210603654_353724432937604_1326727732443465063_n.jpg

Café Terrace at Night (1888) by Vincent van Gogh

Post on 25 May

ทิวทัศน์หน้า Café Terrace ที่ถูกแต่งแต้มด้วยสีเหลืองสว่างไสว ส่องประกายเป็นจุดเด่นของภาพ ตัดกับโทนสีน้ำเงินตรงทางเดินซึ่งไล่ระดับตามระยะสายตาท่ามกลางหมู่ดาวในยามค่ำคืน คือลายเส้นอันเป็นเอกลักษณ์บนผืนผ้าใบของศิลปินระดับตำนาน “Vincent van Gogh” ที่ได้รับการยกย่องและถูกอ้างอิงถึงมากที่สุดไม่แพ้ภาพดอกทานตะวัน และภาพบรรยากาศยามค่ำคืนใน The Starry Night

Café Terrace at Night วาดเสร็จสิ้นในช่วงกลางเดือนกันยายนปี 1888 ซึ่งถือว่าเป็นภาพแรกในบรรดา 3 ภาพภูมิทัศน์ในเมือง Arles ของฝรั่งเศส ท่ีปรากฏสไตล์สำคัญอย่างการเติมแต่งดวงดาวอันโดดเด่นท่ามกลางท้องฟ้าสีน้ำเงินเข้มแทนการใช้สีดำสนิท  เพื่อแสดงถึงฉากที่ไม่ใช่แค่การสะท้อนภาพตามตาเห็น แต่สร้างชีวิตชีวาด้วยปลายพู่กันอันสั่นไหวที่เกิดจากความรู้สึกท่วมท้นภายใน ตอบรับกับความประทับใจส่วนตัวที่ว่า “เวลาในยามค่ำคืน มีสีสันมากกว่าตอนกลางวัน”

ผลงานของแวนโก๊ะมักได้รับแรงบันดาลใจจากวรรณกรรมอยู่บ่อยครั้ง เขาพบว่าภาพคาเฟ่ที่วาด มีลักษณะคล้ายคลึงกับคำบรรยายที่เกิดขึ้นในหนังสือของ Guy de Maupassan ถึงขั้นเอ่ยบอกกับ Wil van Gogh น้องสาวของเขาว่า ค่ำคืนที่มีแสงดาวเป็นฉากหลังของร้านกาแฟที่สว่างไสวบนถนน Boulevard ในปารีส เป็นประมาณเดียวกันเดียวกับคาเฟ่ที่เขาเพิ่งวาดขึ้นเลยทีเดียว

ความโด่งดังของ Café Terrace at Night ทำให้ภาพวาดชิ้นนี้ ได้รับการพูดถึงจนเกิดเป็นข้อสันนิษฐานโดยนักวิจัยอิสระ Jared Baxter ที่ว่า ภาพของแวนโก๊ะอาจอ้างอิงถึง The Last Supper โดย Da Vinci เพราะรายละเอียดในภาพประกอบด้วยพนักงานเสิร์ฟผมยาวในผ้าคลุมสีขาวลักษณะคล้ายพระคริสต์ ยืนตรงกับกรอบหน้าต่างที่ปรากฏสัญลักษณ์คล้ายไม้กางเขนกลางบรรยากาศสีเหลืองอร่าม โดยมีลูกค้าที่รายล้อมอยู่รอบตัวเป็นเหมือนกับอัครสาวกทั้ง 12 คน ทฤษฎีของแบ็กซ์เตอร์ได้รับการสนับสนุนจากผู้เชี่ยวชาญหลายคน และคำอธิบายถึงศาสนาก็ดูจะไม่ใช่เรื่องไกลตัวสำหรับแวนโก๊ะมากนัก เพราะก่อนที่เขาจะเริ่มสนใจด้านการวาดภาพ คนครอบครัวของเขาล้วนมีความใกล้ชิดกับคริสตศาสนาเป็นอย่างมาก อีกทั้งในช่วงที่เขาวาดภาพดังกล่าว แวนโก๊ะได้เขียนจดหมายถึงน้องชาย Theo van Gogh โดยอธิบายว่าเขาต้องการพูดถึง “ศาสนา” โดยตรงในภาพวาดของเขา จนเกิดเป็นปริศนาในภาพวาดอันมีมนต์เสน่ห์ยากจะละสายตาได้ รอให้ผู้ชมหาคำตอบอย่างเป็นอิสระนั่นเอง