101251385_146224313687618_5980348686704574464_n.jpg

Christo และผลงานศิลปะการ ‘ห่อ’ ที่แม้ตัวจะจากไป แต่โลกไม่มีวันลืม

Art
Post on 30 May

เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2563 โลกต้องสูญเสียอีกหนึ่งศิลปินสำคัญ 'Christo' หนึ่งในคู่รักผู้สร้าง installation art และ land art ในนาม ‘Christo and Jeanne-Claude' ได้เสียชีวิตอย่างสงบด้วยวัย 84 ปี ที่บ้านของเขาในนิวยอร์ค

Christo และภรรยา Jeanne-Claude (เสียชีวิตเมื่อปี 2009) ร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานศิลปะชิ้นใหญ่แบบ site-specific เปลี่ยนภูมิทัศน์โดยการ ‘ห่อ’ สถานที่สำคัญ ทั้งธรรมชาติ ตึกรามบ้านช่อง รวมไปถึงสถานที่สำคัญระดับโลก แต่ละชิ้นงานถึงแม้จะเก็บไว้ตลอดกาลไม่ได้ แต่ก็ล้วนสร้างความสนใจและเป็นที่ถกเถียงอย่างกว้างขวาง

ถึงแม้ Christo และ Jeanne-Claude จะยืนยันว่าผลงานศิลปะของพวกเขานั้น ไม่ได้ตั้งใจเพื่อสื่อความหมายใดๆ มากกว่าความสวยงาม สะดุดตาชวนมองให้กับทุกๆ คนที่ผ่านไปมา แต่การชวนมองของพวกเขานี่แหละ ที่ปลุกเรื่องราวเป็นเรื่องเล่า ให้เราได้ตั้งใจมองกันดีๆ อีกครั้งกับสถานที่เหล่านั้น

GroundControl ขอแนะนำให้คุณรู้จัก 6 ผลงานอันโดดเด่นของ Christo และ Jeanne-Claude ที่แสดงถึงความทุ่มเททำในสิ่งที่ทั้งคู่รักอย่างสุดหัวใจ

<p>Wrapped Coast, One Million Square Feet, Little Bay, Sydney, Australia, 1969</p>

Wrapped Coast, One Million Square Feet, Little Bay, Sydney, Australia, 1969

ผลงานศิลปะกลางแจ้งชิ้นใหญ่นี้ เริ่มต้นจากการรับเชิญจาก John Kaldor นักสะสมงานศิลปะชาวออสเตรเลีย งานนี้ต้องอาศัยการช่วยเหลือร่วมแรงร่วมใจจากร้อยกว่าชีวิตด้วยกัน รวมไปถึงนักปีนเขาอาชีพที่มาทำงานร่วมกับ Christo และ Jeanne-Claude ในการใช้ผ้าห่อหน้าผาที่ Little Bay เมืองซิดนีย์ ความยาว 2.5 กิโลเมตร

ถึงแม้ตอนแรกจะโดนต่อต้านอย่างหนัก แต่เมื่อทุกคนได้เห็นผลงานแล้วก็ทำให้เสียงต่อว่านั้นเบาลง และกลับกลายเป็นเสียงชื่นชมในการสร้างความตระหนักเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในออสเตรเลีย

<p>Valley Curtain, Rifle, Colorado, 1970 - 1972</p>

Valley Curtain, Rifle, Colorado, 1970 - 1972

ผืนผ้าสีส้มความยาวกว่า 400 เมตร (รวมผ้าทั้งหมด 14,000 ตารางเมตร) ถูกขึงตระหง่านตาข้ามถนนตรงช่วง Rifle Gap ในบริเวณ Rocky Mountains ในรัฐ Colorado
โปรเจกต์นี้ต้องใช้รายจ่ายทั้งหมดถึง 400,000 ดอลล่าร์ แต่ Christo และ Jeanne-Claude ก็สามารถขายงานศิลปะของตัวเองเพื่อระดมทุนมาทำ Valley Curtain ต่อได้

 

ถือว่าเป็นอีกหนึ่งงานยักษ์ที่รวมการทำงานกว่า 28 เดือนร่วมกับนักออกแบบ ผู้รับเหมา และนักศึกษา เพื่อออกแบบผืนผ้านี้ วิเคราะห์ให้ผ้านั้อยู่คั่นกลางระหว่างสองหน้าผาได้อย่างยืนยง โดย Valley Curtain ตั้งอยู่ได้ 28 ชั่วโมงก็ต้องเอาออกเนื่องจากต้านลมแรงอย่างหนักระหว่างช่องไม่ไหว

 

<p>The Pont Neuf Wrapped, Paris, 1975-1985</p>

The Pont Neuf Wrapped, Paris, 1975-1985

เปลี่ยนจากสะพานที่เก่าแก่ที่สุดในปารีสให้กลายเป็นผลงานศิลปะ จากการเจรจาข้อตกลงกับเมืองปารีสกว่า 9 ปี สะพาน Pont Neuf ถูกห่อเมื่อปี 1985 ครอบคลุมพื้นที่กว่า 450,000 ตารางฟุตของสะพาน โดยไม่กระทบต่อการเดินของคนและรถราที่สัญจรไปมา

