GC_Artterm Contemporary.jpg

Contemporary Art ศิลปะร่วมสมัยที่เกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน (แต่ดันเข้าใจยากกว่ายุคที่ผ่านมา)

Art
Post on 7 May

ในโลกศิลปะ หนึ่งในคำง่าย ๆ แต่ความหมายสุดลึกล้ำที่เราเคยผ่านตากันมากที่สุด แต่ก็เป็นคำที่เราไม่เข้าใจมากที่สุด ก็คงหนีไม่พ้นคำว่า Contemporary Art ที่แปลเป็นไทยว่า ‘ศิลปะร่วมสมัย’ ซึ่งขนาดแปลแล้วก็ยังชวนให้ขมวดคิ้ว สมัยไหน? ร่วมกับใคร? แล้วจะแยกอย่างไรว่างานนี้ร่วมสมัย ล้าสมัย หรือล้ำสมัย?

หากใครงง ก็อย่ากลัวที่จะงง เพราะจนถึงปัจจุบัน เหล่าอาจารย์ นักศึกษาศิลปะ และนักประวัติศาสตร์ศิลปะก็ยังคงวุ่นกับการตบตีกันเองเมื่อใดก็ตามที่มีคนลุกขึ้นมาตั้งกรอบทฤษฎีเพื่อจำกัดขอบเขตและนิยามของงานศิลปะร่วมสมัย จนเป็นการยากที่เราจะอธิบายให้ชัดลงไปว่าศิลปะแห่งยุคสมัยของเรานั้นคืออะไรกันแน่ ถึงขนาดที่เคยมีคนกล่าวว่า หน้าที่ในการให้คำนิยามศิลปะในยุคสมัยของเรา อาจไม่ใช่หน้าที่ของคนที่กำลังใช้ชีวิตและหายใจอยู่ในยุคสมัยนี้ แต่เป็นหน้าที่ของคนรุ่นถัดไปที่ต้องย้อนกลับมาสรุปภาพรวมของศิลปะในยุคของเรา เหมือนกับที่ศิลปะโกธิคถูกตั้งชื่อและสรุปภาพรวมโดยคนในยุคเรอเนซองส์ เป็นต้น

แม้ว่าการตอบคำถามว่า ‘อะไรคือศิลปะร่วมสมัย’ จะเป็นเรื่องยาก และแม้ว่าศิลปะแห่งยุคสมัยของเราที่ยังคงดำเนินไปอย่างไร้บทสรุปนี้จะเป็นเรื่องยากในการทำความเข้าใจ แต่เราขอให้โปรดเปิดใจ และอย่าเพิ่งถอดใจกับศิลปะในยุคนี้ที่กล้วยแปะกำแพง ขี้อัดกระป๋อง หรือการนั่งจ้องตากันก็เป็นงานศิลปะได้ 

คอลัมน์ Artเทอม ประจำสัปดาห์นี้ เราจึงขอใช้พื้นที่นี้ในการตอบคำถาม (เกือบ) ทุกข้อที่ทุกคนสงสัยเกี่ยวกับงานศิลปะร่วมสมัย ตั้งแต่ (เขาคิดกันว่า) ศิลปะร่วมสมัยคืออะไร? ไปจนถึงเขาดูอะไรกันในงานศิลปะร่วมสมัย? ถ้ายังอยากเปิดใจและเข้าใจศิลปะที่คนรุ่นหลังจะจดจำว่าเป็นศิลปะแห่งยุคสมัยของเรา ก็ลองเลื่อนไปสำรวจกันเลย

<p><i>"We Walked the Earth" ผลงานของศิลปิน Uffe Isolotto จัดแสดงในพาวิลเลียนของเดนมาร์ก เทศกาลศิลปะเวนิซเบียนนาเล่ 2022</i></p>

"We Walked the Earth" ผลงานของศิลปิน Uffe Isolotto จัดแสดงในพาวิลเลียนของเดนมาร์ก เทศกาลศิลปะเวนิซเบียนนาเล่ 2022

‘ศิลปะร่วมสมัย’ = ศิลปะที่เกิดขึ้นในช่วงชีวิตของเรา (?)

สำหรับคำถามที่ว่า ‘ศิลปะร่วมสมัยคืออะไร?’ นั้น คำตอบที่ชัดเจนที่สุดอาจเป็นการตอบด้วยคำถาม

ในหนังสือ Art Incorporated: The Story of Contemporary Art ที่นักทฤษฎีศิลปะ โทนี ก็อดฟรีย์ พยายามสรุปรวมและอธิบายลักษณะของศิลปะร่วมสมัย เขาได้ขึ้นต้นหนังสือด้วยการย้อนกลับไปอ้างอิงคำถามสำคัญเกี่ยวกับศิลปะในปี 1950 ของ อี.เอช. กอมบริช (ผู้เขียนหนังสือ The Story of Art เล่มหนาปึกที่เราคุ้นเคยกันดี) ที่ว่า ‘อะไรคือความงามในศิลปะ?’ ซึ่งก็อดฟรีย์ให้ความเห็นว่า คำถามนี้อาจจะล้าสมัยไปแล้ว เพราะคำถามสำหรับศิลปะในยุคปัจจุบันควรเป็น ‘อะไรคือศิลปะ?’ มากกว่า

