GC_beingartist_marina.jpg

Marina Abramović เสด็จย่าแห่งเพอร์ฟอร์แมนซ์อาร์ตที่สร้างงานสุดเดือดจากความทุกข์วัยเด็ก

Post on 2 February

ทฤษฎีของฉันคือถ้าคุณมีวัยเด็กที่น่าเศร้า คุณจะเป็นศิลปินที่ดีกว่า แต่ถ้าคุณมีความสุข มันก็จะแตกต่างออกไป เพราะไม่มีอะไรที่ออกมาจากความสุข

หากกล่าวถึงศิลปินเพอร์ฟอร์แมนซ์อาร์ต ชื่อของศิลปินชาวเซอร์เบียนาม Marina Abramović จะต้องโผล่ขึ้นมาแน่นอน เพราะนอกจากเธอจะยังไม่ปลดเกษียณตัวเองแม้จะมีอายุกว่า 75 ปีแล้ว ผลงานการแสดงของเธอก็ติดตาตรึงใจและเป็นกระแสมาตลอด ด้วยประเด็นการแสดงที่ชวนผู้คนในสังคมขบคิด เช่น ข้อจำกัดทางด้านร่างกายและจิตใจ ผู้หญิงกับศิลปะ และความสัมพันธ์ระหว่างผู้ชมกับผู้แสดง ทั้งหมดนี้สร้างขึ้นโดยใช้ความทรงจำวัยเด็กอันแสนเศร้าจากครอบครัวที่แตกแยกและเลี้ยงดูอย่างไร้ซึ่งความรัก

แม้จะมีศิลปินเพอร์ฟอร์แมนซ์หน้าใหม่เกิดขึ้นเรื่อย ๆ เหตุใดผลงานของ Abramović จึงยังคงถูกพูดถึงและเป็นตำนานที่มีลมหายใจอยู่เสมอ ทำไมเธอจึงถือเป็นนักแสดงคนแรก ๆ ที่บุกเบิกให้ผู้ชมมีส่วนร่วมกับการแสดง แล้วเรื่องราววัยเด็กของเธออันบอบช้ำนั้นหนักหนาขนาดไหน เธอจึงหยิบวัตถุดิบอันรวดราวในก้นบึ้งของหัวใจมาสร้างสรรค์เป็นผลงานทรงคุณค่าให้สังคมได้หลายทศวรรษ

ด้วยเหตุนี้ GroundControl จึงขอพาทุกคนไปดำดิ่งในเส้นทางชีวิตผ่านผลงานในตำนานนับไม่ถ้วนของเธอ

วัยเด็กอันแสนรวดร้าว

Marina Abramović เกิดที่กรุงเบลเกรด ประเทศยูโกสวาเวีย (สาธารณรัฐเซอร์เบียในปัจจุบัน) เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 1946 ภายใต้เผด็จการคอมมิวนิสต์ของจอมพล ยอซีป บรอซหรือ ติโต ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เศรษฐกิจย่ำแย่และประชาชนอยู่อย่างอดอยาก แต่ด้วยปู่ทวดของเธอคือ Varnava สังฆราชแห่งเซอร์เบีย คริสตจักรออร์โธดอกซ์ ส่วน Danica Rosić และ Vojin Abramović พ่อกับแม่ของเธอก็เป็นนักการเมืองสังกัดพรรคยูโกสลาเวีย หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง พ่อแม่ของเธอยังได้รับการยกย่องให้กลายเป็น ‘วีรบุรุษของชาติ’ ทั้งยังได้รับตำแหน่งในรัฐบาลยูโกสลาเวีย ฐานะของเธอจึงดีกว่าคนอื่นมาก

