201938298_366217008355013_8719778739628716793_n.jpg

Wes Anderson In Angoulême สำรวจเมืองการ์ตูนแห่งฝรั่งเศสที่เป็นโลเกชั่นหลักใน The French Dispatch!

Post on 27 May

เปิดตัวไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วสำหรับผลงานล่าสุดของผู้กำกับสไตล์สุดจัดขวัญใจฮิปสเตอร์อย่าง The French Dispatch ของ เวส แอนเดอร์สัน ที่ได้ไปฉายรอบเวิลด์พรีเมียร์ที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ที่กำลังจัดอยู่ ณ ขณะนี้ พร้อมเรียกเสียงปรบมือจากผู้ชมในรอบฉายยาวนานเกือบสิบนาที! (แต่ก็สั้นกว่า Memoria ของพี่เจ้ยที่ปรบกันไปยาวนานถึง 15 นาที อิอิ)

The French Dispatch คือหนังคนแสดงเรื่องล่าสุดของแอนเดอร์สันนับตั้งแต่ The Grand Budapest Hotel ที่ไปคว้าออสการ์มาได้ถึงสี่ตัว โดยหนังที่ว่าด้วยเรื่องราวของสำนักพิมพ์หัวอเมริกันกับนิตยสารฉบับสุดท้ายในเมืองสมมติของฝรั่งเศสนี้ก็ระดม ‘ดรีมทีม’ ของแอนเดอร์สันมาปล่อยของกันแบบครบครัน ไม่ว่าจะเป็นขาประจำอย่าง บิล เมอร์เรย์, ทิลดา สวินตัน, เซอร์ชา โรแนน, แฟรนเซส แม็กดอร์แมนด์, โอเวน วิลสัน และ แอนเดรียน โบรดี ร่วมด้วยหน้าใหม่ขวัญใจแม่ยกอย่าง ทิโมธี ชาลาเมต์ รวมไปถึง เลอา เซย์ดูซ์ และ เอลิซาเบธ มอส

Ennui-sur-Blasé คือชื่อเมืองสมมติที่เป็นฉากหลังในหนังที่แอนเดอร์สันอธิบายว่าเป็น ‘จดหมายรักถึงนิตยสาร The New Yorker’ และเพื่อจะสร้างโลกสีพาสเทลในฝันสไตล์แอนเดอร์สันขึ้นมา แอนเดอร์สันจึงได้หวนกลับมาจับมือกับโปรดักชั่นดีไซเนอร์คู่บุญ อดัม สตากเฮาเซน (Adam Stockhausen) ซึ่งเคยจับมือกันพา The Grand Budapest Hotel ไปคว้าออสการ์สาขาออกแบบฉากมาแล้ว โดยเรฟที่แอนเดอร์สันและสตากเฮาเซนใช้ในการมองหาโลเกชั่นในฝันก็คือ The Red Balloon (1965) หนังสั้นแฟนตาซีในตำนานของฝรั่งเศสที่ถ่ายทำในย่านเมนิมงตอง (Ménilmontant) ของกรุงปารีส และอีกหนึ่งเรฟก็คือภาพถ่ายเก่าของกรุงปารีสในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนที่กรุงปารีสจะถูกยกเครื่องเปลี่ยนโฉมครั้งใหญ่

“ไอเดียของเราก็คือการมองหาเมืองที่ดูเหมือนปารีส แต่ไม่ใช่ปารีสในแบบที่เราเห็นกันทุกวันนี้ เป็นปารีสที่อยู่ในความทรงจำ หรือในหนังของผู้กำกับ ฌาร์กส์ ตาติ” คือคำอธิบายของสตากเฮาเซน

แอนเดอร์สันและสตากเฮาเซนเริ่มการสเกาต์โลเกชั่นผ่าน Google Earth จากบรรดาหลายสถานที่ที่พวกเขาลิสต์ไว้ ก็เหลือรายชื่อเมืองเข้ารอบเพียงหกชื่อเพื่อให้ทั้งคู่ขับรถไปดูสถานที่จริง จนในที่สุดพวกเขาก็ตกลงปลงใจที่ ‘อ็องกูแลม’ (Angoulême)

อ็องกูแลมคือเมืองที่อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของปารีส ใช้เวลาเดินทางจากปารีสเพียง 90 นาทีหากโดยสารด้วยรถไฟความเร็วสูง TGV เมืองแห่งนี้ได้ชื่อว่าเป็น ‘ระเบียงแห่งตะวันตกเฉียงใต้’ เนื่องจากภูมิศาสตร์ของเมืองที่ตั้งอยู่บนสันเขาหินยื่นออกไปเหนือแม่น้ำชาร็องต์ (Charente)

