GC_Artterm_queer art.jpg

Queer Art ศิลปะแห่งการไม่ ‘บีลอง’ ของเลสเบียน เกย์ ไบ ทรานส์เจนเดอร์ เควียร์ และบวก ๆ ๆ

Art
Post on 15 June

เควียร์ แปลว่าอะไรนะ
เออ เออ เดี๋ยวรูดจอค้นคำแปลเองก็ได้วะ
แต่ได้คำแปลแล้วเราจะคิดตรงกับคนตั้งชื่อไหมนะ
(ไม่มีอะไร แค่สลิ่มรำพัน กับตัวเองหนะ)​

เออ .....​ แปลก แล้วมันประหลาด แหกคอกด้วยมั้ย หรือพืลึก พิลึกกึกกือ จนพิเรนทร์ด้วยมั้ย
 

คือข้อความของชาวเน็ตท่านหนึ่งที่เราได้ผ่านไปเห็น โดยเขาได้ฝากความคิดเห็นนี้ไว้ในส่วนคอมเมนต์ใต้โพสต์ประกาศผลการตัดสินเรื่องสั้นที่ได้รับการคัดเลือกในโปรเจกต์ ‘Queer Short Stories’ เนื่องในเดือน Pride Month โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากความสงสัยในความหมายของคำว่า Queer …คำที่ย่อรูปเป็นตัวอักษร Q ในชื่อของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม LGBTQ+ และเป็นคำที่ไม่มีคำแปลในภาษาไทย… แต่ใช้ทับศัพท์ว่า ‘เควียร์’

ที่เราสะดุดเข้ากับข้อความข้างต้นนี้ ก็เพราะว่าในความสงสัยที่แอบแฝงด้วยความอคติบางอย่างในถ้อยคำของผู้ใช้เฟสบุ๊กท่านนี้ จริง ๆ แล้วก็กลับสะท้อนความหมายหรืออัตลักษณ์ของ ‘ความเควียร์’ ได้เป็นอย่างดี ตั้งแต่ ‘ความประหลาด’ ‘แหกคอก’ ‘พิลึกกึกกือ’ ไปจนถึง ‘พิเรนทร์’ จนกลายเป็นเหมือนตลกร้ายว่าคำถามของเขากลับกลายเป็นคำตอบในตัวเอง แต่ในมิติที่เหนือไปกว่านั้น ความประหลาดจนถึงแหกคอกที่เขากล่าวมา หาใช่คำปรามาสที่จะก่อความระคายเคืองชุมชนชาวเควียร์ได้เลย เพราะแต่ไหนแต่ไรมาแล้วที่ชาวเควียร์ใช้ความประหลาดและแหกขนบนี้แหละเป็นอาวุธอันแสนทรงพลังในการต่อสู้กับอคติและค่านิยมจากสังคมเชิดชูชายจริงหญิงแท้ (Heteronormativity) ที่นิยมบูชาการตีกรอบและกฎเกณฑ์ ยุ่งเก่งเรื่องการจำกัดและขจัดอะไรที่นอกเหนือไปจากค่านิยมและความคุ้นเคย

ในโลกศิลปะ ความแปลกแหกขนบไปถึงขั้นสิ่งที่อาจถูกมองว่าพิลึกพิลั่น ถูกนำมาถ่ายทอดในผลงานของเหล่าศิลปิน LGBTQ+ มากมาย พวกเขาใช้ความ ‘แตกต่าง’ นี้ในการกระตุ้นและกระตุกจิตกระชากใจคนดูให้ลองหันกลับไปมองความคุ้นเคยที่ถูกสถาปนาให้เป็น ‘ความจริง’ เพียงแบบเดียวในโลกของพวกเขา …จริงหรือที่ชายต้องครองคู่กับหญิงเท่านั้น? การสวมกระโปรง = ความเป็นหญิง? ร่างกายที่ถูกหั่นบางส่วนออก หรือเติมบางสิ่งเสริมเข้าไป ไม่ใช่ร่างกายแท้จริงหรือ? และอีกเครื่องหมาย ? ที่ถูกเติมเข้าไป ด้วยอานุภาพของการนำเสนอความแปลกแตกต่างผ่านผลงานของศิลปินเหล่านี้