ผ้าโพลีอะไมด์ ส่งแสงทองสะท้อนเรืองรองในช่วงพระอาทิตย์ตก โดดเด่นเป็นอย่างมากแก่ผู้พบเห็น เรียกนักท่องเที่ยวรวมแล้วกว่า 3 ล้านคน ภายในระยะเวลาเพียง 2 อาทิตย์

<p>Wrapped Reichstag, Berlin 1971-1995</p>

Wrapped Reichstag, Berlin 1971-1995

Wrapped Reichstag เป็นผลงานที่ใช้เวลานานที่สุดในการทำ รวมทั้งหมดแล้วเกือบ 24 ปีที่หมดไปกับการเจรจากับทางเยอรมัน ออกจดหมาย โทรพูดคุยเพื่อโน้มน้าวขออนุมัติ และการเจรจาในรัฐสภาเพื่อกระทำการโหวต ผ่านมือ 6 ประธาณาธิบดี เพื่อขออนุญาตในการห่ออาคารรัฐสภาใจกลางเบอร์ลินแห่งนี้ / ขอเว้นปาดเหงื่อแป๊บนึง..

แต่การเจรจาไม่สูญเปล่า เพราะ Wrapped Reichstag กลายเป็นผลงานชิ้นเอกของคู่นี้ กลายเป็นภาพจำกับผ้าสีเงินที่ครอบคลุมทั้งรัฐสภากว่า 100,000 ตารางเมตร จัดแสดง 2 อาทิตย์ และมีคนมาชมงานนี้กว่า 5 ล้านคน 

Christo เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ที่งานนี้สามารถอนุมัติผ่านได้ เพราะศิลปินระบุเป็นผู้ออกทุนเอง โดยการขายโมเดลและภาพวาดของพวกเขา รวมแล้วใช้เงินทุน 15.3 ล้านดอลล่าร์ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย ที่จะเอาผ้าไปห่ออาคารที่เป็นสัญลักษณ์สำคัญของเมืองอย่างนั้น Christo เลือก Reichstag จากความรู้สึกของคนอพยพสัญชาติบัลแกเรียเอง สถานที่แห่งนี้ที่อยู่กลางระหว่างฝั่งตะวันตกและตะวันออกของเบอร์ลิน มีความหมายสำหรับเขาเป็นอย่างมาก

ทางรัฐเองก็พยายามง้อให้ Christo และ Jeanne-Claude ห่อไว้ให้นานกว่านี้ แต่ Christo ก็ไม่ยอม เพราะนั่นคือเป้าหมายของศิลปะเขา มันคืองานที่ทุกคนสามารถชมได้ฟรี ที่จะอยู่เพียงแค่สองอาทิตย์เท่านั้น ถ้าพลาดแล้ว มันก็คือพลาดเลย

 

<p>The Floating Piers, Lake Iseo, Italy, 2016</p>

The Floating Piers, Lake Iseo, Italy, 2016

จะเป็นอย่างไรถ้าเราสามารถเดินบนน้ำได้ 

Christo เขาทำได้ และเปิดประสบการณ์นี้ให้ทุกคนสามารถไปเดินได้ฟรีที่ทะเลสาบ Iseo ใกล้เมือง Brescia ประเทศอิตาลี โดยทุกคนสามารถเดินจากตัวเมือง Sulzano ข้ามไปยังเกาะ Monte Isola แล้วทะลุต่อไป San Paolo ด้วยการเดินบนผ้าสีส้มลอยน้ำ เท้าแทบไม่ได้แตะพื้นดินเลยในความยาวกว่า 3 กิโลเมตร ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้ด้วยแรงอัดของก้อนพลาสติกสังเคราะห์โพลีเอทิลีน 200,000 ลูก ที่อยู่ข้างล่างผ้าความกว้าง 16 เมตร

เป็นผลงานชิ้นใหญ่ที่เกิดจากความฝันของทั้งคู่ แต่เหลือเพียง Christo เท่านั้นที่ได้สานฝันผลงานชิ้นนี้ หลังจากการสูญเสียภรรยา Jeanne-Claude ไปเมื่อปี 2009

<p>L'Arc de Triomphe, Wrapped, 2021</p>

L'Arc de Triomphe, Wrapped, 2021

ผลงานชิ้นล่าสุด และชิ้นสุดท้ายก่อนการจากไปของ Christo โดยเดิมวางแผนว่าจะมีการห่อ Arc de Triomphe หนึ่งในแลนด์มาร์คสำคัญที่สุดของปารีส ในช่วงเดือนกันยายนปีนี้ เป็นส่วนหนึ่ง (และส่วนที่ใหญ่ที่สุด) ในงาน exhibition ของพวกเขาที่ Centre Pompidou แต่มาติดปัญหาเรื่องของโควิดกันเสียก่อน ทำให้มีการถอยออกไปอีกครั้ง โดยเดิมวางแผนจะเปลี่ยนเป็นช่วงฤดูใบไม้ร่วงปี 2021

ด้วยการจากไปของ Christo ครั้งนี้ ผลงานชิ้นนี้จะกลับมาแสดงอย่างไร ก็คงต้องติดตามกันต่อไป
 

ขอบคุณ Christo และ Jeanne-Claude สำหรับทุกผลงานและแนวคิด ส่งต่อความกล้าและแรงบันดาลใจให้คนรุ่นต่อๆ ไป

Rest in Peace, Christo Vladimirov Javacheff 

 

อ้างอิง:
Christojeanneclaude