Protest Art เครื่องมือแห่งการต่อต้าน ในรูปแบบงานศิลปะ

Art
Post on 2 October

เวลาไม่พอใจกับอะไรบางอย่าง เราควรทำอย่างไร? ตั้งสเตตัสด่า โทรหาเพื่อน เก็บแรงไว้ไปกากบาทตอนเลือกตั้ง รวมกลุ่มสร้างกองกำลัง ฯลฯ มีวิธีมากมายที่เราจะ “ประท้วง” หรือแสดงออกให้ความอึดอัด ความไม่พอใจ หรือข้อวิพากษ์วิจารณ์ของเรา ได้ออกไปสู่หูเพื่อนร่วมชะตากรรมคนอื่น ก่อนที่จะกลายเป็นพลังสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไร และศิลปะก็คงเป็นหนึ่งในเครื่องมือเหล่านั้นด้วย ที่เราอาจจะหยิบใช้ได้ดีบ้าง ในบางโอกาส

“ศิลปะคือเครื่องมืออันทรงพลัง เป็นภาษาที่สามารถใช้เพื่อแจ้งกระจ่าง เพื่อส่งข้อมูล หรือเพื่อนำไปสู่การกระทำก็ได้” เอมอรี ดักกลาส (Emory Douglas) นักออกแบบกราฟิกและสมาชิกพรรคแบล็ค แพนเธอร์ (Black Panther Party) องค์กรการเมืองแนวมาร์กซ์-เลนิน เคยกล่าวเอาไว้ในคำประกาศของเขา

ศิลปินนักเคลื่อนไหวทางการเมืองมากมายมีวิธีการประท้วงแบบเฉพาะตัวของตน ตามเทคนิคที่พวกเขาถนัด ไม่ต่างกับที่บางคนเลือกสร้างผลงานด้วยภาพวาดหรือเทคนิคอื่นจนเชี่ยวชาญ เราอยากเรียกงานศิลปะจากแรงขับภายในที่อยากตะโกนว่า ไม่! เพื่อต่อต้านสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ว่า “ศิลปะแห่งการประท้วง” หรือ Protest Art ซึ่งอาจจะไม่มีรูปแบบหน้าตาที่ชัดเจนนัก ว่าเป็นสไตล์อย่างไรแต่ก็พอจะบอกได้จากพลังงานที่ล้นเหลือร่วมกัน และการใช้งานของมันในฐานะเครื่องมือ ที่จะศิลปินหรือใครก็สามารถหยิบมาต่อต้านตามแนวความคิดของเราได้

GroundControl ชวนทุกคนมาเข้าสู่เดือนตุลาคม เดือนประวัติศาสตร์แห่งการต่อสู้ทางการเมืองในประเทศไทย ด้วยการสำรวจศิลปะแห่งการประท้วงหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่เทคนิคศิลปะแบบที่คุ้นเคยกัน ไปจนถึงศิลปะที่ท้าทายความหมายของงานศิลปะแบบเดิม ๆ เก็บไว้เป็นกล่องเครื่องมือ เพื่อรับมือกับทุกสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต…

ศิลปะแห่งการประท้วงคืออะไร?

“ศิลปะควรจะปลอบประโลมผู้ที่ถูกรังแก และรบกวนพวกที่สุขสบาย” กวีเม็กซิกัน ซีซาร์ เอ ครูซ (Cesar A. Cruz) กล่าว และแบงก์ซี (Banksy) เสด็จพ่อของชาวสตรีตอาร์ตสายเด็กดื้อ ผู้ส่งเสียงประท้วงผ่านศิลปะริมท้องถนน กล่าวย้ำอีกครั้งในยุคถัดมา

นั่นอาจจะเป็นข้อความที่เรียบง่ายที่สุด ในการทำความเข้าใจความหมายของ “ศิลปะแห่งการประท้วง” ว่ามันไม่ใช่ในรูปแบบทางศิลปะ แต่ในเป็นปฏิบัติการของมัน ที่เข้าไปก่อกวนเหล่าสิ่งผิดปกติที่ดูแสนจะปกติในสังคม หรือที่จริง ๆ อาจจะเรียกง่าย ๆ ก็ได้ว่า (ปฏิบัติ) การประท้วง ที่ใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือเท่านั้นเอง