ในเดือนแห่งความภาคภูมิใจของตัวตนทางเพศอันหลากหลาย GroundControl ขอพาทุกคนไปสำรวจความหมายและอัตลักษณ์ของงานศิลปะที่เรียกว่า Queer Art ศิลปะแห่งความงดงามของการอยู่นอกกรอบ ศิลปะที่ใช้สิ่งที่ผู้คนแปะป้ายว่าแปลกแตกต่างเป็นภาษาในการสื่อสาร และใช้ความขบถแหกขนบเพื่อพาผู้ชมออกไปสำรวจอิสรภาพและความเป็นไปได้ของการไม่จำเป็นต้อง ‘Belong’ อยู่ในกรอบใดกรอบหนึ่ง

‘Queer’ จากคำปรามาสสู่ความภาคภูมิใจ

เชื่อหรือไม่ว่าก่อนที่จะกลายเป็นคำที่ใช้อธิบายตัวตนทางเพศอย่างภาคภูมิใจโดยชาว LGBTQ+ คำว่า ‘เควียร์’ เคยเป็นคำด่าปรามาสที่ถูกใช้เพื่อมุ่งหมายให้ผู้ถูกด่าต้องอับอาย แต่อย่างที่เราบอกไปข้างต้นว่าหนึ่งในความสามารถพิเศษของชาว LGBTQ+ ก็คือการเปลี่ยนก้อนหินที่ถูกปาใส่ให้กลายเป็นอาวุธที่ใช้ในการโต้กลับ …ด่าว่าฉันเป็นเควียร์เหรอ งั้นฉันจะยึดคำว่าเควียร์มาเป็นคำอธิบายตัวตนของฉันซะเลย!

คำว่าเควียร์เริ่มปรากฏการใช้ในศตวรรษที่ 16 โดยถูกนำมาใช้อธิบายสิ่งที่ ‘แปลก’ ‘ประหลาด’ ‘น่าหัวเราะ’ ไปจนถึง ‘ผิดปกติ’ และในสังคมที่ใช้ภาษาอังกฤษ คำว่าเควียร์อาจใช้ในการอธิบายพฤติกรรมแปลกประหลาดไปจากความปกติของสังคมด้วย ทางตอนเหนือของอังกฤษยังมีสำนวนว่า ‘There’s nowt so queer as folk’ ซึ่งมีความหมายว่า ‘There is nothing as strang as people’ แปลเป็นไทยว่า ‘ไม่มีอะไรแปลกประหลาดไปกว่ามนุษย์อีกแล้ว’

ในยุคต่อมา คำว่าเควียร์ยังถูกใช้ในการอธิบายความรู้สึกไม่สบายใจ ไม่สบายกาย หรืออธิบายถึงบางอย่างที่เคลือบแคลงน่าสงสัย ไม่ชัดเจน เช่น หากมีคนกล่าวว่า ‘My deer, you look queer!’ ก็จะหมายถึง ‘ตายแล้ว เธอดูแย่มาก’ หรือวลี ‘Queer street’ ก็ไม่ได้หมายถึงถนนของชาวเควียร์หรือซอยสีลม 2 แต่อย่างใด แต่ใช้อธิบายสถานการณ์การเงินที่ฝืดเคืองตึงเครียด

<p><i>Porcelain figure of Henry Woodward as ‘The Fine Gentleman’, c.1750</i></p>

Porcelain figure of Henry Woodward as ‘The Fine Gentleman’, c.1750

เมื่อถึงศตวรรษที่ 19 เควียร์ก็เริ่มมีความหมายเฉพาะเจาะจงที่ใช้เรียก (ในทางไม่ดี) ผู้ชายที่มีลักษณะเป็นหญิง หรือผู้หญิงที่มีความสัมพันธ์กับผู้หญิงด้วยกัน และเมื่อถึงศตวรรษที่ 20 มันก็กลายเป็นคำด่าร่วมตระกูลกับคำด่าอย่าง ‘Fairy’ หรือ ‘Fag_ot’ อย่างสมบูรณ์ แต่มักพุ่งเป้าไปที่ผู้ชายที่มีลักษณะท่าทางเหมือนผู้หญิงเพียงอย่างเดียว