ที่ก็อดฟรีย์ตั้งคำถามเช่นนั้น ก็เพราะศิลปะในยุคสมัยปัจจุบันมีความหลากหลายมาก ทั้งในเรื่องของวัสดุที่นำมาใช้ รูปแบบ ฟอร์ม ไปจนถึงแนวคิดและประเด็นที่ถูกนำมาถ่ายทอดผ่านศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศ มนุษย์ สัตว์ สิ่งแวดล้อม เอเลียน ฯลฯ จนเรื่องของความงามอาจไม่ใช่ประเด็นหลักสำคัญของศิลปะในยุคนี้อีกต่อไป

แม้จะมีคนเคยพยายามจำกัดขอบเขตของศิลปะร่วมสมัยให้อยู่ในกรอบของศิลปะที่ถูกสร้างขึ้นใน ‘ช่วงชีวิตของเรา’ แต่คำจำกัดความนี้ก็ยังไม่กว้างพอที่จะครอบคลุมศิลปะในยุคปัจจุบันทั้งหมด (ยังไม่รวมถึงปัญหาในการนิยามว่า ‘ช่วงชีวิตของเรา’ นี่คือช่วงชีวิตของใคร?)

นอกจากนี้ยังมีความพยายามที่จะกำหนดเส้นแบ่งว่า ศิลปะร่วมสมัยเกิดขึ้นตั้งแต่ยุคไหน โดยส่วนมากมักจะปักหมุดกันที่หลัง 1970s เป็นต้นมา แต่ก็มีคนแย้งว่าควรย้อนกลับไปถึงยุค 1960s หรือไม่ก็ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไปเลย และยังมีบางส่วนที่เสนอว่า ศิลปะร่วมสมัยคือศิลปะที่เกิดขึ้นในปลายยุคศตวรรษที่ 20 หรือศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เป็นจุดตัดระหว่างศิลปะโมเดิร์น (Modern Art) กับศิลปะร่วมสมัยพอดี

ซึ่งนั่นก็นำมาสู่อีกหนึ่งคำถามสำคัญที่ชวนเกาหัวไปอีก …แล้วศิลปะโมเดิร์นกับศิลปะร่วมสมัยแตกต่างกันอย่างไร?

<p><i>&nbsp;La dépossession, 2014, Latifa Echakhch</i></p>

 La dépossession, 2014, Latifa Echakhch

<p>The Starry Night, 1889, Vincent van Gogh</p>

The Starry Night, 1889, Vincent van Gogh

Modern Art VS. Contemporary Art

หากลองเสิร์ชคำว่า Modern ในพจนานุกรมคำเหมือนออนไลน์ คำแรก ๆ ที่ปรากฏขึ้นมาคือคำว่า Contemporary และในขณะเดียวกัน เมื่อเสิร์ชหาคำเหมือนของ Contemporary คำว่า Modern ก็จะขึ้นมาเป็นอันดับแรก ๆ

แม้ว่าความหมายของคำว่า ‘สมัยใหม่’ กับ ‘ร่วมสมัย’ จะมีความคล้ายคลึงกัน แต่ในโลกศิลปะ คำทั้งสองที่ถูกนำมาใช้เรียกยุคสมัยหรือขบวนการเคลื่อนไหวทางศิลปะนั้นมีความแตกต่างกันมาก ๆ แม้ว่าจะมีการส่งต่ออิทธิพลหรือมีช่วงเวลาคาบเกี่ยวกันก็ตาม

Modern Art หรือศิลปะสมัยใหม่ มักจำกัดขอบเขตอยู่ที่ศิลปะในช่วง 1860s - 1970s ลักษณะสำคัญของศิลปะในยุคนี้คือการท้าทายกรอบของศิลปะในยุคก่อน ๆ และทดลองรูปแบบและความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในแง่ของศิลปะ งานศิลปะในยุคนี้จะเคลื่อนตัวออกจากการเล่าเรื่องแบบตรงไปตรงมาของศิลปะในยุคก่อน และเริ่มเผื่อช่องว่างชวนให้ผู้ชมก้าวเข้ามามีปฏิสัมพันธ์และคิดจินตนาการต่อเองมากขึ้น หรือพูดง่าย ๆ ว่ามีความ ‘แอ็บสแตร็ค’ มากขึ้นนั่นเอง

