‘ความเศร้า’คือหนึ่งในอารมณ์พื้นฐานของมนุษย์ที่มักถูกมองว่าเป็นด้านมืดของชีวิต เป็นสิ่งที่หลายคนพยายามหลีกเลี่ยง ซ่อนเร้น หรือกดทับเอาไว้ภายในจิตใจ
แต่ในประวัติศาสตร์ศิลปะ เราจะพบว่าศิลปินจำนวนไม่น้อยกลับเลือกหยิบเอาความเศร้า ความสูญเสีย ความโดดเดี่ยว หรือแม้แต่ภาวะซึมเศร้ามาใช้เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างสรรค์ผลงาน เช่นเดียวกับ ‘แซนดี้ ชูชาติ (Sandy Chuchat)’ ที่ใช้ความเศร้าเป็นแรงขับเคลื่อนในการถ่ายทอดผลงานชุดล่าสุด ในนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของเธอที่ชื่อว่า ‘The Beautiful Mess of Being Awake’
หากย้อนมองไปยังเส้นทางการทำงานศิลปะของแซนดี้ที่ผ่านมา จะเห็นว่าเธอมักพาผู้ชมเดินทางเข้าไปสำรวจโลกภายในจิตใจ ผ่านห้วงอารมณ์และความรู้สึกที่เธอกำลังเผชิญอยู่ในแต่ละช่วงเวลา นิทรรศการครั้งนี้ที่ MMAD MASS GALLERY ก็เช่นเดียวกัน มันเปรียบเสมือนพื้นที่ในการระบายสิ่งที่คำพูดไม่อาจบรรยายได้ รวมถึงความเศร้าและความอาลัยที่หยั่งรากอยู่ในใจของเธอ
ทว่า การถ่ายทอดความเศร้าในครั้งนี้ ไม่ได้มีเป้าหมายเพียงเพื่อระบายความรู้สึกอ่อนไหวหรือแค่เปิดเผยบาดแผลภายในเท่านั้น หากแต่ยังทำหน้าที่เป็นเสมือน ‘ศิลปะบำบัด (Art Therapy)’ ในรูปแบบเฉพาะตัว แตกต่างจากรูปแบบศิลปะบำบัดที่เราคุ้นเคย
ด้วยความสนใจในพื้นที่แห่งอารมณ์และกระบวนการสร้างสรรค์นี้ GroundControl จึงชวนแซนดี้มาพูดคุยถึงเบื้องหลังนิทรรศการ ‘The Beautiful Mess of Being Awake’ ว่าด้วยการถ่ายทอดความเศร้าในงานศิลปะ ไปจนถึงการโอบรับและเปลี่ยนความเศร้าให้กลายเป็นกระบวนการบำบัดใจของตนเอง


ศิลปะแห่งความเศร้าในนิทรรศการ The Beautiful Mess of Being Awake
“ปกติแล้วเราจะเป็นคนที่ชอบเก็บหรือจดไอเดียไว้เสมอ เช่นระหว่างทำงานเราก็ฟัง Audio Book ไปด้วยระหว่างทํางาน ซึ่งเวลาทําก็จะคิดอะไรไปด้วย ซึ่งพอมีไอเดียหรือคิดอะไรขึ้นมาได้ก็จะจดไว้เฉย ๆ อาจจะยังไม่ได้เอามาใช้ก็จะจดไว้ก่อนอยู่ดี”
“จนมาถึงช่วงหนึ่งแมวตัวหนึ่งที่เราเลี้ยงชื่อกาฟิว เป็นแมวจรจัดที่เก็บมาเลี้ยงเริ่มอาการไม่ดี เหมือนแบบมีโรคเยอะ จนหมอบอกว่าเขาน่าจะอยู่ได้อีกไม่นานนะ ตอนนั้นเราก็รู้สึกว่าเสียใจมาก ๆ เป็นความเสียใจที่เราไม่ได้เจอมันมานานมาก ๆ”
แซนดี้เล่าให้เราฟังถึงที่มาของผลงานในนิทรรศการนี้ ที่เริ่มมาจากความเสียใจจากการสูญเสียของเธอ และเปลี่ยนไดอารีชีวิตประจำวันให้กลายมาเป็นจดหมายสำหรับใช้สำรวจสิ่งที่ตัวเธอเองกำลังเผชิญ