ความที่พ่อแม่ของเธอเป็นนักการเมืองนี่แหละ การมีลูกจึงไม่ใช่สิ่งที่ทั้งคู่ต้องการ Abramović จึงอาศัยอยู่กับย่าผู้เคร่งศาสนาจนถึงอายุ 6 ขวบ กิจวัตรประจำวันของเธอในช่วงเวลานั้นคือการตื่นแต่เช้ามาเข้าโบสถ์พร้อมกับย่า กระทั่งแม่ของเธอให้กำเนิดลูกชายอีกคน เธอจึงย้ายมาอยู่กับพ่อแม่อีกครั้ง แต่โชคชะตาก็กลับเล่นตลกไม่จบสิ้น เพราะพ่อกับแม่ของเธอหย่าร้างกัน Abramović และน้องชายจึงอยู่ในความควบคุมของแม่ผู้ปกครองลูกด้วยวิธีการอย่างทหาร เช่น ทำโทษเธอด้วยการตี และขังเธอในตู้เสื้อผ้าจนเธอกลัวความมืด

ตามคำบอกเล่าของ Abramović เอง ครอบครัวของเธอมักไม่แสดงออกทางอารมณ์มากนัก ทั้งยังไม่เฉลิมฉลองในวันหยุดเทศกาลใด ๆ แต่สอนให้เธอระบายความรู้สึกเหล่านั้นผ่านงานศิลปะเพราะแม่ของเธอรักศิลปะอย่างมาก Abramović จึงรู้ตัวเองตั้งแต่อายุ 6 ขวบว่าเธอนั้นอยากเป็นศิลปิน เธอในวัย 12 ปี ยังไม่มีห้องนอนเป็นของตัวเองแต่มีสตูดิโอศิลปะในอพาร์ตเมนต์ขนาดใหญ่

เมื่ออายุ 14 เธอได้ขอให้พ่อซื้อสีน้ำมันให้ แต่เพื่อนของพ่อดันแกล้งเธอด้วยการเทสีน้ำมันเหล่านั้นลงบนผืนแคนวาสก่อนจุดประทัดระเบิดมัน ทันใดที่ประทัดปะทุ คนที่อยู่บริเวณนั้นก็วิ่งหนีโดยพลัน และเมื่อนั้น เธอก็เข้าใจว่ากระบวนการทางศิลปะนั้นสำคัญกว่าผลลัพธ์

Rhythms ชุดการแสดงเดบิวต์ที่ได้รับการพูดถึงอย่างกว้างขวาง

ก่อนเข้าเรียนศิลปะอย่างจริงจังในช่วงมหาวิทยาลัย งานภาพวาดของเธอมักเป็นงานคลาสสิกเสียส่วนใหญ่ เช่น ดอกไม้ ทิวทัศน์ แต่เมื่อเข้าเรียนที่ Academy of Fine Arts ในกรุงเบลเกรด ภาพวาดของเธอเริ่มเป็นนามธรรมยิ่งขึ้น เช่น เมฆหมอก และลวดลายต่าง ๆ ที่ระบุชัดไม่ได้ ช่วงที่เธอเรียนต่อปริญญาโทด้านเดิม ณ กรุงเซเกรบนี้เอง เธอก็หยุดวาดภาพและหันมาใช้ร่างกายของเธอเป็นสื่อกลางอย่างจริงจัง หลังจากเธอได้เห็นควันจากเครื่องบินรบ 12 ลำที่พาดผ่านท้องฟ้าและค่อย ๆ สลายหายไป

“ทำไมต้องเพนต์อย่างเดียว? ทำไมฉันต้องจำกัดตัวเองอยู่แต่ในงานสองมิติ ในเมื่อฉันสร้างงานศิลปะจากอะไรก็ได้ ทั้งไฟ น้ำ ร่างกายมนุษย์ อะไรก็ตาม! ฉันตระหนักว่าการเป็นศิลปินหมายถึงการมีอิสระในการทำงานจากสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือไม่มีสิ่งใดเลย ถ้าฉันต้องการสร้างงานจากฝุ่นหรือขยะ ฉันก็ทำได้ มันเป็นความรู้สึกที่ปลดปล่อยอย่างไม่น่าเชื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่มาจากบ้านที่แทบไม่มีอิสระเลย”