คนที่วางรากฐานสำคัญให้กับ Modern Art คือเหล่าศิลปินแก๊งหลังประทับใจ (Post-Impressionism) อย่าง วินเซนต์ แวนโกะห์, ปอล เซซาน, ปอล โกแก็ง, จอร์ต เซอราต์ และ ออวรี เดอ ตูลูส-ลอแต็ค ซึ่งแม้ว่าหน้าตาผลงานของพวกเขาจะดูห่างไกลจากภาพวาดบาศก์นิยมของ ปาโบล ปิกัสโซ หรืองานโถฉี่ของ มาร์เซล ดูชอมป์ ที่ถือเป็นหนึ่งในผลงานปักหมุดยุคโมเดิร์แบบฟ้ากับเหว แต่สิ่งที่ศิลปินแก๊งก่อนหน้าตั้งต้นไว้ให้ก็คือการเป็นขบถในโลกศิลปะ พวกเขาเป็นตัวเปิดในแง่ของการแหกขนบของการวาดภาพตรงหน้าให้เหมือนกับที่ตาเห็นมากที่สุด มาสู่การถ่ายทอดจากอารมณ์ความรู้สึก ท้องฟ้ายามราตรีที่ขยึกขยือ หรือภาพทิวทัศน์ที่เกิดจากการป้ายฝีแปรงลงไปเร็ว ๆ จนทำให้พวกเขาเคยถูกเหยียดหยันและด้อยค่าผลงานแหกจารีตศิลปะของพวกเขามาแล้ว

<p><i>Fountain, 1917, Marcel Duchamp</i></p>

Fountain, 1917, Marcel Duchamp

แล้วถัดจากศิลปะสมัยใหม่ เค้าลางของศิลปะร่วมสมัยเริ่มต้นที่ตรงไหน? จุดเชื่อมต่อระหว่างศิลปะโมเดิร์นกับศิลปะร่วมสมัยก็คือยุคหลังโมเดิร์น (เอาเข้าไป) หรือ Post-modernism พูดง่าย ๆ ว่าหากยุคโมเดิร์นคือยุคแห่งรอยผลิแตกจากแนวคิดเดิม ๆ ที่เคยมีมา (เรียกว่า ตาสว่าง หรือ เบิกเนตร ก็ได้) ยุคหลังโมเดิร์นหรือยุคหลังสมัยใหม่ก็คือการสานต่อแนวคิดต่าง ๆ ที่มาจากรอยผลิแตกนั้น โดยเฉพาะการมองว่าทุกสิ่งไม่ได้ดำเนินไปเป็นเส้นตรง เรียงตามลำดับ หรือดำรงอยู่แบบเป็นขั้วตรงข้ามกัน หากแต่เป็นโครงข่ายสายใยขนาดใหญ่ที่มีความเป็นไปได้มากมาย และไร้ขั้วตรงข้าม ทัศนะในการมองโลกที่เปลี่ยนไปเช่นนี้ได้ส่งอิทธิพลต่อแนวคิดต่าง ๆ มากมาย เช่น มุมมองเกี่ยวกับเพศที่ไม่ได้มีแค่เพศกำเนิด ชายหรือหญิงเท่านั้น แต่ยังมีเพศวิถี ความหลากหลายทางเพศ ไปจนถึงการทลายแนวคิดเรื่องสถานะของมนุษย์ในฐานะศูนย์กลางของสรรพสิ่ง ซึ่งนำมาสู่การหันกลับมาให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ

ร่องรอยของศิลปะร่วมสมัยเริ่มปรากฏให้เห็นในยุคเปลี่ยนผ่านจากโมเดิร์นมาสู่โพสต์โมเดิร์น ศิลปะในยุคนี้ไม่ได้วางตัวเป็นแค่ภาพสะท้อนความเป็นไปของสังคม แต่มีการตั้งคำถาม ท้าทาย ไปจนถึงการนำเสนอแนวคิดใหม่ ๆ ด้วย ศิลปินในยุคนี้ทำงานศิลปะเหมือนการทำวิจัยหรือรีเสิร์ช กระบวนการทำงานศิลปะในยุคนี้ก็มีการค้นคว้าหาข้อมูล ตั้งสมมุติฐาน และนำเสนอทฤษฎีใหม่ ไม่ต่างจากกระบวนการทดลองทางวิทยาศาสตร์

นอกจากนี้ยังมีบางส่วนที่ให้ความเห็นว่า จุดตัดระหว่างศิลปะสมัยใหม่กับศิลปะร่วมสมัยเกิดขึ้นในยุคที่ศิลปะวิดีโออาร์ตและศิลปะเพอร์ฟอร์แมนซ์อาร์ตเริ่มเฟื่องฟูด้วย

<p><i>America, 2016, Maurizio Cattelan</i></p>

America, 2016, Maurizio Cattelan

เวลาดูงาน Contemporary Art เขาดูอะไรกัน?

เทอร์รี สมิธ ศิลปินและผู้เขียนหนังสือ What Is Contemporary Art? ได้สรุปเอกลักษณ์ของศิลปะร่วมสมัย หรือศิลปะที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้ว่า “เป็นศิลปะที่กระตุ้นเร้าปลุกระดม มีท่าทีสงสัยและตั้งคำถาม สอดแทรกนัยยะสองชั้น เป็นตัวเปิด แต่ทำด้วยท่าทีนอบน้อม และเปิดพื้นที่ให้กับความหวัง”

คำนิยามของสมิธอาจไม่ใช่การอธิบายศิลปะร่วมสมัยได้สมบูรณ์และครอบคลุมที่สุด แต่ความน่าสนใจของคำอธิบายนี้ก็คือการที่มันไม่มีคำว่า ‘ความงาม’ ซึ่งเคยถูกมองว่าเป็นคุณค่าหลักของศิลปะอยู่ในประโยคเลย

