274365837_542125004097545_6297506763693790528_n.jpg

นี่หรือศิลปะ?! จากอุจจาระถึงการตอกหนังไข่ - สำรวจ 6 งานศิลปะที่สะท้อนว่าอะไรก็เป็นศิลปะได้ในศตวรรษที่ 21

Art
Post on 25 May

ศิลปะร่วมสมัย หรือ Contemporary Art คืออะไร?

มีใครหลายคน (แต่ใครบ้างก็ไม่รู้นะ) กล่าวไว้ว่า ‘ยุคสมัยแห่งศิลปะ’ หรือบรรดาคำเรียกขบวนการทางศิลปะที่ลงท้ายด้วย -ism ทั้งหลาย (Romanticism, Realism, Impressionism ฯลฯ) ได้สิ้นสุดลงไปแล้วตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 20 โดยที่ขบวนการศิลปะกลุ่มสุดท้ายที่ยังจัดเป็นหมู่พวกได้ชัดเจนก็คือเหล่าขบวนการศิลปะ Abstract Expressionism, Pop Art และ Minimalism 

การสิ้นสุดของขบวนการ ism ทั้งหลายหมายความว่าอย่างไร? ศิลปะมาถึงจุดสิ้นสุด? หรือศิลปะได้หยุดเคลื่อนไหวไปแล้ว? ที่จริงแล้วการสิ้นสุดของขบวนการศิลปะไม่ได้หมายถึงการเผชิญหน้ากับทางตัน แต่เป็นการเดินทางมาถึงจุดที่ ‘เรา’ ทั้งผู้สร้างและผู้ชม ค้นพบกับความเป็นไปได้ในอันมากมายหลากหลายของศิลปะ ทั้งการคิด การทำ และการชม จนไม่สามารถจำกัดหรือครอบทั้งหมดไว้ภายใต้คำใหญ่ ๆ คำเดียวได้

และการไม่มี ism นี่ล่ะ คือหัวใจสำคัญของศิลปะร่วมสมัย หรือศิลปะในศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นศิลปะแห่งยุคสมัยของพวกเราที่ยังมีชีวิตอยู่

“หลังจาก แอนดี วอร์ฮอล เป็นต้นมา เราก็มองศิลปะเป็น ‘พื้นที่ปฏิบัติการ’ (scene) มากกว่า ‘ขบวนการ’ (movement)” คือความเห็นของ ฮาล ฟอสเตอร์ ศาสตราจารย์ด้านโบราณคดีศิลปะแห่งมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน โดยฟอสเตอร์เป็นหนึ่งในคนมากมายในแวดวงศิลปะที่มองว่า ยุคสมัยของ ism หรือขบวนการศิลปะนั้นได้สิ้นสุดลงไปแล้ว “ในช่วง 60s - 70s ที่เป็นยุครุ่งเรืองที่สุดของขบวนการ ism ต่าง ๆ ก็มีศิลปิน นักวิจารณ์ และภัณฑารักษ์มากมายที่เริ่มตั้งคำถามกับขบวนการ ism เพราะสิ่งนี้ดูเป็นคำที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อใช้เป็น ‘แบรนด์’ ของศิลปะ มากกว่าจะใช้อธิบายตัวงานจริง ๆ”
การเกิดขึ้นของกระแสโลกาภิวัตน์ที่เชื่อมต่อโลกทั้งใบผ่านการเดินทางอย่างรวดเร็วของข้อมูลข่าวสาร ทำให้ความรับรู้เกี่ยวกับตัวตนและสังคมแวดล้อมเปลี่ยนไป ศิลปินในยุคโลกไร้พรมแดนมองเห็นแล้วว่าเส้นแบ่งทุกอย่างนั้นพร่าเลือนจนแทบไม่มีอยู่จริง ไม่ว่าจะเป็นเส้นแบ่งระหว่างพรมแดนประเทศ เส้นแบ่งระหว่างโลกจริงกับโลกเสมือน โลกกายภาพกับโลกดิจิทัล 

