GC_beingartist_Eugène Delacroix.jpg

Eugène Delacroix ศิลปินผู้วาดภาพแห่งเสรีภาพ

Post on 24 January

“ศิลปินที่มุ่งแสวงหาความสมบูรณ์ในทุกสิ่ง คือศิลปินผู้ไม่สามารถบรรลุสิ่งใดได้เลย”
― Eugene Delacroix

ในช่วงศตวรรษที่ 19 อันเป็นช่วงเวลาที่ประวัติศาสตร์การเมืองของฝรั่งเศสได้เดินทางมาถึงจุดแตกหักครั้งสำคัญอีกครั้ง ในโลกของศิลปะฝรั่งเศสเอง การขับเคี่ยวกันระหว่างกระแสศิลปะที่เน้นความงามตามขนบดั้งเดิมอย่าง Neoclassicism และกระแสศิลปะคลื่นลูกใหม่ที่เน้นการนำเสนออารม์อันรุนแรงผ่านฝีแปรงที่เรียกว่า Romanticism ก็แทบจะเป็นการสะท้อนภาพบรรยากาศทางการเมืองของฝรั่งเศสที่ขั้วอำนาจเก่าอย่างราชวงศ์และชนชั้นสูงกำลังถูกต่อต้านอย่างหนักจากประชาชนผู้ซึ่งจะกลายเป็นผู้กุมบังเหียนอนาคตของประเทศชาติที่แท้จริง โดยศิลปินผู้เป็นตัวแทนของสุนทรียะชั้นสูงก็คือ ฌ็อง-โอกุสต์-ดอมินิก แอ็งกร์ (Jean-Auguste-Dominique Ingres) ในขณะที่อีกฝั่งหนึ่งที่เป็นตัวแทนของศิลปะที่ดิ้นออกจากกรอบดั้งเดิมนั้นก็คือ เออแฌน เดอลาครัวซ์ (Eugène Delacroix)

ความดรามาติกและการนำเสนออารมณ์ผ่านฝีแปรงคือสิ่งที่เดอลาครัวซ์ยึดถือ และยังเป็นสิ่งที่นำพาเขาดั้นด้นเดินทางออกจากกรุงปารีส เพื่อหนีจากการมาตรฐานศิลปะอันสูงส่งของสถาบันวิจิตรศิลป์แห่งฝรั่งเศส และธรรมเนียมการสร้างงานศิลปะที่เน้นนำเสนอภาพจากปกรณัมกรีกอันเก่าแก่ ไปสู่พื้นที่ทางตอนเหนือของทวีปแอฟริกา เพื่อหาแรงบันดาลใจจากแสงและสีในธรรมชาติ

แม้จะได้ชื่อว่าเป็นมาสเตอร์คนสำคัญแห่งยุค Romanticsim ของศิลปะฝรั่งเศส แต่ความน่าสนใจก็คือ เดอลาครัวซ์ไม่เคยนิยามว่าตัวเองเป็นศิลปิน Romantic ซึ่งก็ตรงตามที่ ชาร์ลส์ โบเดอแลร์ (Charles Baudelaire) กวีและนักวิจารณ์ศิลปะแห่งยุคศตวรรษที่ 19 ได้เคยกล่าวถึงผลงานของเดอลาครัวซ์ไว้ว่า “เดอลาครัวซ์หลงใหลคลั่งไคล้อารมณ์คลั่งไคล้ (Delacroix was passionately in love with passion) แต่เขาก็มุ่งมั่นที่จะนำเสนออารมณ์คลั่งไคล้นั้นด้วยความชัดเจนอย่างสงวนท่าทีที่สุด”

ด้วยความที่วันที่ 26 เมษายาของทุกปีคือวันคล้ายวันเกิดของศิลปินผู้ต่อสู้กับขนบธรรมเนียม และเป็นศิลปินผู้วาดภาพแห่งเสรีภาพที่ถูกใช้ในขบวนการเรียกร้องทางการเมืองมากที่สุดอย่าง 28 July: Liberty Leading the People (1830) GroundControl จึงจะขอพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ เออแฌน เดอลาครัวซ์ ศิลปินผู้ได้ชื่อว่าเป็น The Prince of Romanticism ร่วมกัน