การไม่ได้มุ่งคำนึงถึงคุณค่าเรื่องความงามเป็นหลัก ก็เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผลงานของศิลปินร่วมสมัยมากมายถูกผู้ชมบางส่วนมองอย่างผิด ๆ ว่าไร้คุณค่า ไม่สมราคา ไปจนถึงถูกมองข้าม ทั้งที่จริงแล้วการตัดสินคุณค่าของงานศิลปะร่วมสมัยหลาย ๆ ชิ้นในยุคนี้ว่าสวยหรือไม่สวย อาจเป็นเหมือนกับการตัดสินว่าอาหารจานหนึ่งอร่อยหรือแหลกไม่ล่าย โดยตัดสินจากเวลาที่เชฟใช้ในการปรุง

งานศิลปะร่วมสมัย (หลาย ๆ ชิ้น) ไม่ได้ถูกถ่ายทอดผ่านสุนทรียะความงามของศิลปะคลาสสิก หรือสกิลการวาด ปั้น ระบายสี ในยุคปัจจุบัน งานศิลปะหลายชิ้นมุ่งหมายที่จะ ‘เล่าเรื่อง’ ผ่านการทดลองนำเสนอสื่อรูปแบบใหม่ ๆ ยิ่งไปกว่านั้น ศิลปินในยุคนี้ยังไปถึงขั้นพาผู้ชมไปเผชิญหน้ากับประสบการณ์ใหม่ ๆ หรือหลุดออกจากความคุ้นเคยในชีวิตประจำวัน

จริงอยู่ว่างานศิลปะในยุคสมัยไหนก็ล้วนเล่าเรื่องด้วยกันทั้งนั้น แต่ในยุคสมัยปัจจุบันที่มนุษย์เราเดินทางข้ามเส้นแบ่งเวลา เส้นแบ่งภาษา และเส้นแบ่งพื้นที่จริงกับพื้นที่เสมือน เคลื่อนย้ายถิ่นฐานจากชุมชนในละแวกบ้าน มาสู่ชุมชนบนโลกโซเชียลกันเป็นเรื่องปกติ ศิลปินในยุคปัจจุบันที่มีหน้าที่เหมือนนักวิจัยจึงต้องนำเสนอแนวคิดหรือหัวข้อการพูดคุยใหม่ ๆ รวมไปถึงภาษาใหม่ในการพูดคุย ศิลปินในยุคนี้บางส่วนจึงก้าวข้ามคุณค่าเรื่องความงาม ซึ่งเป็นภาษาที่เราคุ้นเคยกันดีอยู่แล้วไปเสีย

ด้วยเหตุนี้ เมื่อเราดูงานศิลปะร่วมสมัย เราจึงเผชิญหน้ากับภาษาและมุมมองแนวคิดใหม่ ๆ ที่เราอาจไม่คุ้นเคยหรือไม่เคยรู้จักมาก่อน เพราะคุณค่าของศิลปะในยุคปัจจุบันหาใช่การพูดถึงเรื่องที่เรารู้และคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว แต่เป็นการพาเราไปเผชิญหน้ากับความท้าทายและข้อเสนอแนะใหม่ ๆ ซึ่งเป็นทั้งสิ่งที่ศิลปินต้องการจะชวนเราคุย และในขณะเดียวกันก็เป็นบทสนทนาที่เราต้องกลับมาชวนตัวเองครุ่นคิดด้วยเช่นกัน

เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น ต่อไปนี้คืองานศิลปะที่อาจทำให้เราเห็นภาพศิลปะร่วมสมัยได้ชัดเจนขึ้น หรือไม่ก็งงกว่าเดิม ซึ่งไม่เป็นไร เพราะประสบการณ์การงง ก็คือหนึ่งในประสบการณ์ของการรับชมงานศิลปะร่วมสมัยอยู่แล้ว

22.1.2000 [Florence]

แกร์ฮาร์ด ริตช์เตอร์ เป็นศิลปินที่ทำงานในหลายแขนง หนึ่งในนั้นคือการทำงานจิตรกรรมหรือภาพวาด และเมื่อพูดว่าริตช์เตอร์วาดภาพแล้ว เรายังต้องแยกย่อยประเภทของภาพที่เขาวาดลงไปอีก ซึ่งก็ไล่ไปตั้งแต่ภาพทิวทัศน์จนถึงภาพนามธรรม ซึ่งริตช์เตอร์ก็เคยอธิบายว่า การที่เขาลองวาดภาพในหลากหลายรูปแบบนั้นก็เพื่อที่จะสำรวจความเป็นไปได้ต่าง ๆ ในการนำเสนอภาพสะท้อนของโลก โดยเขาครุ่นคิดและสงสัยถึง ‘ความจริง’ ที่มนุษย์พยายามจะนำเสนอผ่านภาพอยู่ตลอดเวลา และการลงไปทำงานสร้างภาพวาดก็ทำให้เขาได้สำรวจวิธีการต่าง ๆ ที่มนุษย์เราใช้ในการสะท้อนความจริง

