เวลาเราไปเดินห้าง นอกจากโซนของเล่น เครื่องเล่นเกม และบ้านบอลหรรษา หนึ่งในโซนยอดฮิตที่เรามักเห็นเด็ก ๆ แวะเวียนเข้าไปรวมตัวกันอยู่เสมอ ก็คือโซน ‘โรงเรียนกวดวิชา’ ที่ครอบคลุมทั้งโรงเรียนสอนพิเศษ โรงเรียนสอนเต้น โรงเรียนสอนศิลปะ และโรงเรียนสอนการแสดง ฯลฯ แต่สิ่งที่เราเพิ่งได้รู้ก็คือ ภาพคุ้นตาเหล่านี้เพิ่งเริ่มต้นขึ้นในเมืองไทยเมื่อไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา โดย ครูต้อย-วัลลภา ปัจฉิมสวัสดิ์ นักเต้นบัลเลต์รุ่นแรก ๆ ของไทย ผู้อยากทำให้ศาสตร์แห่งการเต้น กลายเป็นศิลปะในชีวิตประจำวันที่ใคร ๆ ก็เข้าถึงได้ ด้วยการก่อตั้ง ‘Bangkok Dance Academy’ โรงเรียนสอนเต้นขึ้นห้างแห่งแรกของเมืองไทยในยุค 90s
ในคอลัมน์ Brand That Art ประจำสัปดาห์นี้ เราอยากชวนทุกคนมาสำรวจแนวทางการทำธุรกิจของทีม ‘Bangkok Dance Academy’ ที่เลือกใช้ธุรกิจการศึกษามาเป็นสื่อกลางในการเผยแพร่ศิลปะแห่งการเต้นบัลเลต์ว่า เพราะอะไรพวกเขาถึงเลือกที่จะตั้งโรงเรียนเต้นขึ้นบนห้าง? แล้วมีแนวทางการทำงานแบบไหนบ้าง? พร้อมทั้งล้วงลึกไปจนถึงเรื่องราวหลังบ้านระหว่าง ครูต้อย-วัลลภา ปัจฉิมสวัสดิ์ และ หลอดไฟ–นวินดา ปัจฉิมสวัสดิ์ ผู้บริหารรุ่นสอง ที่บอกได้เลยว่า กว่าพวกเขาจะทำให้การเรียนบัลเลต์เป็นเรื่องที่เข้าถึงง่าย (กว่าเดิม) แบบทุกวันนี้ ต้องต่อสู้มากกว่าเรื่องการบริหาร
กว่าจะเป็น Bangkok Dance Academy ‘โรงเรียนสอนเต้นในห้างแห่งแรกของประเทศไทย’
ครูต้อย: มันเริ่มต้นมาจากความรู้สึกชื่นชอบแล้วก็หลงใหลการเต้น คือเราเรียนเต้นมาตั้งแต่เด็กใช่ไหมคะ พอเรียน ๆ ไป เราก็รู้สึกว่า เอ๊ะ ทำไมเราโตขึ้นมาด้วยความสุข เรามีความสุขทุกครั้งที่เราเต้น จริง ๆ เราเป็นเด็กกิจกรรมนะ แถมเล่นกีฬาด้วย ดังนั้นไม่ใช่แค่เต้นอย่างเดียว แต่สิ่งที่เราชอบที่สุดก็คือการเต้นนี่แหละ
พอเรารู้ตัวแล้วว่าสิ่งที่ทำให้รู้สึกว่ามีความสุขตลอดเวลาขนาดนี้คือการเต้น เมื่อเติบโตขึ้นมา เราเลยอยากจะมอบความรู้สึกแบบนี้ให้กับเยาวชนต่อไป คือเยาวชนไทยควรจะเติบโตด้วยการมีความสุข จากเด็กขึ้นมา จนวัยรุ่น จนขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ พวกเขาควรจะตักตวงความสุขในช่วงที่ควรจะได้ตักตวงเอาไว้ให้มากที่สุด ไว้จะเครียดก็ค่อยไปเครียดตอนโต ตอนทำงาน ตอนหาเงิน แต่ในตอนที่ยังเป็นเด็ก ตอนที่ยังมีโอกาส เราอยากเป็นคนนั้นที่ทำให้พวกเขาได้สนุกอย่างสมช่วงวัยจนกว่าจะโต”
แต่ครูต้องบอกว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะถ้าเราย้อนกลับไปเมื่อ 50 ปีก่อน บัลเลต์ไม่ใช่ศาสตร์ที่จะเข้าถึงได้ทุกคนจริง ๆ
คุณหลอดไฟ: เรียกง่าย ๆ ว่าต้องเป็นบุคคลที่มีพรีวิลเลจนิดนึง
ครูต้อย: ใช่ ๆ คือสมัยแม่ ต้องเฉพาะคนที่รู้จักกันเท่านั้นถึงจะเรียนได้ ไม่อย่างนั้นจะไม่มีทางรู้เลยว่าครูสอนที่ไหน เพราะส่วนใหญ่ครูจะสอนในบ้าน หรือไม่ก็เปิดเป็นโรงเรียนแบบแสตนอโลน คือมันก็สอนเป็นคลาส ๆ นี่แหละ แต่ว่าไม่มีทางรู้แน่ ๆ ขนาดครูเองกว่าจะรู้ว่า อ๋อ บัลเลต์มันอยู่ตรงไหนของเมืองไทย ก็ตอนอายุเจ็ดถึงแปดขวบแล้ว ในขณะที่ประเทศอื่นเขาเรียนตั้งแต่สี่ขวบก็มี เช่น พี่สาวของครู พี่ติ่ง เพราะเขาได้เรียนบัลเลต์ตั้งแต่สองขวบครึ่งเลย เนื่องจากพี่ติ่งติดเชื้อโปลิโอ แต่รักษาทันนะคะ คือสมัยนั้นครอบครัวเรายังติดตามคุณพ่อไปทำงานอยู่ที่สิงคโปร์ และที่นั่นการแพทย์เขาก็เจริญหน่อย พอพี่สาวเป็นไข้ได้วันเดียวคุณแม่ก็พาไปฉีดยาเลย ขาก็เลยไม่ลีบ แต่ก็ถือว่ามีข้างหนึ่งที่อ่อนแรงกว่าเลยเลือกใช้การฝึกบัลเลต์มาเป็นตัวช่วย พี่ติ่ง ก็เลยเต้นบัลเลต์ไปเรื่อย ๆ จนสิบขวบและได้ออกทีวีสิงคโปร์ด้วยส่วนครูเพิ่งสี่ขวบเอง ซึ่งหลังจากนั้นพวกเราก็ต้องกลับไทย
พอกลับมาไทย เราถึงได้รู้ว่าการหาที่เรียนบัลเลต์ไม่ใช่เรื่องง่าย เลยเป็นเหตุผลที่กว่าครูจะได้เรียนก็เจ็ดแปดขวบแล้วแบบที่บอกไป จนได้เจอกับคลาสเรียนของคุณหญิงเจเนเวียฟ เลสปันยอล เดมอน ผู้ถวายการฝึกซ้อมบัลเลต์แด่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอทุกพระองค์ ซึ่งครูก็ได้เข้าไปเรียนกับคุณหญิงด้วย เรียกได้ว่าช่วงแรก ๆ เราจะได้เรียนบัลเลต์แค่จากครูฝรั่งเท่านั้นจริง ๆ จนกระทั่งมิส ชิลา แพร์วิด ที่ติดตามสามีเข้ามาทำงานในเมืองไทย เขาได้นำเอาสถาบัน Royal Academy of Dance เข้ามาในประเทศไทยเป็นครั้งแรก พวกเราถึงได้สอบบัลเลต์กันอย่างจริงจัง
คุณหลอดไฟ: ต้องเสริมว่า RAD Royal Academy of Dance หรือ RAD เป็นชื่อหลักสูตรการสอนบัลเลต์จากอังกฤษค่ะ