การหายไปของเส้นแบ่งนี้ยังรวมถึงเส้นแบ่งที่เคยกำหนดว่าศิลปะคืออะไรบ้าง จากเดิมที่สื่อศิลปะจำกัดอยู่แค่ภาพวาดกับประติมากรรม หรือพอเขยิบมาในยุคศิลปะ Avant-garde ที่ภาพถ่ายและภาพยนตร์ก็ถูกยกให้เป็นแขนงเพิ่มของศิลปะ เมื่อถึงยุคอินเทอร์เน็ต (และอาจจะก่อนหน้านั้นเล็กน้อย) แม้กระทั่งเส้นแบ่งของ ‘แขนง’ หรือ ‘สื่อ’ ทางศิลปะก็ถูกทำลายลง จนเราสามารถหยิบ ‘อะไรก็ได้’ มาสร้างงานศิลปะ

แต่ถึงจะบอกว่า ‘อะไรก็เป็นศิลปะได้’ แต่ใช่ว่า ‘ทุกอย่าง’ จะเป็นศิลปะ นี่ล่ะคือเหตุผลว่าทำไมเวลาเราเห็นงานศิลปะบางงานที่ชวนให้นึกในใจว่า ‘แค่นี้ฉันก็ทำได้’ แต่ที่จริงแล้ว ไม่ เราทำไม่ได้ เพราะสิ่งที่แตกต่างกันคือ ‘ไอเดียหรือความคิด’ ที่อยู่ภายใต้ความอะไรก็ได้นั้น ศิลปะในยุคไร้เส้นแบ่งนี้ไม่ได้ให้ความสำคัญว่า ‘งานนี้คืออะไร’ แต่เป็น ‘งานนี้ทำขึ้นมาอย่างไร’ มากกว่า ซึ่งภายใต้คำว่า ‘อย่างไร’ นี่ล่ะที่เป็นแก่นของศิลปะในยุคนี้ เพราะคำว่า ‘อย่างไร’ ซึ่งเป็นการตั้งคำถามถึงกระบวนการทำงานนั้น หมายถึงการย้อนกลับไปให้ความสำคัญตั้งแต่แรงบันดาลใจและที่มาของความคิดที่กลายมาเป็นงานศิลปะชิ้นหนึ่ง 

ด้วยเหตุนี้ ตั้งแต่ศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา อะไร ๆ ก็ถูกนำมาใช้สร้างงานศิลปะได้ จะเป็นสี ปูน ภาพถ่าย เก้าอี้ หิน กระป๋องน้ำอัดลม แม้กระทั่ง ‘ขี้’ หรือ ‘หนังไข่’ (จริง ๆ ไม่พูดเล่น) ก็ล้วนเป็นศิลปะได้ สิ่งสำคัญอยู่ที่ความคิดเบื้องหลังงานนั้นต่างหาก หาดความคิดคมคาย แยบยล และสะท้อนภาพยุคสมัยที่เราอาศัยอยู่ การชูนิ้วกลางใส่จัตุรัสเทียนอันเหมิงก็เป็นศิลปะชั้นดี และขี้อัดกระป๋องก็เป็นงานศิลปะแห่งยุคสมัยนี้ได้ทั้งนั้น

ต่อไปนี้คือตัวอย่างของงานศิลปะแห่งยุคศตวรรษที่ 21 ยุคที่อะไร ๆ ก็กลายเป็นศิลปะได้ ถ้าศิลปินเจ๋งและเก๋าทางความคิดมากพอ แต่แม้จะเป็นงานศิลปะที่ใครหลายคนเห็นแล้วอาจคิดว่า ‘ฉันก็ทำได้’ แต่ไม่ได้ เพราะสิ่งที่ซ่อนอยู่ภายใต้ความอะไรก็ได้นั้นคือไอเดียหรือความคิดของศิลปินคนนั้น ๆ อย่างไรล่ะ 

<p>Untitled (Perfect Lovers), 1991<br>Felix Gonzalez-Torres</p>

Untitled (Perfect Lovers), 1991
Felix Gonzalez-Torres

นาฬิกาบ้าน ๆ…ก็เป็นงานศิลปะ?!
เฟลิกซ์ กอนซาเลซ-ตอร์เรส คือศิลปินชาวคิวบาที่มีชื่อเสียงจากงานประติมากรรมและงานศิลปะจัดวางสไตล์มินิมอลเรียบง่าย โดยสิ่งที่เขานำมาใช้ในงานมักเป็นของที่เห็นได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน เพื่อตั้งคำถามถึงความหมายและมิติอันซับซ้อนที่ซ่อนอยู่ในชีวิตของคนทุกคน