“ในชีวิตประจำวันเราก็เคยเขียนไดอารีบ้าง แต่ว่าไม่ได้มีจุดมุ่งหมายในการเขียนหรือสำรวจมันเท่าไหร่ ทั้งความรู้สึกของตัวเองหรืออะไรที่เจอเคยก็ตาม จนมาถึงวันที่แมวเราไม่อยู่แล้ว จุดนั้นเราก็เลยเริ่มเปลี่ยนจากเขียนไดอารี เป็นเขียนจดหมายให้แมวแทน ก็เลยเป็นเหมือนแบบจุดเริ่มในการพูดถึงความรู้สึกที่มี แล้วก็เริ่มตั้งชื่อหรือเพิ่มคำอธิบายให้ความรู้สึกนั้น ๆ รวมถึงเราทํางานศิลปะเกี่ยวกับอัตลักษณ์ (identity) และความรู้สึกอยู่แล้ว เราเลยรู้สึกว่าเราควรที่จะทําอะไรสักอย่างเกี่ยวกับความรู้สึกตรงนี้ เลยเลือกขุดความรู้สึกเศร้าตรงนั้นออกมาให้หมด เพื่อเผชิญหน้าแล้วก็ทำความเข้าใจกับมันมากขึ้น”
The Beautiful Mess of Being Awake จึงเป็นดั่งไดอารีและจดหมายที่บอกเล่าความรู้สึกเสียใจของแซนดี้ มากกว่าที่จะปฏิเสธมันและเก็บมันไว้ในจิตใจเหมือนเมื่อก่อน
เงา (น.) ส่วนที่ซ่อนเร้นอยู่ในจิตใจของแต่ละบุคคล หรือสิ่งที่บุคคลนั้นปฏิเสธที่จะยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของตนเอง
หากย้อนกลับไปดูนิยามของคำว่า ‘เงา’ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ‘เงา’ หมายถึง ส่วนที่มืดเนื่องจากวัตถุบังแสง จนเกิดเป็นรูปของวัตถุนั้น ปรากฏอยู่บนพื้นผิว หรือสะท้อนอยู่ในวัตถุที่ใสหรือเป็นมัน
แต่ในทางจิตวิทยา โดยเฉพาะตามทฤษฎีของ คาร์ล ยุง (Carl Jung) ‘เงา’ มีความหมายลึกซึ้งกว่านั้น มันหมายถึง ส่วนที่ซ่อนอยู่ในจิตใจของแต่ละคน เงาคือด้านมืดของตัวตน คือแง่มุมที่ไม่เป็นที่ยอมรับในสังคม หรือแม้แต่สิ่งที่เจ้าของเงาเองพยายามปฏิเสธ ไม่ยอมรับว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของตัวเอง และด้วยความหมายนี้เอง แซนดี้ ชูชาติ (Sandy Chuchat) ได้นำแนวคิดเรื่อง ‘เงา’ มาใช้เป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจสำคัญในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะของเธอในนิทรรศการครั้งนี้
“จริง ๆ ตอนเริ่มทำงาน เราไม่ได้รู้จักทฤษฎีนี้หรือศึกษาจิตวิทยาอะไรเลยนะ แต่พอเวลาผ่านไป เราก็เริ่มเข้าใจว่าสิ่งที่เราทำมันเกี่ยวข้องกัน เพราะมันคือการเผชิญหน้ากับบางอย่างที่เราเคยพยายามกดไว้ เก็บไว้ ไม่พูดกับใคร ไม่เคยแม้แต่จะศึกษามันจริง ๆ จัง ๆ
“พอทำงานไปเรื่อย ๆ เราก็เลยรู้ว่า จริง ๆ เราไม่จำเป็นต้องไปหาแรงบันดาลใจจากที่ไหนเลย เรื่องของตัวเอง ความรู้สึกที่อยู่ข้างในมันก็เป็นหัวข้อที่น่าสนใจเหมือนกัน เพราะมันคือความเป็นมนุษย์ เป็นสิ่งที่ทุกคนน่าจะเคยรู้สึกคล้าย ๆ กัน”

เงาตามทฤษฎีของยุง ได้อธิบายถึงเงาว่าประกอบด้วยแง่มุมต่าง ๆ ของตัวเรา ที่เราเลือกปฏิเสธและกดทับไว้ในจิตใต้สำนึก เพราะฉะนั้นการดึงเงาขึ้นมาสร้างเป็นผลงานศิลปะของแซนดี้จึงเป็นเหมือนการเลือกที่จะยอมรับสิ่งที่ตนเองกำลังเผชิญมากกว่าการปฏิเสธมัน ซึ่งต่างจากหลายคนที่เลือกจะปฏิเสธความเสียใจที่กำลังเผชิญ
“เราคิดว่าการดึงเงาขึ้นมา มันเป็นเหมือนการทําความเข้าใจกับตัวเองมากขึ้นในอีกด้านหนึ่ง เพราะเรามักจะคิดว่าแบบ นี่คือความอ่อนแอ มันไม่ใช่สิ่งที่เราอยากจะ Represent ตัวเอง แต่พอเราได้เรียนรู้ตัวเองในด้านนั้น ๆ มากขึ้น มันก็ทําให้เราได้รู้จักตัวเองมากขึ้น แล้วมันก็จะทำให้เรารู้ว่าเราคือใคร เราต้องการอะไรจากชีวิต”
“เราเข้าใจนะเวลาที่คนบอกว่าเรื่องเศร้า ๆ มันกระตุ้นให้ยิ่งเศร้ามากขึ้น คือถ้าเรามัวแต่กลัวว่าการรู้เรื่องเกี่ยวกับตัวเอง แล้วมันทําให้เศร้าเข้าไปอีก เราก็จะไม่กล้าพอที่จะเผชิญหน้ากับมันอีกเลย เหมือนความเศร้า มันไม่ได้ถาวรขนาดนั้นอ่ะ แต่ว่าการที่เราทําความรู้จักกับมันมากขึ้น เราก็จะรู้ว่าควรจะควบคุมมันยังไงมากกว่า”
เงากับความเศร้าของแซนดี้จึงไม่ใช่แค่สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นแล้วก็ผ่านไป แต่มันคือสิ่งที่จะทำให้เธอได้รู้จักกับตัวเองและยิ่งได้เรียนรู้มันมากยิ่งขึ้น งานศิลปะที่เกิดขึ้นในนิทรรศการนี้ไปแล้วจึงทำให้เรารู้ได้แน่นอนว่าตอนนี้เธอได้ทำความรู้จักกับตัวเองมากขึ้นแล้ว
“งานศิลปะมันเหมือนคนเหมือนกันนะ เป็นคนที่เรารู้จัก แต่อาจจะไม่ได้รู้จักลึกขนาดนั้น แต่ว่าตอนนี้มันกลายเป็นคนที่เรารู้จักมากขึ้น พอเราเห็นงานของตัวเองก็เข้าใจมากขึ้น ถึงภาพนี้มันจะเป็นภาพที่ไม่ใช่เทคนิคที่เราคิดว่ามันทําได้ดีที่สุด แต่มันก็มี Journey ของมัน ที่ทำให้เรารู้สึกว่ามันมีความหมายกับตัวเราเองมากขึ้น”