ในช่วงนี้ เธอมักใช้เวลาส่วนใหญ่ที่ศูนย์วัฒนธรรม Studenski Kulturni Centar เธอจึงได้ทดลองเรื่องเสียงและการแสดงมากขึ้น ทั้งยังได้รู้จักศิลปะโดยศิลปินแนวใหม่ เช่น Raša Todosijević, Zoran Popović และ Neša Paripović และได้แต่งงานกับ Neša Paripović ในปี 1971 ต่อมาในปี 1973 Abramović ก็ได้สร้างผลงานการแสดงชุดแรกของเธอนามว่า Rythms อันประกอบด้วยการแสดง 5 ชุดที่ว่าด้วยความเสี่ยง ความเจ็บปวด ความเศร้าโศก และความตาย ฯลฯ

การแสดง Rythms 10 คือการแสดงแรกที่เธอนำมีดมาปักบริเวณช่องว่างระหว่างนิ้วทั้งสิบพร้อมอัดเสียงจังหวะการปักนั้นไปด้วย ทุกครั้งที่เธอปักมีดพลาดโดนนิ้ว เธอจะเปลี่ยนใบมีดจนครบ 20 ใบ ก่อนจะรีรันเสียงที่อัดและปักมีดลงไปให้ทันจังหวะที่เธอบันทึก

ตั้งแต่ซีรีส์ Rythms ของเธอออกสู่สายตาประชาชน การแสดงของเธอถูกวิพากษ์วิจารณ์อยางหนัก ในการแสดง Rhytms 0 ซึ่งเป็นการแสดงสุดท้ายของซีรีส์นี้ เธอจึงเลือกทดสอบว่าหากนักแสดงเช่นเธอยืนอยู่เฉย ๆ และไม่มีปฏิกิริยาโต้กลับไปยังผู้ชมเลย ความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับผู้ชมจะดำเนินไปอย่างไร การแสดงนี้ถือเป็นการแสดงที่โด่งดังที่สุดตลอดกาลของเธอไปเลย

ตลอด 6 ชั่วโมง เธอได้วางสิ่งของ 72 ชิ้นบนโต๊ะให้ผู้ชมเลือกหยิบจับสิ่งของเหล่านั้นมากระทำกับเธอตามที่ต้องการ ทั้งองุ่น ขนนก ดอกกุหลาบ ขนมปัง ไปจนกระทั่งของอันตรายอย่างมีด แส้ กรรไกร และปืน ชั่วโมงแรก ๆ ผู้ชมแทบไม่ทำอะไรกับร่างกายของเธอเลย แต่เมื่อเห็นว่าเธอไม่ตอบสนองต่อการกระทำของพวกเขา ผู้ชมจึงทำเสมือนว่าเธอคือสิ่งของชิ้นหนึ่งที่จะทำอะไรก็ได้

“ฉันรู้สึกเหมือนถูกทำร้ายจริง ๆ พวกเขาตัดเสื้อผ้าของฉัน บางคนเอาหนามกุหลาบมาขูดที่ท้องของฉัน มีคนคนหนึ่งเอาปืนจ่อหัวฉัน แต่เมื่อครบกำหนดหกชั่วโมงตามที่ฉันตั้งใจไว้ ฉันก็ลุกขึ้นและเดินไปหากลุ่มคนเหล่านั้น ทุกคนต่างหน้าแดงก่ำและหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากันในชีวิตจริง” เธอกล่าวถึงการแสดงชุดแรกที่ทำให้เธอเข้าใกล้ความตายและช่วยเปิดเผยหลุมดำในจิตใจมนุษย์

การแสดงในช่วง 29 ปีแรกของชีวิตเหล่านี้เป็นการแสดงที่เกิดขึ้นช่วงเย็นถึงพลบค่ำเท่านั้น เพราะเธอต้องรีบกลับให้ถึงบ้านก่อนสี่ทุ่มของวันเพราะเป็นคำสั่งที่แม่เธอให้ไว้ต่อเธอและน้องชาย และมักเป็นการแสดงที่เกี่ยวเนื่องกับการทำร้ายตัวเอง ความตาย และขีดจำกัดของร่างกาย อาจเพราะเป็นช่วงที่เธอยังคงอาศัยอยู่ในบ้านที่เต็มไปด้วยความกดดันและการทารุณกรรม เธอจึงนำวัตถุดิบที่อยู่ในจิตใจตั้งแต่เด็กมาระเบิดเป็นผลงานอันทรงพลัง