ภาพที่ริตช์เตอร์วาดนั้นคือการนำเสนอสิ่งที่เขามองเห็น ซึ่งไม่ใช่แค่โลกกายภาพที่อยู่รอบตัวเขาเท่านั้น แต่เขายังนำเสนอโลกที่เขาเห็น ‘ข้างใน’ ตัวเขาลงไปบนผืนผ้าใบด้วย โดยเทคนิคหนึ่งที่เขาชอบใช้ในการวาดภาพก็คือการป้ายสีต่าง ๆ ลงไปบนผืนผ้าใบขนาดใหญ่ จากนั้นจึงค่อยใช้คราดสีขนาดใหญ่กวาดสีเหล่านั้น เพื่อให้เกิดเป็นภาพใหม่ โดยวินาทีสำคัญก็คือตอนที่บนผ้าใบจะปรากฏภาพวาดสุดท้ายที่คาดเดาไม่ได้เลยว่าจะออกมาแบบไหน ซึ่งกระบวนการนั้นก็คือการปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระต่อความคาดหวัง ให้ได้ลองเสี่ยง และรับผลใดก็ตามที่จะเกิดขึ้น ซึ่งริตช์เตอร์เคยอธิบายว่า “แต่ละขั้นตอนที่จะเกิดขึ้นต่อไปนั้นยากขึ้นเรื่อย ๆ ผมรู้สึกว่าตัวเองเป็นอิสระน้อยลง ๆ จนกระทั่งถึงตอนสุดท้ายนั่นล่ะที่ผมตระหนักว่า ไม่มีอะไรให้ผมทำต่อแล้ว และนั่นคืออิสระที่แท้จริง”

Can’t Help Myself (2016)

แขนหุ่นยนต์เตนเลสที่กำลังเคลื่อนไหวและกวาดของเหลวสีแเดงที่ทำให้นึกถึงโลหิตนี้คือผลงานของ Sun Yuan และ Peng Yu คู่หูศิลปินชาวปักกิ่งผู้มีชื่อเสียงโด่งดังจากผลงานคอนเซปชวลอาร์ตสุดสะท้อนสังคมมากมาย ในผลงานที่ชื่อว่า Can’t Help Myself (2016) หรือ ‘หยุดตัวเองไม่ได้’ นี้ ทั้งสองต้องการจะสะท้อนชะตากรรมของมนุษย์ในโลกที่เทคโนโลยีกำลังมีบทบาทสำคัญ และมนุษย์ก็ต้องเร่งปรับตัวเพื่อแข่งกับโปรแกรมและหุ่นยนต์ จนกระทั่งเส้นแบ่งระหว่างความเป็นมนุษย์และหุ่นยนต์เริ่มพร่าเลือน

แขนหุ่นยนต์ที่อยู่เบื้องหลังแผ่นอะคริลิกใสนี้ถูกตั้งโปรแกรมให้ทำภารกิจเพียงอย่างเดียว นั่นก็คือการกวาดของเหลวสีแดงเข้มเข้ามารวมกันในพื้นที่ที่ถูกกำหนดไว้ เมื่อเซนเซอร์ของหุ่นยนต์จับได้ว่าของเหลวนั้นไหลออกไป แขนหุ่นยนต์นั้นก็จะกวาดของเหลวนั้นกลับมาอีก วนอยู่เช่นนี้เรื่อยไป ซึ่งการกวาดในแต่ละครั้งก็ทำให้เกิดรอยสีแดงบนพื้น หรือไม่ก็รอยที่กระเด็นไปติดแผ่นอะคริลิกตรงหน้าผู้ชม ในที่นี้ ศิลปินตั้งใจะที่จะใช้แขนหุ่นยนต์ในการสร้างงานศิลปะแทนตัวศิลปิน โดยตั้งคำถามว่า หากหุ่นยนต์เหล่านี้สามารถเข้ามาแทนที่แรงงานมนุษย์ในกระบวนการผลิตได้ แล้วในท้ายที่สุด หุ่นยนต์จะเข้ามาแทนที่ศิลปินและสร้างผลงานศิลปะที่เรียกได้ว่าเป็นผลผลิตจากหยาดเหงื่อแรงงานของศิลปินได้หรือไม่?

Personnes / Monumenta (2010)

‘Personnes’ ในภาษาฝรั่งเศสแปลว่า ‘ผู้คน’ (People) และในขณะเดียวกันมันก็มีความหมายว่า ‘ไร้ผู้คน’ (Nobody) เช่นเดียวกัน ซึ่งนั่นก็คือคำที่ครอบคลุมแมสเสจทั้งหมดที่โบลตองสกีต้องการจะนำเสนอในผลงานที่เปิดตัวครั้งแรกที่ Grand Palais กรุงปารีสในปี 2010 …กองเสื้อผ้าขนาด 50 ตันและกองเสื้อผ้าเล็ก ๆ ที่กระจายตัวอยู่ทั่วพื้นที่ของ Grand Palais อันหนาวเหน็บคือการสะท้อนความมีอยู่และไม่มีอยู่ของมนุษย์ไปพร้อม ๆ กัน

