สำรวจสัญลักษณ์แห่งตำนานและการผูกจักรวาลแห่งความกลัวในหนังของ Ari Aster

Art
Post on 1 June

คุณปกป้องฉันจากภัยร้ายทั้งปวง
ให้ความอบอุ่น มอบชีวิต
และปลดปล่อยฉันให้เป็นอิสระ

ต่อให้ไม่เคยผ่านหู แต่แค่อ่านประโยคจากเนื้อเพลงที่ยกมา ไม่ว่าใครก็ต้องรู้สึกว่า นี่คือบทเพลงที่ส่งตรงมาจากหัวใจของคนแต่ง ด้วยความรู้สึกขอบคุณถึงคนคนนั้นที่เป็นคนแสนสำคัญในชีวิต ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งเพื่อน คนรัก หรือผู้ให้กำเนิด

แต่เมื่อท่อนเพลงนี้ดังขึ้นในหนังที่ว่าด้วยเรื่องราวของ ‘ลูกชาย’ ที่ถูกตามราวีหลอกหลอนด้วยความบ้าคลั่งของคนเป็น ‘แม่’ ที่หมายมั่นควบคุมชีวิตลูกในทุกขณะจิต เนื้อเพลงแสนอบอุ่นนี้ก็กลายเป็นดังบทเพลงทวงคืนค่าน้ำนม อันเป็นฝันร้ายที่สุดสำหรับคนเป็นลูก!

การบิดเนื้อหาในบทเพลงอมตะอย่าง Everything I Own ของวงอเมริกันในตำนาน Bread ให้กลายมาเป็นบทเพลงสะท้อนภาวะการหลงตัวเอง (Narcissistic Personality Disorder หรือ NPD) ของคนเป็นแม่ ในหนังสะท้อนความกลัวของคนเป็นลูกอย่าง Beau Is Afraid นั้น คือท่ามาตรฐานของ อารี แอสเตอร์ ผู้กำกับหนังสยองขวัญที่มีความชำนาญในการปรับบิดตำนาน (Myth) หรือเรื่องราว (Narrative) ที่เราคุ้นเคยกันดีในสังคม ให้กลายมาเป็นเรื่องราวขั้วตรงข้าม ที่นำเสนอแมสเสจต่างไปจากความเคยคุ้น เพื่อชวนเราไปสำรวจฉากหน้าของความธรรมดาที่อาจซ่อนความน่าสะพรึงกลัวขนหัวลุกเอาไว้

ซึ่งหนึ่งในประเด็นธรรมดาสามัญที่แอสเตอร์มักชวนเราอ้อมไปสำรวจอีกด้าน ก็คือเรื่องราวความสัมพันธ์ในครอบครัว ที่เบื้องหลังฉากหน้า ‘ความรักอันไร้เงื่อนไข’ ที่เป็นภาพจำเกี่ยวกับครอบครัว อาจเต็มไปด้วยเครือข่ายโยงใยของสายสัมพันธ์ทางอำนาจ ความหลงตัวเอง การจ้องควบคุม และความกลัว

ใน Beau Is Afraid ผลงานล่าสุดของแอสเตอร์ เต็มไปด้วยสัญลักษณ์ทางตำนานและจิตวิเคราะห์มากมายที่ถูกสอดแทรกเข้ามาเพื่อขับเน้นโลกแห่งความกลัวของโบ และการสื่อสารแมสเซจการต่อสู้ดิ้นรนของมนุษย์คนหนึ่งเพื่อหลุดพ้นจากสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ ซึ่งเป็นธีมร่วมในหนังยาวสองเรื่องก่อนหน้าของเขาอย่าง Hereditary (2018) และ Midsommar (2019) ด้วย

และเพื่อเป็นการต้อนรับการมาถึงผลงานลำดับที่สามใน ‘ไตรภาคครอบครัวสยอง’ ของอารี แอสเตอร์ เราจะขอชวนทุกคนไปสำรวจสัญลักษณ์ที่มักปรากฏบ่อย ๆ ในผลงานของอารี แอสเตอร์ทั้งสามเรื่อง ซึ่งล้วนเป็นสัญลักษณ์จากตำนานที่เขาหยิบยืมมาใช้ เพื่อสร้างจักรวาลความสยองขวัญในแบบที่ไม่เหมือนใครของเขา