นาฬิกาหน้าตาเรียบง่ายสองเรือนที่ถูกนำมาจัดวางคู่กันนี้คือหนึ่งในผลงานขึ้นชื่อของกอนซาเลซ-ตอร์เรส นาฬิกาที่เดินไปพร้อมกัน ในจังหวะเดินของเข็มวินาทีที่ตีบอกเวลาเดียวกัน แต่ในที่สุดแล้ว ไม่ว่าวันใดวันหนึ่ง เมื่อแบตเตอร์รีของนาฬิกาทั้งสองค่อย ๆ หมดลง เมื่อนั้นเข็มของนาฬิกาทั้งสองก็จะไม่สอดคล้องกัน และในที่สุดแล้วก็จะมีนาฬิกาเรือนหนึ่งที่หยุดเดินก่อนนาฬิกาอีกเรือน

Perfect Lovers คืองานที่บอกเล่าประสบการณ์ชีวิตของกอนซาเลซ-ตอร์เรสที่ต้องเป็นประจักษ์พยานการเสื่อมถอยของร่างกายและชีวิตของคู่รักอย่าง รอส เลย์ค็อก ที่เสียชีวิตด้วยโรคเอดส์ในปีเดียวกับที่กอนซาเลซ-ตอร์เรสสร้างผลงานชิ้นนี้ เขาเปรียบตัวเองกับคนรักเป็นดังนาฬิกาสองเรือนที่มีหน้าตาทุกอย่างเหมือนกัน เดินในจังหวะเวลาเดียงกัน แต่สุดท้ายแล้วก็มีเรือนหนึ่งที่ ‘หมดเวลาลง’ ก่อนอีกเรือน

 

“เวลาเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้ผมกลัว… หรือเคยกลัว งานชิ้นนี้ที่สร้างขึ้นมาจากแค่นาฬิกาธรรมดา ๆ สองเรือน แต่เป็นงานที่น่ากลัวที่สุดที่ผมเคยทำมา ผมอยากจะเผชิญหน้ากับมัน ผมอยากเห็นนาฬิกาสองเรือนนี้อยู่ตรงหน้าผม แล้วค่อย ๆ เดินไป”

<p>Kitchen, 2004<br>Thomas Demand</p>

Kitchen, 2004
Thomas Demand

ภาพถ่ายห้องครัว…ก็เป็นศิลปะ?!

ภาพถ่ายที่ดูเผิน ๆ ก็เหมือนกับภาพถ่ายห้องครัวธรรมดา ๆ นี้ กลับซ่อนความไม่ธรรมดาที่ชวนให้ผู้คนตั้งคำถามกับสถานะการเป็น ‘ประจักษ์พยานความจริง’ ของภาพถ่าย ซึ่งทำให้เราต้องตั้งคำถามล่วงเลยไปถึงความจริงของสิ่งต่าง ๆ ที่เคลมว่าตัวเองทำหน้าที่ถ่ายทอดความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นสื่อ ข่าว ไปจนถึงการบันทึกความทรงจำและประวัติศาสตร์

ยิ่งผู้ชมจ้องภาพถ่ายที่ดูเหมือนแค่นำเสนอภาพห้องครัวรก ๆ ในบ้านทั่วไป เราก็จะยิ่งเห็นความผิดปกติในภาพที่ก่อให้เกิดความรู้สึกแปลกประหลาดที่เรียกว่า ‘Uncanny’ หรือความรู้สึกไม่คุ้นเคยกับสิ่งที่เคยคุ้น สิ่งที่น่าจะเป็นห้องครัวธรรมดา ๆ กลับเต็มไปด้วยรายละเอียดที่ผิดปกติ ทั้งเตาอบที่ไร้ตัวเลขบอกอุณหภูมิ อาหารในจานที่ดูสะอาดสะอ้านเกินไป หรือห้องครัวที่ทุกอย่างวางไว้อย่างสะเปะสะปะแต่กลับไร้คราบไคลรอยเปื้อน ทั้งหมดนี้ทำให้ผู้ชมอย่างเราต้องตั้งคำถามว่า เรากำลังจ้องมองอะไรอยู่กันแน่?

