GC_beingartist_Piet.jpg

Piet Mondrian ผู้แต้มสีสันให้โลกนามธรรม

Post on 24 January

ภายในห้องสตูดิโอแห่งหนึ่งบนถนน East 59 แห่งกรุงนิวยอร์ก ผนังทั้งสี่ด้านถูกประดับประดาไปด้วยกระดาษทาสีที่ถูกตัดเป็นรูปทรงเลขาคณิตต่าง ๆ ซึ่งช่างภาพ Fernard Fonssagrives ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปถ่ายภาพบรรยากาศภายในสตูดิโอแห่งนั้นก็ได้กลับมาบันทึกความรู้สึกที่ได้ย่างกรายเข้าไปในสตูดิโอที่เป็นดังวิหารศักดิ์สิทธิ์แห่งลัทธินามธรรมว่า

“ราวกับว่าฉันได้มองเข้าไปยังห้วงคิดสุดท้ายของชายที่เพิ่งหมดลมหายใจ ...ชายผู้หลงใหลหมกมุ่นกับ ‘ภาพ’ ที่มีเขาคนเดียวที่เป็นผู้ครอบครอง ฉันเก็บภาพอย่างเงียบงัน เสียงเดียวที่ได้ยินแว่วเข้ามาก็คือเสียงจากถนน Madison หากแต่เสียงนั้นกลับยิ่งขับเน้นบรรยากาศของความเป็นส่วนตัวและความโดดเดี่ยวในสตูดิโอแห่งนั้น ในขณะที่ข้างนอกนั้น ชีวิตก็ยังคงดำเนินต่อไป”

ผู้ที่เป็นเจ้าของสตูดิโอแห่งนั้นมีชื่อว่า Piet Mondrian ผู้ได้ชื่อว่าเป็นศิลปินที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งยุคศตวรรษที่ 20 ด้วยการทำลายขนบศิลปะดั้งเดิมที่เคยมีมาด้วยเส้นสายตารางและสีสันอันแสนเรียบง่ายธรรมดา หากแต่ทรงพลังและเปลี่ยนโฉมหน้าศิลปะยุคสมัยใหม่ไปอย่างสิ้นเชิง

“เราต้องทำลายรูปแบบใด ๆ ที่มีอยู่” คือคำประกาศของ Mondrian และกลายเป็นเป้าหมายในการทำงานศิลปะของเขาไปจนถึงวันสิ้นอายุขัย เขาทำลายรูปแบบทุกอย่าง แม้กระทั่งรูปแบบที่เขาสร้างขึ้นมาเอง

ในโอกาสที่วันคล้ายเกิดของเขาเพิ่งผ่านพ้นไปเมื่อวาน (7 มี.ค. 1872) GroundCobtrol จึงขอใช้คอลัมน์ The Art of Being An Artist ในสัปดาห์นี้พาทุกคนย้อนกลับไปสำรวจชีวิตของศิลปินผู้ใช้เส้นไม่กี่เส้น และสีเพียงไม่กี่สี แต่กลับสามารถพลิกโลกศิลปะให้เปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล ...Piet Mondrian

Pieter Cornelis Mondriaan เกิดที่เมือง Ameersfoort ใกล้ ๆ กับเมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในครอบครัวที่มีสมาชิกทำงานศิลปะ อย่างไรก็ตาม Mondrian ก็เคยเล่าถึงครอบครัวของเขาว่า “ไม่มีคนใดเลยที่ยอมทิ้งทุกอย่างเพื่อศิลปะ” อย่างที่เขาทำ เพราะเขามองว่าไม่มีใครเลยที่มุ่งมั่นทำงานศิลปะเป็นอาชีพ พ่อของเขาเป็นศิลปินวาดลายเส้นที่มีฝีมือ แต่ก็ยังอาชีพหลักเป็นครูสอนวาดรูป ความมุ่งมั่นในเส้นทางศิลปะของ Mondrian จึงเห็นได้ตั้งแต่ตอนนั้น