แล้วการประท้วงคืออะไรกัน? เราเรียกฝูงชนที่มารวมตัวกันถือป้ายเดินขบวนบนถนนว่าผู้ชุมนุมประท้วงแน่นอน แล้วการใส่เสื้อแสดงสัญลักษณ์ขบถเป็นการประท้วงไหม? การบริจากเงินให้องค์กรที่ทำงานการเมืองเป็นการประท้วงไหม? พจนานุกรมทั่วไปบอกคล้าย ๆ กันแค่ว่า การประท้วง (protesting) คือการ “กระทำการหรือแสดงกิริยาอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นการคัดค้านเพราะไม่เห็นด้วยหรือไม่พอใจอย่างยิ่ง”

ศิลปะแห่งการประท้วง (protest art) อาจจะใช้เทคนิคการแสดงออกทางความคิดคล้ายกับศิลปะรูปแบบอื่น ๆ ก็ได้ ถ้ามันเป็นไปเพื่อบอกว่า ไม่! ฉันไม่เห็นด้วยกับสิ่งนั้น มันอาจจะเป็นข้อความตามกำแพง อาจจะเป็นการแสดงที่แลกด้วยร่างกายของศิลปินเอง หรืออาจเป็นมีมที่ทำให้เราขำกับเรื่องที่สังคมสั่งสอนว่าห้ามขำกันก็ได้

ในทุก ๆ ศิลปะแห่งการประท้วง เราเชื่อว่าถ้าดูดี ๆ ก็จะเห็นสองด้านของมันอยู่เสมอ คือเป็นทั้งการคัดค้าน “สังคมเก่า” ทั้งในแง่คุณค่าของมันหรือรูปแบบทางความงามของมันอย่างที่เคยมีมา และก็มีการเสนอทางเลือกใหม่ ๆ ชวนให้เรานึกภาพถึงสิ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อน แม้แต่สิ่งที่ดูเป็นไปไม่ได้เลยก็ตาม เพื่อนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงบางอย่าง ดังนั้นคำถามที่อาจจะทำให้คิดหนักตอนนี้ อาจจไม่ใช่ “นี่มันใช่ศิลปะแห่งการประท้วงด้วยหรือ?” แต่เป็นคำถามที่ว่า “ศิลปะแห่งการประท้วงนี้ทำเป้าหมายของมันสำเร็จแค่ไหน?” ซึ่งก็อาจต้องขอให้ผู้ชมทุกคนออกแรงทำหน้าที่เป็นพลเมืองดีตามวิถีสายอาร์ตด้วย มาลองหาคำตอบกันดู ว่าเราควรประเมินความสำเร็จในการประท้วงจากจุดไหนบ้างดี? ตอนนี้เราเลยอยากชวนทุกคนมารู้จักศิลปะแห่งการประท้วงในโลกร่วมสมัย ที่อาจจะอยู่ใกล้ตัวกว่าที่คิดกัน

📍 ประท้วงแบบแรง ๆ กับศิลปะแบบป๊อบ ๆ

ศิลปะแห่งการประท้วงอาจสืบรากฐานไปได้ยาวนานนับตั้งแต่จุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ศิลปะ(ไม่ว่าจะเป็นเวอร์ชั่นไหน ๆ) ถ้านับว่ายังไงมนุษย์เองก็เกิดมาพร้อมกับความสามารถในการต่อต้านสิ่งนั้นสิ่งนี้อยู่แล้ว แต่แทนที่จะย้อนไปหาภาพวาดยุคโบราณจากรัฐที่เราไม่ได้เป็นประชากร เราอยากเริ่มสำรวจความหมายของศิลปะแห่งการประท้วงจากตัวอย่างที่ “ร่วมสมัย” ในแบบที่ทุกคนน่าจะมีประสบการณ์ร่วมด้วยเหมือนกัน

นั่นคือเหล่าศิลปะจากการชุมนุมประท้วงช่วงปี 2563 ที่คลี่คลาย (?) มาสู่การเลือกตั้งใหญ่ปี 2566 แล้วผ่านเซอร์ไพรส์ทางการเมืองในระบบทางการอยู่หลายตลบ จนมาถึงยุคปัจจุบัน