ครูต้อย: ค่ะ คือหลักสูตรนี้ถือว่าดังมากในระดับสากล กระจายไปทั่วโลกเลย และครูก็เป็นคนไทยกลุ่มแรกที่ได้สอบ RAD ในประเทศไทย โดยมันจะมีการสอบ การวัดผล และการรับรองมาตรฐานอย่างเป็นทางการ พอได้สอบแบบนี้ครูก็เริ่มคิดแล้วว่าจะทำยังไงให้มันแพร่หลายกว่านี้ เพราะขนาดครูคลุกคลีอยู่กับการเต้นบัลเลต์มานานกว่าสิบปี วงการบัลเลต์ในเมืองไทยก็ยังคงอยู่ตรงนี้ ยังคงมีแต่โรงเรียนสอนเต้นแบบแสตนอโลน สอนกันอยู่ไม่กี่โรงเรียน และคนที่จะเรียนได้ก็มีแต่คนในวงสังคมเดิมที่รู้จักกันเท่านั้น ครูในฐานะนักเรียนบัลเลต์รุ่นสองของเมืองไทย เลยอยากจะทำให้ศิลปะและศาสตร์นี้แพร่หลายไปสู่เยาวชนไทยให้ได้ มันเลยนำไปสู่ไอเดียของการตั้งโรงเรียนบัลเลต์บนห้างสรรพสินค้า เพราะเรารู้ว่าเราคงเอื้อมไปหาทุกคนได้ไม่หมดแน่ ๆ แต่ถ้าเราตั้งโรงเรียนในพื้นที่ที่พวกเขาสามารถเอื้อมมาหาเราได้ มันน่าจะเป็นอะไรที่ง่ายสำหรับเยาวชน นั่นเลยเป็นเหตุผลที่เราเลือกตั้งโรงเรียนในพื้นที่นี้
คุณหลอดไฟ: ซึ่งตอนนั้นไม่เคยมีโรงเรียนใด ๆ ขึ้นห้างมาก่อนเลยใช่ไหม
ครูต้อย:ไม่เคยมีเลย คืออันนี้ รู้สึกว่าชีวิตเราโชคดีเหมือนกัน โชคดีมาโดยตลอดเลย ก็คือได้รับความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ใจดีอย่างห้างชาญอิสระ ที่ตั้งอยู่ตรงสีลม คือตอนนั้นเราได้มีการคุยกับเขาว่าขอที่หน่อยเถอะ ตรงไหนก็ได้ หลบ ๆ ตรงไหนก็ได้ เพราะเรารู้ว่าไม่สามารถที่จะจ่ายค่าที่ได้เท่ากับร้านปกติที่มีรายได้สูงกว่า แถมเรายังต้องการพื้นที่เยอะกว่าคนอื่นมาก เนื่องจากต้องปล่อยให้เด็ก ๆ ได้เคลื่อนไหว ก็เลยต้องขอความอนุเคราะห์จากห้างต่าง ๆ จริง ๆ ซึ่งห้างก็เข้าใจ เราเลยเริ่มต้นสร้างโรงเรียนแรกขึ้นบนห้าง เป็นห้องห้าเหลี่ยม
ความท้าทายของธุรกิจการศึกษา ในยุคที่คนเรียนศิลปะถูกมองว่าเป็นการ ‘เต้นกินรำกิน’ และการนำเข้าศิลปะและเทรนด์ใหม่ ๆ คือหัวใจของการต่อสู้กับค่านิยมแบบเก่า
หลังจากได้ทราบถึงที่มาที่ไปของโรงเรียนเต้นบนห้างแห่งแรกของเมืองไทย แน่นอนว่าสิ่่งแรกที่เราอยากรู้มากที่สุดก็คือรีแอคชันแรกของคนทั่วไปที่เดินมาเจอโรงเรียนสอนเต้นในห้าง ซึ่งครูต้อยก็เล่าให้เราฟังอย่างสนุกสนานว่า “ผลตอบรับนั้นดีมาก”
ครูต้อย: ครูบอกได้เลยว่า อย่าว่าแต่ลูกค้าเลยนะ ขนาดยามเดินมาเห็นเขายังยืนมองเรานิ่งเลย เหมือนเขาขยับตัวไม่ได้หลังจากเห็นว่าเราเต้นอยู่ เขาก็คงตกใจนิด ๆ ล่ะมั้ง แต่สำหรับลูกค้าพวกเขากลับเดินตรงรี่เข้ามาเลย เพราะลองคิดตามดูว่า ขนาดแม่ของครูเองยังพยายามแทบตายกว่าจะหาโรงเรียนสอนเต้นให้กับครูได้ แต่อยู่ดี ๆ ก็มีโรงเรียนเต้นปรากฏขึ้นบนห้าง ไม่ต้องไปหาที่ไหนไกล คือเรารับรู้ได้เลยว่าเขามีความสุขมาก ช่วงที่ Bangkok Dance Academy เปิดแรก ๆ เรามีคนจองคิวรอมาเรียนเยอะมาก บางคนรอคิวเกือบสองปี แบบตอนนี้ลูกอายุสองขวบ ขอจองรอเลย พอสี่ขวบก็จะได้มาเรียนแบบนี้เลย
และสิ่งหนึ่งที่ทำให้ครูดีใจมาก คือตอนที่เปิดโรงเรียนได้สักประมาณหนึ่งปีล่ะมั้งนะ ขณะที่กำลังขับรถกลับบ้านที่สีลม แล้วแวะไปยังซอยซื้อของนี่แหละ มีแม่ค้าคนหนึ่งจำไม่ได้เหมือนกันว่าเขาขายอะไร แต่เขาจำรถครูได้เขาเลยบอกคนรถของครูว่า (ชี้มาที่รถ) นั่นน่ะ ๆ ครูของลูกเขา คือตัวครูเป็นครูสอนเต้นของลูกเขา โอ้โห พอได้ยินคำนี้เท่านั้นน่ะ โอ้ ครูต้อยบอกเลยนะว่า สิ่งที่เราอุตส่าห์เหนื่อยกันมาแทบตายนี่ มันมาถูกทางแล้ว คือมันเป็นสัญญาณเลยว่าบัลเลต์กำลังแพร่หลายแล้วจริง ๆ”
อย่างไรก็ตาม ถึงจะมีผลตอบรับดี และมีคนพูดถึงมากขึ้น แต่ครูต้อยก็ยังรู้สึกว่าเธอยังต้องสู้กับค่านิยมหลาย ๆ อย่างของสังคม โดยเฉพาะประโยคที่ว่า “เต้นกินรำกิน”
ครูต้อย: คือครูก็รู้สึกนะว่าบัลเลต์เป็นที่นิยม เป็นที่ปลื้มของใครหลาย ๆ คน แต่ก็มีอีกด้านหนึ่งที่เรารู้สึกได้คือประโยคเต้นกินรำกินนี่แหละ คือยังมีวัฒนธรรมหรือความเชื่อว่า ถ้าจะเรียนเต้นแบบนี้ก็ไปเรียนหนังสือดีกว่าไหม ทำไมต้องมาเต้นกินรำกินเสียเวลา แถมแบบไม่เรียบร้อยด้วย เพราะมันต้องฉีกแข้งฉีกขา คือขนาดเพื่อนครูเองเขาก็ไม่ยอมเอาหลานมาเรียนกับครูนะ มันเลยเป็นที่มาของการคิดกลยุทธ์อย่างจริงจังเลย เพราะการจะทำให้บัลเลต์แพร่หลายมันไม่ใช่แค่เรื่องการทำให้โรงเรียนเต้นเข้าถึงง่ายอย่างเดียว แต่เราต้องได้ใจผู้ปกครองด้วย เพราะถ้าผู้ใหญ่เข้าใจ เด็ก ๆ ก็จะได้รับโอกาสในเรื่องนี้
ดังนั้นครูเลยต้องให้ความรู้กับสังคมร่วมด้วยว่าศิลปะการเต้นนั้นสำคัญมาก สำคัญพอ ๆ กับความรู้เชิงวิชาการเลย คือมนุษย์เราต้องอาศัยสมองซีกขวาและซ้ายเท่า ๆ กัน คุณต้องบาลานซ์ให้ได้ แต่สมัยนั้นทุกคนจะเอาแต่วิชาการ คือทุกคนกลัวไง กลัวลูกอดตาย กลัวลูกไม่มีอาชีพ ก็เลยต้องเรียนจบให้ได้
นั่นเลยเป็นเหตุผลที่ครูต้อยและคุณหลอดไฟพยายามนำเทรนด์เกี่ยวกับการเต้นอื่น ๆ นอกเหนือจากบัลเลต์เข้ามาในไทยด้วยหรือเปล่าคะ?