Queer Nation: เพราะฉัน ‘อยู่คู่แผ่นดินนี้~’

ความเปลี่ยนแปลงเริ่มเปิดขึ้นในยุค 1950s เมื่อชาว LGBTQ+ ในเวลานั้นเริ่มมารวมตัวกันอย่างลับ ๆ และทำกิจกรรมหรือปาร์ตี้ร่วมกันในผับใต้ดิน ชาวเกย์เริ่มโอบรับคำว่าเควียร์ที่ถูกใช้เป็นคำปรามาสให้กลายมาเป็นคำเรียกตัวเองและพวกพ้อง โดยสื่อนัยยะถึงกลุ่มคนที่ไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมที่มารวมตัวกันในพื้นที่ที่สายตาช่างตัดสินจากสังคมไม่สามารถสอดส่ายเข้ามาได้ กระทั่งในยุค 1980s ที่คำว่าเควียร์ถูกใช้อย่างแพร่หลายจนไม่ได้มีความหมายจำเพาะแต่ผู้ชายที่มีลักษณะความเป็นหญิงอีกต่อไป แต่กลายเป็นคำเรียกกลุ่มคนภายใต้ร่ม LGBTQ+ ทั้งหมด จนกระทั่งมีการรวมตัวกันเป็นองค์กรที่ชื่อว่า Queer Nation ซึ่งนับว่าเป็นครั้งแรกที่ชาวเควียร์ได้ทำการ ‘เคลม’ คำที่เคยมีความหมายลบ ให้กลายเป็นอัตลักษณ์ของตัวเองอย่างภาคภูมิใจ

Queer Nation กลายเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคมที่มีบทบาทอย่างยิ่งต่อการรณรงค์และเรียกร้องสิทธิของชาว LGBTQ+ ย้อนกลับไปในยุคนั้น การใช้คำว่าเควียร์มาตั้งเป็นชื่อกลุ่มกิจกรรมก็สร้างความช็อกให้กับสังคมเป็นอย่างมาก ซึ่งนั่นก็คือเป้าหมายของกลุ่มนี้ที่ต้องการจะสั่นสะเทือนสังคมและกระตุกจิตกระชากใจให้สังคมที่เหยียดคนรักเพศเดียวกันในยุคนั้นได้กลับมามองสิ่งที่ถูกนิยามว่าเป็นความปกติของสังคม ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่ปกติ เช่น พื้นที่สาธารณะที่ไม่ได้เป็นที่ปลอดภัยสำหรับชาว LGBTQ+ หรือการสร้างตราบาปให้ชาว LGBTQ+ ด้วยการเชื่อมโยงพวกเขากับโรคเอดส์และความตาย โดยพวกเขามักออกไปเดินขบวนเรียกร้องและทำกิจกรรมถือป้ายรณรงค์และแสดงอัตลักษณ์ความเควียร์ผ่านเสื้อผ้าและการเต้น เพื่อเป็นการประกาศว่าชาวเควียร์จะไม่ยอมหลบซ่อนตัวอีกต่อไป

ตั้งแต่นั้นมา คำว่าเควียร์ก็ได้กลายเป็นคำอธิบายอัตลักษณ์ของชาว LGBTQ+ ด้วยความภาคภูมิใจ อย่างไรก็ตาม ในยุคปัจจุบันก็ยังมีข้อถกเถียงเกี่ยวกับคำว่าเควียร์ โดยเฉพาะการที่เควียร์ได้ถูกนำไปใช้นอกกลุ่ม LGBTQ+ โดยมีชาวรักเพศตรงข้ามบางส่วนที่ก็ได้นิยามตัวเองว่าเป็นเควียร์ หรือมีความเควียร์เป็นส่วนประกอบหนึ่งของอัตลักษณ์ทางเพศ โดยพวกเขามองว่าแม้ว่าตนจะมีรสนิยมทางเพศที่ตรงกับเพศกำเนิด คือเป็นหญิงรักชาย หรือชายรักหญิง แต่อาจมีวิถีชีวิตหรือเพศสภาพที่แตกต่างไปจากบรรทัดฐานของสังคม และในขณะเดียวกัน การจัดตัวเองอยู่ในกรอบเพศตามบรรทัดฐานของสังคม (cis gender) ก็ให้ความรู้สึกที่ไม่ลงตัว คับแคบ ไม่ครอบคลุม หรือลดทอนตัวตนที่พวกเขารู้สึกว่าเป็นตัวเอง เช่น ผู้ชายที่มีเพศกำเนิดเป็นชาย นิยามตัวเองว่าเป็นผู้ชาย มีคู่ครองเป็นผู้หญิง แต่อาจชอบการแต่งตัวหรือแฟชั่นของผู้หญิง ก็อาจเรียกตัวเองว่าเป็นเควียร์ได้ หรือผู้หญิงที่นิยามตัวเองว่าเป็นผู้หญิง ถูกดึงดูดด้วยเพศชาย แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ชอบการแต่งตัวแบบผู้หญิง และชอบทำกิจกรรมการต่อสู้หรือใช้แรงหนัก ๆ ที่สังคมมองว่าเป็นกิจกรรมของผู้ชาย เป็นต้น 