เออแฌน เดอลาครัวซ์ เกิดเมื่อวันที่ 26 เมษายน 1798 ในเมืองที่อยู่ในแคว้นแคว้นอีล-เดอ-ฟร็องส์ ใกล้กับกรุงปารีส แม่ของเขาเป็นลูกสาวช่างทำตู้ และเชื่อกันว่าพ่อของเขาที่ชื่อ ชาร์ลส์-ฟรองซัวส์ เดอลอครัวซ์ ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ น่าจะไม่ใช่พ่อที่แท้จริงของเขา แต่พ่อผู้มีสายเลือดเดียวกับเขาน่าจะเป็น ชาร์ล มอริส เดอ ตาแลร็อง-เปรีกอร์ ผู้ทรงอิทธิพลทางการเมืองและเป็นเพื่อนสนิทของครอบครัว ซึ่งได้ส่งเดอลาครัวซ์ผู้พ่อไปประจำการเป็นทูตฝรั่งเศสที่สาธารณรัฐบาตาเวีย (เนเธอร์แลนด์ในปัจจุบัน) และเมื่อเดอลาครัวซ์กลับมาบ้าน ก็กลับพบว่าภรรยาของเขากำลังตั้งครรภ์ลูกชายคนที่สี่ และในตอนนั้นเดอลาครัวซ์ก็ประสบปัญหาเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ไม่สามารถมีลูกได้อยู่แล้ว

ว่ากันว่า ยิ่งเดอลาครัวซ์คนลูกโตขึ้น เขาก็ยิ่งดูเหมือนถอดแบบมาจากตาแลร็อง ชนิดที่เรียกได้ว่าดีเอ็นเออยู่บนหน้า ซึ่งตลอดชีวิตการเป็นศิลปินในกาลต่อมาของเดอลาครัวซ์ เขาก็จะได้รับการปกป้องและสนับสนุนจากตาแลร็องอยู่เสมอ

เดอลาครัวซ์ฉายแววอัจฉริยะในด้านศิลปะมาตั้งแต่ตอนเป็นเด็ก เขาสนใจศิลปะคลาสสิกและก็ประกวดวาดภาพจนชนะรางวัลหลายต่อหลายครั้ง เมื่ออายุได้ 16 ปี เขาก็ได้ฝากตัวเป็นศิษย์เพื่อฝึกฝนฝีมือกับ ปิแอร์-นาซิส กูเอแรงน์ (Pierre-Narcisse Guérin) ซึ่งเป็นศิลปินผู้มีความเก่งกาจในสไตล์นีโอคลาสสิก และเป็นผู้สืบทอดสไตล์นีโอคลาสสิกแบบฝรั่งเศสมาจากศิลปินชั้นครู ฌัก-หลุยส์ ดาวีด (Jacques-Louis David)

ผลงานชิ้นแรก ๆ ของเดอลาครัวซ์คือ The Virgin of the Harvest (1819) ซึ่งเป็นภาพวาดจิตรกรรมที่ได้รับมอบหมายจากโบสถ์ให้วาดขึ้น แต่ภาพที่สะท้อนให้เห็นถึงเค้าลางของสุนทรียะแบบเดอลาครัวซ์ที่ดูมีความเป็นอิสระจากกรอบทางศิลปะมากขึ้นก็คือ The Virgin of the Sacred Heart (1821) ที่มีการใช้สีสันและฝีแปรงที่ถ่ายทอดอารมณ์ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเดลอครัวซ์ได้แรงบันดาลใจมาจากสไตล์ของศิลปินยุคบาโรกเฟลมิชอย่าง เปเตอร์ เปาล์ รูเบินส์ (Peter Paul Rubens) และศิลปินผู้แผ้วทางให้กับยุคโรแมนติกอย่าง ทีโอเดอร์ เกอริโก (Théodore Géricaul) มากขึ้น