“เรามองหาสถานที่ที่มีทั้งถนนในแบบที่เราจินตนาการและพื้นที่แนวตั้ง ภาพถ่ายเก่าของกรุงปารีสเผยให้เห็นพื้นที่คดเคี้ยว ทางลาด บันได และการแบ่งพื้นที่เป็นกริด ในภาพเก่าเหล่านั้นคุณจะเห็นเนินเขาที่พาดไปบนพื้นที่ของกรุงปารีสพร้อมกับถนนที่จู่ ๆ ก็กลายเป็นบันได แล้วก็กลับมาเป็นถนนอีกที ซึ่งถนนเส้นนั้นก็จะไปพาดทับกับถนนอีกเส้นหนึ่งแล้วเลี้ยวกลับมาลอดใต้บันไดของถนนเส้นแรก

“ภาพของสถาปัตยกรรมที่เราจินตนาการไว้สำหรับเมืองในหนังจะมีความซับซ้อนแบบเขาวงกต เราจึงตั้งเป้าที่จะหาเมืองที่ให้ความรู้สึกแบบนั้น และเป็นเมืองเล็ก ๆ ที่สิ่งต่าง ๆ ถูกบีบแน่น”

อ็องกูแลมจึงเป็นเมืองที่ถูกต้องตามตำราแบบเอาปากกามาวงได้ทุกจุด เพราะนอกจากทิวทัศน์ธรรมชาติอันงดงามแล้ว อ็องกูแลมยังได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่รักษาสถาปัตยกรรมโบราณไว้ได้อย่างดี โดยอาคารบ้านช่องที่ตั้งอยู่ทั่วเมืองแห่งนี้ล้วนเป็นอาคารหินเก่าแก่ที่ทอดไปพร้อมกับถนนหินโบราณ และมีจุดเด่นเป็นวิหารที่สร้างมาตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 12 การผสมผสานของสถาปัตยกรรมหลากหลายยุคสมัยตั้งแต่ยุคกลาง เรเนอร์ซองส์ ไปจนถึงนีโอคลาสสิก ก็ทำให้อ็องกูแลมเป็นเมืองที่สะท้อนกลิ่นอายสถาปัตยกรรมฝรั่งเศสยุคเก่าแบบที่แอนเดอร์สันและสตากเฮาเซนจินตนาการถึงปารีสในอดีต

แม้จะมีสถาปัตยกรรมและธรรมชาติอันงดงาม แต่อ็องกูแลมต์ก็ไม่ค่อยอยู่ในสายตาของนักท่องเที่ยวเสียเท่าไหร่ ยกเว้นเหล่าคอการ์ตูนจากทั่วทุกมุมฝรั่งเศสที่จะเดินทางมารวมตัวกันที่เมืองนี้ในช่วงเดือนมกราคมเป็นประจำทุกปี เนื่องจากในช่วงศตวรรษที่ 18-19 อ็องกูแลมเคยได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางการผลิตกระดาษของยุโรป ทำให้ในเวลาต่อมา เมืองแห่งนี้จึงเป็นเมืองหลวงของการ์ตูนแห่งฝรั่งเศสที่มีการจัดเทศกาลการ์ตูน Festival International de la Bande Dessinée ในช่วงปลายเดือนมกราคมของทุกปี ซึ่งนอกจากเทศกาลการ์ตูนแล้ว คนในเมืองนี้ก็ซีเรียสจริงจังกับการ์ตูนมาก ถึงขนาดมีการตั้งพิพิธภัณฑ์การ์ตูน และไม่ว่าจะเดินไปทางไหนก็จะได้พบกับจิตรกรรมฝาผนังรูปการ์ตูนในทุกหัวมุมถนน ขนาดป้ายจราจรหรือป้ายบอกทางต่าง ๆ ก็ยังทำเป็นรูปบับเบิลการ์ตูน!

เพราะเป็นเมืองที่มีทั้งสถาปัตยกรรมและประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับสิ่งพิมพ์โดยตรง แอนเดอร์สันจึงตกหลุมรักเมืองนี้แบบสุดหัวใจและได้ยกกองมาปักหลักถ่ายทำที่นี่เป็นเวลาถึงหกเดือน พร้อมจ้างคนท้องถิ่นกว่า 900 คนมาเป็นตัวประกอบในหนัง! โดยนอกจากจะพลิกโรงงานเก่าให้เป็นสตูดิโอสำหรับถ่ายทำแล้ว แอนเดอร์สันยังถ่ายฉากอื่น ๆ ในโลเกชั่นต่าง ๆ ทั่วอ็องกูแลม ไม่ว่าจะเป็นฉากจลาจลที่ถ่ายทำกันที่ถนน Rue Du Sauvage ของเมือง ส่วนถนน Rue Du Bélat ก็ถูกใช้เป็นฉากหลังของซุ้มขายหนังสือพิมพ์ที่ปรากฏในเรื่อง ส่วนจัตุรัสกลางเมืองที่อยู่หน้าวิหาร Cathédrale Saint-Pierre ก็ถูกนำมาแปลงโฉมให้เป็นโลเกชั่นที่ตั้งของสำนักพิมพ์ The French Dispatch

อ้างอิง: 
Ibc
Cntraveller
Messynessychic