ครูต้อย: จริง ๆ ก่อนจะสร้างโรงเรียนเต้น หรือจะเรียกว่าสมัยยังโสดก็ได้ อาชีพหลักของครูคือการนำเข้าโชว์ต่าง ๆ เพราะเราคิดมาตลอดเลยว่าจะทำยังไงล่ะ ให้คนไทยและเด็กไทยได้เห็นอะไรเหมือนกับที่ต่างประเทศเขาได้เห็น ก็เลยเอามาหมดทุกอย่างเท่าที่จะเอามาได้ตามศักยภาพที่จะทำได้ อย่างศิลปะฝั่งเอเชียเราก็นึกเอาในตอนนั้นว่าอะไรโดดเด่นที่สุด ก็คือพวกกายกรรมเปียงยางและหมีแพนด้า สองอย่างนี้ครูเป็นคนนำเข้ามาในไทยคนแรกเลย แถมตอนนั้นประเทศจีนยังปิดประเทศอยู่ ครูต้องผ่านเกาหลีเหนือนะ ไม่ใช่ง่ายเลยนะตอนนั้น
ยังมี Holiday on Ice หรือการแสดงบนสเก็ตน้ำแข็ง ครูก็นำเข้ามาในเมืองไทยเป็นคนแรกเหมือนกัน จำได้ว่ามาจัดแสดงครั้งแรกที่สเตเดี้ยมหัวหมาก คือตอนนั้นคนไทยหลายคนถึงกับต้องมาดูเองเลยว่าลานแสดงเป็นน้ำแข็งจริงหรือเปล่า พอเขาเอามือลงไปจับ ก็รู้เลยว่าน้ำแข็งจริง ๆ ตอนนั้นครูรู้สึกว้าวมาก ๆ และภูมิใจมากอีกอย่างหนึ่งก็คือ พวกเราได้มีโอกาสต้อนรับ มิสเตอร์ รูดอล์ฟ นูเรเยฟ (Rudolf Nureyev) ซึ่งเป็นตำนานของวงการบัลเลต์โลก ให้มาแสดงเป็นครั้งแรกในประเทศไทย และยังเป็นการแสดงครั้งสุดท้ายของเขาด้วย ตอนนั้นเขาแทบจะกระโดดได้แค่สองครั้ง แต่แค่ได้เห็นเขาเดินออกมา ทุกคนก็รู้สึกประทับใจมาก ๆ และรู้สึกได้รับแรงบันดาลใจอย่างมากเลย โดยเฉพาะครูที่เคยเริ่มเรียนบัลเลต์เพราะได้รับแรงบันดาลใจจากเขา
ถ้าจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพว่าทำไมการรู้อะไรเยอะ ๆ จะช่วยให้คนพัฒนา ครูก็ขอยกตัวอย่างจากวงการกีฬา แบบทำไม Tiger Woods ถึงเก่งกว่าคนอื่นในตอนนั้น เพราะเขาได้รับการสอนจากคุณพ่อของเขา เข้าถึงเทคนิคและวิชาได้เร็วกว่า เขาเริ่มตีกอล์ฟตั้งแต่สองขวบ แบบนี้จะไม่ให้เก่งกว่าคนอื่นได้ยังไงล่ะคะ เพราะเขาได้รับการสอนและสนับสนุนโดยตรง แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีโอกาสแบบนั้นใช่ไหมคะ ก็เหมือนกับเราในช่วงเริ่มต้น ที่นอกจากจะสร้างโรงเรียนแล้ว เรายังต้องสู้กับค่านิยมในยุคนั้นด้วย เลยต้องนำสิ่งใหม่ ๆ เข้ามามากมาย เพื่อให้ทุกคนได้เรียนรู้ไปพร้อมกัน
การเปลี่ยนผ่านทางธุรกิจสู่ผู้บริหารรุ่นสอง ในวันที่เมืองไทยไม่ได้มีนักเต้นอยู่เพียงกลุ่มเดียว
พอได้เห็นภาพธุรกิจของ Bangkok Dance Academy ในฐานะผู้บุกเบิกวงการเต้นบัลเลต์ในเมืองไทยตั้งแต่ต้นจนครบแล้ว ก็ถึงเวลาของการพูดคุยกับผู้บริหารรุ่นสองอย่างคุณหลอดไฟ ในวันที่บัลเลต์เริ่มแพร่หลายในหมู่เยาวชนไทยมากขึ้นกว่าเดิมสมความตั้งใจของครูต้อย แต่ในขณะเดียวกัน ยิ่งแพร่หลายมาก ก็ยิ่งเพิ่มความท้าทายในฐานะเจ้าของธุรกิจที่ต้องแข่งขันกับคนอื่น ๆ มากขึ้นเช่นกัน
คุณหลอดไฟ: ต้องบอกก่อนเลยว่า กว่าหลอดไฟจะเข้ามารับช่วงต่อคือยื้ออยู่เป็นสิบปีเลยค่ะ คือยื้อที่จะไม่ทำโรงเรียนนี้ต่อนั่นแหละ หมายถึงว่า พอเราเป็นสายตรง สายเลือด แล้วคุณแม่เปิดตัวใหญ่มากมา 30-40 ปีขนาดนี้ แน่นอนว่ามันต้องมีแรงกดดัน หรือว่ามันจะมีความรู้สึกว่าเราไม่สามารถทำได้เท่าเขา หรืออะไรก็ตาม มันก็เลยเหมือนต้องผ่านช่วงที่พิสูจน์ตัวเองให้ตัวเองรู้และให้คนอื่นรู้ว่าเรามีดีของเราเหมือนกันอะไรอย่างนี้ค่ะ”
ส่วนตัวหลอดไฟรู้สึกว่าเราโดดเด่นกว่าเด็กคนอื่น เพราะว่าเรามีศาสตร์ด้านการเต้น แถมยังเต้นเก่งด้วย (หัวเราะ) คือไปแข่งอะไรก็ชนะตลอดเวลา ตอนนั้นเลยเป็นคนมั่นใจในตัวเองมาก แบบมั่นใจมาก ๆ จนกระทั่งได้ไปอยู่เมืองนอกนั่นแหละเราถึงได้รู้ว่า โลกความจริงอะ มันไปไกลแค่ไหนแล้ว เราเลยถึงขั้นต้องแบบถอยหลังกลับมาเลย วิ่งถอยหลัง แล้วก็แบบจัดการตัวเองใหม่ เริ่มต้นใหม่เลย
พอเรียนจบกลับมาเมืองไทยอย่างนี้ ก็มีความเคว้ง ๆ อยู่ เนื่องจากเราไปเรียนด้าน Contemporary dance คือเราจบบัลเลต์ไป แต่ว่าเราไปเรียนด้านเต้นร่วมสมัย แนวติสส์ ๆ เลยอะค่ะ แล้วมันก็เหมือนกลับมาเมืองไทย ตลาดยังไม่พร้อมที่จะให้ลองทำด้าน Contemporary dance ขนาดนั้น ก็เลยพยายามทำงานอาร์ตอยู่เป็นพักใหญ่ แล้วก็อยู่ประมาณเกือบสิบปี ทำเฟสติวัลต่าง ๆ ที่เป็นงานอาร์ตจริง ๆ
จากประสบการณ์ในช่วงที่เรายื้อ ๆ อยู่นี่แหละ ที่เราได้ไอเดียในการพัฒนาเด็กและหลักสูตรของเรา ว่าโรงเรียนของเราจะไม่ได้เน้นแค่เทคนิคเฉย ๆ หมายถึงเรายังคงเรื่องนี้ไว้ แต่เราต้องช่วยให้เขาเรียนรู้ด้วยว่าเต้นเพื่ออะไร เพราะมันไม่ใช่แค่เต้นเพื่อความสวยงามแล้ว แต่มันคือเต้นเพื่อพัฒนาคน พัฒนาเด็กให้เขาแข็งแรง อันนี้แหละจุดแข็งของโรงเรียนเราเลย คือถ้าเราไม่ใส่ความคิดสร้างสรรค์เข้าไปเลย มันก็อยู่ไม่ได้ หลอดไฟรู้สึกว่าโชคดีมากที่เมื่อสิบปีที่แล้ว ตัดสินใจไปเรียน Contemporary Dance แทนที่จะไปเรียนบัลเลต์แบบเข้มข้นหรือเรียนอะไรที่คลาสสิกมาก ๆ เพราะมันทำให้เราได้กล้าลองอะไรใหม่ ๆ มากขึ้น ตอนนี้ก็เลยพยายามใส่ความคิดสร้างสรรค์เข้าไปมากขึ้น แล้วก็เห็นว่าผู้ปกครองรุ่นใหม่เริ่มเปิดใจกันมากขึ้น