“อย่างแรก การจะสร้างศิลปะการแสดงขึ้นได้ คุณต้องทุ่มเท 100 เปอร์เซ็นต์จริง ๆ ฉันรู้แค่ว่าฉันต้องทุ่มเท 100 เปอร์เซ็นต์แล้วจะเกิดอะไร ก็ให้มันเกิดไป” นี่อาจเป็นคำอธิบายถึงผลงานช่วงแรกของเธอได้ดี

‘แรกรัก โรยรา’ การแสดงร่วมของคู่รักศิลปินแห่งยุค

ในปี 1975 ขณะที่ Abramović จัดแสดงงาน Thomas Lips ที่การชุมนุมระดับนานาชาติสำหรับศิลปินเพอร์ฟอร์แมนซ์อาร์ตอยู่นั้น เธอก็ได้พบกับ Frank Uwe Laysiepen หรือ Ulay ศิลปินชาวเยอรมันที่จัดแสดงงานที่มุ่งเน้นประเด็นเพศสภาพในงานเดียวกัน หลังจบการแสดง Ulay ได้ช่วย Abramović ทำแผลที่เกิดจากการกรีดหน้าท้อง หนึ่งปีต่อมา Abramović ก็หย่าร้างกับ Neša Paripović และหนีจากการควบคุมของแม่ไปอาศัยอยู่ที่อัมเสอตร์ดัมกับ Ulay ที่ไม่เพียงเป็นคู่ชีวิตแต่ยังเป็นเพื่อนร่วมงานที่สร้างสรรค์การแสดงที่สื่อสารเรื่องความสัมพันธ์ อัตตา และความอดทนร่วมกันหลายชิ้นจนกลายเป็นคู่รักศิลปินที่มีอิทธิพลในยุคนั้นมาก

งานที่รังสรรค์ด้วยกันงานแรกคืองานที่ชื่อว่า Relation in Time ในปี 1977 ที่เขาและเธอนั่งหันหลังให้กันเป็นเวลา 17 ชั่วโมง สิ่งเดียวที่เชื่อมเขาและเธอคือผมหางม้าที่ถักทอเป็นเส้นเดียวกัน ว่ากันว่านอกจากงานครั้งนี้จะสื่อถึงความอดทนที่ทั้งคู่ต้องมีให้กัน ยังสื่อถึงการพยายามลดอัตตาของแต่ละคนลงให้ได้มากที่สุด

ในปี 1980 ทั้งคู่ยังสร้างงานอันชวนหยุดลมหายใจที่ชื่อว่า Rest Energy โดย Ulay และ Abramović จะยืนตรงข้ามกัน ต่างคนต่างช่วยกันดึงคันธนูเอาไว้ และส่วนของลูกศรจะชี้ตรงไปยังหัวใจของเธอ นอกจากจะเป็นการทดสอบขีดจำกัดของร่างกายที่หาก Ulay พลาดไปนิดเดียว ลูกศรก็จะตรงเข้าสู่หัวใจของคนรักได้ อีกทางหนึ่ง การแสดงครั้งนี้ยังสะท้อนถึงอำนาจของผู้ชายที่อยู่เหนือผู้หญิงด้วย

 

ตลอดเวลาที่อยู่ด้วยกัน ทั้งคู่เริ่มออกเดินทางจากอพาร์เมนต์ในอัมสเตอร์ดัมแล้วกิน นอน และทัวร์บนรถตู้คู่ใจในออสเตรเลีย ทั้งยังเคยอยู่อาศัยกับชนเผ่า Pintubi นานถึง 9 เดือน จนสร้างเป็นผลงานการแสดง Nightsea Crossing ที่ได้แรงบันดาลใจจากวัฒนธรรมอะบอริจินซึ่งจัดแสดงเป็นครั้งแรกที่ The Art Gallery of New South Wales ในซิดนีย์ ก่อนจะเดินทางไปอินเดียเพื่อฝึกสมาธิอย่างจริงจัง

