‘ฉันชอบหนังตลกที่ไม่ได้อ่านง่ายเกินไป คุณไม่ควรสบายใจเกินไปหรือแน่ใจว่าตอนนี้คุณอยู่ที่ไหน แน่นอนว่ามีเรื่องขบขันมากกว่าโศกนาฏกรรมในชีวิต แต่ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะเห็นมันอย่างไร’ - Roy Andersson
หากพูดถึงผู้กำกับที่มีสไตล์งานโดดเด่นไม่เหมือนใคร คงหนีไม่พ้นความตลกร้ายของ Roy Andersson ที่มักจะแทรกอยู่ในความงดงามของภาพยนตร์ที่เป็นดั่งงานศิลปะ งานของเขาสะท้อนชีวิตมนุษย์ในทุกแง่มุมของความสวยงามและความโหดร้าย จนเหมือนว่ากำลังมองโศกนาฏกรรมและความขบขันในเวลาเดียวกัน
ภาพยนตร์ของ Andersson มีทั้งความตลกขบขันและเยือกเย็นอย่างไม่น่าเชื่อ ภาพที่นิ่งช้าทำให้ผู้ชมมีเวลาสังเกตรายละเอียดในแต่ละฉาก มีการจัดฉากที่เหนือชั้นและสมจริงในแบบฉบับของตัวเอง ภาพยนตร์ของเขาไม่ใช่การลำดับภาพ แต่เป็นชุดของฉาก ซึ่งแต่ละฉากให้ความรู้สึกเหมือนภาพวาดที่ผู้ชมเสพจากโรงภาพยนตร์ Andersson ได้แนวคิดเหล่านี้มาจากความทรงจำในอดีต เรื่องราวในประวัติศาสตร์ และฉากชีวิตในปัจจุบัน ที่เขาหยิบจับมาใช้ได้อย่างลงตัว
Andersson อธิบายงานของเขาว่า เขาเข้าใกล้ภาพนามธรรมมากขึ้น แต่ไม่ได้ไปในทางความไม่เป็นรูปเป็นร่าง หลังจากผ่านความเป็นธรรมชาติและความสมจริงแล้ว เขาค้นพบนามธรรมในตัวเอง Andersson ใช้นามธรรมนี้เพื่อลดทอนความยุ่งยากและทำให้งานของเขาบริสุทธิ์มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เขาต้องการที่จะพัฒนาและปรับภาษาภาพยนตร์ให้เรียบง่าย มีความละเอียดอ่อน แต่ละฉากได้รับการกลั่นกรองเป็นอย่างดี ลดทอนคำตอบที่เบ็ดเสร็จให้แก่ผู้ชม การใช้บทสนทนาที่กระชับและมีมิติที่พิเศษในตัวเอง ผสานกับมุมมองภาพที่มักใช้ภาพระยะไกลเป็นหลัก สร้างความรู้สึกไม่แน่ใจให้แก่ผู้ชมจนเกิดความสับสนว่าควรขบขันหรือไม่ในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด
The Art of Being An Artist สัปดาห์นี้ GroundControl จึงขอชวนผู้อ่านทุกท่านมารู้จักกับ Roy Andersson ผู้กำกับที่สร้างผลงานเสียดสีสภาพสังคมในแบบฉบับของตัวเอง ราวกับวาดภาพจิตรกรรมชิ้นเอก ถ้าพร้อมเข้าสู่โลกของภาพยนตร์ที่เปรียบดั่งงานศิลปะแล้ว ก็มารู้จักกับเรื่องราวและงานของเขากันเลย
Roy Arne Lennart Andersson เกิดที่เมือง Gothenburg ประเทศ Sweden เขามีความสนใจในศิลปะหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นงานภาพวาด วรรณกรรม และดนตรี และด้วยความสนใจของเขาทำให้ Andersson มีมุมมองในการสร้างสรรค์ผลงานภาพยนตร์ที่แตกต่างไม่เหมือนใคร
ในปี 1943 เขาฉายแววจากภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกอย่าง ‘a Swedish Love Story (1970)’ ด้วยการกวาดรางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลินกว่า 4 รางวัลในปีเดียวกัน หลังเขาจบการศึกษาจาก Swedish Film Institute ได้เพียงแค่ปีเดียวเท่านั้น