ได้ยินคำพูดใหม่ ๆ ว่าถ้าลูกชอบจริง ๆ เขาก็พร้อมจะสนับสนุนในระยะยาว ไม่ได้บังคับให้ลูกต้องกลับไปเรียนวิชาการหรือทำตามค่านิยมของพ่อแม่ยุคก่อน ก็เลยรู้สึกว่ามันมีโอกาสและทางเลือกมากขึ้น อีกอย่างก็ต้องยอมรับว่า K-pop หรือสายอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการเต้นเริ่มมีความเป็นไปได้มากขึ้น แม้ว่าที่โรงเรียนของเราจะไม่ได้สอน K-pop โดยตรง หรือไม่ได้มุ่งเน้นทางนั้น เราเน้นเรื่องเบสิคและเทคนิคจริง ๆ มากกว่า เพราะสุดท้ายแล้วแม้แต่ไอดอลหลาย ๆ คน เองก็ต้องกลับไปเรียนบัลเลต์เหมือนกัน คือทุกคนต้องกลับไปหาเบสิกเสมอ พอคนเริ่มเห็นว่าการเต้นมีความสำคัญ เป็นศิลปะที่มีคุณค่า หลอดไฟเองก็พยายามผลักดันให้การเต้นเป็นศิลปะที่มีคุณค่า ไม่ใช่แค่การเล่นสนุก ๆ ค่ะ
ครูต้อย: จริง ๆ คนรับช่วงต่อธุรกิจรุ่นสองทุกคนมันมีปัญหานี้อยู่แล้ว เพราะว่าคู่แข่งขันมันเยอะขึ้นแน่นอน แล้วเยอะแบบเยอะจริง ๆ แต่ว่าตอนนี้สิ่งที่หลอดไฟเจอใหม่คือเรื่องความเข้าใจ เพราะว่าตอนนี้การเต้นแพร่หลายขึ้น มันคือคนรู้ละว่าบัลเลต์คืออะไร อะไรคือยังไง แต่ว่าการเต้นเทคนิคกับการเต้นคอมเมอร์เชียลก็ไม่เหมือนกันอีก ดังนั้นหลอดไฟไม่ใช่แค่ต้องสู้กับโรงเรียนเต้นบัลเลต์เน้นเทคนิคด้วยกันเอง แต่ยังต้องสู้กับโรงเรียนที่สอนเต้นสไตล์อื่น ๆ ด้วย รวมถึงค่านิยมใหม่ ๆ ของผู้ปกครองที่มีความคิดว่า ไม่ต้องให้ลูกเรียนเทคนิคก็ได้ แต่ให้ไปเต้น K-pop เลย ซึ่งในความคิดครูมองว่า การเรียนรู้เทคนิคยังจำเป็น เพราะเมื่อเราเต้นพื้นฐานได้ เรียนรู้เทคนิคทั้งหมดได้ และเรารู้จักการจัดการร่างกายเราทั้งหมดแล้ว จะให้ไปเต้น K-pop อีกพันเพลงก็ทำได้เลย ไม่ต้องเรียนด้วยซ้ำ
คุณหลอดไฟ: ใช่ ๆ คือเด็กบัลเลต์ทุกคน ถ้าเปิดการเต้นอะไรให้เขาดู สักห้านาทีเขาก็เต้นได้แล้ว เพราะพื้นฐานแน่น ก็เลยต้องอธิบายให้ผู้ปกครองฟังว่า การเต้นเทคนิคมันช่วยอะไรได้มากกว่านั้น ไม่ใช่แค่เต้นสวยขึ้น แต่ว่าเรื่องจิตใจ เรื่องการพัฒนาเขาในฐานะบุคคล บวกกับโรงเรียนเต้นใหม่ ๆ ก็เก่งขึ้นเยอะมาก เพราะว่าครึ่งหนึ่งก็เป็นลูกศิษย์ของที่นี่ ซึ่งออกไปเปิดโรงเรียนเองก็เยอะ
หลอดไฟคิดว่าสิ่งที่เราทำได้คือการสานต่อในเรื่องของนวัตกรรมของเรา ทดลองทำสิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ และเดินหน้าต่อไปโดยไม่กลัว ถึงแม้ว่าหลอดไฟอาจจะเป็นคนที่ขี้กลัวกว่าแม่อยู่บ้าง เพราะแม่ดูบ้าบิ่นมากในสิ่งที่แม่ทำ แต่หลอดไฟก็พยายามที่จะผลักดันขอบเขตของตัวเองเหมือนกัน แต่ก็ทำไปพร้อมกับมองดูว่าโลกเป็นอย่างไรและปรับตัวตามไปด้วย
ครูต้อย: ยังไงส่วนดีของเรา คือเรื่องของสิ่งต่าง ๆ ที่เราให้ความสำคัญทุกอย่าง แบบเราอยากจะให้เขาเก็บไปให้หมด อยากจะให้เขายังยืนต่อ แล้วก็ยืนหยัดกับความที่ว่าของเราดี แต่แนวทางใหม่ ๆ ก็คือเรื่องของการเต้นที่เพิ่มเข้ามาให้มันตรงกับกลุ่มเป้าหมาย เช่น ยุคนี้มีคนสูงอายุมากขึ้น จะดีไหมถ้าเราทำคลาสที่เหมาะกับผู้สูงอายุด้วย หรืออะไรก็ตาม มันก็จะต้องคิดค้นต่อไป เพราะว่าความอยู่รอดมันก็ ในแง่ธุรกิจมันก็ต้องมีนักเรียน มีผู้มาเรียนนั่นเอง
ความเหมือนและความต่างของผู้บริหารสอง Gen
ครูต้อย: เอาจริง ๆ นะ พวกเราค่อนข้างที่จะรู้กัน
คุณหลอดไฟ: แต่เนื่องจากความแม่ลูกอะเนอะ มันก็ต้องมีอยู่แล้วที่เราจะคิดเห็นไม่ตรงกันไปเสียทุกอย่าง
ครูต้อย: เรียกว่ามันคือความต่างทางเจเนอร์เรชันแล้วกัน คือครูก็พยายามเข้าใจเขาเหมือนกันนะ เขาก็คงพยายามเข้าใจครูเหมือนกันแหละ แต่ก็ยอมรับในความเก่งของแต่ละคน คือก็ยอมรับ เพราะเขาก็มีดีของเขามาก ๆ ใช่ไหม แล้วเขาก็รู้ว่า คือครูก็มีดีของครู ที่ครูก็ทำมา เพื่อเตรียมเพื่อจะส่งต่อนะ แต่ว่าเมื่อไหร่เท่านั้นเอง คือมันอยู่ที่ไทม์มิ่ง
คุณหลอดไฟ: มันจะมีช่วงหนึ่งเหมือนกันที่เราคิดว่า แม่หยุดไม่ได้เหรอ (หัวเราะ) คือแม่ทำงานมาตลอด เป็น working woman สุด ๆ พอถึงวันที่แกอาจจะต้องปล่อยหรือต้องหยุดมือ แกก็ต้องทำใจของแก เหมือนมันก็ต้องมีช่วงชีวิตของแต่ละคน ซึ่งแม่ก็ต้องเข้าใจเหมือนแบบว่า ทุกคนที่รับธุรกิจต่อจากพ่อแม่ มันก็จะต้องมีความแบบ…ยังไม่พร้อม
ครูต้อย: มันก็มีบ้างที่เราจะเป็นห่วง ห่วงว่าเขาพร้อมหรือยังแค่นั้นเอง แต่เชื่อได้เลยนะว่า ไม่ใช่เพราะว่ารู้สึกเสียดาย ไม่เลย แต่ตอนนี้ครูคิดว่าอยากเที่ยวแล้ว (หัวเราะ)
คุณหลอดไฟ: พอเห็นว่าเขาอยากไปเที่ยวแบบนี้ เราก็เริ่มปล่อย ๆ แต่หน้าที่ของคนรับช่วงต่ออย่างเรา คือเราคิดว่าลูกทุกคนที่รับช่วงต่อก็ต้องโชว์ให้เห็นด้วยว่าเราพร้อม ไม่งั้นมันก็จะกลายเป็นแบบ อย่างนี้ไปเรื่อย ๆ ก็จะมีปัญหาไปเรื่อย ๆ