ชะตากรรมที่ไม่อาจหลีกหนีพ้นของเหล่า Tragic Hero

ในฉากหนึ่งของหนังกรรมพันธุ์สยองอย่าง Hereditary ตัวละครเอกที่กำลังตกเป็นเป้าการถูก ‘เข้าสิง’ อย่าง ปีเตอร์ (รับบทโดย อเล็กซ์ วูล์ฟ) กำลังนั่งเหม่อในชั้นเรียนวรรณกรรม โดยมีเสียงแบ็คกาวนด์เป็นการโต้ตอบระหว่างครูกับเพื่อนร่วมชั้น ซึ่งครูได้ตั้งคำถามถึงชะตากรรมของตัวละครฮีโร่กรีกอย่าง เฮราคลีส ในบทละครโศกนาฏกรรม Women of Trachis (450 - 425 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ที่แต่งโดยปราชญ์ชาวกรีกอย่าง โสโฟคลีส ที่ในตอนท้ายของบทละคร เฮราคลีสได้พบกับจุดจบตามคำทำนายที่เขาเคยได้รับ แม้ว่าระหว่างทางเขาจะได้พบกับสัญญาณที่บ่งชี้ถึงจุดจบของตัวเอง แต่เฮราคลีสกลับเลือกที่จะเพิกเฉย ซึ่งครูได้ตั้งคำถามกับชั้นเรียนว่า การที่เฮราคลีสล่วงรู้จุดจบของตัวเองอยู่แล้วนั้น คิดว่าเฮราคลีสจะสามารถหลีกหนีชะตากรรมของตัวเองได้หรือไม่? และหากเฮราคลีสสามารถหลีกเลี่ยงชะตากรรมนั้นได้ แต่เขากลับเพิกเฉยสัญญาณบ่งชี้ทุกอย่าง นั่นทำให้จุดจบของเฮราคลีส ‘น่าเศร้าสลด’ (Tragic) น้อยลงหรือมากขึ้น ซึ่งเพื่อนร่วมชั้นของปีเตอร์ก็ตอบว่า น่าเศร้าสลดมากขึ้นไปอีก เพราะนั่นหมายความว่า เฮราคลีสและตัวละครในโศกนาฏกรรมทุกคนที่รู้จุดจบที่ถูกกำหนดไว้แล้วของตัวเอง ล้วนปราศจาก ‘เจตจำนงเสรี’ (Free Will) หรือไม่อาจหลีกเลี่ยงชะตากรรมที่ถูกผู้อื่นกำหนดมาไว้ให้แล้ว

ไม่ว่าจะเป็นปีเตอร์จาก Hereditary, แดนี จาก Midsommar หรือ โบ จาก Beau Is Afraid ทั้งสามตัวละครเอกในจักรวาลโศกนาฏกรรมแห่งครอบครัวของแอรี แอสเตอร์ ล้วนเผชิญหน้ากับอำนาจที่อยู่เหนือกว่า หรือสิ่งที่ตนไม่อาจควบคุมได้ ซึ่งในกรณีของปีเตอร์ สิ่งที่อยู่เหนืออำนาจการควบคุมของเขาก็คือคำสาปที่ถูกส่งต่อทางสายเลือดในครอบครัว, ในกรณีของแดนี สิ่งนั้นคือการตัดสินใจฆ่าตัวตายของครอบครัว ที่เธอไม่สามารถทำความเข้าใจและไม่มีอำนาจที่จะหยุดยั้งได้ และในกรณีของโบ สิ่งที่เขาไม่อาจควบคุมได้ก็คืออำนาจของผู้เป็นแม่ ซึ่งการเผชิญหน้าต่อสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ ล้วนนำพาตัวละครเอกทั้งสามไปสู่จุดจบของตัวเอง

