GC_beingartist_Akira Kurosawa.jpg

Akira Kurosawa จากภาพวาดสู่ภาพยนตร์ระดับ Masterpiece

Post on 24 January

‘ฉันอดรู้สึกทึ่งไม่ได้กับความจริงที่ว่า เมื่อฉันพยายามวาดภาพให้ดี ฉันจะสามารถสร้างภาพที่ดูทั่วไป แต่เมื่อฉันจดจ่ออยู่กับการร่างภาพสำหรับภาพยนตร์ของฉัน ฉันจะสร้างผลงานที่ผู้คนเห็นว่าน่าสนใจโดยไม่รู้ตัว’ - Akira Kurosawa

หนึ่งในผู้กำกับชาวญี่ปุ่นระดับตำนานที่ทั่วโลกต่างชื่นชมและยกย่อง คงเป็นใครไม่ได้เลยนอกจาก ‘Akira Kurosawa’ เรียกได้ว่าภาพยนตร์ของเขาเป็นอีกหนึ่งตำราที่สำคัญให้แก่นักสร้างภาพยนตร์ระดับโลกมากมายจนถึงปัจจุบัน

การบอกเล่าแง่มุมของมนุษย์ในหลายมิติไม่เว้นแม้แต่ความรุนแรงในภาวะสงคราม เผยวัฒนธรรมญี่ปุ่นผ่านงานภาพที่เล่นใหญ่ โดยเฉพาะจากการเคลื่อนไหวกล้องขณะแช่ Long Take ไม่เพียงแต่ภาพที่สวยงามเท่านั้น ภาษาภาพยนตร์ในงานของคุโรซาวะก็มีส่วนสำคัญในการเล่าเรื่องเช่นกัน คุโรซาวะเรียนรู้ สั่งสมประสบการณ์และความสามารถจนทำให้เขามีผลงานกำกับภาพยนตร์กว่า 30 เรื่องตลอดระยะเวลายาวนานถึง 57 ปี เรื่องราวทั้งหมดนี้ เกิดจากความฝันแรกเริ่มของเขา คือการเป็นจิตรกร

กว่าจะมาเป็นภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์สู่สายตาผู้ชม แน่นอนว่าสตอรี่บอร์ดมีส่วนสำคัญมากต่อกระบวนการสร้าง เพราะนอกจากจะทำให้ผู้กำกับและทีมงานเห็นภาพตรงกันแล้ว ยังเป็นอีกหนึ่งขั้นตอนของการเตรียมงานก่อนถ่ายทำด้วย ในขณะที่ผู้กำกับบางคนเลือกที่จะไม่ทำสิ่งนี้เพราะเป็นส่วนที่ใช้เวลาค่อนข้างนาน คุโรซาวะเติมเต็มงานของเขาด้วยการวาดสตอรี่บอร์ด

ความใฝ่ฝันที่อยากเป็นจิตรกรยังอยู่กับคุโรซาวะเสมอ ถึงแม้ว่าเขาจะไม่ได้ทำงานศิลปะเลยตลอดชีวิตการเป็นผู้กำกับ แต่คุโรซาวะก็ไม่ปล่อยให้ความสามารถของตัวเองต้องสูญเปล่า เขาใช้ความสามารถด้านศิลปะถ่ายทอดภาพในหัวลงบนกระดาษ แบ่งปันสิ่งที่เขาคิดให้กับนักแสดงและทีมงานผ่านสตอรี่บอร์ด ในวันที่สตอรี่บอร์ดของภาพยนตร์เรื่อง Kagemusha ได้เผยแพร่สู่สายตาผู้คนทั่วโลก ทำให้ความฝันในวัยเด็กที่อยากเผยแพร่ภาพวาดหรือจัดนิทรรศการของตัวเองสมัยเขาเป็นนักเรียนศิลปะเป็นจริง

The Art of Being An Artist สัปดาห์นี้ GroundControl จะพาทุกคนมาสำรวจการทำงานผ่านสตอรี่บอร์ดหนึ่งในส่วนสำคัญของงานระดับตำนานของผู้กำกับชั้นครูอย่าง อากิระ คุโรซาวะ

ถ้าพร้อมตื่นตากับความสามารถในการวาดรูปของเขาแล้ว ก็มารู้จักกับเรื่องราวและงานของเขากันเลย