เมื่อการบริหาร Bangkok Dance Academy ไม่ใช่แค่การใส่ใจเรื่องธุรกิจ แต่ต้องมีจิตวิญญาณของความเป็นครู และครอบครัว
คุณหลอดไฟ: เรื่องแรก ๆ ที่แม่พูดกับเราก่อนเราจะมารับช่วงต่อ คือตั้งแต่เมื่อสิบปีที่แล้วเลยอ่ะ แม่บอกเราว่า หลอดไฟ แม่บอกเลยนะว่า ถ้าจะทำโรงเรียนสอนเต้น ถ้าจะคิดรวย เป็นไปไม่ได้ คือรวยแบบรวยอะ เหมือนแบบคนอื่น เป็นไปไม่ได้ เพราะว่าด้วยธรรมชาติของธุรกิจเรา กับการลงทุนทุกอย่างมันเป็นไปไม่ได้แน่ ๆ เราก็เลยเหมือนจะช็อคอยู่นะ ซึ่งตอนแรกเรายังดื้อด้วย แบบไม่เชื่อ มันต้องทำเงินได้สิ แต่พอได้มาจับธุรกิจตัวนี้จริง ๆ คือเราเข้าใจที่แม่พูดแล้ว แบบ เออว่ะ
ครูต้อย: มันก็เรียกได้ว่าเป็นธุรกิจ แต่เป็นธุรกิจการศึกษา ซึ่งครูก็พยายามปลอบใจตัวเองว่าถึงยังไงก็ยังเป็นธุรกิจการศึกษาอยู่ดี ยังไงเราก็ต้องอยู่รอดให้ได้ ไม่อย่างนั้นจะอยู่ในห้างได้ยังไงล่ะคะ ห้างเขาไม่มีลดราคา มีแต่ขึ้นราคาทั้งนั้น แต่เราก็ต้องใช้ทุกวิธีในการบริหารจัดการ เพราะยังไงก็เกี่ยวข้องกับการศึกษา ดังนั้น ถ้าจะบอกว่าเราต้องทำกำไร 50% เลย มันเป็นไปไม่ได้ ที่นี่ทำได้แค่ 20-25% ก็ถือว่าเก่งแล้วค่ะ เพราะฉะนั้น ถ้าเรายังอยู่รอดได้ ห้างเขาก็จะเห็นว่าเราทำงานจริงจัง ซึ่งเราต้องใช้คำนี้เสมอว่าเราทำจริง ห้างอาจจะลดค่าเช่าให้บ้าง ไม่ขึ้นราคามากเกินไป เพราะเราต้องใช้พื้นที่เยอะจริง ๆ อย่างพื้นที่ที่น้องกำลังนั่งอยู่ตอนนี้ น่าจะไม่ถึง 10% ของโรงเรียนเต้นในประเทศไทยเลยค่ะ
อีกอย่างคือ เราเริ่มต้นด้วยมาตรฐานที่ดีและยึดมั่นในสิ่งนั้นเสมอ สิ่งหนึ่งที่เราพยายามส่งต่อให้กับรุ่นต่อ ๆ ไปก็คือ การสร้างสิ่งใหม่ ๆ ให้กับวงการ อย่างที่เราชอบทำอะไรที่เป็นครั้งแรกของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม แม้บางครั้งอาจจะไม่เกี่ยวกับการเต้นโดยตรง เช่น พิธีไหว้ครูของครูบัลเลต์ ที่ไม่เคยมีมาก่อนในประเทศไทย ครูเองก็สร้างขึ้นมา เพราะเรามองว่าเราก็เป็นครูจริง ๆ และใส่ใจในเด็กอย่างจริงจัง ถ่ายทอดวิชาให้พวกเขาอย่างจริงใจ
คุณหลอดไฟ: คือเด็กเขามาอยู่กับเรายาวกว่าอยู่กับการศึกษาภาคปกติเสียอีก
ครูต้อย: แบบถ้าเรียนภาคปกติ 12 ปี แต่เขามาอยู่กับเรา 14 - 16 ปี เลยนะ
คุณหลอดไฟ: คือเขามาอยู่กับเรานาน เราก็เลี้ยงเขาแบบจริงจังเหมือนกัน เรียกว่าตั้งแต่เล็กจนโตจนถึงมหาลัย ซึ่งเราใส่ใจในทุก ๆ เรื่อง แบบสังเกตได้ง่าย ๆ เลยว่าโรงเรียนสอนบัลเลต์ไหนที่จริงจัง ก็ลองถามว่าเขามี Sprung Floor หรือเปล่า ซึ่งพื้นตัวนี้มันคือการที่เรายกพื้นให้มีลมข้างใต้ เพราะเวลาเด็ก ๆ กระโดดตอนฝึกซ้อมบัลเลต์ พื้นแบบนี้จะช่วยปกป้องข้อต่อในระยะยาวของพวกเขาได้
แต่อันนี้ก็คือใช้เงินมากขึ้นอีก เยอะแยะมากมาย จริง ๆ เราเอาเงินนั้นไปตกแต่งภายนอกก็ได้ ส่วนพื้นก็ปูคอนกรีต หรือวางไม้อัดไปเลยก็ได้ ง่ายจะตาย แต่เราเลือกทำสิ่งนี้ซ่อนไว้ใต้พื้นมากกว่า เพราะว่านี่คือเรื่องแบบ มันคือเซฟตี้ที่จำเป็นจริง ๆ อย่างเมืองนอกอันนี้ถือว่าเป็นกฏหมายเลยนะ คือเขาห้ามนักเต้นเต้นบนพื้นคอนกรีตหรือพื้นไม้เลย มันแสดงให้เห็นว่าการเต้นในต่างประเทศได้รับการให้ความสำคัญแค่ไหน ถึงขนาดมีกฎหมายกำหนดไว้ว่าห้ามเต้นบนพื้นคอนกรีตเลยนะ
ครูต้อย: โรงเรียนเราใส่ใจเรื่องนี้มาตั้งแต่เริ่ม คือไม่ทำไม่ได้ ไม่งั้นลูก ๆ ของเราอาจบาดเจ็บได้ เขาอาจจะไม่ได้บาดเจ็บทันทีในตอนนั้น แต่เมื่อกระดูกปิดแล้ว ซึ่งประมาณอายุ 12-14 ปี เขาถึงจะเริ่มรู้สึกเจ็บจริง ๆ แต่ความจริงคือเขาอาจเริ่มมีอาการบาดเจ็บมาตั้งแต่อายุเจ็ดขวบแล้วก็ได้ แต่เราไม่เห็น เพราะธรรมชาติของร่างกายมนุษย์ในวัยเด็กจะไม่แสดงอาการบาดเจ็บง่าย ๆ เวลาล้มกี่ครั้งก็ไม่เจ็บ (ยกเว้นกรณีอุบัติเหตุรุนแรง) แต่สำหรับแรงกระแทกที่เกิดจากการเต้น อาการจะไม่ปรากฏชัดจนกระทั่งกระดูกปิด เมื่อนั้นแหละค่ะ มันถึงจะเริ่มแสดงออกมา
คุณหลอดไฟ: เพราะบัลเลต์นั้นเหมือนกับการเต้นเท้าเปล่า รองเท้าบัลเลต์บางมาก ไม่เหมือนกับรองเท้าสนีกเกอร์ที่มีเบาะรองรับแรงกระแทกตลอดเวลา
ครูต้อย: อีกอย่างหนึ่งนะคะ เห็นราวนี้ไหม สงสัยไหมว่าทำไมเราถึงใช้ราวไม้ เพราะเวลาเรายืดเส้นยืดสายหรือเอาขาขึ้นไปวาง ถ้าเป็นราวสเตนเลสหรือวัสดุที่เย็นมาก ๆ มันจะทำให้เอ็นของเราหดทันที และอาจทำให้เอ็นร้อยหวายบาดเจ็บได้ เราจึงพยายามป้องกันการบาดเจ็บทุกอย่างที่เป็นไปได้ แต่แน่นอนว่าอุบัติเหตุเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เสมอ อย่างน้อยเราก็ทำในส่วนที่ควบคุมได้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการบาดเจ็บจากการเต้นซ้ำ ๆ ของเด็กเรา เพราะเราหวังดีและอยากให้พวกเขาอยู่กับเราไปอีกหลายสิบปี