แต่งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา ความรักย่อมมีวันโรยแรง เมื่อการงานและความสัมพันธ์ของทั้งคู่แยกกันอย่างไม่ขาด แปรผกผันกับอุดมการณ์ทางความคิดและความเชื่อที่แตกต่างกัน ในปี 1988 ความสัมพันธ์ของทั้งคู่จึงจบลง แต่ด้วยความเป็นศิลปินที่ฝังอยู่ในใจ ก่อนจะจากกันไป ทั้งคู่ยังสร้างผลงานร่วมกันครั้งสุดท้ายในชื่อ The Lovers ที่กำแพงเมืองจีน

Ulay ตั้งหลักอยู่ที่กำแพงฝั่งทะเลทรายโกบี ส่วน Abramović เริ่มที่แม่น้ำเหลืองเพื่อเดินเท้าคนละ 2,500 กิโลเมตรมาเจอกันและบอกลากัน หากเทียบกับงานแรกที่ทั้งคู่พยายามจะลดอัตตาลงและเชื่อมเข้าหากันด้วยเรือนผม งานคู่งานสุดท้ายนี้คงเปรียบเสมือนการเพิ่มอัตตาของแต่ละคนกลับมา

เมื่อการแสดงนี้จบลง ทั้งคู่ก็ขาดการติดต่อกันไปหลายปี จนกระทั่งกลับมาเจอกันอีกครั้งในงาน The Artist is Present ในปี 2010 ที่ Abramović จัดแสดงงานที่ MOMA เธอจะนั่งอยู่ที่เดิมทุกวันตลอด 3 เดือน เพื่อรอคอยให้ผู้ชมได้เข้ามาจ้องตาอย่างนิ่งเงียบกับเธอเพื่อสื่อสารความรู้สึกบางอย่างระหว่างศิลปินและผู้ชม และเพื่อให้ผู้คนได้มีปฏิสัมพันธ์กันในวันที่อทเคโนโลยีกำลังทำให้มนุษย์ไกลห่าง

ในงานครั้งนี้ ขณะที่เธอหลับตาตั้งสติพร้อมเจอกับผู้ร่วมงานคนใหม่ Ulay ก็เดินเข้ามานั่งยังฝั่งตรงข้ามเธอ ทันใดที่เธอลืมตาขึ้น ดวงตาของเธอกลับแดงก่ำ น้ำตาเริ่มคลอเบ้า เคล้าด้วยรอยยิ้มแห่งมวลอารมณ์บางอย่าง จนถึงจุดหนึ่ง เธอยั่งเหมือนกับหลุดจากการแสดงครั้งนี้เพราะเธอเอื้อมมือไปจับแขนของ Ulay ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นกับผู้ชมคนไหน ถือเป็นการสรุปรวมความสัมพันธ์ระหว่างทั้งคู่ได้ดี ในวันที่ไม่มีใครลดอัตตาลง แต่ใช้ตัวตนของตัวเองทำความรู้จักกันใหม่

ใครอยากเห็นพลังแห่งดวงตาของทั้งคู่ ตามไปดูกันได้ที่ https://youtu.be/OS0Tg0IjCp4

การเติบโตและผลงานที่ลุ่มลึกขึ้น

ถ้าจะให้พูดถึงผลงานของ Abramović ตลอดชีวิตการเป็นศิลปิน เราคงไม่สามารถพูดจบในบทความเดียวแน่ ๆ เพราะเธอขยันสร้างงานแสดง งานภาพ และงานอินสตอลเลชั่นอย่างไม่จบสิ้น แต่หลังกลับมาเป็นศิลปินเดี่ยวอีกครั้ง ผลงานที่ต้องพูดถึงอย่างจริงจังในช่วงปลายทศวรรษ 90 คือผลงานในช่วงปี 1995-1997