แม้ว่าประวัติศาสตร์ของคำว่าเควียร์จะผูกติดกับการเป็นคำอธิบายความแปลกแยกหรือแตกต่างจากบรรทัดฐานของสังคม จนผู้ชายและผู้หญิงที่รู้สึกว่าตัวเองไม่ ‘บีลอง’ หรือเข้ากับค่านิยมของสังคมก็สามารถระบุตัวเองว่าเป็นเควียร์ได้ แต่ก็มีชาว LGBTQ+ บางส่วนที่มองว่าคำว่าเควียร์ควรถูกใช้ในกลุ่มคนที่มีรสนิยมทางเพศไม่ตรงกับค่านิยมของสังคมเท่านั้น  เพราะการที่ชาวสเตรทเลือกที่จะนิยามตัวเองว่าเควียร์ อาจทำให้การเป็นเควียร์ดูเป็นทางเลือกหรือไลฟ์สไตล์ ซึ่งไม่เชื่อมโยงและยังถือเป็นการลดทอนความรุนแรงของจากประสบการณ์ความยากลำบากของการเป็น LGBTQ+ ด้วย 

Queer Art: ศิลปะแห่งการอยู่นอกกรอบ เพื่อวิจารณ์กรอบ

“หากคุณอยากทำให้พ่อแม่เจ็บปวดรวดร้าว แต่ไม่กล้าพอที่จะเป็นโฮโมเซ็กชวล ให้ลองเป็นศิลปินแทน” คือคำแนะนำของ เคิร์ต วอนเนเกิต นักเขียนฝีปากกล้าชาวอเมริกันผู้ขึ้นชื่อเรื่องอารมณ์ขันร้ายกาจและมุกตลกสุดดำมืด และข้อความดังกล่าวของวอนเนกัตก็เป็นการสะท้อนความสัมพันธ์และความเหมือนระหว่างศิลปะกับชาว LGBTQ+ ได้อย่างน่าขันขื่น

หากเราเชื่อว่าศิลปะคือการนำเสนอตัวคนและความคิดของศิลปิน แน่นอนว่าศิลปะย่อมเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่เหล่าศิลปิน LGBTQ+ ใช้ในการแสดงออกซึ่งตัวตนและอัตลักษณ์ทางเพศของตนเอง และด้วยอานุภาพแห่งการนำเสนอ  ‘ภาพแทน’ ที่ศิลปะเป็นมาเสมอ มันจึงกลายเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่ศิลปินชาว LGBTQ+ ใช้ในการวิพากษ์วิจารณ์ ‘ภาพ’ สังคมในอุดมคติที่สังคมช่างจุ้นจ้านวาดฝันอยากให้เป็น จนอาจกล่าวได้ว่า ศิลปะของชาว LGBTQ+ หรืองานศิลปะแบบ ‘เควียร์’ ที่ใช้วิธีการนำเสนออันหลุดกรอบ แท้จริงแล้วคือศิลปะที่พาตัวเองออกนอก ‘กรอบ’ เพื่อตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์ ‘กรอบ’ นั่นเอง

แล้วศิลปะแห่งเควียร์ท้าทายกรอบด้วยวิธีการหรือด้วยการนำเสนอหัวข้อใดบ้าง เราลองไปดูกัน

