering Dream (1949)

ความขัดแย้งระหว่าง Kusama กับพ่อและแม่ยิ่งรุนแรงขึ้นเมื่อเธอย่างเข้าสู่วัยรุ่น แม้จะตั้งใจแน่วแน่ที่จะทำงานศิลปะ แต่แม่ของเธอกลับคัดค้านหัวชนฝา และคาดหวังให้เธอเดินตามขนบประเพณีของสังคมญี่ปุ่นที่เป้าหมายสูงสุดในชีวิตของผู้หญิงคือการออกเรือนไปเป็นแม่บ้านที่ดีเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม Kusama ก็ขัดความประสงค์ของครอบครัวและเข้าเรียนในโรงเรียนสอนศิลปะญี่ปุ่น ซึ่งในช่วงเวลาที่เธอเริ่มเรียนศิลปะนั้นก็เป็นช่วงที่สังคมญี่ปุ่นกำลังต่อต้านวัฒนธรรมตะวันตกอย่างหนัก ศิลปะที่สอนกันในโรงเรียนมีเพียงแค่ Nihonga ศิลปะญี่ปุ่นโบราณที่สืบทอดกันมาเป็นเวลานับพันปีเท่านั้น

แม้ว่าจะร่ำเรียนศิลปะดั้งเดิมของญี่ปุ่น แต่ Kusama รู้ดีว่าแนวทางศิลปะดั้งเดิมแบบญี่ปุ่นนั่นหาใช่ทางของเธอไม่ ในช่วงปี 1950s เธอจึงเริ่มทดลองสไตล์ของศิลปะตะวันตก โดยเฉพาะแนว avant-garde ซึ่งทำให้เธอเริ่มเป็นที่จับตามอง และได้นำผลงานไปจัดแสดงในนิทรรศการที่โตเกียวด้วย และหลังจากค้นพบสไตล์ของตัวเองแล้ว Kusama ก็เริ่มทดลองวาดสิ่งต่าง ๆ ที่เธอเห็นในชีวิตประจำวันในรูปฟอร์มแบบนามธรรม (Abstract) โดยมีศิลปินอย่าง Hans Arp, Lionel Fenninger, Wassily Kandisky และ Georgia O’Keefe เป็นแรงบันดาลใจสำคัญของเธอ

และวันหนึ่ง… ‘จุด’ เริ่มต้นก็มาถึง

จุด

“วันหนึ่ง ฉันกำลังจ้องมองลวดลายดอกไม้สีแดงบนผ้าปูโต๊ะ เมื่อฉันเงยหน้ามองขึ้นไปข้างบน ฉันก็เห็นลวดลายนั้นปกคลุมอยู่เต็มเพดาน ลามไปถึงหน้าต่าง ผนัง จนในที่สุดมันก็คลุมเต็มทั้งห้อง ...เรื่อยมาถึงตัวฉัน ไปจนถึงทั่วทั้งจักรวาล ฉันรู้สึกราวกับว่าตัวตนของฉันสูญสลายหายไป แล้วไปหลอมรวมเข้ากับความเป็นนิรันดร์ของกาลเวลาอันไร้ที่สิ้นสุดและห้วงจักรวาลอันไร้เขตกั้น ...และนั่นเองที่ตัวฉันได้กลายไปสู่ความว่างเปล่า”

จุดของ Kusama มาถึงในช่วงยุค 1950s นี้เอง… และหลังจากนั้นมันก็ไม่เคยจากเธอไปไหน แต่กลับคืบคลานเข้ามาปกคลุมและอยู่ในทุกสิ่งที่เธอเห็น Kusama เริ่มใช้ ‘จุด’ ทาบทับทุกสิ่งที่อยู่รอบกายเธอ ไม่ว่าจะเป็นบนผืนผ้าใบ ฝาผนัง พื้นห้อง เพดาน ของใช้ในบ้าน ...ไปจนถึงบนร่างเปลือยเปล่าของผู้ช่วยของเธอ

New York

“คับแคบเกินไป เป็นทาสเกินไป ยึดถือชนชั้นเกินไป และเหยียดหยามผู้หญิงเกินไป ศิลปินของฉันต้องการเสรีภาพอย่างไร้ขอบกั้น และโลกที่กว้างกว่านี้”
คือความรู้สึกของ Kusama ที่มีต่อสังคมญี่ปุ่นในเวลานั้น จนทำให้เธอตัดสินใจเดินทางมายังประเทศสหรัฐอเมริกาในวัย 27 ปี โดยก่อนที่เธอจะจากบ้านเกิดเมืองนอนนมา เธอก็ได้ทำการทำลายผลงานที่เธอเคยทำไว้ในตอนเริ่มต้นอาชีพศิลปินไปจนแทบหมดสิ้น