ในช่วงต้นของกระแสการเคลื่อนไหว เราได้เห็นการหยิบยืม “ภาพ” จากวัฒนธรรมป็อบที่บ่งบอกคาแรกเตอร์ของผู้ชุมนุมได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นภาพของทนายและกวีอานนท์ นำภา ในเสื้อคลุมบ้านกริฟฟินดอร์ จากแฮร์รี พอตเตอร์ วรรณกรรมประจำใจวัยรุ่น (?) เจนวาย ขึ้นปราศรัยครั้งประวัติศาสตร์ เปิดฉากการวิพากษ์วิจารณ์อำนาจของ “คนที่คุณก็รู้ว่าใคร” ที่ไม่ใช่ลอร์ดโวลเดอมอร์ในเรื่องแต่งของ เจ.เค.โรว์ลิง แต่สื่อถึงอำนาจลึกลับที่อยู่เบื้องสังคมนอกหนังสือ เช่นเดียวกับสัญลักษณ์ชูสามนิ้ว ที่หลายคนอาจลืมไปแล้วว่ามีที่มาจากวรรณกรรมดิสโทเปียอย่างเดอะฮังเกอร์เกมส์ เพราะการชูสามนิ้วประเทศไทย ทำให้ใครเคยโดนฟ้องมาแล้วจริง ๆ และที่น่าสนใจสุด ๆ จากช่วงนี้ คือการแปลงเพลง "ออกมาวิ่ง วิ่งนะ วิ่งนะ แฮมทาโร่ ของอร่อยที่สุดก็คือ ภาษีประชาชน” จากการ์ตูนน่ารัก ๆ ให้กลายเป็นเพลงและป้ายประท้วงได้แบบพลิกมุม 360 องศาสุด ๆ

ในสังคมที่จำกัดการแสดงออกทางความคิดระดับเข้มข้น คนอาจต้องใช้วิธีการสื่อสารรูปแบบที่อ้อมไปอ้อมมาเพื่อต่อต้านบางอย่าง ซึ่งบางครั้งก็อาจจะอ้อมไปไกลให้เจ้าหน้าที่รัฐตีความไม่ออก แต่คนอื่น ๆ ทั่วไปก็ตีความไม่ออกเหมือนกัน การใช้วัฒนธรรมป็อบก็เป็นหนึ่งในรูปแบบของศิลปะแห่งการประท้วงที่น่าสนใจ เพราะถึงจะไม่ได้พูดถึงใครตรง ๆ แต่ทุกคนก็รู้ ว่า “คนที่คุณก็รู้ว่าใคร” คือใคร

📍 ประท้วงจริง เจ็บจริง ศิลปะการแสดงจริง ๆ

ศิลปะอีกหนึ่งแขนงที่มักจะมาคู่กับการประท้วงเสมอจนแทบจะเป็นสิ่งเดียวกันเลย คือการแสดง (performance) ซึ่งก็มีตั้งแต่การแสดงบนเวทีแบบที่ดูไม่แปลกตาจากละครเวทีกระแสหลักที่เห็นได้ประจำเท่าไรนัก ไปจนถึงการแสดงข้างถนนที่คนธรรมดาออกมารับบทเอง และการยั่วล้อความทรงจำของผู้คน โดยใช้สถานที่สำคัญเป็นนักแสดงเบอร์ใหญ่ร่วมด้วย

เพิ่งไม่นานมานี้เอง ที่ศาลอุทธรณ์ได้สั่งยกฟ้องคดีม. 112 จากการ “ทำท่าครุฑ และนอนใช้เท้าชี้ไปทางพระบรมฉายาลักษณ์” ในศิลปะการแสดงของ ‘รามิล’ ศิวัญชลี วิธญเสรีวัฒน์ นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ขณะนั้น) สมาชิกกลุ่มศิลปินนักเคลื่อนไหว ‘artn’t’ ในคราวนั้น เขาได้สวมชุดขาวปีนขึ้นไปบนป้ายมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งมีป้าย “ทรงพระเจริญ” และพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 อยู่ด้านบน เขาราดน้ำสีแดงทั่วตัวเอง ก่อนจะแสดงท่าทางเคลื่อนไหวเช่น นั่งห้อยขา, นั่งยอง ๆ, เอาถังสีครอบหัว, และทำท่าครุฑ รวมทั้งทั้งท่านอนหงายแล้วเอาเท้าขวา “ชี้ขึ้นไปที่พระบรมฉายาลักษณ์ที่อยู่ใกล้กัน” (ซึ่งที่จริงเป็นแค่เสี้ยวหนึ่งของการแสดงทั้งหมดเท่านั้น)

