212142041_354770362833011_3605812353910674950_n.jpeg

Do Ho Suh กับนิยามคำว่า “บ้าน” ที่ครอบคลุมถึงมิติทางสังคม

Post on 27 June

การเติบโตมาในสภาพแวดล้อมซึ่งเต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ท่ามกลางวัฒนธรรมเกาหลีอันแข็งแกร่ง จากที่พ่อของเขาเป็นจิตรกรผู้เชี่ยวชาญด้านการวาดภาพด้วยหมึกแบบดั้งเดิม ส่งผลให้ ซอ โด-โฮ (Do Ho Suh - 서도호) ศิลปินชาวเกาหลีใต้ มีโอกาสคลุกคลีกับผู้คนในวงการศิลปะ รวมถึงได้ซึมซับความคิดเชิงปรัชญาและการเมือง ความผูกพันที่มีต่อวงการนี้ ทำให้เขาเลือกเดินบนเส้นทางสายนี้เช่นเดียวกับพ่อของตัวเอง

โดโฮเข้าเรียนด้านการวาดภาพโดยตรงในมหาวิทยาลัยโซล เขาพบว่าการติดอยู่กับกรอบความคิดแบบอนุรักษ์นิยม กลายเป็นปัญหาใหญ่ต่อการสร้างผลงานศิลปะ เนื่องจากการสื่อสารในห้องเรียนล้วนแต่มาจากครูเพียงทางเดียว เขาจึงไม่มีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับครูโดยตรง ความอึดอัดนี้ เป็นผลให้โดโฮเลือกย้ายไปเรียนต่อด้านการออกแบบใน Rhode Island สหรัฐอเมริกา แม้ว่าภาษาของเขาจะยังไม่แข็งแรงในช่วงแรก จนทำให้แสดงออกทางความคิดด้านศิลปะได้แค่การพูดว่าชอบหรือไม่ชอบเท่านั้น แต่สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ ก็ทำให้โดโฮรู้สึกสบายใจที่จะพูดถึงงานศิลปะในภาษาอังกฤษมากกว่าภาษาเกาหลี 

ประสบการณ์ที่โดโฮได้รับจากการเดินทาง เป็นเหมือนการสะสมคลังความรู้ด้านศิลปะจนเกิดการก่อร่างสร้างตัวของรูปแบบอันหลากหลายในงานของเขา ไม่ว่าจะเป็นการวาดภาพ หรืองานด้านการจัดวาง (Installation Art) เมื่อจบการศึกษาจาก Rhode Island School of Design โดโฮใช้เวลาอยู่ในนิวยอร์กนานกว่าหนึ่งปีก่อนจะย้ายไปเรียนต่อด้านงานประติมากรรมที่มหาวิทยาลัยเยล เขาอาศัยในอพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่งที่อยู่ตรงข้ามสถานีดับเพลิง เสียงของความวุ่นวายท่ามกลางเมืองใหญ่ ทำให้โดโฮเริ่มถามกับตัวเองขึ้นว่า “ครั้งสุดท้ายที่นอนหลับสนิทจริง ๆ คือตอนไหน” เขาเริ่มนึกถึงบรรยากาศการอยู่ในห้องเล็ก ๆ ที่เกาหลีใต้ และพบว่าสถาปัตยกรรมมีผลอย่างมากต่อความรู้สึกนึกคิดของเขา ในที่สุด เขาก็เริ่มสร้างแบบจำลอง “บ้าน” ด้วยผ้าโปร่งแสง จนเกิดเป็นผลงานบ้านชวนฝัน ที่อธิบายถึงคอนเซ็ปต์ว่าด้วยเรื่องของเวลา ความทรงจำ สังคม และความเป็นเอกลักษณ์

งานของโดโฮเป็นมากกว่าแค่โครงสร้างสิ่งต่าง ๆ ความความโปร่งใสของเนื้อผ้าหรือความเปราะบางของกระดาษที่เขาใช้ คือความพยายามที่จะสื่อสารถึงลักษณะของการแทรงซึมผ่านวัตถุ แม้ว่าโดโฮจะหลงใหลในวัฒนธรรมป๊อบอเมริกันเป็นอย่างมาก แต่เขาก็ยอมรับว่าตัวตนของเขาไม่สามารถตัดขาดจากความคิดแบบเกาหลีดั้งเดิมได้ กระบวนการทำงานสไตล์ตะวันออกที่มีความพิถีพิถันในทุกขั้นตอน ทำให้โดโฮเข้าใจพื้นที่ในงานของเขาเป็นอย่างดี จนพื้นที่เหล่านั้นกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

“พื้นที่” ในความหมายของโดโฮ ครอบคลุมถึงร่างกายด้วยเช่นกัน เขาอธิบายว่า เสื้อผ้าที่เราสวมใส่เป็นหนึ่งสิ่งซึ่งบอกสถานะของเราอย่างชัดเจน อีกทั้งประสบการณ์ในช่วงวัยรุ่นที่ต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหารนานกว่าสองปี ทำให้โดโฮเริ่มสนใจในขอบเขตและการประกอบสร้างตัวตนที่มีความเชื่อมโยงระหว่างระบบสังคมการเมืองและประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรมซึ่งทำจากผ้า เป็นเหมือนเสื้อผ้าที่อยู่บนร่างกายของเรา ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าทั่วไปหรือเครื่องแบบทหารที่เขาเคยใส่ ความจริงแล้ว ทั้งหมดนี้มีความสำคัญต่อตัวเราพอ ๆ กับพื้นที่ที่เราอาศัยอยู่

ผ้าโปร่งแสงที่ถูกใช้ในงานของโดโฮ ได้รับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าดั้งเดิมชาวเกาหลี เขาเรียนรู้อดีตของตัวเองผ่านการพูดคุยกับผู้คนในหลายสาขา ความโปร่งแสงนี้ทำงานกับผู้ชมโดยตรง เพราะพวกเขาสามารถเป็นส่วนหนึ่งของงานศิลปะได้ สำหรับโดโฮแล้ว ความคิดผู้คนต่างมีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา แนวคิดเรื่องบ้านจึงไม่ได้มีความหมายตายตัวชัดเจน ดังนั้นรูปแบบของ “บ้าน” เลยเป็นมากกว่าที่พักอาศัยทางกายใจ และครอบคลุมไปถึง “พื้นที่” ทางประวัติศาสตร์ การเมือง ความเป็นรัฐประเทศ และพรมแดนทางวัฒนธรรมด้วยเช่นกัน

อ้างอิง : 
crfashionbook
art21