เมื่อก้าวเข้ามาในพื้นที่จัดแสดง ผู้ชมจะถูกบังคับให้ ‘รู้สึก’ ไปกับสภาวะความไม่มีอยู่ของสิ่งที่เคยมีอยู่ ท่ามกลางอุณหภูมิหนาวเหน็บที่เป็นความตั้งใจของศิลปิน ผู้ชมจะต้องเดินผ่านกองเสื้อแจ็คเกตและกางเกง 69 กองที่ถูกจัดให้คว่ำด้านหน้าลง และตามเส้นทางนั้นจะมีลำโพงที่เปล่งเสียงจังหวะหัวใจเต้นของผู้คน ทำให้ผู้ชมยิ่ง ‘รู้สึก’ สะท้านไปกับความรู้สึกกระอักกระอ่วนกับสิ่งที่บ่งบอกถึงชีวิต แต่กลับไม่มีชีวิตใดปรากฏให้เห็น

ที่ใต้โดมของ Grand Palais พีระมิดเสื้อผ้าตั้งตระหง่านง้ำค้ำผู้ชม เหนือขึ้นไปคือคีมจักรกลที่หย่อนตัวลงมาคว้าด้านบนของกองผ้า ดึงขึ้นไป แล้วปล่อยผ้านั้นให้ร่วงหล่นลงมา ราวกับมือของพระเจ้าที่เอื้อมลงมาหยิบชีวิตของมนุษย์แล้วปล่อยให้ร่วงหล่นสู่ความตาย ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เป็นวัฏจักรที่มนุษย์ทุกคนต้องเผชิญ

‘ไม่มีใครอยู่ที่นี่’ แต่ผู้ชมกลับรู้สึกได้ถึง ‘การมีอยู่’ ของชีวิตก่อนจะสิ้นสูญด้วยความตายและการเลือนหายของความทรงจำ

“มนุษย์ตกอยู่ใต้บัญชาการของเวลา ชีวิต และความตาย ซึ่งเราเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า ‘พระเจ้า’ เขาไม่เคยลงมามีปฏิสัมพันธ์ข้องเกี่ยวกับเรา และไม่เคยอนุญาตให้เราเข้าไปทำความเข้าใจการกระทำของเขาซึ่งก็ปราศจากเหตุผลโดยสิ้นเชิง เด็กไร้เดียงสาถูกฆ่าตาย แต่คนเลวกลับมีชีวิตรอด ที่สุดแล้วความงดงามของการเป็นมนุษย์ก็คงจะเป็นการที่เราต้องพยายามขบถต่อพระเจ้า แต่แน่นอนว่าไม่มีใครสามารถต่อกรกับพระเจ้าได้ การเป็นมนุษย์จึงเป็นเรื่องของการพยายามที่จะต่อสู้กับโชคชะตาอันโหดร้ายนี้ทั้งที่รู้ว่าไม่มีทางเอาชนะได้”

Eins und Eins (One and One) (2016)

เมลาตี ซูเรอดาร์โม เกิดเมื่อปี 1969 ที่เมืองสุราการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย แม่ของเธอเป็นศิลปินนาฏศิลป์พื้นถิ่น ในขณะที่พ่อของเธอก็เป็นศิลปินแสดงสดที่ใช้การเคลื่อนไหวของร่างกายเพื่อไปสู่การเข้าถึงทางจิตวิญญาณ

ในวัยเด็กซูเรอดาร์โมเริ่มเรียนศิลปะการเต้นและการเคลื่อนไหวร่างกาย โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวร่างกายเพื่อทำสมาธิ และสมัยที่เรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยที่บันดุง เธอก็เป็นหนึ่งในนักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านอดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โต โดยเธอได้เข้าร่วมในขบวนการเคลื่อนไหวใต้ดินของกลุ่มนักศึกษาด้วย

ซูเรอดาร์โมย้ายไปใช้ชีวิตอยู่ในประเทศเยอรมนีในปี 1994 ที่นั่นเองที่เธอได้มีโอกาสพบกับ อันซึ ฟุรุคาวะ ศิลปินแสดงสดที่นำศิลปะนาฏศิลป์ของญี่ปุ่นอย่าง ‘บูโต’ มาเผยแพ่ให้เป็นที่รู้จักในแวดวงศิลปะร่วมสมัยของโลก การพบกับเจ้าแม่แห่งวงการแสดงสดทำให้ซูเรอดาร์โมเกิดความสนใจในศิลปะแสดงสด จนทำให้เธอเข้าเรียนในวิชาประติมากรรมและการแสดงสดที่ Braunschweig University of Art เพื่อที่จะได้เรียนกับฟุรุคาวะผู้ซึ่งเธออธิบายว่า ‘เป็นแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่ในการคิดทางศิลปะ’ ของเธอ อีกทั้งการเรียนศิลปะบูโตกับฟุรุคาวะก็ทำให้ซูเรอดาร์โมได้เรียนรู้เรื่องศิลปะการออกแบบคอสตูมและเซ็ต ซึ่งกลายมาเป็นหนึ่งในสุนทรียะการแสดงสดของเธอด้วย

