245409532_436567231319990_239728807508363473_n.jpg

ผู้หญิง ลิง เควียร์ : ว่าด้วยโลกของ ‘รามเกียรติ์’ ที่ผู้ชายท้องได้ และป่าที่เปลี่ยนชายให้เป็นหญิง!

Post on 30 May

เมื่อพูดถึง ‘รามเกียรติ์’ ภาพที่ผุดขึ้นมาในความทรงจำของเราคงเป็นภาพการสู้รบระหว่างเทวดากับยักษ์ ความมลังเมลืองของเครื่องทองจากการแสดงโขน ไปจนถึงการเป็นบทอาขยานที่ต้องท่องจำในวัยเด็ก ซึ่งไม่ว่าภาพจำของเราที่มีต่อรามเกียรติ์จะเป็นไปในลักษณะใด ก็คงหนีไม่พ้นความสูงส่ง รวมไปถึงการเป็นเรื่องเล่าวีรกรรมอันกล้าหาญของ ‘พระเอก’ และ ‘ตัวร้าย’ ที่คละคลุ้งไปด้วยกลิ่น ‘ชายแท้’ ซึ่งถูกขับเน้นความเป็นชายด้วยเรื่องราวที่คนยุคปัจจุบันอย่างเราย้อนกลับไปอ่านก็อดตั้งคำถามไม่ได้ว่าวรรณคดีเรื่องนี้ดูเหมือนจะแฝงด้วยเนื้อหากดขี่ผู้หญิงและสะท้อนความคิดชายเป็นใหญ่แบบสุด ๆ

แต่เชื่อหรือไม่ ที่จริงแล้วรามเกียรติ์ที่มีต้นกำเนิดมาจาก ‘รามายณะ’ วรรณคดีมหากาพย์ของอินเดียนั้น เต็มไปด้วยเรื่องราวของ ‘เพศ’ อันลื่นไหล ไม่ว่าจะเป็น เทพเพศชายที่แปลงกายเป็นเพศหญิง เทพเพศชายที่มี ‘อะไร ๆ’ กับเทพเพศชายด้วยกัน ไปจนถึงเรื่องราวอภินิหารที่เพศชายก็ตั้งครรภ์ได้ (!) ซึ่งเรื่องราวของเพศอันลื่นไหลนั้นเป็นสิ่งที่พบได้ทั่วไปในวรรกรรมและตำนานฮินดูซึ่งแม้จะไม่มีการพูดถึงการมีอยู่ของ LGBTQ+ แบบตรงไปตรงมา (เพราะสิ่งนี้ก็เป็นคอนเซปต์ของโลกสมัยใหม่) แต่ในตำนานเหล่านี้ก็เต็มไปด้วยเรื่องราวของเทพที่จำแลงกายเป็นเพศตรงข้าม กลิ่นอายความ ‘Bromance’ ไปจนถึงความรักระหว่างเพศเดียวกัน ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้มักปรากฏอยู่ในตำนานเวอร์ชั่นท้องถิ่นเก่าแก่ก่อนที่จะถูกนำไปดัดแปลงในยุคหลัง สะท้อนให้เห็นมุมมองของโลกยุคโบราณที่สำนึกทางเพศยังไม่ได้ถูกกำหนดกฏเกณฑ์ชัดเจนเหมือนในปัจจุบัน

รามเกียรติ์ที่เราคุ้นเคยกันดีนี้ก็มีเรื่องราวของความเควียร์ให้เราได้ลองอ่านระหว่างบรรทัดอยู่มากมาย แล้วในโลกของรามเกียรติ์หรือรามายณะนั้นมีเรื่องราวเกี่ยวกับเพศอันลื่นไหลที่ไม่เคยปรากฏอยู่ในแบบเรียนภาษาไทยของเราอย่างไรบ้าง วันนี้ GroundControl จะขอยกตัวอย่างความเควียร์ในวรรณกรรมรามเกียรติ์มาให้ลองดูกันเป็นน้ำจิ้ม ส่วนของจริงที่แซ่บลื้มมม~

เมื่อพระนารายณ์แปลงกายเป็น ‘นางยั่ว’ (ยุ)