Hereditary (2018)

Hereditary (2018)

เพื่อที่จะสื่อถึงเรื่องราวของตัวละครเอกทั้งสามในฐานะ ‘ตัวละครเอกแห่งโศกนาฏกรรม’ (Tragic Hero) ซึ่งมีลักษณะเด่นคือการไม่อาจหลีกหนีชะตากรรมที่ถูกกำหนดไว้แล้วได้พ้น ผู้กำกับแอสเตอร์ได้ใส่องค์ประกอบที่บอกใบ้ถึงชะตากรรมของตัวละครแต่ละตัวไว้ตั้งแต่ต้นเรื่อง หรือในฉากเปิดเรื่องเลยทีเดียว ใน Hereditary เขานำเสนอภาพบ้านทั้งหลังที่ครอบครัวปีเตอร์อาศัยอยู่ ให้เป็นเหมือนบ้านตุ๊กตาหรือบ้านจิ๋วที่เป็นผลงานของตัวละคร แอนนี แม่ผู้เป็นศิลปิน เพื่อสะท้อนนัยถึงการที่เรื่องราวทั้งหมดของครอบครัวปีเตอร์นั้นเป็นดังฉากใน ‘บทละคร’ ที่ถูกผู้เขียนกำหนดตอนจบมาแล้ว หรืออาจเป็นเพียงบ้านตุ๊กตาที่มีอำนาจที่อยู่เหนือพวกเขาขึ้นไปคอยปรับแต่งและ ‘เล่น’ ได้ตามใจชอบ

(ฉากเปิด Midsommar ปรากฏรูปหมีอยู่เหนือแดนีที่นอนอยู่บนเตียง เป็นการบอกใบ้ถึงชะตากรรมที่แดนีกำลังจะได้เจอต่อไป)

(ฉากเปิด Midsommar ปรากฏรูปหมีอยู่เหนือแดนีที่นอนอยู่บนเตียง เป็นการบอกใบ้ถึงชะตากรรมที่แดนีกำลังจะได้เจอต่อไป)

ในขณะที่ Midsommar เปิดเรื่องด้วยฉากภาพวาดบนผนังของหมู่บ้านฮอการ์ที่นำเสนอเรื่องราวสี่ฤดูกาล ซึ่งหากลองพิจารณาดูดี ๆ แล้วจะเห็นว่าทั้งสี่ฉากนั้นคือเรื่องราวในภาพยนตร์ที่เริ่มต้นด้วยฤดูหนาวอันสื่อนัยถึงความตาย และเป็นฉากเปิดของเรื่อง และจบด้วยฉากฤดูใบไม้ผลิที่พระอาทิตย์ส่องแสงยิ้มแฉ่ง ไม่ต่างกับรอยยิ้มอันสุขสมของราชินีเดือนพฤษภาในงานเทศกาลตอนท้าย

ในตอนต้นเรื่อง Beau Is Afraid ในฉากหลังจากที่โบไปพบจิตแพทย์ เขาได้เดินผ่านถนนที่เกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ มากมาย แต่เหตุการณ์เหล่านั้นล้วนจำลองภาพชะตากรรมที่รอโบอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเด็กผู้ชายที่กำลังถือปืนกล แม่ที่กำลังยื้อยุดฉุดกระชากลูกชาย หรือเรือของเล่นที่พลิกคว่ำในอ่างน้ำ อันเป็นภาพซ้อนทับกับฉากคำพิพากษาของโบ

บั่นคอแม่ สัญลักษณ์ของความกลัวอำนาจเพศหญิง

Hereditary (2018)

Hereditary (2018)