เรื่องราวของวัยรุ่นหนุ่มสาวที่ตกหลุมรักกันในช่วงฤดูร้อนนี้ สร้างความนิยมให้แก่ Andersson เป็นอย่างมาก ทว่าหลังจากความสำเร็จดังกล่าว Andersson กลับตกอยู่ในภาวะซึมเศร้า เนื่องจากเขาไม่ต้องการจมปลักกับรูปแบบเดิมและความคาดหวังของผู้คน เขายกเลิกงานที่กำลังจะเกิดขึ้นขณะยังเหลือบทอีกครึ่งเรื่องที่ยังไม่เสร็จ และก้าวข้ามแนวคิดอื่นๆที่เคยทำมาในงานก่อนหน้า ในที่สุดภาพยนตร์เรื่องต่อมาของเขาอย่าง ‘Giliap (1975)’ ก็เกิดขึ้นในแนวทางที่ต่างจากภาพยนตร์เรื่องแรกอย่างสิ้นเชิง คือมีความตลกร้ายที่แฝงด้วยความมืดหม่น ทว่าภาพยนตร์เรื่องนี้กลับใช้งบประมาณมหาศาลและดำเนินการล่าช้ากว่ากำหนด ทำให้ Andersson พักจากการกำกับภาพยนตร์และมุ่งสู่งานเชิงพาณิชย์นานกว่า 25 ปี
เขากลับสู่วงการภาพยนตร์อีกครั้งด้วยการก่อตั้งบริษัทภาพยนตร์อิสระที่ชื่อ ‘Studio 24’ Andersson เป็นที่พูดถึงจากความสำเร็จของ ‘Songs from the Second Floor (2000)’ ที่เขาใช้เวลาในการสร้างนานกว่า 4 ปี ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับรางวัลการันตีจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติมากมาย รวมไปถึงเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมือง Cannes หลังจากนั้นภาพยนตร์อีกสองเรื่องคือ You, the Living (2007) และ A Pigeon Sat on a Branch Reflecting on Existence (2014) ก็เกิดขึ้นกลายเป็นภาพยนตร์ไตรภาคที่เรียกกันว่า ‘Living Trilogy’
Andersson ออกแบบทุกส่วนของภาพยนตร์เพื่อสะท้อนกับสิ่งที่เขาต้องการที่จะนำเสนอแง่มุมทางสังคมและแสวงหาความหมายของความเป็นมนุษย์ เขาได้อธิบายว่า ศิลปะและประวัติศาสตร์ศิลปะมีบทบาทของความสมบูรณ์แบบ ซึ่งครอบคลุมขอบเขตทั้งหมดของความหมายความเป็นมนุษย์ แน่นอนว่ามีภาพยนตร์ที่เกือบจะเทียบเท่ากับภาพวาดชิ้นเอก แต่มีเพียงไม่กี่เรื่องเท่านั้นที่สามารถทำได้ ทำให้ Andersson พยายามสร้างงานให้เข้าใกล้ภาพวาดจิตรกรรมมากที่สุด
เขาเลือกใช้ภาพนิ่งที่เล่าด้วยขนาดภาพระยะไกล ออกแบบการกระทำที่เชื่องช้าของตัวละคร และลดทอนเงาในภาพ ทุกสิ่งล้วนมีเป้าหมายเดียวกันคือการอธิบายความเป็นมนุษย์ในแบบฉบับของ Andersson ที่มีความคลุมเครือชวนสงสัย ด้วยวิธีที่เรียบง่ายที่สุด ภาพระยะไกลสามารถบอกเล่าทั้งอดีตและปัจจุบันของบุคคลนั้นๆ การจัดแสงที่ลดทอนเงา เปิดเผยความเป็นมนุษย์ได้อย่างกระจ่าง ทำให้ความเป็นมนุษย์ปรากฏในภาพยนตร์ และเปิดความสามารถในการมองของผู้ชมให้มากขึ้น Andersson ใช้เวลาและพลังอย่างมากในการค้นหาตัวละครที่เหมาะสมที่สุดสำหรับฉากนั้นๆ เขามักเลือกนักแสดงที่เป็นคนธรรมดาและเปลี่ยนบทสนทนาเล็กน้อยเพื่อให้เข้ากับนักแสดง บ่อยครั้งที่บทสนทนาในงานของเขามีความเรียบง่าย เป็นคำพูดเพียงไม่กี่คำ ดังนั้นจึงสำคัญมากที่บทสนทนาจะถูกแสดงออกมาอย่างเหมาะสม