เมื่อเป็นที่แน่นอนว่า เป้าหมายของเด็กชาย Pieter Mondriaan ในอนาคตคือการเป็นศิลปินอาชีพเท่านั้น พ่อของเขาที่ไม่อาจทัดทานความมุ่งมั่นอันแน่วแน่ได้จึงยื่นข้อเสนอว่า อย่างน้อยลูกชายควรจะไปสอบเอาใบอนุญาตสอนไว้เป็นหลักประกันในอนาคต ซึ่ง Mondrian ก็ยอมตามใจพ่อ (สักอย่างหนึ่ง) และได้ใบอนุญาตสอนมาในปี 1892 โดยหลังจากนั้นเมื่อ Mondrian ย้อนนึกถึงชีวิตในช่วงนั้น เขาก็อธิบายวว่าช่วงวัย 20 ของเขานั้นเป็นอะไรที่ ‘ทุกข์ทรมาน’ และต้องยอมกล้ำกลืนทำงานสอน ‘เพียงเพื่อจะมีเงินพอที่จะไปทำอะไรที่อยากทำ’

สไตล์ของ Mondrian ในช่วงแรกได้รับอิทธิพลอย่างยิ่งใหญ่มาจากกระแสลัทธิประทับใจที่กำลังเบ่งบานในกรุงอัมสเตอร์ดัม แต่ไม่นานเขาก็รู้สึกว่าการวาดกังหัน แม่น้ำ และทุ่งหญ้าหาใช่แนวของเขาอีกต่อไป Mondrian จึงหันไปศึกษาผลงานของศิลปินหลังประทับใจอย่าง Vincent van Gogh และ Georges Seurat ที่มุ่งคิดค้นเทคนิคใหม่ ๆ ในการนำเสนอโลกที่ศิลปินเห็นและรู้สึกออกมาเป็นภาพ

แต่ Mondrian เริ่มค้นพบที่ทางของตัวเองในโลกศิลปะจริง ๆ ก็เมื่อเขาได้ศึกษาศิลปะสไตบ์โฟวิสต์ (Fauvism) ซึ่งเน้นการสใช้สีสันจัดจ้านตัดกันรุนแรงมาทำให้เกิดเป็นภาพ ซึ่งศิลปะแนวนี้ก็เป็นสไตล์ที่เริ่มออกห่างจากการนำเสนอทิวทัศน์หรือการนำเสนอภาพออฟเจกต์ตามความเป็นจริงแบบสัจนิยม

ผลงานที่เป็นดังหลักไมล์เริ่มต้นของเส้นทางการหลบหนีจากรูปทรงและความเป็นจริงไปสู่นามธรรมก็คือ The Red Cloud (1907) ภาพวาดก้อนเมฆที่เกิดจากการใช้สีแดงตัดกับสีฟ้าของท้องฟ้า สะท้อนสไตล์ของศิลปะโฟวิสต์ชัดเจน ซึ่งจากก้อนเมฆสีแดงนี้ Mondrian ก็จะเริ่มเดินทางออกห่างจากความเป็นจริง และเข้าใกล้สิ่งที่จับต้องไม่ได้อันเป็นนามธรรมมากขึ้น

หลังจากภาพวาดเมฆสีชาด ก็ราวกับ Mondrian จะรู้ตัวว่าเขากำลังถูกดึงดูดด้วยแนวคิดปรัชญา หรือโลกแห่งความคิดที่ไม่อาจรับรู้ได้ด้วยรูปสัญลักษณ์แบบตรงไปตรงมาอีกต่อไป ในปี 1908 Mondrian เริ่มศึกษาปรัชญาและแนวคิดทางจิตวิญญาณอย่างจริงจัง โดยผลงานของนักคิดนักปรัชญาที่ส่งแรงบันดาลใจต่อเขามาก ๆ ก็คืองานของ Helena Petrovna Blavatsky ผู้ซึ่งเชื่อว่า มนุษย์สามารถเข้าถึงความจริงแท้สูงสุดได้ดีที่สุดด้วยการทำความเข้าใจในธรรมชาติ มากกว่าที่จะเข้าถึงผ่านสัญญะหรือแนวความคิดใด ๆ ที่ถูกประกอบสร้างขึ้นมาด้วยมนุษย์

แนวคิดของ Blavatsky นี้ก็ได้กลายเป็นปรัชญาหลักในการทำงานของ Mondrian ที่ตลอดชีวิตหลังจากนั้น เขาจะมุ่งหาหนทางในการเข้าถึงความจริงแห่งจิตวิญญาณผ่านงานศิลปะ โดยหลีกเลี่ยงการใช้สัญญะหรือรูปทรงที่ชัดเจนในการนำเสนอ