ว่ากันว่าประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติมีรากฐานอยู่บนประวัติศาสตร์ความหลงใหลในพิธีกรรมการ ‘ตัดหัว’ ซึ่งเป็นพิธีกรรมที่ปรากฏหลักฐานอยู่ในทุกวัฒนธรรมบนโลก ตั้งแต่หลักฐานที่เป็นชิ้นเป็นอันอย่างหัวกะโหลกมนุษย์ที่ถูกบั่นคอเพื่อนำมาบูชาในวิหารศักดิ์สิทธิ์ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลก ไปจนถึงหลักฐานที่เป็นเรื่องเล่าตำนานและวรรณกรรมต่าง ๆ เช่น ตำนานหัวของออร์เฟอุสที่ลอยไปตามน้ำ พร้อมกับร้องเพลงเศร้าสร้อยถึงหญิงคนรักผู้ซึ่งเขาไม่สามารถช่วยขึ้นมาจากยมโลกได้

ในวัฒนธรรมร่วมสมัย ฉากการตัดหัวหรือภาพของหัวที่ถูกบั่นออก ยังปรากฏอยู่ในสื่อทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็น ศิลปะ ภาพยนตร์ หรือวรรณกรรม และยังคงสร้างความพรั่นพรึงให้กับผู้เสพสื่อได้มากกว่าการประทุษร้ายหรือการเข่นฆ่าด้วยวิธีอื่น ๆ (ตัวอย่างเช่น ฉากบั่นคอ เน็ต สตาร์ก แห่งซีรีส์ Game of Thrones) และแน่นอนว่า… สำหรับแฟนหนังสยองขวัญยี่ห้ออารี แอสเตอร์ (นอกจากเสียงเดาะลิ้นชวนสะดุ้งแล้ว) ไม่มีสิ่งใดที่ชวนตกตะลึงไปกว่าภาพหัวของ ชาร์ลี ที่ถูกทิ้งไว้บนถนน ไปจนถึงฉากที่ตัวละครแม่สุดเฮี้ยนอย่าง แอนนี ใช้เชือกหั่นคอตัวเองในตอนท้ายของเรื่อง

แม้กระทั่งใน Beau Is Afraid เอง ก็มีฉากร่างไร้หัวของแม่ (ตัวปลอม) และแม้เมื่อโบรู้ความจริงว่าศพไร้หัวนั้นคือร่างของพี่เลี้ยงที่เป็นเหมือนแม่แท้ ๆ ของตน โบก็พยายามที่จะ ‘บีบคอแม่’ ซึ่งก็เป็นการประทุษร้ายที่มีลักษณะไม่ต่างกับการบั่นคอ

Hereditary (2018)

Hereditary (2018)

และเอาจริง ๆ แล้วใน Midsommar ก็มีภาพหัวที่ถูกตัดออกจากร่างเช่นกัน นั่นก็คือหัวของสองผู้เฒ่าแห่งหมู่บ้านฮอร์กา ที่ได้สละชีวิตเป็นเครื่องบรรณาการด้วยการกระโดดลงมาจากหน้าผา และในภายหลังหัวของพวกเขาก็ถูกหั่นมาประดับหุ่น เพื่อนำไปวางไว้ในอารามสามเหลี่ยมสีเหลืองในตอนท้ายเรื่อง

ทำไมมนุษย์ — และผู้กำกับแอสเตอร์ — ถึงได้หลงใหลและหมกมุ่นกับการบั่นคอกันนัก? นักวิชาการหลายฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่า หัวคือสัญลักษณ์ของตัวตนที่แท้จริงของเรา เพราะหัวเป็นที่สถิตย์ของใบหน้า ซึ่งเป็นสิ่งแรก ๆ ที่สังคมใช้จดจำตัวเรา ยิ่งไปกว่านั้น หัวยังเป็นที่บรรจุสมอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ควบคุมร่างกายและจิตใจของเราทั้งหมด การสูญเสียหัวจึงเป็นการสูญเสียความเป็นตัวเราอย่างแท้จริง และในเชิงสัญลักษณ์ หัวยังเป็นสัญลักษณ์แทนความคิด ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของความเป็นมนุษย์ (ความคิด - ร่างกาย / Mind And Body) ในแง่นี้ หัวจึงเป็นบรรณาการที่ทรงคุณค่าที่สุดในวัฒนธรรมโบราณ