The Barque of Dante

อิทธิพลจาก The Raft of the Medusa (1818-19) ของทีโอเดอร์ เกอริโก ซึ่งเป็นผลงานที่เป็นรากฐานของศิลปะโรแมนติกในฝรั่งเศส ได้ส่งอิทธิพลต่อเดอลาครัวซ์เป็นอย่างมาก โดยผลงานชิ้นนั้นก็เป็นภาพวาดที่เกอริโกวาดขึ้นมาจากเหตุการณ์เรือรบเมดูซาล่มเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 1816 อันส่งผลให้ลูกเรือ 147 คนต้องเอาชีวิตรอดบนแพที่ทำมาจากซากเรือ จนสุดท้ายแล้วมีผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์นี้เพียง 15 คนเท่านั้น แต่สิ่งที่ทำให้สังคมฝรั่งเศสแตกตื่นเป็นอย่างมากก็คือการค้นพบว่าลูกเรือที่รอดชีวิตนั้นต่างต้องกินซากศพของเพื่อนร่วมแพเป็นอาหารประทังชีวิต ซึ่งเหตุการณ์นี้ก็กลายเป็นเรื่องสะเทือนขวัญและสั่นคลอนศีลธรรมของผู้คนเป็นอย่างมาก

เดอลาครัวซ์รับเอาอิทธิพลด้านการนำเสนออารมณ์อันบ้าคลั่งและรุนแรงในภาพ The Raft of the Medusa มาสร้างสรรค์เป็น The Barque of Dante (1822) ซึ่งกลายเป็นผลงานชิ้นแรกของเดอลาครัวซ์ที่ได้รับการตอบรับให้จัดแสดงที่ Salon อันทรงเกียรติ โดยภาพนี้นำเสนอฉากจาก Inferno บทกวีเล่าเรื่องราวการท่องนรกของ ดันเต (Dante) ซึ่งเป็นตอนที่ดันเตและ เวอร์จิล (Virgil) กำลังข้ามแม่น้ำสติกซ์แห่งยมโลก โดยภาพนี้ก็ได้รับการยกย่องในแง่ของการจัดองค์ประกอบที่ใช้พื้นที่ทุกส่วนในภาพได้อย่างงดงาม และยังโดดเด่นในแง่ของการถ่ายทอดอารณ์และความคิดของตัวละครแต่ละคนในภาพได้อย่างสะท้านอารมณ์

The Big Three

หลังแจ้งเกิดที่ Salon แล้ว เดอลาครัวซ์ก็ไปต่อกับผลงานที่ในกาลต่อมาจะเป็นที่รู้จักในฐานะ The Big Three หรือภาพวาดสามชิ้นของเดอลาครัวซ์ที่เป็นที่รู้จักมากที่สุด โดยผลงานทั้งสามชิ้นนี้ล้วนเป็นภาพที่เดอลาครัวซ์ได้แรงบันดาลใจมาจากวรรณกรรมหรือเหตุการณ์บ้านเมือง ณ ขณะนั้น อันเป็นสัญญาณของการแยกทางระหว่างเดอลาครัวซ์กับศิลปะนีโอคลาสสิก

ผลงานทั้งสามชิ้นนี้ยังทำให้เดอลาครัวซ์ขึ้นแท่นเป็นผู้นำศิลปะกระแสใหม่ในยุคนั้น นั่นก็คือศิลปะโรแมนติก ซึ่งส่งผลให้เดอลาครัวซ์กลายเป็นเหมือนตัวแทนของฝั่งศิลปินสมัยใหม่ที่จะมางัดข้อกับ ฌ็อง-โอกุสต์-ดอมินิก แอ็งกร์ ศิลปินผู้เป็นตัวแทนของโลกศิลปะตามขนบที่นำเสนอผลงานในสไตล์คลาสสิก ซึ่งเน้นนำเสนอความงดงามสมบูรณ์และการจัดสัดส่วนภาพที่เหมาะสม ในขณะที่ผลงานของเดอลาครัวซ์นั้นเน้นการถ่ายทอดอารมณ์ผ่านสีสัน