ความมุ่งมั่นที่จะค้นหาความจริงแท้ผ่านศิลปะที่ไร้รูปหรือการสื่อสารตรงตัวนั้นก็ทำให้ Mondrian รู้สึกอึดอัดคับข้องใจกับสไตล์ศิลปะใด ๆ ที่มีอยู่ในยุคนั้น เพราะไม่ว่าจะเปลี่ยนไปใช้สไตล์ใด ศิลปินก็ยังต้องนำเสนอรูปทรงหรือรูปร่างบางอย่างที่ปรากฏอยู่ในโลกอยู่ดี

ตัวอย่างของสถานการณ์อันคับข้องใจนี้เห็นได้ในจดหมายที่ Mondrian เขียนถึงเพื่อนเพื่อบ่นถึงความไม่พอใจที่เขามีต่อผลงานภาพวาดดอกเบญจมาศบนพื้นหลังสีดำของเขาเอง โดยเขาได้กล่าวกับเพื่อนว่า

“และสำหรับข้อสงสัยของคุณเกี่ยวกับรูปทรงดอกไม้ของผม คุณสงสัยว่าผมต้องการที่จะชำแหละความงามอันละเอียดอ่อนของดอกไม้ออกแล้วแปลงมันเป็นเส้นแนวนอนกับเส้นแนวตรงใช่หรือไม่? ผมตอบได้เลยว่าที่คุณสงสัยนั้นถูกต้องแล้ว แต่ความตั้งใจของผมหาใช่การนำเสนอความงดงามบริสุทธิ์ใด ๆ ไม่ๆ”

Mondrian รู้สึกว่าการนำเสนอสารใด ๆ ในงานศิลปะนั้นช่างมีจำกัดและแสนจะคับแคบ กระทั่งเขาได้เดินทางไปยังกรุงปารีสในปี 1911 ที่ซึ่งกระแสศิลปะแบบบาศกนิยม (Cubism) กำลังเฟื่องฟู Mondrian รู้สึกเหมือรเขาเจอที่ทางของตัวเองอีกครั้ง ในช่วงนี้เองที่เขาได้เปลี่ยนวิธีการเขียนชื่อของตัวเองเป็น Piet Mondrian และตระเวณท่องราตรีไปตามคลับต่าง ๆ ร่วมกับเหล่าศิลปินบาศกนิยมในยุคนั้น

“ในบรรดาศิลปะนามธรรมทั้งหมด ฉันรู้สึกว่ามีเพียงศิลปินบาศกนิยมเท่านั้นที่ค้นพบหนทางที่ถูกต้อง” Mondrian เคยกล่าวไว้
และในช่วงนี้เขาก็ศึกษาผลงานของเจ้าศิลปะบาศนิยมอย่าง Georges Braque, Fernand Léger และ (แน่นอน) Pablo Picasso อย่างหนักหน่วง จนทำให้เขาเริ่มทำงานศิลปะที่ใช้เพียงแค่รูปทรงเลขาคณิตมาประกอบเป็นภาพเท่านั้น

แต่ในท้ายที่สุด วัฎจักรการเข้าแล้วออกของ Mondrian กับศิลปะบาศกนิยมก็เดินทางมาถึงจุดสิ้นสุดอีกครั้ง สุดท้ายแล้ว Mondrian ก็ค้นพบว่า ศิลปะสไตล์บาศกนิยมนั้นก็ยังยึดติดกับการนำเสนอสิ่งที่ตาเห็นอยู่ดี หาได้นำเสนอจิตวิญญาณหรือความคิดที่ไม่จำเป็นต้องยึดติดอยู่กับรูปทรงหรือฟอร์มใด ซึ่ง Mondrian ก็รู้สึกเสียดายสุดแสนที่ศิลปะบาศกนิยมนั้นเหมือนจะเดินมาถูกทางแล้ว แต่สุดท้ายก็ลงเอยเหมือนสไตล์ศิลปะอื่น ๆ ที่พยายามหาเหตุหรือความหมายมารองรับงานของตัวเอง