Queer Code: ศิลปะแห่งการต่อต้านอันเงียบงันแต่ทรงพลัง และก้องกังวล

อเล็กซ์ พิลเชอร์ ผู้เขียน A Queer Little History of Art หนังสือที่เล่าประวัติศาสตร์ศิลปะของชาวเควียร์ ได้สรุปไว้อย่างน่าสนใจว่า ประวัติศาสตร์ศิลปะของเควียร์ในยุคแรกเริ่มนั้นคือศิลปะแห่งการ ‘ปกปิดอำพราง’ โดยเป็นที่รู้กันดีว่าในอดีต สังคมยังไม่ยอมรับการมีอยู่ของชาว LGBTQ+ แต่แม้กระทั่งกฎหมายข้อห้ามก็ไม่อาจปิดกั้นศิลปินจากการแสดงออกถึงตัวตนที่แท้จริงของพวกเขาได้  ศิลปินชาวเควียร์จึงมัก ‘อำพราง’ ความสัมพันธ์ระหว่างตนกับคู่รักเพศเดียวกันไว้ภายใต้การเป็น ‘เพื่อนสนิท’ และการตบตานั้นก็นำมาซึ่งการฝึกฝนทักษะการหลบซ่อนและอำพรางความหมายในงานศิลปะด้วยการใช้สัญลักษณ์

หนึ่งในผลงานที่สะท้อนประสบการณ์ของการเป็นเกย์ในสังคมที่ปิดกั้นได้อย่างทรงพลังก็คือ White Flag (1955) หนึ่งในซีรีส์ธงอเมริกันอันเลื่องชื่อของ แจสเปอร์ จอห์น ศิลปินมิกซ์มีเดียผู้ที่ต้องแอบซ่อนความสัมพันธ์ที่มีร่วมกับ โรเบิร์ต เราส์เชนเบิร์ก อีกหนึ่งศิลปินผู้วางรากฐานให้ศิลปะร่วมสมัย โดยในช่วงเวลาที่ทั้งสองมีความสัมพันธ์กัน อเมริกายังมีกฎหมายลงโทษคนรักเพศเดียวกันอยู่ การถูกปิดกั้นและกดขี่โดยสังคมจึงนำมาซึ่งแรงบันดาลใจในการสร้างผลงานชิ้นนี้ที่จอห์นนำธงชาติอเมริกามาฉาบสีขาวจนแทบไม่หลงเหลือสีสันอันเป็นเอกลักษณ์บนธง โดยก่อนจะทาสีขาวลงไป เขาได้นำหน้ากระดาษหนังสือพิมพ์อเมริกันมาแปะคลุมบนธงเพื่อสร้างพื้นผิวขรุขระหยาบกระด้าง ทั้งหมดนี้เพื่อที่จะสื่อความหมายถึงอเมริกาในฐานะดินแดนแห่งการต่อต้านความแตกต่างหลากหลาย ดินแดนที่ทุกคนถูกทำให้เป็นสีเดียวกันหมด และเป็นดินแดนที่เสียงต่าง ๆ ถูกทำให้เงียบงันภายใต้ภาพอเมริกันชนในอุดมคติ

ศิลปะแห่งการชวนให้ช็อก เพื่อหันกลับมาทบทวน

ย้อนกลับไปในยุคที่การเป็นชายรักชายถือเป็นเรื่องต้องห้ามทั้งทางศีลธรรมและกฎหมาย Two Figures (1953) คือผลงานที่ ฟรานซิส เบคอน สร้างสรรค์ขึ้นมากระตุกเตือนให้ผู้ชมตระหนักถึง ‘การมีอยู่’ และ ‘การดำรงอยู่’ ของคนรักเพศเดียวกันในสังคม ไม่ว่าค่านิยมในยุคนั้นจะพยายามกดทับหรือปฏิเสธตัวตนของชาว LGBTQ+ แค่ไหนก็ตาม ภาพร่างสองร่างอันพร่าเลือนที่กำลังฉุดรั้งปล้ำกันอยู่นั้นคือการดึงความสนใจของผู้ชมให้ตระหนักถึงสิ่งที่กำลังดำเนินไปต่อหน้าต่อตาของผู้ชม แม้จะพร่าเลือน แต่ก็ไม่ได้ยากที่จะมองเห็น ซึ่งนั่นก็คือสถานะของชาว LGBTQ+ ที่แม้จะมีตัวตน แต่ก็ยังไม่ได้รับการยอมรับในสังคม 