Massacre at Chios

Massacre at Chios (1824) คือภาพที่นำเสนอเหตุการณ์ที่เกาะไคออส ที่ชาวกรีกลุกขึ้นต่อสู้กับกองทัพจักรวรรดิออตโตมันในช่วงสงครามปฏิวัติกรีกเมื่อปี 1821 และก็ประสบกับความพ่ายแพ้ ซึ่งเหตุการณ์นี้ก็กระทบใจชาวฝรั่งเศสในยุคนั้นเป็นอย่างมาก เพราะเหล่าชนชาวฝรั่งเศสมองว่าการสู้รบของชาวกรีกเพื่อปลดแอกตัวเองนั้นเป็นดังภาพสะท้อนการต่อสู้เพื่ออิสรภาพของชาวฝรั่งเศส

ภาพวาดเหตุการณ์ชาวกรีกปลดแอกนี้กลายเป็นภาพยอดนิยมของ Salon ที่แต่ละวันมีคนมายืนชมภาพนี้ก็อย่างอุ่นหนาฝาคั่ง โดยผลงานชิ้นนี้ก็สะท้อนความพยายามของเดอลาครัวซ์ในการผสานศิลปะดั้งเดิมอย่างนีโอคลาสสิกเข้ากับสไตล์สมัยใหม่ การจัดวางองค์ประกอบภาพยังคงสะท้อนแม่แบบจากศิลปินนีโอคลาสสิกคนสำคัญแห่งฝรั่งเศสอย่าง ฌัก-หลุยส์ ดาวีด แต่การใช้สีคู่ตรงข้ามที่ตัดกันอย่างรุนแรงนั้นเป็นสไตล์ของศิลปะสมัยใหม่อย่างโรแมนติกชัดเจน อีกทั้งเดอลาครัวซ์ยังทำให้ผู้ชมสะเทือนอารมณ์ไปกับภาพชะตากรรมของชาวกรีก เช่น ภาพของทารกที่กำลังดูดนมจากทรวงอกของแม่ผู้สิ้นลมหายใจไปแล้ว ซึ่งการเรียกอารมณ์เช่นนี้เป็นลักษณะที่แตกต่างจากศิลปะนีโอคลาสสิกอย่างชัดเจน

Death of Sardanapalus

ผลงานชิ้นต่อมาที่สร้างชื่อเสียงต่อเนื่องให้กับเดอลาครัวซ์ก็คือ Death of Sardanapalus (1827) ซึ่งเป็นภาพวาดขนาดใหญ่ที่นำเสนอฉากที่กษัตริย์อัสซีเรียนองค์สุดท้ายเฝ้ามองเหล่าทหารลงมือฆ่านางสนมและม้าของพระองค์อย่างโหดเหี้ยม ตามคำสั่งของพระองค์ โดยฉากนี้เป็นฉากหนึ่งในบทกวีโรแมนติกของกวีชาวอังกฤษอย่างไบรอน (Byron) นั่นเอง

Death of Sardanapalus นำเสนอความรุนแรงของเหตุการณ์นี้ด้วยสีแดงที่เป็นสีหลักของภาพ ว่ากันว่าผู้ชมที่ได้มาชมผลงานชิ้นนี้ต่างก็ช็อกและเป็นลมไปตาม ๆ กัน โดยบรรยากาศของโลกฝั่งตะวันตกในเวลานั้นก็เป็นช่วงที่ชาวตะวันตกมีภาพฝังหัวว่าชาวตะวันออกเป็นพวกป่าเถื่อนและใช้ความรุนแรง ซึ่งก็เป็นชุดความคิดแบบ Orientalism ที่สืบเนื่องมาจากการล่าอาณานิคม และการที่เจ้าอาณานิคมอย่างชาวตะวันตกสร้างภาพขั้วตรงข้ามระหว่างชาวตะวันตกกับชาวตะวันออกที่ต่างกันสุดขั้ว ในขณะที่ชาวตะวันออกเป็นพวกป่าเถื่อนไร้อารยธรรม ชาวตะวันตกก็เป็นตัวแทนของชาติพันธุ์แห่งปัญญาและอารยธรรม