ใครที่ผ่านการเรียนแบบเรียนภาษาไทยที่ออกโดยกระทรวงศึกษาธิการก็น่าจะคุ้นเคยกับเรื่องราวต้นกำเนิดรามเกียรติ์อย่าง ‘พระนารายณ์ปราบนนทก’ กันดี เพราะนี่เป็นหนึ่งในบทสำคัญของเล่มที่ครูเน้นให้เราอ่าน ส่วนเราก็เซ็งว่าทำไมนนทกที่โดนบุลลี่ถึงกลายเป็นตัวร้ายไปได้นะ 

แต่สำหรับใครที่ไม่คุ้นหรือลืมไปแล้ว เราจะย้อนความทรงจำกันสักนิด เรื่องราวของรามเกียรติ์เริ่มต้นขึ้นในชาติก่อนของทศกัณฐ์ ตอนที่เขายังเป็นนนทก ยักษ์ผู้ทำหน้าที่ล้างเท้าเหล่าเทวดาที่เชิงเขาไกรลาส นนทกต้องเจอกับการกลั่นแกล้งต่าง ๆ นานาจากเหล่าเทวดา เมื่อเหลือทนจึงไปขอพรกับพระอิศวรให้มีนิ้วเพชรที่ชี้ใครก็จะตาย แล้วจึงอาละวาดไปทั่วทั้งสวรรค์ พระอิศวรจึงมีบัญชาให้พระนารายณ์มาปราบยักษ์นนทก พระนารายณ์ใช้วิธีแปลงเป็นนางอัปสรเข้าไปล่อลวงนนทกให้ร่ายรำตามท่ารำที่ชื่อว่า ‘นาคาม้วนหาง’ ทำให้นนทกต้องใช้นิ้วชี้ไปที่ขาตน จนทำตัวเองสิ้นท่าด้วยนิ้วเพชรของตนเอง ก่อนตายนนทกได้กล่าวว่า พระนารายณ์กลัวฤทธิ์ของตนจึงใช้เล่ห์กลมาหลอกกัน พระนารายณ์จึงบันดาลให้นนทกไปเกิดเป็นพญายักษ์ที่มีฤทธิ์เดชมากมาย ส่วนพระองค์จะลงไปเกิดเป็นมนุษย์และปราบนนทกอีกครั้ง และนั่นจึงกลายเป็นที่มาของมหากาพย์รามเกียรติ์ในเวอร์ชั่นไทย

ที่จริงแล้วในตำนานฮินดูไม่มีเรื่องราวของอสูรชื่อนนทก จึงไม่ปรากฏฉากพระนารายณ์อวตารมาปราบนนทก แต่มีเรื่องราวที่คล้ายคลึงกันอยู่อยู่ กล่าวถึง ‘อสูรวฤกษะ’ ที่ได้ขอพรต่อพระศิวะว่า “ขอให้ความตายจงมีแด่ผู้ซึ่งข้าพระองค์ได้ใช้มือแตะไปที่ศีรษะของคนผู้นั้น” เมื่อวฤกษะได้พรตามประสงค์แล้วจึงต้องการทดสอบพรที่ตนได้รับ ด้วยการใช้มือของมันแตะไปที่พระเศียรของพระศิวะเจ้า พระผู้เป็นเจ้าจึงหนีไปจากอสูรตนนั้น อสูรก็ไล่ตามไปอย่างไม่ลดละ พระศิวะหนีไปจนถึงไวกูณฐ์โลก พระหริเจ้าจึงทรงช่วยเหลือพระศิวะด้วยการแปลงกายเป็น ‘เพศพรหมจารี’ เพื่อเข้าไปหลอกล่ออสูรแล้วให้อสูรลองใช้มือแตะที่ศีรษะตนเองดู อสูรผู้โง่เขลาไม่ทันคิดจึงใช้มือแตะไปที่ศีรษะตนก็ตายลงด้วยอำนาจพรของพระศิวะ

แต่ไม่ว่าจะเวอร์ชั่นไทยหรือเวอร์ชั่นฮินดู เรื่องราวของเทพที่แปลงกายเป็นหญิงเพื่อยั่วยวนปราบอสรูนั้นก็ยังเป็นโครงเรื่องที่เด่นชัด และสะท้อนให้เห็นถึงมุมมองของเพศในคติฮินดโบราณที่เพศชายหญิงนั้นมีความลื่นไหลปรับแปลงได้