หนึ่งใน “การแสดง” ที่สร้างความตกตะลึงได้มากที่สุดของเขา คือตอนที่เขาใช้ใบมีดโกน กรีดหน้าอกตัวเองเป็นตัวเลข 112 ขณะที่กำลังเดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหามาตรา 112 และ พ.ร.บ.ธงชาติ ซึ่งถนอม ชาภักดี นักวิจารณ์ศิลปะผู้ล่วงลับ ได้กล่าวถึงเหตุการณ์นี้ไว้ว่า “สำหรับวิธญา คลังนิล ที่ใช้เลือดจากร่างกายของตัวเองผ่านความเจ็บปวดที่ค่อย ๆ ใช้มีดโกนกรีดตัวเลขจาก 1 สู่ 1 จนตัวสุดท้ายเลข 2 ไม่ใช่แค่การปฏิบัติการแสดงเท่านั้น แต่นี่คือตัวเลขแห่งอาญาของอำนาจที่มนุษย์ตัวเล็กคนหนึ่งถูกกระทำ พื้นที่ปฏิบัติการประกาศที่หน้าสถานีตำรวจและผู้ประกาศผ่าน art as ritual คือผู้ถูกกล่าวหาจากการทำงานศิลปะเพื่อสะท้อนความไม่ยุติธรรมในสังคม”

ร่างกายของตัวเรา เป็นหนึ่งใน “องค์ประกอบศิลปะ” หรือ “อาวุธสุดท้าย” ที่โลกไม่ได้พบเห็นอยู่บ่อย ๆ เพราะมันรบกวนไปจนถึงขั้นทำร้ายตัวของศิลปินเองจนสร้างความเจ็บปวด และสร้างความสะเทือนใจจนถึงที่สุดให้ผู้ที่มองดู มันเปิดเผยกลไกความรุนแรงของอำนาจ แสดงมันออกมาอย่างตรงไปตรงมาที่สุด อย่างที่เราเห็นศิลปินรัสเซีย ปีเตอร์ ปาฟเลนสกี (Petr Pavlensky) ตัดหูตัวเอง เย็บปากตัวเอง หรือตอกตะปูใส่หนังอัณฑะของตัวเองติดกับพื้นหิน เพื่อเปิดเผยใบหน้าที่แท้จริงของอำนาจ ที่ครอบงำร่างกายของพวกเราอยู่