อากิระ คุโรซาวะ (Akira Kurosawa) เกิดและเติบโตที่โตเกียว พ่อของเขาเกิดในครอบครัวซามูไรจากจังหวัดอาคิตะ ที่เปิดกว้างและยอมรับความคิดแบบตะวันตก หลังจากออกจากโรงเรียนมัธยม คุโรซาวะได้เข้าเรียนในโรงเรียนศิลปะและเริ่มวาดภาพในสไตล์ตะวันตก

จุดเริ่มต้นความใฝ่ฝันที่จะสร้างสรรค์ผลงานศิลปะของคุโรซาวะเกิดจากครูสอนศิลปะของเขาที่เปิดกว้างให้นักเรียนวาดสิ่งที่พวกเขาอยากวาดโดยไม่มีกฎเกณฑ์กำหนด และมีอิทธิพลอย่างมากต่อความกล้าคิดกล้าทดลองของเขา คุโรซาวะในวัยหนุ่มให้ความสำคัญกับเรื่องของชนชั้นแรงงานในบ้านเกิด เขามุ่งหวังที่จะใส่
'ความขัดแย้งในอุดมการณ์ทางการเมือง' ลงในผืนผ้าใบ

หลังจากได้รับอิทธิพลจาก Heigo พี่ชายคนโตซึ่งหมกมุ่นกับการดูภาพยนตร์ต่างประเทศ คุโรซาวะตัดสินใจที่จะอาศัยอยู่กับพี่ของเขาในโตเกียว และเริ่มดื่มด่ำกับโลกของภาพยนตร์ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ คุโรซาวะเคยพูดไว้ว่าเขาตั้งใจท่ีจะเป็นจิตรกรก่อนที่เขาจะดูภาพยนตร์อย่างหนัก ความสงสัยในภาพยนตร์สร้างความสนใจที่จะเรียนรู้งานด้านนี้ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของผู้กำกับที่ชื่อ อากิระ คุโรซาวะ นั่นเอง

คุโรซาวะเชื่อในสุภาษิตหนึ่งของญี่ปุ่นที่ว่า ‘ถ้าคุณไล่ล่ากระต่ายสองตัว คุณอาจจับกระต่ายไม่ได้แม้แต่ตัวเดียว’ ตอนที่เขาคิดจะเปลี่ยนเส้นทางอาชีพมาทำงานภาพยนตร์ เขาตัดสินใจเผารูปภาพทั้งหมดที่เคยวาดไว้ และล้มเลิกความคิดที่จะเป็นจิตรกร แม้ว่าเขาจะเคยได้รับรางวัลทางศิลปะมากมายก็ตาม

ตลอดเวลาที่เขาโลดแล่นในสายงานภาพยนตร์ คุโรซาวะไม่ได้ทำงานศิลปะเลย ในปี 1936 จนถึงปี 1943 เขากลายมาเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ ซึ่งเป็นช่วงที่คุโรซาวะได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ด้านการสร้างภาพยนตร์ รวมถึงได้ทดลองสิ่งใหม่ๆมากมาย จนกลายมาเป็นที่รู้จักในฐานะนักเขียนบท ที่นักวิจารณ์ต่างสังเกตเห็นถึงความสดใหม่ของการนำเสนอ จนงานเขียนของเขาได้รับรางวัล

หลังจากที่เขาเลื่อนขั้นเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ เขาได้พบว่าการร่างสตอรี่บอร์ด เป็นวิธีที่มีประโยชน์ในการอธิบายแนวคิดให้กับนักแสดงและทีมงาน คุโรซาวะพัฒนาการเล่าเรื่องและเอกลักษณ์ในงานภาพยนตร์ของเขาจากประสบการณ์ส่วนตัว ความรู้ด้านศิลปะ และประวัติศาสตร์วัฒนธรรมญี่ปุ่น นำเสนอภาพออกมาด้วยความคิดสร้างสรรค์ ความดุเดือด และความสวยงามในเวลาเดียวกัน ทำให้ภาพยนตร์ของคุโรซาวะแสดงมุมมองความจริงในหลายมิติ