จะมีเราและนายเสมอ: เรื่องราวของเพื่อนกันแมน ๆ ครับที่ห้ามใจไม่อยู่

เรารับรู้กันว่า ตอนจบของเรื่องราวพระนารายณ์แปลงกายเป็นนางอัปสรลงมาปราบนนทกนั้นจบลงด้วยการที่พระนารายณ์สาปนนทกให้ไปเกิดเป็นทศกัณฐ์ หากแต่ว่ายังมีตอนจบอีกแบบหนึ่ง (Alternative Ending ไปอีก) ที่บทละครรามเกียรติ์ไม่ได้นำมาใส่ไว้ โดยตอนนี้ปรากฎอยู่ในคัมภีร์นารายณ์ 20 ปาง ที่ระบุว่าคัดลอกไว้ในปี 2397 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 3 มีความว่า 

“...ฝ่ายพระปะระเมศวรจึ่งตรัสถามพระนารายน์ว่า ซึ่งท่านแปลงเปนสัตตรีนั้นมีศิริวิลาษเปนดั่งฤๅ ท่านจงนฤมิตรกายให้เราดูบัดนี้ พระนารายน์ก็สำแดงเทวฤทธิ์นฤมิตรพระกายเปนนางเทพอับษรดุจะปางเมื่อไปล้างอสุรนนทุกนั้น ฝ่ายพระปะระเมศวรครั้นเหนรูปซึ่งพระนารายน์นฤมิตรงามยิ่งนัก ก็มีพระไทประติภัทรตรัสเกี่ยวภานด้วยคำต่างๆ พระนารายน์จรึ่งกราบทูลวาข้าพเจ้าคือองค์นารายน์ดอก พระปะระเมศวรเจ้าก็มิฟัง ก็ร่วมภิรมย์สมโยคด้วยองค์พระนารายน์ จนกามกิเลศเคลื่อนตกลง องค์พระเป็นเจ้าก็ทราบว่าจะเป็นผล พระองค์จึงทรงเอากามกิเลศที่เคลื่อนออกมานั้นใส่ขวดแก้วไว้ข้างพระองค์ แล้วพระนารายน์ก็กราบถวายบังคมลาไปสถิตย์ยังกะเศียรสมุท...”

สรุปสั้น ๆ ว่า พระปะระเมศวรได้ยินว่าพระนารายณ์แปลงกายเป็นผู้หญิงแล้วสวยมาก จึงขอให้แปลงให้ตนดูหน่อย เมื่อพระนารายณ์จำแลงกายให้ดู พระปะระเมศวรกลับหลงในความงามของนารายณ์อวตารจนหน้ามืดเข้าคลุกวงใน แม้พระนารายณ์เตือนว่า ‘นี่เราเองไงเพื่อน!’ ก็ไม่ฟัง สุดท้ายจึงได้เสียกัน โดยที่พระนารายณ์ก็ได้เก็บอสุจิของพระปะระเมศวรไว้ในขวดแก้วเป็นที่ระลึกในเรื่องคืนนั้นฉันจะคิดเสียว่าฝันไป (หื้ม?)

ฉากนี้ถูกตัดไปจากรามเกียรติ์ฉบับรัชกาลที่ 1 อาจเพราะผู้แต่งมองว่า อาจดูไม่เหมาะสมนักที่จะให้พระเป็นเจ้าสององค์มาสมสู่กัน 

อย่างไรก็ตาม ฉากนี้มีความสำคัญตรงที่ว่า จะไปเกี่ยวข้องกับการกำเนิดหนุมาน ในรามเกียรติ์ เพราะพระอิศวรได้ใช้อสุจิที่ใส่ขวดไว้นี้ซัดเข้าปาก นางสวาหะ พร้อมเทพอาวุธ จนเกิดเป็นหนุมานนั่นเอง

‘อิลราช’ บรรพบุรุษของพระราม และป่าที่เปลี่ยนชายให้กลายเป็นหญิง

เรื่องของ ‘อิลราช’ มีอยู่มากมายหลายฉบับ ทั้งในมหากาพย์รามายณะ มหาภารตะ และปุราณะต่าง ๆ กล่าวถึงเรื่องราวของกษัตริย์หนุ่มผู้ถูกสาปให้กลายเป็นผู้หญิง ซึ่งเรื่องราวที่ตามมาทำให้เกิดเป็นวงศ์กษัตริย์ที่สำคัญที่สุดวงศ์หนึ่งในวรรณกรรมอินเดีย