แต่นอกจากการใช้ร่างกายของตัวเองมาทำการแสดงแล้ว อีกหนึ่งเทคนิกที่อาจจะพบได้บ่อกว่าคือการเลือกใช้สถานที่แสดง หรืออย่างเช่นการแสดงแบบ “มูเตลู” ทำพิธีเล่นของเล่นกับความเชื่อ เช่นพิธีฝังหมุดคณะราษฎร 2563 ซึ่งมาพร้อมกับบทสวดอิติปิโสฯ และประติมากรรมหมุดคณะราษฎรใหม่อัปเดตดีไซน์กับโลโก้ชูสามนิ้ว ปักลงไปบนพื้นภายในบริเวณสนามหลวง พื้นที่ที่มีทั้งประวัติศาสตร์ ความทรงจำ ฟังก์ชันการใช้งาน และความเชื่อ ที่ยังคงเป็นข้อโต้เถียงไม่รู้จบ ระหว่างกลุ่มคนต่าง ๆ ในสังคมไทย สำหรับบางคน นี่อาจเป็นความย้อนแย้งของคนรุ่นใหม่ที่ทำอะไรย้อนยุค แต่อีกแง่หนึ่ง มันก็เป็นศิลปะที่พุ่งตรงเข้าไปถึงข้างในปัญหาของโครงสร้างความสัมพันธ์ได้ ธนาวิ โชติประดิษฐ อาจารย์ประวัติศาสตร์ศิลปะ เขียนถึงปรากฏการณ์นี้ไว้ว่า “ถ้าอาวองต์การ์ดหมายรวมถึง ‘สิ่งที่ไม่ตรงตามยุคสมัยแต่ขณะเดียวกันก็ร่วมสมัย’ เราก็สามารถพิจารณาความมูเตลูเหล่านี้ในฐานะอาวองต์การ์ดได้ ทั้งนี้จะไม่เป็นเหตุเป็นผลหรือไม่เป็นวิทยาศาสตร์ก็ไม่เห็นเป็นไร (หรือต่อให้ขลังสู้พิธีกรรมต่าง ๆ ที่หยั่งรากมาตั้งแต่เมื่อครั้งตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ก็ไม่เห็นเป็นไร) ในเมื่อเรากำลังอาศัยอยู่ในยุคสมัยที่ ‘หลักการ’ และ ‘เหตุผล’ ที่เป็นรากฐานของการปกครองในระบอบรัฐธรรมนูญถูกทำลายไปจนหมดสิ้น ความมูเตลูย่อมสามารถปรากฏตัวขึ้นมาโดยเป็นพลังทางสังคมอย่างหนึ่งที่ทำหน้าที่ก่อกวน แทรกแซง และบ่อนทำลายอำนาจนำที่ครอบงำสภาวะเช่นนี้อยู่”

แต่ถ้าพูดถึงการแสดงที่ติดตรึงอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์ศิลปะแห่งการประท้วงที่สุด คงหนีไม่พ้นแสดงของชมรมนาฏศิลป์และการละคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2519 ที่ชวนให้นักศึกษามาร่วมชุมนุมต่อต้านการกลับเข้าประเทศไทยของจอมพลถนอม ผู้ถูกขับไล่ไปตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาเมื่อสามปีก่อนหน้า พวกเขาทำละครกลางถนน (street theatre) จำลองเหตุการณ์ที่สองพนักงานการไฟฟ้าถูกแขวนคอหลังออกติดโปสเตอร์การเมือง ซึ่งท้ายที่สุด ภาพจากการแสดงครั้งนี้กลับถูกหนังสือพิมพ์ดาวสยามนำไปเผยแพร่พร้อมข้อความ “แขวนคอหุ่นเหมือนเจ้าฟ้าชาย แผ่นดินเดือด! ศูนย์ฯ เหยียบหัวใจไทยทั้งชาติ” ในเช้าวันที่ 6 ตุลา ซึ่งเกิดเหตุการณ์สังหารหมู่ที่รุนแรงและโหดเหี้ยมที่สุดครั้งหนึ่งในสังคมไทย

แต่ถ้าพูดถึงการแสดงที่ติดตรึงอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์ศิลปะแห่งการประท้วงที่สุด คงหนีไม่พ้นแสดงของชมรมนาฏศิลป์และการละคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2519 ที่ชวนให้นักศึกษามาร่วมชุมนุมต่อต้านการกลับเข้าประเทศไทยของจอมพลถนอม ผู้ถูกขับไล่ไปตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาเมื่อสามปีก่อนหน้า พวกเขาทำละครกลางถนน (street theatre) จำลองเหตุการณ์ที่สองพนักงานการไฟฟ้าถูกแขวนคอหลังออกติดโปสเตอร์การเมือง ซึ่งท้ายที่สุด ภาพจากการแสดงครั้งนี้กลับถูกหนังสือพิมพ์ดาวสยามนำไปเผยแพร่พร้อมข้อความ “แขวนคอหุ่นเหมือนเจ้าฟ้าชาย แผ่นดินเดือด! ศูนย์ฯ เหยียบหัวใจไทยทั้งชาติ” ในเช้าวันที่ 6 ตุลา ซึ่งเกิดเหตุการณ์สังหารหมู่ที่รุนแรงและโหดเหี้ยมที่สุดครั้งหนึ่งในสังคมไทย