เราไม่ได้จะบอกว่าของเราดีกว่า เพราะสิ่งที่เราทำมันคือมาตรฐานสากล เป็นมาตรฐานต่ำที่สุดของสากล มันต้องมี แต่คราวนี้ในบ้านเรายังไม่ค่อยให้ความสำคัญถึงขนาดนั้น ก็เลย ก็แล้วแต่คนละตอนนี้ ก็แล้วแต่ แต่ครูก็พยายามนะ ครูก็พยายามบอกเสมอเรื่องพวกนี้ แล้วก็ลูกเราเต้นได้จนโตไม่บาดเจ็บ มันก็เพราะเรื่องพวกนี้ใช่ไหมคะ ไม่ใช่แค่ลูกของคุณแม่คนอื่น ๆ เท่านั้น เห็นไหม
คุณหลอดไฟ: ถูก
การพัฒนาบุคคลากรก็เป็นสิ่งที่ Bangkok Dance Academy ขาดไม่ได้
นอกเหนือจากการบริหารธุรกิจเพื่อดึงดูดคนในสนใจในศาสตร์ของการเต้น อีกเรื่องหนึ่ที่ทุกธุรกิจต้องผ่านมาเหมือนกัน ก็คือการบริหารบุคลากรภายในองค์กร ซึ่งทั้งสองคนก็ได้เล่าให้ฟังถึงแนวทางการดูแลและพัฒนาคนของ Bangkok Dance Academy ผ่านโปรแกรมต่าง ๆ ว่า “เราดูแลพวกเขาเหมือนศิลปิน” เพราะพวกเขาเชื่อว่าหากบุคลากรดี สิ่งที่เด็ก ๆ ได้รับไปก็จะดีเช่นกัน
ครูต้อย: จริง ๆ แล้ว โปรแกรมพัฒนาบุคลากรของเรามีมาตั้งแต่เริ่มต้นเลยค่ะ นานกว่า 30 ปีมาแล้ว เพราะเราเชื่อเสมอว่าถ้าครูเก่ง นักเรียนก็จะเก่งตามไปด้วย เราจึงจัดกิจกรรมทัศนศึกษา พาไปเปิดโลกกว้าง อย่างเช่นไปนิวยอร์ก เพื่อให้ครูได้เห็นและเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เพราะบางอย่างเราเห็นแล้ว แต่เขายังไม่มีโอกาสเห็น เราก็เลยพยายามทำทุกวิถีทางที่จะสนับสนุนครูของเรา เมื่อมีสิ่งใหม่ ๆ เข้ามา Bangkok Dance Academy ก็จะส่งครูไปเรียนรู้ แล้วกลับมาพัฒนาต่อกันเอง เราเน้นการแบ่งปันความรู้กันตลอดเวลา เป็นองค์กรที่แชร์สิ่งต่าง ๆ ระหว่างกันและกันเยอะมาก แล้วไม่ใช่แค่การพัฒนาครูในระยะสั้น แต่เรายังสนับสนุนให้ไปเรียนต่อ ทั้ง Teacher Certificate, Teacher Diploma จนตอนนี้บางคนก็ขึ้นไปถึงระดับ Examiner แล้วด้วยค่ะ นี่ก็ถือเป็น career path ชนิดหนึ่งที่เราอยากสร้างให้กับครูของเรา
แต่สำหรับการทำงานร่วมกัน ช่วงแรก ๆ หรือสมัยครูต้อย การทำงานกับทุกคนคือต้องมีทั้งพระเดชพระคุณ ถึงจะคุมได้ เพราะสมัยนั้นทุกคนเชื่อแบบนั้นจริง ๆ คือพอครูพูดอะไร ทุกคนก็พร้อมใจกันทำตามหมด เช่นบอกให้ไปทางขวา ก็ไปทางขวากันทั้งห้อง แต่พอมาสมัยนี้มันเริ่มไม่เหมือนเดิมแล้วค่ะ คนมีความคิดต่างกัน แยกแถวออกจากกันง่ายขึ้น เลยเป็นโจทย์ที่ยากขึ้นไปอีก เพราะงั้นเราจะใช้วิธีแบบสมัยครูอย่างเดียวไม่ได้แล้ว มันต้องมีระบบใหม่ ๆ เข้ามาช่วย เพื่อให้การทำงานมันตอบโจทย์กับยุคนี้ค่ะ
คุณหลอดไฟ: สำหรับหลอดไฟ หลอดไฟจะให้เกียรติบุคลากรทุกคนเป็นศิลปินเลย แบบพวกเขามีความอ่อนไหวทางอารมณ์สูง คือมันเหมือนต้องให้เขาเข้าแถวเหมือนเดิมแหละ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องเปิดโอกาสให้เขาพูดได้ด้วยว่าเมื่อไหร่เขาจะอยากออกจากแถว สิ่งสำคัญเลยคือเรื่อง career path ของแต่ละคนต้องชัด มัน จะไม่เหมือนสมัยก่อนที่ครูต้อยบอกแบบนี้ ก็ต้องทำแบบนี้เท่านั้นอีกต่อไป ทุกคนมีความคิดเป็นของตัวเองมากขึ้น ยิ่งเด็กรุ่นใหม่ก็กล้าทำมากขึ้น ซึ่งหลอดไฟมองว่ามันเป็นสิ่งดี แต่ถ้าอยู่ในองค์กรร่วมกัน มันก็ยากขึ้น ซึ่งหลอดไฟก็ต้องหาสมดุลให้เจอ ให้ครูทุกคน รวมถึงลูกศิษย์เราที่โตแล้วอยากจะมาเป็นครูด้วย
ครูต้อย: ใช่เลย คนนี้เขาจะเน้นเรื่อง career path ของบุคลากรมากขึ้นเยอะเลย
คุณหลอดไฟ: เพราะว่า เราคิดถึงใจเขาใจเรา เหมือนเข้าใจหัวอกเขาอย่างนี้ แบบเราต้องเข้าใจนะว่าถ้าเขาอยู่กับเรา แต่วันหนึ่งเขาอยากจะมีโรงเรียนของตัวเองขึ้นมา หรือว่าอยากจะสร้างอะไรของตัวเองขึ้นมาสักอย่าง เราจะอยู่ในจุดไหนไปกับเขา เราพร้อมที่จะยังไงต่ออย่างนี้ เพราะว่ารุ่นแม่ ก็มีเป็นสิบ ๆ คนแล้วที่ออกไปทำอะไรของตัวเอง
ครูต้อย: แล้วครูก็ช่วยต่อนะ ช่วยให้เขายืนได้ ช่วยให้เขามี อย่างน้อยมีอนาคตได้ เขาจะเก่งแค่ไหนนั่นเรื่องของเขา แต่ว่าอย่างน้อย ตอนต้น เหมือนเวลาเราส่งเรือ ก็ต้องประคองหน่อย แล้วหลังจากนั้นเขาพายเองนะ
Bangkok Dance Academy กับการแข่งขัน Asia Pacific Dance Competition พื้นที่ปล่อยของของคนรักการเต้น
ไม่ใช่แค่การสอนนักเรียนของตัวเอง และพัฒนาบุคลากร แต่ Bangkok Dance Academy ยังสนับสนุนให้เกิดการแข่งขันและร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับโปรแกรมการแข่งขันการเต้นระดับนานาชาติอย่าง Asia Pacific Dance Competition เพื่อสนับสนุนให้คนที่รักการเต้นได้มีพื้นที่ปล่อยของ สร้างแรงบันดาลใจให้กับตัวเอง และเผยแพร่ให้ทุกคนรู้จักการเต้นมากขึ้น
ครูต้อย: การแข่งขัน Asia Pacific Dance Competition เป็นผลมาจากการรวมตัวของภูมิภาคต่าง ๆ ได้แก่ ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย รวมถึงอินเดีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งบางประเทศยังไม่มีการจัดการแข่งขันระดับภูมิภาคของตัวเอง โดยเฉพาะประเทศที่ยังอยู่ในกลุ่มกำลังพัฒนา คือประเทศเหล่านี้ยังไม่มีการแข่งขันระดับภูมิภาคของตัวเอง ดังนั้นจึงใช้วิธีคัดเลือกจากผลการสอบที่มีคะแนนสูงสุดแทน เพราะมีการจัดการสอบเพื่อจัดอันดับ แต่ประเทศอื่น ๆ เช่น ออสเตรเลีย สิงคโปร์ มาเลเซีย จีน และฮ่องกง จะมีการแข่งขันกันก่อน แล้วผู้ที่ชนะเท่านั้นที่จะมารวมตัวกัน เป็นการเฉลิมฉลองรวมตัวกันครั้งหนึ่ง ซึ่งจัดขึ้นทุกเดือนสิงหาคม โดยที่เราทำแบบนี้มาแล้ว 26 ปี โดยปีนี้ก็เป็นปีที่ 26 ค่ะ