หนึ่งในผลงานสำคัญในช่วงนี้ได้แก่ Balkan Baroque ในปี 1997 ที่เธอนั่งอยู่ท่ามกลางกระดูกวัวเปื้อนเลือดหลายพันตัวพร้อม ๆ กับขัดกระดูกเหล่านั้นด้วยน้ำสบู่อย่างเอาจริงเอาจังเพื่อสะท้อนถึงการฆ่าล้างชาติพันธุ์ที่เกิดขึ้นในคาบสมุทรบอลข่านช่วงทศวรรษ 1990 การแสดงของเธออาจไม่รุนแรงและบ้าคลั่งอย่างงานก่อน ๆ แต่กลับสะเทือนอารมณ์และสะท้อนให้เห็นว่าการกระทำเช่นเธอนั้นถือเป็นการกระทำที่ไร้ประโยชน์เพราะเธอไม่มีทางขจัดคราบเลือดเหล่านั้นออกไปได้ด้วยตัวคนเดียวเช่นเดียวกับที่เราไม่อาจหาคุณค่าจากสงครามครั้งใด ๆ ได้ งานชิ้นนี้ทำให้เธอได้รับรางวัลสิงโตทองคำจากงาน Venice Biennale ในปีเดียวกัน ทั้งในงานครั้งนี้ เธอยังได้พบกับศิลปินนามว่า Paolo Canevari และแต่งงานกันในปี 2006

หลังจากการเสียชีวิตของพ่อเธอเมื่อปี 2000 และเธอได้ย้ายมาปักหลักที่นิวยอร์ก เมืองแห่งความวุ่นวายเมื่อปี 2002 เธอได้กลับมาจัดงานแสดงเดี่ยวอย่างยิ่งใหญ่อีกครั้งในชื่อว่า The House with the Ocean View เธออาศัยอยู่ในห้อง 3 ห้องที่บันได้สร้างขึ้นจากใบมีด 12 วัน กิจกรรมของเธอคือการไม่ทานอาหาร ดื่มแต่น้ำ อาบน้ำ นอน ยืน และนั่งสมาธิ เพื่อชำระล้างจิตใจและทดสอบว่าหากเธอและผู้ชมไม่ได้พบเห็นสิ่งรอบข้างที่วุ่นวาย แต่อยู่กับปัจจุบันขณะ 12 วันผ่านไป เธอจะเป็นอย่างไรบ้าง

Transitory Object และ Abramovic Method

เริ่มสังเกตไหมว่ามู้ดและโทนงานของเธอนั้นเปลี่ยนไป? หลังจากสร้างสรรค์ผลงานอันเกี่ยวเนื่องกับความว้าวุ่นในใจ ความอดทน การเอาชนะความเจ็บปวดทั้งหลายในช่วงแรกเริ่มของการสร้างสรรค์ผลงาน ต่อด้วยการส้รางผลงานเกี่ยวกับความสัมพันธ์ ระยะหลังมานี้ เธอเริ่มนำแนวคิดเรื่องความเชื่อ พิธีกรรม ศาสนา และความสุขสงบมาสร้างสรรค์เป็นผลงานมากขึ้นซึ่งแนวคิดเช่นนี้ค่อย ๆ ผุดขึ้นหลังจากการสร้างงาน The Lovers ร่วมกับ Ulay เมื่อปี 1988

งานส่วนใหญ่ของเธอก่อนหน้านั้นมักสร้างสรรค์ขึ้นจากตัวเธอเองมาตลอด Transitory Object จึงคือแนวคิดการสร้างผลงานที่เธอต้องการให้ผู้ชมมีส่วนร่วมกับงานของเธอมากขึ้นผ่านวัตถุต่าง ๆ อย่างทองแดง เหล็ก ไม้ และแร่ธาตุเพราะเชื่อว่าจะช่วยให้ผู้คนรับรู้ถึงพลังงานธรรมชาติบางอย่างและพลังงานในตัวของผู้ชม วิธีการเช่นนี้ไม่เพียงอยู่ในผลงานชื่อเดียวกันในปี 1989 เท่านั้น แต่เธอยังแนะนำให้ทุกคนนำร่างกายแนบชิดติดกับวัตถุเหล่านี้ก่อนการทำกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ ทั้งในงานประติมากรรมชิ้นต่อ ๆ มาที่เธอสร้างขึ้นก็ยังใช้แนวคิดเดียวกันนี้