📍 งานออกแบบเพื่อชีวิต

หนึ่งในรูปแบบศิลปะแห่งการประท้วงที่ยังคงอยู่เสมอไม่ว่าในยุคไหน ๆ ก็คงเป็นภาพวาด และอาจรวมไปถึงงานออกแบบเชิงกราฟิก ที่พบตามป้ายประท้วง โปสเตอร์ ไปจนถึงภาพวาดที่จัดแสดงในรูปแบบนิทรรศการจริง ๆ

ช่วงรอยต่อระหว่างเหตุการณ์ 14 ตุลา ที่ประชาชนผู้ชุมนุมประสบความสำเร็จในการขับไล่ผู้นำทหารเมื่อปี 2516 กับเหตุการณ์ 6 ตุลาที่นักศึกษาประชาชนถูกล้อมปราบอย่างโหดร้ายในปี 2519 ได้มีการรวมตัวของคนทำงานศิลปะอย่าง “กลุ่มแนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทย” ที่จัดนิทรรศการ “ศิลปวัฒนธรรมทาส” และการจัดแสดงในงานครบรอบสองปี 14 ตุลา ซึ่งจัดเแสดงภาพคัทเอาท์ทางการเมืองบนเกาะกลางถนนราชดำเนิน นกพิราบ ธงชาติไทย และกำปั้น องค์ประกอบหลักที่พบได้เสมอในภาพเหล่านี้ บ่งบอกถึงอุดมการณ์สำคัญที่ขับเคลื่อนขบวนการในยุคนั้น ตั้งแต่เรื่องสันติภาพ อุดมการณ์แบบชาตินิยม และเจือปนด้วยคาแรกเตอร์แบบฝ่ายซ้าย โดยมีคู่ตรงข้ามเป็นเหล่าทหารและยักษ์ใหญ่ในโลกที่ส่งอิทธิพลควบคุมมาอย่างสหรัฐอเมริกา

📍 งานออกแบบเพื่อชีวิต

หนึ่งในรูปแบบศิลปะแห่งการประท้วงที่ยังคงอยู่เสมอไม่ว่าในยุคไหน ๆ ก็คงเป็นภาพวาด และอาจรวมไปถึงงานออกแบบเชิงกราฟิก ที่พบตามป้ายประท้วง โปสเตอร์ ไปจนถึงภาพวาดที่จัดแสดงในรูปแบบนิทรรศการจริง ๆ

ช่วงรอยต่อระหว่างเหตุการณ์ 14 ตุลา ที่ประชาชนผู้ชุมนุมประสบความสำเร็จในการขับไล่ผู้นำทหารเมื่อปี 2516 กับเหตุการณ์ 6 ตุลาที่นักศึกษาประชาชนถูกล้อมปราบอย่างโหดร้ายในปี 2519 ได้มีการรวมตัวของคนทำงานศิลปะอย่าง “กลุ่มแนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทย” ที่จัดนิทรรศการ “ศิลปวัฒนธรรมทาส” และการจัดแสดงในงานครบรอบสองปี 14 ตุลา ซึ่งจัดเแสดงภาพคัทเอาท์ทางการเมืองบนเกาะกลางถนนราชดำเนิน นกพิราบ ธงชาติไทย และกำปั้น องค์ประกอบหลักที่พบได้เสมอในภาพเหล่านี้ บ่งบอกถึงอุดมการณ์สำคัญที่ขับเคลื่อนขบวนการในยุคนั้น ตั้งแต่เรื่องสันติภาพ อุดมการณ์แบบชาตินิยม และเจือปนด้วยคาแรกเตอร์แบบฝ่ายซ้าย โดยมีคู่ตรงข้ามเป็นเหล่าทหารและยักษ์​ใหญ่ในโลกที่ส่งอิทธิพลควบคุมมาอย่างสหรัฐอเมริกา

ตัดภาพมาเมื่อไม่กี่ปีก่อน องค์ประกอบลักษณะคล้ายกันโผล่มาอีกครั้งในผลงานชุดมวลมหาประชาชนของสุธี คุณาวิชยานนท์ ในรูปแบบของแบบพิมพ์ลายฉลุ เปิดให้มีการแพร่กระจายภาพผลงานของเขาในการชุมนุมของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ซึ่งต่อมาได้จัดแสดงในนิทรรศการศิลปะ The truth To turn it over ที่หอศิลปะเมืองกวางจู ประเทศเกาหลีใต้ จนนำมาสู่ข้อโต้เถียงครั้งใหญ่ระหว่างศิลปินหลายฟากฝั่ง ว่าด้วยการทำงานศิลปะแบบไหนสนับสนุนหรือต่อต้านประชาธิปไตยกันแน่?