ที่อเมริกา Kusama มีอิสระที่จะพัฒนาและค้นหาแนวทางในศิลปะของเธอในแบบที่เธอไม่สามารถทำได้ที่ญี่ปุ่น เธอเริ่มต้นที่ซีแอตเทิล ก่อนจะย้ายมาทำงานในนิวยอร์ก โดยได้รับความช่วยเหลือจาก Georgia O'Keeffe ที่เคยได้ติดต่อกันมาแล้วตั้งแต่สมัยที่เธอยังอยู่ญี่ปุ่น และไม่นาน Kusama ก็กลายเป็นที่รักในแวดวงศิลปิน Minimalist ที่ต่างซื้อผลงานของเธอและช่วยให้เธอได้จัดแสดงผลงาน

Kusama กลายเป็นศิลปินผู้นำของขบวนการ avant-garde ในอเมริกา เธอเริ่มเป็นที่จดจำจากการไปปรากฏตัวในที่ต่าง ๆ ในชุดบอดี้สูทลายจุด และในดินแดนแห่งเสรีภาพนี้เองที่เธอได้สำรวจแนวทางศิลปะของตัวเองอย่างสุดทาง ซึ่งผลงานของ Kusama ที่เราคุ้นเคยกันดีก็เกิดขึ้นในช่วงนี้เอง ไม่ว่าจะเป็นซีรีส์ Mirror/Infinity ที่เป็นผลงานศิลปะจัดวางจากการสร้างห้องกระจกที่มีลูกบอลไฟนีออนมากมายนับร้อยนับพันดวง หรือผลงานศิลปะแสดงสด (Performance Art) ที่สร้างความอื้อฉาวด้วยการเปลือยกายในเซ็นทรัลปาร์ค โดยมีจุดประสงค์เพื่อประท้วงสงครามเวียดนามและประธานาธิบดี Richard Nixon รวมไปถึงการแสดงที่ Grand Orgy to Awaken the Dead at the MoMA (1969) ในสวนประติมากรรมของ MoMA ที่นักแสดงค่อย ๆ ถอดเสื้อผ้าแล้วก้าวลงไปในบ่อน้ำพุ ก่อนจะโพสท่าทางเลียนแบบประติมากรรมของ Picasso, Giacometti และ Maillol ที่อยู่ในสวน

Infinity

ในปี 1973 Kusama เดินทางกลับมายังประเทศบ้านเกิดด้วยสภาพจิตใจที่อยู่ในขั้นวิกฤติ เธอเริ่มเขียนนวนิยายและเรื่องสั้นแนวเหนือจริงมากมาย ก่อนที่ในปี 1977 เธอจะขอเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจิตเวช และใช้ที่นั่นเป็นที่พำนักและสถานที่ทำงานมาจนถึงทุกวันนี้ โดยหนึ่งในผลงานที่เธอสร้างสรรค์ระหว่างที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลก็คือ Infinity Mirror Rooms ที่ถูกจัดแสดงที่งาน Venice Biennale ครั้งที่ 45 ในปี 1993 ซึ่งเป็นห้องกระจกที่เต็มไปด้วยประติมากรรมฟักทองลายจุดนั่นเอง

จนถึงทุกวันนี้ Yayoi Kusama ยังคงทำงานศิลปะอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเธอก็เคยกล่าวว่า

“ถ้าไม่ใช่เพราะศิลปะ ฉันคงไม่มีชีวิตอยู่มาถึงตอนนี้”

อ้างอิง: https://www.theartstory.org/.../kusam.../life-and-legacy/...
https://www.bbc.com/.../20180925-yayoi-kusamas...
https://www.tate.org.uk/.../yay.../introduction-yayoi-kusama
https://play.qagoma.qld.gov.au/looknowseeforever/timeline/
https://hyperallergic.com/.../the-long-strange-art-and.../
https://www.smithsonianmag.com/.../celebrating-eternal.../
httpshttphttps://news.artnet.com/market/kusama-doctor-art-auction-1952358
s://en.wikipedia.org/wiki/Yayoi_Kusama
://magazine.artland.com/female-iconoclasts-yayoi-kusama/