การสูญเสียหัวจึงไม่ใช่แค่การสูญเสียชีวิต แต่เป็นการสูญเสียตัวตนของคนคนหนึ่งไปอย่างสิ้นเชิง ความคิดที่ว่าหัวของคนเราสามารถถูกแยกออกจากร่างกายได้อย่างง่ายดายจึงเป็นความคิดที่หลอกหลอนมนุษย์เสมอมา การประหารด้วยการตัดหัวแล้วเสียบประจาน จึงเป็นโทษทัณฑ์ที่น่าสะพรึงกลัวที่สุด เพราะไม่เพียงเป็นการประกาศแก่สาธารณะว่าบุคคลคนนี้ได้ตายไปแล้ว แต่ตัวตนของเขาได้สูญสลายไปจากสังคมแล้วอย่างสิ้นเชิง หนำซ้ำสิ่งที่เคยเป็นศูนย์กลางของตัวตนของเขายังถูกย่ำยีอย่างถึงที่สุด เป็นการสะท้อนสภาวะความไร้อำนาจของคนคนหนึ่งอย่างสิ้นเชิง

Midsommar (2019)

Midsommar (2019)

แต่ที่มากไปกว่าการตัดคอ คือการตัดคอ ‘เพศหญิง’ ซึ่งในการศึกษาด้านจิตวิเคราะห์ ได้มีความพยายามที่จะอธิบายความหมายของการตัดคอเพศหญิงที่สื่อนัยถึงความหมายที่ลึกมากไปกว่าแค่การลงโทษ การทำให้ไร้อำนาจ หรือกำจัดอัตลักษณ์ของคนคนหนึ่ง แต่การตัดคอเพศหญิงยังสะท้อนถึง ‘ความกลัว’ ของเพศชาย ที่กลัวว่าผู้หญิงจะมีอำนาจเหนือตน โดยเฉพาะอำนาจของ ‘คนเป็นแม่’

ซึ่งเคสที่นักจิตวิทยามักนำมาอ้างอิงมากที่สุด เมื่อพูดถึงประเด็นการตัดคอเพศหญิงในฐานะการกระทำของเพศชายเพื่อข่มอำนาจเพศหญิง ก็คือเคสของฆาตกรต่อเนื่องสุดโหด เอ็ด เคมเปอร์ ผู้ข่มขืนและฆ่าหญิงสาวนักโบกรถในช่วงปี 1970s โดยหนึ่งในเหยื่อของเขาก็คือแม่บังเกิดเกล้า ที่เขาฆ่าเธอด้วยการทุบหัวขณะนอนหลับ ก่อนจะใช้มีดหั่นคอ และนำศีรษะของผู้เป็นแม่มาใช้สำเร็จความใคร่

และเมื่อพูดถึงการตัดคอเพศหญิงในฐานะสัญลักษณ์ที่สะท้อนความวิตกกังวลและการสั่นคลอนความเป็นชาย อีกหนึ่งตำนานที่มักถูกยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างหรือเทียบฉาก (Scenario) ก็คือ ตำนานการปราบ เมดูซา โดยฮีโร่กรีก เพอร์ซีอุส โดยบิดาแห่งศาสตร์จิตวิเคราะห์ก็ได้เขียนความเรียงขนาดสั้นชื่อ Medusa's Head (1922) เพื่ออธิบายการตัดหัวเมดูซาในฐานะพัฒนาการของเด็กชายเพื่อแยกตัวจากความสิเน่หาในตัวแม่