งานของ Andersson ไม่เพียงแค่ขยายขอบเขตความเป็นไปได้ให้ตัวเขาเท่านั้น แต่ยังเป็นการขยายมุมมองของผู้ชมด้วย Andersson ละทิ้งการนำเสนอภาพความเหมือน/สมจริง และความเป็นธรรมชาติ เขาพยายามสร้างรูปแบบในภาพยนตร์ให้มีความนามธรรมมากขึ้น เขาให้ความเห็นว่า ถึงแม้ว่าจะมีภาพยนตร์หลายเรื่องที่นำเสนอความเหมือนจริง แต่รูปแบบของพวกเขาก็ไม่สามารถแสดงความเป็นจริงได้ สิ่งที่ Andersson ต้องการคือสะท้อนความเป็นมนุษย์ในภาพยนตร์โดยไม่ใส่เส้นเรื่องชักจูงความคิดของผู้ชม ความนามธรรมในภาพยนตร์ของ Andersson ไม่ได้หมายถึงความไม่เป็นรูปเป็นร่าง และเขาเองก็ไม่ได้ละทิ้งความสมจริงเป็นธรรมชาติไปซะทีเดียว สิ่งเหล่านี้เป็นองค์ประกอบของภาพนามธรรมเช่นกัน เขาพบการปลดปล่อยตัวเองจากสิ่งที่เป็นนามธรรม เขาสามารถปล่อยให้ความมีชีวิตชีวาได้พูดคุยกับความตายใน Songs from the Second Floor และยังช่วยให้เขาได้รับเสรีภาพในการแสดงออกอย่างเต็มที่จากการปรากฏตัวในโลกแห่งความฝันของ You, the Living
Andersson ให้ความเห็นเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของเขาอย่าง About Endlessness ว่า เสียงของผู้เล่าเหมือนเสียงของนางฟ้า เธอเล่าทุกสิ่งที่เห็น แต่เธอไม่ได้เจาะจงไปที่ใครคนใดคนหนึ่ง น้ำเสียงของเธอสดใสและสงบ เธอไม่ได้พยายามโน้มน้าวผู้ชม เธอแค่อธิบายถึงสิ่งที่เห็นในฉาก Andersson ใส่ความงดงามของภาพยนตร์เสมือนภาพยนตร์ของเขาคืองานจิตรกรรมชิ้นเอก เขาสะท้อนชีวิตมนุษย์ในทุกแง่มุมของความสวยงามและความโหดร้าย ความงดงามที่ซ้ำซาก เขาต้องการที่จะพัฒนาและปรับภาษาภาพยนตร์ให้เรียบง่าย ละเอียดอ่อน และได้รับการกลั่นกรองเป็นอย่างดีแล้ว อย่างไรก็ตามผู้ชมเป็นคนเลือกอธิบายภาพยนตร์ในแบบฉบับของตัวเอง ตอบรับกับสิ่งที่เขาหมายถึงมาโดยตลอด นั่นคือนามธรรมของการแสดงออก ประหนึ่งว่าผู้ชมกำลังดื่มด่ำกับการชมภาพยนตร์ดั่งภาพวาดจิตรกรรมของศิลปินเอก
ภาพวาด ‘The Hunters in the Snow’ โดย Pieter Bruegel the Elder ศิลปินชาวดัชในยุคเรอเนซองส์ที่มีชื่อเสียงในด้านการเขียนจิตรกรรมภูมิทัศน์และภาพชีวิตประจำวัน เป็นแรงบันดาลให้การออกแบบฉากในภาพยนตร์ให้แก่ Roy Andersson ตัวภาพที่แฝงไปด้วยรายละเอียดสะท้อนวิถีชีวิตของคนผ่านระยะของการมอง มี Foreground เป็นนักล่าที่กลับจากการเดินทางด้วยท่าทีที่ผิดหวัง และ Background เป็นผู้คนในวิถีชีวิตของตัวเอง สีภาพที่หม่นหมองกับบรรยากาศของฤดูหนาวที่ไร้ชีวิตชีวา สร้างความประทับใจให้แก่ Andersson อย่างมาก เขาเคยพูดถึงฉากหนึ่งในภาพยนตร์เรื่อง a Pigeon Sat on a Branch Reflecting on Existence ว่าเขาได้รับแรงบันดาลใจจากภาพวาดของ Bruegel ชิ้นนี้ เขาสนใจมุมมองของนกบนกิ่งไม้ที่จ้องมองมนุษย์ที่อยู่ด้านล่างด้วยบรรยากาศที่มืดสลัว เหมือนมันกำลังมอง