ตัดภาพมาเมื่อไม่กี่ปีก่อน องค์ประกอบลักษณะคล้ายกันโผล่มาอีกครั้งในผลงานชุดมวลมหาประชาชนของสุธี คุณาวิชยานนท์ ในรูปแบบของแบบพิมพ์ลายฉลุ เปิดให้มีการแพร่กระจายภาพผลงานของเขาในการชุมนุมของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ซึ่งต่อมาได้จัดแสดงในนิทรรศการศิลปะ The truth To turn it over ที่หอศิลปะเมืองกวางจู ประเทศเกาหลีใต้ จนนำมาสู่ข้อโต้เถียงครั้งใหญ่ระหว่างศิลปินหลายฟากฝั่ง ว่าด้วยการทำงานศิลปะแบบไหนสนับสนุนหรือต่อต้านประชาธิปไตยกันแน่?

ซึ่งในเวลาต่อมาศิลปินสายกวนอย่างประกิต กอบกิจวัฒนา เจ้าของเพจและผลงานศิลปะชุด “อยู่เมืองดัดจริต ชีวิตต้องป๊อป” ก็แสดงงานในชื่อเดียวกัน ที่ล้อเลียนบทบาทของศิลปินกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองในบริบทร่วมสมัย ผ่านสไตล์กราฟิกที่เสียดสีงานและอุดมการณ์ในศิลปะของมวลมหาประชาชนอย่างเห็นได้ชัด

ในโลกของการประท้วงด้วยศิลปะ “สัญลักษณ์” ต่าง ๆ มีบทบาทสำคัญมากในการถ่ายทอดข้อเรียกร้องหรือข้อวิจารณ์อย่างรวดเร็ว เข้าใจง่าย และถึงแม้จะค้านกับสิ่งที่ผู้มีอำนาจมักจะบอกอย่างไร แต่การแสดงออกทางสัญลักษณ์ก็ยังเป็นแค่การแสดงออกทางสัญลักษณ์ ไม่ว่าจะเป็นภาพ “ชูกำปั้น” ที่เป็นดังเครื่องหมายปลุกพลังที่ฝ่ายซ้ายทั่วโลกเข้าใจร่วมกัน อย่างที่เห็นตัวอย่างหนึ่งในโปสเตอร์ของกลุ่มอาเทเลียปอปูแลร์ (Atelier Populaire) เหล่านักเรียนหัวก้าวหน้าในปารีส ซึ่งช่วยกันจัดตั้งการชุมนุมและออกแบบโปสเตอร์แจกจ่ายฟรี ๆ โดยมีจุดเด่นของงานคือการใช้สีเพื่อดึงดูดสายตา

และคอการเมืองสมัยใหม่คนไหนที่ใช้ชีวิตอยู่บนโลกออนไลน์สักหน่อยก็คงจำได้กัน ว่าอีกเพจที่ดังมาแบบคู่ขนานกับอยู่เมืองดัดจริต ชีวิตต้องป๊อป ก็คือ “กูKult” ซึ่งใช้สติกเกอร์ธรรมดา ๆ ที่มีแค่โลโก้เพจ แปะไปทั่วตามจุดต่าง ๆ ในรูปแบบที่ชวนให้นึกถึงกราฟิกพังค์ระดับตำนานอย่างปกเพลง “God Save the Queen” ที่ีคาดตาทับหน้าสมเด็จพระราชินีแห่งสหราชอาณาจักร (ซึ่งก็ได้อิทธิพลมาจากกราฟิกจากฝรั่งเศสยุคนักศึกษาลุกฮือในปี 1968 อีกที) แต่ดูเหมือนว่าการเมืองเรื่องศิลปะภาพเหมือนของเมืองไทยจะยังเป็นเรื่องใหญ่จริง ๆ เพราะมันยังทำให้ กูKult ต้องเผชิญหน้ากับการดำเนินคดีอยู่

📍 ศิลปะแห่งการทำลาย

ถ้าเราเริ่มต้นด้วยนิยามว่าการประท้วงคือการต่อต้านบางสิ่งบางอย่างแล้ว การทำลายก็คงเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับศิลปะแห่งการประท้วงได้ ไม่แปลกอะไรใช่ไหม?