ฟรอยด์ใช้ฉากตัดหัวเมดูซาในการอธิบายพัฒนาการขั้นต่อจากการถูกตอน หรือความกลัวการถูกตัดองคชาต (Castration complex) ซึ่งเป็นปมทางจิตวิทยาที่สำคัญที่สุดในกระบวนการพัฒนาสำนึกด้านตัวตนของเด็กผู้ชาย และเป็นรากฐานของทฤษฎีจิตวิเคราะห์ทั้งหมดของฟรอยด์ โดยฟรอยด์ชี้ว่า หัวของเมดูซาที่ถูกตัดออกนั้นเป็นภาพซ้อนทับกับการถูกตอน อย่างไรก็ตาม ผมของเมดูซาที่เป็นงู ช่วยบรรเทาความกลัวว่าองคชาตจะหายไป และอาการ ‘ตัวแข็ง’ เป็นหินเมื่อต้องมนตร์สะกดจากการสบตากับเมดูซา ก็เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของการ ‘แข็งตัว’ (erection) ฉากตัดหัวเมดูซาจึงเป็นฉากขั้นต่อจากความกลัวเรื่องการหายไปขององคชาต เป็นขั้นตอนการยืนยันว่าองคชาตยังคงอยู่ และทำให้เด็กชายตัดขาดจากภาพของแม่ในฐานะคนรักได้สำเร็จ

Medusa (Caravaggio), 1597

Medusa (Caravaggio), 1597

ในภายหลัง แนวคิดเรื่องการตัดหัวเมดูซาในฐานะขั้นตอนหนึ่งของพัฒนาการด้านความเป็นชายที่ฟรอยด์เสนอ ได้ถูกนักทฤษฎีสตรีนิยมสายจิตวิเคราะห์นำมาวิพากษ์วิจารณ์และต่อยอดทางความคิด โดยนักสตรีนิยมหลายฝ่ายมองว่า แนวคิดของฟรอยด์ได้ลดทอนตัวตนของเมดูซาในฐานะสัญลักษณ์ของเพศหญิง และมองว่าการตัดหัวเมดูซายังสะท้อนถึงการกระทำเพื่อข่มอำนาจของ ‘เพศแม่’ มากกว่าจะเป็นแค่พัฒนาการประกอบสร้างตัวตนด้านเพศของเด็กผู้ชายเท่านั้น

นักทฤษฎีสตรีนิยมหลายคนมองว่า หัวของเมดูซาคือสัญลักษณ์ของความเป็นหญิง เพราะปากที่อ้าออก และใบหน้าที่อยู่ท่าทกลางผมรุงรัง ทำให้หัวเมดูซาคล้ายกับอวัยวะเพศหญิง โดยเฉพาะอวัยวะเพศหญิงที่มีฟัน (vagina dentata) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของโลกยุคโบราณที่สะท้อนความกลัวการถูกตอน หรือความกลัวอำนาจของเพศหญิงที่มีเหนือเพศชาย นอกจากนี้ หัวของเมดูซายังถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นแม่ เพราะในตอนที่หัวของเธอถูกตัดออก ได้เกิดสิ่งมีชีวิตออกมาจากคอที่ถูกบั่นของเธอ นั่นก็คือม้าเพกาซัส และยักษ์ไครเซออร์ ดังนั้นแล้ว การบั่นหัวเมดูซาจึงมักถูกมองเป็นภาพสะท้อนของผู้หญิงที่มีเหนือผู้ชาย หรืออำนาจของแม่ที่มีเหนือลูกชายด้วย

ทั้งหมดทั้งมวลนี้เป็นเพียงสมมติฐานเกี่ยวกับ ‘หัว’ และ ‘การบั่นคอ’ เราคงไม่อาจฟันธงได้ว่าใน ‘หัว’ ของแอสเตอร์คิดอะไรอยู่ตอนที่เขียนฉากตัดคอเหล่านี้ แต่หากลองนึกเล่น ๆ ว่าการตัดคอเหล่าแม่ ๆ ในหนังของแอสเตอร์ เป็นการสะท้อนภาพความกังวลถึงอำนาจของแม่ที่มีเหนือลูกชาย ชะตากรรมของลูกชายอย่างปีเตอร์ที่พยายามหลีกหนีจากคำสาปที่รับมาจากแม่บเกิดเกล้า และโบผู้พยายามเอาชีวิตรอดจากการควบคุมของผู้เป็นแม่ ก็คงน่าสยดสยองมากขึ้นไปอีก