ย้อนกลับไปในปีที่เบคอนวาดภาพนี้ขึ้นมา มันเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่วิศวกรคอมพิวเตอร์ชื่อก้องของโลก อลัน ทัวริง ตัดสินใจปลิดชีวิตตัวเอง หลังจากที่เขาต้องทุกข์ทรมานจากการเข้ารับการบำบัดอาการรักเพศเดียวกันด้วยการใช้ยาตามคำสั่งของศาล เพื่อแลกกับการไม่ต้องติดคุกในข้อหารักเพศเดียวกัน อันนับว่าเป็นอาชญากรรมในสมัยนั้น และเมื่อผลงานอีกชิ้นหนึ่งภายใต้ธีมเดียวกันอย่าง Two Figures in the Grass ได้รับการจัดแสดงต่อสาธารณชนในปี 1955 ภาพวาดที่นำเสนอการปล้ำโรมรันพันตูของชายสองคนที่ดูทั้งดิบเถื่อนและรุนแรงราวกับสัตว์นี้ก็ช็อกคนดูอย่างแรง จนเป็นเรื่องเป็นราวถึงขั้นมีการแจ้งความเพื่อให้ตำรวจมาตรวจสอบ ซึ่งปฏิกิริยาอันรุนแรงที่ผู้ชมในยุคนั้นมีต่อผลงานของเบคอนชิ้นนี้กลับยิ่งสนับสนุนแก่นในตัวผลงานเอง ...สิ่งใดกันแน่ที่ทำให้ผู้ชมตกใจกลัว? อารมณ์อันรุนแรงดิบเถื่อน? ภาพเนื้อแนบเนื้อระหว่างผู้ชายกับผู้ชาย? หรือทั้งสองอย่างนั้นคือภาพความจริงในสังคมที่เราทำเป็นมองไม่เห็น จนเมื่อถูกชี้ชวนให้มองดู เราจึงตกใจกับความจริงที่เราไม่อยากเห็นหรือรับรู้ว่ามีอยู่?

ม้ในยุคปัจจุบัน กฎหมายลงโทษคนรักเพศเดียวกันจะถูกยกเลิกและฝังลืมไปแล้ว (ในประเทศส่วนใหญ่) แต่การช็อกและสร้างความสั่นสะเทือนเพื่อเรียกร้องให้คนดูหันมาฉุกคิดก็ยังเป็นอาวุธหลักของศิลปิน LGBTQ+ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ Cassils ศิลปินเพอร์ฟอร์แมนซ์และวิชวลอาร์ติสต์ผู้ใช้ ‘ร่างกาย’ ของตัวเองเป็นมีเดียมในการทำงาน

เพื่อที่จะนำเสนอประสบการณ์ของการเป็นผู้ชายข้ามเพศอันซับซ้อน ในชีวิตส่วนตัว แม้ว่า Cassils จะละทิ้งกรอบเพศแห่งความเป็นหญิงที่สังคมกำหนด แล้วโอบรับอัตลักษณ์ทางเพศที่ตนกำหนดเอง แต่เขาก็ยังพบว่า การเป็นทรานส์เมนก็ยังมาพร้อมกับกฎเกณฑ์และภาพลักษณ์ที่เขาถูกคาดหวังให้ปฏิบัติตาม โดยเฉพาะการ ‘ปั้น’ ร่างกายให้ดูแข็งแรงสมชาย เพื่อไม่เหลือที่ว่างใด ๆ บนร่างกายที่จะสื่อถึงความเป็นหญิง