ที่จริงแล้วห้องครัวในภาพนี้เกิดขึ้นมาจากการที่ โธมัส ดีมานด์ ประติมากรชาวเยอรมันได้ลงมือสร้างห้องครัวนี้ขึ้นมาจากกระดาษลัง โดยอ้างอิงแบบมาจากภาพถ่ายห้องครัวในบ้านที่ ซัดดัม ฮุสเซน หลบซ่อนตัวก่อนที่กองทัพอเมริกันจะบุกเจ้าไปจับกุมตัวในปี 2003 โดยหลังจากที่ถ่ายภาพห้องครัวจำลองนี้เสร็จ ดีมานด์ก็ทำลายห้องครัวกระดาษลังทิ้ง เหลือไว้เพียงภาพถ่ายของสิ่งจำลองจากสถานที่จริงที่ทำให้เราต้องตั้งคำถามกับความจริงในภาพถ่าย รวมไปถึงการตั้งคำถามกับความน่าเชื่อถือของสื่อที่เคลมว่าตัวเองเป็นผู้นำเสนอความจริง ล่วงเลยไปจนถึงความน่าเชื่อถือของการบันทึกประวัติศาสตร์ที่เคยถูกยกย่องให้เป็นความจริงแท้ที่เชื่อถือได้ที่สุดด้วย
 

<p>White Male for Sale, 2021<br>Dread Scott&nbsp;</p>

White Male for Sale, 2021
Dread Scott 

คนขาว…ก็เป็นงานศิลปะ?!

ครั้งแรกที่ Dread Scott ได้รู้ว่าคำว่า NFT ย่อมาจาก ‘Non-Fungible Token’ หรือ สินทรัพย์ที่มีรูปแบบเฉพาะตัวซึ่งไม่สามารถทำซ้ำหรือทดแทนกันได้ เขาก็เชื่อมโยงมันเข้ากับประวัติศาสตร์การค้าทาส ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ร่วมของชาวแอฟริกัน-อเมริกันเช่นเขาทันที

“คำว่า ‘สินทรัพย์’ เชื่อมโยงกับผมในแง่มุมที่ต่างออกไป เพราะผมเชื่อมโยงกับมันผ่านประวัติศาสตร์การค้าทาส ที่จริงแล้วผู้คนก็คือสิ่งที่ไม่สามารถทำซ้ำหรือทดแทนด้วยสิ่งอื่นได้ แต่ในประวัติศาสตร์การค้าทาสที่ผูกพันกับการมาถึงของทุนนิยมนั้น การค้าทาสได้เปลี่ยนให้มนุษย์เป็นสิ่งที่สามารถทำซ้ำหรือนำไปแลกเปลี่ยนได้”

นั่นจึงเป็นที่มาของผลงาน NFT ชิ้นแรกของศิลปินนักเคลื่อนไหวผู้ทำงานสะท้อนการกดขี่ทางชาติพันธุ์และผิวสีในสังคมอเมริกา จนทำให้เขาเคยถูกหมายหัวโดย จอร์จ ดับเบิลยู. บุช มาแล้ว ‘White Male for Sale’ (2021) คือผลงานวิดีโออาร์ตความยาว 1:10 นาทีที่ถูกเปิดวนเป็นลูปในวันที่ 1 ต.ค. 2021 ซึ่งเป็นวันเปิดนิทรรศการ ‘We're Going to End Slavery’ 