สำหรับอ้าย เว่ยเว่ย (Ai Weiwei) ศิลปินจีนผู้ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งของโลกร่วมสมัย ที่คงเป็นไอดอลของหลาย ๆ คน การปล่อยแจกันราชวงศ์ฮั่นอายุกว่าสองพันปีร่วงหล่นจากมือ แตกสลายเป็นชิ้น ๆ คือกระบวนการสร้างงานศิลปะที่มีชื่อตรงไปตรงมาว่า “Dropping a Han Dynasty Urn” ซึ่งตั้งคำถามกับทั้งการปฏิวัติวัฒนธรรมจีน ที่สังคมจีนทิ้งทำลายวัฒนธรรมเก่า ๆ เพื่อสร้างสังคมใหม่ และตั้งคำถามกับ “ความก้าวหน้า” ในช่วงกลาง 1990s ด้วย ที่ทำให้แจกันคุณค่าสูงใบนี้ถูกซื้อขายในราคาถูก ๆ การทำลายงานศิลปะโบราณของเขา ในแง่หนึ่ง เป็นการสร้างงานศิลปะใหม่ ๆ ขึ้นมา และกระตุ้นความก้าวหน้าในโครงการก่อสร้างสังคมใหม่ต่อไปอีกด้วย

ในโลกศิลปะไม่กี่ปีมานี้ เราจะเห็นข่าวการ “ทำลาย” งานศิลปะดัง ๆ (ซึ่งจริง ๆ ก็ไม่ได้สร้างความเสียหายด้วยซ้ำ) โดยกลุ่ม Just Stop Oil แลนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม ที่มุ่งเป้่าสาดซุปใส่งานศิลปะ เพื่อทำสิ่งที่ศิลปะถนัดและทำมาต่อเนื่องอยู่เสมอ คือการสร้างความสะเทือนใจให้ผู้ชม เพื่อจะได้ตระหนักรู้ถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ให้ผู้คนได้เข้าใจถึงความรู้สึกที่อยากปกป้องสิ่งที่สวยงามและล้ำค่า เหมือนที่พวกเขารู้สึกกับโลกใบนี้

เหตุการณ์ทำลายรูปเคารพ หรือการทำลายอื่น ๆ ในลักษณะเดียวกันนี้ อาจจะดูผิดในทางกฎหมาย ไปทำให้ระเบียบสังคมเดิม ๆ ปั่นป่วน แต่ถ้ามองจากมุมศิลปะแห่งการประท้วงแล้ว เราจะมองมันเป็นงานศิลปะได้หรือไม่? การวัดคุณค่าของงานศิลปะจะเป็นสิ่งเดียวกันกับมาตรฐานกฎหมายเลยไหม? คำตอบเหล่านี้ทุกคนคงร่วมกันแสดงความคิดเห็นได้ เพราะอย่างน้อย ความเป็นศิลปะก็ไม่ได้ถูกผูกขาดให้มีแต่ศาลเท่านั้นเป็นผู้ตีความ เหมือนที่ระบบกฎหมายเป็น

อ้างอิง
SHATTERING GLASS CEILING Art and Activism in Thailand since 2021 By Thanavi Chotpradit
ความไม่ลงรอยของศิลปะแนว Avant-garde ในการเมืองไทย
“๕๐ ปี ๑๔ ตุลา ศิลปะจักสำแดง” Protest Art
Prakit.Kobkijwattana/
น.ศ.วิจิตรศิลป์ ใช้มีดโกนกรีดหน้าอกเป็นเลข 112 ก่อนเข้ารับทราบข้อกล่าวหา ปมจัดแสดงนิทรรศการศิลปะ
คณะก้าวหน้าประกาศอยู่เบื้องหลังกิจกรรม “ตามหาความจริง” ในโอกาส 10 ปีสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง

ภาพจาก
Prachatai
Pridi.or.th