ใน Becoming An Image (2012) Cassils ในร่างเกือบเปลือยทำการแสดงสดต่อหน้าผู้ชมด้วยการปลุกปล้ำกับก้อนดินเหนียวหนัก 2,000 ปอนด์ เพื่อสะท้อนความยากลำบากและความเจ็บปวดของชาว LGBTQ+ ในการ ‘ปั้น’ ร่างกายให้ตรงตามอุดมคติของกรอบเพศ ในขณะที่ Inextinguishable Fire (2007 - 2015) Cassils ได้สวมชุดป้องกันไฟเพื่อจุดไฟเผาตัวเองต่อหน้าผู้ชมเป็นเวลา 14 นาที โดยที่กล้องวิดีโอจะบันทึกและฉายภาพ Cassils ที่ถูกไฟท่วมในรูปแบบสโลว์โมชั่น เพื่อถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกของการดำรงอยู่ในโลกที่ลุกเป็นไฟ… เพียงเพราะการมีอยู่ของชาว LGBTQ+ 

ศิลปะแห่งการนำเสนอ ‘ชีวิต’ ที่ถูกมองข้าม

เฟลิกซ์ กอนซาเลซ-ตอร์เรส คือศิลปินชาวคิวบาที่มีชื่อเสียงจากงานประติมากรรมและงานศิลปะจัดวางสไตล์มินิมอลเรียบง่าย โดยสิ่งที่เขานำมาใช้ในงานมักเป็นของที่เห็นได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน เพื่อตั้งคำถามถึงความหมายและมิติอันซับซ้อนที่ซ่อนอยู่ในชีวิตของคนทุกคน

หนึ่งในหัวข้ออันแสนทรงพลังในงานของเขาก็คือการนำเสนอชีวิตและประสบการณ์ของผู้ป่วยโรคเอดส์ ซึ่งในช่วงเวลาที่เขามีชีวิตอยู่นั้น สังคมทั่วไปยังสร้างตราบาปให้คนนักเพศเดียวกันด้วยการยึดโยงเกย์เข้ากับ HIV และโรคเอดส์ ซึ่งทำให้ภาพลักษณ์ของชายรักชายในยุคนั้นมีความหมายเท่ากับโรคร้ายและความตาย ซึ่งกอนซาเลซ-ตอร์เรสผู้มีคนรักเป็นผู้ป่วยโรคเอดส์ก็ใช้งานศิลปะในการนำเสนอภาพของผู้ติดเชื้อ HIV ที่มี ‘ชีวิต’ และมีแง่มุมซับซ้อนมากกว่าการเป็นภาพตัวอย่างอันน่ากลัวที่สังคมในยุคนั้นแปะป้าย

นาฬิกาหน้าตาเรียบง่ายสองเรือนที่ถูกนำมาจัดวางคู่กัน คือผลงานที่ชื่อว่า Perfect Lovers ซึ่งบอกเล่าประสบการณ์ชีวิตของกอนซาเลซ-ตอร์เรสที่ต้องเป็นประจักษ์พยานการเสื่อมถอยของร่างกายและชีวิตของคู่รักอย่าง รอส เลย์ค็อก ที่เสียชีวิตด้วยโรคเอดส์ในปีเดียวกับที่กอนซาเลซ-ตอร์เรสสร้างผลงานชิ้นนี้ นาฬิกาที่เดินไปพร้อมกัน ในจังหวะเดินของเข็มวินาทีที่ตีบอกเวลาเดียวกัน แต่ในที่สุดแล้ว ไม่ว่าวันใดวันหนึ่ง เมื่อแบตเตอร์รีของนาฬิกาทั้งสองค่อย ๆ หมดลง เมื่อนั้นเข็มของนาฬิกาทั้งสองก็จะไม่สอดคล้องกันอีกต่อไป

นี่คือหนึ่งในผลงานอันแสนทรงพลังที่กอนซาเลซ-ตอเรสเปรียบตัวเองกับคนรักเป็นดังนาฬิกาสองเรือนที่มีหน้าตาทุกอย่างเหมือนกัน เดินในจังหวะเวลาเดียวกัน แต่สุดท้ายแล้วก็มีเรือนหนึ่งที่ ‘หมดเวลาลง’ ก่อนอีกเรือน

ใน Untitled (Portrait of Ross in L.A.) กอนซาเลซ-ตอร์เรสนำลูกอม 175 ปอนด์มากองไว้ที่มุมแกลเลอรี พร้อมชักชวนให้คนดูมีปฏิสัมพันธ์กับงานด้วยการเชื้อเชิญให้ผู้ชมเดินเข้ามาหยิบลูกอมไปชิม