ภาพ Death of Sardanapalus จึงเป็นผลงานที่ยิ่งตอกย้ำชุดความคิดของชาวตะวันตกผู้สูงส่งกว่า ชาวปารีสในยุคนั้นต่างจดจำภาพอันสุดแสนน่ากลัวนี้เป็นภาพจำฝังหัว อย่างไรก็ตาม ผลงานชิ้นนี้กลับได้รับเสียงตอบรับในทางที่ไม่ค่อยดีนัก เพราะนักวิจารณ์มองว่าผลงานชิ้นนี้หลุดกรอบสุนทรียะตามขนบมากเกินไป โดยเฉพาะการใช้สีที่ดูจัดจ้านเกินมาตรฐานศิลปะในยุคนั้น แม้กระทั่งเหล่าผู้อุปถัมภ์เดอลาครัวซ์ก็มองว่าภาพนี้ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าการแต้ม ๆ สีที่ดูฟุ้ง ๆ ไม่เป็นรูปทรง

Liberty Leading the People (1830)

สามปีให้หลังจากภาพกษัตริย์คลั่งที่สั่นสะเทือนสังคมปารีส เดอลาครัวซ์ก็ได้สร้างผลงานที่จะกลายเป็นหนึ่งในภาพที่มีชื่อเสียงที่สุดในประวัติศาสตร์ศิลปะของฝรั่งเศส นั่นก็คือ Liberty Leading the People ที่เดอลาครัวซ์วาดขึ้นเพื่อเชิดชูเหล่าประชาชนผู้ลุกขึ้นสู้กับการกดขี่ทางชนชั้น จนสามารถโค่นบัลลังก์ของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 10 ลงได้

ต่างจากผลงานสองชิ้นก่อนหน้าที่เดอลาครัวซ์นำเสนอภาพเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับชาวกรีก และความสยดสยองที่เป็นฉากหนึ่งในบทกวีอังกฤษ Liberty Leading the People คือผลงานชิ้นแรกที่เดอลาครัวซ์วาดเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในบ้านเกิดเมืองนอนของเขาเอง อย่างไรก็ตาม แรงบันดาลใจที่ทำให้เกิดผลงานชิ้นนี้กลับเป็นความรู้สึกผิดที่ติดอยู่ในใจของเดอลาครัวซ์ จากการที่เขาไม่ได้จับอาวุธลุกขึ้นสู้ร่วมกับประชาชนชาวฝรั่งเศสคนอื่น ๆ และกว่าที่เขาจะลุกขึ้นมาแสดงจุดยืนก็หลังจากที่ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการปกครองไปแล้ว โดยเดอลาครัวซ์ก็เคยบันทึกไว้ว่า

“แม้ว่าฉันจะไม่ได้ต่อสู้เพื่อประเทศของฉัน อย่างน้อยก็ให้ฉันได้วาดภาพเพื่อเธอ”

ฉากหลังใน Liberty Leading the People เป็นท้องถนนในกรุงปารีส ที่สามารถมองเห็นอาสนวิหารน็อทร์-ดามได้ไกล ๆ ผ่านม่านหมอก จุดเด่นของภาพคือหญิงสาวชูธงสีแดง ขาว น้ำเงิน อันเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มปฏิวัติ ที่ต่อมาจะกลายเป็นธงชาติฝรั่งเศสที่คนทั่วโลกคุ้นเคย ชุดที่พาดผ่านลำตัวอย่างหลุดรุ่ยคือการสะท้อนสไตล์ของรูปปั้นเทพเจ้ากรีกโบราณ อันทำให้หญิงสาวดูราวกับเป็นเทพเจ้าที่จำแลงกายลงมานำชัยให้มวลชน แต่หมวกฟรีเจียนอันเป็นสัญลักษณ์ของทาสที่ได้รับความเป็นไทที่เธอสวมอยู่แสดงให้เห็นว่าแท้จริงแล้วเธอคือมนุษย์ธรรมดาที่กำลังต่อสู้เพื่อแสวงหาเสรีภาพเพื่อตัวเองและพวกพ้องผู้ถูกกดขี่