เรื่องราวของอิลราชยังปรากฏในรามายณะที่เป็นวรรณกรรมต้นกำเนิดของรามเกียรติ์ เล่าถึงเรื่องราวของอิลราชซึ่งเป็นพี่น้องของราชาอิกษวากุบรรพบุรุษของพระราม จุดเริ่มต้นของเรื่องราวเกิดขึ้นเมื่ออิลราชออกไปเที่ยวป่าแล้วเกิดหลงเข้าไปในสวนของพระอุมา ที่นั่นเอง อิลราชได้กลายร่างเป็นผู้หญิง! เนื่องจากการเล่นสนุกของพระศิวะที่กลายร่างพระองค์เองและสิ่งรอบตัวให้กลายเป็นเพศหญิง เมื่ออิลราชรู้ตัวก็เข้าไปขอร้องพระอุมาให้ช่วย พระอุมาจึงให้พรว่า อิลราชจะกลายร่างเป็นหญิงหนึ่งเดือนสลับกับเป็นชายเดือนถัดไป เป็นเช่นนี้ไปจนชั่วนิรันดร์

ระหว่างที่อิลราชยังอยู่ในร่างผู้หญิง ก็ได้ไปพบกับพระพุธ ทั้งคู่ตกหลุ่มรักกันและให้กำเนิดบุตรชายนามว่า ปุรุรวัส ผู้เป็นปฐมกษัตริย์แห่งจันทร์วงศ์ และลูกหลานของพระองค์จะก่อสงครามขึ้นในมหากาพย์มหาภารตะในภายหลังนั่นเอง

แม้ว่าหลายคนจะคุ้นเคยกับเรื่องราวของอิลราชว่าเป็นกษัตริย์ในวรรณกรรมฮินดูที่ถูกสาปให้กลายเป็นผู้หญิงโครงเรื่องเช่นนี้มีอยู่หลายแห่งในวรรณกรรมฮนดู แต่หากลองค้นไปลึก ๆ แล้ว เรื่องของอิลราชมีรากฐานมาจากวรรณกรรมของกลุ่มอินโด-ยูโรเปียน และนางเป็นผู้หญิงมาก่อนที่จะเกิดการแต่งโครงเรื่องให้มีการสลับเพศไปมา

เรื่องราวของอิลราชนี้ไม่ได้มีแค่ในอินเดียเท่านั้น แต่นามนี้พ้องกับนามของนาง Ilia แม่ของ Romulus และ Remus ผู้ก่อตั้งอาณาจักรโรมัน ตามตำนานของโรมันด้วย ชื่อนี้จึงมีความเป็นมายาวนานย้อนไปได้ถึงยุคอินโดยูโรเปียน ซึ่งเป็นยุคที่เป็นรากฐานของตำนานเก่าแก่ต่าง ๆ ในโลกนั่นเอง

กำเนิดพาลีและสุครีพ จากเทพและราชาลิง

อันนี้เราขอยกให้เป็นเรื่องที่แซ่บที่สุดแล้ว… 

ในรามายณะนั้นยังมีการเล่าถึงการกำเนิดของสองพี่น้องวานรอย่างพาลีและสุครีพ ทหารเอกของพระราม ซึ่งเรื่องราวการกำเนิดของทั้งคู่ก็เกี่ยวพันกับอภินิหารการสลับเพศชายหญิงด้วย

วันหนึ่งระหว่างที่พระพรหมกำลังทำสมาธิอยู่บนเขาพระสุเมรุ น้ำตาของพระองค์ก็หยดลงมา ทำให้เกิดเป็นพญาวานรที่ชื่อว่า ฤกษรชัส วันหนึ่งพญาวานรได้ไปถึงสระน้ำแห่งหนึ่งแล้วเห็นเงาสะท้อนของตนเอง เกิดคิดว่าเงานั้นเป็นศัตรู จึงกระโดดลงไปในน้ำ เมื่อกลับขึ้นมาวานรนั้นก็ได้กลายร่างเป็นหญิงงามไปซะแล้ว 

เรื่องราวอลวนกันไปใหญ่เมื่อพระอินทร์และพระสุริยะมาพบหญิงงาม จึงเกิดความลุ่มหลงในตัวนาง ทำให้พระอินทร์เกิดอาการอสุจิเคลื่อนตกลงที่มือของนาง จึงกำเนิดเป็นพาลี ส่วนอสุจิของพระสุริยะก็ไปตกลงที่คอของนาง จึงกำเนิดเป็นสุครีพ เมื่อผ่านไปหนึ่งคืนหญิงสาวนั้นก็กลับร่างเป็นพญาวานรเช่นเคย และพาบุตรทั้งสองไปพบพระพรหม จากนั้นจึงสร้างนครขีดขินธ์ขึ้น ฤกษรชัสจึงเป็นราชาองค์แรกของเหล่าวานร

