175828218_303808467929201_7209130805435745330_n.jpg

Japonism in Impressionism ศิลปะอาทิตย์อุทัยในงานของ Claude Monet

Post on 30 May

งานแสดงสินค้า Paris International Exposition ที่จัดขึ้น ณ กรุงปารีส เมื่อปี 1867 คือจุดเริ่มต้นที่พาศิลปะจากสองฟากโลกมาพบกัน หนึ่งในนั้นคือศิลปะจากแดนอาทิตย์อุทัยแห่งโลกซีกโลกตะวันออก หรือญี่ปุ่น ส่วนอีกหนึ่งคือขบวนการเคลื่อนไหวทางศิลปะที่ทรงอิทธิพลที่สุดในศตวรรษที่ 19 นั่นก็คือศิลปะลัทธิประทับใจ หรือ Impressionism

ในช่วงศตวรรษที่ 18-19 สินค้าจากโลกตะวันออกอย่างจีนและญี่ปุ่นเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้ดีชาวตะวันตกเป็นอย่างมาก กลิ่นอายของศิลปะอันแปลกใหม่จากดินแดนลึกลับห่างไกลที่ผู้คนในยุคนั้นได้แต่จินตนาการถึงกลายเป็นความดึงดูดใจ โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นที่เพิ่งเปิดประเทศในปี 1854 หลังจากปิดตัวเองจากโลกภายนอกมานานเกือบ 200 ปี

<p>ภาพบน: Katsushika Hokusai, Fuji from the Platform of Sasayedo, 19th Century<br>ภาพล่าง: Claude Monet, The Garden at Sainte-Adresse, 1867</p>

ภาพบน: Katsushika Hokusai, Fuji from the Platform of Sasayedo, 19th Century
ภาพล่าง: Claude Monet, The Garden at Sainte-Adresse, 1867

ในช่วงที่ประเทศญี่ปุ่นหลบลี้จากสายตาของโลกภายนอก ศิลปินญี่ปุ่นก็ได้พัฒนาเทคนิคทางศิลปะอันแปลกใหม่ที่มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง ด้วยเหตุนี้เมื่อเรือ Black Ship ของกองทัพอังกฤษเทียบท่าที่เมืองเอโดะและบังคับให้ญี่ปุ่นเปิดประเทศ ชาวตะวันตกจึงได้ประจักษ์ถึงงานศิลปะอันแสนรุ่มรวยของญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก โดยเฉพาะงานภาพพิมพ์ญี่ปุ่น Ukiyo-e ที่มีความหมายว่า ดินแดนลอยน้ำ (Floating World) ซึ่งเป็นภาพที่นำเสนอแต่สิ่งที่เห็นได้ในสังคมญี่ปุ่นเท่านั้น เช่น เกอิชา ละครคาบูกิ นักมวยปล้ำซูโม่ หรืองานสถาปัตยกรรมท้องถิ่นญี่ปุ่น

งานเวิลด์เอ็กซ์โปที่จัดขึ้นในปี 1867 ซึ่งนำสินค้าวัฒนธรรมอย่างพัดและภาพพิมพ์ญี่ปุ่นมาจัดแสดงในงาน ก็คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดกระแสความคลั่งศิลปะญี่ปุ่นในกลุ่มจิตรกรฝรั่งเศส ศิลปิน โดย โคลด โมเนต์, เอดัวร์ มาแนต์ และ แอดการ์ เดอกา (Edgar Degas) ก็คือกลุ่มเพื่อนศิลปินที่หลงใหลในศิลปะญี่ปุ่นแบบหัวปักหัวปำ โดยเฉพาะโมเนต์ที่ไม่เพียงสะสมงานศิลปะญี่ปุ่นกว่า 200 ชิ้นไว้ในบ้านที่เมืองจีแวร์นีย์ แต่เขายังได้แรงบันดาลใจจากภาพวิวทิวทัศน์ของญี่ปุ่น และนำสไตล์ของทิวทัศน์และผู้หญิงในภาพพิมพ์ญี่ปุ่นมาสร้างเป็นผลงานของตัวเองด้วย