ในวิดีโอชิ้นนี้ ผู้ชมจะเห็นชายผิวขาวในชุดเสื้อเชิ้ตสีขาวและกางเกงทำงานยืนอยู่บนแท่นประมูลที่ตั้งอยู่กลางถนนในภาพสโลว์โมชัน ด้านหลังของชายผู้ยืนอยู่บนแท่นประมูลคือเหล่าผู้คนในชุมชนคนดำย่านบรูคลินที่กำลังเดินไปทำกิจวัตรประจำวันของตนเอง สิ่งที่ Dread Scott ทำก็คือการนำเสนอ ‘ประวัติศาสตร์ย้อนกลับ’ ที่คนผิวขาวถูกนำมาประมูลในต่อหน้าคนผิวดำ แต่ที่ตลกร้ายไปกว่านั้น ในยุคที่เราทุกคนกลายเป็นฟันเฟืองในเครื่องจักรที่เรียกว่า ‘ทุนนิยม’ คุณค่าของมนุษย์ที่เคยถูกยกย่องให้เป็น ‘สินทรัพย์ที่แลกเปลี่ยนไม่ได้’ กลับถูกทำให้เป็นสิ่งที่แลกเปลี่ยนและทำซ้ำได้ โดยไม่แบ่งว่าเป็นสีผิวใด

<p>The Artist Is Present, 2009<br>Marina Abramović</p>

The Artist Is Present, 2009
Marina Abramović

การจ้องตา…ก็เป็นงานศิลปะ?!

ตั้งแต่ช่วง 1970s เป็นต้นมา งานของ มารินา อับราโมวิก ก็มักเป็นการสำรวจขีดจำกัดของร่างกายและจิตใจ รวมไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้ชมกับศิลปิน ซึ่งในผลงาน The Artist Is Present ที่ทุกคนคุ้นเคยกันดีกับภาพอับราโมวิกในชุดสีแดงนั่งประจันหน้ากับผู้ชมที่ Museum of Modern Art (MoMA) ในปี 2010 ก็คืองานที่สำรวจประเด็นทั้งสองที่ว่ามา

ตลอดเวลา 11 สัปดาห์ อับราโมวิปจะนั่งเฉย ๆ ไม่เคลื่อนไหวอยู่ใน Museum of Modern Art เป็นเวลา 7 ชั่วโมงต่อวัน (10 ชั่วโมงในวันศุกร์) หรือตั้งแต่ประตูพิพิธภัณฑ์เปิด จนถึงเวลาปิดทำการ 6 วันต่อสัปดาห์ โดยที่ตลอดเวลาการแสดงนั้น อับราโมวิกจะไม่ได้แตะน้ำ อาหาร หรือลุกไปเข้าห้องน้ำเลย 

แล้วการนั่งนิ่งไม่เคลื่อนไหวพร้อมกับการเชื้อเชิญให้ผู้ชมเดินมานั่งที่เก้าอี้เพื่อประสานสายตากันนี้สื่อความหมายอันใด? อับราโมวิกเคยอธิบายว่า ตลอดเวลาที่เธอทำงานเพอร์ฟอร์แมนซ์อาร์ต เธอตระหนักอยู่เสมอว่าผลงานของเธอได้จบลงพร้อมกับการจบการแสดง ซึ่งทำให้งานเพอร์ฟอร์แมนซ์อาร์ตเป็นงานที่มีสัมพันธ์กับผู้ชมเพียงชั่วประเดี๋ยวเดียวเท่านั้น ด้วยเหตุนี้อับราโมวิกจึงตั้งใจที่จะสร้างการแสดงที่ทำให้เธอได้มึปฏิสัมพันธ์กับผู้ชมตลอดช่วงเวลาทำการของพิพิธภัณฑ์ เหมือนผลงานศิลปะประเภทอื่น ๆ

ปฏิสัมพันธ์ที่อับราโมวิกต้องการจะสร้างร่วมกับผู้ชมยังเป็น ‘ชั่วขณะ’ ที่ศิลปินและผู้ชมได้มีร่วมกัน อับราโมวิกอธิบายว่าพิพิธภัณฑ์เป็นสถานที่ที่เต็มไปด้วยความวุ่นวาย ทุกชั้นของพิพิธภัณฑ์อัดแน่นไปด้วยงานศิลปะที่เรียกร้องให้ผู้ชมเดินเข้าไปสำรวจ ประหนึ่งทอร์นาโดที่พัดพาผู้ชมไปทางโน้นที ทางนี้ที เธอจึงต้องการจะสร้างพื้นที่ที่ดึงให้ผู้ชมได้อยู่กับ ‘ชั่วขณะปัจจุบัน’ (Present) ณ เวลานั้น ผ่านการสื่อสารที่ไร้คำพูด

<p>Artist’s Shit, 1961<br>Piero Manzoni</p>

Artist’s Shit, 1961
Piero Manzoni

ขี้…ก็เป็นงานศิลปะ?!