The Style

ในปี 1914 Mondrian กลับมายังบ้านเกิด ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สงครามโลกครั้งที่ 1 กำลังเริ่มเปิดฉากพอดี ในช่วงเวลาแห่งสงครามนั้น Mondrian ได้ไปอาศัยอยู่กับเพื่อนศิลปินอย่าง Bart van der Leck และ van Doesburg ในหมู่บ้านที่ศิลปินมารวมตัวอยู่กัน และในช่วงเวลานี้เองที่ทั้งสามได้ร่วมกันก่ทำวารสารศิลปะที่ชื่อว่า De Stijl (The Style) ซึ่งจะเป็นดังแถลงการณ์ต่อการมาถึงของศิลปะสไตล์ใหม่ที่เรียกว่า Neo-Plasticism ซึ่งจะแพร่หลายและกลายเป็นกระแสที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในโลกศิลปะในยุคศตวรรษที่ 20

ในคำแถลงการณ์ต่อสิ่งที่เรียกว่า Neo-Plasticism นั้น Mondrian ได้อธิบายว่า เป็นงานศิลปะที่ ‘ค้นหาการแสดงออกด้วยรูปและสีที่เป็นนามธรรมไร้ความหมายที่สุด กล่าวคือ การใช้เส้นตรง และการใช้สีที่เป็นแม่สีเท่านั้น”

ในช่วงนี้เองที่ Mondrian เริ่มพัฒนาสไตล์ที่จะกลายมาเป็นลายเซ็นของเขา โดยเขาเริ่มจาการดึงแรงบันดาลใจจากสไตล์หลังบาศกนิยม (Post-Cubism) มาสร้างเป็นงานศิลปะที่ประกอบขึ้นจากเส้นแนวตรงและแนวตั้ง บนพื้นหลังสีขาว ดำ แดง และน้ำเงินเท่านั้น แต่ในท้ายที่สุดเขาก็พบว่าการทำแบบนี้กลับทำให้เขารู้สึกอึดอัด จึงเปลี่ยนมาลองทำงานกับรูปทรงเลขาคณิตอันใหญ่สีดำ ที่ภายในประกอบด้วยรูปทรงเลขาคณิตที่ใช้แม่สีต่าง ๆ แต่จนแล้วจนรอด เขาก็รู้สึกว่าการทำแบบนี้มันแข็งเกินไป จึงลองทำงานโดยใช้แค่สีดำกับสีขาว เพียงเพื่อจะพบว่าการใช้สีตรงข้ามกันสุด ๆ เช่นนี้ไม่สามารถถ่ายทอดความงดงามอันหลากหลายของสิ่งที่อยู่ในโลกได้

และวิถีการสร้างแล้วทำลายแนวของตัวเองของ Mondrian ก็จะดำเนินเช่นนี้ต่อไป… เพราะดังเขาเคยกล่าวไว้ว่า

‘ศิลปินจะต้องทำลายรูปแบบทุกอย่างที่ดำรงอยู่’
ซึ่ง Mondrian ก็ทำเช่นนั้น จนแม้กระทั่งรูปแบบที่เขาสร้างขึ้นมาเองก็มีอันต้องถูกทำลายเช่นกัน

Mondrian กลับมายังปารีสในปี 1918 ที่ซึ่งเขาวาดรูปอย่างหนักหน่วงและบ้าคลั่งกระทั่งมือของเขาเลือกไหล และในปี 1938 เขาก็ย้ายมานิวยอร์ก ที่ซึ่งเป็นที่พำนักแห่งสุดท้ายในชีวิตของเขา

Broadway Boogie Woogie คือผลงานชิ้นสุดท้ายที่เขาไม่มีโอกาสอยู่จนทำให้เสร็จ กระนั้น มันก็ได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในผลงานที่ยอดเยี่ยมที่สุดของ Mondrian ว่ากันว่าการจ้องมองภาพนี้นาน ๆ นั้นจะทำให้เรารู้สึกเหมือนกำลังจ้องแสงไฟนีออน และจะรู้สึกเหมือนดึงดูดเข้าไปในภาพ ...ซึ่งอาจจะเป็นลักษณะเดียวกับที่ศิลปินผู้สร้างสรรค์มันถูกดึงดูดเข้าไปในโลกแห่งสีและเส้น กระทั่งจิตวิญญาณของเขาสถิตอยู่ ณ โลกแห่งศิลปะนั้นไปตลอดกาล

อ้างอิง: https://en.wikipedia.org/wiki/Piet_Mondrian
https://www.dailyartmagazine.com/how-to-read-piet-mondrian/
https://www.artnews.com/.../piet-mondrian-why-was-he.../