ตัวตนของแซนดี้ ชูชาติ
สำหรับใครที่เคยเห็นผลงานของแซนดี้มาก่อน จะพบว่างานที่ผ่านมาของเธอแฝงเรื่องราวของ Feminine ไม่มากก็น้อย ทั้งในแง่ของเทคนิคเองหรือเรื่องราวที่อยู่เบื้องหลังภาพเองก็ตาม ถึงแม้ว่างานล่าสุดของเธอจะแตกต่างจากที่ผ่านมาก็ตาม
“เราไม่คิดว่างานพวกนี้มันไม่ Feminine เลย ซึ่งจริง ๆ แล้ว เราก็ไม่เคยคิดว่างานก่อน ๆ มันแบบมีเล่าความเป็น Feminine ขนาดนั้นด้วย แต่มันอาจจะเป็นแค่ความรู้สึกของการที่ต้องการพูดมันออกไปหรือแสดงออกไป มันถึงแสดงไปในทางนั้น เพราะเราก็เป็นผู้หญิง มันก็คือตัวตนของเรา”
“เราไม่ได้ไปพยายามหาแรงบันดาลใจมาจากที่อื่น ทุก ๆ อย่างที่มันออกมา ก็มาจากตัวเองทั้งนั้น เราคิดว่าในสมัยนี้ ผู้คนสามารถหาข้อมูล หรือแรงบันดาลใจได้จากข้างนอกได้ง่าย ๆ แต่งานของเรามันไม่ได้เป็นแบบนั้น เพราะมันมาจากตัวเราเอง จากสิ่งที่เราเผชิญอยู่ตลอดในชีวิต การทํางานศิลปะของเรามันเลยเหมือนกับการตั้งสมาธิเหมือนกัน เป็นเหมือนการได้อยู่กับตัวเอง”

นอกจากนิทรรศการ The Beautiful Mess of Being Awake จะทำหน้าที่เป็นไดอารีที่สะท้อนอารมณ์และตัวตนของแซนดี้แล้ว นิทรรศการนี้ยังกลายเป็นภาพสะท้อนของผู้ชมที่ได้เห็นผลงานในนิทรรศการด้วยเช่นกัน ให้เราสามารถมองเห็นและเข้าใจได้ว่า ความเศร้านั้นไม่ใช่เรื่องใหม่และเราไม่จำเป็นที่จะต้องปฏิเสธมัน
“เราคิดว่าเราเป็นคนนึงที่เราไม่เคยเมินความรู้สึกของตัวเอง ถ้าสมมติรู้สึกอะไรอยู่เราก็ต้องรู้จักมันให้มากขึ้น เพราะเราต้องอยู่กับตัวเองทุกวันและตลอดเวลา ถ้าเราถ้าเราแบบเพิกเฉยกับความรู้สึกนั้น ก็แปลว่าเราต้องถือมันต่อไปตลอดชีวิตหรอ เพราะฉะนั้นเราก็เลยต้องเผชิญหน้ากับมันและศึกษามัน ซึ่งมันก็จะดีมากกว่า”
“เราคิดว่างานศิลปะมันเป็นคําถามแบบปลายเปิด มันไม่ได้ต้องการจะสอนอะไรใครขนาดนั้น มันแค่ตั้งคําถามว่าแบบคุณเคยรู้สึกแบบนี้ไหม คุณเคยมีช่วงนึงในชีวิตที่รู้สึกแบบนี้ไหม”

นิทรรศการ ‘The Beautiful Mess of Being Awake’ โดย Sandy Chuchat กำลังจัดแสดงที่ MMAD MASS GALLERY ตั้งแต่วันนี้ - 31 สิงหาคม 2568