ปีเอโร มันโซนี ได้ชื่อว่าเป็นศิลปินคนสำคัญของขบวนการอาวองการ์ดที่มี ‘อารมณ์ขันตลกร้าย’ เป็นลายเซ็นหลักในผลงานของเขา ผลงานของมันโซนีมักเป็นงานที่สำรวจประเด็นเรื่องความหลงใหลคลั่งไคล้ (fetishisation) และกระบวนการเปลี่ยนแรงงานหรือร่างกายให้เป็นสินค้า (commodification) เช่น ครั้งหนึ่งเขาเคยขายลูกโป่งที่เขาออกแรงเป่าด้วยตัวเอง โดยขายมันในฐานะลมหายใจของศิลปิน

แต่ไม่มีงานไหนจะอื้อฉาวและเป็นที่กล่าวขวัญในความกล้ามากเก่งมากไปกว่าผลงาน ‘ขี้บรรจุกระป๋อง’ จำนวน 90 กระป๋อง ในปี 1961! โดยแต่ละกระป๋องจะมีตัวเลขรันตั้งแต่ 001-090 และมีคำในภาษาอังกฤษ, ฝรั่งเศส และเยอรมัน เขียนว่า ‘Artist’s Shit’ แปะกระป๋องไว้เป็นการรับประกันคุณภาพ 

ผลงานขี้อัดกระป๋องบรรจุน้ำหนัก 30 กรัมเนื้อ ๆ เน้น ๆ นี้ไม่ได้แค่ทำเอามัน แต่มันโซนีตั้งใจที่จะเสียดสีวงการซื้อขายงานศิลปะในช่วงเวลานั้นที่ดูหมกมุ่นกับตัวศิลปินเสียเหลือเกิน “ถ้าคอลเลกเตอร์อยากได้อะไรที่ทำให้รู้สึกใกล้ชิดกับศิลปิน หรือเป็นผลผลิตส่วนตัวของศิลปินนักละก็ ก็เอาขี้ของศิลปินไปเลยก็แล้วกัน เพราะนี่ล่ะคือผลงานของศิลปินแบบแน่แท้”

ไม่มีการเปิดเผยแน่ชัดว่ามันโซนีขายขี้อัดฝของตัวเองไปได้กี่กระป๋อง แต่ครั้งหนึ่งเขาเคยขายให้ศิลปิน Alberto Lùcia โดยแลกกับทองคำ 18 กะรัต! อย่างไรก็ตาม ผลงานศิลปะสุดเหม็นโฉ่ของมันโซนีชิ้นนี้ก็ได้รับการยกย่องว่าเสียดสีแวดวงศิลปะได้เจ็บแสบ และยังสะท้อนกระบวนการสร้างงานศิลปะที่ซ้อนทับกับภาพกระบวนการผลิตสินค้าในระบบทุนนิยม ในแง่ที่ว่างานศิลปะเองก็ต้องผ่านกระบวนการลงแรงจากศิลปิน นำมาจัดลงแพคเกจจิง ทำการตลาด แล้วขาย ไม่ต่างจากสินค้ากระป๋อง

<p>Pyotr Pavlensky</p>

Pyotr Pavlensky

หนังไข่… ก็เป็นงานศิลปะ?!