คุณหลอดไฟ: ประเทศไทยมีโอกาสเป็นเจ้าภาพในการจัดครั้งที่ 5 แล้วค่ะ
ครูต้อย: ใช่ ๆ ปีนี้ประเทศไทยของเราได้เป็นเจ้าภาพจัดงานนี้เป็นครั้งที่ 5 แล้ว แล้วปีหน้าจะไปฮ่องกง ปีก่อนเราไปมาเลเซีย เราก็จะคล้าย ๆ เหมือนสัญจรไปเรื่อย ๆ ในประเทศต่าง ๆ
คุณหลอดไฟ: เวลาจัดแข่งนี่ เราแข่งกันสี่ถึงห้าวันเต็ม ๆ เลยนะคะ แข่งตั้งแต่แปดโมงถึงสี่ทุ่มเลย จริงจังกันมาก ๆ ไม่ใช่แข่งขำ ๆ เลือกลงแข่งได้มากถึง 13 สไตล์ ไม่ว่าจะเป็น บัลเลต์ บัลเลต์แบบคลาสสิค บัลเลต์แบบสมัยใหม่ แจ๊ส แท็ป ฮิปฮอป เธียเตอร์ ฯลฯ
ครูต้อย: ปี ๆ หนึ่งมีคนลงแข่งเยอะมาก อย่างปีนี้ก็มีมากถึง 900 คน 61 โรงเรียนเต้นทั่วโลก ซึ่งมีนักเต้นจาก Bangkok Dance Academy ที่ผ่านเข้ารอบไปแข่งขันในงานนี้แล้ว 115 คน คือเราพยายามให้เด็กได้มีโอกาสแข่งขันเยอะ ๆ แต่บางทีก็มีการแข่งขันเยอะจนเฝือ แต่ของเรายังคงเป็นการแข่งขันที่ยากและแข็งแกร่งที่สุดให้พวกเขาได้ลงแข่งอยู่ แต่ถึงจะแข่งกันจริงจัง แต่หลังเวทีคือ Friendly Competition มาก ๆ นะ
แบบว่าเขาแข่งกันนะคะ แต่ก็พร้อมที่จะช่วยเพื่อนเต็มที่เลยค่ะ อย่างเช่น เอามงกุฎมาให้เพื่อน หรือบางทีชุดขาดก็มีค่ะ บางครั้งมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ เราต้องช่วยกัน แม้กระทั่งรองเท้า ถ้าใครใส่ไม่ได้ เราก็ต้องหามาช่วยกัน อย่างถามว่า “เบอร์อะไร ๆ” เพื่อให้ทุกคนพร้อมที่สุด ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่เราควรสอนเด็กค่ะ เพราะผลแพ้ชนะขึ้นอยู่กับฝีมือบนเวที ถ้าคุณพลาดน้อยหรือไม่พลาดเลย คุณก็แข็งแรงและมีโอกาสชนะ แต่ถ้าคุณพลาดเยอะ คุณก็แพ้ค่ะ แต่สำคัญที่สุดคือ คุณทำเต็มที่ตามที่คุณครูสอนหรือเปล่า ถ้าทำได้เต็มที่และเพอร์เฟ็กต์ คุณก็ชนะในตัวเองแล้วค่ะ
คุณหลอดไฟ: มันจะไม่เหมือนเวทีนางงาม ที่มันมีการแข่งขันแบบนั้น คือหลังเวทีเราฝึกเด็ก โดยเฉพาะ Bangkok Dance Academy อะค่ะ เราฝึกเด็กว่า ถ้าแข่งกันเองเพื่อนต้องการความช่วยเหลือคือต้องช่วย แต่ข้อเสียของการแข่งขันมันก็มีค่ะ ถ้าคุณครูหรือเจ้าของโรงเรียนมองผิดทาง มองเห็นความสำคัญของถ้วยรางวัลเกินไป กดดันนักเรียน คือคนไทยชอบการแข่งขัน แต่บางทีก็ใช้การแข่งขันผิดวิธี เราก็ต้องคอยให้ความรู้ทำความเข้าใจกับเจ้าของโรงเรียนด้วย
นอกจากในฐานะผู้เข้าแข่งขันแล้ว Bangkok Dance Academy ยังสวมหมวกในฐานะคนจัดงานด้วยใช่ไหม
คุณหลอดไฟ: ใช่ เราสวมหมวกสองใบเลย คือหมวกของเรา ในฐานะโรงเรียนเต้นที่ส่งเด็กไปแข่ง กับหมวกของเราในฐานะคนจัดการแข่ง Asia Pacific Dance Competition ด้วย
ครูต้อย: ในพาร์ทคนจัด ก็ถือว่าเหนื่อยเลย (หัวเราะ) ซึ่งมันเป็นเรื่องปกตินะ เพราะเราต้องคิดว่าทำยังไงให้แฟร์ที่สุด ทำยังไงให้การแข่งขันนี้ไม่มีปัญหาที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการจัดการเตรียมเพลง เตรียมการแข่งขัน คือทุกอย่างมันต้องมาร์คจุดไว้ มันมีหลายหน้าที่มาก ๆ
คุณหลอดไฟ: คุณแม่ปกติจะไม่ได้นอนประมาณหนึ่งอาทิตย์ตอนจัดลำดับการแข่งขัน เพราะต้องคอยดูว่าเด็กแต่ละคนเต้นวันเดียวกันหรือเปล่า แล้วเด็กต้องเปลี่ยนชุดเร็วแค่ไหน
ครูต้อย: ต้องจัดลำดับให้ห่างกันยังไง และไม่ให้โรงเรียนใดโรงเรียนหนึ่งเต้นก่อนตลอด เราจะสลับลำดับทั้งหมดเพื่อให้ยุติธรรมที่สุดค่ะ คือมันต้องสลับกันอะ อย่างเด็กบางคนก็แข่งหลายอันใช่ไหม แล้วจะเอาจับเข้ามาอยู่ในรอบเดียว เรามีตั้ง 18 รอบ ก็กระจาย ๆ ออกไป เขาจะได้ไม่เหนื่อย มันก็ต้องมอง ดีที่สุด คือพยายามทำดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ก็ยังมีนะ ยังมีคอมเพลน แต่ก็นิดหน่อย คือเราก็ต้องพยายามทำให้คอมเพลนมันน้อยที่สุดแหละ แค่นี้ล่ะค่ะ แม้กระทั่งกรรมการที่เดินทางมา เขาโกรธต้อยมากเลยว่าต้อยไม่ยอมให้โปรแกรมเขาสักที เขาโกรธมากเลยนะ
คุณหลอดไฟ: คือในโปรแกรมมันจะมีรายชื่อเด็ก รายชื่อโรงเรียนอยู่ทั้งหมด เราไม่ให้กรรมการรู้เลย จนกระทั่งวันเขากลับ เพราะว่ากรรมการต้องไม่รู้ว่าเด็กคนนี้มาจากโรงเรียนไหน ประเทศไหน
ครูต้อย: ใช่ค่ะ ๆ แล้วก็แม้กระทั่งคนเอาของไปวางพร็อพนะคะ ไปวางเตรียมไว้ให้ ก็ห้ามมีชื่อโลโก้โรงเรียน คือการแข่งของเราจะไม่คอมเมอร์เชียลเลย มันมีการแข่งขันบางการแข่งที่จะพูดบอกชื่อโรงเรียน บอกอะไรอย่างนี้ แต่เราไม่ใช่ คือวัดกันที่เทคนิคจริง ๆ ไม่ต้องรู้ว่าใครเป็นใคร