ในปี 1960 คุโรซาวะได้ก่อตั้ง Kurosawa Productions เขาดำรงตำแหน่งประธานบริษัทและเริ่มผลิตผลงานของตัวเอง อย่างไรก็ตามในตลอดช่วงทศวรรษ 1960 ญี่ปุ่นตกอยู่ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ คุโรซาวะพบว่าภาพยนตร์หลายเรื่องที่มีซามูไรเป็นตัวละครหลักส่วนใหญ่มีทุนสร้างที่สูงเกินไป เขาจึงพยายามร่วมงานกับผู้อำนวยการสร้างฝั่งฮอลลีวูดแต่ก็จบลงด้วยความล้มเหลว จนถึงกลางทศวรรษ 1970 เมื่อคุโรซาวะกำกับ Dersu Uzala (1975) ในไซบีเรีย ตามคำเชิญของรัฐบาลโซเวียต เรื่องราวของฤาษีในไซบีเรียนี้ได้รับเสียงชื่นชมอย่างกว้างขวาง แต่กลับล้มเหลวในบ็อกซ์ออฟฟิศเช่นกัน

ปลายทศวรรษ 1970 เป็นช่วงเวลาอันยาวนานของการรอเงินทุนสำหรับภาพยนตร์เรื่องใหม่ Kagemusha คุโรซาวะกลับไปสู่งานอดิเรกในตอนเด็กของเขา นั่นคือการวาดภาพ เขาวาดภาพอย่างรวดเร็วและดุเดือดในแต่ละวัน ทำให้เกิดผลงานภาพวาดจำนวนมาก คุโรซาวะสะสมผลงานที่เป็นเอกลักษณ์ซึ่งเกิดจากความสิ้นหวังและความท้อถอยมากพอ ๆ กับความหลงใหลในการสร้างสรรค์ เขาดึงภาพที่เขามองเห็นในมหากาพย์เรื่องใหม่ของเขา แล้ววางต่อกัน

Kagemusha เป็นเรื่องราวที่ว่าด้วยหัวขโมยไร้ศักดิ์ศรี สวมรอยเป็นขุนศึกผู้ทรงอำนาจที่ถูกสังหารในสนามรบเพื่อหลีกเลี่ยงการโจมตีจากฝ่ายตรงข้าม แต่อยู่อย่างสุขสบายได้ไม่นาน เขาก็ต้องนำกองทหารเข้าสู่การต่อสู้กับกองกำลังของขุนศึกคู่แข่ง Kagemusha เปิดตัวในปี 1980 และเป็นภาพยนตร์ซามูไรเรื่องแรกในรอบ 14 ปีของคุโรซาวะ ด้วยการสนับสนุนจาก George Lucas และ Francis Ford Coppola ในฐานะผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์

ภาพยนตร์เรื่องนี้มีความโดดเด่นในเรื่องฉากต่อสู้ที่ทรงพลังจนประสบความสำเร็จทั้งในแวดวงนักวิจารณ์และกระแสตอบรับจากผู้ชม ได้รับรางวัล Palme d'Or ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ปี 1980 และถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ในเวลาต่อมาในสาขา 'ภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม'

ภาพยนตร์เรื่องต่อมาของคุโรซาวะ Ran มีเรื่องราวที่คล้ายกับ King Lear ของ Shakespeare คุโรซาวะได้ร่วมเขียนบทกับ Hideo Oguni และ Masato Ide เพื่อสร้างมหากาพย์สงครามในแบบฉบับของเขาซึ่งอิงตามตำนานในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น

คุโรซาวะบอกเล่าเรื่องราวของชายคนหนึ่งที่ทำสงครามมาตลอดชีวิตด้วยความหวังว่าจะสร้างสันติภาพในวัยชราและปลดปล่อยความวุ่นวายได้ เขาติดอยู่กับแนวคิดในการสร้าง Ran กว่า 15 ปีก่อนที่จะเห็นผลในที่สุด เขาใช้เวลานานกับการหล่อหลอมความคิด คุโรซาวะก็ได้รับเงินทุนกว่า 11 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ Ran กลายเป็นภาพยนตร์ญี่ปุ่นที่ใช้งบประมาณในการสร้างแพงที่สุดตลอดกาล และได้รับการยกย่องว่าเป็นภาพยนตร์ที่ยอดเยี่ยมที่สุดเรื่องหนึ่งของคุโรซาวะ ในด้านความยิ่งใหญ่ของภาพ ความฉลาดในการเล่นกับพื้นที่ ตำแหน่ง และความตื้นลึกของภาพ ความเข้มข้นของการแสดงที่น่าทึ่งและสร้างความรู้สึกร่วมให้แก่ผู้ชม

