หนึ่งในคำสอนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเกี่ยวกับพระเจ้าที่ปรากฏในคัมภีร์ไบเบิลก็คือเรื่องของ ‘ความรัก’ ที่แม้กระทั่งคนที่ไม่ได้นับถือศาสนาคริสต์ ก็ย่อมต้องคุ้นหูเกี่ยวกับคำสอนเรื่อง ‘ความรัก’ ของพระผู้เป็นเจ้าเป็นอย่างดี โดยแก่นสำคัญเกี่ยวกับเรื่องความรักที่ปรากฏในไบเบิลก็คือ พระเจ้าทรงมีความรักให้กับทุกคนอย่างไม่มีเงื่อนไข ถึงขนาดที่พระองค์ทรงเสียสละบุตรแห่งตนเพื่อไถ่บาปให้แก่มวลมนุษย์ทั้งปวง ยกมาจากตอนหนึ่งใน 1 ยอห์น 4:7-21 ที่กล่าวว่า “เพราะว่าพระเจ้าทรงเป็นความรัก โดยข้อนี้ความรักของพระเจ้าที่มีต่อเราทั้งหลายก็เป็นที่ประจักษ์แล้ว เพราะว่าพระเจ้าทรงใช้พระบุตรองค์เดียวของพระองค์ที่บังเกิดมาให้เสด็จเข้ามาในโลก เพื่อเราทั้งหลายจะได้ดำรงชีวิตโดยพระบุตรนั้น”
อย่างไรก็ตาม สำหรับชาวคริสต์นิกายกาลแว็ง (Calvinism) ความรักของพระเจ้าก็ไม่ใช่ความรักแบบที่ ไอ เลิฟ ยู ออล เดอะ เซม หรือ ฉันรักทุกคนเสมอเหมือนกันหมด เพราะชาวคริสต์นิกายกาลแว็งเชื่อว่า พระคริสต์ทรงสละชีวิตของตนเองเพื่อกลุ่มคนที่ได้รับเลือกเท่านั้น...
นิกายกาลแว็ง คือ เทววิทยาศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ที่แยกตัวออกมาจากคริสตจักรโรมันคาทอลิกในช่วงการปฏิรูปศาสนาในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 โดยผู้ที่เผยแพร่ลัทธินี้เป็นคนแรก ๆ ก็คือ ฌ็อง กาลแว็ง ซึ่งในยุคแรก ๆ นั้นก็มีการเรียกกลุ่มผู้ติดตามนักบวชจากฝรั่งเศสผู้นี้ว่า กาลแว็งนิสต์ จนในภายหลังจึงกลายมาเป็นชื่อนิกายนั่นเอง
แนวคิดที่สำคัญของนิกายกาลแว็งก็คือ พระเจ้าคือความสูงสุดเหนือสิ่งใดทั้งปวง นิกายกาลแว็งจึงปฏิเสธการกระทำใด ๆ ก็ตามของมนุษย์ที่เป็นการลดทอนความสูงสุดของพระเจ้า ชาวกาลแว็งนิสต์ปฏิเสธงานศิลปะเกี่ยวกับพระเจ้าในนิกายคอทอลิก โดยมองว่า พระผู้เป็นเจ้านั้นความยิ่งใหญ่เกินกว่าที่มนุษย์ตัวเล็ก ๆ อย่างเราจะสามารถปั้นแต่งหรือวาดพระองค์ขึ้นมาได้
แนวคิดเรื่องควาสูงสุดของพระเจ้ายังมาสู่ความเชื่อที่สำคัญที่ว่า พระเจ้ารักและช่วยผู้ที่พระองค์เลือกแล้วเท่านั้น มนุษย์ผู้ใดจะได้รับการไถ่บาปหรือช่วยให้รอด ก็เป็นการเลือกกระทำและเลือกตัดสินใจของพระองค์เอง หาใช่มาจากการกระทำของผู้นั้นไม่ โดยความเชื่อเรื่องผู้ที่ถูกเลือกนี้ก็สะท้อนอยู่ใน 5 ข้อของลัทธิคาลวิน (5 Points of Calvinism; TULIP) อันเป็นแก่นของนิกาย ซึ่งประกอบด้วย
1. ความเสื่อมทรามโดยสิ้นเชิง (Total Depravity) - เชื่อในหลักเรื่องบาปกำเนิด ว่ามนุษย์โดยธรรมชาติเป็นคนชั่วร้ายหมด จึงไม่มีใครจะถึงความรอดได้เอง
2. การทรงเลือกโดยปราศจากเงื่อนไข (Unconditional Election) - พระเจ้าได้เลือกผู้ที่จะได้อยู่บนสวรรค์และอยู่ในนรกไว้แล้ว ความเชื่อ การกระทำใด ๆ ก็ตาม ไม่มีผลต่อความรอด ด้วยเหตุผลตามข้อแรก
3. การไถ่บาปอย่างจำกัด (Limited Atonement) - พระทรมานของพระเยซูเป็นไปเพื่อผู้ที่ถูกเลือกให้อยู่บนสวรรค์แล้วเท่านั้น ไม่รวมถึงผู้ที่ไม่ได้ทรงเลือก
4. พระคุณที่ไม่อาจขัดขวางได้ (Irresistable Grace) - การที่ผู้เชื่อเริ่มเชื่อในพระเจ้าไม่ได้เป็นเพราะผู้นั้น แต่เป็นเพราะพระเจ้า
5. การทรงพิทักษ์รักษาวิสุทธิชน (Perseverance of the Saints) - เมื่อเป็นธรรมิกชนได้รับความรอดแล้ว ก็จะได้รับความรอดตลอดไป ไม่มีเสื่อม
อ่านมาถึงตรงนี้อาจคิดว่า พระเจ้าใจร้ายจัง ทรงเลือกคนที่เขาจะรักไว้แล้ว หากแต่ที่จริงแล้ว ตัวฌ็อง กาลแว็ง เองก็เชื่อว่า ผู้ใดก็ตามที่ตั้งตนอยู่ในความดี ประพฤติแต่ความดีตลอดชีวิต นั่นล่ะคือลักษณะของที่พระเจ้าทรงเลือกไว้แล้ว ดังนั้นไม่ว่าใครก็ตามที่ตั้งตนอยู่ในความดี มีเมตตา ก็คือผู้ที่ได้รับการเลือกไว้แล้วทั้งสิ้น
อ้างอิง:
Wikipedia
Christianity