<p>ภาพบน: Katsushika Hokusai, Under Mannen Bridge at Fukagawa, 1830-1831<br>ภาพล่าง: Claude Monet, Water Lilies and Japanese Bridge by, 1899</p>

ภาพบน: Katsushika Hokusai, Under Mannen Bridge at Fukagawa, 1830-1831
ภาพล่าง: Claude Monet, Water Lilies and Japanese Bridge by, 1899

สิ่งที่สะดุดความสนใจของโมเนต์ ผู้ที่ในตอนนั้นเป็นศิลปินแหกขนบที่มุ่งมั่นสร้างผลงานด้วยการออกไปวาดภาพกลางแจ้ง (en plein air) ก็คือการนำเสนอสีสันที่ตัดกันอย่างลงตัวในภาพทิวทัศน์ของภาพพิมพ์ญี่ปุ่น โดยเฉพาะการใช้สีเพื่อทำให้ภาพดูแบนและดูไม่เป็นรูปทรง แตกต่างจากความนิยมของศิลปะตะวันตกในสมัยนั่นที่มุ่งมั่นนำเสนอมิติความชัดลึกและการลอกเลียนภาพธรรมชาติอย่างคมชัดและให้เหมือนแบบมากที่สุด

แม้ว่าโมเนต์จะได้รับอิทธิพลจากศิลปะญี่ปุ่นอย่างแรงกล้า แต่เขาก็ไม่ได้หยิบยืมมาใช้แบบโต้ง ๆ หากแต่นำมามาผสานกับสไตล์ส่วนตัวของเขาเอง เขารับเอาปรัชญาตะวันออกในภาพพิมพ์ญี่ปุ่นอันว่าด้วยการที่ศิลปินจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของตัวเองในฐานะส่วนหนึ่งของธรรมชาติ แล้วจึงนำเสนอภาพธรรมชาติที่มองผ่านสายตาของตัวเองมา แต่สิ่งที่แตกต่างระหว่างภาพพิมพ์ญี่ปุ่นกับภาพทิวทัศน์ธรรมชาติของโมเนต์ก็คือการเลือกใช้สีและฝีแปรงที่ดูโปร่งแสง อันเป็นวิธีเฉพาะตัวของเขาในการนำเสนอแสงที่ตกกระทบกับสิ่งต่าง ๆ

อิทธิพลของศิลปะและวัฒนธรรมญี่ปุ่นที่สะท้อนอยู่ในชีวิตของโมเนต์อีกประการหนึ่งก็คือ การสร้างสวนญี่ปุ่นที่บ้านในจีแวร์นีย์ แม้ว่าในช่วงนั้นชาวตะวันตกจะนิยมสร้างสวนแบบตะวันออกกันอยู่แล้ว แต่โมเนต์ตั้งใจที่จะสร้างสวนแห่งนี้ให้เป็นอีกหนึ่งผลงานชิ้นเอกของเขาที่สะท้อนอิทธิพลจากศิลปะญี่ปุ่น เขาสร้างบ่อบัวที่มีสะพานญี่ปุ่นพาดอยู่ตรงกลาง และใช้เวลาอีกกว่า 40 ปีหลังจากนั้นเพื่อวาดภาพดอกบัวและสะพานญี่ปุ่นนั้นนับร้อย ๆ ชิ้น

<p>ภาพบน: Utagawa Hiroshige, Evening Snow in Kanbara, from 53 Stations of Tokaido (1833)<br>ภาพล่าง: Claude Monet, A Cart on the Snowy Road at Honfleur (1865 or 1867)</p>

ภาพบน: Utagawa Hiroshige, Evening Snow in Kanbara, from 53 Stations of Tokaido (1833)
ภาพล่าง: Claude Monet, A Cart on the Snowy Road at Honfleur (1865 or 1867)

อ้างอิง:
Thecollector