แม้ว่าภาพ Liberty Leading the People ซึ่งกลายเป็นสัญลักษณ์การปฏิวัติของประชาชนนี้จะได้รับการตอบรับอย่างดี ถึงขนาดที่รัฐบาลฝรั่งเศสได้มอบเหรียญเกียรติยศให้กับเดอลาครัวซ์ และยังซื้อภาพนี้ไปเพื่อประดับไว้ที่พระราชวังลุกซ็องบูร์ (Luxembourg Palace) ซึ่งได้ถูกปรับให้เป็นที่ทำการวุฒิสภา แต่ในปี 1832 มันก็ถูกปลดออกตามคำสั่งของราชวงศ์ ก่อนที่จะถูกนำมาจัดแสดงอีกครั้งในปี 1848 เพียงเพื่อจะถูกปลดลงอีกครั้งในปี 1850 แล้วกลับมาประจำที่เดิมอีกครั้งในปี 1862

The End of An Era

หลังจากภาพ Liberty Leading the People เป็นต้นมา เดอลาครัวซ์ก็หันความสนใจไปวาดซับเจกต์ใหม่ นั่นก็คือภาพธรรมชาติ ด้วยความที่เขาสนิทสนมกับคนในแวดวงสังคมการเมือง เดอลาครัวซ์จึงได้รับเชิญให้ร่วมเดินทางไปยังดินแดนแถบแอฟริกาเหนือ ที่ซึ่งเขาได้รับแรงบันดาลใจจากสีสันและแสงในธรรมชาติให้สร้างภาพวาดและภาพพิมพ์ที่นำเสนอฉากธรรมชาติเหล่านั้น ซึ่งเมื่อเขากลับมายังกรุงปารีส เขาก็ได้จัดแสดงภาพที่วาดขึ้นจากทริปการเดินทางในครั้งนั้น โดยหนึ่งในภาพแห่งยุคนี้ที่ได้รับเสียงชื่นชมมากที่สุดก็คือ The Women of Algiers (1834) ที่ได้จัดแสดงที่ Salon และทำให้ผู้ชมพร่างพรายไปกับสีสันและบรรยากาศแสนเอ็กโซติกที่เดอลาครัวซ์นำเสนอในภาพ

หลังกลับจากทริปแอฟริกาใต้ เดอลาครัวซ์ก็เริ่มรับงานภาพวาดและจิตรกรรมฝาผนังจากโบถสต์และรัฐบาลอีกมากมาย โดยเขาทำงานนี้ควบคู่กับไปการวาดภาพ Still Life และภาพพิมพ์รูปสัตว์ต่าง ๆ การเสียชีวิตของเขาในปี 1863 ถูกยกให้เป็นการสิ้นสุดของยุครุ่งเรืองของ ‘ศิลปินรุ่น 1830 (Generation of 1830)’ โดยผู้ที่รับไม้ต่อจากเดอลาครัวซ์ในการสั่นสะเทือนวงการศิลปะฝรั่งเศสด้วยการแหกขนบอีกครั้งก็คือ เอดัวร์ มาเนต์ กับผลงานภาพวาดหญิงเปลือยในสวนอย่าง The Luncheon on the Grass (1863) นั่นเอง

อ้างอิง: Néret, Gilles. Eugène Delacroix: 1798-1863: the Prince of Romanticism. Taschen, 1999.
https://en.wikipedia.org/wiki/Charles_Baudelaire
https://www.radford.edu/rbarris/art216upd2012/romanticism%20and%20revolution%20F09.html?fbclid=IwAR2ElzDkrT5VnTCTXNcKuH5vz5KpMANTn3TksDVkdnWfwiHU2biCh_PkrAc