ในตอนกำเนิดพาลีและสุครีพวรรณกรรมบางฉบับกล่าวต่างออกไปว่า พระอรุณ สารถีของพระสุริยะ ได้แอบแปลงร่างเป็นเทพสตรีนามว่า อรุณี เข้าไปยังเทวโลก เมื่อพระอินทร์พบก็ลุ่มหลงนางอรุณีจึงมีอะไรกับนางในคืนนั้น นางอรุณีกลับไปก่อนรุ่งสาง แล้วจึงได้ให้กำเนิดบุตรคนหนึ่งชื่อพาลี ก่อนจะนำไปฝากไว้กับนางอหัลยา เมื่อกลับมาเป็นพระอรุณอีกครั้ง พระอรุณจึงเล่าเรื่องราวให้พระสุริยะฟัง ทำให้พระสุริยะร้องขอให้พระอรุณแปลงร่างเป็นหญิงสาวให้ตนดู พระสุริยะก็ลุ่มหลงนางอรุณี ทั้งคู่ก็ให้กำเนิดบุตรคือสุครีพ แล้วนำไปฝากให้นางอหัลยาเลี้ยงดู พระฤๅษีเคาตมะไม่ชอบเด็กทั้งสองจึงสาปให้กลายเป็นลิง พระอินทร์จึงนำเด็กทั้งสองมาฝากให้ฤกษรชัส วานรราชเมืองขีดขินธ์เลี้ยง

ก็ถือเป็นเรื่องราวดี ๆ แฮปปี้เอนดิ้งลิงกับเทพ อดคิดไม่ได้ว่า ถ้าดิสนีย์มาเจอพล็อตนี้แล้วเอาไปทำหนังแอนิเมชั่น… รายาก็รายาเถอะ!

ทศกัณฐ์ก็ท้องได้!

เรื่องราวการกำเนิดสีดาในจักรวาลรามายณะมีมากมายและหลากหลาย หนึ่งในเวอร์ชั่นที่ประหลาดและแปลกตาที่สุดคือบทกวีท้องถิ่นในรัฐกรณาฏกะ ประเทศอินเดีย ที่เล่าว่าทศกัณฐ์คือ ‘แม่’ แท้ ๆ ของนางสีดา

เรื่อราวเริ่มต้นว่า ราวูณะ (ชื่อทศกัณฐ์ในภาษาท้องถิ่น) และ นางมณโททรี ตกอยู่ในความโศกเศร้าเนื่องด้วยไม่สามารถบุตรได้ รวูณะจึงเข้าป่าไปบำเพ็ญตบะต่อพระศิวะ จนพระองค์พอใจและเสด็จมาให้พร ราวูณะจึงขอให้มีบุตร พระศิวะจึงประทานมะม่วงให้ลูกหนึ่งพร้อมกล่าวว่า จงนำไปให้ภรรยากินแล้วนางจะตั้งครรภ์ ราวูณะนั้นเป็นคนโลภและไม่เชื่อในคำพูดของพระศิวะ ในระหว่างทางกลับบ้าน ความโลภ (หรือความหิวเอาดี ๆ) ครอบงำ เขาจึงกินมะม่วงผลนั้นเสียเอง หลังจากนั้นราวูณะก็ตั้งครรภ์ เมื่อผ่านไปเก้าเดือน จึงคลอดบุตรีออกมาชื่อว่า สีดา ราวูณะรู้สึกอับอายจึงนำบุตรีนั้นไปทิ้งไว้กลางทุ่งโล่ง จากนั้นท้าวชนกมาพบจึงนำนางไปเลี้ยงดู

สามารถตามไปล้อมวงเม้ามอยและอ่านรามเกียรติ์ในมุมมองใหม่กันได้ที่ไลฟ์ย้อนหลัง Self-Quarantour EP. Conquesting Grand Narrative ‘RAMAYANA’ ส่อง ‘รามเกียรติ์’ ในมุมมองใหม่ ที่ไม่ต้องใส่ ‘ชฎา’ ดู

อ้างอิง:
Pattanaik, Devdutt. The man who was a woman and other queer tales from Hindu lore. Routledge, 2014.