หลังภาพยนตร์ประสบความสำเร็จและเป็นที่พูดถึงในแวดวงนักวิจารณ์ คุโรซาวะได้เปิดตัวหนังสือที่ชื่อ Ran ในหนังสือประกอบด้วยบทภาพยนตร์ ภาพวาดประกอบ และสตอรี่บอร์ดสีดั้งเดิมของเขา เขาเขียนถึงความรู้สึกของตัวเองว่า ‘ฉันอดไม่ได้ที่จะรู้สึกทึ่งกับความจริงที่ว่าเมื่อฉันพยายามวาดภาพให้ดี ฉันจะสามารถสร้างภาพที่ดูทั่วไปได้ แต่เมื่อฉันจดจ่ออยู่กับการวาดโครงร่างภาพยนตร์ของฉัน ฉันกลับสร้างผลงานที่ผู้คนเห็นว่าน่าสนใจโดยไม่รู้ตัว’

อย่างไรก็ตาม Ran (ภาษาญี่ปุ่นแปลว่าความโกลาหล) สร้างขึ้นเมื่อเขาอายุ 75 ปี วัยที่แก่ชราลงทำให้เขาหมกมุ่นอยู่กับความตายในช่วงหลายปีต่อมา สายตาของเขามีแต่ความล้มเหลว เขาพยายามฆ่าตัวตายและแม้ว่าเขาประกาศว่า ‘Ran’ จะเป็นภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายของเขา แต่เขาก็หวนกลับไปคิดถึงจุดจบใน ‘Dreams’ (1990) โดยอิงจากภวังค์ของชายชรา และ ‘Madadayo’ (1993) ที่ท้าทายว่าเขายังไม่ตาย

ในปี 1990 คุโรซาวะ ผู้กำกับชาวญี่ปุ่นระดับตำนานในวัย 80 ปี ได้ปล่อยภาพยนตร์เรื่องใหม่ Dreams ซึ่งเป็นภาพยนตร์เรื่องที่ 28 ของเขา ถือเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกในรอบ 45 ปี ที่เขาเป็นผู้เขียนบทภาพยนตร์เพียงคนเดียว

Dreams คือ 8 เรื่องสั้นที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็น เด็กหนุ่มแอบเฝ้ามองสุนัขจิ้งจอกที่กำลังจัดพิธีแต่งงาน พลทหารที่กล่าวขอโทษวิญญาณเหล่าทหารลูกน้อง หรือเรื่องของศิลปินที่ต้องการพบกับ Van Gogh แต่ละเรื่องถูกเล่าในมุมมองที่แตกต่างกันผ่านการร้อยเรียงและเชื่อมโยงด้วยธรรมชาติ ความฝัน และชีวิต

คุโรซาวะได้รับแรงบันดาลใจจากความฝันที่เกิดขึ้นจริงที่เขาประสบมาตลอดชีวิตเพื่อรำลึกถึงบั้นปลายชีวิตของเขา ความสมบูรณ์แบบในแต่ละฉากนี้เองที่ขับเคลื่อนภาพยนตร์เรื่องนี้ไปสู่พื้นที่ใหม่ พื้นที่ที่แตกต่างกันใน Dreams มักจะเชื่อมโยงกันด้วยธีมเรื่องสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ วัยเด็ก และจิตวิญญาณ

ความสามารถด้านศิลปะ และความกล้าในการสร้างสรรค์ผลงานที่นำเสนอภาพสัญชาตญาณมนุษย์ ครอบคลุมถึงมิติด้านภาพในภาพยนตร์ ทำให้ภาพยนตร์ของคุโรซาวะ ยังคงได้รับความสนใจอย่างมากจนถึงปัจจุบัน เพราะงานของเขาแสดงถึงการผสมผสานที่เป็นเอกลักษณ์ของศิลปะญี่ปุ่น มีความละเอียดอ่อนของความรู้สึกและปรัชญา ความฉลาดของการวางองค์ประกอบภาพ ประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นที่ถูกถ่ายทอดออกมาในมุมมองที่แตกต่างจากภาพยนตร์เรื่องอื่น การอ้างอิงวรรณกรรมคลาสสิกและเรื่องระทึกขวัญยอดนิยมของตะวันตก ทำให้คุโรซาวะได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติด้านภาพยนตร์ และเป็นครูของผู้สร้างภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงระดับโลกมากมาย

In Memory of Akira Kurosawa (1910 - 1998)

อ้างอิง: https://nofilmschool.com/Akira-Kurosawa-Storyboards