"ความโง่เขลาและความชั่วร้าย" ของมนุษย์
ด้วยภาพจิตรกรรมที่บอกเล่าเรื่องราวความสามัญของชีวิตมนุษย์และเรื่องราวทางศาสนา ผ่านมุมมองภาพระยะไกล ทำให้ภาพวาดของ Bruegel แฝงด้วยรายระเอียดมากมายให้ผู้ชมได้สังเกต ซึ่ง Andersson ได้รับแรงบันดาลใจจากเกร็ดเล็กๆ ในงานของ Bruegel เช่นกัน
หนึ่งในฉากสำคัญจากภาพยนตร์เรื่อง About Endlessness อย่างฉากที่ชายคนหนึ่งแบกไม้กางเขน อ้างอิงถึงเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นในภาพวาด ‘The Procession to Calvary’ ของ Bruegel คือเหตุการณ์ที่พระเยซูกำลังแบกไม้กางเขน Andersson ได้อธิบายถึงฉากนี้ว่า มีบาทหลวงคนหนึ่งที่ทนทุกข์กับฝันร้ายซ้ำซากที่ว่าเขาจะโดนตรึงกางเขนหลังจากถูกไล่ล่าไปตามท้องถนน ในฝันนั้นเขากำลังแบกไม้กางเขนเช่นเดียวกับพระเยซู ผู้คนทุบตีและโบยเขา เขาพยายามที่จะตั้งตัวให้ตรงจากความทรมาน ไม้กางเขนเป็นเพียงคำอุปมาเท่านั้น ดูเหมือนว่าเราได้เรียนรู้ถึงภาระของบาทหลวง นั่นคือการแบกรับความสูญเสียศรัทธาของผู้คน ภาพของการถูกตรึงคือการลงโทษที่เขากลัว จะเห็นว่างานของ Andersson มักมีเรื่องราวของประวัติศาสตร์และศาสนามาเกี่ยวข้องเสมอ สำหรับเขาแล้ว ไม่เพียงแต่พระเจ้าเท่านั้นที่ดูเหมือนจะไม่มีอยู่จริงอีกต่อไป บาทหลวงในภาพยนตร์ของ Andersson คือสภาพปัจจุบันของมนุษย์ ซึ่งเป็นสภาพที่เราไม่สามารถหาสิ่งใดยึดมั่นได้แม้แต่กับตัวเราเอง
กรอบหน้าต่าง ประตู การจัดองค์ประกอบภาพ และรายละเอียดที่ไม่ซับซ้อน ความรู้สึกแปลกแยกของผู้คนที่เกิดขึ้นในห้องนอน ร้านอาหาร หรือบาร์ เป็นเอกลักษณ์สำคัญในงานของ Edward Hopper ศิลปินชาวอเมริกาที่เป็นอิทธิพลสำคัญให้แก่ผู้กำกับภาพยนตร์มากมาย
งานของ Hopper มักมีความก้ำกึ่งและหลอมรวมระหว่างภาพประดิษฐ์กับภาพความจริง ความว่างเปล่าท่ีแฝงด้วยความหมายมากมายในงานของ Hopper เกิดขึ้นในงานของ Andersson เช่นกัน เขาหยิบยืมวิธีการของ Hopper มาใช้ในภาพยนตร์ของเขา โดยเฉพาะวิธีการจัดฉาก การลดทอนรายละเอียด และการจัดแสงที่ไม่ตรงตามความเป็นจริง การจัดฉากในแบบฉบับของ Andersson ชวนให้คนดูนึกถึงภาพวาดของ Hopper อย่างปฏิเสธไม่ได้ ฉากบาร์ใน Songs from the Second Floor ทำให้นึกถึง ‘Nighthawks’ ภาพวาดอันโด่งดังของ Hopper ได้ในทันที อีกฉากหนึ่งใน You, the Living ที่ชายคนหนึ่งกำลังมองเพื่อนบ้านในอพาร์ทเมนต์ฝั่งตรงข้าม ก็ทำให้นึกถึงภาพวาดอย่าง ‘Night Windows’ ด้วยเช่นกัน
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเราสามารถเห็นความงามด้านภาพยนตร์ในงานของ Hopper จากการวางระยะขององค์ประกอบภาพ รวมถึงการนำเสนอความโดดเดี่ยวของผู้คน ราวกับเป็นหนึ่งฉากในภาพยนตร์ อย่างไรก็ตาม งานของทั้ง Edward Hopper และ Roy Andersson ต่างก็มีจุดร่วมเดียวกัน คือเพื่อแสดงออกถึงความเปลือยเปล่าและไร้ความรู้สึกของสังคมสมัยใหม่
สำหรับภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของเขา About Endlessness เปรียบเสมือนบทกวีและความคร่ำครวญที่เกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน Roy Andersson นำเสนอเรื่องราวที่ไม่สิ้นสุดของความเปราะบางในการดำรงอยู่ ประหนึ่งว่าเราเร่ร่อนเหมือนกำลังอยู่ในความฝันที่ถูกนำทางโดยผู้เล่า ช่วงเวลานั้นมีความสำคัญเช่นเดียวกับเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ คู่สามีภรรยาคู่หนึ่งลอยอยู่เหนือซากปรักหักพังของเมือง Cologne ประเทศเยอรมัน พ่อหยุดผูกเชือกรองเท้าของลูกสาวท่ามกลางสายฝนที่โปรยปรายระหว่างทางไปงานวันเกิด สาววัยรุ่นเต้นนอกร้านกาแฟ กองทัพที่พ่ายแพ้เดินขบวนไปยังค่ายเชลยศึก ไม่ว่าจะเป็นสไตล์ภาพยนตร์ งานศิลปะ หรือประวัติศาสตร์และการเมือง ทุกสิ่งคือความเชื่อมโยงที่ระหว่างอดีตและปัจจุบันที่ถูกผสมผสานอย่างลงตัว นำไปสู่การตั้งคำถามถึงความโหดร้ายของโลกในยุคปัจจุบัน เรามีเพียงความทรงจำที่น่าสยดสยอง สงคราม การทำลายล้าง เราสูญเสียศรัทธาของเรา เราได้พัฒนามาถึงจุดที่เราเผชิญกับการทำลายล้างและความกลัว จุดที่ไม่มีวันหวนกลับได้เข้าครอบงำชีวิตเรา ความกลัวนี้จะไม่ลดลงจนกว่าเราจะทำลายล้างตัวเอง
Andersson ได้พูดถึงตัวเองว่าเขาไม่คิดว่าตัวเองเป็นคนมองโลกในแง่ร้าย แต่ในทางกลับกัน งานของเขากลับสร้างความตระหนักให้ผู้ชมว่าเรากำลังมีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาที่ไม่ค่อยดีนัก เรากำลังเอารัดเอาเปรียบคนอื่น และเขาเองก็ไม่ค่อยเคารพสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน นอกจากการแสวงหาความเป็นมนุษย์แล้ว Andersson ยังหวังว่าทุกสิ่งจะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น หากอยู่ในโลกเช่นนี้ต่อไป ชีวิตของเราจบลงอย่างไม่มีความสุข
ด้วยมุมมองที่โดดเด่นเป็นตัวของตัวเอง บวกกับการสะท้อนสภาพสังคมที่เชื่อมระหว่างอดีตกับปัจจุบัน การใช้ความตลกร้ายวิพากษ์สังคม ทำให้ Roy Andersson ถือเป็นหนึ่งในผู้กำกับภาพยนตร์ชาวยุโรป (ที่ยังมีชีวิต) ที่สำคัญที่สุดจนถึงปัจจุบัน
อ้างอิง:: https://youtu.be/bLCtJkGKefU
https://www.royandersson.com/
https://www.culturewhisper.com/r/things_to_do/preview/4347
https://mubi.com/notebook/posts/figurative-and-abstract-an-interview-with-roy-andersson?fbclid=IwAR2QEQmPr4Sx5CX62z1ZtEF3nQYDQrv12i8zrzlNgLnbLvyKa3GhNToXUPw
https://theartsofslowcinema.com/2020/03/23/about-endlessness-roy-andersson-2019/?fbclid=IwAR1Q5wgK1ST6P_egF1jz0ZSJH1S6mesyD5uNvrT4EUy2YKL9YQJ5LghebpA