ซูเรอดาร์โมย้ายกลับมาอินโดนีเซียในปี 2013 ที่ซึ่งเธอได้เริ่มเผยแพร่ศิลปะการแสดงสดให้เป็นที่รู้จักในบ้านเกิด เธอได้ริเริ่มจัดเทศกาลศิลปะแสดงสดงานแรกในอินโดนีเซีย ที่ต่อมาได้กลายเป็นแหล่งบ่มเพาะศิลปินรุ่นใหม่ให้กับประเทศ  

ในแง่ของผลงาน ซูเรอดาร์โมขึ้นชื่อในเรื่องการใช้การเคลื่อนไหวของร่างกายในการสื่อสารความสัมพันธ์ของตัวตนกับสภาพแวดล้อมภายนอก การแสดงของเธอมักเป็นการท้าทายขีดจำกัดทางกายภาพ เธอมักทำการแสดงโดยเคลื่อนไหวร่างกายในท่วงท่าเดิมติดต่อกันเป็นเวลาหลายชั่วโมง

“ฉันตั้งใจที่จะใช้ศิลปะของฉันเพื่อแตะเส้นแบ่งอันเลื่อนไหลระหว่างร่างกายกับสภาพแวดล้อมที่อยู่นอกร่างกายนั้น เป้าหมายของฉันคือการสร้างความรุนแรงในระดับที่มั่นคง โดยไม่ใช้โครงสร้างทางเรื่องเล่าใด ๆ เลย ...สิ่งที่ฉันชอบเสมอก็คือ เมื่อนักแสดงไต่ไปถึงระดับที่ไม่มีทางเป็นจริงได้ แต่พวกเขาก็ทำได้”

ใน Eins und Eins (One and One) ที่เธอมาทำการแสดงที่ BACC นั้น ซูเรอดาร์โมใช้ร่างกายของเธอเป็นภาพแทนของประเทศที่ถูกปิดกั้นไม่ให้ส่งเสียง เธอก้าวเข้ามาในห้องที่มีผนังสีขาวทั้งสามด้าน ก่อนจะเริ่มดื่มและอมน้ำสีดำที่ดูราวกับเป็นหมึกจีนสีดำซึ่งบรรจุอยู่ในกะละมังที่ตั้งอยู่กลางห้อง จากนั้นเธอจึงเริ่มบ้วนหมึกหรือพ่นออกมา พร้อมกับแสดงท่าท่างของความไม่สบายทางร่างกาย เหมือนกับกำลังถูกบีบคั้นแต่ก็ถูกปิดกั้นไม่ให้ระบายออกมา การแสดงที่กินระยะเวลายาวนานหลายชั่วโมงนี้พูดถึงสภาวะของการกลืนไม่เข้าคายไม่ออกของระบบเซ็นเซอร์ที่เกิดขึ้นในบ้านเกิดของศิลปิน ในที่นี้ ซูเรอดาร์โมแทนตัวเองเป็นประเทศอินโดนีเซียที่ไม่มีเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสารอย่างเสรี ดังน้ำหมึกที่พยายายจะพ่นพูด แต่ไม่อาจปรากฏออกมาเป็นคำ น้ำหมึกที่ผสมกับน้ำลายของมนุษย์ (การพูด) แต่ถูกปิดกั้นและไม่อาจเอื้อนเอ่ยออกมาได้

The Great Adventure of the Material (2019)

ลู่ หยาง คือศิลปินสื่อผสมจากเมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ผลงานของเธอมักเป็นการผสมศาสตร์อันหลากหลายทั้งภาพคอลลาจ ภาพยนตร์แอนิเมชั่นสามมิติ ศิลปะจัดวางวิดีโอเกม โฮโลแกรม นีออน เวอร์ชวลเรียลลิตี จนถึงการปรับแต่งซอฟต์แวร์ โดยเธอได้แรงบันดาลใจมาจากมังงะ อนิเมะ ศิลปะสไตล์ Cyber-punk ผลงานของเธอมักสำรวจประเด็นอัตถิภาวนิยมอันว่าด้วยความสัมพันธ์ของตัวตน อัตลักษณ์ ร่างกาย และการดำรงอยู่ภายใต้ลัทธิบริโภคนิยม

งานศิลปะของลู่ หยางมักเป็นการนำเสนอโลกแฟนตาซีที่ผนวกเข้ากับความเชื่อทางศาสนาพุทธซึ่งมีแก่นว่าด้วยสภาวะคู่ตรงข้ามระหว่างกายและจิต สวรรค์และนรก นิพพานและการเกิดใหม่ โลกที่เธอนำเสนอจึงแฝงไปด้วยความตาย ราคะ ความป่วยไข้ ซึ่งเป็นสารัตถะของความเป็นมนุษย์ เธอจึงมักใช้อวัยวะในระบบสืบพันธุ์ เช่น มดลูก หรือร่างกายของทารกที่ยังไม่ได้คลอด เพื่อนำเสนอมนุษย์ในระดับชีววิทยา