175 ปอนด์คือน้ำหนักของรอส เลย์ค็อก ก่อนที่เขาจะจากโลกนี้ไป เมื่อลูกอมถูกหยิบออกไป น้ำหนักของลูกอมในกองก็จะค่อย ๆ ลดน้อยลง อันสอดคล้องกับกระบวนการถดถอยทางร่างกายของเลย์ค็อกอันเป็นผลมาจากโรคร้าย การที่ผู้ชมเดินเข้ามาหยิบลูกอมออกไปไม่เพียงเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ชมได้เข้ามารับประสบการณ์การเข้าใกล้ความตายของผู้ป่วยเอดส์ แต่การสัมผัสและกลืนลูกอมเข้าร่างกายยังเป็นการต่อสู้กับตราบาปเรื่องการสัมผัสแตะต้องผู้ติดเชื้อ HIV อันเป็นความเข้าใจแบบผิด ๆ ด้วย

ศิลปะแห่งความ ‘แปลก’

ใน The Queer Art of Failure ผู้เขียน Judith Halberstam ได้เสนอว่า ศิลแปะแห่งเควียร์นั้นคือศิลปะแห่งความ ‘ไม่จริงจัง’ เป็นศิลปะที่ล้มเหลวในการวางท่าวางตัวให้ซีเรียส แต่ความล้มเหลวที่จะจริงจังนั่นแหละคืออานุภาพที่แท้จริงของศิลปะเควียร์ เพราะในการล้มเหลวที่จะทำตามท่าทีจริงจังที่สังคมยอมรับนั้น ชาวเควียร์ได้พบที่ทางและสร้างโลกของตัวเอง ซึ่งทำให้เควียร์ได้ปลดแอกตัวเองออกจากอำนาจของสังคมรักต่างเพศ

การล้อเลียนและความสามารถในการเปลี่ยนเรื่องซีเรียสจริงจังให้กลายเป็นเรื่องขำขัน และหาแง่มุมที่จะหัวเราะได้ในทุกสิ่ง จึงเป็นพลังสำคัญของศิลปะแห่งชาวเควียร์ …ตั้งแต่การสร้างมีมกะเทย (มึงสิกะเทย) ไปจนถึงการแต่งแดรกควีนที่ล้อเลียนทุกความเมนสตรีมตั้งแต่พระราชินีถึงสตุ๊ดจ็อบ ภายใต้การสร้างเสียงหัวเราะและท่าทีไม่จริงจัง นั่นแหละคือวิธีการที่ชาวเควียร์ใช้ในการทำลายความขึงขังศักดิ์สิทธิ์ของทุกสถาบัน

ในผลงานชุด Disguise ของ อนุวัฒน์ อภิมุขมงคลที่นำร่างแน่งน้อยหนุบหนับของ ‘บังลี’ เพื่อนเกย์ชาวมุสลิมในอิริยาบถเย้ายวนไปจนถึงยั่วโมโหคนบางกลุ่ม คือผลงานที่สะท้อนการ ‘ล้อเลียน’ เพื่อลดทอนความขึงขังศักดิ์สิทธิ์ของสังคมอุดมความเชื่ออย่างสังคมไทย

ร่างกายอ้อนแอ้นที่เผยให้เห็นอวัยวะเพศชายแบบเต็มตา สวมชฎาแปะทองอันเป็นเครื่องหัวชั้นสูงของสังคมบ้าชนชั้น จัดวางท่าทางอยู่ในอิริยาบถที่ทำให้เราคิดถึงใครบางคน… นี่คือผลงานที่มอบโอกาสให้คนดูได้ ‘ขำคิก’ ใส่สิ่งใด ๆ ที่สังคมไทยยกไว้เป็นของสูง มันคือการมอบอำนาจให้ประชาชนได้ดูแคลนสิ่งที่ถูกเทิดไว้เหนือหัวในสังคมไทย 

อ้างอิง

Wikipedia.org/wiki/Queer_art

Lorenz, R. (2014). Queer art: A freak theory (Vol. 2). transcript Verlag.

Pilcher, A. (2017). A queer little history of art. Tate Publishing.

Halberstam, J. (2011). The queer art of failure. In The queer art of failure. Duke University Press.