เช่นในงานบางกอก อาร์ต เบียนนา เล่ 2018 เธอได้ติดตั้งโครงไม้ที่มีคริสตัลติดอยู่ในผลงานที่ชื่อ Standing Structures หนึ่งในชุดผลงาน Transitory Objects for Human Use เพื่อให้คนสื่อสารความคิดและความรู้สึกผ่านคริสตัลนั้น หรือในงานล่าสุดอย่าง Crystal Wall of Crying หรือกำแพงยาว 40 เมตรที่ทำจากถ่านหินสีดำจากเหมืองของประเทศยูเครน บนผนังมีคริสตัลควอตซ์ดิบ 93 เม็ดติดอยู่เพื่อให้คนทุกผู้ทุกวัยได้มีปฏิสัมพันธ์กับอินสตอลเลชั่นของเธอ

ส่วน Abramovic Method คือวิธีการที่เธอต้องการให้ผู้ชมเข้ามามีส่วนร่วมกับงานของเธออย่างเท่าเทียมทุกเพศทุกวัย และจะมีการเชิญให้ผู้เข้าชมมีส่วนร่วมกับกิจกรรมเพื่อให้มีปฏิสัมพันธ์กับตนเองและผู้อื่น จะเห็นว่าแนวคิดทั้งสองนี้คล้ายคลึงกันมากทีเดียวและกลายเป็นธีมหลักที่เธอจะนำมาสร้างผลงานหลากหลายรูปแบบ และนำวิธีการเหล่านี้มาสอนใน MAI หรือ Marina Abramović Institute ซึ่งเป็นองค์กรสอนการแสดงที่ไม่แสวงผลกำไรในนิวยอร์กที่เปิดขึ้นเมื่อปี 2013

ตลอดเวลา 50 กว่าปีในชีวิตการเป็นเพอร์ฟอร์มเมอร์ เราอาจกล่าวได้ว่า Abramović ไม่ได้ ‘เป็น’ ศิลปิน แต่เธอ ‘คือ’ ศิลปินผู้ใช้ชีวิตเพื่อการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะในแบบฉบับถึงเลือดถึงเนื้อ ยอมเสี่ยงตาย และทุ่มเททั้งกายและจิตใจอย่างเต็มที่ ครั้งหนึ่งในการสัมภาษณ์เมื่อปี 2016 เธอยังกล่าวว่าเธอนั้นได้ทำแท้งไปถึง 3 ครั้ง เพราะการมีลูกจะทำให้เธอไม่ได้สร้างผลงานศิลปะตามที่เธอตั้งใจ

หากเราพินิจดูผลงานทั้งหมดที่เธอสร้างสรรค์ขึ้น เราจะเห็นธีมที่เกี่ยวเนื่องกันอยู่เสมอ นั่นคือความเศร้า ความเจ็บปวด ความตาย ความอดทน อัตตา ศาสนา จิตวิญญาณ และความสุขสงบซึ่งล้วนแล้วแต่สัมพันธ์กับอดีตอันขมขื่นของเธอไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่ไม่ว่าจะเป็นผลงานชิ้นไหน ๆ ศิลปะที่เธอสร้างขึ้นก็ล้วนชวนสังคมตั้งคำถามถึงจริยธรรมของมนุษย์และชวนให้ผู้ชมแต่ละคนกลับมาสำรวจภายในจิตใจของตนเองได้ทั้งสิ้น นอกจากนั้น คุณูปการที่สำคัญอย่างยิ่งของหญิงวัย 75 คนนี้คือการที่เธอถือเป็นผู้บุกเบิกศิลปะการแสดงยุคใหม่ จนหากใครจะยกย่องเธอตามที่เธอกล่าวถึงตัวเองว่าเธอเป็น ‘Grandmother of Performance Art’ ก็คงไม่ผิดนัก

“หน้าที่ของศิลปินในสังคมที่วุ่นวายคือการสร้างความตระหนักรู้ต่อจักรวาล ตั้งคำถามที่ถูกต้อง และยกระดับจิตใจ” นี่อาจเป็นบทสรุปถึงการสร้างสรรค์ผลงานตลอด 5 ทศวรรษของเธอที่ผ่านมา