น้ำและไฟ สัญลักษณ์แห่งการชำระล้างและการเกิดใหม่

Midsommar (2019)

Midsommar (2019)

อีกหนึ่งสัญลักษณ์ที่เห็นได้ซ้ำ ๆ ในหนังของอารี แอสเตอร์ ก็คือสัญลักษณ์ของน้ำและไฟ ที่แม้จะดูเป็นขั้วตรงข้าม แต่ทั้งสองล้วนเป็นสัญลักษณ์ของการชำระล้างและการเกิดใหม่ ซึ่งปรากฏในตำนานทั่วโลก

ใน Hereditary แอนนีผู้เป็นแม่เคยละเมอราดน้ำมันใส่ลูกชายอย่างปีเตอร์ และเกือบจุดไฟเผาลูกชายในขณะที่กำลังหลับ นอกจากนี้ยังมีฉากที่แอนนีฝันว่าเธอได้จุดไฟเผาลูกชายและตัวเธอไปพร้อม ๆ กัน หลังจากที่สารภาพความจริงว่า เธอไม่เคยอยากมีลูกชาย และเคยพยายามทำให้ตัวเองแท้งด้วยวิธีการต่าง ๆ มากมาย ระหว่างที่ท้องปีเตอร์

ใน Midsommar ไฟที่ถูกจุดเพื่อเผาบรรณาการแห่งหมู่บ้านฮอร์กา ไม่เพียงเป็นไฟแห่งการเริ่มต้นของสิ่งใหม่ ๆ ที่พระเจ้าแห่งธรรมชาติจะมอบตอบแทนให้กับหมู่บ้าน แต่ไฟแห่งบรรณาการนี้ยังเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘ชีวิตใหม่’ ที่สุขสงบและปราศจากความชั่วร้าย ตามที่ผู้ทำพิธีประจำหมู่บ้านได้อธิบายว่า หมีบรรณาการ (และแฟนหนุ่มของนางเอก) เป็นตัวแทนของอารมณ์กราดเกรี้ยวและอารมณ์ด้านลบอื่น ๆ ของคนในหมู่บ้าน ซึ่งจะอันตรธานหายไปในกองไฟ และเมื่อไฟถูกจุดขึ้น เหล่าคนในหมู่บ้านก็ใช้โอกาสนี้ในการพากันมาตีอกชกหัว ปลดปล่อยอารมณ์อันรุนแรง เพื่อจะได้เริ่มต้นวงจรชีวิตใหม่ที่มีแต่รอยยิ้ม (สยอง)

Hereditary (2018)

Hereditary (2018)

เรื่องราวของไฟในฐานะสัญลักษณ์แห่งการชำระล้างและการเกิดใหม่ เห็นได้ชัดเจนในความเชื่อเรื่อง ‘ไฟชำระ’ ในศาสนาคริสต์ หรือที่เรียกว่า ‘Purgatory’ โดยคนทั่วไปมักเข้าใจผิดว่าไฟชำระคือหนึ่งในวิธีการลงทัณฑ์คนบาป หากแต่ในความจริงแล้ว ไฟชำระคือขั้นตอนการชำระล้างจิตวิญญาณ ก่อนที่ดวงวิญญาณนั้นจะได้ขึ้นไปสถิตย์บนสรวงสวรรค์

ด้วยเหตุนี้ ในขณะที่ไฟเผาสิ่งบรรณาการในตอนสุดท้ายของ Midsommar คือไฟชำระเพื่อเริ่มต้นสิ่งใหม่ และการนำมาสู่ความดีงาม นั่นก็คือชีวิตใหม่ของแดนี ซึ่งเหมือนได้เกิดใหม่ในหมู่บ้านฮอร์กา ได้ปลดปล่อยตัวเองจากชีวิตอันระทมทุกข์ และได้พบกับครอบครัวใหม่ขนาดใหญ่ แทนที่ครอบครัวเก่าที่เธอเสียไป…