ในช่วงปีแรก ๆ อะเหนื่อย แต่หลังจากนั้นเขาก็รู้แล้ว ว่าการแข่งขันนี้เป็นอย่างนี้นะ เรื่องเยอะหน่อย มาตรฐานสูงหน่อย ถ้าคุณจะมาเอาถ้วยท่าเดียว ไม่ใช่ง่าย ต้องพูดว่าไม่ใช่จะได้ถ้วย แต่ถ้าคุณยังพยายามอยู่เดี๋ยวถ้วยมันต้องมาเอง
คุณหลอดไฟ: อย่างปีนี้ เราได้ถ้วย Unique Choreography คือการออกแบบท่าเต้นโดดเด่น ของกลุ่มใหญ่เรา ซึ่งปีนี้หลอดไฟบอกตัวเอง เพราะว่า คือตัวหลอดไฟเองกับนักเรียนที่เต้นกันมานาน มันเหมือนได้ที่หนึ่ง ตลอด แล้วมันก็ได้รางวัลใหญ่สุดในเวทีใหญ่สุดตลอด จนหลอดไฟรู้สึกว่ามันเริ่มไม่ดีกับนักเรียนเรา ในแง่ว่า เขาขึ้นเวทีแบบ เขารู้อยู่แล้วว่าเขาจะได้
คราวนี้หลอดไฟเลยต้องผลักดันตัวเอง ไม่ให้ตัวเองเบื่อด้วย ว่าเราจะทำอะไรที่มันแบบ ล้ำกว่านั้นแล้ว ก็เลยทำโชว์ซอฟต์พาวเวอร์ค่ะ เพราะปกติอะ ก็จะเต้นแบบร่วมสมัยตลอด เพราะหลอดไฟรู้อยู่แล้วว่ายังไงก็ได้รางวัลอะถ้าเต้นสไตล์นี้ พอเรารู้ จับทางได้อยู่แล้ว แต่ก็อยากจะพัฒนาตัวเองต่อ ก็เลยแบบ เราจะทำไงให้โชว์เนี้ย พอหลังจากแข่งเสร็จได้รางวัลในที่พื้นที่เล็ก ๆ ที่คนวงการเต้นรู้กันเองอะ ทำยังไงให้ภาพมันออกไปสู่สังคมวงกว้าง ก็เลยทำโชว์ ‘Soft Power’ ขึ้นมา ก็จะเป็นการใส่ชุดผ้าขาวม้า เต้นร่วมสมัยนะคะ มีรถตุ๊ก ๆ บังคับ มีถุงช็อปปิ้ง มีเก้าอี้แบบ คือทำให้มันเป็นแบบ เพื่อเราจะเอาไปคุยกับคนทั่วไปต่อได้ คุยกับกระทรวงได้ คุยกับรัฐบาลได้ อะไรก็ตาม ที่เราจะยกระดับให้การเต้นมันขึ้นไปอยู่ที่ ๆ กว้างขึ้นได้ยังไง ก็เลยไปด้วยแนวคิดนี้ในการแข่งขันปีนี้
พูดเลยว่าหลอดไฟไม่ได้อยากจะได้ที่หนึ่งแล้ว เพราะหลอดไฟหวังอยากจะผลักดันการเต้นให้มันไปไกลกว่านั้นมากกว่า เพราะต่อให้ได้ที่หนึ่งเหมือนเดิม มันก็จะรู้กันในวงการเต้น มันไม่ได้ได้อะไรมากกว่านั้นแล้ว บวกกับเรารู้สึกว่าเรามาไกลเกินจุด ๆ นั้นมาแล้ว ก็เลยทำโชว์ Soft Power อันนี้ขึ้นมา เพื่อจุดประสงค์นี้เลย ซึ่งก็ยาก เลยได้ที่ 2 แพ้สิงคโปร์ แต่ว่าหลอดไฟรู้สึกว่า มันยากมากจริง ๆ
Bangkok Dance Academy กับทิศทางในอนาคตที่ (ขอ) เป็นมากกว่าโรงเรียนสอนเต้น และเล่นให้มากกว่าที่เคย
ครูต้อย: ตอนนี้ครูมองว่าเราต้องมีคณะบัลเลต์ของตัวเอง ประเทศไทยยังไงก็ต้องมีคณะของตัวเอง
คุณหลอดไฟ: ใช่ ๆ หลอดไฟรู้สึกว่านักเต้นไทยพร้อมแล้ว บวกกับกลุ่มคนดูก็เริ่มมีมากขึ้น มันเลยดูมีความเป็นไปได้ เพราะถ้าจะทำคณะเต้น แปลว่าเราต้องมีคนดูประจำ ซึ่งตอนนี้มันก็เหมือนแบบคนก็เริ่มแบบเสพศิลปะกันมากขึ้น เราเลยคิดว่ามันถึงเวลาแล้ว
ซึ่งทิศทางของ Bangkok Dance Academy ก็อยากจะทำให้มันเข้าถึงทุกคนได้ง่ายมากขึ้น คือเราอยากจะลบความรู้สึกที่ว่า ผู้ใหญ่เต้นไม่ได้ เด็กผู้ชายเต้นไม่ได้ คนแก่เต้นไม่ได้ อยากจะทำให้มันเข้ากับทุกคน แล้วก็ทำให้มันทันสมัยมากขึ้น เหมือนเป็นทูตเลยอะ (หัวเราะ) ทูตที่จะแสดงให้เห็นว่าการเต้นมันช่วยคนยังไงได้บ้าง ให้เขาเข้าใจการเต้นให้ถูกต้อง ก็คิดว่าก็คงเป็นอย่างนั้นต่อไปเรื่อย ๆ ด้วยกระบอกเสียงเล็ก ๆ ของเรา แล้วก็สื่อมวลชนด้วย
ครูต้อย: แต่ความยากของการทำคณะเต้น คือมันต้องมีเงินเดือนให้นักเต้น แล้วคราวนี้เราเอาเงินเดือนจากไหน ถ้าเราไม่ได้มีรายรับเข้ามา เราก็ต้องมีสปอนเซอร์ที่ดี ซึ่งอันนี้ต้องหาองค์กรใหญ่ ๆ มาสนับสนุนเราในอนาคต เพราะเราไม่สามารถหาเงินทุนตัวเองได้อยู่แล้ว เลยอาจจะต้องไปหาใครสักคนที่จะสนับสนุนตรงนี้ได้ในอนาคต แปลว่าต่อไป การเต้นจะกลายเป็นอาชีพ คุณจะเป็นนักเต้นอาชีพ นี่คืองานประจำของคุณ คุณต้องเต้นทุกวัน คุณต้องซ้อมทุกวัน
คุณหลอดไฟ: พอมาเป็นอาชีพแล้ว เราก็ต้องมีรายได้จากมันด้วย ถ้าไม่อย่างนั้น นักเต้นในปัจจุบันจะต้องทำงานประจำไปด้วย หรือรับจ๊อบอื่น ซึ่งมันทำให้ไม่สามารถโฟกัสกับการเป็นศิลปินเต็มที่ เพราะงานเต้นมันต้องเป็นงานเต็มเวลา ถ้าเราอยากให้คณะของเราเดินหน้าต่อไปได้อย่างมีคุณภาพ คนทำงานต้องรู้สึกว่านี่คือสิ่งที่เขาอุทิศตัวให้จริง ๆ มันก็เลยติดเรื่องงบประมาณนี่แหละ แต่เพื่อน ๆ ที่เคยทำงานด้วยกัน เขาพร้อมที่จะกลับมาช่วย ถ้าเราได้งบสนับสนุนสักสองปี เพื่อให้โครงการนี้เดินหน้าได้จริง ๆ เราก็จะสามารถสร้างผลงานที่มีคุณภาพได้เต็มที่ เพราะมั่นใจในความคิดสร้างสรรค์ของตัวเอง เรามีพื้นที่ซ้อมแล้ว ตอนนี้ก็เหลือแค่งบ ถ้าได้ครบ โครงการนี้จะสามารถเติบโตไปได้เลย
ครูต้อย: แล้วมันก็จะสามารถเป็นอะไรที่เด็ก ๆ เขาสามารถคาดหวังหรือวางแผนในอนาคตที่ไกลกว่าเดิมได้
คุณหลอดไฟ: เพราะมันยังไม่เคยมีอาชีพนี้ในประเทศไทย มันมีแดนเซอร์ แดนเซอร์อีเวนต์ แดนเซอร์เต้นแบ็คอัพ ศิลปิน แต่อาชีพนักบัลเลต์ แดนเซอร์ที่เป็นคณะจริง ๆ อาชีพนี้ยังไม่เกิดขึ้นในไทยเลย และเราทำอันนี้ขึ้นมาได้จริง ๆ ก็จะเป็นครั้งแรกที่มีอาชีพนี้ในประเทศไทย