ในผลงาน The Great Adventure of the Material เธอได้สร้างโลกจำลองขึ้นมาแล้วดำเนินเรื่องราวผ่าน ‘เกม’ โดยที่เนื้อหาในเกมนั้นจะว่าด้วยการถือกำเนิดใหม่ในโลกของนรก สวรรค์ และในระดับชีววิทยา ที่ผู้เล่นจะต้องจับจอยบังคับเพื่อรับบทเป็นตัวละครที่กายเนื้อได้ถือกำเนิดขึ้นใหม่ในโลกหลังความตาย

ผลงานชิ้นนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ลู่ หยาง เดินทางมาประเทศไทย เธอได้ไปเยี่ยมชมประติมากรรมที่อุทยานนรก-สวรรค์ ที่วัดแสนสุขสุทธิวราราม จังหวัดชลบุรี ที่ซึ่งจัดแสดงรูปปั้นสัตว์นรกและภาพของนรกอันแสนทุกข์ทรมาน ช่างชาวไทย  การได้เห็นรูปปั้นสัตว์นรกแสนน่ากลัว (รึเปล่านะ) ที่ปั้นโดยช่างชาวไทย ทำให้เธอได้แรงบันดาลใจที่จะนำเสนอภาพโลกหลังความตายตามความเชื่อในวัฒนธรรมของคนไทย เธอมองว่าการลงโทษในนรกตามความเชื่อของไทยนั้นเกิดขึ้นภายใต้บริบทบริโภคนิยม ความเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติและทางไสยศาสตร์ และการมองเห็นโลกหลังวันสิ้นโลก

White Male for Sale (2021)

ครั้งแรกที่ Dread Scott ได้รู้ว่าคำว่า NFT ย่อมาจาก ‘Non-Fungible Token’ หรือ สินทรัพย์ที่มีรูปแบบเฉพาะตัวซึ่งไม่สามารถทำซ้ำหรือทดแทนกันได้ เขาก็เชื่อมโยงมันเข้ากับประวัติศาสตร์การค้าทาส ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ร่วมของชาวแอฟริกัน-อเมริกันเช่นเขาทันที

“คำว่า ‘สินทรัพย์’ เชื่อมโยงกับผมในแง่มุมที่ต่างออกไป เพราะผมเชื่อมโยงกับมันผ่านประวัติศาสตร์การค้าทาส ที่จริงแล้วผู้คนก็คือสิ่งที่ไม่สามารถทำซ้ำหรือทดแทนด้วยสิ่งอื่นได้ แต่ในประวัติศาสตร์การค้าทาสที่ผูกพันกับการมาถึงของทุนนิยมนั้น การค้าทาสได้เปลี่ยนให้มนุษย์เป็นสิ่งที่สามารถทำซ้ำหรือนำไปแลกเปลี่ยนได้”

นั่นจึงเป็นที่มาของผลงาน NFT ชิ้นแรกของศิลปินนักเคลื่อนไหวผู้ทำงานสะท้อนการกดขี่ทางชาติพันธุ์และผิวสีในสังคมอเมริกา จนทำให้เขาเคยถูกหมายหัวโดย จอร์จ ดับเบิลยู. บุช มาแล้ว ‘White Male for Sale’ (2021) คือผลงานวิดีโออาร์ตความยาว 1:10 นาทีที่ถูกเปิดวนเป็นลูปในวันที่ 1 ต.ค. 2021 ซึ่งเป็นวันเปิดนิทรรศการ ‘We're Going to End Slavery’

ในวิดีโอชิ้นนี้ ผู้ชมจะเห็นชายผิวขาวในชุดเสื้อเชิ้ตสีขาวและกางเกงทำงานยืนอยู่บนแท่นประมูลที่ตั้งอยู่กลางถนนในภาพสโลว์โมชัน ด้านหลังของชายผู้ยืนอยู่บนแท่นประมูลคือเหล่าผู้คนในชุมชนคนดำย่านบรูคลินที่กำลังเดินไปทำกิจวัตรประจำวันของตนเอง สิ่งที่ Dread Scott ทำก็คือการนำเสนอ ‘ประวัติศาสตร์ย้อนกลับ’ ที่คนผิวขาวถูกนำมาประมูลในต่อหน้าคนผิวดำ แต่ที่ตลกร้ายไปกว่านั้น ในยุคที่เราทุกคนกลายเป็นฟันเฟืองในเครื่องจักรที่เรียกว่า ‘ทุนนิยม’ คุณค่าของมนุษย์ที่เคยถูกยกย่องให้เป็น ‘สินทรัพย์ที่แลกเปลี่ยนไม่ได้’ กลับถูกทำให้เป็นสิ่งที่แลกเปลี่ยนและทำซ้ำได้ โดยไม่แบ่งว่าเป็นสีผิวใด

อ้างอิง

Wikipedia.org/wiki/Contemporary_art

Widewalls

E-flux

Medium

Smith, T. (2009). What is contemporary art?. University of Chicago Press.

Stallabrass, J. (2004). Art incorporated: The story of contemporary art. Oxford University Press.