…ไฟชำระล้างที่เกิดขึ้นใน Hereditary ในฉากที่ผู้เป็นพ่อลุกโชนมอดไหม้ ‘ไฟ’ ที่เกิดขึ้นในครอบครัวของปีเตอร์ก็เป็นไฟแห่งการเริ่มต้นสิ่งใหม่เช่นกัน …แต่เป็นการเริ่มต้นของวัฏจักรใหม่แห่งความชั่วร้าย การมาเกิดใหม่ของปีศาจไพมอน ที่ครอบงำครอบครัวของปีเตอร์มาเนิ่นนาน

Midsommar (2019)

Midsommar (2019)

และในขณะที่ Hereditary และ Midsommar ใช้ไฟเป็นสัญลักษณ์เพื่อสื่อถึงการชำระล้างและการเกิดใหม่ ในผลงานล่าสุดของแอสเตอร์อย่าง Beau Is Afraid ที่แตกต่างจากสองเรื่องแรกที่ว่าด้วยเรื่องราวของลัทธิสยอง แอสเตอร์ก็เลือกที่จะเล่าเรื่องราวความเป็นและความตายผ่านสัญลักษณ์แห่งการชำระล้างอีกแบบ นั่นก็คือ ‘น้ำ’

น้ำเป็นสัญลักษณ์สำคัญในเรื่องราวของโบ หากสังเกตดูให้ดีจะพบว่า ทุกเหตุการณ์สำคัญและจุดพลิกผันที่จะนำไปสู่การเผชิญหน้ากับสิ่งใหม่ ล้วนมีน้ำเข้ามาเป็นส่วนประกอบ ตั้งแต่ฉากการเกิดที่มาพร้อมกับน้ำคร่ำ ฉากความทรงจำในอ่างอาบน้ำ การพบกับเด็กสาวคนรักที่สระว่ายน้ำ ไปจนถึงจุดเริ่มต้นความวายป่วงของเรื่องที่มาจากการตามหาน้ำเพื่อดื่มหลังกินยา (“Always with water”) หรือฉากโบเผชิญหน้ากับคนแปลกหน้าในอ่างอาบน้ำสุดหลอน ซึ่งนำพาโบเข้าสู่เส้นทางแห่งการพิพากษาของผู้เป็นแม่

Beau Is Afraid (2023)

Beau Is Afraid (2023)

และตามสไตล์ของอารี แอสเตอร์ ผู้ชอบหยิบสิ่งสิ่งหนึ่งมาพลิกให้เราเห็นความหมายด้านกลับ ดังเช่นไฟที่เป็นสัญลักษณ์ของการเกิดใหม่หรือเริ่มต้นใหม่ เจ้าตัวก็หยิบมาพลิกแพลงให้เป็นการเกิดใหม่ของความชั่วร้าย จุดเริ่มต้นของความตาย และความสยดสยอง น้ำที่ปรากฏใน Beau Is Afraid ก็ถูกนำเสนอให้เป็น ‘จุดเริ่มต้น’ ที่พาโบไปพบกับ ‘จุดจบ’ …จากสายน้ำคร่ำที่พาเขาออกมาจาก ‘มดลูก’ ของแม่ สู่สายน้ำในตอนท้ายที่พาเขาล่องนาวาลอด ‘อุโมงค์ถ้ำ’ เพื่อไปสู่ฉากพิพากษาในตอนจบ

และน้ำที่เป็นสัญลักษณ์แห่งจุดเริ่มต้นและจุดจบของชีวิตโบ ก็มีสถานะไม่ต่างจากแม่ผู้ให้กำเนิดของเขา …ที่เป็นทั้งผู้ให้ชีวิตของโบ และก็เป็นผู้พรากชีวิตไปจากโบเช่นเดียวกัน

อ้างอิง

Freud, Sigmund, and James Strachey. "Medusa's Head" and" The Infantile Genital Organization."." Trans. James Strachey. The Medusa Reader. Ed. Marjorie Garber and Nancy J. Vickers. New York: Routledge (2003): 84-86.

Kristeva, Julia. The severed head: capital visions. Columbia University Press, 2012.