Petr Pavlensky ศิลปินนักเคลื่อนไหวชาวรัสเซียที่ได้รับฉายาว่าเป็น ‘Living Pain Artist’ หรือศิลปินที่เล่นกับความเจ็บปวด นั่นก็เพราะผลงานของเขาส่วนใหญ่เป็นการเพอร์ฟอร์แมนซ์ที่เล่นกับความเจ็บปวดของร่างกาย เพื่อเป็นการสะท้อนภาพของสิ่งที่รัฐทำกับประชาชนผ่านภาษาของการแสดง

เมื่อสมาชิกของกลุ่ม Pussy Riot ถูกจับกุมจากการแสดงออกทางการเมือง Pavlensky ก็ได้ออกมาทำการเพอร์ฟอร์แมนซ์เพื่อเรียกร้องให้รัฐปล่อยตัวสมาชิกของกลุ่ม และเพื่อที่จะสะท้อนภาพความรุนแรงที่รัฐทำกับประชาชน ในการเพอร์ฟอร์แมนซ์ครั้งนี้ เขาได้เย็บปากของตัวเองเพื่อจะสะท้อนภาพการที่รัฐปิดปากปิดเสียงและห้ามไม่ให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นทางการเมือง

นอกจากการเย็บปากตัวเองแล้ว Pavlensky ยังได้ทำการพันร่างเปลือยเปล่าของตัวเองด้วยลวดหนามเพื่อเป็นการประท้วงกฎหมายที่ปิดกั้นการแสดงออกทางการเมือง หรือการตัดใบหูของตัวเองเพื่อประท้วงการที่รัฐจับผู้ต่อต้านไปขังไว้ในโรงพยาบาลจิตเวช และในครั้งต่อมา เขาได้ตอกหนังอัณฑะของตัวเองเข้ากับพื้นจัตุรัสแดงอันเป็นที่ทำพิธีสวนสนามของกองทัพ เพื่อสะท้อนภาพการที่รัฐพรากชีวิตและอนาคตไปจากประชาชน!

Pavlensky ได้ไอเดียในการตอกหนังอัณฑะประท้วงรัฐบาลมาจากเพื่อนนักโทษคนหนึ่งที่เขาพบระหว่างถูกคุมขังจากการประท้วงรัฐบาลก่อนหน้านี้ เพื่อนนักโทษคนนั้นเล่าให้ Pavlensky ฟังถึงเรื่องราวของนักโทษในค่ายใช้แรงงานกูลักซึ่งได้ชื่อว่าเป็นค่ายโหดที่ใช้ขังนักโทษการเมืองของสหภาพโซเวียตในช่วง 1930s โดยครั้งหนึ่งเคยมีเหตุการณ์ที่นักโทษในค่ายลุกขึ้นมาประท้วงสภาพความเป็นอยู่อันโหดร้ายไร้ความเป็นมนุษย์ด้วยการตอกถุงอัณฑะเข้ากับต้นไม้ Pavlensky เห็นว่าสภาพสังคมรัสเซียในตอนนี้ก็โหดร้าย ป่าเถื่อน และไร้มนุษยธรรมไม่ต่างจากคุก จึงเป็นที่มาของการตอกหนังอัณฑะประท้วงรัฐบาลในครั้งนั้น

Pavlensky เคยอธิบายว่า เมื่อใดก็ตามที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาจับกุมตัวเขา การแสดงของเขาก็จะจบลงอย่างสมบูรณ์แบบ เพราะการแสดงของเขาไม่ได้มีนักแสดงแค่ตัวเขาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นตัวแทนของรัฐบาลด้วย นอกจากนี้ Pavlensky ยังอธิบายว่า การแสดงของเขาไม่ได้ทำขึ้นเพื่อประท้วงรัฐบาลเท่านั้น แต่เขายังต้องการที่จะใช้การแสดงของเขากระตุ้นความรู้สึกเห็นอกเห็นใจของประชาชนคนรัสเซียให้หันมาสนใจเหล่าผู้ถูกจับกุมด้วยข้อหาทางการเมือง โดยเขามองว่าทั้งการปิดปาก การพันธนาการด้วยลวดหนาม หรือการทำตัวเองให้บาดเจ็บนี้ล้วนเป็นภาพสะท้อนการระทำที่รัฐบาลทำกับผู้ประท้วงและนักโทษการเมือง แต่กลับไม่มีใครสนใจชะตากรรมของพวกเขาเลย

อ้างอิง: 
Stallabrass, Julian, Contemporary Art: A Very Short Introduction. Oxford: Oxford University Press, 2006. Stallabrass, Julian. Contemporary Art: A Very Short Introduction.